#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ มีญาติโยมที่ได้รับคำแนะนำในเรื่องของการปฏิบัติแล้วตั้งใจมากเกินไป หันกลับมาปฏิบัติแบบปล่อยวาง แล้วถามว่าเราจะได้อะไรจากการปฏิบัตินั้น ? ขอให้ทุกคนทราบว่าในเรื่องของการปฏิบัตินั้น เราจะหวังผลอย่างไรก็ตาม หรือว่าอยากได้ผลการปฏิบัติอย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องก่อนการลงมือปฏิบัติ คือเราจะคิดเราจะอยากอย่างไรก็ได้ทุกอย่าง แต่เมื่อตอนลงมือปฏิบัติ คือเริ่มเข้าสมาธิ นึกถึงลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา เราต้องลืมเรื่องความอยากหรือสิ่งที่จะได้จากการปฏิบัติไปเสีย พูดง่าย ๆ ว่าเรามีหน้าที่ทำ ส่วนผลการปฏิบัติจะเกิดขึ้นอย่างไร จะเกิดขึ้นเมื่อไร...แล้วแต่ ก็คือไม่ต้องไปใส่ใจตรงนั้น เพราะว่าถ้าเราอยากได้ว่าปฏิบัติแล้วต้องได้อย่างนั้น ต้องได้อย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ แปลว่าสภาพจิตของเรากำลังฟุ้งซ่าน หาความสงบที่แท้จริงไม่ได้ ในเมื่อฟุ้งซ่านหาความสงบที่แท้จริงไม่ได้ เราก็จะพลอยไม่ได้ผลในการปฏิบัติไปด้วย จะว่าไปแล้วเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นพื้นฐานขั้นต้นของการปฏิบัติ แต่เราก็มักจะไม่ได้ศึกษากัน หรือว่าศึกษาตำราที่ไม่ได้เขียนถึงเอาไว้ จึงต้องเสียเวลามาสอบถาม เสียเวลาในการทำผิดทำพลาด ซึ่งถ้าช่วงเวลาที่เรายังทำผิดทำพลาดอยู่แล้วเกิดเสียชีวิตลงไป ก็เท่ากับว่าเราขาดทุน ไม่ได้ความดีในส่วนที่จะพึงได้ แต่ว่าในเรื่องของการศึกษาตำราก็ยังคงมีโทษ คือถ้าเราศึกษาเป็นแนวทาง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าศึกษาแล้วไปยึดมั่นถือมั่น ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องได้อย่างนั้น ต้องได้อย่างนี้ ก็จะกลายเป็นโทษมากกว่าประโยชน์
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-03-2019 เมื่อ 03:56 |
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
โดยเฉพาะศึกษาเรียนรู้แนวทางตามตำราไว้มาก ๆ พอถึงเวลาเราก็จะไปไล่ตามดูว่า ตอนนี้อารมณ์ใจของเราเป็นอย่างไร ตอนนี้การภาวนาของเราเป็นอย่างไร สิ่งใดที่กำลังเกิดขึ้น
การที่เราไปตามจี้ในลักษณะนั้น สภาพจิตก็จะไม่รวมตัว เราเองก็ไม่สามารถได้ผลตอบแทนเบื้องต้นที่จะพึงได้ แล้วบางคนพอศึกษาไปแล้ว ก็เอาไปคุยกับคนอื่นเขา โดยจำตำราไปพูด ก็ยิ่งพาให้เสียหายมาก เพราะว่าเราเข้าไม่ถึงอารมณ์ของการปฏิบัติอย่างแท้จริง ได้แต่คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น คาดว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราคิดว่า คาดว่า ได้ถูกต้อง ก็ถือว่าเสมอตัว แต่ถ้าผิด จะเป็นการสอนคนให้เป็นมิจฉาทิฐิ การเป็นมิจฉาทิฐินั้นมีโทษลงอบายภูมิอย่างเดียว เท่ากับว่าเราทำให้เขาจะต้องไปเวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วน ห่างไกลมรรคผลออกไปมากขนาดนั้น ดังนั้น...โทษของบุคคลที่สอนผู้อื่นเป็นมิจฉาทิฐิ มีทางเดียวคือลงอเวจีมหานรก หรือถ้าสอนแล้วมีคนเชื่อตามปฏิบัติตามผิด ๆ เป็นจำนวนมาก ก็อาจจะลงถึงโลกันตนรก ฉะนั้น..ในการศึกษาตำราขอให้ศึกษาเพียงเป็นแนวทาง แต่อย่าไปเอาจริงเอาจังกับตำรามากนัก ให้ทุ่มเทกับการปฏิบัติ แล้วสิ่งที่เราศึกษามาก็จะช่วยให้รู้ว่า ลักษณะที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้ามัวแต่ไปยึดติดตำราอยู่ ก็จะเสียเวลาไปเปล่า ๆ โดยไม่ได้ผลตอบแทนอะไร ลำดับต่อไปก็ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ วันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทาริกา)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-03-2019 เมื่อ 03:58 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|