#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เรื่องที่อยากจะบอกกล่าวกับพวกเราในวันนี้ก็คือ การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องของบุคคลที่ทรงปรมัตถบารมี ก็คือกำลังใจที่เข้มข้นสูงสุด ถ้าหากว่าเป็นสามัญบารมีหรือบารมีต้น เราให้ทานได้ แต่รักษาศีลหรือเจริญภาวนาไม่ได้ ถ้าเป็นอุปบารมีหรือบารมีขั้นกลาง เราให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่เจริญภาวนาไม่ได้ ต้องเป็นปรมัตถบารมี คือ กำลังใจระดับสูงสุดเท่านั้น ถึงจะให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาได้ บุคคลที่เจริญภาวนานั้น ก็ใช่ว่าจะสามารถเข้าถึงมรรคถึงผลกันได้ทุกคน เพราะว่าการจะเข้าถึงมรรคผลนั้น เราต้องรู้กฎเกณฑ์กติกาว่า จะปฏิบัติอย่างไรให้เข้าถึงมรรคผล และในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีใจรักในพระนิพพานเป็นปกติ ดังนั้น...ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นปกติ นอกจากกำลังใจท่านจะอยู่ในระดับปรมัตถบารมีแล้ว ยังเป็นกำลังใจที่เข้าถึงมรรคผลได้ทุกคน เพียงแต่ว่าท่านทั้งหลายได้ละทิ้งโอกาสนั้นไปหรือเปล่า ? เพราะว่าการปฏิบัติเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เรายังไม่ได้ทำกันอย่างจริงจังเลย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-07-2016 เมื่อ 20:20 |
สมาชิก 45 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
ถ้าถามว่าการทำจริงจังต้องทำถึงระดับไหน ? ก็ต้องบอกว่า ๒๔ ชั่วโมงห้ามเว้นแม้แต่วินาทีเดียว แต่ถ้าท่านทั้งหลายจำเป็นด้วยการประกอบกิจการงานอาชีพต่าง ๆ อย่างน้อยเวลาทำงานก็ให้กำลังใจจดจ่ออยู่กับงาน จะได้ไม่ฟุ้งซ่านไปหา รัก โลภ โกรธ หลง และในขณะเดียวกัน เมื่อมีเวลาว่างเมื่อไรก็รีบกลับเข้ามาสู่การปฏิบัติกรรมฐานของเราทันที
ถ้าทำในลักษณะอย่างนี้ โอกาสของการที่เข้าถึงมรรคถึงผลของเราก็จะมีอยู่ ไม่ใช่ว่าทำ ๆ ทิ้ง ๆ อย่างในปัจจุบัน เหมือนที่บางคนเดินหกล้มแล้วหกล้มอีก เจ็บตัวเท่าไรก็ไม่รู้จักเข็ดไม่รู้จักจำ ถ้าเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น ถ้าถึงอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือว่าเกิดอุบัติเหตุตายลงไปก็ตาม ก็เท่ากับว่าเราเสียชาติเกิด เพราะต้องมาเกิดใหม่ ต้องมาทุกข์ทนทุกข์ยาก ต้องมาปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นเช่นนี้อีก ในเมื่อโอกาสอยู่ในมือของเราแล้ว เราเป็นผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงมรรคถึงผลแล้ว ถ้าเราละทิ้งโอกาสนั้นเสีย ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ดังนั้นท่านทั้งหลายจึงควรที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติของเราให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพยายามรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล หลังจากนั้นการปฏิบัติทุกครั้งของเราที่ลืมไม่ได้เลย ก็คือ ลมหายใจเข้าออก เพราะเป็นเครื่องระงับดับความฟุ้งซ่านได้ดีที่สุด ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกของเราไปเรื่อย วางกำลังใจว่าเรามีหน้าที่ภาวนา ส่วนจะทรงฌาน ทรงสมาบัติได้หรือไม่ได้ก็ช่าง ถ้าเราทำแบบนี้กำลังใจจะทรงตัวได้เร็วมาก เพราะสภาพจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไปคิดอยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-07-2016 เมื่อ 19:52 |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
ถ้ากำลังใจของเราทรงตัวเต็มที่แล้ว ก็คลายกำลังใจออกมาพิจารณา ให้เห็นสภาพความจริงของร่างกายของเรา ว่ามีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ของการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ การกระทบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจ การปรารถนาไม่สมหวัง การกระทบกับอารมณ์ไม่ชอบใจต่าง ๆ เป็นต้น
และท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราให้ยึดถือมั่นหมายได้ เพราะว่าถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพัง กลับเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม คืนให้กับโลกไปดังเดิม ตัวเราก็เป็นเช่นนี้ ตัวคนอื่นก็เป็นเช่นนี้ สัตว์อื่นทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้ วัตถุธาตุทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้ ล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยง ประกอบไปด้วยความทุกข์ และยึดถือมั่นหมายไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เราควรปฏิบัติไปเพื่ออะไร ก็เพื่อการหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน การที่เราจะเกาะพระนิพพาน ถ้าหากว่าท่านที่ได้มโนมยิทธิหรือว่าจับภาพพระเป็นกสิณ ก็เอาใจเกาะพระนิพพานหรือว่าเกาะภาพพระ โดยตั้งใจว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ไหนนอกจากพระนิพพาน เราเห็นพระองค์ท่านคือเราอยู่ใกล้พระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้กับพระองค์ท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน เอากำลังใจสุดท้ายจดจ่ออยู่กับพระนิพพานหรือภาพพระในลักษณะอย่างนี้ ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ก็ดูลมหายใจเข้าออก ถ้ามีคำภาวนาอยู่ก็ภาวนาควบคู่ไปด้วย ถ้าหากว่าลมหายใจเบาลงให้รู้ว่าลมหายใจเบาลง ถ้าคำภาวนาหายไป ลมหายใจหายไป ก็ให้กำหนดรู้ว่าคำภาวนาหายไปลมหายใจหายไป อย่าไปอยากให้เข้าสู่สภาพนั้น และอย่าอยากให้พ้นไปจากสภาพนั้น เรามีหน้าที่ประคับประคองรักษาอารมณ์ใจและปฏิบัติในลักษณะนี้ในแต่ละวัน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นโอกาสที่ท่านทั้งหลายเข้าถึงมรรคผลก็จะมี ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันเสาร์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-07-2016 เมื่อ 19:53 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|