#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เรื่องของการปฏิบัติธรรม อาตมาเคยบอกกล่าวมามากแล้วว่า เรายิ่งทำสภาพจิตต้องละเอียดขึ้น ต้องสามารถใช้ผลของการปฏิบัติธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราให้ได้ แม้กระทั่งเรื่องจอดรถขวางทางคนอื่นในวันนี้ก็ดี แสดงว่าเราไม่ได้สังเกตว่า ถ้าพอถึงเวลารถคันอื่นผ่านไปผ่านมา หรือว่าตีวงเลี้ยวจะไปได้หรือไม่ได้ ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นความมักง่ายจนเคยชิน เอาสะดวกเข้าว่า โดยไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะลำบากเดือดร้อนต่อการกระทำของเราอย่างไร ถ้าอย่างนี้เราไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม ก็มีแต่จะทำให้คนอื่นเขาปรามาสเอาซึ่งหน้าว่า เราเป็นนักปฏิบัติแล้วทำไมยังมีสภาพจิตที่หยาบจนขนาดนี้ ? แม้กระทั่งการคุยแข่งเสียงการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ในเมื่อเสียงตามสายดังขึ้น ก็ไม่ควรที่จะส่งเสียงรบกวนแล้ว เพราะจะมีแต่โทษต่อตนเอง ตักเตือนแล้วก็ยังไม่รู้ตัว ต่อให้มีเรื่องจำเป็นอะไรก็ใช้วิธีเขียนหนังสือส่งกัน หรือใช้กระซิบเอาก็ได้ ไม่ใช่พูดกันทีหนึ่งได้ยินกันไปครึ่งค่อนห้อง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-12-2015 เมื่อ 02:10 |
สมาชิก 60 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องแปลก แปลกตรงที่ว่าบุคคลพออยู่ใกล้กับพระไปนาน ๆ แล้วก็มักจะลืมตัว อันดับแรก ก็คือ ลืมว่าพระมีศีลที่ต้องรักษา มักจะทำตัวตามสบาย ถ้าหากว่าพระท่านพลอยตามสบายไปด้วย ก็เท่ากับพาพระลงนรกไปโดยไม่รู้ตัว
อีกประการหนึ่ง ก็คือ พอคุ้นเคยเข้าก็ปราศจากความเกรงใจ กลายเป็นหาโทษใส่ตนเอง เพราะลืมสถานภาพว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพระ เท่าที่พบมาก็มีมากต่อมากด้วยกัน ที่เห็นพระเป็นเพื่อน คลุกคลีตีโมงกันเหมือนอย่างกับเพื่อน ๆ ฆราวาส เรื่องแบบนี้ถ้าหากว่าพระรู้ก็ต้องเตือนให้โยมทราบ ขณะเดียวกัน...ถ้าโยมรู้ก็ควรที่จะต้องเตือนสติพระท่านด้วย โดยเฉพาะบุคคลเมื่อมาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของผู้ใด ก็ควรจะยกท่านไว้ในฐานะอันสูง ทำตามสิ่งที่ท่านบอกกล่าวหรือว่าทำเป็นตัวอย่างให้ แต่ที่วัดท่าขนุนก็มีอยู่ ถึงเวลาออกนอกคอก ออกนอกระเบียบ แล้วก็ใช้คำพูดว่า "อย่าไปบอก...เดี๋ยวหลวงพ่อจะรู้" ซึ่งเรื่องทั้งหลายเหล่านี้พอได้ยินแล้วก็สลดใจ ว่านี่ตกลงเขาเชื่อฟังอาตมาจริงหรือเปล่า ? เขาเป็นนักปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า ? มีกำลังในการต่อต้านกิเลสจริงหรือเปล่า ? ในเมื่อคล้อยตามต่ออำนาจของฝ่ายต่ำ ฝืนระเบียบฝืนวินัย แล้วก็ใช้คำว่า "อย่าพูดไป...เดี๋ยวหลวงพ่อท่านจะรู้" แล้วมั่นใจหรือว่าท่านจะไม่รู้ ? เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ถ้าหากว่าทำไป ก็จะมีแต่พาตนเองให้เสื่อม พาครูบาอาจารย์ให้เสื่อม ท้ายสุดก็พาศาสนาให้เสื่อม โดยเฉพาะบุคคลที่เลื่อมใสอยู่แล้ว ก็อาจจะเสื่อมความเลื่อมใสลงไป ส่วนบุคคลที่ไม่เลื่อมใส จะนำข้อผิดพลาดเหล่านี้ไปโจมตีได้ว่า ถ้าหากครูบาอาจารย์ดีจริง ต้องสั่งสอนลูกศิษย์ให้ดีกว่านี้ จนกลายเป็นข้อเสียหายใหญ่ในพระพุทธศาสนา
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-12-2015 เมื่อ 02:12 |
สมาชิก 61 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
จึงอยากจะเตือนสติพวกเราอีกครั้งหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรมนั้นยิ่งทำ สภาพใจต้องยิ่งละเอียดขึ้น และต้องสามารถใช้ในชีวิตประจำวันของเราด้วย คือ ระมัดระวังอย่าเผลอสติ อย่าเห็นพระเป็นเพื่อน อย่าทำความสนิทสนมกับครูบาอาจารย์จนเกินไป เพราะมีแต่โทษมากกว่าจะมีประโยชน์ เนื่องจากบางอย่างพอก้าวล่วงไป ก็เป็นการปรามาสพระรัตนตรัย เท่ากับปิดมรรคปิดผลของตนเองไปโดยปริยาย การปฏิบัติธรรมนั้นสภาพจิตที่ละเอียดขึ้น จะพัฒนา กาย วาจา ใจ ของเราให้อยู่ในกรอบมากขึ้น อยู่ตามแนวมากขึ้น เพื่อตรงไปสู่ความหลุดพ้น
การพัฒนากาย วาจา ของเรา ก็คือศีล เราต้องระมัดระวังศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งละเมิดศีล การพัฒนาจิตของเรา ก็คือ ต้องสร้างสติให้มั่นคง สร้างสมาธิให้เกิด ต้องมีสติสมบูรณ์พร้อม แค่ขยับตัวก็รู้ว่าศีลจะขาดหรือไม่ แค่ขยับตัวก็รู้ว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้ถูกต้องตามธรรมตามวินัยหรือไม่ ถ้าหากว่าเราสามารถพัฒนา ศีล สมาธิ ของเราให้ดีขึ้น เท่ากับเป็นการพัฒนาปัญญาของเราไปในตัว โดยเฉพาะอย่าลืมความรู้สึกที่ว่าเราต้องตายเอาไว้เสมอ ในเมื่อรู้ตัวว่าต้องตายเราก็จะไม่ประมาท เร่งพัฒนา กาย วาจา ใจ ของตนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งท้ายที่สุดก็สามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันศุกร์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-12-2015 เมื่อ 16:05 |
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|