#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ตามที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ สำหรับวันนี้สิ่งที่อยากจะบอกกับทุกท่าน ก็คือ เมื่อเราปฏิบัติภาวนาจนกระทั่งสมาธิเริ่มทรงตัวแล้ว ให้คลายความรู้สึกออกมา แล้วพิจารณาในวิปัสสนาญาณแทน ไม่อย่างนั้นแล้ว ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะเอากำลังจากการภาวนาของเราไปฟุ้งซ่าน และทำให้เราฟุ้งได้อย่างเป็นหลักเป็นฐานและดึงกลับได้ยาก เพราะเราไปช่วยกิเลสให้แข็งแรงเสียแล้ว การพิจารณาในวิปัสสนาญาณนั้น โดยปกติทั่วไปก็มีอยู่หลายนัยด้วยกัน อย่างแรกก็คือพิจารณาตามอริยสัจทั้ง ๔ คือหาเหตุของทุกข์ให้พบ เมื่อพบแล้วเราไม่สร้างเหตุนั้น ทุกข์ก็ไม่เกิด ความดับทุกข์ก็จะปรากฏแก่เราเอง หรือพิจารณาตามแนวของไตรลักษณ์ในสามัญลักษณะ ๓ ประการ ก็คือ อนิจจัง..สรรพสิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงเป็นปกติ ทุกขัง..สรรพสิ่งทั้งหลายประกอบไปด้วยความทุกข์เป็นปกติ และอนัตตา...ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดทรงตัวอยู่ได้ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไปหมด ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ หรือจะพิจารณาตามนัยของวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง มี อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ คำนึงถึงความเกิดและดับ ไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ ก็คือการปล่อยวางในสังขารทั้งปวง เมื่อจิตเว้นจากการปรุงแต่ง รัก โลภ โกรธ หลง เกิดไม่ได้ เราก็สามารถที่จะก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้เช่นกัน บางท่านสงสัยว่าถ้าเราภาวนาอย่างเดียว สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ ? ก็มีโอกาสเป็นไปได้..แต่ยากเหลือเกิน เพราะว่าต้องใช้กำลังสมาธิกดกิเลสให้นิ่งสนิทไปเลย แล้วกำหนดเป้าหมายสุดท้ายว่า “ถ้าเราตายแล้ว ขอไปพระนิพพานแห่งเดียว” การเกิดมามีร่างกายนี้ การเกิดมาในโลกนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีกแล้ว ถ้าสามารถกดกิเลสได้ต่อเนื่องยาวนานเพียงพอ ก็สามารถบรรลุได้ในลักษณะของเจโตวิมุติ ก็คือใช้สมาธิกดกิเลสเอาไว้จนกิเลสเกิดไม่ได้ ก็สลายตัวไปเอง บางท่านก็อาจจะสงสัยว่าถ้าเราพิจารณาอย่างเดียวโดยไม่ภาวนาเลย เราจะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ ? ก็มีโอกาสเช่นกัน..แต่ก็ยากอีก การที่เราจะพิจารณาโดยไม่ได้ภาวนาเลยกำลังของเราจะน้อย จะโดนกิเลส คือรัก โลภ โกรธ หลง กระหน่ำตีอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่บุคคลที่มีความอดทนอดกลั้นจริง ๆ ก็มักจะสู้กิเลสไม่ไหว แต่ถ้าพิจารณาไปเรื่อย ๆ สภาพจิตของเราก็จะดิ่งเป็นสมาธิเช่นกัน ถ้ากำลังเพียงพอก็สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน พ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ เรียกว่าการบรรลุแบบปัญญาวิมุติ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-03-2015 เมื่อ 01:44 |
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
ในเมื่อเราเห็นว่าทั้งสองรูปแบบล้วนแต่มีจุดอ่อน คือในส่วนของเจโตวิมุตินั้น ถ้าเรากดกิเลสไม่อยู่ รัก โลภ โกรธ หลง ตีกลับ เราก็จะโดนกิเลสกระหน่ำตีชนิดไม่เป็นผู้ไม่เป็นคน โอกาสที่จะทรงความดีคืนมาก็ยาก เพราะกิเลสรู้ตัวเสียแล้ว ว่าเราตั้งใจที่จะกวาดล้างเข่นฆ่าไปจากใจ
ในส่วนของปัญญาวิมุตินั้น เนื่องจากว่าไม่มีกำลังของสมาธิคอยหนุนเสริม เราอาศัยความอดทนอดกลั้นต่อสู้ฟันฝ่าพิจารณาไปเรื่อย ๆ จนกว่ากำลังสมาธิจะทรงตัวถึงระดับที่พอตัดกิเลสได้ ก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นเข็ญใจมาก ดังนั้น..จึงควรปฏิบัติทั้งสองอย่างร่วมกัน ก็คือภาวนาจนกำลังใจทรงตัว จิตมีพลังแล้ว เราก็หันมาพิจารณาวิปัสสนาญาณต่าง ๆ เมื่อพิจารณาวิปัสสนาญาณไปเรื่อย ๆ จนสภาพจิตทรงตัว ก็จะกลับไปภาวนาโดยอัตโนมัติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อภาวนาจนถึงที่สุด สภาพจิตไม่สามารถดำเนินไปในสมาธิต่อไปได้ ก็จะถอยออกมา คลายออกมา เราก็เอากำลังนั้นรีบมาพิจารณาในวิปัสสนาญาณใหม่ ทำอย่างนี้สลับกันไปสลับกันมา ความก้าวหน้าในการปฏิบัติถึงจะมีขึ้นได้ แม้ว่าบุคคลที่บรรลุโดยวิปัสสนาล้วน ๆ เป็นปัญญาวิมุติ ที่เรียกว่าวิปัสสนายานิกมีอยู่ บุคคลที่บรรลุโดยเจโตวิมุติ ใช้กำลังสมาธิกดกิเลสเอาไว้ จนกิเลสบังเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วตั้งเป้าว่าไม่ปรารถนาที่จะมาเกิดในร่างกายนี้ หรือว่าเกิดมาในโลกนี้ ปรารถนาอย่างเดียวก็คือพระนิพพาน เป็นการบรรลุแบบสมถยานิกก็มีอยู่ แต่เป็นไปได้ยากมาก เราจึงควรที่จะใช้วิธีที่สะดวกและง่าย ก็คือภาวนาและพิจารณาสลับกันไปดังนี้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติถึงจะมีขึ้นแก่พวกเราและสามารถเห็นผลได้ง่าย ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันเสาร์ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-03-2015 เมื่อ 19:09 |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|