#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกท่านขยับนั่งในท่าที่สบายของตัว ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติทั้งหมดไว้เฉพาะหน้า หายใจเข้าออกยาว ๆ สักสองสามครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออกให้หมด แล้วหลังจากนั้นปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติของร่างกาย
หายใจเข้ากำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามเข้าไป หายใจออกกำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามแต่ที่เราเคยถนัด วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันสุดท้ายของเดือนสิงหาคมนี้ ในวันนี้มีญาติโยมหลายท่านมาสอบถามปัญหาการปฏิบัติ ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นมีผลหรือไม่ ? หรือมีผลเพียงใด ? ซึ่งจะว่าไปแล้วผลการปฏิบัติของเรานั้น มีเครื่องวัดที่ง่ายที่สุด ก็คือ นิวรณ์ ๕ ถ้ากำลังใจของเราทรงตัว นิวรณ์ คือกิเลสหยาบที่เป็นเครื่องกั้นความดีทั้ง ๕ ได้แก่ กามฉันทะ ความพอใจในระหว่างเพศ พยาบาท ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นคนอื่น ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยหรือในผลของการปฏิบัติธรรม ว่าจะมีจริงหรือไม่ ถ้ากำลังใจของเรามีความก้าวหน้า มีความทรงตัว นิวรณ์ทั้ง ๕ อย่างนี้จะกินใจของเราไม่ได้ หรือถ้าหากจะวัดด้วยศีล ตราบใดที่ท่านยังอยู่ในกรอบของศีล จะศีลห้าหรือศีลแปดสำหรับฆราวาส ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร หรือศีล ๒๒๗ สำหรับพระ ตราบใดที่เรายังอยู่ในกรอบของศีล ตราบนั้นการปฏิบัติของเรายังไม่ผิดทาง หรือถ้าวัดยิ่งไปกว่านั้นก็วัดจากสังโยชน์ ๑๐ ที่ร้อยรัดเราให้อยู่กับวัฏสงสารนี้ เริ่มตั้งแต่สักกายทิฐิ การยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย ไม่เคารพเชื่อมั่น สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่เอาจริงเอาจังเป็นต้น ไปจนท้ายสุด อวิชชา ความเขลาเป็นเหตุให้ไม่รู้จริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องวัดอารมณ์ในการปฏิบัติได้ทั้งสิ้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-08-2011 เมื่อ 09:17 |
สมาชิก 59 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
ดังนั้น..ถ้าท่านทั้งหลายลังเลสงสัยว่า ตนเองปฏิบัติไปถึงไหน เมื่อภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ก็มาดูว่าขณะนี้นิวรณ์ ๕ กินใจเราหรือไม่ ? ศีลทุกสิกขาบทของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? สังโยชน์ ๑๐ มีข้อไหนที่ยังร้อยรัดจิตใจของเราอยู่บ้าง ?
หรือว่าอีกอย่างหนึ่งที่จะวัดได้โดยง่าย ก็คืออาการที่เรายังเป็นคนตกใจอะไรง่าย ๆ หรือเปล่า ? บุคคลที่สมาธิทรงตัว สติตั้งมั่นอยู่เฉพาะหน้า จะเป็นคนเหมือนกับตายด้าน ไม่ตกใจกับอะไรง่าย ๆ เหตุเพราะว่าการตกใจนั้น ก็คืออาการขาดสติ ส่งจิตออกนอก เมื่อเกิดเหตุอะไรกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาโดยฉับพลันทันที ก็จะรีบดึงกำลังใจของตนเองกลับมาเพื่อรับรู้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น การที่กำลังใจกลับมาเร็วจนเกินไป ทำให้ตั้งหลักไม่ทัน เขาเรียกว่าอาการตกใจ ถ้าท่านทั้งหลายมีอารมณ์ใจทรงตัวจริง ๆ ไม่ว่าจะสถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดขึ้นโดยกะทันหันขนาดไหนก็ตาม เราจะเป็นผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ตกใจกับอะไรง่าย ๆ ซ้ำยังมองหาช่องทางที่จะแก้ไขจากร้ายให้เป็นดี ดังนั้น..ถ้าท่านทั้งหลายจะวัดตนเอง ก็ลองวัดดูว่า เรายังเป็นคนขี้ตกใจอยู่หรือเปล่า ? ก่อนหน้านี้เราสะดุ้ง เราตกใจง่ายในทุกเรื่องหรือเปล่า ? แล้วปัจจุบันนี้อาการตกใจค่อย ๆ ห่างหายออกไป หรือยังมีมากอยู่เท่าเดิม หรือว่ามาถึงปัจจุบันนี้ เราเหมือนกับคนตายด้าน ไม่รู้สึกตกอกตกใจในเรื่องใดกับใครหรือเปล่า ? ถ้าพิจารณาตรงจุดนี้ ก็จะเห็นความก้าวหน้าเฉพาะของตน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-08-2011 เมื่อ 13:00 |
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
โดยเฉพาะในเรื่องของกำลังใจนั้น ถ้าเราขาดสติและส่งออก ถ้าไม่ไปคิดหวนหาอาลัยกับอดีต ก็จะกลายเป็นไปฟุ้งซ่านในอนาคต ซึ่งมีแต่พาให้เราทุกข์ทั้งสิ้น ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ในภัทเทกรัตตสูตรเป็นบาลีว่า อตีตัง นานวาคะเมยยะ นัปปฏิกังเข อนาคะตัง ก็คือ ไม่ควรคำนึงถึงอดีต และไม่ควรที่จะไปฟุ้งซ่านถึงอนาคต
ปัจจุปันนัญ จะ โยธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ การที่วางกำลังใจกำหนดอยู่กับปัจจุบันนี้เท่านั้น ที่จะทำความรู้แจ้งให้เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าสติ สมาธิของท่านทั้งหลายจดจ่ออยู่ตรงหน้า อยู่กับลมหายใจเข้า อยู่กับลมหายใจออก ก็คือการที่เราอยู่กับปัจจุบัน จิตที่อยู่กับปัจจุบันนั้นความทุกข์แทบจะไม่มี นอกจากความทุกข์ตามสภาวะร่างกายเท่านั้น เพราะไม่ได้ไปฟุ้งซ่านหวนหาอาลัยในอดีต และไม่ได้ไปฟุ้งซ่านอยากมีอยากได้สิ่งใดในอนาคต ถ้าท่านทั้งหลายสามารถกำหนดจิตอยู่กับปัจจุบันขณะได้ อาการตกใจทั้งหลายต่าง ๆ ก็จะไม่มี ความคิดฟุ้งซ่านก็มีน้อย เป็นเครื่องที่วัดได้อย่างดีว่า การปฏิบัติธรรมของเราก้าวหน้าหรือไม่ ? มีคุณภาพเต็มที่พอใจของเราหรือไม่ ? เป็นต้น สำหรับตอนนี้ก็ให้ทุกท่านกำหนดคำภาวนาพร้อมกับลมหายใจเข้าออกตามอัธยาศัยของตน เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวแล้วก็ให้พิจารณาว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยงอย่างไร ? เป็นทุกข์อย่างไร ? เมื่อเห็นชัดเจนแล้ว ก็ตัดสินใจว่า ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ เราไม่ขอมีอีกแล้ว เกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนเช่นนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีกแล้ว เราต้องการที่เดียวคือพระนิพพาน แล้วส่งกำลังใจไปจดจ่ออยู่ที่พระนิพพาน หรือว่าส่งกำลังใจขึ้นไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ท่านใดที่ทำไม่ได้อย่างนั้น ก็ให้นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบมากที่สุด ว่านั่นเป็นภาพพุทธนิมิตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าชีวิตของเราจบสิ้นลงไปเมื่อไร ขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานนี้แห่งเดียว ให้ทุกคนวางกำลังใจเช่นนี้เอาไว้ แล้วกำหนดการภาวนาและพิจารณาไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 29-08-2011 เมื่อ 20:12 |
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|