#1
|
||||
|
||||
![]()
ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนจ้ะ ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไว้เฉพาะหน้า คืออยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาตามที่เราชอบใจ เคยทำอย่างไรมาให้ใช้คำภาวนาอย่างนั้น
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศไทย คือ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก็ย่อมจะต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะตามกฎตามกติกาที่ได้วางไว้ ส่วนใหญ่แล้วบุคคลที่ได้ชนะก็จะยินดี บุคคลที่พ่ายแพ้ก็จะเสียใจ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ตัวเราที่เป็นนักปฏิบัติควรจะเอามาเป็นบทเรียนสอนตนเองให้ได้ เนื่องจากว่าโลกของเรานั้นมีธรรมอยู่ ๘ ประการ ที่ปรากฏอยู่เป็นปกติ เรียกว่า โลกธรรมทั้ง ๘ ได้แก่ การมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ได้รับการสรรเสริญ ถูกนินทา มีสุข มีทุกข์ ถ้าแบ่งออกง่าย ๆ เป็น ๒ ฝ่าย ก็คือ อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ คือ การได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญ และได้รับความสุข ส่วนอีกข้างหนึ่งเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ คือ การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา มีความทุกข์ เป็นต้น ท่านผู้รู้ได้แบ่งเอาไว้ว่า ในโลกธรรมทั้ง ๘ นั้น มีทั้งส่วนที่ทำให้หวั่นและส่วนที่ทำให้ไหว ส่วนที่ทำให้หวั่น คือกลัวว่าจะเกิดแก่ตน ได้แก่ การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับความทุกข์ ส่วนที่ทำให้ไหว คือ เมื่อเกิดแก่ตนแล้ว ไม่สามารถจะรักษาสภาพจิตใจให้มั่นคงได้ อดไม่ได้ที่จะยินดีปลาบปลื้ม ก็คือ ในเรื่องของการได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญ และมีความสุขนั่นเอง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-07-2011 เมื่อ 08:49 |
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
นักปฏิบัติอย่างพวกเรา เมื่อปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่งแล้ว ไม่ใช่แต่การทรงศีล สมาธิ ปัญญาเฉย ๆ แต่ว่าเราต้องเอากำลังในการปฏิบัติที่เกิดจากศีล สมาธิ และปัญญานี้มาใช้ในชีวิตจริง ชีวิตจริงของเราที่ดำเนินอยู่ในโลกนี้ ก็จะต้องพบกับโลกธรรมทั้ง ๘ ประการนี้เป็นปกติ
เมื่อกระทบกับโลกธรรมทั้ง ๘ นี้ ไม่ว่าจะมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ได้รับคำสรรเสริญหรือถูกนินทา มีสุขหรือมีทุกข์ เรายินดีหรือยินร้ายหรือไม่ ? ความยินดีความพอใจนั้น ก็คือส่วนของราคะ เป็นรากเหง้าใหญ่ของกิเลส ความยินร้ายก็เป็นส่วนของโทสะ เป็นรากเหง้าใหญ่ของกิเลสเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าในส่วนของความยินร้ายนั้น เราสามารถที่จะผลักไสถอดถอนไล่ออกจากใจได้ง่าย เพราะเป็นอารมณ์ที่ไม่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจของเราอยู่แล้ว ในส่วนของลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น เป็นส่วนที่ทุกคนปรารถนา ทุกคนต้องการ กลับมีโทษมากกว่า เพราะเรายินดี อยากมีอยากได้ ไปไขว่คว้าหามา จึงไม่เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นำพาให้เราเกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร ถ้าเราไปยินดี ไปยึดมั่น ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ ดังนั้น..ในเรื่องที่ดี ๆ นั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากกว่า เพราะทำให้เรายึดติดได้ง่าย สู้ให้เป็นเรื่องร้ายไปเลยจะดีกว่า เพราะเรื่องร้ายเราไม่ยินดีและพยายามที่จะผลักไสออกไปอยู่แล้ว
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-07-2011 เมื่อ 08:51 |
สมาชิก 62 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
เมื่อนักปฏิบัติกำลังใจทรงตัวแล้วกระทบกับโลกธรรม มีความยินดียินร้ายหรือไม่ ? ต้องดูกำลังใจของตนเอง ถ้าไม่ยินดียินร้ายกับโลกธรรม ก็จะอยู่ในลักษณะที่ไม่ไปไขว่คว้าหรือไม่ไปผลักไส ไม่ว่าในส่วนอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าพอใจ หรืออนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ
ถามว่าจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างไร ? ถ้าไม่ยินดีในสิ่งที่คนอื่นเขาต้องการ ก็ต้องทำตัวในลักษณะที่ว่าไม่ไปไขว่คว้ามาจนเกินพอดี แต่ถ้ามีก็ไม่ขับไสไล่ส่ง เพราะว่าการที่เราไปดิ้นรนไขว่คว้าจนเกินพอดี ย่อมจะสร้างทุกข์สร้างโทษแก่เรา แต่ถ้าสิ่งทั้งหลายได้มาด้วยความดี ความสามารถของเราเอง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องผลักไส เพียงแต่ว่าให้รับไว้อย่างมีสติ มีสติรู้อยู่ว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ท้ายสุดก็ดับไป ถ้าเราเห็นธรรมดาของโลกได้ ก็จะเกิดการปล่อยวาง ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อพบกับอารมณ์ที่น่ายินดีก็ไม่ไปยินดีจนเกินงาม เมื่อพบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ก็ไม่ไปยินร้ายด้วย จิตใจจะอยู่ในสภาพเป็นกลาง ที่เรียกว่า อัพยากตารมณ์ คืออารมณ์กลาง ๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ถ้าสามารถวางกำลังใจเช่นนี้ได้ ก็จะเกิดสภาพจิตที่ได้กล่าวก่อนเจริญกรรมฐานว่า ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะนะ กัมปะติ จิตที่กระทบกับโลกธรรมแล้วไม่หวั่นไหว ซึ่งองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เป็นเอตัมมัง คะละมุตตะมัง เป็นมงคลอันสูงสุด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-07-2011 เมื่อ 13:05 |
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
![]()
ดังนั้น..ในวันนี้พวกเราทั้งหลายดูบทเรียนของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่สอบได้และที่สอบเกือบได้ ดูว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีความยินดียินร้ายต่อโลกธรรมที่เข้ามาถึงตนอย่างไร ? แล้วเราเองพลอยยินดียินร้ายไปกับท่านเหล่านี้ไปถึงระดับไหน ?
ถ้าเราสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของเราให้อยู่ในกรอบ ไม่ยินดียินร้ายจนเกินงาม ก็คือไม่ไปยินดียินร้ายกับกรรมของคนอื่นนั่นเอง ถ้าสามารถทำอย่างนั้นได้ แสดงว่ากำลังใจของท่านทั้งหลายเห็นธรรมดาในโลกธรรม เห็นความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร การเกิดมาก็ต้องพบกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมดา แต่ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาพบกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ถ้าตายลงไปเมื่อไร เราขอไปอยู่พระนิพพานแห่งเดียว ให้ทุกท่านตั้งกำลังใจเอาไว้อย่างนี้ แล้วทำการภาวนาพิจารณาต่อไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-07-2011 เมื่อ 13:05 |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|