#1
|
|||
|
|||
![]()
ให้ระวังการนินทา-กรรมบถ ๑๐ หมวดวาจา ๔
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้ ๑. “การสนทนาธรรมวันนี้ ให้หลีกเลี่ยงการนินทา ควบคุมกรรมบถ ๑๐ ทางด้านวาจาเอาไว้บ้างเป็นดี เพราะในจุดนี้ยังสอบตกกันมาก ให้พิจารณาเสียก่อนจึงพูด พยายามจับผิดในวจีกรรมหมวดวาจา ๔ แล้วแก้ไขเสีย ฟังให้มาก พูดให้น้อย ก็จักดีขึ้นเอง” ๒. (ก็คิดว่า การควบคุมกรรมบถ ๑๐ นั้นยาก) ทรงตรัสว่า “ไม่ยากหรอก ถ้าหากมีความตั้งใจ กำหนดรู้กันจริง ๆ ให้ศึกษาจริยาของพระที่จิตถึงระดับนี้แล้ว ท่านไม่มีความอนาทรร้อนใจในเรื่องของขันธ์ ๕ อยู่ก็อยู่ ตายก็ตาย แต่ถ้ายังไม่ตายหน้าที่การงานทางพุทธศาสนาซึ่งรับผิดชอบมีเท่าใด ท่านไปได้ก็จักไปทำตามนั้น” (หลวงปู่ไวยท่านป่วยแต่ท่านก็ยังไปโปรดชาวเขาตามปกติ) ๓. “ให้ดูท่านฤๅษีก็เช่นกัน แม้กระทั่งป่วยในวันสุดท้ายนั้น ท่านก็ยังลงรับแขกตามหน้าที่ และยืนยันแม้กระทั่งจักเข้ามาสอนพระกรรมฐานที่สายลม ให้พวกเจ้าศึกษากำลังใจจุดนี้ของพระอริยเจ้าเบื้องสูง ท่านเป็นอย่างนี้จงดูและศึกษาให้มาก ๆ “ ๔. “หมั่นดูกรรมบถ ๑๐ ให้มากด้วย อย่าเพ้อเจ้อเหลวไหล การพูดอย่างมีสติกับการพูดอย่างไม่มีสตินั้น ต่างกันตรงที่จักต้องคิดไว้ก่อนแล้วจึงพูด พูดอย่างนี้มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นบุญหรือบาป เป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นสุขหรือเกิดทุกข์ หากใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงพูด (นิสัมมะ กรณังเสยโย) ก็จักเพิ่มกุศลให้กับตนเองและผู้รับฟังธรรม” ๕. “การทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมนั้น ย่อมต้องเสียสละหมดทุกอย่าง แม้แต่สละร่างกายก็ยอม ด้วยเห็นผลในการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมนั้น ๆ เป็นวิสัยของพุทธสาวกพึงมีมาแล้วในทุก ๆ พุทธันดร” (แต่จงดูบารมีหรือกำลังใจของตนเองด้วยว่ามีระดับไหน อย่าเห็นช้างขี้แล้วจะขี้ตามช้างโดยขาดปัญญา จะทำอะไรให้อยู่ในขอบเขตของบารมีของตน) ๖.”ที่ตรัสนี้เป็นปฏิปทาของพระอรหันต์ส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกองค์หรอกนะ เพราะทุกองค์เมื่อจบกิจแล้ว ก็จักรู้หน้าที่แห่งตน และรู้หน้าที่ควรและไม่ควรในกิจที่ต้องกระทำหรือไม่กระทำแห่งตนอีกด้วย องค์ไหนรับหน้าที่อย่างไร ก็พึงเป็นไปตามนั้น” ๗. “ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ ๓ สถาบันนี้ขาดกันไม่ได้ ต้องพึ่งพากันอยู่ตลอด และจงอย่าลืม พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะสมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตรัสไว้ชัดว่า พระพุทธศาสนาจักเจริญอยู่กับประเทศไทยจนครบ ๕,๐๐๐ ปี ท่านฤๅษีก็ดี-หลวงปู่ไวยก็ดี ตอนมีชีวิตอยู่ ปฏิปทาของท่านช่วยคน ช่วยชาติอย่างไร พวกเจ้าจึงพึงศึกษากันไว้” (ให้ทุกคนศึกษาได้ในธรรมะเล่ม ๒ รำลึกถึงความดีของหลวงพ่อในอดีต หลวงพ่อฤๅษีวัดท่าซุงหรือพระราชพรหมยานมหาเถระ) ๘. “มีคนประพฤติไม่ดีอยู่เพียงคนเดียว ก็ทำให้คนทั้งวัดเดือดร้อนไปได้เหมือนกัน มันเป็นไปตามวาระของกรรม คนเห็นแก่ตัว คือ คนที่เห็นแก่ร่างกายมากเกินไป จนทิ้งหน้าที่ของตน ขาดเทวธรรม(หิริ - โอตตัปปะ) จงอย่าอยากเลวตามเขา อย่าอยากสบายตามเขา ซึ่งเป็นการตามใจกิเลส ปล่อยให้กิเลสจูงจมูกไป จงอย่าสนใจ กรรมใครกรรมมัน เสียเวลาปฏิบัติธรรมโดยใช่เหตุ อยู่กับคนหมู่มากพึงจักใจเย็น ๆ เข้าไว้” ๙.“อย่าเอาแต่อารมณ์ของตนเองเป็นใหญ่ อะไรที่ผ่านแล้วให้ผ่านเลย เพราะเป็นอดีตไปแล้ว ให้ตั้งต้นปรับอารมณ์เสียใหม่ ที่ผ่านไปแล้วให้ถือว่าเป็นครู ทำอะไรอย่าให้ขาดทุน ดูอารมณ์ของตนเองเข้าไว้ให้ดี ๆ” ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘ รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com |
สมาชิก 79 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|