#1
|
|||
|
|||
![]()
เมตตาคุ้มครองโลก
เท่ากับเมตตาอัปปมาโณ เท่ากับธัมโมอัปปมาโณ (เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมกับผม ท่านธัมมวิจัยว่า อภัยทานตัวจริง จะต้องทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ครบทั้ง ๔ ตัว และทรงตัวเป็นปกติ และบุคคลที่ยังมีอารมณ์ ๒ อยู่ ก็เพราะยังตัดสังโยชน์ข้อที่ ๔ และ ๕ ไม่ขาด) สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้ ๑. “จริงของเจ้าที่ว่าอภัยทานจักเกิดแก่จิตของผู้ใด บุคคลผู้นั้นจักต้องทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ครบ ๔ ตัวอยู่ตามปกติ แต่จักทำได้ไฉนเล่า นี่แหละคือเหตุที่ตถาคตจักต้องนำมากล่าวในที่นี้” ๒. “พรหมวิหาร ๔ เป็นสมบัติของพรหมธรรม นอกเหนือจากพรหมที่เกิดด้วยกำลังฌาน" พรหมวิหาร ๔ เป็นพี่เลี้ยงของศีล-สมาธิ-ปัญญาให้ตั้งมั่น พรหมวิหาร ๔ เป็นตัวปัญญาอันเกิดขึ้นได้ด้วยการพิจารณาใคร่ครวญถึงเหตุผลของที่ตั้งได้ของพรหมวิหาร ๔ ทั้ง ๔ ตัวนี้การใคร่ครวญทำดังนี้ ๓. “จริง ๆ แล้วการปฏิบัติในศีลได้เป็นปกติ เพราะอำนาจหิริ-โอตตัปปะ กลัวบาป เกรงผลของบาปจักให้ผล เป็นเทวธรรมที่ทำให้สงบจิต เว้นจากการทำบาป กลัวตกนรก และจัดว่าเป็นอำนาจของพรหมวิหาร ๒ ประการเบื้องต้น” ๔. “การงดเว้นจากการกระทำกรรมชั่ว ๕ อย่าง ก็เป็นเมตตากับกรุณาอยู่ในตัวเสร็จสรรพ เหมือนคนกินแกงส้ม แต่ไม่รู้จักชื่อแกงส้ม นี่ก็เช่นกัน ประพฤติปฏิบัติตามแบบฉบับของเมตตา-กรุณา แต่ไม่เคยคิดถึงชื่อสมมติบัญญัติ ให้ลองพิจารณาไล่ดู หากขาดเมตตา-กรุณา-มุทิตา-อุเบกขาทีละข้อ ๆ ว่า ขาดแล้ว การกระทำ (กรรม) ของกาย-วาจา-ใจ จักออกมาในรูปใด คิดให้ออก คิดให้บ่อย ๆ แล้วจักเข้าใจได้เอง” ๕. “เมื่อเข้าใจแล้ว ให้คิดกลับกันว่า หากมีเมตตา-กรุณา-มุทิตา-อุเบกขา ทีละข้อ ๆ แล้ว การกระทำทางกาย-วาจา-ใจ จักออกมาในรูปใด” ๖. “ขั้นต่อไป ก็ให้พิจารณาคิดเทียบไปกับอารมณ์กระทบของอายตนะภายนอกและภายใน เริ่มจากพบ ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย และธรรมารมณ์ตามลำดับ ทีละข้อ ๆ โดยตั้งคำถามกับจิตว่า ตาเห็นรูป รูปดีหรือรูปไม่ดี หากมีพรหมวิหาร ๔ กับไม่มีพรหมวิหาร ๔ กาย-วาจา-ใจจักเป็นอย่างไร ซึ่งคนฉลาดพิจารณาเพียงอย่างเดียว หากได้คำตอบแล้วอีก ๕ ข้อก็จะมีอารมณ์เหมือน ๆ กันทั้งสิ้น” ๗. “เรื่องสัมผัสทางกาย ตถาคตหมายถึงทุกอย่างที่เข้ามาสัมผัสด้วยกาย แม้กระทั่งร่างกายกระทบอากาศร้อน-หนาว กระทบเสื้อผ้าอาภรณ์ และสิ่งอื่น ๆ ที่มากระทบร่างกาย ก็ให้ปฏิบัติแบบในข้อ ๖ ทั้งสิ้น เช่น เสียงจากโลกธรรม ๘ คือ เสียงนินทา-สรรเสริญ เสียงผู้ไม่มีศีล-เสียงผู้ไม่มีกรรมบถ ๑๐ ก็ให้พิจารณาโดยใช้หลักเดียวกัน” ๘. “หากจิตพิจารณาตามหลักเหล่านี้ดีแล้ว พรหมวิหาร ๔ ก็จะเริ่มทรงตัวอยู่กับจิต เมื่อกระทบกับเสียงที่ไม่ดีทั้งหลาย เมตตา-กรุณาก็จักรักและสงสารว่าเขาไม่น่าทำอย่างนั้นเลย การผิดศีล ละเมิดกรรมบถ ๑๐ จะต้องตกเป็นเหยื่อของอบายภูมิ มีมุทิตาคือจิตอ่อนโยน อภัยในความชั่วของเขา คือ ไม่เก็บความชั่วของเขามาไว้ในจิตของเรา หากเตือนได้ก็เตือนด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเตือนไม่ได้ก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่าเก็บเอามาให้กาย-วาจา-ใจเราเดือดร้อน อุเบกขา คือ มีจิตปล่อยวางในเสียงนั้น เพราะพิจารณาเห็นเป็นธรรมดาของเขา เป็นปกติของผู้ไม่มีศีล ไม่มีกรรมบถ ๑๐ มันก็เป็นธรรมดาอย่างนี้แหละ” ๙. “นี่แหละ คือการใคร่ครวญถึงพรหมวิหาร ๔ ทั้ง ๔ ประการ จักต้องคิดไว้ ใคร่ครวญไว้ ใช้ปัญญาตามรู้เข้าไว้ จุดนี้เป็นวิปัสสนาญาณ และให้คิดจบลงตอนท้ายทุก ๆ ข้อว่า หากเราตายตอนนี้จิตเราจักไปไหน หากมีพรหมวิหาร ๔ กับไม่มีพรหมวิหาร ๔ ให้ปริปุจฉาถามตอบในจิตตนเองให้เป็นปกติ” ๑๐. “พวกเจ้าจงอย่าละความเพียร ใช้ฌานเป็นกำลังของจิตควบกับคำภาวนา สลับกับการพิจารณาอยู่อย่างนี้อย่าให้ขาด เช่นเดียวกับในอดีตธรรมที่ใคร่ครวญเรื่องของศีล ทำได้เมื่อใด เมื่อนั้นแหละจิตของพวกเจ้าจักรู้ว่ามีพรหมวิหาร ๔ ครบทั้ง ๔ ประการ เจริญอยู่ในจิตตราบนั้นและจักเป็นของแท้ พระอริยเจ้าท่านได้แล้วได้เลย เข้าถึงแล้วก็รู้ว่าเข้าถึง ไม่มีอันใดที่จักมาโยกคลอน เปลี่ยนแปลงจิตของท่านได้อีก ขอให้โชคดีนะ" ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗ รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-05-2011 เมื่อ 13:49 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|