#1
|
|||
|
|||
![]()
การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ
อโรคยา ปรมา ลาภา หมายความว่าอย่างไร? สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนเรื่องนี้ไว้มีความสำคัญดังนี้ ๑. ในกรณีร่างกายของคุณหมอที่ต้องการจักถามว่า พ้นจากโรคนั้นหรือยังนั้น ตถาคตก็ใคร่จักย้อนถามกลับไปว่า การเป็นโรคนั้นเป็นปกติธรรมของการมีร่างกายใช่หรือไม่ (ก็ยอมรับว่า ใช่) ๒. ทรงตรัสว่า ตราบใดที่ยังมีร่างกาย คำว่าปราศจากโรคนั้นย่อมไม่มี สักเพียงแต่ว่า บุคคลผู้นั้นมีปัญญาจักเห็นโรคอันเกิดจากธาตุ ๔ เสื่อมได้สักแค่ไหน แม้ความหิวก็นับว่าเป็นโรค ร่างกายเป็นรังของโรค เชื่อหรือไม่ (ก็รับว่า เชื่อ) ๓. สำหรับโรคลำไส้ของคุณหมอที่เป็นแผล เวลานี้เนื้อนั้นได้สมานกันเข้าแล้ว แต่ก็ยังเป็นเนื้ออ่อน ๆ พึงระมัดระวังอาหารรสจัด ๆ อย่าได้รับประทาน เพราะว่าจักเป็นที่แสลงแก่แผลเนื้ออ่อนนั้น จักร้อนจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัดก็ให้งดไว้ก่อน พึงงดไว้ให้แผลหายสนิทอย่างน้อยก็เป็นแรมเดือน (เพื่อนของผมก็คิดว่าทำไมนานนัก) ๔. ทรงตรัสว่า แผลภายในนี่นะ มันหายยากยิ่งกว่าแผลภายนอก เรื่องนี้คุณหมอเป็นหมอย่อมทราบดีอยู่แล้ว ๕. สำหรับการปฏิบัติ เวลานี้จักไม่ย้ำอะไรมาก ให้หมั่นดูอารมณ์จิตอย่างเดียวก็พอ ๖. ความดี ความชั่วของจิต ต่างก็ได้ศึกษากันมาพอสมควรแล้ว ต่างก็ย่อมสามารถจับความดี-ความชั่วของตนเอาไว้ได้ ให้ตั้งใจกำหนดรู้กันเอาเองก็แล้วกัน ขอเพียงอย่างเดียวให้ซื่อตรงต่ออารมณ์ อย่าโกงเข้าข้างตนเองว่าดีอยู่ร่ำไปก็แล้วกัน กล่าวคืออย่าให้อารมณ์มันหลอก คนอื่นหลอกเรานั้นยังไม่เจ็บใจเท่าตัวเองหลอกตัวเองนะ เพราะนั่นคืออารมณ์โมหะชัด ๆ ดูจุดนี้เอาไว้ให้ดี ๆ ๗. มีโรคก็เป็นทุกข์ ไม่มีโรคก็เป็นสุข อโรคยา ปรมา ลาภา แต่จริง ๆ แล้วสำหรับนักปฏิบัติ คำว่าไม่มีโรคนั้นไม่มี การมีขันธ์ ๕ จึงมีทุกข์อย่างยิ่ง ในอดีตความโง่ทำให้ไม่เห็นทุกข์ คิดว่าการมีขันธ์ ๕ เป็นสุข เห็นกามตัณหาเป็นของดี ทั้ง ๆ เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของทุกข์ทั้งปวง |
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
|||
|
|||
![]()
ธัมมวิจัย... เรื่องการไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ขอเขียนแยกเป็นข้อ ๆ เพื่อสะดวกแก่การจำและความเข้าใจ เพราะบุคคลจะรู้และเข้าใจธรรมได้ตามระดับจิตในจิต และธรรมในธรรม คือจิตตานุสติและธัมมานุสติ
๑. ตราบใดที่กายยังอยู่ คำว่าปราศจากโรคนั้นย่อมไม่มีเพราะกายนี้เป็นรังของโรค ๒. ในฐานะของหมอย่อมรู้ดีว่าอาการ ๓๒ ก็ดี ธาตุ ๔ ก็ดี ล้วนไม่เที่ยง ตัวไม่เที่ยงนี่แหละคือต้นเหตุที่เกิดทุกข์ ๓. ทุกอาการ ๓๒ ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายนี้ ล้วนเป็นโรคหรือเป็นรังของโรคได้ทั้งสิ้น สูงที่สุดคือผม ต่ำสุดคือเท้าหรือตีนล้วนเป็นโรคได้ทั้งสิ้น หรือมีอะไรก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น ๔. เรื่องกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟเป็นหลัก บวกอากาศธาตุและวิญญาณธาตุมาร่วมประกอบด้วย ก็ล้วนไม่เที่ยง แม้ธาตุใดธาตุหนึ่งใน ๔ ธาตุหลักเปลี่ยนแปลงไป มากเกินไปก็เป็นโรค น้อยเกินไปก็เป็นโรคได้ตลอดเวลา ๕. โรคที่มีทุกคนมีเป็นประจำก็คือ โรคหิว (ชิคัทฉา ปรมา โรคา) ไม่ได้รับยกเว้นเลยแม้แต่รายเดียว ๖. โรคะ พระองค์ทรงตรัสว่า คือความเสียดแทงที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถจะทนได้ เพราะร่างกายนี้มันหาใช่เรา หาใช่ของเราไม่ เราจึงบังคับมันไม่ได้ ยิ่งฝืนยิ่งทุกข์ ให้ใช้ปัญญารู้เท่าทันมัน (รู้ทันกองสังขารแห่งกายและจิต) ว่าธรรมดาของมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ผู้รู้จึงไม่มีใครไปขัดขวางมัน พิจารณาด้วยปัญญาลงเป็นตัวธรรมดาหมดคือ ลงตัวช่างมัน หมายความว่าช่างเรื่องของร่างกายมันนั่นเอง ผู้ใดมีอารมณ์ช่างมันได้ทรงตัว ก็คือมีอุเบกขารมณ์เกี่ยวกับกายและเวทนาของกายได้เป็นปกติเท่ากับเป็นอุเบกขาจิต อุเบกขาธรรมตามลำดับ หากทรงตัวเป็นอัตโนมัติเมื่อไหร่ อุเบกขาบารมีในบารมี ๑๐ ก็เต็ม จิตดวงนั้นก็พ้นทุกข์จากกองสังขารแห่งกาย และกองสังขารแห่งจิตได้เป็นอัตโนมัติ ถึงจุดนี้สังขารุเบกขาญาณก็เกิด ก็จบกิจในพระพุทธศาสนา ผมยังไม่กล้าเขียนให้มากไปกว่านี้ เพราะเขียนตามจินตมยปัญญาเท่านั้น ยังไม่ใช่ของจริง เพราะมีสัญญาปนอยู่มาก หากเขียนมากโอกาสที่จะผิดก็มากเท่านั้น ก็ขอเขียนพอเป็นแนวคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาเท่านั้นเช่นกัน ๗. หากจะเขียนต่อไปก็คงเขียนได้อีกมาก ขอเขียนพอเป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น จึงขอสรุปเอาชัด ๆ ผู้รู้ย่อมทราบว่าธาตุลมเป็นธาตุที่แสดงธรรมของความไม่เที่ยง ฝืนเมื่อไหร่ทุกข์เมื่อนั้นคือ พร่องอยู่เป็นนิจ หายใจเข้าแล้วหายใจออกไม่ได้ก็ตาย หายใจออกแล้วหายใจเข้าไม่ได้ก็ตาย เราจึงต้องบริโภคหรือกินลม หรือหิวลม (ผัสสาหาร ลมหายใจคืออาหารของร่างกาย) ตลอดเวลา จุดนี้หากไม่มีสติกำหนดรู้อารมณ์จิตของตนเองอยู่เสมอ ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์ เพราะทุกขสัจหรือทุกข์ของกายนี้หากไม่กำหนดก็ไม่รู้ว่ามันทุกข์ และต้นเหตุที่ทำให้เราขาดสติก็เพราะลืมอานาปานุสติ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออก กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุทั้งสิ้นนี่คือตัวอริยสัจ ซึ่งแปลว่าความจริงที่พระพุทธเจ้าท่านทรงรู้ก่อนผู้อื่นทุกคนในโลก ทรงทดลองปฏิบัติจนเกิดผลจริงที่จิตของพระองค์เองก่อน แล้วจึงนำมาสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ตามพระองค์ยิ่งเขียนยิ่งยาว จบยาก จึงจำต้องจบไว้เพียงแค่นี้ ๘. คำตอบที่ถูกต้องเรื่องการไม่มีโรค หมายถึง โรคทางใจ ๑๐ ประการหรือสังโยชน์ ๑๐ ประการ ที่เป็นกิเลสร้อยรัดใจเราไว้ให้ต้องมาเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสารต่างหาก มิใช่หมายถึงโรคทางกายแต่อย่างใด ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗ รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com |
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|