#1
|
|||
|
|||
![]()
ตัณหา ๓ ต้นเหตุที่ทำให้ต้องเกิด
สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนมีความสำคัญ ดังนี้ ๑. “ทำกรรมฐานได้เท่าใด ให้พอใจแค่นั้น จิตจักมีความสุข ที่ทุกข์เพราะจิตดิ้นรน มีความอยากได้มรรคได้ผลมากเกินไป จัดเป็นกามสุขคัลลิกานุโยคได้เหมือนกัน ต้องดูอารมณ์ของจิตให้ดี” ๒. “ต้องมีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้เอาไว้เสมอ การผิดพลาดก็เพราะนิวรณ์ ๕ รบกวนจิต ต้องรีบตัดให้เร็วที่สุดด้วยกรรมฐานแก้จริต จนจิตชินสามารถตัดนิวรณ์ได้เป็นอัตโนมัติ จุดนี้ต้องใช้ความเพียรหนัก จักพ้นเกิดพ้นตายได้ก็อยู่ที่ตรงนี้ว่า จิตมีกำลังเอาจริงหรือไม่” ๓. “การฝึกมโนมยิทธิจะได้หรือไม่ มิได้อยู่ที่ครูฝึก แต่อยู่ที่จิตผู้ฝึกจักระงับนิวรณ์ ๕ ได้ละเอียดแค่ไหน เมื่อเห็นพระนิพพานแล้ว ไม่ควรประมาทว่า เราจักเข้าพระนิพพานเมื่อใดก็ได้” ๔. “การไปเห็นพระนิพพานก็ดี การไปได้มาได้ก็ดี หากเหลิงเกินไป ทะนงตนไม่สร้างความดี คือ ละจากรากเหง้าของตัณหา ๓ ประการ ก็จักไปพระนิพพานไม่ได้ในบั้นปลาย” ๕. “ตัณหา ๓ คือ จิตตกอยู่ในห้วงกามตัณหา มีความทะยานอยากในความโกรธ โลภ หลง อะไรมากระทบร่างกาย อายตนะสัมผัสก็มีความไม่พอใจเกิดขึ้นกับอารมณ์ มีแต่ความทะยานอยาก คือ อยากโกรธ อยากอาฆาตพยาบาท อยากทำลาย” |
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
|||
|
|||
![]()
๖. “เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป ได้ตอบโต้กับบุคคลเหล่านั้นจนสะใจ หรือพอใจแล้ว จุดนี้จิตตกอยู่ในห้วงภวตัณหา เป็นการสนองอารมณ์ของกามตัณหาให้สะใจ”
๗. “เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไปเป็นอดีตธรรมแล้ว แต่จิตไม่ยอมวางอารมณ์ขุ่นมัว ยังครุ่นคิดปรุงแต่งอดีตธรรมนั้นให้เหมือนอยู่ในธรรมปัจจุบัน หากเจอคู่อริใหม่ก็จะด่าใหม่ ล้วนเป็นอารมณ์อนาคตที่ยังมาไม่ถึง บางครั้งเห็นหน้าเขามาแต่ไกล ก็บ่นหรือด่าในใจแล้ว ต้นเหตุจากพรหมวิหาร ๔ ไม่มีเลยในขณะนั้น นี่แหละคือวิภาวตัณหา” ๘. “ตัวอยากโลภก็เช่นกัน โลภในคน สัตว์ วัตถุ ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เห็นว่ามันสวยสดงดงาม เป็นที่ถูกใจหรือพอใจ นี่คือกามตัณหา เมื่อได้มาแล้วก็หลง อยากให้มันมีความทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือภวตัณหา แต่ในที่สุด คน สัตว์ วัตถุ ทรัพย์สินต่าง ๆ แม้กระทั่งร่างกายของตนเอง ซึ่งมาจากธาตุ ๔ ก็ต้องเสื่อม เศร้าหมอง หาความสดใสไม่ได้ ร่างกายก็ต้องป่วย ต้องแก่ วัตถุธาตุก็ต้องเก่าทรุดโทรมไปตามกาล ตามสมัย แต่จิตหลงหรือโง่ ไม่ยอมรับความเป็นจริง จิตมีอารมณ์เสียดาย จะให้อดีตกลับมาเป็นปัจจุบันใหม่ ไม่เข้าใจกฎของไตรลักษณ์ หรือกฎธรรมดาของโลก นี่คือวิภวตัณหา” ๙. “เมื่อร่างกายนี้ตายแล้ว แต่อารมณ์จิตยังไม่รู้จักพอ มีแต่ความทะยานอยาก หลงอยู่ในสภาวะของตัณหา ๓ ประการ จึงเป็นเหตุให้เกิดต่อ ๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเป็นดวงจิตที่ไม่รู้จักยุติกรรม มีความหลงในร่างกาย หรือหลงในอายตนะสัมผัสที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ (ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย) ทำให้อยากโกรธ อยากโลภ อยากหลง ต่อกรรมไปในทางทะยานอยากตามสภาวะของตัณหา ๓ ประการ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗ รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com |
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|