#1
|
|||
|
|||
![]()
สันตติของอารมณ์
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ต.ค. ๒๕๓๕ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเพื่อนของผมในเรื่องนี้ไว้ดังนี้ ๑. ขณะเจริญกรรมฐาน หากพิจารณาไปจิตเครียดขึ้นมา ก็จงวางอารมณ์พิจารณา เปลี่ยนมาเป็นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดภาพพระเป็นกสิณนิมิต แทนการเห็นอาทิสมานกายอยู่เบื้องหน้าพระบนพระนิพพาน จงทำจิตให้เป็นสุขผ่องใส เพราะอยู่ต่อหน้าพระจอมไตรองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ กำหนดรู้ไว้ แม้ร่างกายจักตายไปในขณะนั้น จิตก็ย่อมเข้าสู่พระนิพพานอย่างแน่นอน ๒. อย่าลืม เวลาใดที่กำหนดภาพพระนิพพาน เวลานั้นจิตไม่ห่วงร่างกาย ลืมความคิดถึงร่างกายในชั่วขณะนั้น ๆ ๓. ขอให้สังเกตอารมณ์ของจิต จักเกาะติดหรือคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แค่อย่างเดียวในขณะจิตนั้น ๆ แต่เนื่องจากขณะจิตหนึ่งนั้นเร็วมาก แค่พุทไม่ทันโธ บุคคลผู้มีความประมาทก็ตั้งสติกำหนดรู้ขณะจิตหนึ่งนั้นไม่ทัน ๔. การปล่อยอารมณ์ฟุ้งซ่านถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ จึงรู้สึกว่ามันปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องเป็นราว จนดูเป็นที่ผันผวนของอารมณ์ยิ่งนัก นี่ก็เป็นสันตติเพราะแยกขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นไม่ออก เรื่องราวทั้งหมดจึงประดังประเดเข้ามาเหมือนกระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลติด ๆ กันมา สติไม่ทันกำหนดรู้ ก็แยกเหตุที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ในขณะนั้นไม่ถูก ยิ่งใจร้อน ก็ยิ่งไหวหวั่นไปกับเหตุที่เกิดขึ้นมาก แต่ถ้าหากใจเย็น มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิตในขณะจิตหนึ่ง ๆ การกำหนดรู้ก็จักดึงเหตุที่เข้ามากระทบจิตให้ช้าลง จนสามารถรู้ได้ว่าในขณะจิตหนึ่งนั้น ๆ จิตกำลังเสวยอารมณ์อะไร |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
|||
|
|||
![]()
๕. “จุดนี้คือ พยายามแยกสันตติ คือ เห็นสันตติของอารมณ์ในขณะจิตหนึ่ง ๆ จักต้องใจเย็น ๆ จึงจักเห็น แต่ถ้าใจร้อนก็จักไม่เห็นสันตติของจิตนั้น เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว จนบุคคลผู้ไม่เคยฝึกจิตจักกำหนดรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย เหตุการณ์ใดกระทบกระเทือนใจมาก เหตุการณ์เหล่านั้นเกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ในอารมณ์ของจิตกี่ครั้งกี่หน บุคคลผู้นั้นก็ไม่รู้ ยังคงทำจิตให้จมปลักอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ จัดว่าเป็นผู้โง่เขลาอย่างแท้จริง”
๖. “พวกเจ้าทั้งหลาย เข้ามาถึงธรรมในธรรม จิตในจิตแล้ว ตถาคตจึงตรัสแสดงธรรมให้พวกเจ้าได้รู้ว่า พึงกำหนดรู้อารมณ์ของจิตในขณะหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นธรรมปัจจุบันที่พึงจักจำแนกกิเลส ให้หลุดพ้นไปจากจิตได้” ๗. “จุดนี้เป็นการปฏิบัติอันละเอียดอย่างยิ่ง พึงจักกระทำให้ได้เพื่อความพ้นทุกข์ ในสภาวธรรมที่ครอบงำจิตนั้น ๆ แยกสันตติทางอารมณ์ให้ออก จิตจักเสวยทุกขเวทนากับตัดสันตตินั้นให้ขาดด้วยยกกรรมฐานแก้จริตนั้น ๆ จิตจักเสวยสุขเวทนาในทางด้านโลกียวิสัย ก็ตัดสันตตินั้นให้ขาดด้วยกรรมฐานแก้จริตเช่นกัน จิตจักเสวยธรรมวิมุติ ก็พึงกำหนดรู้ หาเหตุเพิ่มกำลังให้กับจิต อันเป็นการส่งเสริมความดีในมรรคปฏิปทาปฏิบัติ จนได้ผลเข้าถึงธรรมนั้น ๆ ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตรัสมาเยี่ยงนี้ เจ้าเข้าใจหรือไม่” (ก็รับว่า เข้าใจ) ๘. “ถึงจุดนี้ พยายามตัดความสนใจในจริยาของคนอื่นให้มาก ๆ งานฝึกฝนการรู้จิตนั้น จักต้องทำให้ได้ตลอดเวลา จึงไม่สมควรให้จิตเสียเวลา เพราะเรื่องของคนอื่นให้มากนัก ยกเว้นการเกี่ยวเนื่องด้วยเหตุที่จำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้” ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖ รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-09-2010 เมื่อ 12:56 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|