#1
|
|||
|
|||
![]()
สังขารุเบกขาญาณตัวจริงนั้นเป็นอย่างไร
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ส.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ได้ทรงพระเมตตาตรัสสอนไว้ดังนี้ ๑. “ร่างกายไม่ดี ฝืนไม่ได้ก็จงอย่าฝืน การกำหนดรู้เวทนาเป็นของดี การวางเฉยไม่บ่นในเวทนานั้นก็เป็นของดี แต่จักให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็จงดูอารมณ์ว่า มีความวิตกกังวลกับร่างกายมากน้อยเพียงใด ดูผิวเผินเสมือนหนึ่งไม่มีจิตเกาะเวทนานั้น ๆ แต่ควรจักมองให้ลึก ๆ เข้าไปถึงอารมณ์ที่ไม่โปร่งของจิต ก็จักเห็นอาการของจิตที่ยังเกาะเวทนานั้นอยู่ไม่มากก็น้อย คือ ลักษณะของอารมณ์จิตยังอึดอัดมีการเหมือนอดทนต่อเวทนานั้น จิตยังมีอาการหนักอึดอัดก็คือ จิตไม่วางอาการเวทนาของร่างกาย” ๒. “หากเป็นสังขารุเบกขาญาณตัวจริง เวทนาจักสูงสักเพียงใด อารมณ์ของจิตจักไม่หนักใจในอาการนั้น จิตโปร่งไม่ยึดเกาะอาการเวทนาใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนดั่งในวาระที่ท่านฤๅษีจักละขันธ์ ๕ มาครั้งนั้น เจ้าก็รู้สึกถึงอารมณ์จิตของท่านฤๅษีได้ว่าโปร่งเบา มิได้ขัดเคืองกับทุกขเวทนาของขันธ์ ๕ เลย นั่นแหละเป็นของจริงแห่งอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ คือ จิตยอมรับและปล่อยวางร่างกายไปตามสภาพของความเป็นจริง ยอมรับกฎของกรรม หรือธรรมดาของร่างกาย อย่างจริงใจ” ๓. “แต่ก็ยังเป็นการดีที่เจ้าลดอารมณ์จิตบ่นไปได้บ้างแล้ว หมั่นคุมตัวนี้ให้ดี ๆ และหมั่นลดความหนักของจิตให้น้อยลงไปด้วย” ๔. “อาการหนักของจิต จักต้องดูและรู้ด้วยตาปัญญา คือ อย่าให้กิเลสมันมาบังความจริงว่า จิตหามีความหนักไม่ทั้ง ๆ ที่ยังมีอารมณ์หนักอยู่ เหมือนคนเดินตัวเปล่าก็โปร่งเบา ซึ่งต่างกับคนเดินแบกสัมภาระย่อมหนัก ฉันใดก็ฉันนั้น หากจิตไม่เกาะเวทนาจริง ๆ ก็จักมีสภาพตามนี้ สอบจิตดูอารมณ์เอาไว้ให้ดี ๆ” ๕. “การจักปลดความหนักของจิตลงได้ ต้องอาศัยพิจารณากฎไตรลักษณญาณ เห็นเกิด เสื่อม ดับของขันธ์ ๕ ซึ่งยึดถือมาเป็นแก่นสารสาระไม่ได้ และยึดสมถะภาวนา ๓ กองมาเป็นกำลัง คือ มรณานุสติและอสุภะ และกายคตานุสติ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นลงไปในความเกาะติดว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา และควบอุปสมานุสติเอาไว้ ขออยู่กับสภาพไม่เที่ยงของขันธ์ ๕ อันมีความเที่ยงของมันอยู่อย่างนั้นเป็นครั้งสุดท้าย ขันธ์ ๕ นี้ตายลงเมื่อไหร่ ตั้งใจไปพระนิพพานเมื่อนั้น” ๖. “กรรมฐานเหล่านี้ พวกเจ้าต้องทำควบคู่กันไปตลอดเวลา จักทำให้บารมี คือ กำลังใจตัดกิเลสทรงตัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป รักษากำลังใจจุดนี้ไว้ให้ดี ๆ จงจำปฏิปทาของท่านฤๅษีเอาไว้ ท่านทำเพื่อความไม่ประมาทโดยตรง รักษากำลังใจให้ดี คือ ไม่คิดให้จิตต้องเศร้าหมอง ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ท่านทำมาโดยตลอด จนกระทั่งจิตทรงตัวอยู่ในความดี มีจิตผ่องใสหมดจดจากความประมาทได้ในที่สุด” ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖ รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-08-2010 เมื่อ 02:24 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|