#1
|
||||
|
||||
![]() เทศน์วันเข้าพรรษา วันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ เชิญรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/live/I2KQl49d9PI เทศน์เริ่มนาทีที่ ๑.๐๐.๑๐ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย ติฯ ณ บัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในปุญญกถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมีของบรรดาธนิสราทานบดีทั้งหลาย ซึ่งพร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ญาติโยมทั้งหลาย วันเข้าพรรษาถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงมีพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษสงฆ์ทั้งปวงอยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝน ซึ่งก่อนหน้านั้นองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้มีพุทธบัญญัตินี้ไว้ ทำให้เมื่อถึงหน้าฝนแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ยังเที่ยวจาริกไปยังคามนิคมต่าง ๆ ด้วยความที่เป็นฤดูฝน การเดินทางก็ยากลำบาก เปียกฝนขึ้นมาก็เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย ตลอดจนญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายกำลังวุ่นวายอยู่กับการทำไร่ไถนา เมื่อพระภิกษุสงฆ์ไปถึงบ้านเรือนของตน ก็ต้องวางมือจากงานประจำมาถวายการต้อนรับ จัดหาภัตตาหารน้ำใช้น้ำฉันต่าง ๆ มาถวาย ทำให้เสียเวลาในการประกอบกิจการเกษตรของตนไปมาก ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเสียงญาติโยมทั้งหลายดังไปถึงพระเนตรพระกรรณ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้มีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วง ๓ เดือนของฤดูฝน |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
กมลโกศลจิต (เมื่อวานนี้), เด็กใต้ (เมื่อวานนี้), ทายก (เมื่อวานนี้), นาย ธีรัตน์ บุญศรี (วันนี้), เผือกน้อย (เมื่อวานนี้), พุทธภูมิ (เมื่อวานนี้), มารวย๙ (เมื่อวานนี้), สังขวานร (เมื่อวานนี้), สุธรรม (เมื่อวานนี้)
|
#2
|
||||
|
||||
![]()
การอยู่ประจำของพระภิกษุสงฆ์ก็มีความดีความงามอยู่มาก ก็คือ..เมื่ออยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง ญาติโยมทั้งหลายทราบข่าวอยากจะประกอบกองบุญการกุศล ก็ไปยังสถานที่นั้น ไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ อยากจะทำบุญทั้งทีก็ต้องรอจนกว่ามีพระสงฆ์จาริกมาถึง
อีกประการหนึ่งก็คือ พระสงฆ์ส่วนใหญ่จะจำพรรษาร่วมกับครูบาอาจารย์ มีข้อธรรมคำสอน หรือพระธรรมวินัยส่วนใด ที่ยังติดขัดบกพร่องอยู่ ก็จะได้กราบเรียนถามครูบาอาจารย์ สามารถแก้ไขข้อสงสัย ปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำให้กำลังใจของตนเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตลอดจนกระทั่งการอยู่สถานที่ใดที่หนึ่ง ไม่ต้องเที่ยวจาริกไป ทำให้มีเวลาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยให้มั่นคงแม่นยำยิ่ง ๆ ขึ้น ในเมื่อเป็นเช่นนี้ พอนานไป..บรรดาญาติโยมทั้งหลายเกิดความศรัทธา ก็สร้างสถานที่ขึ้นมาให้พระท่านอยู่ประจำ จนกระทั่งกลายเป็นวัดวาอารามมากขึ้น ๆ จนเป็นดั่งทุกวันนี้ แต่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อนุญาตให้จำพรรษาเฉพาะอยู่ในวัดเท่านั้น พระองค์ท่านทรงอนุญาตว่า จะเป็นโคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดี หรือว่าถ้ำแห่งหนึ่งแห่งใดก็ตาม ถ้าไม่มีเจ้าของ ให้ภิกษุสามารถจำพรรษาที่นั้นได้ แม้กระทั่งกองเกวียนที่ไปค้าขายต่างบ้านต่างเมือง ถ้าเขาเป็นพุทธศาสนิกชน ต้องการมีพระภิกษุสงฆ์ไว้ทำบุญเป็นประจำ ก็ได้นิมนต์พระติดไปกับกองเกวียนนั้นด้วย พระพุทธองค์ก็ทรงมีพระบรมพุทธานุญาต ให้ภิกษุสงฆ์สามารถจำพรรษาอยู่ในกองเกวียนนั้นก็ได้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : เมื่อวานนี้ เมื่อ 09:06 |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
กมลโกศลจิต (เมื่อวานนี้), เด็กใต้ (เมื่อวานนี้), ทายก (เมื่อวานนี้), นาย ธีรัตน์ บุญศรี (วันนี้), เผือกน้อย (เมื่อวานนี้), พุทธภูมิ (เมื่อวานนี้), มารวย๙ (เมื่อวานนี้), สังขวานร (เมื่อวานนี้), สุธรรม (เมื่อวานนี้)
|
#3
|
||||
|
||||
![]()
โดยเฉพาะการจำพรรษาที่ใดที่หนึ่งนั้น จะต้องประกอบไปด้วย "เขตติจีวรวิปปวาส" คือ สถานที่ซึ่งพระสามารถอยู่โดยไม่ต้องใช้จีวรครบสำรับ ก็คือ ไม่ต้องมีสบง จีวร สังฆาฏิครบชุดก็ได้ ถ้าอยู่ใต้ต้นไม้ ท่านให้เอาเงาไม้นั้นยามเที่ยงเป็นขอบเขต ถ้าอยู่ในถ้ำ ก็บริเวณตั้งแต่ปากถ้ำเข้าไป
แต่สำหรับกองเกวียนแล้วไซร้ ถ้าหากว่ามีเกวียนสัก ๕๐๐ เล่ม วิ่งตามกันไป ระยะทางก็ยาวเป็นกิโลเมตร องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กำหนดเขตติจีวรวิปปวาส คือ พระสงฆ์สามารถอยู่โดยไม่ต้องมีจีวรครบสำรับ ตั้งแต่หัวขบวนถึงท้ายขบวนของกองเกวียนนั้น ถือว่าเป็นความพิเศษอย่างยิ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธบริษัทผู้มีศรัทธา ซึ่งบรรดาพ่อค้าในสมัยก่อน อย่างเช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐีเศรษฐีก็ดี ธนัญชัยเศรษฐีก็ตาม เป็นพุทธมามกะ มีกองเกวียนส่งไปค้าขายต่างบ้านต่างเมืองนับหลาย ๆ ร้อยเล่มเกวียน จึงเป็นเรื่องที่ต้องอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้มีโอกาสทำบุญเป็นปกติ พระองค์จึงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย สามารถจำพรรษาอยู่ในกองเกวียนนั้นได้ |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
กมลโกศลจิต (เมื่อวานนี้), เด็กใต้ (เมื่อวานนี้), ทายก (เมื่อวานนี้), นาย ธีรัตน์ บุญศรี (วันนี้), เผือกน้อย (เมื่อวานนี้), พุทธภูมิ (เมื่อวานนี้), มารวย๙ (เมื่อวานนี้), สังขวานร (เมื่อวานนี้), สุธรรม (เมื่อวานนี้)
|
#4
|
||||
|
||||
![]()
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งตลอดพรรษาก็ดี องค์สมเด็จพระธรรมเสนาบดีก็ยังมีพระบรมพุทธานุญาตว่า ถ้าพระภิกษุสงฆ์มีกิจสำคัญในช่วงเข้าพรรษา สามารถไปได้ แต่ไม่เกิน ๗ วัน เรียกว่า "สัตตาหะกรณียะ" ซึ่งพระองค์ท่านระบุเอาไว้ชัดเจนว่า
๑) พ่อป่วย แม่ป่วย พระอุปัชฌาย์อาจารย์ป่วย สามารถลาไปช่วยดูแลรักษา แต่ต้องกลับมายังที่จำพรรษา โดยไม่ให้พ้นวันที่ ๗ ไป ๒) วัดพัง ไปหาทัพสัมภาระมาเพื่อซ่อมวัด ซึ่งสมัยก่อนการก่อสร้างก็ไม่แข็งแรงเหมือนสมัยนี้ เมื่อเจอพายุบ้าง เจอฝนตกหนักบ้าง กระท่อมทับต่าง ๆ ที่พักจำพรรษาอยู่อาจจะพังทลายลง ทรงมีพุทธานุญาตให้พระไปหาไม้ หาบรรดาหญ้าคา ตลอดจนกระทั่งเถาวัลย์ มาทำการซ่อมแซมอาคารนั้นได้ แต่ต้องไปไม่เกิน ๗ วัน ๓) มีกิจนิมนต์ต้องไปเจริญศรัทธา สมัยก่อนส่วนใหญ่ก็เดินเท้าไป เมื่อเดินเท้าไป จะกลับมาภายในวันเดียวก็ยาก ตัวอย่างก็คือ หลวงปู่จง พุทฺธสโร วัดหน้าต่างนอก เมื่อถึงเวลาญาติโยมนิมนต์ไป จากอยุธยา..ไปลพบุรีบ้าง ไปสิงห์บุรีบ้าง เหล่านี้เป็นต้น เมื่อถึงเวลาโยมแถวนั้นเห็นครูบาอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ มาถึงใกล้บริเวณบ้านแล้ว ก็นิมนต์ต่อไปเรื่อย จนกระทั่งกำนันเถา กำนันประจำตำบลบางนมโค ต้องเอาเกวียนไปรับหลวงปู่จงกลับวัด ไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจจะเกิน ๗ วันได้ ญาติโยมจะเห็นว่าถ้าพ่อป่วย แม่ป่วย ครูบาอาจารย์ป่วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระไปแสดงความกตัญญูได้ ถ้าวัดพัง มีหน้าที่จะต้องซ่อมต้องสร้างให้ดี อนุญาตให้ไปหาทัพสัมภาระไปซ่อมสร้างวัดได้ ทายกมีจิตศรัทธานิมนต์ ถ้าเป็นระยะทางไกล สามารถที่จะไปเพื่อที่จะฉลองศรัทธาได้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : เมื่อวานนี้ เมื่อ 09:33 |
สมาชิก 10 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
กมลโกศลจิต (เมื่อวานนี้), เด็กใต้ (เมื่อวานนี้), ทายก (เมื่อวานนี้), นาย ธีรัตน์ บุญศรี (วันนี้), เผือกน้อย (เมื่อวานนี้), พุทธภูมิ (เมื่อวานนี้), มารวย๙ (เมื่อวานนี้), สังขวานร (เมื่อวานนี้), สุธรรม (เมื่อวานนี้), ๐ ชู ๐ (เมื่อวานนี้)
|
#5
|
||||
|
||||
![]()
ข้อสุดท้าย..
๔) ถ้าเพื่อนสหธรรมิกที่อยู่ต่างวัดต่างสถานที่กระสันจะสึก ไปเพื่อห้ามปรามท่านเพื่อไม่ให้สึกได้ ซึ่งข้อนี้..พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงมีวินิจฉัยว่า เหตุที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระรูปนั้นไปห้าม เพราะว่าเพื่อนของท่านรูปนั้นที่จะสึก ถ้าบวชอยู่ต่อไปจะบรรลุมรรคผลได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงอนุญาตให้บรรดาพระภิกษุที่เป็นเพื่อนฝูงไปห้ามปรามเอาไว้ เราจะได้มีพระอริยบุคคลเพิ่มขึ้นมาในพระพุทธศาสนา แต่ว่าปัจจุบันนี้..หลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านบอกว่า ถ้าจะสึกก็ปล่อยให้สึกไปเถอะ เพราะว่าจะได้มรรคได้ผลเหมือนสมัยนั้นก็ยากแล้ว เป็นต้น คราวนี้..หลายสิ่งหลายอย่างที่องค์สมเด็จพระทศพลไม่ได้ระบุชัด แต่ว่าเกิดความจำเป็นขึ้นมา อย่างเช่นว่า ป่วยหนัก ถ้าไม่ได้ไปโรงพยาบาลหาหมอ อาจจะถึงแก่ชีวิต เรื่องพวกนี้เราจะต้องอาศัย "มหาปเทส" คือ ข้ออ้างใหญ่ในการตัดสินพระวินัย รวมแล้ว ๔ ประการด้วยกัน อย่างเช่นว่า "เรื่องที่ไม่สมควร ถ้าพิจารณาแล้วว่าสมควร เรื่องนั้นย่อมสมควร" อย่างเช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่ถึงมือหมอต้องตายแน่นอน เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ได้อนุญาตไว้ ถือว่าไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่า ถ้าไปให้หมอรักษา หายดีกลับมาเป็นเนื้อนาบุญของญาติโยมต่อไปได้ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สมควร เหล่านี้เป็นต้น หรือในระยะหลังนี้ พระภิกษุสามเณรของเราต้องไปศึกษาเล่าเรียนต่างสำนัก ต่างจังหวัด แม้แต่ของวัดท่าขนุนก็มีไปเรียนอยู่หลายรูป แล้วการเรียนนั้นอาทิตย์หนึ่งก็เรียนแค่ ๓ วันเท่านั้น เมื่อพิจารณาแล้วว่า การเรียนของท่านคือการเรียนทางพระพุทธศาสนา เมื่อศึกษาจบแล้วจะช่วยให้ท่านสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น..พระพุทธเจ้าไม่ได้อนุญาตไว้ ถือว่าไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่าเป็นเรื่องที่สมควร ก็ให้ขอสัตตาหะกรณียะไปเพื่อศึกษาเล่าเรียนได้ เหล่านี้เป็นต้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : เมื่อวานนี้ เมื่อ 09:23 |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
กมลโกศลจิต (เมื่อวานนี้), เด็กใต้ (เมื่อวานนี้), ทายก (เมื่อวานนี้), นาย ธีรัตน์ บุญศรี (วันนี้), เผือกน้อย (เมื่อวานนี้), พุทธภูมิ (เมื่อวานนี้), มารวย๙ (เมื่อวานนี้), สังขวานร (เมื่อวานนี้), สุธรรม (เมื่อวานนี้)
|
#6
|
||||
|
||||
![]()
องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะมีพุทธบัญญัติสิ่งหนึ่งประการใดที่เป็นข้อห้ามก็ดี ข้อให้ปฏิบัติก็ตาม ทรงมีความรอบคอบและยืดหยุ่นอยู่เสมอ ทำให้บรรดาพระภิกษุสามเณรไม่ต้องประสบกับความยากลำบาก หรือว่าความเดือดร้อนต่าง ๆ จากการที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์โดยไม่มีการลดหย่อนผ่อนปรน องค์สมเด็จพระทศพลจึงให้ข้ออ้างใหญ่ทั้ง ๔ ข้อเอาไว้ โดยเฉพาะข้อที่ว่า "สิ่งที่ไม่สมควร ถ้าพิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร"
อย่างเช่นว่า สมัยนั้นไม่มียาเสพติด พระองค์ท่านไม่ได้ห้ามเอาไว้ แต่ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ไม่สมควร พิจารณาอย่างไรก็ไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร พระภิกษุสามเณรของเราจะไปใช้ข้ออ้างว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามไว้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะพระองค์ท่านทรงมีข้ออ้างในการตัดสินพระธรรมวินัยได้ชัดเจนแล้ว อีกประการหนึ่ง ในช่วงเข้าพรรษาบรรดาญาติโยมทั้งหลายมักจะถือเป็นโอกาสสำคัญ ในการที่จะสร้างกองบุญการกุศลก็ดี ในการจะสร้างความดีใส่ตัวก็ตาม อย่างของวัดท่าขนุนเรา มีการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันพระ ทั้งภาคเช้าและภาคค่ำตลอดพรรษา ญาติโยมท่านใดตั้งใจจะสร้างกุศลใส่ตัว ต้องการจะฟังพระเทศน์ทั้งภาคเช้า ภาคค่ำ ตลอดพรรษา ก็สามารถที่จะมายังวัดท่าขนุนแห่งนี้ได้ทุกวันพระ แล้วขณะเดียวกัน บางท่านก็ตั้งใจว่า ตลอดพรรษานี้จะรักษาศีล ๘ ให้ได้ ตลอดพรรษานี้จะรักษาศีล ๕ ให้ได้ หรือว่าตลอดพรรษานี้จะงดการดื่มสุราเมรัย เป็นต้น ถ้าท่านทั้งหลายใช้โอกาสสำคัญนี้ในการทำสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ได้ ก็จะเป็นกุศลแก่ตัวท่าน ตลอดจนกระทั่งบุคคลรอบข้างเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าการสั่งสมบุญกุศลนั้น มีแต่อำนวยให้เกิดผลดีในชีวิตของเรา ทั้งโลกนี้และโลกหน้า สมกับพระบาลีที่อาตมภาพยกขึ้นในเบื้องต้นว่า "สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย" การสั่งสมบุญนั้นย่อมนำสุขมาให้ ด้วยประการฉะนี้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : เมื่อวานนี้ เมื่อ 09:36 |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
กมลโกศลจิต (เมื่อวานนี้), เด็กใต้ (เมื่อวานนี้), ทายก (เมื่อวานนี้), นาย ธีรัตน์ บุญศรี (วันนี้), เผือกน้อย (เมื่อวานนี้), พุทธภูมิ (เมื่อวานนี้), มารวย๙ (เมื่อวานนี้), สังขวานร (เมื่อวานนี้), สุธรรม (เมื่อวานนี้)
|
#7
|
||||
|
||||
![]()
เทสนาวสาเน ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธัมมรัตนะ และพระสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนทั้งหลายทั้งปวง มีองค์หลวงปู่สาย อคฺควํโส เป็นที่สุด
ขอได้โปรดดลบันดาลให้ความปรารถนาของทุกท่าน ที่ตั้งใจจะกอปรกิจกองบุญการกุศล หรือสร้างคุณงามความดีใด ๆ แก่ตนหรือส่วนรวมก็ตาม จงสำเร็จสัมฤทธิ์ผล ดังมโนรถจงทุกประการ รับหน้าที่วิสัชนามาในปุญกถาเนื่องในวันเข้าพรรษาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์วันเข้าพรรษา ณ วัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : เมื่อวานนี้ เมื่อ 09:37 |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
กมลโกศลจิต (เมื่อวานนี้), เด็กใต้ (เมื่อวานนี้), ทายก (เมื่อวานนี้), นาย ธีรัตน์ บุญศรี (วันนี้), เผือกน้อย (เมื่อวานนี้), พุทธภูมิ (เมื่อวานนี้), มารวย๙ (เมื่อวานนี้), สังขวานร (เมื่อวานนี้), สุธรรม (เมื่อวานนี้)
|
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|