#1
|
|||
|
|||
![]()
การทำงานที่ถูกต้อง
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้ ๑. “การทำงานทั้งภายนอกและภายใน ให้ถือเอาอารมณ์สันโดษ งานทำได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น อย่าคิดว่าจักต้องได้งานมาก ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม เอาความสบายของจิตเป็นหลักสำคัญเข้าไว้” ๒. “งานทางโลกทำเท่าไหร่ไม่รู้จักจบ ทำก็ทำอยู่แต่ในปัจจุบัน และพร้อมที่จักปล่อยวางในขณะจิตปัจจุบัน ซักซ้อมกันเข้าไว้ อย่าคิดว่าจักต้องทำเสร็จทุกสิ่งทุกอย่างที่ตั้งใจ ซึ่งปกติงานทางโลกหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ส่วนใหญ่ทำแล้วก็ต้องหวนกลับมาซ่อมใหม่ หาความทรงตัวของงานไม่ได้” ๓. “ต่างกับงานทางธรรม ซึ่งทำจบแล้วตามขั้นตอนใด ขั้นตอนนั้นก็จบไม่ต้องมาซ่อมใหม่ แต่ในเมื่อขันธ์ ๕ ยังทรงชีวิตอยู่ มีหน้าที่ทางโลกก็จงทำไปตามหน้าที่ ในขณะเดียวกันก็ทำงานทางธรรมไปด้วย อย่าให้บกพร่อง ใครจักว่าอย่างไรก็เรื่องของเขา ห้ามปากเขาไม่ได้ ให้ถือเจตนาเป็นหลักสำคัญ ใครจักคิดอย่างไรก็เรื่องของเขา” ๔. “ถ้าหากคิดจักห้ามใครไม่ให้ทำชั่ว ก็ควรคิดที่จักห้ามจิตของตนเองไม่ให้คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ยังจักได้ประโยชน์กว่า” ๕. “ยิ่งขันธ์ ๕ ไม่ดีเท่าไหร่ ให้จิตกำหนดทุกข์ให้รู้มากเท่านั้น จักได้ประโยชน์อันใหญ่หลวง สำหรับการกำหนดรู้ในขันธ์ ๕ นี้ พุทธสาวกในทุกพุทธันดรพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ของขันธ์ ๕ นี้” ๖. “แล้วหมั่นชำระจิตที่เกาะขันธ์ ๕ ตามสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการ ทำความเพียรจนกระทั่งจิตมีกำลังตัดขันธ์ ๕ ปล่อยวางอุปาทานขันธ์ ๕ ลงได้ ก็วิมุติตรงที่จุดนั้นแหละ” ๗. “พยายามอย่าคิดว่าจักเป็นคนที่ไม่ตาย สัตว์โลกเกิดมาเท่าไหร่ตายหมดเท่านั้น มีพระนิพพานแดนเดียวเท่านั้น ที่ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย จึงจักต้องดูว่าในสมัยที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ จักทำจิตอย่างไรจึงจักได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบัน” ๘. “ตั้งคำถามให้เกิดขึ้นกับจิต แล้วให้จิตหาคำตอบ ถาม-ตอบ ๆ อยู่ในนั้นเป็นปกติ จุดนี้จักทำให้จิตเกิดปัญญาและสามารถรู้เห็นตามเหตุตามผลอันเกิดจากการถาม-ตอบนั้น ๆ ทำให้จิตมันชิน เหนื่อยก็พักในสมถะภาวนา อย่าท้อถอย อย่ารีบเร่ง ทำตามสบาย ๆ อย่าเครียด แล้วจิตจักเป็นสุขในธรรมได้มากขึ้นตามลำดับ” ![]() รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 07-07-2011 เมื่อ 17:10 |
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|