บรรยายธรรมเหมือนกับเปิดตำราอ่าน
ถาม : ......................
ตอบ : สมัยก่อนนี้ไปนั่งบรรยายธรรมให้ลูกศิษย์เขาฟังเสียละเอียดยิบ ลูกศิษย์บันทึกเสียงไว้ ก็เอาไปเปิดให้พ่อแม่เขาฟัง เมื่อฟังเสร็จพ่อแม่เขาถามว่า พระรูปนี้เขาเปิดตำราท่องหรือ ? อาตมาบอกเขาไปว่า ไม่ได้เปิดหรอก พูดกี่ครั้งก็เหมือนเดิม เพราะทำมาจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ในเมื่อนับครั้งไม่ถ้วน ทวนไปทวนมาก็เหมือนเดิม
ลักษณะแบบเดียวกับ พระพุทธโฆษาจารย์ ที่ท่านเขียนคัมภีร์วิสุทธิมรรค เขียนฉบับแรกเสร็จ ท่านเหนื่อยก็หลับตาพักผ่อน พระอินทร์ก็แอบมาเอาไป ท่านหายเหนื่อยลืมตาขึ้นมา อ้าว..ลมพัดตกทะเลไปแล้วกระมัง ? ก็เขียนอีกฉบับหนึ่ง พอเขียนเสร็จพระอินทร์ก็ย่องมาเก็บเงียบไปอีก ท่านจึงเขียนฉบับที่สาม พอฉบับที่สามเขียนเสร็จ พระอินทร์ท่านก็เอาอีกสองฉบับมาคืน ปรากฎว่าบรรดาพระเถระของลังกาที่ต้องการสอบว่า ท่านมีความรู้แค่ไหนถึงมาขอแปลพระไตรปิฏก พออ่านทวนทั้งสามฉบับแล้วทึ่งมาก เหมือนกันทุกตัวอักษร แสดงว่าของท่านก็ทำมาจนชินแล้ว ในเมื่อทำมาจนชินแล้วจะเขียนกี่ครั้งก็เหมือนเดิม
มีญาติโยมหลายคนเวลาที่หลวงพ่อวัดท่าซุงเทศน์แล้วเขาจดชวเลขตามไป สมัยนี้ใช้อัดเทป สมัยก่อนเขาขยันจดตามไป หลวงพ่อวัดท่าซุงเทศน์ครั้งนี้ เรื่องนี้ก็จด ต่อไปเทศน์ซ้ำอีกครั้งก็จดอีก เมื่อเอาไปเปรียบเทียบเหมือนกันทุกคำเลย จะไม่เหมือนได้อย่างไรเล่า ? ก็ทำมาจนช่ำชองแล้ว
คนที่ปฏิบัติมานั้น กว่าจะได้อย่างที่ต้องการ ก็ต้องทำย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทวนแล้วทวนอีก เบื่อไม่ได้อย่างเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นถูกกิเลสตีตาย..! ในเมื่อต้องทำถึงทำขนาดนั้น ย้ำแล้วย้ำอีกขนาดนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็ลงรอยเดิมแน่นอน ถึงเพี้ยนไปก็ไม่กี่คำ ไม่เสียความหมายหรอก
จะให้ไล่กรรมฐาน ๔๐ ให้ฟังไหม ? เอาเหนื่อยตายกันไปข้างหนึ่ง กรรมฐาน ๔๐ ที่หนักจริง ๆ สมัยที่อาตมาทำอยู่จะมีพรหมวิหาร ๔ กับอรูปฌาน ๔ เพราะเป็นของที่จับต้องได้ยาก อย่างพรหมวิหาร ๔ ต้องเกิดจากสภาพจิตใจของเราเองจริง ๆ ประเภทไปดัดจริตเมตตาเขาไม่เอากับเราหรอก ต้องกลั่นออกมาจากใจจริง ๆ ส่วนอรูปฌานจะเป็นส่วนละเอียดที่จับต้องได้ยาก อารมณ์จะคล้าย ๆ กับอารมณ์วิปัสสนาญาน
สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๕
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-05-2011 เมื่อ 02:44
|