#1
|
||||
|
||||
![]() เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๘
|
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชวัฒน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ การสวดมนต์ทำวัตรเมื่อครู่นี้ จุดบกพร่องที่สำคัญที่สุดก็คือเสียงดังเกินไป การสวดมนต์เสียงดังฟังชัดเป็นของดี แต่ถ้าดังเกินไป บางทีคนฟังก็จะเหนื่อย แทนที่จิตใจสงบก็อาจจะฟุ้งซ่าน ดีไม่ดีก็เกิดโทสะด้วย เพราะฉะนั้น..พยายามปรับให้พอเหมาะพอดี อย่าดังเกินไป อย่าเบาเกินไป แล้วคนขึ้นกับคนรับพยายามให้เสียงไปกันให้ได้ด้วย ไม่ใช่คนหนึ่งขึ้นเสียงสูง อีกคนหนึ่งรับเสียงต่ำ จะล่มเสียตั้งแต่กลางคัน..! ของอะไรที่ตักเตือนไปก็พยายามปรับปรุงแล้วก็แก้ไข เพราะว่าเรื่องพวกนี้เป็นประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยตนเอง ๔๐ กว่าปี
การสวดมนต์นั้นจะว่าไปแล้ว ถ้าหากว่าจังหวะได้ น้ำเสียงได้ เป็นการเสริมสุขภาพของเราอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าจังหวะไม่ได้ น้ำเสียงไม่ได้ ก็น่าจะเหลือแต่ประโยชน์ในการสวดมนต์ด้านอื่น ๆ เท่านั้น วันนี้กระผม/อาตมภาพความจริงแล้วว่าง แต่ปรากฏว่ามีงานประชุมด่วนเข้ามา ๒ งานในเวลาเดียวกัน ก็คือทางด้านสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ นัดประชุมเรื่องการจัดการกับอาคารที่ไปตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุ ซึ่งทางสถานีตำรวจถือครองอยู่ ก็คือร้านค้าชุมชนวัดท่าขนุน กับทางคณะพระวิปัสสนาจารย์ ประจำกองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ (๖๔) เรียกประชุมเวลาเดียวกันคือบ่าย ๒ โมง..! กระผม/อาตมภาพไปถึงสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิตอนบ่ายโมงครึ่ง พอดีผู้กำกับรออยู่จึงเริ่มประชุมเลย เป็นการดวลเดี่ยว ๑ ต่อ ๗ ก็คือกระผม/อาตมภาพรูปเดียว ทางด้านผู้กำกับก็ชี้แจงแถลงไข เรื่องที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ดำเนินการ เกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุในการดูแลของสถานีตำรวจ ซึ่งมีส่วนร้านค้าชุมชนวัดท่าขนุนของเราตั้งอยู่ โดยมีการขอคืนพื้นที่ พูดง่าย ๆ ก็คือผ่านผู้กำกับมา ๔ คน บวกกับรักษาการอีก ๑ คน มามีปัญหาตอนรักษาการเท่านั้น คือท่านอาจจะเป็นคนรักความสงบ แต่ของเราทุกวันเสาร์ - วันอาทิตย์มีการเปิดร้านค้า นักท่องเที่ยวเข้า ๆ ออก ๆ โดยเฉพาะจอดรถ ทำให้ท่านเข้าออกบ้านพักไม่สะดวก ไม่รู้จะเล่นวิธีไหน แทนที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกัน ท่านก็ไปล้อมรั้ว จนกระทั่งพื้นที่ซึ่งเราเคยจัดตักบาตรทุกวันอาทิตย์หมดไป แล้วก็ยังไปงัดเรื่องการครอบครองที่ดินราชพัสดุที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาเล่นงานต่ออีก..! พอตนเองพ้นตำแหน่งไป ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจงเกลียดจงชังอะไร ? ถึงได้ข่มขู่ผู้กำกับท่านใหม่ว่า ถ้าไม่ดำเนินการต่อให้จบ จะฟ้องร้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๗ ผู้กำกับใหม่จึงเดือดร้อนไปด้วย..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-03-2025 เมื่อ 02:06 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
จากการประชุมหาแนวทางแก้ไข ๓ ครั้งที่ผ่านมา ส่วนของเราถือว่าเบาที่สุด เนื่องเพราะว่ายังมีส่วนที่ดินซึ่งทางเทศบาลตำบลทองผาภูมิขอใช้งานอยู่ แล้วก็ศูนย์ป้องกันโรคติดต่อที่นำโดยแมลง เรียกง่าย ๆ ว่า "ศูนย์มาลาเรีย" ตลอดจนกระทั่งโรงเรียนอนุบาลทองผาภูมิ..!
ในส่วนอื่น ๆ ไม่ขอกล่าวถึง มากล่าวถึงในเรื่องของทางด้านร้านค้าชุมชนวัดท่าขนุน เขาบอกว่าบุคคลที่จะอนุญาตให้ใช้งานได้ ไม่ใช่ผู้กำกับอย่างที่เราทำหนังสือขอไปแล้วได้รับอนุญาตมา หากแต่ว่าผู้ที่จะอนุญาตได้ก็ต้องเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น..! จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้คำสั่งออกมาให้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ และพยายามทำให้เป็นไปตามกฎหมายตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ ท่านก็จะเห็นว่าผ่านผู้กำกับไป ๓ ท่าน ท่านอื่น ๆ ก็ปฏิบัติตามหลักรัฐศาสตร์ ก็คือยืดหยุ่นให้ชุมชนใช้งานได้ แต่ไปเจอรักษาการผู้กำกับ คงคิดว่าตนเองจะได้รับหน้าที่อยู่ยั้งยืนยง ขี้เกียจทนรำคาญกับการที่นักท่องเที่ยวไปเกะกะแถวหน้าบ้านพักของท่าน ก็เลยมาเล่นงานด้วยการมาเร่งรัด อ้างว่าเป็นคำสั่งของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด..! ในเมื่อเป็นเช่นนั้น การประชุม ๓ ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกระผม/อาตมภาพให้รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิเข้าประชุมแทน เขาให้ข้อสรุปมา ๓ แนวทาง ก็คือ ๑) ให้รื้อถอนเองโดยความสมัครใจ ๒) ดำเนินการตามกฎหมายบังคับให้รื้อถอน ๓) ยกให้เป็นสมบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระผม/อาตมภาพก็ถามว่า "ถ้าหากว่าปฏิบัติตามแนวทางแรก จะมีหลักการดำเนินการอย่างไร ?" ท่านก็บอกว่ารื้อมาแล้วก็ต้องมาพิสูจน์ว่าไม้เป็นของใคร จริง ๆ กระผม/อาตมภาพอยากจะทำนะ คือให้ท่านค่อย ๆ ชี้ว่าไม้ท่อนไหนเป็นของท่านนี่น่าสนุกมากเลย..! แล้ว "การปฏิบัติตามแนวทางที่ ๒ ใช้ระยะเวลานานเท่าไร ?" ก็คือบังคับโดยกฎหมายให้รื้อถอน ท่านก็บอกว่าท่านก็ต้องส่งเรื่องเข้าไปที่กองกำกับการจังหวัด กองกำกับการจังหวัดรายงานไปกองบังคับการเขต กองบังคับการเขตรายงานเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งลงมาก็บังคับใช้กฎหมายให้รื้อถอน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-03-2025 เมื่อ 02:09 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
![]()
กระผม/อาตมภาพก็บอกว่า วิธีนี้น่าจะดีกับอาตมาที่สุด เพราะว่านานดี..! ผู้กำกับท่านก็บอกว่าก็จะเดือดร้อนตั้งแต่ผู้กำกับจิรายุสไล่ลงมา จนถึงท่านปัจจุบันที่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ พูดง่าย ๆ ก็คือผู้กำกับ ๔ - ๕ ท่านที่ผ่านมาเดือดร้อนหมด อาตมาอยากจะบอกว่า "คนอื่นเดือดร้อน ไม่ใช่อาตมาเดือดร้อน..!" เพียงแต่เกรงใจก็เลยไม่ได้บอกออกไป..!
ส่วนข้อสุดท้าย ถ้าหากมอบเป็นสมบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาจะเอาไว้เป็นอยู่ในลักษณะที่เรียกว่าสโมสรที่รับแขก หรือว่าที่พักผ่อนของทางข้าราชการตำรวจ รวมแล้ว ๓ แนวทาง อาตมภาพบอกว่า "ความจริงมีแนวทางที่ ๔ ด้วย" ท่านบอกว่า "ขอฟังความเห็นหน่อยครับ" จึงบอกว่า "ปลุกระดมชาวบ้านมาประท้วง ขอเวลาแค่ ๒ ชั่วโมง ได้ไม่ถึงพันคน แต่ว่า ๓๐๐ - ๕๐๐ คนมีแน่นอน..!" อึ้งไปสิครับ..! ท่านบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นท่านก็คงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย" อาตมาก็เลยบอกว่า "เรื่องนั้นจะเดือดร้อนกันมากเกินไป แล้ววัดเราโดยปกติก็เป็นผู้ประสานความสามัคคีของชุมชนอยู่แล้ว วิธีการนั้นทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ต่อให้เขาไม่อยากจะมองหน้าเรา เราก็ยังอยากจะมองหน้าเขาอยู่ ดังนั้น..ขอใช้วิธีที่ ๓ ก็คือ มอบเป็นสมบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ว่าขอเป็นประกาศเกียรติคุณให้กับทางวัดฉบับหนึ่ง" พอดีท่านปลัดอำเภอซึ่งเป็นตัวแทนของท่านนายอำเภอมาร่วมประชุม ได้มาถึงพอดี จึงเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ท่านปลัดก็ไม่อยากจะให้จบแบบนี้ ก็คือว่าจะให้ขออนุญาตใช้งานอย่างไร แบบที่ทางชุมชนสามารถใช้งานอย่างเดิมได้ โดยเฉพาะขอใช้งานถาวร แต่ว่าไม่ใช่สมบัติของทางวัด หรือชุมชน ผู้กำกับท่านบอกว่าโดยแนวปฏิบัติแล้วอนุญาตถาวรไม่ได้ เพราะว่าวัดไม่ใช่หน่วยราชการ สภาวัฒนธรรมอำเภอไม่ใช่หน่วยราชการ สามารถขออนุญาตใช้งานเป็นครั้ง ๆ ไป อย่างเช่นว่าการใส่บาตรทุกวันอาทิตย์
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-03-2025 เมื่อ 02:13 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
![]()
อาตมภาพได้ยินแล้วก็คิดว่า "กูไม่ได้โง่นะ..!" เมื่อครู่เพิ่งจะบอกว่าต้องขออนุญาต ก็ต้องยื่นกับสถานีตำรวจ ตำรวจต้องไปยื่นกับกองกำกับการจังหวัด กองกำกับการจังหวัดยื่นไปกองบังคับการเขต กองบังคับการเขตยื่นไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ "กว่ามึงจะย้อนกลับมานี่ กูก็คงต้องทำฉบับใหม่ ขออนุญาตอีกรอบหนึ่ง เพราะเลยเวลาไปแล้ว..!"
แต่เรื่องพวกนี้เราจะไม่เสียเวลาไปเถียงกัน เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ต่อให้คนเขาขัดแย้งกันอย่างไร ในฐานะพระภิกษุสงฆ์ของเราต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และพยายามที่จะทำให้เหตุการณ์ออกมารุนแรงน้อยที่สุด ก็เลยตกลงว่าจะยกให้กับทางกองกำกับการไปดำเนินการ ส่วนงานใส่บาตรจะไม่รบกวนเขา เราจะโยกไปที่ตลาดริมแควเอง ท่านก็ยังขอว่าจะให้ย้ายออกสิ้นสุดลงวันที่เท่าไรเป็นเด็ดขาด แล้วก็ย้ำว่าทางเทศบาลยืนยันว่าจะให้จบภายใน ๓๐ เมษายน ๒๕๖๘ ก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ขอ ๓๐ เมษายนเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่พรุ่งนี้ทำหนังสือฉบับเดียวยื่นไป ก็ยกให้เป็นสมบัติของเขาได้แล้ว..! ท่านก็บอกว่ากิจกรรมต่าง ๆ ขอให้งด เพราะว่าท่านเองก็ไม่อยากที่จะมีปัญหา เนื่องเพราะว่าถ้าไม่ทำก็จะโดนฟ้องร้องด้วยมาตรา ๑๕๗ เป็นข้าราชการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องบอกว่าพูดได้เห็นแก่ตัวสุด ๆ ก็คือคิดถึงแต่ประโยชน์ตน โดยไม่ได้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม แต่ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่เราทำไปก็ถือว่าเป็นความไม่รู้ เพราะคิดว่าขออนุญาตผู้กำกับแล้ว ท่านอนุญาตก็สามารถทำได้ ดังนั้น..เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ พวกท่านต้องถือเป็นหลักเลยว่า เราเป็นพระ การที่จะไปเป็นคู่ขัดแย้งกับหน่วยงานหรือว่าชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องหนักต้องทำให้เบา เรื่องเบาต้องทำให้ไม่มีเรื่อง ต่อให้ไม่มีตรงจุดนั้น หน้าวัดของเราสามารถที่จะตั้งร้านค้าได้เป็นร้อย แถมยังอยู่ริมถนนด้วย เพราะฉะนั้น..ก็อยู่ที่ชุมชนว่าจะทำอย่างไร ถ้าหากว่าต้องการที่จะอยู่บริเวณนั้นก็เอาเต็นท์ไปลง เพราะว่าทางด้านฝั่งที่ติดสะพานแขวนก็ยังว่างอยู่ หรือถ้าย้ายไปอยู่หน้าวัดก็ไปดูว่าจะเอามุมไหน เอาจุดไหน ดังนั้น..วิธีการแก้ปัญหาทุกอย่างมีทางออก เพียงแต่ว่าอย่าถือทิฏฐิใส่กัน ไม่ใช่ว่า "กูรู้ว่ามึงต้องการอย่างนี้เพราะอะไร ?" ถ้าลักษณะอย่างนั้นไม่ใช่พระ แต่เป็นนักการเมือง ด่าเขาไปแล้วมีประโยชน์อะไร ? นักการเมืองด่าซะแทบเป็นแทบตาย เขาก็ยกมือไว้วางใจกันท่วมท้น กระผม/อาตมภาพเห็นแล้วยังเหนื่อยแทน แล้วพวกที่มาด่าต่อด้านนอกอีก เดี๋ยวอีกไม่นานก็มะเร็งรับประทานเพราะว่าไปเครียดแทนเขา..! ไม่เห็นรัฐบาลเขาจะเครียดอะไรเลย !? สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-03-2025 เมื่อ 02:16 |
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|