#1
|
||||
|
||||
![]() เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๕
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ สิ้นเดือนอีกแล้ว เมื่อเช้ากระผม/อาตมภาพไปร่วมงานอบรมนักธรรมชั้นโท - ชั้นเอก ที่ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง) เมื่อเปิดงานให้เขาเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่านั่งฟังพระมหาบดินทร์ ญาณาวุโธ ป.ธ.๙ ครูพระสอนปริยัติธรรม วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง) ท่านบรรยายอยู่พักหนึ่ง กระผม/อาตมภาพเห็นว่าข้อมูลขาดความสัมพันธ์ ขาดความต่อเนื่อง และไม่ค่อยจะชัดเจน ก็เลยขอท่านเพิ่มเติมให้ผู้เข้าอบรม
การอบรมวันนี้เป็นวิชาธรรมวิภาคและเป็นห้องนักธรรมชั้นโท ท่านทั้งหลายที่เรียนวิชาธรรมวิภาค นักธรรมชั้นโทมา ก็รู้ว่าจะต้องเป็นปริเฉทที่ ๒ เริ่มจากอริยบุคคล ๒ ไล่ไปกรรมฐาน ๒ เหล่านี้เป็นต้น คราวนี้คำถามที่ท่านอาจารย์พระมหาบดินทร์ท่านตั้งคำถามกับผู้อบรมก็คือ พระอริยเจ้าหมายถึงอะไร ? ทำไมถึงเป็นพระอริยเจ้า ? อริยะ แปลว่า ความเจริญ พระอริยเจ้า คือพระผู้เจริญขึ้นโดยส่วนเดียว ไม่มีตกต่ำ ต่อให้ไม่เจริญไปกว่าเดิม ก็จะไม่ตกต่ำลงกว่าเดิม ก็คือพระตั้งแต่โสดาปัตติมรรคขึ้นไปจนถึงพระอรหัตผล ถ้าหากว่าแยกจากพระอริยเจ้า ๒ ก็ยังสามารถแยกได้เป็นพระเสขบุคคล คือพระผู้ยังต้องศึกษาอยู่ กับพระอเสขบุคคล คือพระผู้ที่ไม่ต้องศึกษาแล้ว หรือถ้าหากว่าแยกเป็นพระอริยบุคคล ๘ ก็จะเป็นพระโสดาปัตติมรรค พระสกทาคามิมรรค พระอนาคามิมรรค พระอรหัตมรรค แล้วก็พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิผล พระอนาคามิผล และพระอรหัตผล คราวนี้พระอริยบุคคล ๒ คือพระเสขะบุคคลกับพระอเสขะบุคคล เกี่ยวข้องอย่างไรกับพระอริยบุคคล ๘ ? ก็คือตั้งแต่พระโสดาปัตติมรรคไปถึงพระอรหัตมรรค จัดเป็นพระเสขบุคคล คือผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ พระอเสขบุคคล ผู้ไม่ต้องศึกษามีประเภทเดียว คือพระอรหัตผล
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-11-2022 เมื่อ 02:45 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
การที่ท่านทั้งหลายสามารถเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะอะไร ? ก็เพราะว่าสามารถละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ ประการ
สังโยชน์ ๑๐ ประการก็ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก ก็คือโอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ตั้งแต่สักกายทิฏฐิ ก็คือ ตัวกูของกู วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยทั้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และลังเลสงสัยในผลการปฏิบัติ สีลัพพตปรามาส รักษาศีลไม่จริงจัง ทำเหมือนแค่ลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่จับให้มั่นคั้นให้ตาย กามฉันทะ ความที่ยังข้องอยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ ปฏิฆะ ยังมีแรงกระทบที่ก่อให้เกิดโทสะได้ สังโยชน์ ๕ ประการนี้เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ถ้าละได้ ๓ ประการแรก สามารถเป็นพระโสดาปัตติผลและพระสกทาคามิผล ถ้าหากว่าเลยมาพูดถึงผลแบบนี้ แปลว่ามรรคต้องได้ไปด้วยแล้ว คราวนี้ในตำราบอกไว้แค่ว่า พระสกทาคามีละสังโยชน์เบื้องต้น ๓ ข้อได้ พร้อมกับทำราคะและโทสะให้เบาบางลง ไม่มีคำอธิบายได้ชัดเจนไปกว่านี้ แต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านบอกไว้ชัดเจนว่า ศีล ๕ เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน กรรมบถ ๑๐ เป็นคุณสมบัติของพระสกทาคามี ศีล ๘ เป็นคุณสมบัติของพระอนาคามี ถ้าอย่างนี้จะชัดเจนมาก ก็คือเราจะรู้ว่าท่านต้องประพฤติวัตรปฏิบัติอะไรเป็นหลัก มีอะไรเป็นข้อยึดถือของตนเอง ? ส่วนอุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ อย่าง ผู้ที่ละได้จะเข้าถึงพระอรหัตผล ประกอบไปด้วย รูปราคะ ความยินดีในรูปทั้งปวง โดยเฉพาะส่วนละเอียด คือ รูปฌาน อรูปราคะ ความยินดีในความไม่มีรูปทั้งปวง โดยเฉพาะ อรูปฌาน มานะ ความถือตัวถือตน ไม่ว่าจะถือว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา หรือว่าเราเลวกว่าเขา จัดเป็นมานะสังโยชน์ทั้งหมด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-11-2022 เมื่อ 02:48 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
![]()
อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่มั่นคงเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็คืออย่างพระอนาคามีและพระอรหัตมรรคยังมีความฟุ้งซ่านในด้านที่เป็นกุศลอยู่ อย่างเช่นว่า ยังต้องการสร้างบุญสร้างกุศลอย่างนั้นอย่างนี้ ยังต้องการที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ถือเป็นอุทธัจจสังโยชน์
ข้อสุดท้ายคืออวิชชาสังโยชน์ ความเขลา ไม่รู้จริง ตำราเขาแปลอย่างนั้น คราวนี้ไม่รู้นี่ไม่รู้อะไร ? ก็คือไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงของร่างกายนี้ ของโลกนี้ ในเมื่อรู้ไม่เท่าทัน ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจจึงครุ่นคิด ถ้าหากว่ายินดีก็เป็นราคะ ถ้ายินร้ายก็เป็นโทสะ แต่คราวนี้ท่านมาถึงระดับพระอนาคามีแล้ว ราคะกับโทสะตัดได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ก็แปลว่าในส่วนของความยินดียินร้ายของท่านนั้น เป็นการยินดียินร้ายที่ละเอียดมาก อย่างเช่นว่า ยินดีในความเป็นพระอริยเจ้า เมื่อยินดีก็เลยเกิดราคะ อยากมี อยากได้ ต้องการเป็นพระอริยเจ้า ติดอยู่แค่นี้เอง วางได้หมดเมื่อไร ก็จบเมื่อนั้น คราวนี้บอกว่าเป็นพระอริยเจ้าเพราะละสังโยชน์ได้ ๓ ประการบ้าง ๕ ประการบ้าง ๑๐ ประการบ้าง แล้วไหนว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ดำเนินตามมรรค ๘ ซึ่งย่อลงแล้วเหลือศีล สมาธิ ปัญญา ? พวกท่านก็ต้องดูย้อนหลังว่า เอาแค่พระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ในเมื่อละสีลัพพตปรามาส ก็คือการรักษาศีลไม่จริงจัง ลูบ ๆ คลำ ๆ ก็แปลว่าต้องทำอย่างเด็ดขาดและจริงจัง ตั้งสติ ประคับประคองและระวังอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ให้ศีลตนเองบกพร่อง กลายเป็นสีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งศีลในวิสุทธิ ๗ ประการ การตั้งสติระมัดระวัง จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา ทำให้กำลังใจของตนเองตั้งมั่น ละจาก รัก โลภ โกรธ หลง ได้ชั่วคราว ขอใช้คำว่า "ชั่วคราว" เพราะว่าท่านเป็นผู้ทรงฌาน ในเมื่อละ รัก โลภ โกรธ หลง ได้ชั่วคราว ก็เข้าถึงจิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งจิต ก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง โดนระงับไปชั่วคราว ใจใสแล้ว
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-11-2022 เมื่อ 02:50 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
![]()
กังขาวิตรณวิสุทธิ คือความลังเลสงสัยต่อผลการปฏิบัติที่เป็นสังโยชน์ใหญ่ข้อ ๒ คือวิจิกิจฉา ก็จะหลุดพ้นไป หมดความสงสัยโดยสิ้นเชิงแล้ว เพราะเห็นคุณของศีลและสมาธิชัดเจน
ดังนั้น..ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติไม่มี ความเคารพมั่นคงในพระรัตนตรัยก็ปรากฏขึ้น ก็ย่อมปฏิบัติตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ คือพยายามที่จะละสักกายทิฏฐิ คือความเป็นตัวกูของกูให้ได้ คราวนี้พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิไม่มาก แค่รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตายเท่านั้น แล้วเป็นศีล สมาธิ ปัญญาอย่างไร ? การเว้นจากสีลัพพตปรามาส เป็นศีล เมื่อเข้าถึงจิตตวิสุทธิจัดเป็นสมาธิ ทำให้ละเว้นจากวิจิกิจฉา เมื่อใช้ปัญญาเพิ่มเติมเข้าไป รู้ตัวอยู่เสมอว่าตนเองจะต้องตาย ตั้งเป้าไว้ชัดเจนว่าตายแล้วจะไปพระนิพพาน นี่เป็นปัญญา ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ซึ่งกระจายออกก็คือมรรคมีองค์ ๘ คราวนี้ถ้าจะเอาชัดเจน ก็ขยับมาอีกหน่อยหนึ่ง มาที่พระอนาคามีเลย ไม่ต้องกล่าวถึงพระโสดาบันกับพระสกทาคามี เพราะว่าห่างกันแค่กระพริบตาเดียว ถ้าไม่สามารถทรงอัปปนาสมาธิถึงระดับฌาน ๔ คล่องตัว ก็ไม่สามารถที่จะละราคะและโทสะได้เด็ดขาด แปลว่า ความเป็นจิตตวิสุทธิของพระอนาคามีนี่ต้องเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์จริง ๆ นอกจากที่จะรักษาศีลอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ หมดความสงสัยในการปฏิบัติธรรม ก็แปลว่าเข้าถึงกังขาวิตรณวิสุทธิ ก็ตั้งหน้าตั้งตาดำเนินตามหนทางไปสู่ญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ เรียกว่ามัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธิ ขณะที่กำลังดำเนินตามไปบนหนทางแห่งมรรคทั้ง ๘ เรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ การปฏิบัติตามแนวทางเพื่อเข้าถึงญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ คราวนี้ปัญญาจะเห็นเพิ่มขึ้นมา นอกจากรู้ตัวอยู่เสมอว่าต้องตายแล้ว ยังรู้ตัวอยู่เสมอว่า ตนเองก็ดี คนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี มีความสกปรกโสโครกเป็นปกติ ร่างกายนี้ไม่ใช่แท่งทึบ ประกอบไปด้วยจักรกลภายในภายนอกมากมายไปหมด ต่อให้อาบน้ำชำระกายวันละ ๒ รอบ ๓ รอบ ก็ยังเต็มไปด้วยของสกปรกหลั่งไหลออกมาตลอดเวลา เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด สภาพจิตถอนจากการยึดมั่นถือมั่นทั้งตนเองและผู้อื่น เข้าถึงความเป็นพระอนาคามี ก็แปลว่า รักษาศีลตามสภาพแล้ว สภาพจิตทรงฌาน ๔ คล่องตัว มีปัญญามองเห็นชัดเจนว่าร่างกายตนเองและผู้อื่นหาสาระแก่นสารไม่ได้ มีแต่ความสกปรก น่าเบื่อหน่าย น่ารังเกียจเป็นปกติ ถ้าจะเอาชัดที่สุด ต้องขยับไปที่พระอรหันต์ การที่จะเห็นโทษของการยึดติดในรูป โดยเฉพาะรูปฌาน เราบอกว่าจะไปกรุงเทพฯ แต่มายืนกอดต้นเสาอยู่ตรงนี้ ย่อมไปไม่ได้แน่ ก็แปลว่ารูปฌานเป็นแค่เครื่องอาศัยเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เรายึดถือเป็นสรณะในชีวิต อรูปฌานก็เช่นเดียวกัน แค่ช่วยให้เรามีจิตบริสุทธิ์ชั่วคราว เพราะระงับกิเลสได้ แต่ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-11-2022 เมื่อ 02:53 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
![]()
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จะไปคิดว่าตัวเราเก่ง ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ก็คงจะไม่ไปแบกแบบนั้นอีกแล้ว มานะสังโยชน์ก็โดนละไปอีกตัว
ในเมื่อเห็นเช่นนั้นอย่างชัดเจนที่สุด ญาณทัสสนวิสุทธิปรากฏขึ้น อุทธัจจสังโยชน์ก็สิ้นสุดลงไป ในเมื่อเข้าถึงแล้ว ก็ไม่ต้องไปตะเกียกตะกายพยายามที่จะให้เป็น ในเมื่ออุทธัจจสังโยชน์สิ้นสุดไป อวิชชาสังโยชน์ก็หมดสภาพ ค่อย ๆ ดับตามไปด้วย เพราะว่าสภาพจิตบริสุทธิ์ถึงที่สุด ความมืดบอดทั้งปวงที่เกิดจากอวิชชาไม่สามารถที่จะบดบังได้ ดวงปัญญาแจ่มแจ้งชัดเจนที่สุดแล้ว ปล่อยวางทั้งร่างกายนี้ ปล่อยวางทั้งร่างกายคนอื่น ปล่อยวางทั้งร่างกายสัตว์อื่น ปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ในเมื่อไม่ปรารถนาอะไรอีกแล้ว ก็ย่อมหลุดพ้นไป ก็แปลว่าสังโยชน์ ๕ ข้อหลังต้องการความลึกซึ้งของปัญญาอย่างที่สุด แล้วมาสังโยชน์ข้อที่ ๔ กับข้อที่ ๕ ต้องเน้นในเรื่องของสมาธิอย่างที่สุด แล้วถึงไปเป็นสังโยชน์ ๓ ข้อแรกที่เริ่มจากสีลัพพตปรามาส ที่ต้องงดเว้นให้ได้ จนเกิดสีลวิสุทธิขึ้น ก็แปลว่าสังโยชน์ ๑๐ จะละได้ด้วยการดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ ที่ย่อลงมาเหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้น ถ้ากระผม/อาตมภาพอธิบายอย่างนี้แล้วไม่ชัดเจน ก็ไม่รู้ว่าครูบาอาจารย์คนไหนจะอธิบายได้ชัดเจนมากไปกว่านี้ ดังนั้น..ในวันนี้เสียดายว่า มีโอกาส มีเวลาน้อย เพราะว่าทางพระครูวรกาญจนโชติ เจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ ให้เลขานุการแจ้งว่า พรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ แล้วประกอบกับช่วงบ่ายวันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารตลาดชุมชนริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย กระผม/อาตมภาพจึงต้องวิ่งกลับมาก่อน ไม่สามารถที่จะอธิบายหัวข้อธรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งความจริง ธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกหัวข้อเกี่ยวเนื่องส่งเสริมกันทั้งหมด ไม่มีขัดกันเลยแม้แต่ข้อเดียว เพียงแต่ว่าคนจะเข้าถึงได้มากน้อยกว่ากันเท่านั้น ต้องถือว่าเป็นความโชคร้ายของบรรดาท่านทั้งหลายที่เข้าอบรมในวันนี้ เพราะว่ากระผม/อาตมภาพไม่ได้อยู่จนจบการอบรม ไม่ได้ไปเสริมเพิ่มเติมความรู้อื่นที่ท่านอาจารย์พระมหาบดินทร์ ญาณาวุโธ ป.ธ.๙ ที่เป็นวิทยากรบรรยายอยู่ ถ้ามีโอกาสในวิชาอื่นก็จะไปช่วยเสริมให้อีก สำหรับวันนี้ ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-11-2022 เมื่อ 14:48 |
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|