#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ที่เราถนัดมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ดังที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ตอนก่อนที่เราจะเจริญพระกรรมฐานแล้วว่า ส่วนใหญ่พวกเราไปไขว่คว้าหาหลักธรรมที่เกินความต้องการอย่างแท้จริง แทนที่จะมุ่งตรงเข้าหา ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เราก็ไปแสวงหาฤทธิ์เดชความสนุกสนานต่าง ๆ มาใส่ตัว ซึ่งนอกจากจะปฏิบัติยากแล้ว ยังทำให้ยึดติดได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะว่า ในยุคสมัยนี้ความเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลก็ดี วิปจิตัญญูบุคคลก็ดี ทั้งสองประเภทนี้แทบจะไม่เหลือให้เห็นแล้ว พวกเราควรจะกำหนดตนเองว่า เราทั้งหลายเป็นแค่เนยยะ คือเวไนยสัตว์ที่สั่งสอนได้ แต่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชกันอยู่บ่อย ๆ การที่จะให้ครูบาอาจารย์ท่านมาจ้ำจี้จ้ำไชบ่อย ๆ ก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่ตัวเราต้องรู้จักตักเตือนตนเอง ย้ำเตือนตนเองอยู่บ่อย ๆ ว่า เรามาปฏิบัติธรรม เราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? อาการเตือนตนของตนทั้งหลายเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราทั้งหลายรู้ตัว สำรวจตนเองดูว่าในหลักการปฏิบัติของเรามีข้อบกพร่องตรงไหนหรือไม่ ? ศีลทุกสิกขาบทมีข้อใดบกพร่องบ้าง ? การทำสมาธิของเราได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปบ้างหรือไม่ ? และท้ายสุดเราได้ใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณาให้เห็น ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนของร่างกายเรา ของร่างกายคนอื่น ของสัตว์อื่น ๆ บ้างหรือไม่ ? ถ้าเรารู้จักเตือนตนเองในลักษณะอย่างนี้ โอกาสที่เราปฏิบัติธรรมแล้วก้าวหน้าก็จะมีสูง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-10-2016 เมื่อ 18:04 |
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
อีกส่วนหนึ่งก็คือ อย่าไปสนใจในจริยาผู้อื่น การสนใจในจริยาผู้อื่นมีแต่จะสร้างความเศร้าหมองให้แก่ตัวเราเอง เพราะเรามักจะไปมองเขาในแง่จับผิด ว่าเขาทำไม่ดีอย่างนั้น เขาพูดไม่ดีอย่างนี้ อาการที่เราจะมองคนอื่นนั้น ถ้าจะมองให้เกิดประโยชน์ก็คือ มองว่าเขามีความบกพร่องต่อสิ่งใด ถ้าเราบกพร่องเช่นนั้นเราก็รีบนำมาแก้ไข เขามีความก้าวหน้าตรงไหนบ้าง เราต้องพยายามเลียนแบบและทำตามเขาให้ได้
ไม่ใช่ไปดูในลักษณะจ้องจับผิดคนอื่น ทำให้จิตประกอบไปด้วยวิหิงสาวิตก คือ ตรึกในการเบียดเบียนผู้อื่นอยู่เสมอ มีแต่สร้างความเศร้าหมองให้เกิดขึ้นกับใจของตนเอง หาประโยชน์ หาสาระอะไรไม่ได้ ในแต่ละวันเราควรจะใช้เวลาในการทบทวนดูว่า ศีลทุกข้อของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? ถ้ามีข้อไหนบกพร่อง เราต้องรีบตั้งใจว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจะรักษาศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ในส่วนของสมาธิภาวนานั้น เราดูง่าย ๆ แค่ว่า มีนิวรณ์ ๕ กินใจเราได้หรือไม่ ? กำลังใจเราคล้อยตามไปในด้านของ รูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม และสัมผัสระหว่างเพศหรือไม่ ? มีความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทคนอื่นหรือไม่ ? มีความง่วงเหงาหาวนอนชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติหรือไม่ ? มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ จิตใจไม่สงบหรือไม่ ? และท้ายที่สุดมีความลังเลสงสัยในคุณความดีของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บ้างหรือไม่ ? ถ้ามีอยู่ก็รีบขับไล่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกไปจากใจ และระมัดระวังไว้อย่าให้เข้ามาได้อีก
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-10-2016 เมื่อ 16:45 |
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
วิธีการขับไล่ที่ดีที่สุดก็คือ อยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา ถ้าสภาพจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จะกวนเราไม่ได้ และข้อสุดท้ายก็คือ หลังจากภาวนาแล้ว เมื่อเราคลายกำลังใจออกมา เราได้นำวิปัสสนาญาณมาพินิจพิจารณาบ้างหรือไม่ ? ถ้าหากว่าเรานำวิปัสสนามาพินิจพิจารณาอยู่ เราสามารถเห็นได้ชัดเจนหรือไม่ ? ทั้งหลายเหล่านี้เราจำเป็นต้องเตือนตนเองอยู่ทุกวัน ๆ
การปฏิบัติธรรมนั้นเราจะเบื่อไม่ได้ หน่ายไม่ได้ เพราะเหมือนกับการปีนเขาหรือว่ายทวนน้ำ ตราบใดที่ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ก็ต้องเหนื่อยต้องหนักอยู่ตลอดไป แต่ถ้าถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร เราก็จะพ้นจากความเหนื่อยยากทั้งปวง เราจะเห็นว่าความทุกข์ยากตั้งแต่ต้นมาจนถึงบัดนี้ ล้วนแล้วแต่คุ้มค่ามหาศาล เพราะว่าเราไม่ต้องย้อนกลับไปหาความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นอีก ดังนั้น...ในแต่ละวันให้ทบทวนในเรื่องของศีล ว่าแต่ละสิกขาบทบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? ในเรื่องของสมาธิคือ สภาพจิตของเราโดนนิวรณ์ครอบงำบ้างหรือไม่ ? ในเรื่องของปัญญาคือ เราได้พินิจพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นตัวตนของร่างกายของเราหรือไม่ ? ถ้ายังไม่มีก็ทำให้เกิดขึ้น ถ้ามีอยู่แล้วก็ทำให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้ โอกาสที่เราจะเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม โอกาสที่เราจะล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานจึงจะมีขึ้นแก่เราได้ ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-10-2016 เมื่อ 02:35 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|