#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจออกมา จะกำหนดรู้ลมเป็นฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐาน หรือรู้ตลอดกองลมก็ได้ จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ช่วง ๒ วันที่ผ่านมาตลอดจนถึงวันนี้ มีหลายท่านที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติ ทำให้จับจุดได้ว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนหนึ่งปฏิบัติธรรมไปแล้วเจอปัญหาแล้วไปต่อไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่ไปคิดว่าคาดว่า เมื่อปฏิบัติแล้วน่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ในส่วนของปฏิบัติธรรมแล้วไปต่อไม่ได้ เพราะว่าเราลืมว่าการปฏิบัติของเรานั้น เป็นเพียงสมถกรรมฐาน เมื่อไปถึงที่สุด กำลังใจรับต่อไม่ไหว เหมือนกับเติมข้าวของลงไปเต็มภาชนะแล้ว ก็มีแต่จะล้นเสียเปล่า ๆ กำลังใจก็จะคลายออกมาเอง เราจำเป็นต้องหาวิปัสสนากรรมฐานมาให้ครุ่นคิด ไม่อย่างนั้นสภาพจิตจะเอากำลังสมาธิที่ได้ ไปฟุ้งซ่านในเรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง และจะเป็นการฟุ้งที่รุนแรงมาก เพราะได้กำลังสมาธิไปช่วย ทำให้บางท่านรู้สึกว่า ทำไมยิ่งปฏิบัติกิเลสยิ่งมากเป็นพิเศษ ก็เพราะว่าพวกเราปฏิบัติผิดวิธี สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับคนที่ผูกขาติดกัน ต้องผลัดกันก้าวทีละข้างถึงจะไปได้ ถ้าพยายามก้าวขาข้างเดียว เมื่อไปสุดเชือกหรือโซ่ที่ผูกไว้ก็จะโดนดึงกลับ ดังนั้น...เมื่อท่านทั้งหลายภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัว โปรดระมัดระวังเอาไว้ ถ้าสมาธิเริ่มเคลื่อนเริ่มคลายตัวออกมา ให้รีบหาวิปัสสนาญาณให้ใจได้ครุ่นคิด อย่างเช่นว่าดูในเรื่องของอริยสัจ ๔ ก็ได้ ในเรื่องของขันธ์ ๕ ก็ได้ ในเรื่องอายตนะ ๖ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ หรือปฏิจจสมุปบาทก็ได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-04-2016 เมื่อ 17:15 |
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
หรือจะดูในส่วนของวิปัสสนาญาณ ๙ ก็ได้ เพียงแต่ให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ให้สภาพจิตของเรายอมรับให้ได้ ไม่ว่าจะดูการเกิดการดับก็ดี ดูเฉพาะการดับคือเสื่อมสลายไปทุกอย่างก็ดี ดูว่าเป็นโทษเป็นภัยก็ดี ดูว่าเป็นของน่ากลัวก็ดี พยายามเห็นให้ได้ว่าร่างกายของเรามีสภาพเช่นนั้น จิตจะได้เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ปราศจากความต้องการในร่างกายนี้อีก เมื่อไม่มีความต้องการในร่างกายของตนเอง ก็ย่อมไม่ต้องการร่างกายของคนอื่นไปโดยอัตโนมัติ
เมื่อท่านทั้งหลายพินิจพิจารณาไป สมาธิจิตจะดิ่งลึกลงไปเรื่อย จนกระทั่งกลายเป็นสมาธิภาวนาอีกครั้ง เราก็หันมาจับลมหายใจภาวนาของเราต่อไป เมื่อภาวนาไปจนสุด ไปต่อไม่ได้ กำลังใจเริ่มคลายออกมาก็มาพิจารณาใหม่ ให้ทำสลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ถึงจะมีความก้าวหน้า เหมือนคนที่ขาติดกันต้องสลับกันก้าว ถึงจะได้ระยะทางเพิ่มขึ้น ดังนั้น...ในส่วนที่ท่านทั้งหลายพึงจะพิจารณาศึกษาเอาไว้ ก็คือส่วนของวิปัสสนาญาณ เพราะว่าเรามีความคล่องตัวในส่วนของสมถกรรมฐานกันแล้ว และส่วนมากก็จะถนัดในสมถกรรมฐานอย่างเดียว พินิจพิจารณาไม่เป็น ดังนั้นถ้าหากว่าจะเอาให้ง่ายก็ให้ดูไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง ยึดถือมั่นหมายก็มีแต่ความทุกข์ ในที่สุดก็สลายไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-04-2016 เมื่อ 19:43 |
สมาชิก 28 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเราพยายามพิจารณาแล้ว ถ้าสภาพจิตยอมรับได้ยาก ก็แยกแยะร่างกายของเราออกเป็นธาตุ ๔ ก็ได้ ว่าส่วนไหนแข็งเป็นแท่งเป็นก้อน เป็นชิ้นเป็นอัน ก็เป็นธาตุดิน ส่วนไหนเหลวไหลเอิบอาบ เคร่งตึงอยู่ในร่างกายก็เป็นธาตุน้ำ ส่วนไหนพัดไปมาได้ ไม่ว่าจะพัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกายก็เป็นธาตุลม ส่วนที่ให้ความอบอุ่นก็เป็นธาตุไฟ พยายามแยกแยะออกให้ละเอียดที่สุดเท่าที่ละเอียดได้
เมื่อแยกออกเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ จนไม่มีอะไรเหลืออยู่ เราก็จะเห็นว่าร่างกายนี้ที่แท้จริงเป็นสมบัติที่ยืมโลกมาใช้เพียงชั่วคราว เมื่อถึงเวลาหมดอายุขัยแตกทำลายไป ก็กลายเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ คืนแก่โลกไปตามเดิม เมื่อรู้เห็นความจริงเช่นนี้ การยึดถือในกายเรา กายเขา ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ถอนจิตจากการยึดมั่นในร่างกายนี้ ก็สามารถที่จะหลุดพ้นไปสุดพระนิพพานได้ ขอให้ทุกท่านใช้การภาวนาสลับการพิจารณาเช่นนี้เอาไว้บ่อย ๆ จนเคยชิน จะได้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๙ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-04-2016 เมื่อ 19:45 |
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|