#1
|
||||
|
||||
![]()
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติ คือความรู้สึกของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เป็นการปฏิบัติธรรมวันแรกของต้นเดือนพฤศจิกายน เมื่อ ๒ วันที่ผ่านมา ทางวัดมีงานตักบาตรเทโวฯ และทอดกฐินสามัคคี ได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างแล้วรู้สึกสลดใจว่า พวกเราส่วนใหญ่ก็คือนักปฏิบัติ ที่มุ่งหวังความดี มุ่งในบุญในกุศล แต่ว่าสิ่งที่กระทำไป บางทีก็ไม่สมกับเป็นนักปฏิบัติเลย เช่น การรับสิ่งของต่าง ๆ ที่ญาติโยมนำมาใส่บาตรแก่พระภิกษุสงฆ์ แม้ว่าจะมีการนัดแนะในเบื้องต้นบางส่วนแล้ว แต่พอไปถึงสถานที่ ถึงคลังวัสดุ ฝ่ายที่นำของไปส่ง สักแต่ว่าลงของส่งเดชไป จนกระทั่งเกิดการแตก การเสียหายขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แสดงออกถึงสภาพจิตของตนว่าหยาบมาก ไม่เห็นความสำคัญในสิ่งของทั้งหลายเหล่านั้น เห็นสักแต่ว่าเป็นของที่คนใส่บาตร จิตก็ยังหยาบพอที่จะไม่เห็นในส่วนของบุญกุศลที่คนอื่นตั้งใจกระทำ ถ้าหากว่าสภาพจิตละเอียดกว่านั้น แม้กระทั่งเห็นคนที่ยืนรอใส่บาตรอยู่ ก็จะเห็นว่า โอหนอ...นี่คือคุณของพระพุทธเจ้าหนอ โอหนอ...นี่คือคุณของพระธรรมหนอ โอหนอ... นี่คือคุณของพระสงฆ์หนอ คนทั้งหลายเหล่านี้จึงได้สละเวลาอันมีค่าของตนเอง สละทรัพย์สินที่ตนเองหามาได้ยาก เพื่อที่จะนำมาทำบุญใส่บาตร อนุเคราะห์สงเคราะห์ต่อพระภิกษุสามเณร เมื่อเห็นข้าวของที่คนนำมาใส่บาตรย่อมคิดว่า โอหนอ...นี่คืออานุภาพของพระพุทธเจ้าหนอ โอหนอ...นี่คืออานุภาพของพระธรรมหนอ โอหนอ...นี่คืออานุภาพของพระสงฆ์หนอ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จึงบังเกิดขึ้น จึงมีขึ้น ถ้าความรู้สึกของเราเคารพในพระรัตนตรัยเต็มเปี่ยมอย่างนี้ ก็จะปฏิบัติต่อทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเคารพ เหมือนกับที่พระภิกษุสงฆ์สามเณรต้องเคารพในทาน เคารพในวัตถุทานที่บุคคลอื่นให้ ถึงขนาดต้องถอดรองเท้าเพื่อรับในทานนั้น ๆ ถ้าเรามีความเคารพในทาน มีความเคารพในวัตถุทาน เห็นคุณความดีว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ได้มาด้วยอานุภาพของพระรัตนตรัย เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นด้วยความเคารพ ปฏิบัติในลักษณะที่เห็นยิ่งในคุณพระรัตนตรัย ซึ่งแฝงอยู่ในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ไม่ใช่เห็นว่าเป็นวัตถุทานที่สักแต่ว่าโยนกอง ๆ ทับถมกันไปจนเกิดแตกหักเสียหายขึ้นมา
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-11-2015 เมื่อ 19:37 |
สมาชิก 72 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
หลวงพ่อพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) อุปเสณมหาเถระ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เคยได้กล่าวประโยคหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ประทับใจอาตมาอย่างยิ่งว่า “ศรัทธานั้นดี แต่ต้องมีปัญญาประกอบด้วย” ไม่ใช่เราเกิดศรัทธา นึกอยากจะช่วยเหลือการงานของวัด อยากจะช่วยเหลือการงานของพระภิกษุสงฆ์ ก็สักแต่ว่าทำ ๆ ไป
ถ้าศรัทธาประเภทนั้น นอกจากไม่มีปัญญา ยังปราศจากศรัทธาที่แท้จริงด้วย เพราะถ้าเราเคารพเชื่อมั่นในพระภิกษุสงฆ์นั้น เราต้องเคารพไปถึงพระธรรมที่ทำให้ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ เราต้องเคารพไปถึงพระพุทธซึ่งเป็นต้นเค้าของพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ดังนั้น..ในส่วนที่เห็น อย่างเช่น ญาติโยมจำนวนหนึ่งใส่รองเท้า แล้วก็ใส่บาตรทั้งอย่างนั้น จนต้องมีการเตือนเป็นระยะ ๆ ว่าให้ถอดรองเท้าเสียก่อน เป็นต้น เพราะผู้รับทานยังให้ความเคารพในทาน ยังไม่ใส่รองเท้า รับทานด้วยความเคารพ เห็นว่านี่คืออานุภาพของคุณพระรัตนตรัย ที่ทำให้ทุกอย่างมีขึ้น เกิดขึ้น เป็นปัจจัยในการเลี้ยงชีวิตของตนได้ ศรัทธาของญาติโยมที่หลั่งไหลกันมา เกิดจากคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้งสิ้น แต่ญาติโยมส่วนหนึ่งซึ่งใส่บาตรอยู่ ก็ยังมีสภาพจิตที่หยาบ ไม่ได้ดูตัวอย่างของพี่น้องมอญพม่าทั้งหลาย ซึ่งถอดรองเท้าตั้งแต่ก่อนจะเข้าเขตวัดแล้ว ขณะเดียวกันพอทำหน้าที่ไป เจอข้าวของมาก ๆ เข้า ก็สักแต่ว่าโยนกอง ๆ ส่งเดชไป จนกระทั่งเกิดการเสียหายขึ้นมา บางรายก็หยิบฉวยของที่เขาใส่บาตร ในลักษณะกวาดรวม ๆ กันเพื่อใส่กระสอบ หล่นบ้าง ตกแตกเสียหายบ้าง โดยไม่ได้นึกถึงศรัทธาของคนที่ใส่บาตร ว่ากำลังใจของเขาจะตกขนาดไหน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-11-2015 เมื่อ 19:40 |
สมาชิก 71 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเรามีความเคารพในพระรัตนตรัยจริง ๆ เป็นนักปฏิบัติธรรมที่เข้าถึงธรรมจริง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะรู้ตัวและน้อมนำไปแก้ไขเสียใหม่ อย่าให้มีเรื่องทั้งหลายเหล่านี้อีก เพราะว่าเราปฏิบัติตนตั้งใจที่จะละกิเลส
การที่เราจะตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานนั้น ต้องมีความเคารพในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง ๆ ต้องรู้ตัวว่าเราทำความดีทุกอย่างเพื่อพระนิพพาน ต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ก่อนที่จะตายลงไปในวันนี้ เราต้องทำหน้าที่ทุกอย่างให้ดีที่สุด ให้สมกับเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ให้สมกับเป็นผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เมื่อฟังแล้วก็พึงสังวรระวังไว้ว่า ในส่วนอื่น ๆ สภาพจิตของเราต้องละเอียดกว่านี้ ต้องรู้จักระมัดระวังมากกว่านี้ ญาติโยมหลายท่านเวลาถวายสังฆทาน พอวางเครื่องสังฆทานลง วางพระพุทธรูปลง ก็ส่งเงินข้ามเศียรพระมาใส่บาตร ส่งเงินข้ามเศียรพระมาใส่ขัน แม้ว่าอาตมาจะพยายามหลบ พยายามเลี่ยง พยายามช่วยด้วยการยกขันยื่นไปทางด้านข้าง แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์ส่งข้ามเศียรพระมา เพื่อที่จะไปใส่ขันที่ด้านข้าง แทนที่จะใส่ด้านข้างโดยตรงเลย โดยไม่ต้องข้ามองค์พระมา ท่านใดที่ทำอยู่ก็ขอให้เปลี่ยน ขอให้ละ ขอให้เลิก ปรับปรุงพฤติกรรม กาย วาจา ใจ ของตนให้ดีขึ้น ให้มีความก้าวหน้าขึ้น เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จะทำให้บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อเห็นจะได้เกิดความเลื่อมใส บุคคลที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ก็จะได้เลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่เช่นนั้นเราก็กำลังสร้างกรรมใหญ่ให้กับตนเอง เป็นกรรมหนักที่ถึงขนาดปิดมรรคปิดผลไปเลย เพราะเราขาดความเคารพในพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นกติกาข้อแรก ๆ ในการที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-11-2015 เมื่อ 04:07 |
สมาชิก 60 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|