View Full Version : เทศน์วันมาฆบูชา วันจันทร์ที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
เทศน์วันมาฆบูชา วันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕
_8cAV3-bzgQ?feature=share
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ติฯ
ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชชนาในมาฆปูชากถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมีของบรรดาทานิสสราธนบดีทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้
ญาติโยมทั้งหลาย วันมาฆบูชานั้นจัดว่าเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจากว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้นทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งถ้าหากว่าญาติโยมทั้งหลายซึ่งเป็นบุคคลสมัยใหม่ ไม่ว่าเราจะไปบริหารหน่วยงานก็ดี บริหารบริษัทใดก็ตาม ตลอดจนกระทั่งถ้าหากว่าบริหารราชการในระดับอำเภอ จังหวัด หรือว่าประเทศ เราก็ต้องประกาศนโยบาย เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหลายจะได้ทราบว่า แนวทางของการบริหารองค์กรของเราจะเดินไปในทางไหน
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นกัน พระองค์ท่านประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ก็เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ในสมัยนั้นทั้งหมดได้ทราบว่า การที่จะออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น เราจะต้องมีแนวทางอย่างไรบ้าง ซึ่งสรุปลงมาเป็นภาษาบาลีดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า
"สพฺพปาปสฺส อกรณํ" เมื่อท่านทั้งหลายจะไปประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อที่ให้เขาทั้งหลายได้ทราบว่าหลักการของพระพุทธศาสนาคืออะไรนั้น เราต้องบอกให้เขาทั้งหลายละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ก็คือไม่ทำความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ
"กุสลสฺสูปสมฺปทา" บอกให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นบำเพ็ญคุณงามความดีให้ถึงพร้อม ซึ่งคำว่า "คุณงามความดี" ในที่นี้ภาษาบาลีเรียกว่า "กุศล" ก็คือ ให้เป็นผู้ที่ทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจเช่นกัน
ข้อสุดท้ายของหลักการใหญ่ในพระพุทธศาสนา หรือว่าแนวทางในการบริหารองค์กรสงฆ์นั้นก็คือ "สจิตฺตปริโยทปนํ" ว่ากันตามภาษาบาลีแปลว่า ชำระจิตใจให้ผ่องใส ปราศจากกิเลส
แปลว่าการที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ประกาศหลักการของพระพุทธศาสนาเอาไว้นั้น พระองค์ท่านมุ่งหมายให้พุทธศาสนิกชนทุกรูปทุกนามสามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ ถ้าหากว่าตราบใดที่ยังไม่เข้าสู่พระนิพพาน ก็ต้องเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าบุคคลที่จิตใจจะผ่องใสจากกิเลส ปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง โดยสิ้นเชิงนั้นมีแต่พระอรหันต์เท่านั้น
แล้วหลังจากนั้นพระองค์ท่านก็ประกาศอุดมการณ์ในพระพุทธศาสนาเอาไว้ ซึ่งอุดมการณ์ในพระพุทธศาสนาของเราทั้งหลายนั้น บางท่านก็เห็นว่าทำให้พระพุทธศาสนาของเราอ่อนแอจนเกินไป เนื่องเพราะว่าการประกาศศาสนาอื่นนั้นบางทีก็ใช้กองทัพเข้าไป ปราบปรามฆ่าฟันจนเขาต้องยอมอ่อนน้อมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา แล้วก็เอาศาสนาไปบังคับให้เขายึดถือตาม คนที่พ่ายแพ้โดนบังคับด้วยอาวุธก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดถือตามไป
แต่ว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้นเป็นของจริง เป็นของแท้ เป็นของที่บุคคลจะต้องประกอบไปด้วยปัญญาเท่านั้นจึงจะสามารถแลเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องไปบังคับบุคคลอื่นให้กระทำตาม เพราะว่าถ้าเขาทั้งหลายเหล่านั้นสามารถศึกษาและเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วก็ย่อมที่จะทำตามไปเอง เพราะเห็นความดีความงามอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา
ดังนั้น..องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไป นักวิชาการสมัยใหม่บางคนก็ยังบอกว่าทำให้พระพุทธศาสนาอ่อนแอ ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจเสียก่อนว่า คำว่า "อ่อนโยน" นั้นไม่ใช่ "อ่อนแอ" คำว่า "แข็งแรง" ก็ไม่ได้แปลว่า "แข็งกร้าว"
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น..พระพุทธศาสนาของเราจึงต้องอาศัยการพิสูจน์ด้วยการที่ท่านเข้ามาปฏิบัติใน "ไตรสิกขา" คือศีล คือสมาธิ คือปัญญา ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติตามไปได้ก็จะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของดีแท้ มนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนามล้วนแล้วแต่ปรารถนาทั้งสิ้น
เพียงแต่ว่า..เข้าไม่ถึงบ้าง ปัญญาไม่ถึงบ้าง บุญไม่ถึงบ้าง จึงทำให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นไม่สามารถที่จะนับถือพระพุทธศาสนาได้ เนื่องเพราะว่าถ้าไม่เคยสร้างบุญสร้างกุศลร่วมกันมา ต่อให้อยู่ท่ามกลางพระพุทธศาสนาก็คงจะประพฤติปฏิบัติตนแบบ อทินนกปุพพกพราหมณ์ ก็คือ..องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตลอดจนกระทั่งพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเดินผ่านบ้านอยู่ทุกวัน แต่ไม่ใส่บาตร ไม่ทำบุญใด ๆ ทั้งสิ้น
คำว่า "อทินนกะ" ก็คือ "ไม่ให้ใคร" "ปุพพกะ" คือ "แต่ปางก่อน" ไม่เคยให้ใครก่อนเลย มีแต่รับอย่างเดียวเท่านั้น
เรื่องของพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องสร้างบุญสร้างกุศลมาในอดีต และต้องสร้างมามากเพียงพอจึงจะสั่งสมในศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งทำให้ท่านทั้งหลายเห็นสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ว่า ปฏิบัติไปแล้วดีต่อตนเองอย่างไร ดีต่อครอบครัวอย่างไร ดีต่อสังคมอย่างไร
ดังนั้น..ในการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศอุดมการณ์ในพระพุทธศาสนาว่า พระภิกษุสงฆ์ของเราไม่ควรที่จะเข่นฆ่าใคร ไม่ควรที่จะทำร้ายใคร มีพระนิพพานเป็นที่หมายในชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอในพระพุทธศาสนา เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็สอนให้เราฆ่า แต่ให้ฆ่ากิเลส ให้ฆ่ารัก โลภ โกรธ หลง ดังบาลีที่ว่า "โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ" สามารถฆ่าความโกรธได้ก็จะเป็นผู้มีความสุข เป็นต้น
ถ้าหากว่ามาถึงตรงจุดนี้แล้ว บางทีแนวทางก็ยังไม่ชัดเจน พระองค์ท่านจึงประกาศวิธีการเพิ่มเติมว่า จงสอนให้พุทธศาสนิกชนเหล่านั้น..
"อะนูปะวาโท" ไม่ว่าร้ายใคร ถ้าหากว่าเราไม่มีวาจาว่าร้าย กระทบกระทั่งส่อเสียดนินทาว่าคนอื่น สังคมก็จะมีแต่ความสงบสุข
"อะนูปะฆาโต" ไม่ให้เข่นฆ่าทำร้ายใคร เพราะว่ามนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนามต่างรักชีวิตของตน เกรงกลัวความตายทั้งสิ้น เราไม่ปรารถนาให้คนอื่นมาเข่นฆ่าทำร้ายเรา เราก็อย่าไปเข่นฆ่าทำร้ายใคร
"ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร" คือ ให้สำรวมในศีลของตนเอาไว้ พระภิกษุก็รักษาศีลตามสภาพ ๒๒๗ ข้อ สามเณรรักษาศีล ๑๐ ข้อ อุบาสกอุบาสิการักษาศีล ๘ ข้อ ประชาชนชาวบ้านทั่วไปรักษาศีลอย่างน้อย ๕ ข้อ..
เพราะว่าปกติของมนุษย์ทั่วไปไม่อยากให้ใครมาเข่นฆ่าเรา เราก็อย่าไปเข่นฆ่าทำร้ายใคร
ไม่อยากให้ใครมาลักขโมย หยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของของเรา เราก็อย่าไปหยิบฉวยช่วงชิง หรือลักขโมยของของใคร
คนที่เรารัก ของที่เรารัก ไม่อยากให้คนอื่นมาแย่งชิงไป เราก็อย่าไปแย่งชิงคนรัก แย่งชิงของรักของคนอื่น
เราอยากจะฟังแต่ความสัตย์คำจริง เราก็อย่าไปโกหกหลอกลวงใคร
เราอยากมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราก็อย่าไปดื่มสุรา อย่าไปเสพยาเสพติดที่ทำให้ขาดสติ
ในเมื่อเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ก็แปลว่า ต้องให้ทุกผู้คนมีศีลตามระดับของตนเอง ต่ำสุดก็คือ ศีล ๕ สมบูรณ์บริบูรณ์
"มัตตัญญุตา จะภัตตัสมิง" พระองค์ท่านสอนว่า ให้ทุกคนรับประทานอาหารแต่พอสมควร ไม่กินล้นกินเกิน ทุกวันนี้พวกเราทั้งหลายเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนใหญ่ก็เกิดจากอาหารที่กินเข้าไป โดยเฉพาะโรคฮิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ไขมัน ความดันอะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่เกิดจากการไม่รู้จักประมาณในการกินทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเรารู้ประมาณในการกิน ร่างกายก็ไม่อึดอัด จะปฏิบัติธรรมอะไรก็สะดวก ไม่ใช่นั่งหลับอยู่ตลอดเวลา
"ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง" วิธีการต่อไป..ท่านบอกว่า ให้นอนให้นั่งในที่อันสงัด ก็คือ..ถ้ารักจะปฏิบัติธรรม ในอันดับแรกต้องปลีกตัวออกจากหมู่ก่อน จะได้ไม่โดนคนอื่นเขารบกวนจนปฏิบัติธรรมไม่ได้ เมื่อเรามีความสามารถมั่นคงแล้ว อยู่ในท่ามกลางคนหมู่มากก็รักษาใจได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วค่อยเลิกในการปลีกตัวออกจากหมู่
"อะธิจิตเต จะ อาโยโค" พระองค์ท่านสอนว่า ให้ทุกคนทำกำลังใจของตนให้มั่นคง คำว่า "มั่นคง" ในที่นี้ อย่างน้อยต้องทรงอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานละเอียดขึ้นไป เพราะว่าปฐมฌานหยาบนั้นยังสามารถเสื่อมสลายคลายตัวลงได้ง่าย เมื่อเราทรงฌานไว้ได้ รัก โลภ โกรธ หลง จะโดนกดดับลงชั่วคราว การเบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็จะหมดไปโดยอัตโนมัติ ก็เหลืออยู่แค่เราเอาสติตามประคององค์สมาธิเอาไว้ ไม่ให้เคลื่อนไม่ให้คลายไปไหน ยิ่งจิตของเราอยู่กับสมาธิมากเท่าไร ความผ่องใสก็มีมากเท่านั้น เราจะเกิดปัญญาญาณ เห็นช่องทางว่าจะดำเนินชีวิตในทางโลกอย่างไร จึงจะอยู่ในศีลกินในธรรมได้โดยที่ไม่กระทบกระทั่งกับคนอื่น เราจะพิจารณาข้อธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร จึงจะเห็นได้ชัดเจนและยอมรับว่าเป็นความจริงตามนั้น
ดังนั้น..หลักการทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าในการที่สั่งสอนให้พวกเรา..ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลส ไม่เข่นฆ่าคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ตั้งเป้าเอาไว้ว่า..เราทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน
ด้วยวิธีการที่..ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร ระมัดระวังในศีลทุกสิกขาบทของตนเองให้ดี รู้จักกินแต่พอประมาณ รู้จักสรรหาที่สงบระงับเพื่อที่จะระมัดระวัง กาย วาจา ใจของเราให้มั่นคง จนกระทั่งสามารถทรงฌานทรงสมาบัติ กดกิเลสลงได้ชั่วคราว แล้วใช้ปัญญาของเราพินิจพิจารณา ค่อย ๆ ลด ค่อย ๆ ละ จนกระทั่งในที่สุดก็สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เข้าสู่พระนิพพานได้
ดังนั้น..ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ คือ "วันเพ็ญเดือนมาฆะ" นั้น องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการเพื่อชาวโลกทั้งหมด ก็คือ "โอวาทปาฏิโมกข์" สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ผ่านมา ๒,๕๖๖ ปีแล้ว ญาติโยมทั้งหลายยังคงประพฤติปฏิบัติตาม คือ ท่านทั้งหลายเมื่อมาวัดก็มีการทำบุญใส่บาตร ตรงนี้เป็นส่วนของการให้ทาน มีการสมาทานศีล นี่คือการประพฤติปฏิบัติในศีล ตั้งใจฟังธรรมด้วยความเคารพ นี่คือการเพียรพยายามใช้ปัญญาพินิจพิจารณาว่าข้อธรรมคำสอนนั้นมีส่วนใดที่เหมาะสมกับตนเองบ้าง เราจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความดีความงามแก่ตนยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่มาร่วมกันทำบุญที่วัดท่าขนุนวันนี้ จึงเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในไตรสิกขาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืออยู่ในศีล อยู่ในสมาธิ อยู่ในปัญญา ซึ่งถ้าขยายออกก็จะเป็นมรรค ๘ เป็นหนทางที่เราจะก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
เทสนาวสาเน..ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนทั้งปวง โดยมีหลวงปู่สาย อคฺควํโส เป็นที่สุด
ได้โปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสุขความเจริญ แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใดที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมแล้ว ขออำนาจแห่งพุทธบารมี ธรรมบารมี สังฆบารมี ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จ สมดังมโนรถปรารถนาจงทุกประการ
รับหน้าที่วิสัชชนามาในมาฆปูชากถา ก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระเทศนาลง คงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์วันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุน
วันจันทร์ที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
ถ่ายทอดสดงานเวียนเทียนวันมาฆบูชา วัดท่าขนุน วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
donna7n6ePw?feature=share
เชิญรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/live/donna7n6ePw?feature=share
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.