PDA

View Full Version : ธรรมบรรยายเรื่อง "การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน"


ตัวเล็ก
30-09-2021, 16:26
cN--WFWjNyU

ธรรมบรรยายเรื่อง "การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน"
โครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานออนไลน์
นิสิตบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิปัสสนาภาวนา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์
รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ, เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน

วันพุธที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

เถรี
01-10-2021, 20:17
ขอถวายความเคารพ พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรมุนี, วิ. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตลอดจนพระเถรานุเถระที่เข้าร่วมการปฏิบัติธรรมในวันนี้ทุกรูป และเจริญพรท่านผู้เข้าร่วมการปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ทุกท่าน

ขอโอกาสท่านอาจารย์พระมหาวริทธิ์ธร วรเวที รักษาการผู้อำนวยการส่วนแผนงานและพัฒนาการอบรม สถาบันวิปัสสนาธุระ วันนี้ก็ถือว่าเป็นวาระอันเป็นมงคลที่ได้มาบรรยายธรรม ณ ที่นี้

ท่านทั้งหลาย ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องเข้าถึงปรมัตถบารมีเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การจะเกิดเป็นมนุษย์ได้นั้นแสนจะยาก

กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ การที่เราจะรักษาชีวิตให้อยู่รอด ก็แสนจะยาก

กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ การที่เราทั้งหลายจะได้ฟังธรรม ก็เป็นเรื่องที่แสนยาก

และท้ายที่สุด กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท การเกิดขึ้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นยากที่สุด แต่ว่าท่านทั้งหลายนั้นประกอบด้วยสมัย ได้โอกาส มีบุญญาบารมีที่สร้างสมมาเป็นปุพเพกตปุญญตา ถึงได้มีโอกาสที่มาถือศีลปฏิบัติธรรมเช่นนี้

เถรี
01-10-2021, 20:20
โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่เป็นนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ไม่ว่าจะเป็นปริญญาโทหรือว่าปริญญาเอก ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือว่าคฤหัสถ์ก็ตาม ท่านทั้งหลายจะต้องออกไปประกอบกิจการงานตามหน้าที่ของตน

ในส่วนนี้ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายนำเอากรรมฐานที่ท่านปฏิบัติตามโครงการนี้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ สิ่งที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติในชีวิตนั้น ก็จะประสบความสำเร็จ และขณะเดียวกัน กิจการงานทุกอย่างก็จะออกมาดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเราทั้งหลายเป็นผู้มีสติอยู่เฉพาะหน้า

บุคคลที่มีสติอยู่เฉพาะหน้า ย่อมมีการจดจ่ออยู่กับงาน มุ่งอยู่กับงานตรงหน้าโดยไม่ละความเพียร จนกว่างานนั้นจะสำเร็จเสร็จสิ้นลง ในเมื่อเป็นเช่นนั้น งานทางโลกก็จะเป็นไปด้วยดี ขณะเดียวกัน งานทางใจที่เป็นงานทางธรรม เราก็จะลืมเสียไม่ได้

โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่เป็นบรรพชิต เนื่องเพราะว่าเราทั้งหลาย ถึงเวลาก็ต้องพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใด ๆ ที่เป็นของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ

และโดยเฉพาะสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนมา ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา สรุปลงตรง ศีล สมาธิ และปัญญา ก็คือหลักไตรสิกขา ที่กระจายออกมาแล้ว คือหนทาง ๘ ประการ ที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

เถรี
01-10-2021, 20:59
คราวนี้ท่านทั้งหลายที่เข้ามาปฏิบัติธรรมนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังสูงสุด คือการหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน แม้ว่าท่านทั้งหลายจะคิดว่าตนเองมีบารมีไม่พอที่จะเป็นเช่นนั้น ก็ขอให้ทราบว่า การที่ท่านทั้งหลายมีโอกาสมาถือศีล ปฏิบัติธรรม แปลว่าบารมีของท่านทั้งหลายเพียงพอแล้วในการที่จะบรรลุมรรคผล เพียงแต่ว่าท่านทั้งหลายจะสละสิทธิ์นั้นหรือไม่เท่านั้นเอง

ในเมื่อท่านทั้งหลายมีโอกาสเข้ามา และมีปุพเพกตปุญญตา คือบุญเก่าที่สร้างมาจนเป็นบารมี ทำให้ได้ประสบพบกับหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พบกับครูบาอาจารย์ ที่มาแนะนำให้เราท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ก็แปลว่าท่านทั้งหลายนั้น ถ้าเปรียบเป็นดอกไม้ ก็เป็นดอกไม้ที่พร้อมจะเบ่งบานได้ทันที เพียงแต่ว่าท่านทั้งหลายต้องทำให้ดี ทำให้ถูก

ในเรื่องของการปฏิบัติกรรมฐานนั้น เรามักจะเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน แต่ความจริงแล้วกรรมฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ มีทั้งสมถกรรมฐาน คืออุบายที่ทำให้ใจของเราสงบระงับ ปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง ชั่วคราว และวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายที่ทำให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงต่อสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ถอนจิตของตนออกมาจากการยึดเกาะ จนทำให้สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้

เถรี
02-10-2021, 22:58
การที่ท่านทั้งหลายจะประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ในส่วนแรกเลยท่านทั้งหลายจะต้องยึดในส่วนของสมถกรรมฐานเป็นที่ตั้งก่อน ถ้าหากว่าเป็นการภาวนา ก็คือการดูลมหายใจเข้าออก หรือว่าการดูพองยุบในเบื้องต้น เมื่อเรายึดเอาสมถกรรมฐานนี้เป็นที่ตั้ง จิตใจก็จะค่อย ๆ สงบระงับ จนกระทั่งแนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิ ก็จะทำให้ รัก โลภ โกรธ หลง โดนระงับลงชั่วคราว

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ รัก โลภ โกรธ หลง โดนระงับลงชั่วคราว ภาษาบาลีเรียกว่า ปีติ คำว่าปีติ ในความรู้สึกของเรา ก็คือการที่เรายินดีกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก ในบาลีกล่าวถึงปีติไว้ ๕ อย่างด้วยกันก็คือ

๑) ขณิกาปีติ มีอาการขนลุกเกรียว ๆ เป็นระยะ

๒) ขุททกาปีติ มีอาการน้ำตาไหล บางคนก็ร้องไห้เสียงดังเลยก็มี

๓) โอกกันติกาปีติ มีร่างกายโยกโคลงไปมา บางท่านก็เต้นตึงตังโครมครามไปเลย

๔) อุพเพ็งคาปีติ บางทีก็ลอยขึ้นทั้งตัว ลอยไปไกล ๆ ก็มี

๕) ผรณาปีติ รู้สึกซาบซ่านตัวพองตัวใหญ่ บางทีรู้สึกว่าตัวแตกระเบิดเป็นจุณไปเลยก็มี บางท่านก็รู้สึกว่าตัวรั่วเป็นรู มีสิ่งหนึ่งประการใดไหลซู่ซ่าออกจากร่างกายของเรามา

อาการทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้น ให้ท่านทั้งหลายทราบว่า เป็นเบื้องต้นของการที่เราจะละจากอุปจารสมาธิ เริ่มเข้าสู่อัปปนาสมาธิระดับแรก ก็คือเข้าสู่ในสิ่งที่บาลีเรียกว่า ปฐมฌาน

เถรี
02-10-2021, 22:59
ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นปีติ ทำไมมีอาการแปลก ๆ ? บ้างก็ร้องไห้ บ้างก็กระโดดโลดเต้น บางคนก็ดิ้นตึงตังโครมคราม จนคนตกใจว่าผีเจ้าเข้าสิงหรือเปล่า ?

อรรถกถาจารย์ท่านอธิบายเอาไว้ว่า เปรียบเสมือนพ่อแม่ทิ้งลูกไว้อยู่บ้านคนเดียว ตนเองไปทำงาน กว่าจะกลับมาก็มืดก็ค่ำ เมื่อลูกเห็นพ่อแม่กลับมา ก็กระโดดโลดเต้นด้วยความดีอกดีใจ บางคนก็ร้องไห้โฮเลย เพราะว่าไม่ได้เห็นหน้ามาทั้งวัน นั่นก็เป็นความดีใจ ก็คือดีใจที่เห็นหน้าพ่อแม่กลับมา

ท่านทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติธรรม เมื่อจิตใจเริ่มสงบระงับ กลับไปสู่ความสงบดั้งเดิมที่เราเคยมีเคยเป็นมาในอดีต ก็ทำให้เรารู้สึกว่าคุ้นเคย จนกระทั่งเกิดความปีติขึ้นมา ในเมื่อเป็นเช่นนั้น อาการทั้งหลายเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ

ถ้าหากว่าท่านใดรู้จักสังเกตจะเห็นว่า แม้ร่างกายของเรามีอาการแปลก ๆ เคลื่อนไหวรุนแรงบ้าง เคลื่อนไหวเบาบ้าง น้ำตาไหลบ้าง โยกไปโยกมาบ้างก็ตาม แต่จิตใจของเราตอนนั้นสงบเป็นอย่างยิ่ง

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่ต้องไปสนใจกับอาการที่ปรากฏขึ้นกับร่างกาย ให้ดูอยู่แต่ภายในที่สงบนั้นเท่านั้น หรือถ้าหากว่าเป็นการปฏิบัติแบบพองยุบก็คือ คอยดูพองยุบของเราเท่านั้น

เมื่อเราไม่ไปสนใจ ไม่ไปใส่ใจ อาการทั้งหลายเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ หายไปเอง แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายไปใส่ใจ อาการทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังจะคงอยู่ เพราะว่าจิตใจเราไม่ได้ปลด ไม่ได้วางลงไป

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ บางคนก็คงอยู่เป็นเดือน ๆ บางคนก็อยู่เป็นปี หรือว่าหลายปี จนกว่าเราจะปล่อยวางว่า อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ตัวเราแม้แต่ชีวิตก็ไม่ปรารถนาแล้ว ถ้าแลกกับการปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เมื่อเราไม่ใส่ใจและวางกำลังใจได้ถูกต้อง ก็จะก้าวข้ามอาการเหล่านั้นไป จะเร็วหรือช้า อยู่ที่ว่าท่านทั้งหลายคิดถูก และวางกำลังใจถูกหรือไม่

เถรี
02-10-2021, 22:59
เมื่อท่านทั้งหลายเริ่มก้าวเข้าสู่อัปปนาสมาธิขั้นต้น กำลังของสมาธิเริ่มมากขึ้น ก็จะเกิดการส่งผล คือกดให้กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ระงับดับลงชั่วคราว จะปรากฏอาการเยือกเย็นทั้งทางกายและทางใจ อย่างที่ไม่ปรากฏมาก่อน บาลีเรียกตรงนี้ว่า สุข

ความสุขเยือกเย็นที่ปรากฏขึ้นนี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร ? เกิดขึ้นเพราะว่ากิเลสใหญ่คือ รัก โลภ โกรธ หลง โดนอำนาจของสมาธิกดดับลงชั่วคราว กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับกองไฟ พระองค์ท่านตรัสเอาไว้ว่า ราคัคคิ ไฟคือราคะ โลภัคคิ ไฟคือโลภะ ความโลภ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ ความโกรธ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ ความหลง

ไฟใหญ่ ๔ กองนี้เผาลนเราอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ทำให้เราทุกข์ยากเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา เมื่อสมาธิเริ่มมีกำลังสูงขึ้น กดให้ไฟ ๔ กองนี้ดับลงได้ชั่วคราว บุคคลที่โดนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา เมื่อไฟดับลงนั้นมีความสุขอย่างไร ย่อมไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ ดังที่บาลีกล่าวว่า ปัจจัตตัง คือเป็นของที่รู้เฉพาะตนเท่านั้น ไม่สามารถที่จะอธิบายออกมาได้ว่าสุขแบบไหน

ถ้าหากว่าเราไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใส่ใจ กับอาการสุขเยือกเย็นทั้งกายและใจที่ปรากฏขึ้น จิตใจเราก็จะก้าวเข้าสู่ระดับอัปปนาสมาธิ ที่เรียกว่า ปฐมฌาน

คำว่าฌานนั้น ไม่ใช่ของยากจนเกินไป ฌาน ถ้าหากว่าแปลตามรากศัพท์ แปลว่า ความเพ่งอย่างหนึ่ง ก็คือจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งใด โดยไม่คลอนแคลนไปไหน อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ความเคยชิน สิ่งหนึ่งประการใดที่เคยชินจนกลายเป็นอัตโนมัติ สามารถเรียกว่าฌานได้เช่นกัน

เถรี
03-10-2021, 15:01
ในเมื่อจิตของเราเข้าสู่ความเคยชินในระดับแรก ที่เรียกว่าปฐมฌาน อาการตรงนี้นั้น ถ้าเป็นบุคคลที่ปฏิบัติมาในสายวิสุทธิมรรค ก็จะรู้ลมหายใจเข้าออกโดยอัตโนมัติ รู้คำภาวนาโดยอัตโนมัติ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายกำหนดฐานในการปฏิบัติอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ก็จะรู้ว่าลมกระทบกี่ฐานโดยอัตโนมัติ รู้ตลอดทั้งกองลมตั้งแต่ต้นจนปลาย คือทั้งเข้าและออก

แต่ถ้าหากว่าท่านปฏิบัติตามสายพองยุบ จะสามารถกำหนดรู้พองยุบโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับ พองยุบนั้นจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ เราแค่เอาสติไปประคับประคองรับรู้ไว้เท่านั้น

แต่คราวนี้การที่เราปฏิบัติตามสายพองยุบนั้น ครูบาอาจารย์ท่านไม่ต้องการให้เราเข้าสมาธิแนบแน่นจนเกินไป ดังนั้น...เมื่ออาการทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น ท่านก็จะให้ภาวนาว่า "รู้หนอ...รู้หนอ" ในเมื่อกำหนดใจในลักษณะอย่างนั้น กำลังสมาธิก็จะคลายออกมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ หรือว่าขณิกสมาธิ ทำให้เข้าไม่ถึงอัปปนาสมาธิเบื้องสูงยิ่งไปกว่านั้น

แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติตามสายวิสุทธิมรรค ไม่ว่าจะเป็นพุทโธก็ดี นะมะพะทะก็ดี หรือว่าสัมมาอะระหังก็ตาม ถ้าหากว่ามาถึงตรงจุดนี้ เราเอาสติประคับประคองรับรู้อาการที่เกิดขึ้นเป็นอัตโนมัตินั้น ถ้าหากว่าตามดู ตามรู้ไปเช่นนี้ สภาพจิตก็จะค่อย ๆ ก้าวสู่สมาธิระดับสูงขึ้น เรียกว่า ทุติยฌาน คือความเคยชินขั้นที่สอง

เถรี
03-10-2021, 15:01
เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว บางคนลมหายใจก็เบาลง ถ้าหากว่าปฏิบัติตามสายพองยุบ ก็คือหาพองยุบไม่เจอ แต่ถ้าหากว่าปฏิบัติตามสายวิสุทธิมรรค เราจะรู้ว่าลมหายใจค่อย ๆ หายไป บางทีคำภาวนาก็ค่อย ๆ หายไป อย่าได้ตกใจ และอย่าได้อยากเป็นเช่นนั้น ให้เราตามดูตามรู้อยู่ตรงนั้น โดยกำหนดว่า "รู้หนอ...รู้หนอ" ก็ได้ ก็คือรู้ว่าอารมณ์ใจตอนนี้เป็นอย่างนั้น ตอนนี้พองยุบหายไป ตอนนี้ลมหายใจหายไป ตอนนี้คำภาวนาหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายทำอย่างนี้ต่อไป โดยที่ไม่ได้ดิ้นรนอยากให้หลุดพ้นจากสภาพนั้น และไม่ได้เพียรพยายามที่จะเข้าสู่สภาพนั้น ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปโดยตามธรรมชาติ เรามีหน้าที่ตามดูตามรู้แค่นั้น ก็จะเกิดอาการบางอย่างขึ้นจนเราสามารถรู้ได้ คือความรู้สึกต่าง ๆ จะค่อย ๆ รวบเข้ามา รวบเข้ามา

ถ้าหากว่าเป็นทางด้านสัมมาอะระหัง ก็คือความรู้สึกจะตกสู่ศูนย์กลาง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลางไปเรื่อย แต่ถ้าหากว่ามาสายพองยุบ ตอนช่วงนี้บางทีครูบาอาจารย์ต้องบอกให้ท่านถอยสมาธิออกมา ก็คือกำหนดว่า "รู้หนอ...รู้หนอ...รู้หนอ" ให้สมาธิของเราเคลื่อนคลายออกมา ไม่เข้าลึกเกินไป เพราะเกรงว่าจะเกิดโกสัชชะ ก็คือความเกียจคร้าน เพราะว่าช่วงนี้จิตของเราจะตั้งมั่นนิ่งอยู่ข้างใน บางคนก็นั่งข้ามวันข้ามคืนไปเลย

คราวนี้ถ้าหากว่าท่านมาสายวิสุทธิมรรค อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกจะถูกรวบมาอยู่จุดใดจุดหนึ่ง บางคนก็เริ่มรู้สึกจากปลายมือปลายเท้าเข้ามา บางคนก็รู้สึกที่ปลายจมูก หรือบริเวณริมฝีปาก เหมือนกับมีความเย็นเกิดขึ้น จนรู้สึกว่าแน่น แข็งตัว บางคนรู้สึกตึงเหมือนอย่างกับโดนมัดติดอยู่กับเสา บางคนก็รู้สึกเหมือนกับว่าตัวแข็งกลายเป็นหินไปแล้ว ถ้าท่านทั้งหลายไม่ตกใจ ไม่อยากให้เป็น และไม่ดิ้นรนให้หลุดพ้นจากอาการนั้น แค่กำหนดดูกำหนดรู้ต่อไป

เถรี
03-10-2021, 15:01
ถ้าหากว่าเป็นสายพองยุบ เรากำหนดแค่ว่า "รู้หนอ...รู้หนอ" อยู่ภายใน โดยที่ไม่ได้กำหนดในลักษณะที่กระทุ้งหรือกระแทกให้หลุดออกมา โดยกำหนด "รู้หนอ...รู้หนอ...รู้หนอ" อย่างรวดเร็วและรุนแรงแล้ว สมาธิก็จะลึกเข้าไปอีก จนกระทั่งกลายเป็นสว่างโพลงอยู่ตรงหน้าของเรา

ตอนนี้ถ้าดูอาการทางร่างกาย หูก็จะไม่ได้ยินเสียงภายนอก จิตใจสงบเยือกเย็นอยู่กับสมาธิภายใน ความสว่างไสวที่ปรากฏนั้น สว่างไสวเหมือนกับพระอาทิตย์ยามเที่ยง ไม่มีสิ่งหนึ่งประการใดที่สามารถจะมาปิดบังความสว่างนั้นได้

ถ้าหากว่ามาถึงตรงจุดนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายต้องกำหนดเวลาไว้ ก็คือกำหนดว่าเราจะปฏิบัติในลักษณะอย่างนี้แค่ ๓๐ นาที แค่ ๑ ชั่วโมง หรือว่าแค่ ๒ ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นแล้วบางทีท่านก็จะอยู่ในสมาธิข้ามวันข้ามคืนไปเลย หลายวันหลายคืนก็มี

ถ้าสมาธิทรงตัวอยู่ในระดับนี้นั้น สภาพจิตของท่านจะสงบระงับจนถึงที่สุด เมื่อสงบระงับจนถึงที่สุด กำลังจะมีสูงมาก เมื่อกำลังสมาธิมีสูงมาก รัก โลภ โกรธ หลง โดนกดดับ หายไปจากใจชั่วคราว ในลักษณะของวิกขัมภนวิมุติ ก็คือการกดข่มเอาไว้ก็ดี ในลักษณะของตทังควิมุติ ก็คือสามารถที่จะกดเอาไว้ได้ด้วยองค์ของวิปัสสนานั้น ๆ ก็ตาม

บางท่านก็เข้าใจผิด คิดว่าเราน่าจะได้มรรคได้ผลบางประการไปแล้ว ในเมื่อเข้าใจผิด หลงผิด ก็อาจจะทำให้ท่านทั้งหลายกลายเป็นมิจฉาทิฐิ เสียประโยชน์ที่จะพึงมีพึงได้ไป เหตุเพราะว่าเมื่อท่านเข้าใจว่าตนเองได้มรรคได้ผลแล้ว ก็จะไม่พากเพียรพยายามในการปฏิบัติต่อไป

เถรี
03-10-2021, 15:02
ขอให้เข้าใจว่า นั่นเป็นเพียงอาการของสมาธิที่เกิดขึ้น ถ้าท่านจะใช้ประโยชน์ให้ได้จริง ๆ ในลักษณะของเจโตวิมุตติ ก็คือการหลุดพ้นด้วยกำลังใจข่มกิเลสไว้นั้น ท่านจะต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ทั้งหลับ ทั้งตื่น

ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม จะยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน คิด พูด ทำ ต้องรักษาอารมณ์ไว้ไม่ให้เคลื่อน ไม่ให้คลายไปไหน ถ้ารักษาได้ยาวนานพอ สามารถที่กดกิเลสต่าง ๆ ให้ตายลงไปได้เช่นกัน เรียกว่า บรรลุโดยเจโตวิมุตติ คือการบรรลุโดยใช้กำลังสมาธิภาวนา

แต่ถ้าหากว่าเป็นสายวิปัสสนา ท่านทั้งหลายก็ต้องคลายกำลังใจออกมา แบบที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำให้กำหนดว่า "รู้หนอ...รู้หนอ...รู้หนอ" จนกำลังใจคลายลงมาในระดับอุปจารสมาธิ แล้วเราค่อยยกข้อธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาพิจารณา เพื่อที่จะได้รู้จริง เห็นจริงตามที่พระองค์ท่านตรัสไว้

การพิจารณานั้น ไม่ว่าท่านจะพิจารณาตามหลักอริยสัจ ๔ ก็ดี ไตรลักษณ์ก็ตาม หรือว่าจะไปเป็นวิปัสสนาญาณ ๙ จะไปเป็นปฏิจจสมุปบาท ไปเป็นอายตนะ หรือว่าอินทรีย์ก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความรักความชอบ ที่ท่านทั้งหลายจะปฏิบัติให้เป็นไป

ถ้าหากว่าโดยทั่ว ๆ ไป เพื่อให้ง่ายต่อโยคีบุคคลผู้ปฏิบัติแล้ว ก็ควรจะปฏิบัติตามหลักของไตรลักษณ์ ก็คือพิจารณาให้เห็นอนิจจังว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นประกอบด้วยความไม่เที่ยงเป็นปกติ พิจารณาให้เห็นทุกขัง คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยความทุกข์ และท้ายที่สุด พิจารณาให้เห็นความเป็นอนัตตา คือไม่มีสิ่งหนึ่งประการใดที่จะมากำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขาได้ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น

เถรี
04-10-2021, 16:59
คราวนี้การที่เราทั้งหลายจะประพฤติปฏิบัติในวิปัสสนา โดยเฉพาะการพิจารณาในเบื้องต้นจนถึงเบื้องปลาย ก็ให้เริ่มกำหนดจนกระทั่งสมาธิ หรือว่าพองยุบของเรา ทรงตัวมั่นคง อย่างน้อยในระดับที่รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับก็เป็นไปเอง เสร็จแล้วก็คลายกำลังใจลงมา พินิจพิจารณาให้เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุธาตุ เป็นสิ่งของก็ตาม ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วเสื่อมสลายไป

ถ้าหากว่าดูภายนอก อาจจะทำให้เราฟุ้งซ่าน ก็มาดูภายใน นึกย้อนหลังไปตั้งแต่เราอยู่ในท้องของแม่ ถ้าหากว่าเที่ยงแท้แน่นอน เราต้องไม่คลอดไม่เคลื่อนออกมาข้างนอก แต่นี่เราคลอดเราเคลื่อนออกจากท้องแม่มา แสดงว่าเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้

เมื่อออกมาแล้ว ถ้ามีความเที่ยงแท้แน่นอน เราก็ต้องตัวเล็กอยู่อย่างนั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อได้รับการถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูจากบิดามารดา เราก็ค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นมา จากเด็กเล็กนอนหงายตะกายอากาศ ก็เริ่มพลิกได้ คว่ำได้ คืบได้ คลานได้ หัดตั้งไข่ ยืน เดิน วิ่ง จากไม่มีฟันก็มีฟัน

ถ้าหากว่าเที่ยงแท้แน่นอน ต้องทรงอยู่ในระดับเด็กทารกเพิ่งเกิด แต่นี่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงมา จากเด็กเล็กกลายเป็นเด็กโต เป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว เป็นหนุ่มสาวเต็มตัว ก้าวเข้าสู่วัยกลางคน ก้าวไปสู่วัยชรา ในที่สุดก็หมดสภาพ ตายลงไป

ถ้าหากว่าเที่ยงแท้แน่นอน ต้องไม่เปลี่ยนแปลง แต่นี่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวเราก็เป็นเช่นนี้ คนอื่นก็เป็นเช่นนี้ สัตว์อื่นก็เป็นเช่นนี้ วัตถุธาตุต่าง ๆ ก็เป็นเช่นนี้

เถรี
04-10-2021, 17:01
เมื่อพิจารณาเห็นชัดเจนแล้ว ก็ให้น้อมกำลังใจยอมรับความเป็นจริงตรงนี้ว่า องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนเรามาเป็นความจริงแท้

แล้วหลังจากนั้น ถ้าหากว่าสมาธิของท่านคลายเคลื่อนเลือนลางไป อาจจะเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา เราก็กลับเข้ามาหาพองยุบ หรือกลับเข้ามาหาลมหายใจของเราใหม่ จนกระทั่งลมหายใจ หรือพองยุบของเราทรงตัว กลายเป็นอัตโนมัติ ความรู้สึกต่าง ๆ มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่านไปไหน

เราก็มาพิจารณาต่อไปว่า อัตภาพร่างกายของเรานี้ เต็มไปด้วยความทุกข์ ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ก็อึดอัดคับข้อง โดนไฟธาตุของแม่เผาลนอยู่ตลอดเวลา เร่าร้อนเหมือนอยู่ในหม้อนึ่ง พยายามที่จะดิ้นรนให้หลุดพ้นจากสภาพนั้น เนื่องจากว่าเราแค่นั่งนิ่ง ๆ ไม่กี่นาที เรายังรู้สึกปวดเมื่อย แต่เด็กทารกนั้นต้องขดอยู่ในท้องแม่ตั้ง ๙ เดือน ๑๐ เดือน จะต้องทุกข์ยากขนาดไหน ? เป็นที่พอจะนึกออกได้

เมื่อคลอด เมื่อเคลื่อนจากท้องแม่ออกมา กระทบกับความหนักของอากาศ ก็แสบร้อนไปทั้งกาย ร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวด ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความสกปรกต้องชำระล้าง หิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ต้องถ่ายหนักถ่ายเบา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ร่างกายสกปรกโสโครก ต้องชำระล้างทำความสะอาด เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องรักษาพยาบาล

จากเด็กเล็ก ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นเด็กโต ความต้องการมีมากขึ้น ความปรารถนาไม่สมหวังก็พาให้ความทุกข์ใจเกิดขึ้น ยิ่งมีความต้องการมากเท่าไร ความทุกข์ก็มากขึ้นเท่านั้น ต้องพยายามปรับตัว เพื่อให้อยู่กับโลกนี้ให้ได้ หัดพลิก หัดคืบ หัดคลาน หัดยืน หกล้ม หกลุก แต่ละขั้นตอนล้วนแล้วแต่เหนื่อยยากเป็นอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยความทุกข์

เถรี
04-10-2021, 17:08
เมื่อเดินได้ วิ่งได้ หัดพูดจาสื่อสารรู้เรื่องได้ ในระหว่างนั้นก็ยังหิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระต้องถ่ายหนัก ปวดปัสสาวะต้องถ่ายเบา สกปรกโสโครกต้องชำระร่างกาย เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล ไม่ได้หายไปไหนเลย ความทุกข์เกาะกินเราอยู่ตลอดเวลา

แล้วยังต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อหาวิชาความรู้มาเลี้ยงตนเอง มาเลี้ยงครอบครัว ต้องลำบากทุกข์ยากในการเดินทางไปเรียน ต้องเครียดอยู่กับบทเรียนต่าง ๆ กับงานที่ครูบาอาจารย์ท่านมอบให้ บางคนเห็นอยู่ชัดเจนว่าต้องตื่นตั้งแต่มืด เพื่อเดินทางไปโรงเรียนเนื่องจากรถติด บางทีก็ต้องกินข้าวบนรถ กว่าที่จะไปเรียนหนังสือได้ก็ลำบากลำบน ทั้งง่วง ทั้งเหนื่อย ทั้งหิว

ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายโชคดี เป็นบุคคลที่เรียนเก่ง ก็ประสบความสำเร็จ สามารถเรียนจบมาได้ด้วยคะแนนดี ความทุกข์น้อยกว่าคนอื่นนิดหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าโชคไม่ดี ไม่เคยสั่งสมสมาธิมาในอดีต ตัวปัญญาจะมีน้อย ท่านทั้งหลายก็เรียนด้วยความยากลำบาก ล้มลุกคลุกคลาน กว่าที่จะจบมาได้ มีแต่ความทุกข์ยากเป็นอย่างยิ่ง

ในระหว่างนั้น ท่านทั้งหลายก็ยังแสวงหาความทุกข์ใส่ตัวอีก ก็คือสนใจเพศตรงข้าม อยากได้มาเป็นคู่ครอง ต้องไม่ลืมว่าอยากเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น กลัวเขาจะไม่รักเรา กลัวคนอื่นจะมาแย่งชิงไป ถ้าหากว่าโชคดีอีกฝ่ายหนึ่งตอบรับ พ่อแม่เห็นด้วย ไม่ขัดขวาง สามารถแต่งงานไปได้ จากการที่เรามีตัวคนเดียว หิวตอนนี้ จะไม่กินก็ได้ จะไม่อาบน้ำอาบท่าก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่พอมีคู่ขึ้นมา เขาหิวก็เหมือนกับเราหิวด้วย เขาป่วยก็เหมือนกับเราป่วยด้วย ถึงเวลาต้องดูแลอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น หนักขึ้น

เถรี
04-10-2021, 17:12
ถ้าหากว่าเปรียบตามภาษาบาลีว่า ร่างกายนี้คือขันธ์ ๕ ซึ่งประกอบด้วย

รูป ก็คือสภาพที่จับได้ต้องได้ เป็นตัวเป็นตนนี้
เวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
สัญญา ความรู้ได้หมายจำ
สังขาร ความนึกคิดปรุงแต่งไปทั้งด้านดีและไม่ดี
และวิญญาณ ประสาทความรู้สึกต่าง ๆ

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ รวมขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนของเรา เรียกว่า ขันธ์ ๕ แค่ ๕ ประการนี้ก็ทุกข์ยากเหลือหลายแล้ว เรายังไปเสาะหาขันธ์ ๕ มาเพิ่มอีก กลายเป็นขันธ์ ๑๐ ก็คือมีครอบครัว มีคู่ครอง แล้วถ้าหากว่ามีลูกเล็ก ๆ ขึ้นมา คนหนึ่งก็เพิ่มเป็นขันธ์ ๑๕ สองคนก็เพิ่มเป็นขันธ์ ๒๐ ความทุกข์ยากนั้นยิ่งมากขึ้นหลายเท่า

โดยเฉพาะถ้าลูกเล็ก ๆ พ่อแม่ก็ต้องอดตาหลับขับตานอน คอยดูแล ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ถ้าหากว่ากลางดึกร้องไห้ขึ้นมา ก็ต้องทนง่วง ลุกขึ้นมาดูแล ลูกเจ็บป่วยก็เหมือนกับเราเจ็บป่วยไปด้วย

ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ทับถมเพิ่มขึ้น ตามสิ่งต่าง ๆ ที่เราไขว่คว้าหามา บางคนต้องผ่อนบ้าน บางคนต้องผ่อนรถ บางคนต้องผ่อนสินค้าสิ่งอื่นต่าง ๆ เพื่อให้ครอบครัวมีความสะดวกที่จะดำรงชีวิตอยู่ ต้องทำงานด้วยความเหนื่อยยาก เงินทองได้มาก็กลายเป็นของคนอื่น ชีวิตมีแต่ความเครียดอยู่ตลอดเวลา ไหนจะลูก ไหนจะผัว ไหนจะเมีย ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ทับถมเข้ามา..มากขึ้น..มากขึ้น..

ส่วนความทุกข์ที่เป็นปกติก็คืออาการเจ็บป่วย หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ร่างกายสกปรกโสโครก มีให้เราดูแลเป็นปกติ เป็นเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เถรี
05-10-2021, 23:16
อายุกาลผ่านวัยมากขึ้นเท่าไร เราก็สามารถทำกิจการงานต่าง ๆ ได้น้อยลง ความทุกข์ที่มีเท่าเดิม จึงกลายเป็นความทุกข์ที่มากขึ้น เพราะว่าทำได้น้อยลง แม้งานจะเท่าเดิมก็กลายเป็นงานที่มากขึ้น จนกระทั่งท้ายสุด ทุกขเวทนาต่าง ๆ บีบคั้น ร่างกายนี้ทนอยู่ไม่ได้ ก็ตาย..ก็พังไป

ตัวเราก็ทุกข์เช่นนี้ คนอื่นก็ทุกข์เช่นนี้ สัตว์อื่นก็ทุกข์เช่นนี้ วัตถุธาตุต่าง ๆ ก็ทุกข์เช่นนั้น วัตถุธาตุสิ่งของแม้ว่าจะไม่มีชีวิตก็ตาม ถึงเวลาก็ต้องทุกข์กับการเสื่อมสลาย การหมดอายุ การเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิม ๆ ของตนเช่นกัน

เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ให้น้อมจิตน้อมใจ ยอมรับในความเป็นจริงที่เราเห็นชัดนี้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์นั้น ย่อมเป็นทุกข์จริง ๆ

เมื่อมาถึงตรงจุดนี้แล้ว บางคนสมาธิก็เคลื่อนก็คลายไป ความฟุ้งซ่านเริ่มจะแทรกเข้ามา ถ้าหากว่ามาสายพองยุบก็ให้รีบกลับไปดูพองยุบใหม่ ถ้าหากว่ามาสายวิสุทธิมรรค ก็ให้วิ่งไปหาคำภาวนาและลมหายใจเข้าออกใหม่ จนกระทั่งสมาธิของเราทรงตัวโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับก็สามารถที่จะกำหนดรู้ได้เอง

จากนั้นเราก็หยิบยกเอาข้อธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาพินิจพิจารณาใหม่ ก็คือสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวเป็นตนได้

เถรี
05-10-2021, 23:23
เราจะพิจารณาอย่างไร ? ก็ยกเอาร่างกายของเรานี้ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า กายนี้ประกอบไปด้วยมหาภูตรูป ๔ ก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันขึ้นมาเป็นรูปร่าง เป็นหัว เป็นหู เป็นหน้า เป็นตา มีปัญจสาขา หนึ่งศรีษะ สองแขน สองขา ตัวเราคือจิต ที่ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวตามบุญตามกรรมในอดีตที่สร้างเอาไว้ เมื่อมาถึง เราก็ไปยึดว่าเป็น "ตัวกู..ของกู"

ตอนนี้เรามาดูให้ชัดเจนว่าเป็น "ตัวกู..ของกู" จริงหรือไม่ ? ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่แค่นที่แข็ง เป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอัน เรียกว่า ธาตุดิน ประกอบไปด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก เส้นเอ็น ตลอดจนกระทั่งอวัยวะใหญ่น้อยทั้งภายนอกภายใน ไม่ว่าจะเป็น ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธาตุดิน เราลองกำหนดใจแยกเอาไว้กองหนึ่ง

ส่วนที่ไหลไปไหลมาอยู่ในร่างกายของเรา ช่วยให้ร่างกายนี้ชุ่มชื่นเอิบอาบ เคร่งตึง เรียกว่า ธาตุน้ำ ประกอบไปด้วย เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เลือด น้ำเหลือง ตลอดจนกระทั่งไขมันเหลว เราลองแยกเอาไว้อีกกองหนึ่งว่า นี่เป็นธาตุน้ำ

ส่วนที่พัดไปมาในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะพัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย ที่ภาษาหมอเรียกว่า ความดันโลหิต หรือว่าส่วนที่ค้างอยู่ในช่องว่างของร่างกาย เช่น ช่องหู ช่องจมูก ส่วนที่ค้างอยู่ในท้องในไส้ของเรา บางทีเรียกกันว่าแก๊ส เหล่านี้เป็นธาตุลม เราแยกเอาไว้อีกกองหนึ่ง

ส่วนสุดท้าย คือส่วนที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของเรา มีหน้าที่กระตุ้นร่างกายนี้ให้เจริญเติบโต แต่ขณะเดียวกันก็เผาผลาญร่างกายนี้ให้ทรุดโทรมลง หรือว่าช่วยในการสันดาปย่อยอาหาร หรือกระทำให้ร่างกายนี้กระวนกระวายยามป่วยไข้ เรียกว่า ธาตุไฟ แยกเอาไว้อีกกองหนึ่ง

เถรี
05-10-2021, 23:25
คราวนี้มาดูกันให้ชัด ๆ กองแรกคือดิน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก เส้นเอ็น อวัยวะภายในภายนอก ที่จับได้ต้องได้เป็นกองที่หนึ่ง

กองที่สอง ส่วนที่ไหลไปไหลมาในร่างกายของเรา คือเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี ไขมันเหลว เหงื่อ ปัสสาวะ แยกเอาไว้อีกกองหนึ่ง

ส่วนที่สาม คือส่วนที่ค้างอยู่ในร่างกายของเรา ค้างอยู่ตามช่องว่างของร่างกาย ส่วนที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย ตลอดจนกระทั่งลมหายใจเข้าออก นี่เป็นธาตุลม กองไว้อีกส่วนหนึ่ง

ส่วนที่ช่วยให้ความอบอุ่นในร่างกายของเรา กระตุ้นร่างกายนี้ให้เจริญเติบโต เผาผลาญร่างกายนี้ให้ทรุดโทรมลง ยังร่างกายนี้ให้กระวนกระวายยามป่วยไข้ หรือช่วยเผาผลาญ สันดาปในการย่อยอาหาร เรียกว่าธาตุไฟ กองไว้อีกส่วนหนึ่ง ตัวเราอยู่ตรงไหน ? ไม่มีอะไรเหลือเลย

เมื่อเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เข้ามาขยำรวมกันเป็นก้อน ปั้นขึ้นมาเสียใหม่ มีหัว มีหู มีหน้า มีตา มีปัญจสาขา สองแขน สองขา หนึ่งศีรษะ พอเรามาอาศัยอยู่ เราก็ไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา

เถรี
05-10-2021, 23:27
ตอนนี้เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ เปรียบเหมือนอย่างกับเสื้อผ้าชุดหนึ่ง หรือเปรียบเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง เมื่อถึงเวลาเสื้อผ้านั้นเก่าหมดสภาพ เราก็ถอดเปลี่ยนใหม่ เมื่อรถยนต์คันเก่าหมดสภาพ เราก็ต้องหารถยนต์มาเปลี่ยนใหม่ นั่นคือการที่เราเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่รู้จบ เพราะว่าเราไม่รู้เห็นสภาพความเป็นจริง จึงไปยึดถืออัตภาพร่างกายนี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา

ตอนนี้เราเห็นจริงอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราจริง ๆ ก็ให้น้อมจิตน้อมใจ ยอมรับความเป็นจริงอันนี้ไว้ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายกระทำจนถึงจุดนี้ แล้วยอมรับได้ว่าสภาพร่างกายนี้ไม่เที่ยงจริง ๆ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด

ร่างกายนี้ประกอบไปด้วยความทุกข์จริง ๆ จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง เราก็อยู่ในกองทุกข์ตลอดเวลา แล้วร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราจริง ๆ ยึดถือเป็นตัวตนเราเขาไม่ได้ สักแต่ว่าเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมาให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น

ถ้าความรู้สึกของท่านทั้งหลายมาถึงตรงจุดนี้ ก็จะมองเห็นอย่างชัดเจน สามารถที่จะแยกออกได้ว่า อัตภาพร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา แต่เนื่องจากว่าบุญกรรมที่เราทำมา ยังไม่สามารถที่จะทิ้งไปได้ เราก็ดูแลรักษาตามหน้าที่ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นวัตถุธาตุที่เรายืมโลกนี้มาใช้ชั่วคราว มารยาทในการยืมสิ่งของก็คือ ต้องระมัดระวังดูแลให้ดีที่สุด ถ้าหากว่าเป็นสิ่งของก็คือ ต้องคืนเจ้าของไปในสภาพที่ดีที่สุด

ในเมื่อร่างกายนี้ของเราเกิดอะไรขึ้นมา เราจึงต้องดูแลรักษา เพื่อที่จะให้ทรงสภาพให้เราอาศัยอยู่ได้โดยไม่ทุกข์ยากลำบากมากนัก แต่ขึ้นชื่อว่าการมีร่างกายเช่นนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีก ถ้าหากว่าชีวิตนี้ดับสิ้นลงไป เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

ถ้าท่านทั้งหลายตั้งกำลังใจอย่างนี้เอาไว้ได้ แล้วยังรู้สึกว่ายังต้องการที่จะปฏิบัติภาวนาอยู่ เราก็กำหนดจิตกำหนดใจดูพองยุบของเรา หรือว่าดูลมหายใจเข้าออกของเราไป จนกว่าจะได้เวลาที่เรากำหนดเอาไว้

เถรี
05-10-2021, 23:29
สำหรับวันนี้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดี ที่ได้มาถวายความรู้แก่บรรดาพระภิกษุสามเณรนิสิต แล้วก็บรรยายความรู้ให้แก่บรรดาฆราวาสทั้งหลาย ที่ได้เข้ามาฟังได้เข้ามาชมอยู่ ณ ที่นี้

สิ่งที่ได้บอกได้กล่าวไปนั้นเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายสามารถที่จะศึกษาหาความรู้และค้นคว้าเพิ่มเติมได้ แต่ขอให้เข้าใจตรงกันว่า ในส่วนของการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นส่วนของบุคคลที่เข้าถึงปรมัตถบารมี ต้องสั่งสมบุญกุศลมาอย่างยิ่งในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน เราถึงจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายก็อย่าได้ละทิ้งโอกาส ให้ทุกคนพยายามปฏิบัติภาวนา สั่งสมกำลังของเราเอาไว้ แต่ละวันจะได้มากได้น้อยก็ตาม ขอให้พยายามทำเอาไว้

ผลประโยชน์ทางโลกก็คือ ท่านจะมีกำลังใจที่หนักแน่นมั่นคง มุ่งอยู่กับงานตรงหน้าได้โดยไม่เบื่อไม่หน่าย จนกว่างานทั้งหลายนั้นจะสำเร็จเสร็จสิ้นลงไป ประโยชน์ในทางธรรมก็คือ ในเมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้วว่า ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา บุคคลที่เห็นชัดเจนเช่นนี้ ย่อมเตรียมพร้อมอยู่เสมอที่จะจากร่างกายนี้ไป ก็จะทำหน้าที่เหมือนบุคคลที่มีวันนี้วันเดียว

บุคคลที่มีวันนี้วันเดียว หรือว่ามีชีวิตอยู่แค่ชั่วลมหายใจเดียว ถ้าหากว่าจะทำให้ถูกต้อง ก็คือปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเรารับผิดชอบให้ดีที่สุด ทำเหมือนกับมีวันนี้วันเดียว ไม่มีโอกาสที่จะทำเช่นนี้อีก เราก็จะทุ่มเทกำลังของเรากับงานอย่างเต็มที่ อยู่คนเขาก็เกรงใจ จากไปคนเขาก็คิดถึง

เถรี
07-10-2021, 21:35
ถาม : นั่งปฏิบัติสมาธิแล้วก็มีลมมาปะทะไปวูบหนึ่ง ประมาณว่าเป็นวิญญาณ วิญญาณเป็นเช่นไร ทำไมถึงเรียกว่าวิญญาณ ? วิญญาณเป็นตัวทุกข์ได้หรือไม่ ? ถ้าเป็นตัวทุกข์จริงแล้วเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ ได้หรือไม่ครับ ?
ตอบ : ขออนุญาตนะครับ หลวงพ่อชัยชนะ พุทฺธเมธี เมตตาถามปัญหามา ซึ่งเป็นปัญหาที่บรรดาญาติโยมทั้งหลายส่วนมากเข้าใจผิดกันมาตลอด

คำว่า วิญญาณ ในขันธ์ ๕ นั้น คือประสาทความรู้สึกของร่างกายเรา ส่วนวิญญาณที่ชาวบ้านคิดถึงทั่ว ๆ ไปนั้น ก็คือสภาพจิตที่เวียนว่ายตายเกิดไปตามภพภูมิต่าง ๆ ตามเวรตามกรรมที่ตนเองสร้างมา หรือถ้าหากในความหมายง่าย ๆ ที่ชาวบ้านเรียกก็คือผี..!

ดังนั้น...ในส่วนนี้เราต้องแยกให้ออกว่า ถ้าตามความหมายในภาษาบาลี วิญญาณคือประสาทความรู้สึกในร่างกายเรา แต่ถ้าหากว่าเป็นวิญญาณในความรู้สึกของชาวบ้านก็คือผีนั่นเอง ถ้าเป็นวิญญาณประเภทนี้มีความทุกข์เป็นปกติครับ เพราะว่าวิญญาณประเภทนี้คือจิต ซึ่งเป็นตัวรับรู้และบันทึกการรู้ต่าง ๆ รวมทั้งการรู้สุขทุกข์ด้วย

ในส่วนที่หลวงพ่อบอกว่า ถึงเวลาแล้วรู้สึกเหมือนมีลมมาปะทะ ถ้าเรารู้สึกเช่นนั้น แล้วเกิดความข้องใจว่าจะใช่หรือไม่ใช่ก็ตาม ให้ท่านตั้งใจว่า "กุศลบารมีที่เราสร้างมาตั้งแต่ต้นจวบจนบัดนี้ ตลอดจนกระทั่งกุศลที่เรากำลังสร้างอยู่ในขณะนี้ ขออุทิศให้แก่เธอ" ถ้าหากว่าได้ยินเสียง ให้นึกว่าเป็นเจ้าของเสียงนั้น ถ้าหากว่าได้แค่กลิ่น ให้นึกถึงเจ้าของกลิ่นนั้น หรือว่าถ้าได้รับแค่แรงลมกระทบ ให้นึกว่าเป็นเจ้าของแรงกระทบนั้น "ขอให้เขาอนุโมทนา เราจะได้รับประโยชน์ รับความสุขเท่าไร ขอให้เขาได้รับด้วย"

ถ้าหากว่าเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม รับรองว่าจะมีแต่ผู้ที่รัก ไม่ว่าจะเป็นผีหรือว่าเป็นเทวดา เพราะว่าเขาได้ประโยชน์จากการปฏิบัติธรรมของเราครับ เรียนถวายหลวงพ่อครับ

เถรี
07-10-2021, 21:38
ถาม : ขั้นตอนการออกจากสมาธิเมื่อใจเราสงบแล้ว ควรจะทำอย่างไรครับ ? เราแผ่เมตตาหรืออุทิศส่วนกุศล หรือว่าค่อย ๆ ประคองสติแล้วออก ตอนนั่งสมาธิสงบดีมากครับ แต่พอออกมาแล้วเป็นคนละเรื่องกับตอนนั่งเลยครับ
ตอบ : ท่านพระครูสังฆรักษ์พัสวัชร์ ฐิตสีโล ถามคำถามที่สองมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในปัจจุบันนี้ บรรดาพระภิกษุสามเณร ตลอดจนกระทั่งญาติโยมของเรา ปฏิบัติธรรมแล้วก็มักจะทิ้งเลย ก็คือพอเคลื่อนคลายออกจากบัลลังก์แล้ว เราก็ไม่รักษาอารมณ์นั้นไว้ ถ้าหากว่าเป็นลักษณะอย่างนี้ การปฏิบัติของเราจะยาวนานแค่ไหนก็ตาม โอกาสที่จะได้ดีมีน้อยมาก

ขอให้จำไว้ว่ากำลังของเราในตอนที่นั่งอยู่นั้น นิ่งแค่ไหน สงบแค่ไหน เมื่อลุกออกจากบัลลังก์นั้นไปทำอะไรก็ตาม พยายามเอาสติกำหนดรู้ รักษาอารมณ์แบบนั้น รักษาความมั่นคงแบบนั้น รักษาความเยือกเย็นแบบนั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะได้นานได้

ถ้าไม่มีความชำนาญก็ ๑ นาที ๒ นาที แต่ถ้าหากว่าพยายามทำไปเรื่อย ๆ ก็จะได้นานขึ้นเป็น ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที จนกระทั่งได้เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นหลาย ๆ วัน

ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามารถรักษาเอาไว้ในลักษณะอย่างนั้น โอกาสที่กิเลส รัก โลภ โกรธ หลงจะกินใจเราก็ไม่มี สภาพจิตปราศจากกิเลส มีความผ่องใสมาก ดวงปัญญาจะเกิดขึ้น ทำให้เราเห็นว่าเราควรที่จะดำเนินต่อไปในลักษณะไหน ถึงจะรักษาสภาพจิตเช่นนั้นเอาไว้ได้ไม่ให้กิเลสกินเรา และขณะเดียวกันจะขัดจะเกลาอย่างไร ให้กิเลสเหล่านั้นลดน้อยถอยลง ถ้าถึงช่วงนั้นเรารักษากำลังใจได้จริง ๆ จะเห็นช่องทางทั้งหลายเหล่านี้อย่างชัดเจน

เถรี
07-10-2021, 21:39
ดังนั้น..เมื่อท่านทำไปแล้ว เกิดความรู้สึกดี ความรู้สึกมั่นคง ความรู้สึกเยือกเย็น ขอให้พยายามเคลี่อนไหวให้ช้า ๆ หน่อย ไม่เช่นนั้นแล้วบางทีสมาธิก็หลุดหายหมด อารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็จะหายหมดไปด้วย ก็แปลว่าทำได้แล้วต้องรักษาเอาไว้ ถ้าไม่รักษาเอาไว้ เราจะขาดทุน

เหตุที่ขาดทุนเพราะว่า การปฏิบัติธรรมเป็นการทวนกระแสโลก เหมือนกับคนว่ายทวนน้ำ ถึงเวลาเราว่ายมาจนพอใจแล้ว เราปล่อยให้ลอยตามน้ำไป พอถึงเวลาปฏิบัติธรรม ก็เท่ากับเราว่ายทวนน้ำขึ้นมาอีก เป็นอย่างนี้วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า กลายเป็นคนขยัน ทำงานทุกวัน แต่ไม่มีผลงานเลย เพราะว่าถึงเวลาก็ปล่อยลอยตามน้ำไป แล้วหลายท่านก็ท้อ หมดกำลังใจที่จะทำ

ดังนั้น...ถ้าหากว่าทำได้แล้ว ตอนนั่งอยู่กำลังใจดีแค่ไหน สงบแค่ไหน เมื่อละเมื่อเลิกจากบัลลังก์แล้ว ก็ขอให้รักษาอารมณ์ใจนั้นเอาไว้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ จะได้เห็นช่องทางว่าต่อไปเราควรที่จะทำอย่างไร ส่วนการแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล ต้องทำเป็นปกติทุกครั้งครับ ขอเรียนถวายท่านพระครูสังฆรักษ์พัสวัชร์ ฐิตสีโล แต่เพียงเท่านี้ครับ

เถรี
07-10-2021, 21:43
ถาม : การนั่งวิปัสสนาแล้วตัวโยกซ้ายโยกขวา โยกไปโยกมา เหมือนมีลมมากระแทก พอลุกขึ้นนั่งใหม่ก็จะเป็นอย่างนี้สองสามรอบ นี่เป็นปีติหรือว่าต้องปฏิบัติอย่างไรต่อครับ ?
ตอบ : จะว่าไปแล้ว ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเคยฟังหลวงปู่หลวงพ่อสายวัดป่า ท่านจะบอกว่า การปฏิบัติธรรม เราต้องแลกด้วยชีวิต แต่ว่าท่านอาจารย์ยศพัทธ์ เมื่อถึงเวลาร่างกายโยกไปโยกมา แล้วบางทีเราก็กลัว บางทีเราก็อาย แล้วเราก็หยุด ไม่ทำต่อ ก็เลยไม่สามารถที่จะก้าวข้ามอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นไปได้

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ยังไม่ถึงระดับของอัปปนาสมาธิขั้นต้น เป็นแค่ในเบื้องต้นของอุปจารสมาธิ ที่เรียกว่าปีติเท่านั้น เราต้องปล่อยให้เต็มที่ไปเลย บางคนถึงขนาดดิ้นตึงตังโครมครามลั่นไปทั้งบ้านก็มี ถ้าปล่อยเต็มที่ลักษณะอย่างนั้นแล้ว เมื่อก้าวข้ามไปได้ ต่อไปก็จะไม่เป็นอีก แต่ถ้าไม่ปล่อยให้เต็มที่ ทำเมื่อไรก็จะเป็นอย่างนั้นครับ ท่านอาจารย์ยศพัทธ์ ต่อไปคงจะปฏิบัติได้ถูกต้องขึ้นนะครับ

เถรี
07-10-2021, 21:46
ถาม : ที่พระอาจารย์บรรยายเมื่อสักครู่ ในส่วนของการปฏิบัติตามสายวิสุทธิมรรค ที่บอกว่าอัสสาสะปัสสาสะ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เมื่อเราไปกำหนดยุบหนอพองหนอ หรือว่าเราไปกำหนดพุทโธ ก็เนื่องกับลมหายใจเข้า - ลมหายใจออก เมื่อเราพิจารณาไปแล้วจนถึงขั้นที่นิ่งสนิทจนไม่เห็นลมหายใจเข้าออก เราจะทำอย่างไรต่อครับ ?
ตอบ : ความจริงผมเรียนถวายไปชัดเจนนะครับ แต่ว่าท่านอาจารย์ชุมพลอาจจะฟังแล้วเลยหูไป ก็คือว่า อย่าอยากให้เป็นเช่นนั้น และอย่าดิ้นรนออกจากสภาพเช่นนั้น เมื่อถึงตอนนั้น เรามีหน้าที่แค่กำหนดดู กำหนดรู้เฉย ๆ ก็คือกำหนดรู้ว่าตอนนี้เป็นเช่นนั้น ก็คือตอนนี้ไม่มีลมหายใจ ตอนนี้ไม่มีคำภาวนา บางคนตกใจตะกายมาหาลมหายใจใหม่

ถ้าเปรียบเหมือนท่านขึ้นบันไดครับ ขึ้นไป ๓ ขั้น ๔ ขั้นแล้ว เมื่อถึงเวลาท่านก็ถอยลงมาใหม่ แล้วก็ขึ้นไปอีก แล้วก็ถอยลงมาใหม่ ความก้าวหน้าจะไม่มีครับ

แต่ถ้าหากว่าท่านไม่ได้ใส่ใจตรงจุดนั้น รับรู้ไว้เฉย ๆ ว่าตอนนี้เป็นอย่างนี้ ถึงไม่หายใจแล้วจะตายก็ช่างมัน เพราะเราปฏิบัติความดีอยู่ ถึงตายเราก็ไปดีแน่ ถ้าจิตใจของเรามั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่มีความกลัว สมาธิจะดิ่งลึกเข้าไปมากกว่านั้นเองครับ ขอเรียนถวายท่านอาจารย์ชุมพลเท่านี้ครับผม

เถรี
07-10-2021, 21:48
ถาม : บ้านเติมบุญจะกลับมาเปิดอีกไหมเจ้าคะ ?
ตอบ : ตรงจุดนั้นเคยไปเปิดเพื่อสอนกรรมฐาน แต่คราวนี้ว่าญาติโยมที่เปิดท่านต้องเสียค่าเช่า เมื่อเกิดเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ แพร่ระบาดขึ้นมา ไม่สามารถที่จะไปสอนได้เป็นปี ก็เลยบอกโยมว่าให้ยกเลิกการเช่าไปเถอะ จะได้ไม่ต้องเสียเงินหลายหมื่นฟรี ๆ ทุกเดือน ในเมื่อยกเลิกแล้วก็ไม่มีการเปิดใหม่อีกแล้วครับ


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
ธรรมบรรยาย เรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
วันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)