View Full Version : ปกิณกธรรม ช่วงบวชเนกขัมมะปีใหม่ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒
การทรงอารมณ์กรรมฐานช่วงเช้าแล้วต่อด้วยการทำวัตรเช้า เป็นการฝึกการทรงฌานใช้งาน ฌานใช้งานต้องใช้ได้ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที ถึงจะใช้การได้ การมาที่นี่เราได้ฝึกกรรมฐาน ๔๐ กอง บวกมหาสติปัฏฐานสูตร บวกมโนมยิทธิ แล้ว ยังบวกฌานใช้งานเข้าไปอีกด้วย
ถึงเวลาเราต้องสามารถลดสมาธิลงมาทำวัตรได้ เพิ่มสมาธิขึ้นไปเพื่อหนีกิเลสได้ ต้องระดับนั้นถึงจะใช้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะมีแต่สมาปัชชนวสี คือความชำนาญในการเข้าสมาธิ ไม่มีวุฏฐานวสี ความชำนาญในการออกจากสมาธิ นอกจากนั้นแล้วยังมีการเข้าฌานตามลำดับ เข้าฌานสลับฌาน ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า พิจารณาตามลำดับฌาน การเข้าฌานตั้งเวลา และอื่น ๆ อีกมากมาย
ถึงเวลาเจริญพระกรรมฐานแล้ว คลายสมาธิออกมาทำวัตร ต้องคลายออกมาด้วยความระมัดระวัง แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งจดจ่ออยู่กับภาพพระหรือพระนิพพานไว้ แล้วใช้กำลังส่วนใหญ่ของเราในการควบคุมร่างกายให้สวดมนต์ทำวัตร เวลาจะกราบพระจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร ต้องหน่วงกำลังใจของเราให้นิ่งอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งภายในร่างกายก็ได้ ภายนอกร่างกายก็ได้ แล้วค่อยกราบ สมาธิจะได้ไม่หลุด
สมัยที่อาตมายังอยู่วัดท่าซุง เร่งการปฏิบัติแทบเป็นแทบตายเพราะว่าอายหมา มีหมาตัวหนึ่งชื่อ "ทหาร" ถึงเวลาจะตามพระไปสวดมนต์ทำวัตรทำกรรมฐานทุกวัน พอพระขึ้น “โยโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ” เจ้าทหารหมอบปั๊บ ทรงฌาน ๔ เต็มระดับ ใจใสปิ๊งทั้งดวง พออุทิศส่วนกุศลเสร็จ กราบพระ “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา” เจ้าทหารลุกขึ้นสะบัดพรืด วิ่งไปเตรียมตัวเจริญกรรมฐานต่อ เขาทรงฌานตั้งเวลาได้ด้วย..! นึกจะเข้า นึกจะออกเมื่อไรก็ได้ อาตมาอายหมาก็เลยต้องเร่งตัวเอง..!
ตอนเจ้าทหารตาย หลวงพ่อวิรัชไปถามหลวงพ่อวัดท่าซุงว่า "ทหารตายแล้วไปไหนครับ ?" ท่านบอกว่า "ทหารไปเป็นพรหม ตามกำลังฌานของตัวเอง อาตมาว่าถ้าไม่ใช่เพราะทหารเป็นหมา หมาอยู่ในเขตที่จำกัดว่าไม่สามารถเข้าถึงมรรคผลได้ ทหารก็อาจจะบรรลุมรรคผลไปแล้ว..!
อาตมาเป็นขโมย ถึงเวลาคุยอารมณ์ปฏิบัติกับใคร ใครได้เยอะกว่าเป็นเสร็จอาตมาหมด ถามเขาว่าอารมณ์ใจเป็นอย่างไร ? เขาอธิบายให้ฟังเสร็จ อาตมาก็ได้ตรงนั้นเลย ขโมยกันต่อหน้าต่อตา ไม่กี่นาทีก็ไล่เขาทัน หลังจากนั้นก็ซักซ้อมเพื่อความคล่องตัว เพื่อความแม่นยำสักสองวัน คราวนี้ก็จะแซงเขาแล้ว เพราะฉะนั้น..พวกเราต้องหัดขโมยให้เป็น พูดถึงอะไรต้องได้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาปฏิบัติธรรมนานมาก
กาเลนะ ธัมมัสสากัจฉา..การสนทนาธรรมในเวลาอันสมควร เอตัมมังคะละมุตตะมัง..จัดเป็นอุดมมงคล ให้ลองสังเกตดูว่าเวลาโยมฟังอาตมาคุยอยู่ ใจโยมไม่มี รัก โลภ โกรธ หลง ตั้งใจฟัง สมาธิจดจ่ออยู่ตรงหน้า ไม่มีกามฉันทะ ไม่มีพยาบาท ไม่มีถีนมิทธะ ไม่มีอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่มีวิจิกิจฉา แล้วจะไม่เป็นมงคลได้อย่างไร..?
การสนทนาธรรมในเวลาอันสมควรถือเป็นมงคล เพราะว่าเราส่งใจไปตามธรรม แต่พวกที่คุยกันทั้งวันนั้นเกินควร ในเมื่อเกินสมควรก็ไม่เป็นเอตัมมังคะละมุตตะมัง พอเหมาะ พอดี พอควร ถ้าไม่พอเหมาะ ไม่พอดี ไม่พอควร ผลร้ายจะมีมากกว่าเพราะว่าจะไปฟุ้งซ่านแทน
ดังนั้น...มัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบ สามารถใช้ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะทางโลกหรือทางธรรม เพราะว่าพระพุทธเจ้ารู้จริง ในเมื่อรู้จริง สิ่งที่พระองค์ท่านสอนมาก็มีผลจริงตามนั้น แต่สำคัญตรงที่เราต้องเป็นคนจริงด้วย..! ถ้าไม่เป็นคนจริงก็กลายเป็นทัพพีขวางหม้อแกง จุ่มอยู่ในหม้อแกงทั้งอัน แต่ไม่รู้ว่าแกงนั้นมีรสชาติเป็นอย่างไร
ถ้าเราไม่มีความคล่องตัว สภาพจิตแบ่งเป็นหลายงานไม่ได้ พลาดอันใดอันหนึ่งแล้วจะพลาดทั้งหมด อย่างน้อยต้องแบ่งกำลังใจให้ได้เท่า ๆ กัน ให้กับทุกส่วนที่เราแยกไปทำ แต่ก็อันตรายตรงที่ว่าถ้าควบคุมไม่ดี เราภาวนาอยู่ อีกใจหนึ่งไปฟุ้งซ่านได้ บางคนก็สงสัยว่าภาวนาพุทโธ...พุทโธ ใจก็ดิ่งดี แต่ทำไมถึงคิดนั่นคิดนี่ได้
นั่นคือลักษณะของการที่จิตแบ่งออกเป็นหลายดวง ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ถ้าเรารู้สึกว่าวุ่นวายมาก ก็ให้กลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกทั้งหมด พุทโธ..พุทโธ..อยู่ตรงหน้า จิตจะไปไหนห้ามไป ล็อกไว้ตรงหน้า สักพักก็จะนิ่งไปเอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะภาวนาไปฟุ้งซ่านไป ใจก็จะขุ่นซีกหนึ่ง ใสซีกหนึ่ง
กรรมฐานเปรียบเหมือนเราปลูกพืชลงบนแผ่นดิน เรามีหน้าที่รดน้ำพรวนดิน งอกเป็นต้นอ่อนขึ้นมาก็ระมัดระวัง ไม่ให้หนอน ไม่ให้แมลงมากิน หนอนแมลงที่กินบ่อยที่สุดคือนิวรณ์ ๕
๑. อารมณ์ใจที่ข้องอยู่ระหว่างเพศ ซึ่งมีได้เป็นปกติ แต่ตอนปฏิบัติอย่าให้มี เพราะว่าถ้ามีแล้วกำลังใจจะไม่ทรงตัว
๒. ความโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นคนอื่น เป็นไฟเผาใจเราเอง
๓. ความง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจปฏิบัติ
๔. ความหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ทำไปจะได้จริงไหมหนอ..? คนทำได้นั่งอยู่ตรงหน้าแล้วยังจะสงสัยอีก..!
หนอนแมลง ๕ ตัวนี้กินอยู่ทุกวัน ต้นกรรมฐานใบหงิกใบง่อย ยอดด้วนรากขาด ไม่ต้องโตกันสักที
ก็ต้องระวังไม่ให้หนอน ไม่ให้แมลงมากินได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ อยู่กับยาฆ่าแมลงยี่ห้ออานาปานสติ อานาปานสติคือลมหายใจเข้าออก อานากับอานาปา เข้าแล้วไม่ออกก็ตาย ออกแล้วไม่เข้าก็ตาย ถ้าใจเราจดจ่ออยู่กับลมหายใจตรงหน้า นิวรณ์กินไม่ได้ ต้นกรรมฐานปลอดภัยชั่วคราว พอจะแตกใบอ่อนได้บ้าง
เราก็รดน้ำพรวนดินบ่อย ๆ รดด้วยพรหมวิหาร ๔ แผ่เมตตาบ่อย ๆ ศีล ๕ ทบทวนเอาไว้ ถ้าจะเอาให้ดีจริง ๆ ก็กรรมบถ ๑๐ ถ้าได้ปุ๋ยขนาดนี้ถึงจะโตเร็ว
โตเร็วนี่ไม่ใช่ไปเร่งให้มีลูก..เป็นไปไม่ได้ โดยธรรมชาติแล้วต้องรอระยะ รอเวลาที่เหมาะสม เรื่องการปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน รอวาระบุญ รอวาระกรรม รอผลการปฏิบัติ หลายอย่างรวมกัน ถ้าพอเหมาะพอดี ก็จะเกิดดอก เกิดผล จึงเป็นอะไรที่เร่งรัดไม่ได้ เราปลูกต้นไม้แล้วไปดึงยอดให้โตเร็วหน่อยไม่ได้ เดี๋ยวรากขาดก็ได้ตายคามือ
ตัวอย่างโบราณกาล ท่านโสณโกฬิวิสเถระสมัยพระพุทธเจ้า เดินจงกรมจนเท้าแตก เดินไม่ได้ก็คลานไป คลานไปจนมือ จนเข่าแตกหมด ก็นอนลงเอาคางเกาะพื้น ค่อย ๆ ดึงตัวเองไป เป็นผู้เดียวในประวัติสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าต้องขอร้องให้ลดความเพียรลง ส่วนพวกเราทั้งหมดนี้ ทางวัดท่าขนุนขอร้องให้เร่งความเพียรมากขึ้น ที่ทำอยู่ยังไม่พอกิน..!
ค่อย ๆ บำรุงรักษาไปเรื่อย ๆ ถึงวาระที่สมควร จะออกดอกออกผลเอง สมัยที่อาตมาเป็นฆราวาส ปฏิบัติจนทุกคนรอบข้างว่าบ้า พ่อ แม่ พี่ น้อง ว่าบ้าหมด โดยเฉพาะพระครูแสงที่นอนอยู่ห้องเดียวกัน
ไปโรงเรียน เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ก็ว่าบ้าหมด ทุ่มเทเป็นไอ้บ้าอยู่หลายปี..ไม่ได้อะไร สิ่งที่อยากได้ไม่ใช่อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ สิ่งที่อยากได้คืออารมณ์ความเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ทำเท่าไรไม่ได้สักที แต่พอบวชเป็นพระ กลับไหลมาเทมา ได้มากจนแปลกใจ ไปกราบเรียนถามหลวงปู่มหาอำพัน “หลวงปู่ครับ ก่อนหน้านี้ผมใช้ความพยายามมากกว่านี้หลายเท่า ไม่ได้สักที ตอนนี้ไม่เห็นต้องพยายามมาก ก็ไหลมาเทมา” ท่านบอกว่า “ตอนนี้คุณบวชเข้ามา บุญใหญ่หนุนเสริม สิ่งที่ต้องการก็เลยได้ง่าย”
ในเมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อถึงเวลาที่สมควร ต้นทุนเพียงพอ สติ สมาธิ ปัญญา เพียงพอ สิ่งที่เราหวังจะมาเอง ตอนนี้ถึงไม่เรียกร้องก็จะมา จะไปบอกว่าอย่าเพิ่งออกดอกตอนนี้ก็ไม่ได้ เมื่อถึงวาระ จะออกดอกออกผลเอง ดังนั้น..จึงต้องมีความอดทน อดกลั้น อดออม
ชีวิตฆราวาสคลุกอยู่กับกิเลส ถ้าใครสามารถทำตัวเป็นดอกบัวเหนือโคลนตมได้ จะเป็นสุดยอดมนุษย์เลย ขี้โคลนเละ ๆ แฉะ ๆ เหม็นอีกต่างหาก เกิดดอกบัวบริสุทธิ์ที่เขาเอามาไหว้พระได้ ทำอย่างไรที่เราจะแปลงกองกิเลสทุกอย่างตรงหน้าของเราให้เป็นปุ๋ย ส่งให้เราเจริญรุ่งเรือง ส่งให้เราประสบความสำเร็จเหมือนดอกบัว ก็คือต้องหยิบจับทุกอย่างรอบข้างของเรามาหนุนเสริมการปฏิบัติ
เราอยู่ในถิ่นที่ลำบาก ในสถานที่ที่ลำบาก เรายังมีใจต่อสู้ มีใจฟันฝ่า ประพฤติปฏิบัติธรรม อยากได้ดี แต่ก็แค่อยาก เขาไม่ได้ให้อยาก เขาให้ทำ ของทุกอย่างต้องลงมือทำ ทุกอย่างถึงจะประสบความสำเร็จ คิดแค่โครงการจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ความอยากเป็นแค่โครงการ เป็นแค่วิมานในอากาศ อย่าเสียเวลาไปคิด ทำเลย ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที อยู่กับกรรมฐาน ถ้าไม่มีใครว่าเราบ้า ก็ยังไม่มีทางประสบความสำเร็จ...!
บุคคลที่ปฏิบัติธรรมสวนกับทางโลกอยู่แล้ว คนที่เดินย้อนทางคนอื่นแล้วไม่โดนว่าหาว่าบ้านั้นไม่มีหรอก ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จงบ้ากันต่อไป..!
ส่วนใหญ่แล้วพวกเราสติไม่ค่อยดี คือสติตามเรื่องปัจจุบันไม่ทัน ถึงเวลาจะหลงโน่น ลืมนี่ คนสติดีจะไม่ลืมว่าพูดเรื่องอะไร
หลายคนปฏิบัติธรรมไปถึงจุดดีแล้วไม่รู้ว่าดี ก็คือปฏิบัติไปแล้วนอนไม่หลับ ยิ่งตั้งใจให้หลับยิ่งไม่หลับใหญ่เลย แล้วก็หงุดหงิด...กลุ้ม การปฏิบัติถ้ามาถูกทางจะไม่หลับ ถ้าหลับ ถึงมาถูกทางก็แปลว่ายังเอาดีไม่ได้ สภาพจิตของเราถ้าหากว่าเข้าถึงระดับ จะเกิดอาการที่บาลีใช้คำว่า 'พุทโธ' คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สภาพจิตจะสว่างโพลง อยู่ด้วยธรรมปีติ
ตอนนั้นจะไม่หลับ ก็รออยู่ ๒ อย่าง อย่างแรกคือเข้าใจและใช้ได้ถูกต้อง อย่างที่สองคือรอให้ปีติลดแล้วก็หลับ คราวนี้การที่เราจะเข้าใจและใช้ได้อย่างถูกต้องคือ เราต้องเข้าใจว่าสภาพจิตจริงแท้นั้น ถ้าเข้าถึงระดับจริง ๆ จะไม่หลับ
จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง มีความรู้รอบเสมอกันหมด โดยเฉพาะรู้ระมัดระวังไม่ให้กิเลสเข้ามา ไม่อย่างนั้นแล้วหลายท่านตอนตื่นอยู่ระมัดระวังมาก แม้แต่มดตัวหนึ่งก็ไม่กล้าเหยียบ รักษาศีลสุดชีวิต เผลอหลับหน่อยเดียว ฝันว่าฆ่าเขาตายเป็นกองทัพเลย..!
บางคนกลางวันสำรวมมาก ไม่กล้ามองเพศตรงข้ามแม้แต่นิดเดียว แต่กลางคืนไล่ปล้ำชาวบ้านเขา นั่นคือสภาพจิตของเราที่กิเลสกินทั้งหลับทั้งตื่น ถ้าสติของเรารู้ไม่เท่าทัน เราจะเสียท่าเขา ก็แปลว่าเราจะป้องกันตัวได้เฉพาะตอนตื่น ตอนหลับเราเสร็จเขา เพราะฉะนั้น..การภาวนาจึงต้องทำให้ถึงระดับที่หลับและตื่นเรารู้เท่ากัน
แต่พวกเราพอเริ่มทำไปถึงตรงนั้นแล้ว ก็ไปเครียดว่าทำไมไม่ได้นอน ไม่ได้พัก เดี๋ยวพรุ่งนี้ไม่มีแรงทำงาน ก็ยิ่งเครียดหนักเข้าไปใหญ่ ยิ่งพยายามหลับก็ยิ่งไม่หลับ ให้เราเข้าใจว่าสภาพจิตตื่นอยู่ แต่ร่างกายเราหลับ ถึงไม่หลับแต่ร่างกายนอนอยู่ เราได้พักผ่อนแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะหมดสภาพ ทำงานไม่ไหว ถ้าจิตละเอียดจริง ๆ จะได้ยินเสียงตัวเองกรนด้วย ตอนนั้นถึงจะเข้าใจว่านี่เราหลับจริง ๆ หลายคนเคยได้ยินเสียงตัวเองกรน แต่ไม่รู้ว่านั่นคือสภาพจิตที่ตื่นอยู่แต่ว่าร่างกายหลับ
คราวนี้ก็ต้องซักซ้อมการเข้าออกสมาธิให้ชำนาญ พยายามประคับประคองอารมณ์ไว้ หลุดไปไม่ต้องเสียดาย ให้เริ่มต้นใหม่ ยิ่งทำจะยิ่งคล่องตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ ต่อไปจะสั่งได้ดั่งใจ เข้าลึกเข้าตื้นขนาดไหน จะออกเมื่อไรกำหนดได้หมด
สภาพจิตพอตื่นอยู่ เวลาเราหลับเราจะรู้ว่าหลับ ถึงเวลาจะตื่น ถามตัวเองว่าพร้อมจะตื่นหรือยัง ? ถ้าพร้อมจะตื่นก็จะขยายความรู้สึกไปตามประสาทร่างกาย ตลอดไปถึงปลายมือ..ปลายเท้า..รู้ตัวทั่วพร้อมแล้วลืมตา..พลิกตัว..ลุกนั่ง..ยืน..เดินไปห้องน้ำ คนอื่นเห็นแต่ดูไม่ออกว่าละเอียดขนาดนั้น เพราะว่าดูเหมือนกับพลิกได้ก็ลุกไปเลย แต่ในความรู้สึกของเราที่ยิ่งปฏิบัติ ความแหลมคมว่องไวของจิตมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าแต่ละขั้นตอนช้ามาก เหมือนกับค่อย ๆ สั่งทีละอย่างเลย
การปฏิบัติสภาพจิตที่แหลมคมว่องไวขึ้น มีแต่จะทำอะไรเร็วขึ้น และเร็วขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นการเร็วโดยไม่ผิดพลาด ถ้าสภาพจิตของเราเร็วไม่พอ เราจะป้องกันกิเลสไม่ทัน กิเลสเกิดเร็วมาก ตาเห็นรูปก็ไปแล้ว กิเลสกินเราไปครึ่งตัวแล้ว ไม่ทันรู้ตัวหรอก หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสก็เช่นกัน เราต้องป้องกันเอาไว้ก่อน ไม่ใช่รอให้กิเลสกินเราแล้วค่อยมาแก้ อย่างนั้นโอกาสชนะมีน้อยมาก เราต้องป้องกันไว้ก่อนโดยการใส่เกราะ อยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับสมาธิ
ถ้าอยากได้ร้อยอย่างอาจารย์ต้องทุ่มเทเกินร้อย ยอมเหนื่อย ยอมมอบกายถวายชีวิต
ใคร ๆ ก็บอกว่าท่านพาหิยทารุจีริยะเป็นเอตทัคคะทางขิปปาภิญญาคือบรรลุเร็วที่สุด ฟังเทศน์สั้น ๆ แค่ว่า “พาหิยะ...เธอจงอย่าสนใจในรูป” แค่นั้นก็บรรลุแล้ว ที่เห็นว่าเร็วคือเร็วชาตินี้ ชาติที่แล้วมาท่านอดตาย ทำบันไดปีนขึ้นไปบนถ้ำบนยอดเขา ถ้าไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณเหาะไปบิณฑบาตได้ จะยอมอดตาย แล้วก็ถีบบันไดทิ้งเลย...ท่านตายจริง ๆ...!
กำลังใจต้องเด็ดขาดเข้มแข็งแบบนั้น แต่ละชาติท่านลำบากมามากแล้ว เหมือนคนเก็บเงินมาจนพอ รถเบนซ์ราคาสามล้านห้า ถึงเวลาควักเงินสดซื้อได้เลย เราก็รู้สึกว่าเขารวยมาก เช่นเดียวกับท่านพาหิยทารุจีริยะ เราไม่ได้ดูว่าท่านสะสมมากี่ชาติ พวกเราเองจะได้สักเสี้ยวหนึ่งของท่านไหม ? ถ้าไม่ใช้ความพยายาม พิจารณาตนเองด้วยนะ
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เรียกว่าปฐมเทศนา เป็นการประกาศความรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นความกล้าหาญ เพราะว่าสมัยนั้นมีความเชื่ออยู่สองอย่างคือ เชื่อว่าตายแล้วเกิด กับเชื่อว่าตายแล้วสูญ โดยมีที่สุดของเขาคือ ปรมาตมันหรือตัวตนอันยิ่งใหญ่ หรือว่าพรหมมัน ตัวตนแห่งพระพรหม หรือโมกษะ ความหลุดพ้นของเขา เขาว่ามีการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงแค่สองวิธี
อย่างแรกคืออัตตกิลมถานุโยค ทรมานตน
อย่างที่สองคือกามสุขัลลิกานุโยค คลุกอยู่กับกาม หลักการของตันตระมี ๕ ม. มัทนะ..กินเหล้า เมถุน..เสพกาม มังสะ..กินเนื้อ มันตรา..ท่องบ่นมนต์ และมุทรา..ร่ายรำ ถ้าทำให้เต็มที่ไปเลย จะเบื่อไปเอง จริงไหม..? ยากมาก..!
พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า การกิน การนอน การเสพกาม การเสวยอำนาจ ถ้าไม่ใช่บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่มีใครเบื่อหรอก อาจจะเบื่อพักเดียว เดี๋ยวก็อยากใหม่
ดังนั้น...สายอัตกิลมถานุโยค การทรมานตน จึงได้รับความนิยมสูงสุด มั่นใจว่าบรรลุโมกษะได้ บรรลุปรมาตมันได้ บรรลุพรหมมันของเขาได้ พระพุทธเจ้าแหวกกลางขึ้นมาบอกว่าบรรลุไม่ได้ทั้งคู่
สมัยนั้นมีศาสดา ๖๒ ลัทธิ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิมีอยู่ ๑๘ ลัทธิ พวกนี้ระลึกชาติได้ เขาบอกว่าระลึกได้ร้อยชาติบ้าง ห้าร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง หมื่นชาติบาง แสนชาติบ้าง หนึ่งกัปบ้าง สองกัปบ้าง ห้ากัปบ้าง สิบกัปบ้าง ในเมื่อระลึกได้ไม่เท่ากัน ก็เลยตั้งทฤษฎีที่ไม่เหมือนกันขึ้นมา สมมุติว่าคนเราเกิดมาต้องเรียนจบ ป. ๔ อีกสำนักหนึ่งบอกว่าต้องเรียนจบ ป. ๗ อีกสำนักหนึ่งบอกว่าต้องจบ ม. ๓ อีกสำนักหนึ่งบอกว่าต้องจบ ม. ๖ แต่ไม่จบสักสำนัก ระลึกชาติได้ไม่เท่ากัน
อปรันตกัปปิกทิฏฐิอีก ๔๔ ลัทธิ เห็นอนาคต คนตายแล้วไปไหน ตายแล้วเป็นสัตว์นรกบ้าง ตายแล้วเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกาย บ้างเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นรุกขเทวดาบ้าง เป็นภุมมเทวดาบ้าง เป็นอากาสเทวดาชั้นที่ ๑ บ้าง ชั้นที่ ๒ บ้าง ชั้นที่ ๓ บ้าง ไล่ไปเลย ๔๔ ลัทธิเห็นไม่เหมือนกัน ตัวเองเห็นแค่ไหน บอกแค่นั้น ยืนยันผล คนถึงได้เลื่อมใส พวกเขาเก่งจริง เพียงแต่ว่ายังเก่งสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้
ในการที่จะเสนอของใหม่ขึ้นมาสู้กับสิ่งที่มีอยู่เดิม ก็ต้องเสนอทฤษฎีที่แปลกใหม่ขึ้นมา แต่ของท่านไม่ใช่ทฤษฎี ทฤษฎีคือเรื่องที่เขาเห็นว่าใช่ ตราบใดที่ยังไม่มีคนเถียง ก็ว่าตามนี้ก่อน แต่ถ้ามีคนเถียงได้เมื่อไร ทฤษฎีนี้ก็จะตกไป ทฤษฎีใหม่จะขึ้นมาแทน แต่ของพระพุทธเจ้าเถียงไม่ได้ เพราะว่าพระองค์ท่านรู้จริง ใช้คำว่าทฤษฎี (Theory) ไม่ได้ ของพระพุทธเจ้ามีคำเดียวคือ Theorem ทฤษฎีสัมบูรณ์ ไม่ต้องเถียงแล้วจบแค่นี้
พระพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา ปรัชญาเป็นการตั้งสมมติฐานเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วถกเถียงหาข้อยุติกัน ยุติได้เมื่อไรก็เป็นศาสตร์ อย่างเช่นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ จิตศาสตร์ เป็นต้น หลักธรรมของพระพุทธเจ้าจัดเป็นปรัชญาไม่ได้ หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอริยสัจ เป็นความจริงแท้ ใครก็เถียงไม่ได้
ท่านบอกว่าคนเราเกิดมาแล้วทุกข์ มีใครบอกว่าไม่ใช่บ้าง..? เกิดมาแล้วไม่เที่ยง ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนได้ แล้วทำอย่างไรถึงจะเข้าถึง..? พระองค์ท่านบอกว่าหนทาง ๘ ประการ ย่อลงมาเหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก เห็นว่าไม่เที่ยง เห็นว่าเป็นทุกข์ เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา
สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูก ดำริอยากพ้นจากกองทุกข์ อยากออกจากกาม
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นปัญญา
สัมมาวาจา พูดดี พูดถูก
สัมมากัมมันตะ ทำดี ทำถูก คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่เสพยาเสพติด
สัมมาอาชีวะ ทำมาหาเลี้ยงชีพถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นศีล
สัมมาวายามะ เพียรได้ถูกต้อง เพียรในการขับไล่ความชั่วออกจากใจ เพียรระวังไว้อย่าให้ความชั่วเข้ามาใหม่ เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้นกับใจ เพียรพยายามระวังรักษาให้ความดีนั้นเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
สัมมาสติ มีสติตั้งมั่น ตั้งมั่นเพราะว่าเป็นมหาสติ
สัมมาสมาธิ มีสมาธิทรงตัว เป็นอัปปนาสมาธิ คือตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป
ก็แปลว่า ปัญญา ศีล สมาธิ ไม่ใช่ ศีล สมาธิ ปัญญา
พระองค์ท่านบอกทำตามนี้แล้วจะหลุดพ้นอย่างแท้จริง เพราะว่าปัญญารู้เห็นชัดเจน จนหมดความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางได้ทั้งหมด คือ รู้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ คือสิ่งที่ต้องทน ทนมาก ทนน้อย เป็นทุกข์หมด
สมุทัย สาเหตุที่เกิดทุกข์
พระพุทธเจ้าไม่พูดถึงสาเหตุก่อน แต่พูดถึงทุกข์ก่อน เพราะเวลาคนทั่วไปทุกข์ขึ้นมา จะไม่คิดถึงสาเหตุของทุกข์ รู้แต่ว่าทุกข์เหลือเกิน ทุกข์จนกระทั่งหาทางออกไม่ได้ ทุกข์มาก ๆ เข้า จึงค่อยไปหาสาเหตุ ถึงได้รู้ว่าทุกข์เพราะว่าเราอยากมากเกินไป
พระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจตามสภาพจิตของคน จิตใจรู้สึกอย่างไรก็พูดแบบนั้น เจอทุกข์ รู้สึกทุกข์ พูดถึงทุกข์ก่อน พอเริ่มมีปัญญาหาทางออกจากทุกข์ ค่อยมาหาว่าสาเหตุของทุกข์คืออะไร
นิโรธ ความดับ
มรรค หนทางเข้าถึงความดับ
นิโรธกับมรรคก็เช่นกัน อยู่ ๆ ไฟที่กำลังไหม้อยู่ดับลง สบายเหลือเกิน ไม่ได้คิดหรอกว่าดับเพราะอะไร ก็เลยพูดถึงนิโรธคือความดับก่อน..ความเย็น..ความสบาย แล้วหลังจากนั้นพอร้อนใหม่ ทุกข์อีกแล้ว จึงค่อยหาทางดับ ดับได้..เย็น..สบาย ก็สรุปเอาทางดับมาไว้ทีหลัง คือมรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
เรื่องของการอธิษฐาน คนจะไปพระนิพพานชาตินี้ ต้องเห็นทุกข์ ต้องเข็ดกับความทุกข์ ถึงจะเบื่อหน่าย หมดความอยากเกิด ถ้าเราไม่ขยันพิจารณาทุกข์อย่างที่สอนไปเมื่อตอนกรรมฐานภาคเช้า ก็จะเกิดสภาพโดนบังคับให้ทุกข์ ถ้าโดนบังคับเมื่อไรก็จะสาหัส เพราะฉะนั้น..ถ้าอยากดำเนินชีวิตง่าย ๆ สะดวกราบรื่นแบบคนอื่น ก็ให้พิจารณาทุกข์ไว้ทุกวัน
พระพุทธเจ้าบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เสวยวิมุตติสุขอยู่ ๔๙ วัน กำลังอย่างพวกเราอยู่ไม่ไหว พระพุทธเจ้ามีกำลังเท่ากับช้างหนึ่งแสนเชือก ไม่ใช่เจ็ดช้างสารแบบพระอานนท์ กำลังขนาดนั้นเอามาจากแรงบุญ บุญบันดาลให้เป็นไป
แบบเดียวกับหลวงพ่อวัดท่าซุง ป่วยออด ๆ แอด ๆ มีอยู่วันหนึ่งร่างกายดีขึ้นมา บอกให้อาตมายกเครื่องโยกออกกำลัง ลักษณะคล้ายกรรเชียงเรือ มีสปริงขนาดแขนอยู่สองข้าง ท่านโยกไม่กี่ทีสปริงขาดเลย..!
ท่านเดินยังไม่ค่อยจะไหว แต่โยกสปริงขาด..! ต้องนึกถึงรถสิบล้อเครื่องไม่ดี วิ่งไม่เต็มสูบ สิบล้อวิ่งไม่เต็มสูบแต่ถ้าชนรถเก๋ง รถเก๋งจะเหลือไหม..? ก็แปลว่าลำพังกำลังตัวเองแบกน้ำหนักตัวเองไม่ไหว แต่การปะทะกับของอื่นเป็นเรื่องเล็ก
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
ปกิณกธรรม ช่วงบวชเนกขัมมะปีใหม่ ๒๕๖๓ ณ วัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทะเลและนาทาม)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.