View Full Version : เก็บตกงานหล่อพระ วัดเขาวง ๓๐ เมษายน- ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ช่วงคืนวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๓ (พิธีพุทธาภิเษก)
ปัญญาที่เกิดจากปัญญาวิมุติ ก็คือ การหลุดพ้นด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา จนเป็นบุคคลที่ทรงฌาน ไม่เหมือนกับบุคคลที่ทรงสมาธิตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นเขาเรียกว่า ฌานลาภีบุคคล อันเกิดจากเจโตวิมุตติ คือการหลุดพ้นด้วยการใช้กำลังใจในการตัดกิเลสโดยตรง
จริง ๆ แล้วทั้งสองอย่าง ท้ายสุดต้องมาใช้แบบเดียวกัน บุคคลที่ฝึกฌานสมาบัติมา ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาตัดกิเลสโดยอาศัยกำลังฌาน
บุคคลที่ฝึกวิปัสสนามา ก็ต้องอาศัยกำลังฌานในการช่วยตัดกิเลส โดยการพิจารณาจนจิตดิ่งลึกเข้าสู่องค์ฌานได้สำเร็จ
ทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน เลือกเอาอย่างเดียวไม่ได้
อีกส่วนหนึ่งของหลวงปู่มหาอำพัน ก็คือบุญฤทธิ์
เมื่อสภาพจิตที่เข้าถึงความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงแล้ว ตัดสิ่งวุ่นวายรอบข้างหมดแล้ว เหมือนกับท่อน้ำประปาที่ไม่มีท่อแยก วิ่งตรงอยู่ท่อเดียว ย่อมมีกำลังเหลือเฟือ ในเมื่อกำลังระดับนั้น คิดจะให้เป็นอย่างไรก็เป็นแล้ว ถ้ามาฝึกอภิญญาก็คาดว่าไม่เกิน ๗ วัน ทุกอย่างต้องได้ครบถ้วนสมบูรณ์แน่นอน
แต่พระระดับนั้นหมดอยากเสียแล้ว อภิญญาจึงเป็นแค่เรื่องเด็กเล่น ใหม่ ๆ ก็มาเล่นทอยกอง เป่ากบ เล่นหมากเก็บ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่มีอารมณ์จะเล่นแล้ว
พระอริยเจ้าตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ตั้งหน้าตั้งแต่มุ่งตัดกิเลส บางท่านอาจจะยังเพลิน ยังสุขอยู่ในองค์ธรรมที่ตนเองทรงไว้ได้ ก็เพลินอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าหลุดจากจุดของความเพลินเมื่อไร ก็จะมุ่งหน้าตัดกิเลสตอนนั้น ไม่มานั่งเล่นให้เสียเวลาแล้ว
อภิ แปลว่ายิ่งกว่า บวกกับอัญญา คือความรู้ กลายเป็นอภิญญา ความรู้ที่ยิ่งกว่าสิ่งใด ไม่มีอะไรรู้ยิ่งไปกว่าการตัดกิเลส
ดังนั้น..ถ้าจะกล่าวไปแล้ว บุคคลที่ตัดกิเลสได้ตั้งแต่ระดับโสดาบันขึ้นไป คืออภิญญาบุคคลทั้งหมด
ท่านอาจารย์หยุดฟังเสียงท่านเอ๊ดประชาสัมพันธ์ จนจบแล้วจึงกล่าวว่า "พระมีศีลอยู่ข้อหนึ่งว่า ห้ามแสดงธรรมพร้อมกัน ภิกษุแสดงธรรมพร้อมกันปรับอาบัติปาจิตตีย์ ศีลขาดฟรี ๆ
คำว่าแสดงธรรมพร้อมกัน จริง ๆ แล้วก็คือแข่งกันพูด จนโยมไม่รู้จะฟังใครกัน เพราะฉะนั้นในเรื่องของศีล ถ้าหากว่าญาติโยมทั้งหลายยังปฏิบัติไปถึงระดับที่ว่า ขยับตัวเมื่อไรรู้ว่าศีลจะขาดหรือไม่ ถ้ายังทำไม่ถึงระดับนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ถ้าทำมาถึงระดับว่า ขยับตัวเมื่อไรรู้ว่าศีลเราจะขาดหรือไม่ ก็พอจะอาศัยได้ แต่ยังไม่แน่ว่าจะรอด
อย่าลืมว่าศีลเป็นบทเริ่มต้นของการปฏิบัติ ในสิกขา ๓ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเพื่อไม่ให้เราหลงทาง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปลงเหลือ ศีลสิกขา การศึกษาและปฏิบัติในเรื่องศีล จิตตสิกขา การศึกษาและปฏิบัติในสมาธิ และปัญญาสิกขา การศึกษาและปฏิบัติตามหลักปัญญาพิจารณา
เพราะฉะนั้น..นี่เป็นการบ้านใหญ่ที่ฝากพวกเราไว้ ทำอย่างไรที่เราจะมีสติระลึกรู้อยู่ ไม่ว่าจะยืน เดิน นอน นั่ง ดื่ม กิน คิด พูด ทำ ที่เรียกว่า นวจริยา
หมายเหตุ : นวจริยา คือ อิริยาบถ ๙ อย่าง ได้แก่ ยืน เดิน นอน นั่ง ดื่ม กิน คิด พูด ทำ
ถ้าหากว่าในนวจริยาของเรา ทำแล้วมีสติรู้ไม่รอบ แปลว่ายังมีช่องให้กิเลสกินเราอีกเยอะ
แม้กระทั่งหลวงพ่อฤๅษีของพวกเรา ท่านหัดวิ่งจงกรม อย่าคิดว่าวิ่งแล้วภาวนาไม่ได้นะ อาตมาทำมาแล้ว ซ้ายพุท-ขวาโธ ลงตัวพอดีเลย วิ่งแปดกิโล-สิบกิโล ไม่รู้สึกว่าเหนื่อยเลย เพราะว่าทรงสมาธิไว้
ดังนั้น..ในอิริยาบถไหนก็ตาม จำเป็นต้องมีสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะพระพุทธเจ้า เรียกว่า ธรรมมีอุปการะมาก คือเป็นหลักธรรมที่หนุนเสริมหลักธรรมทุกบทเลย
ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะหนุนเสริมอยู่ ไปไม่รอด โดยเฉพาะยิ่ง ถ้าต้องการก้าวเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า สติสัมปชัญญะยิ่งต้องละเอียดกว่าผู้อื่นหลายเท่า ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะรู้ไม่เท่าทันกิเลส ในเมื่อรู้ไม่ทันก็รับมือไม่ได้
พวกเราศึกษาหลักธรรม อย่าไปจับยอดโดยลืมโคน
ใครอ่านหนังสือของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีวัดท่าซุงเมื่อไร หรือฟังเทป ฟังซีดีเมื่อไร จะต้องจับประโยคสำคัญ ๆ ให้ได้ อย่างที่ท่านบอกว่า เมื่อจะปฏิบัติกรรมฐานกองใหม่ ให้ย้อนทวนของเก่าให้คล่องตัวก่อนทุกครั้ง
ถามจริง ๆ เถอะใครย้อนบ้าง ? พออารมณ์ลงปึ้กเดียวก็ขึ้นไปกราบพระข้างบนกันหมดแล้ว เก่งเกิน..!
นั่น..ดูบายศรีนั่น เห็นยอดบายศรีไหม ? สวยเด่นสง่า ถ้าไม่มีฐานนี่ยอดอยู่ได้ไหม ? เพราะฉะนั้นในเรื่องหลักการปฏิบัติ หลักพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นศีล เป็นสมาธิอะไรก็ตาม ทิ้งไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้นหลักสติสัมปชัญญะจึงเป็นธรรมะบทแรก ๆ ที่พระพุทธเจ้ามอบให้พวกเรา แต่ว่าพวกเราไม่ค่อยได้ใช้กัน สติไปอยู่ที่ไหนไม่รู้เลย พาสตางค์หมดไปด้วย..!
ท่านบอกไม่มีสติก็ไม่มีสตางค์ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พระปฏิบัติพอสติมากขึ้นแล้วสตางค์มาเอง มีแต่โยมถวาย อันนี้ต้องเชื่อนะ ไม่เชื่อไม่ได้ เมื่อครู่อาตมาเดินผ่านได้เงินมากระสอบหนึ่ง เขาเรียกว่าอวดตัวเอง เชื่อได้ไหมเล่า ?
ฉะนั้น..หลักธรรมทุกบท เราจำเป็นที่จะต้องค่อย ๆ ศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติ แต่จริง ๆ แล้ว ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ พระองค์ท่านสรุปรวมไว้ในวันที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไปดูในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก อย่าถามว่าเล่มไหน หน้าไหน บรรทัดไหนนะ เดี๋ยวบอกจริง ๆ แต่บอกแล้วถ้าไม่ไปเปิดดูจะตีให้ตายเลย..!
พระองค์ท่านสรุปเอาไว้ว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ถ้าประโยคยาว ๆ ก็คือ ขอเธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ตัวเองประมาทไม่ได้ คนอื่นก็ประมาทไม่ได้ มีหน้าที่ก็คือ ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด
เดี๋ยวเราจะได้ดูภาพพี่น้องนั่งหลังชนกัน เวลาหันหลังพิงกันส่วนมากก็ตอนตะลุมบอนกับข้าศึก แต่นี่ถึงเวลาจุดเทียนชนวน ยังให้พี่น้องหันหลังชนกัน ประเภทนี้โบราณเรียกว่า ไปตายเอาดาบหน้า
คำว่า ตายเอาดาบหน้า เกิดจากสภาพศึกสงครามสมัยก่อน ตายเอาดาบหน้า ก็คือสู้สุดชีวิต ตรงนี้กูยังไม่ยอมตาย ไปข้างหน้าแล้วไม่รอดค่อยว่ากัน นั่นคือไปตายเอาดาบหน้า ดาบนี้อย่างไรกูต้องไปให้ได้
ฉะนั้น..ในการปฏิบัติธรรม ถ้าเราปฏิบัติตามหลักไปตายเอาดาบหน้า ก็แปลว่า ที่เราปฏิญานตนไว้ อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจชามิ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราปฏิญานจริง ๆ แต่ถ้ายังไม่ทำถึงระดับไปตายเอาดาบหน้า ก็แปลว่ายังปฏิญานตนไม่จริง ถ้าปฏิญานตนไม่จริง สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ สัจจะบารมียังพร่องอยู่ บารมีทั้งสิบข้อ ข้อใดข้อหนึ่งพร่องอยู่ แปลว่าอีกเก้าข้อก็พร่องไปด้วย
ฉะนั้น..คำโบราณทุกคำมีที่มา ความหมายปัจจุบันนี้มักจะผิดไปเยอะ ลองไปถามเด็กรุ่นใหม่ สำนวนที่ว่า เอามือไปซุกหีบเป็นอย่างไร ? เด็กส่วนใหญ่นึกถึงภาพ เปิดฝาหีบแล้วเอามือแหย่เข้าไป เหมือนกับงอมืองอเท้าไม่ยอมทำอะไร ความหมายจึงเปลี่ยนไป
แต่ความจริง เอามือไปซุกหีบของคนโบราณ แปลว่า อย่าหาเรื่องเดือดร้อนโดยใช่เหตุ ใครเคยเห็นเขาคั้นน้ำอ้อยไหม ? เครื่องคั้นน้ำอ้อยเขาเรียกว่าหีบ ลองเอามือแหย่เข้าไปแทนอ้อยดูสิ เดือดร้อนแน่ ๆ
คำว่า หีบ ของคนโบราณก็คือ หนีบ บด อัด ไม่ใช่หีบห่อใส่ของ เพราะฉะนั้นคำว่า อย่าเอามือไปซุกหีบ ก็คืออย่าหาเรื่องเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น
จะบอกว่าจริง ๆ แล้วอาตมาเองถ้าจับไมค์ขึ้นมา แล้วมีคนคอยสะกิดอยู่ข้าง ๆ สามารถพูดได้ทั้งคืน คำว่าสะกิด ก็คือ ให้ถามสักนิดหนึ่ง เพราะมีข้อมูลที่บันทึกอยู่ในศีรษะตัวเองอยู่หนึ่งห้องสมุด ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้น ป. ๒
ตอนอยู่ชั้น ป.๒ อาตมาอ่านหนังสือหมดไปหนึ่งห้องสมุด ตอนนั้นไม่ได้คิดจะจำ อ่านเอาความแตกฉานเท่านั้น สมัยนั้นท่านบอกว่าอ่านหนังสือให้แตก แต่คราวนี้ไม่รู้สมองทำด้วยอะไร ดันจำได้หมด
อาตมาปีนี้อายุ ๕๑ เต็มขึ้น ๕๒ แล้ว อีกไม่กี่วันจะไปรับปริญญา เพราะเขาบังคับให้เรียนตอนแก่ ๆ ปริญญาตรีของพระเขาบังคับให้เรียน ๔ ปี บวกปฏิบัติธรรมอีก ๑ ปี แต่อาตมากวาดเรียบภายใน ๒ ปี ๑๑ เดือน ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งของทุกสาขา แปลว่าไม่มีใครได้เยอะกว่านี้อีกแล้ว นี่เป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้นของสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเรา คือ สมาธิ
ถ้าสมาธิของเราทรงตัว สภาพจิตจะนิ่งเหมือนกับน้ำนิ่ง น้ำที่นิ่งจะสะท้อนเงาทุกอย่างรอบข้างลงไปได้ เห็นทุกอย่างชัดเจน สิ่งที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเห็นชัดเจนมาก สิ่งใดที่ทำให้ธรรมะเจริญเราก็ประคองรักษาสิ่งนั้นไว้ สิ่งใดที่จะทำให้อธรรมเจริญเราก็ขับไล่ออกไป
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน คือ ถ้าจิตใจเราสงบนิ่ง จะมีความสุข มีความเยือกเย็นมาก
ประโยชน์ในอนาคต คือ ถ้ากำลังใจของเราทรงตัว ไปสุคติ ไปเป็นเทวดาเป็นพรหมแน่นอน
ประโยชน์สูงสุด ถ้าปัญญาถึง เห็นความไร้แก่นสารของร่างกายนี้และโลกนี้ ตลอดจนกระทั่งโลกความเป็นทิพย์ทั้งปวง ถอนความต้องการออกไปได้ ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด คือ หลุดพ้นไปนิพพาน
พระพุทธเจ้าสอนเราโดย ๓ สถานะนี้เท่านั้น คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์สูงสุด ถ้าจะเอาบาลีก็ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ที่เราเรียกประโยชน์ในชาติปัจจุบัน ว่าไปแล้วแปลผิด ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ แปลว่าประโยชน์ที่เห็นทันตา ทิฏฐะหรือทิฏฐิ คือ ความเห็น แต่เขาแปลเอาง่าย ๆ ว่าประโยชน์ในปัจจุบัน
สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในโลกหน้า เขาไปแปลว่าประโยชน์ในอนาคต
และปรมัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์สูงสุด อันนี้แปลตรง แต่ความหมายยังไม่ถึง จึงต้องมาแปลว่า หลุดพ้นไปนิพพาน
เราจะเห็นได้ว่าการเรียนปริยัติอย่างที่อาตมาเรียน ต่อให้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งก็ตาม ก็ยังยัดไม่เต็มอย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านบอกไว้ เพราะว่าสักแต่ยัด ๆ เข้าไปเต็มท้องโดยที่ไม่ได้ย่อยเลย เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้
ในช่วงพิธีพุทธาภิเษก พระสงฆ์ได้นำสวดอิติปิโส ๒๑ จบ ตามกำลังวัน(วันศุกร์) เมื่อสวดจบแล้ว พระอาจารย์ได้ขอโอกาสคณะสงฆ์ เพื่อบอกกล่าวกับญาติโยม ดังนี้
ความจริงในส่วนของพุทธานุภาพ ที่แผ่ปกคลุมมายังวัตถุมงคล เต็มครบถ้วนสมบูรณ์บริบูรณ์ ตั้งแต่ตอนที่เราสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยจบที่เจ็ดแล้ว
แต่องค์พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องการให้พวกเราทุกคน เข้าใจถึงวิธีในการเจริญภาวนาคาถาเงินล้าน เพื่อให้เกิดผลสูงสุด ที่จะพึงมีพึงได้ตามวาสนาบารมีของแต่ละคน ดังนั้นขอให้ทุกท่านตั้งกายให้ตรง แต่ไม่ใช่เกร็ง เวลาหายใจเข้า นึกถึงคาถาเงินล้านที่เราภาวนา ไหลตามลมหายใจเข้าไป จนสุดลมหายใจของเรา ให้อยู่ตรงนั้น นั่นคือศูนย์กลางกาย
ให้ทุกคนขยับโยกหน้าโยกหลัง หาความตรงพอดี ๆ ให้เป็นศูนย์กลางของเรา เสร็จแล้วคำภาวนาทั้งหมดของเรา ให้กำหนดจดจ่อลงตรงนั้น โดยใช้สมาธิเพียงเบา ๆ ท่านที่ทรงสมาธิในระดับใช้งานได้จะเข้าใจตรงจุดนี้เลย แต่ถ้าหากว่าท่านที่ยังไม่เข้าใจ ให้รู้สึกเหมือนลมหายใจแตะแผ่ว ๆ อยู่ตรงศูนย์กลางกาย แล้วภาวนาคาถาเงินล้านของเราไปเรื่อย ๆ
องค์พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า ถ้าใครสามารถทำอย่างนี้ได้ต่อเนื่องกัน วันละประมาณ ๑ ชั่วโมง จะมีความคล่องตัวมาก จะทำงานใหญ่ขนาดไหน เงินทองก็จะไม่ขาดมือ ยิ่งถ้าเป็นบุคคลที่เริ่มด้วยทานบารมีมาตั้งแต่อดีต ทรัพย์สินเงินทองจะไหลมาเทมามากเป็นพิเศษ
ดังนั้น..ให้ทุกคนขยับหาจุดกึ่งกลางของเราที่พอดี โดยไม่ต้องเกร็งตัวเอง กำหนดความรู้สึกทั้งหมด พร้อมลมหายใจและคาถาเงินล้านของเรา ให้ลงไปที่กึ่งกลาง ให้ออกมาจากกึ่งกลาง โดยให้สัมผัสเพียงเบา ๆ เท่านั้น ให้รักษาอารมณ์ใจอย่างนี้ไว้จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกหมดเวลา
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.