#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ตรงกับวันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ซึ่งกระผม/อาตมภาพได้มอบฉันทะให้พระภิกษุวัดท่าขนุน จำนวน ๔๘ รูป ลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์แทน เนื่องจากว่าตนเองยังอยู่ในระหว่างขอสัตตาหะกรณียะ เพื่อที่จะไปตรวจประเมินหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นแบบ ซึ่งไม่สะดวกในการที่จะเดินทางไปกลับ จึงทำให้ยังต้องค้างอยู่ที่วัดอุทยาน ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
การอยู่คนเดียวจึงต้องใช้วิธีอธิษฐานอุโบสถ ก็คือครองผ้าแล้วกราบพระ ว่านะโมฯ ๓ จบ จากนั้นว่าเป็นภาษาบาลีว่า "อชฺช เม อุโปสโถ" แปลเป็นไทยว่า "วันนี้เป็นวันอุโบสถของเรา" ถ้าหากว่าอยู่กัน ๒ คน ก็ให้บอกบริสุทธิ์ต่อกัน แล้วถึงจะอธิษฐานอุโบสถกันอีกที แต่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่อยากจะนำมาบอกกล่าวแก่ญาติโยมทั้งหลาย เรื่องที่จะนำมาบอกกล่าวนั้น ก็คือ "ดราม่า" ที่เกิดขึ้นทั้งในวงการพระภิกษุสงฆ์และในสังคมไทยของเรา เร็ว ๆ นี้ก็คือ เรื่องที่เจ้าสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ไล่พระภิกษุสามเณรออกจากวัดกลางดึก เนื่องจากว่าพระภิกษุสามเณรนั้นไปฝืนคำสั่งของผู้เป็นเจ้าสำนัก อีกที่หนึ่งก็คือชาวบ้านรวมตัวกันไล่เจ้าอาวาส ซึ่งไปกำหนดว่า การที่จะเผาศพที่วัดนั้น จะต้องมีค่าบำรุงเมรุเท่าโน้น ค่าไฟเท่านี้ ค่าน้ำเท่านั้น เหล่านี้เป็นต้น เรื่องพวกนี้ ถ้าหากว่าทางคณะสงฆ์ไม่ออกมาชี้แจง ก็จะทำให้ญาติโยมทั้งหลายมีความเข้าใจผิด หรือว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องตามที่เป็นจริง กระผม/อาตมภาพขอยกเอาข้อความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตราที่ ๓๗ กล่าวถึงเจ้าอาวาสว่ามีหน้าที่ดังนี้ (๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการวัดและศาสนสมบัติให้เป็นไปด้วยดี (๒) ปกครอง สอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีอยู่ หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม (๓) เป็นธุระในการอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัย แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์เหล่านั้น (๔) ให้อำนวยความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-08-2023 เมื่อ 01:56 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ในเมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์กำหนดหน้าที่มาแล้ว ก็ให้อำนาจแก่เจ้าอาวาส ตามมาตราที่ ๓๘ ระบุไว้ว่า เจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้
(๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาส เข้าไปอยู่อาศัยภายในวัด (๒) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาส ออกไปเสียจากวัด (๓) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้น ประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม นี่ก็คือสิ่งที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าเจ้าอาวาสมีหน้าที่และอำนาจอย่างไร ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คราวนี้การที่สำนักสงฆ์แห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น เจ้าสำนักได้ขอให้พระภิกษุสามเณรภายในวัด ออกจากวัดไปทั้งที่เป็นกลางดึก โดยที่มีข้ออ้างว่า "พระภิกษุสามเณรไม่อยู่ในโอวาท มักจะบิณฑบาตก่อนสว่าง และบิณฑบาตข้ามเขตข้ามจังหวัด" ซึ่งเรื่องนี้ทางด้านพระภิกษุสามเณรก็มีข้อแก้ตัวว่า "เจ้าสำนักนำเงินกฐินของวัดไป หายไปเกือบปีแล้วค่อยกลับมา ไม่เป็นที่ยอมรับของพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน" เรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็นหลายประเด็นด้วยกัน ข้อที่ ๑ สำนักแห่งนั้นเป็นที่พักสงฆ์ หรือว่าเป็นสำนักสงฆ์ ? ถ้าหากว่าเป็นสำนักสงฆ์ แปลว่าได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้ว เจ้าสำนักจะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส จึงสามารถที่จะสั่งให้พระภิกษุสามเณรที่ไม่อยู่ในโอวาทออกไปเสียจากวัดได้ ประเด็นต่อมาก็คือ ข้อที่ ๒ เราต้องเข้าใจว่า เจ้าสำนักกับพระภิกษุสามเณรนั้น ต่างก็อยู่ในลักษณะของผู้มีบาดแผล ก็คือตามที่พระภิกษุสามเณรอ้างว่า เจ้าสำนักนำเงินกฐินแล้วหายไปหลายเดือน กลับมาใหม่ก็ไม่มีใครต้องการให้เป็นเจ้าสำนักแล้ว ส่วนเจ้าสำนักก็บอกว่า พระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตตั้งแต่ตี ๓ ตี ๔ ออกบิณฑบาตข้ามเขต เหล่านี้เป็นต้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-08-2023 เมื่อ 02:00 |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
เรื่องพวกนี้ ถ้าเราพิจารณาโดยความเป็นธรรม อันดับแรกเลย ถ้าหากว่าเจ้าสำนักนำตำรวจไปในลักษณะข่มขู่พระภิกษุสามเณร ก็ค่อนข้างจะทำเกินกว่าเหตุ เนื่องจากว่ายังอยู่ในช่วงเข้าพรรษา อย่างน้อย ๆ ก็ต้องให้พระภิกษุสามเณรนั้น หาที่อยู่ใหม่ได้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยโยกย้ายไป อาจจะออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยกำหนดไว้ว่า ภายใน ๓ วัน ๕ วัน หรือว่า ๗ วัน ต้องดำเนินการให้สิ้นสุดลง ไม่เช่นนั้น จะขออารักขาจากทางราชการ ก็คือขอให้ตำรวจมาช่วย
ส่วนพระภิกษุสามเณรนั้นก็เหมือนกับตั้งใจจะสร้างภาพ ก็คือหอบหิ้วข้าวของ แม้กระทั่งพัดลม เดินทางออกจากวัดตั้งแต่กลางดึก เหมือนกับเจตนาที่จะให้ญาติโยมที่ยังไม่หลับไม่นอน ได้พบเห็นและแตกตื่น เพื่อที่จะให้เป็นข่าวคราวขึ้นมา ดังนั้น..เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าพิจารณากันโดยความเป็นธรรมแล้ว ก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนกัน เพียงแต่ว่าตัวเจ้าสำนักนั้นยินดีลาออก และพระภิกษุสามเณรก็ยินดีที่จะกลับเข้าไปอยู่วัด เรื่องจึงสงบลง โดยที่ฝ่ายบอบช้ำก็คือพระพุทธศาสนา เพราะว่าเหมือนกับพระภิกษุสามเณรของเรา "ตีกันเอง" ให้ชาวบ้านเขาเห็น สร้างความเสื่อมศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ ส่วนของวัดแห่งที่สอง ซึ่งเจ้าอาวาสไปกำหนดราคาการใช้เมรุ ใช้น้ำ ใช้ไฟ ในเวลาจัดงานศพนั้น ถ้าหากว่าเราดูในส่วนที่กำหนดเอาไว้ในหน้าที่ของเจ้าอาวาส ก็คือข้อที่ (๔) ให้อำนวยความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าเป็นที่วัดท่าขนุนของกระผม/อาตมภาพก็จบง่ายเลย เนื่องเพราะว่าฟรีทุกอย่าง แม้กระทั่งเผาก็ฟรี แต่เนื่องจากว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะ ก็มักจะถวายค่าน้ำค่าไฟให้แก่ทางวัดตามสมควร แต่ว่าทางวัดก็ขอร่วมเป็นเจ้าภาพของชำร่วยแจกงานศพ เป็นหนังสือบ้าง เป็นวัตถุมงคลบ้าง ซึ่งถ้านับเป็นมูลค่าแล้วก็เป็นหมื่นเป็นแสนบาททุกครั้ง ดังนั้น..ในข้อนี้ที่ระบุเอาไว้ จึงกลายเป็นว่าเจ้าอาวาสไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล ก็ถือว่าขาดความเมตตา เช่นเดียวกับที่เจ้าสำนักได้ให้สั่งให้พระภิกษุสามเณรออกจากวัดกลางดึก ก็ถือว่าสั่งโดยไม่ชอบต่อพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม ซึ่งถ้าหากว่าพระภิกษุสามเณรดื้อแพ่ง ทางตำรวจก็จัดการอะไรไม่ได้ เพราะว่าถ้าจัดการไป ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องเพราะว่าตัวเจ้าพนักงานก็คือเจ้าสำนักนั้น ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยที่ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยก่อนแล้ว เรื่องพวกนี้ ถ้าหากว่าเราใจเย็น ๆ ค่อย ๆ พิจารณา หรือว่าค่อย ๆ นำเอากฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เข้ามาจับ ก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อความชัดเจนปรากฏขึ้น ก็จะไม่เป็นการเอาชนะคะคานกันด้วยโมหะ ก็คือความหลงผิด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-08-2023 เมื่อ 02:04 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
อีกข้อหนึ่งก็คือ การที่ระยะนี้มีการฮือฮาถึง"ครูกายแก้ว" ซึ่งอยู่ในลักษณะของอสุรกายมีปีก มีเขี้ยว มีเล็บ โดยที่บอกว่าเป็นถึงขนาดเป็นครูบาอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งถ้าหากว่าท่านทั้งหลายได้อ่านบันทึกการเดินทาง ที่กระผม/อาตมภาพเดินทางไปยังกัมพูชา ก็จะเห็นว่า "จอมคนแห่งกัมโพช" นั้น เป็นเทวดาชั้นผู้ใหญ่มาก
แล้วขณะเดียวกัน ครูกายแก้วนั้น ไม่ว่าใครจะอ้างสิ่งหนึ่งประการใดมาก็ตาม แต่ในฐานะผู้ที่ศึกษาไสยเวทย์อาคมมา กระผม/อาตมภาพทราบดีว่า ทางด้านประเทศกัมพูชานั้น มีวิชาการสร้างอสุรกาย เพื่อที่เอาไว้รับใช้ตนเองบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง ลักษณะของครูกายแก้วก็เป็นอสุรกายที่สร้างขึ้นมาตามตำรานั้น เพื่อที่จะให้รับใช้ตนเอง แต่ว่ารับใช้ไป รับใช้มา ดูท่าว่าจะควบคุมไม่อยู่..! เนื่องเพราะว่าครูกายแก้วนั้น จริง ๆ แล้วนอกจากเป็นอสุรกายแล้ว ทางด้านตำราไสยเวทย์อาคมยังเชื่อว่าเป็น "ผู้กวักวิญญาณ" ซึ่งมักจะแฝงมาในร่างของนกแสก ที่ภาษาเขมรเรียกกันว่า "จราบ" ซึ่งคำนี้ถ้าหากว่าเขียนไม่ถูก ก็คือ จ-ร-า-บ สะกด ออกเสียงตามแบบของมอญหรือเขมร ที่ถ่มน้ำลายทิ้งต้องมี ร.เรือ ติดไปด้วยว่า จราบ วิชานี้ถ้าหากว่าควบคุมไม่อยู่จะกินตัวเอง โดยเฉพาะใครที่ไปบนบานศาลกล่าว ถ้าสำเร็จแล้วไม่ไปแก้บน หรือว่าแก้บนไม่ถูกใจ จะโดนเอาคืนอย่างหนัก บางทีก็ถึงขนาดสิ้นชีวิตหรือพิกลพิการไปเลย..! ดังนั้น..ตรงจุดนี้จึงอยากจะตักเตือนญาติโยมทั้งหลายว่า ถ้าเรามีคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว การที่ไปแสวงหาที่พึ่งอื่น เป็นสิ่งที่ในพระไตรปิฎกเรียกว่า "เดียรถีย์" ก็คือ บุคคลนอกพระพุทธศาสนา ถ้าเราไปยึดสิ่งที่อยู่นอกพระพุทธศาสนา อาจจะถึงขนาดห้ามมรรคห้ามผลของตนเอง เนื่องเพราะว่าไปยึดถือเคารพในสิ่งที่ผิด ไม่ได้สร้างความเจริญโดยส่วนเดียว จึงมีโอกาสที่จะพลาดพลั้งแล้วก็หลุดวงโคจรออกไปไกล ไม่ทราบเหมือนกันว่าอีกกี่กัปกี่กัลป์อนันตชาติกว่าท่านทั้งหลายจะได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาอีก ดังนั้น..สิ่งหนึ่งประการใดที่เราสงสัย จึงไม่ควรที่จะไปแตะต้อง ให้อยู่ในลักษณะที่ว่า "เอ๊ะ..?" ขึ้นมาเมื่อไร ก็ให้วิ่งเข้าหาพระรัตนตรัย วิ่งเข้าหาศีล สมาธิ ปัญญา แล้วท่านจะปลอดภัยที่สุด สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-08-2023 เมื่อ 03:02 |
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|