#1
|
|||
|
|||
ของสงฆ์ถูกขโมย
ของสงฆ์ถูกขโมย พระผู้รับผิดชอบต้องชำระหนี้สงฆ์ไหม
พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๙ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนเองทั้งสิ้นมีความสำคัญดังนี้ ของสงฆ์ถูกขโมย พระผู้รับผิดชอบต้องชำระหนี้สงฆ์ไหม และปกิณกธรรม ๑. “ในปัจจุบันนี้มิจฉาชีพย่อมมีมากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การงัดแงะตัดช่องย่องเบาย่อมมีมาก ปุถุชนเมื่อไม่มีจักกินหรือบริโภคปัจจัย ๔ ไม่สะดวกขึ้นมา จุดไหนที่มีหนทางอันจักนำทรัพย์มาได้ เขาก็จักพยายามทำจนได้ แม้จักเป็นหนทางทุจริตก็ตามเถิด ความอยากเข้ามาบังหน้าตัวเดียว ทำให้ทำชั่วได้หมดทุกอย่าง บาปเกิดขึ้นกับใจก่อน แม้จักยังเอาทรัพย์สินของสงฆ์ไปไม่ได้ ตั้งใจขโมยแล้วแต่ไม่ได้ทรัพย์สินนั้นมา ก็บาปน้อยลงไปหน่อย” ๒. “ผู้ดูแลของสงฆ์ เกิดมีขโมยมาขโมยไปในทางโลกก็ชื่อว่าผิด เพราะผู้ดูแลไม่ดีมีความบกพร่อง แต่ในทางธรรมกลับไปลงตัวธรรมดา กล่าวคือมีหน้าที่การงานและดูแลของสงฆ์ ทำอย่างดีที่สุด ไม่เคยคิดที่จักทุจริตไม่ว่าทางกาย วาจา ใจ อันนี้ถือว่าไม่ผิด ในเมื่อมีคนอื่นมาขโมยละเมิดของสงฆ์ กรรมนั้นเป็นกรรมของบุคคลผู้นั้น มิใช่กรรมของเรา แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะอารมณ์จิตที่เกาะว่า ของสงฆ์ในความดูแลของเรา มีคนมาขโมยไปแล้วเราต้องรับผิดชอบ จุดนี้แหละทำให้จิตเศร้าหมอง ดังนั้นเพื่อความสบายใจ ก็ชำระหนี้สงฆ์ตามกำลังทรัพย์เท่าที่จักทำได้ เป็นการไม่เบียดเบียนจิตตนเอง แต่ถ้าหากผู้ดูแลของสงฆ์ไม่ติดใจ คือไม่มีอารมณ์เกาะในกรรมของผู้อื่น ก็ไม่จำเป็นที่จักต้องใช้หนี้สงฆ์” ๓. “เรื่องงานสงฆ์ ชำระหนี้สงฆ์ พึงคิดตามนี้ ทำทุกอย่างเพื่อความผ่องใสของจิต ขอเพียงไม่เกาะกรรมชั่ว อันเป็นอกุศลตามเหตุตามผลอันสมควรที่จักเป็นไป ก็เพียงพอแล้ว ให้ดูตัวอย่างท่านพระ... ท่านเห็นเงินสงฆ์เสียหาย จมน้ำอยู่ในตู้ของห้องอบยา เงินนั้นติดอยู่ในห้องนั้นตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ ที่เลิกอบยาไป มาปีกลายนี้น้ำท่วมวัด (ปี ๒๕๓๘) เงินในตู้เสียหายเพราะไม่มีใครรู้ ว่าในห้องอบยามีเงินสงฆ์หลงเหลืออยู่ หมายถึงเงินที่คนหยอดตู้ทำบุญมา เมื่อเข้าไปอบยาในวาระหนึ่ง ๆ มาไม่กี่วันนี้ ท่านเผอิญไปเปิดตู้ดู พบเงินจำนวนนี้เสียหายใช้การไม่ได้บางส่วน เพื่อความสบายใจของท่าน ท่านคิดว่าสถานที่นี้เป็นเขตอยู่ในความดูแลของท่าน ก็พึงชำระหนี้สงฆ์ด้วยเงินจำนวนหนึ่งเพื่อความสบายใจ เพื่อความไม่เกาะว่า เงินสงฆ์ในเขตความรับผิดชอบของท่านนั้น ท่านดูแลบกพร่อง ท่านคิดว่าทำดีกว่าไม่ทำ ค่าของเงินย่อมมีค่าน้อยกว่าอารมณ์ผ่องใสของจิต ให้พวกเราสังเกตจริยาของท่านเอาไว้ให้ดี ไม่ว่ากรณีใด ๆ อันเป็นกิเลสเศร้าหมอง ท่านจักปัดอารมณ์นั้นออกไป ด้วยเห็นความผ่องใสของอารมณ์แห่งจิตของตนเองเป็นสำคัญ ประการนี้ทำให้จิตของท่านไม่เศร้าหมอง มีความแจ่มใส สติ-สัมปชัญญะ และการกำหนดรู้ในธรรมทั้งหลายด้วยปัญญาจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก โกรธนิด โลภหน่อยก็เป็นความเศร้าหมองของจิต จุดนี้พวกเจ้าต้องหมั่นกำหนดรู้ และหมั่นลดละอารมณ์เหล่านี้ให้ออกจากจิตไปให้ได้ด้วย” ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙ รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-11-2011 เมื่อ 12:24 |
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|