#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดตามลมหายใจเข้าออกของเรา
หายใจเข้ากำหนดรู้ตามไปว่า ลมหายใจเข้าที่จมูก..ผ่านกึ่งกลางอก..ไปสุดที่ท้อง หายใจออกจากท้อง..ผ่านกึ่งกลางอก..มาสุดที่ปลายจมูก จะรู้ลมเข้าลมออกอย่างเดียวก็ได้ ถ้าจะใช้คำภาวนาควบไปด้วย ก็ให้ใช้คำภาวนาที่เราถนัด ไม่ว่าจะเป็น พุทโธ นะมะพะธะ สัมมาอะระหัง พองหนอ ยุบหนอ อย่างไรก็ได้ สำหรับวันนี้ เป็นวันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติธรรมวันที่สองของเดือนพฤศจิกายนนี้ เมื่อครู่นี้ได้กล่าวแล้ว พวกเราควรจะเร่งในเรื่องของสมาธิภาวนา โดยเฉพาะอย่างน้อยให้ทรงอารมณ์ปฐมฌานให้ได้ หลายท่านก็อาจจะยังไม่เข้าใจว่า แต่ละขั้นตอนของฌานสมาบัติ ตั้งแต่ฌานที่ ๑ (ปฐมฌาน)ขึ้นไปจนถึงฌานที่ ๔ (จตุตถฌาน) นั้น ประกอบไปด้วยอารมณ์อย่างไรบ้าง ? วันนี้ก็ขอย้อนรอยถอยหลังมาสำหรับท่านที่เป็นคนใหม่ ถ้าท่านที่เป็นคนเก่าฟังซ้ำ ก็จะได้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปอีก อารมณ์ปฐมฌานนั้น ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก คิดนึกตรึกอยู่ว่าเราจะภาวนา วิจารณ์ รู้อยู่ว่าตอนนี้เราภาวนา ลมหายใจเข้าหรือออก แรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ภาวนาว่าอย่างไรก็รู้อยู่ ปีติ คือประกอบไปด้วยอาการต่าง ๆ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ขอย้ำว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ปีติแม้บางคนจะพบทั้ง ๕ ตัว แต่ว่าจะเกิดขึ้นแต่ละครั้งเฉพาะตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น ก็คือ ๑. ขณิกาปีติ มีอาการขนลุกเป็นพัก ๆ ๒.ขุททกาปีติ มีอาการน้ำตาไหล ได้ฟังในสิ่งที่เป็นอรรถเป็นธรรม หรือเป็นความดีอะไรก็ตาม น้ำตาจะไหลทันที ๓.โอกกันติกาปีติ มีร่างกายโยกไปโคลงมา บางทีก็ดิ้นตึงตังโครมคราม บางรายถึงขนาดตีลังกาหลาย ๆ ตลบก็มี ๔. อุเพ็งคาปีติ มีตัวลอยพ้นขึ้นจากพื้น บางทีก็ลอยไปไกล ๆ ถ้าสมาธิคลายตัวก็จะลอยกลับที่เดิม ยกเว้นว่าสมาธิคลายตัวอย่างกระทันหัน ก็จะหล่นลงตรงบริเวณที่เราลอยไปถึงนั้น ๕. ผรณาปีติ ตัวนี้มีอาการหลายอย่างด้วยกัน คือบางทีก็รู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่วเป็นรู มีอะไรไหลออกมาซู่ซ่าไปหมด บางทีก็รู้สึกว่าตัวแตก ตัวระเบิดเป็นจุณไปเลย หรือบางท่านก็เห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ เป็นต้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-11-2010 เมื่อ 02:59 |
สมาชิก 71 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ปีติทั้ง ๕ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามจะต้องเกิดกับเรา มีคนจำนวนน้อยจนนับได้ที่ไม่พบกับปีติเลย จิตก้าวข้ามไปเป็นฌานก็มี
ตัวปีติทั้ง ๕ นี้ หากว่าเกิดขึ้น เราอย่าได้อายคนอื่นเขา ปล่อยให้มันเกิดให้เต็มที่ไปทีเดียว ถ้าหากว่าเกิดขึ้นจนเต็มที่แล้ว ก้าวข้ามไปได้ จิตก็จะเริ่มเป็นฌาน ถ้าเราไปอายแล้วระงับยับยั้งไว้ ถึงเวลาอารมณ์ใจมาถึงจุดนี้เมื่อไรก็จะออกอาการอีก ก็แปลว่าไม่สามารถจะก้าวข้ามได้เสียที จึงมีวิธีเดียวที่จะรับมือกับปีติทั้งหลาย ก็คือ ปล่อยให้ขึ้นให้เต็มที่ไปทีเดียวเลย เมื่อพ้นแล้วก็จะพ้นกันไป ข้อต่อไปก็คือ สุข เมื่อก้าวพ้นตัวปีติ จิตเริ่มสงบ ไฟใหญ่ที่เป็น รัก โลภ โกรธ หลง ทั้ง ๔ กองซึ่งเผาเราอยู่ จะโดนกำลังสมาธิกดให้ดับลงชั่วคราว จะเกิดความสุขเยือกเย็นอย่างที่บอกไม่ถูก เป็นความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อนในโลกมนุษย์นี้ ท่านใดที่ทำถึงตรงนี้แล้ว มักจะติดอกติดใจปฏิบัติอย่างไม่เบื่อไม่หน่าย ขอให้ทุกคนระมัดระวังรักษาเวลาให้ดี ถ้าปฏิบัติแบบหามรุ่งหามค่ำ ไม่กินไม่นอน ร่างกายทนไม่ไหว เดี๋ยวจะแย่ ตัวสุดท้ายคือ เอกัคคตารมณ์ อารมณ์ใจที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติไปแล้ว เกิดวิตก คือนึกคิดตรึกอยู่ว่าจะภาวนา วิจารณ์ ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ภาวนาอย่างไรรู้อยู่ ปีติ เกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งในห้าอย่างขึ้นมา สุข มีความสุขเยือกเย็นใจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเกิดขึ้น และเอกัคคตารมณ์ อารมณ์ตั้งมั่นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาต่อไป ถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้ แปลว่าท่านทรงในปฐมฌานแล้ว ถ้าท่านสามารถรักษาอารมณ์เหล่านี้ต่อไป จิตก็จะก้าวเข้าสู่สมาธิที่สูงขึ้น คือ ฌานที่ ๒
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม |
สมาชิก 68 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ถ้าหากว่าตามที่พระพุทธโฆสาจารย์ท่านอธิบายไว้ในวิสุทธิมรรค จะกล่าวว่า ฌานที่ ๒ ละวิตก วิจารณ์ เหลือแต่ปีติ สุข และเอกัคคตารมณ์ ครูบาอาจารย์บางท่านก็ใช้คำว่า ตัดวิตก วิจารณ์ เหลือแต่ปีติ สุข และเอกัคคตารมณ์
ขอยืนยันว่า เราไม่ต้องไปตั้งใจละ เราไม่ต้องไปตั้งใจตัดสิ่งใดทั้งสิ้น ให้กำหนดดู กำหนดรู้การภาวนาของเราไปเรื่อย ๆ ถ้าสมาธิทรงตัวสูงขึ้น ก็จะก้าวข้ามไปเอง ถ้าก้าวข้ามไปแล้ว ก็จะไม่มีวิตก ไม่มีวิจารณ์ เหลือแต่ปีติ สุข และเอกัคคตารมณ์เท่านั้น ลักษณะของการก้าวข้ามนี้ ถ้าคนรู้จักสังเกต จะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง บางทีรู้สึกเหมือนกับไม่มี คำภาวนาบางทีก็หายไป ให้เรากำหนดรู้ไว้เฉย ๆ ว่าตอนนี้ลมหายใจเบาลง ตอนนี้ลมหายใจหายไป คำภาวนาไม่มี ก็ให้กำหนดรู้ไว้เฉย ๆ ว่าตอนนี้คำภาวนาไม่มี ถ้าหากว่ามีลมละเอียดยังวิ่งอยู่ระหว่างจมูก..อก..ท้อง ท้อง..อก..จมูก สามารถกำหนดได้ ก็กำหนดรู้ไป ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามารถก้าวมาถึงตรงจุดนี้ ให้รู้ว่านี่เป็นทุติยฌานคือ ฌานที่ ๒ หลังจากนั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายกำหนดดู กำหนดรู้ต่อไปเรื่อย กำลังใจ กำลังสมาธิที่ก้าวล่วงไปก็จะเริ่มเป็นฌานที่ ๓ ก็คือ ตัวปีติจะหายไป เหลือแต่สุข และเอกัคคตารมณ์เท่านั้น ไม่ต้องไปตัด ไปละเช่นกัน แค่กำหนดดูกำหนดรู้ ทำตามกติกาของเราไปเรื่อย โดยไม่ไปตกใจ ไม่ไปตะเกียกตะกายหายใจเสียใหม่ ก็จะก้าวเข้ามาถึงฌานที่ ๓ อาการภายนอกนั้น ถ้าหากว่าเป็นน้อย ๆ ก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าบริเวณจมูก ปาก หรือคางของเรานั้นเย็นแข็งไปเฉย ๆ บางทีก็รู้สึกว่าเม้มปากแน่น จนกระทั่งไม่สามารถที่จะอ้าปากออกมาได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นมาก ก็รู้สึกว่าตัวเกร็งแน่น แข็งไปหมด หรือว่าบางท่านรู้สึกเหมือนกับว่าโดนมัดตั้งแต่ตัวลงไปจนถึงปลายเท้า แข็งทื่ออยู่อย่างนั้น บางท่านก็รู้สึกว่าปลายมือปลายเท้าเริ่มแข็ง รวบเข้ามา ๆ เหมือนจะโดนสาปให้เป็นหินอย่างนั้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-11-2010 เมื่อ 02:52 |
สมาชิก 62 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ให้รักษาอารมณ์ให้นิ่งไว้ ตามดูตามรู้ไปเฉย ๆ อย่าไปยินดียินร้าย อย่าอยากให้เป็น และอย่าอยากให้หาย ถ้าท่านทั้งหลายสามารถทำได้ โดยไม่ตกใจแล้วกลับไปหาลมหายใจเข้าออก หรือไม่ตกใจจนเลิกปฏิบัติภาวนาเสียก่อน
ความรู้สึกทั้งหมดก็จะรวบเข้ามาอยู่จุดเดียว อาจจะอยู่ตรงหน้า อาจจะอยู่ในอก อาจจะอยู่ข้างหน้าของเรา สว่างไสวเจิดจ้า เยือกเย็นมาก เหลือแต่เอกัคคตารมณ์ คือ อารมณ์ตั้งมั่นอย่างเดียวเท่านั้น ความสุขก็ไม่มีแล้ว อย่างนี้จะเป็นฌานที่ ๔ ถ้าท่านทั้งหลายก้าวสู่ในระดับนี้ ในส่วนที่หยาบ หูจะไม่ได้ยินเสียงภายนอก ขนาดฟ้าผ่า หรือเสียงยิงปืนดังอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่ได้ยิน มีแต่ความสว่างโพลง จิตจะยินดี นิ่ง พอใจอยู่กับความสว่างไสวตรงนั้น จะรู้สึกว่าในอกในใจของเราจะเยือกเย็นมากเป็นพิเศษ ถ้าท่านทั้งหลายก้าวเข้ามาจุดนี้ นั่นก็คือ ฌาน ๔ ขอให้ท่านตั้งใจกำหนดความคิดไว้นิดหนึ่งว่า เราจะทรงฌานนี้เป็นระยะเวลานานเท่าไร อย่างเช่นว่า ๑๕ นาทีถัดจากนี้ไป ครึ่งชั่วโมงถัดจากนี้ไป หรือหนึ่งชั่วโมงถัดจากนี้ไป ถ้าท่านกำหนดใจไว้อย่างนี้ ถึงเวลากำลังใจจะถอยออกมาเอง แต่ถ้าท่านไม่ได้กำหนด บางทีอาจจะเผลอข้ามวันข้ามคืนโดยไม่รู้ตัว เพราะความรู้สึกของเราจะรู้สึกว่า ครู่เดียวเท่านั้น แต่เวลาภายนอกผ่านไปยาวนานมาก ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายทำดังนี้ได้ ก็แปลว่าเราสามารถทรงฌานในแต่ละระดับได้ ไม่จำเป็นต้องได้รวดเดียวถึงฌาน ๔ และไม่จำเป็นว่าต้องผ่านทีละฌาน บางทีอาจจะวูบเดียวข้ามไปเป็นฌาน ๔ เลยก็ได้ หรือว่าเราอาจจะติดอยู่แค่ปฐมฌานเท่านั้นก็ได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-11-2010 เมื่อ 11:09 |
สมาชิก 60 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ถ้าหากท่านทั้งหลายก้าวเข้ามาถึงจุดของการทรงฌานได้อย่างน้อยปฐมฌาน กำลังสมาธิของเราก็พอที่จะตัดกิเลสบางระดับได้ อย่างเช่นว่า ตัดกิเลสในระดับของความเป็นโสดาบัน
เมื่อก้าวเข้ามาถึงตรงจุดนี้ กำลังใจที่สงบเยือกเย็นของเรา ทำให้เรารู้ได้ว่า แม้เพียงปฐมฌานก็มีความสุขสงบเยือกเย็นเพียงนี้ บุคคลที่ทรงฌาน ๒ จะมีความสุขเยือกเย็นเพียงไหน ? แล้วฌาน ๓ ฌาน ๔ ที่เหนือกว่านั้นจะสุขขนาดไหน ? ท่านที่ทรงสมาบัติ ๘ จะยิ่งกว่าไปอีกเท่าไร ? และท้ายที่สุด ท่านที่เป็นพระโสดาบันจะมีความสุขขนาดไหน ? พระสกทาคามีที่สูงกว่าพระโสดาบัน พระอนาคามีที่สูงกว่าพระสกทาคามีจะขนาดไหน ? และพระอรหันต์ที่บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ไม่ต้องมาเกิดใหม่ให้พบกับความทุกข์อีก จะมีความสุขขนาดไหน ? เมื่อความรู้สึกของเรามาถึงตรงจุดนี้ จิตใจของเราก็จะเข้าสู่คุณของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง เห็นคุณพระรัตนตรัยชัดเจนแล้วว่า เราผู้ทรงความดีเพียงเศษเสี้ยวแค่นี้ ยังมีความสุขขนาดนี้ แล้วผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ท่านจะมีความสุขยิ่งยวดขนาดไหน ? จิตใจของเราก็จะเคารพในพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง เมื่อเป็นดังนั้น เราก็มาทบทวนศีลทุกข้อของเราให้บริสุทธิ์ แล้วตั้งใจไว้ว่า ร่างกายที่มีธรรมดา คือต้องตายนี้ หากว่าตายลงไปเมื่อใด เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว แล้วก็เอากำลังใจของเราจดจ่อกับพระนิพพานเอาไว้ ใครสามารถยกจิตขึ้นนิพพานได้ ก็ให้ยกจิตขึ้นไปกราบพระบนนิพพาน ถ้ายกจิตขึ้นไปกราบพระบนนิพพานไม่ได้ ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบมากที่สุด ตั้งใจว่านั่นเป็นรูปนิมิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งอยู่บนพระนิพพาน ให้เอาใจจดจ่ออยู่กับภาพของพระองค์ท่านไว้ ตั้งใจว่าถ้าตายเมื่อไร ขอมาอยู่กับพระพุทธเจ้าที่นิพพานดังนี้ ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านรักษากำลังใจของตน ถ้าหากว่ายังรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ ก็กำหนดรู้ไป ยังมีคำภาวนาอยู่ก็ภาวนาไป ถ้าหากว่าลมหายใจเบาลงหรือหายไป คำภาวนาไม่มี ก็ให้กำหนดรู้ตามไป ให้รักษาอารมณ์เอาไว้อย่างนี้ จนกว่าจะได้รับสัญญานบอกว่าหมดเวลา พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์ วันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-11-2010 เมื่อ 15:01 |
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|