|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#1
|
||||
|
||||
พระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (หลวงปู่มหาอำพัน)
พระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (หลวงปู่มหาอำพัน) " กตัญญูกตเวที เป็นรากแก้วของคนดี" ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน บุญ-หลง) เป็นบุตรคุณพระสาลียากร-พิพัฒน์ (เฉลิม บุญ-หลง) และนางสาลียากรพิพัฒน์ (ทองคำ บุญหลง) เกิดที่บ้านหลังตลาดบ้านทวาย เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู เริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ เลขประจำตัว ๒๓๗ แล้วไปเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เลขประจำตัว ๓๑๖๖ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๖๐ และสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๘ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ลาออกจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ อำมาตย์ตรีหลวงวรวุฒิฯ อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในขณะนั้น ได้เขียนรับรองไว้ในใบสุทธิว่าการศึกษาดีมาก ความประพฤติเรียบร้อย หลังจากจบการศึกษาแล้วก็ได้เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง ต่อมาท่านได้เข้าสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงการคลังได้ที่ ๑ และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ยังไม่ทันเรียนสำเร็จท่านก็ต้องเดินทางกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทย เพราะป่วยมาก เมื่อหายดีแล้ว ท่านได้อุปสมบท ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู ฉายา "อาภรโณ" เป็นสัทธิวิหาริกที่ ๑๖๗๖ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรมหาเถระ เจริญ สุขบท) เป็นพระอุปัชฌายะ ท่านเจ้าคุณอุดมศีลคุณ (อิน อคฺติทตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระครูปลัดสัมพิพัฒน์ศีลาจารย์ (เทียน ปภสฺสโร) เป็นพระอนุสาสนาจารย์ เมื่อครบพรรษาแล้วท่านสังเกตเห็นว่าคุณโยมของท่านพอใจปรารถนาที่จะให้ท่านบวชต่อไป ท่านรักเคารพเชื่อฟังและมีความกตัญญูกตเวทีต่อคุณโยมของท่านมากมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยไม่ลาสิกขาบท เต็มใจบวชต่อมาจนถึงวันมรณภาพของท่าน คือ วันพุธที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๒.๔๙ น. นับได้ ๖๔ พรรษา ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน บุญ-หลง) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๒ คน ดังนี้คือ ๑. พระศรีพลพัทธ์ (อรุณ บุญ-หลง) ถึงแก่กรรม ๒. นายทวีสวัสดิ์ บุญ-หลง ๓. ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน บุญ-หลง) ๔. นายสำคัญ บุญ-หลง ถึงแก่กรรม ๕. นายปพาฬ บุญ-หลง ถึงแก่กรรม ๖. นางสาวสาหรี บุญ-หลง ๗. นางสาวกุลยา บุญ-หลง ๘. เด็กชาย บุญ-หลง ถึงแก่กรรม ๙. นายอุดม บุญ-หลง ถึงแก่กรรม ๑๐. นางสาวดวงตา บุญ-หลง ๑๑. นายดรุณรัตน์ บุญ-หลง ๑๒. นางสาวนิลประไพ บุญ-หลง เมื่อหลายปีก่อนท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน บุญ-หลง) เคยป่วยอาพาธหลายโรค เช่น เกาต์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีไขมันในเส้นเลือด ฯลฯ แต่ด้วยความปรีชาสามารถของนายแพทย์ที่รักษา คือ พล.ร.ท.น.พ.บรรยง ถาวรามร ไม่ว่าท่านจะอาพาธเวลาใดนายแพทย์ท่านนี้ก็ไม่เคยดูดายเบื่อหน่ายหรือละเลยทอดทิ้ง จะรีบมาตรวจดูอาการและให้การรักษาทันที ท่านอนุญาตให้โทรศัพท์เรียกได้ทุกเวลาตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทำให้สามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีทุกครั้ง และในที่สุดเมื่อตรวจเช็คสุขภาพดูก็ปรากฏว่าโรคดังกล่าวหายหมดแล้ว ที่ท่านมรณภาพก็เป็นเพราะท่านชรามาก เมื่อฉันอาหารไม่ได้ประมาณ ๒ วัน และเมื่อมีอาการท้องเสียด้วย จึงทำให้ท่านอ่อนเพลียไม่มีแรง และในที่สุดก็จากพวกเราไป ในวันพุธที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลาประมาณ ๒.๔๙ น. รวมอายุได้ ๘๘ ปี ๑๙ วัน ที่มา : เว็บประตูธรรม www.dharma-gateway.com แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 17:49 |
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
" ลูกดอกบัว "
ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน บุญ-หลง) หลวงพี่ของข้าพเจ้า มีวิชาที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์มากอยู่วิชาหนึ่ง คือ วิชาเสกดอกบัวให้สตรีที่มีครรภ์รับประทาน ใครได้รับประทานแล้วจะคลอดลูกง่าย เด็กที่เกิดมาก็เลี้ยงง่าย ว่าง่าย สอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่เกเร ฉลาดเรียนหนังสือเก่ง ประพฤติตัวดี ไม่ทำให้พ่อแม่เดือดร้อนรำคาญใจ ชีวิตเจริญรุ่งเรืองมีอนาคตที่สดใส วิชาเสกดอกบัวนี้ คุณพระสาลียากรพิพัฒน์ (เฉลิม บุญ-หลง) คุณพ่อของข้าพเจ้าและเป็นคุณโยมผู้ชายของท่านเจ้าคุณด้วย ได้เคยเสกให้บรรดาญาติและมิตรสหายที่นำดอกบัวมาขอให้ท่านเสกให้ลูกสาว หลานสาวของเขารับประทานมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ข้าพเจ้าเห็นมาตั้งแต่ยังเยาว์มาก ดอกบัวไม่ค่อยจะขาดบ้าน ต่อมาคุณพ่อท่านชรามาก เวลาเสกต้องนั่งเสกเป็นเวลานานสังขารทนไม่ไหว จึงประสิทธิ์ประสาทถ่ายทอดวิชา ให้ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์รับช่วง ทำต่อจากท่านเรื่อยมาจนมรณภาพ เด็กที่เกิดมานี้เราเรียกว่า " ลูกดอกบัว " เรื่อง " ลูกดอกบัว " นี้เป็นที่ยอมรับนับถือเลื่องลือเล่าบอกกันต่อ ๆ มาจนทุกวันนี้ ว่าดีมากและแตกต่างจากที่อื่น อย่างเช่นมีอยู่ครอบครัวหนึ่งสมัยที่เขายังไม่รู้จักกับท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญา ตอนที่จะมีหลานคนแรก เพื่อนฝูงที่ชอบพอกันได้แนะนำ ให้ไปขอกล้วยเสกจากที่แห่งหนึ่ง มาให้ลูกสะใภ้รับประทาน ต่อมาเมื่อได้มารู้จักกับหลวงพี่ของข้าพเจ้า และได้ทราบเรื่อง " ลูกดอกบัว " เมื่อจะมีหลานคนที่สอง เขาก็มาขอให้หลวงพี่ของข้าพเจ้าเสกดอกบัวให้ ท่านก็เสกให้ ผลปรากฏว่า ทุกคนในครอบครัวนั้นยอมรับว่า " ลูกดอกบัว " ดีกว่า เก่งกว่า เลี้ยงง่ายกว่าหลานคนแรกมาก นับแต่นั้นมาครอบครัวนั้นก็มาขอให้ท่านเสกดอกบัวให้ทุกครั้งที่จะมีหลานใหม่ " ดอกบัวลอย " หลานชายคนหนึ่งของท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (มหาอำพัน บุญ-หลง) มีความประพฤติ ฐานะและการศึกษาดีพร้อมทุกอย่าง เรียนสำเร็จได้ดอกเตอร์มาจากสหรัฐอเมริกา สมัยที่ยังรับราชการมีตำแหน่งหน้าที่การงานอยู่ในระดับสูง มีคนรู้จักมาก มักจะไปมาหาสู่ท่านเจ้าคุณซึ่งมีศักดิ์เป็น "หลวงอา" เสมอ หลายปีมาแล้วสมัยเมื่อลูกชาย ๒ คนเล็กของเธอยังมีอายุไม่กี่ขวบ ได้เล่าเรื่องประหลาดให้ฟัง ข้าพเจ้าก็เลยถือโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้ ที่บ้านหลานชายคนนี้มีบ่อน้ำ วันหนึ่งลูกชาย ๒ คนเล็กของเธอวิ่งเล่นกันตามลำพัง บังเอิญน้องคนเล็กพลัดตกลงไปในบ่อโดยไม่มีใครเห็น พี่ชายซึ่งอายุแก่กว่ากันไม่กี่ปีแลเห็นน้องตกน้ำก็ไปหาไม้มาเขี่ยน้อง พยายามจะช่วยน้องโดยไม่บอกใคร เขี่ยอยู่นานก็ช่วยไม่ได้ แต่ก็ไม่ยอมเลิก ผู้ใหญ่ในบ้านจะเป็นคุณพ่อของเด็กทั้งสองหรือใครข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ เพราะเวลาล่วงมานานแล้ว แลเห็นเด็กถือไม้เขี่ยอะไรอยู่ก็ถามว่าทำอะไร เด็กก็ตอบว่าน้องตกน้ำจะช่วยน้อง ผู้ใหญ่ได้ยินก็ตกใจรีบวิ่งไปช่วยเด็กคนน้องขึ้นมาได้โดยปลอดภัยเพราะเด็กยังลอยอยู่ ซักถามกันดูปรากฏว่าเป็น " ลูกดอกบัว " ทั้งสองคน นับแต่นั้นคุณพ่อของเด็กก็เลื่อมใสในพุทธศาสนายิ่งขึ้น และเชื่อว่า " ลูกดอกบัว " เก่งจริง ๆ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:07 |
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ท่านเจ้าคุณสามารถทราบเหตุล่วงหน้า
ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์สามารถทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างประหลาด ถ้าเหตุการณ์นี้มิได้เกิดกับตัวข้าพเจ้า ก็คงไม่กล้านำมาเล่า เมื่อคราวงานพระราชทานเพลิงหลวงปู่พระพุทธบาทตากผ้า ข้าพเจ้าได้ร่วมเดินทางไปกับคณะลูกศิษย์หลวงพ่อวัดท่าซุง มีคุณหมอเพชรไพฑูรย์เป็นหัวหน้าคณะ ตอนขึ้นรถคุณพรทิพย์ได้นำซองจดหมายสีขาวมายื่นให้ข้าพเจ้าซองหนึ่งพร้อมกับเล่าให้ฟังว่า "หลวงพี่" ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ได้ถามเธอว่า ข้าพเจ้าร่วมเดินทางไปด้วยหรือเปล่า เธอก็กราบเรียนท่านว่าไป ท่านก็ฝากซองนั้นมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารับมาดูเห็นในซองนั้นมีกระดาษสีขาวพับไว้เรียบร้อย มีมุมซองด้านหนึ่งท่านเขียนว่า "ยันต์" ใช้ที่เย็บกระดาษเย็บไว้เรียบร้อย เพื่อกันมิให้ของภายในหล่น ข้าพเจ้าก็ยกขึ้นจบแล้วก็เก็บไว้ในกระเป๋าถือ แล้วก็ไม่ได้คิดถึงซองยันต์นั้นอีกเลย พวกเราก็คุยกันสนุกสนามเหมือนทุกครั้ง ที่เดินทางไปไหว้หลวงปู่หลวงพ่อตามวัดต่าง ๆ ยามหิวใครมีอะไรก็นำออกมาแบ่งกันรับประทาน จนไปถึงที่หมายก็ลงจากรถไปร่วมงานพระราชทานเพลิง เสร็จแล้วก็เดินกลับมาขึ้นรถ ตอนขากลับก็ตกลงกันว่า จะเลยแวะไปไหว้หลวงพ่อพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก เมื่อรถแล่นมาถึงเชียงใหม่ก็เกิดขัดข้อง คนขับจึงจอดรถทางด้านซ้ายของถนน ด้านตรงข้ามเป็นศาลเจ้ามีคนนั่งนอนอยู่ ๔ - ๕ คน รถที่ไปเป็นรถตู้ มีคนขับ ๑ คน ผู้ช่วย ๑ คน ข้าพเจ้านั่งอยู่ด้านหลังคนขับ พอจอดรถแล้วคนขับก็ลงจากรถ เมื่อหยิบเบาะที่รองนั่งออก ใต้เบาะเป็นคล้ายหม้อน้ำ ข้าพเจ้าเคยเห็นแต่รถที่มีหม้อน้ำอยู่หน้ารถ เมื่อหยิบเบาะออกแล้วผู้ช่วยก็เปิดฝาหม้อน้ำนั้นทันที น้ำก็พุ่งขึ้นมาอย่างแรง ผู้ช่วยก็ใช้นิ้วอุดไว้ แต่น้ำนั้นร้อนมากเขาทนไม่ไหวจึงชักมือหนีออกมา น้ำก็พุ่งขึ้นมาอย่างแรงและพุ่งใส่หน้าข้าพเจ้าเต็มหน้า รู้สึกร้อนจัดเหมือนน้ำที่กำลังเดือดพล่านอยู่บนเตา ข้าพเจ้าร้องลั่นด้วยความร้อนและตกใจ จำได้ว่าร้อง "โอ๊ย ! ร้อนจัง ๆ ขอทางลงหน่อย" แล้วก็พรวดพราดก้าวลงจากรถไปยืนซับน้ำอยู่ข้างล่าง นอกจากจะพุ่งใส่หน้าข้าพเจ้าแล้ว น้ำนั้นก็กระเซ็นไปถูกขาคุณพรทิพย์ แต่เธอไม่เป็นอะไรมากนักเพราะเธอสวมกางเกงหนาและขายาว จึงไม่รู้สึกร้อนมากเหมือนข้าพเจ้า เพราะใบหน้าข้าพเจ้าไม่มีอะไรปิดบังเลย ดีว่าหลับตาเสียทัน มิฉะนั้นนัยน์ตาอาจจะเจ็บมากหรือบอดก็ได้ ต่อจากนั้นคุณหมอเพชร ฯ ก็ชวนไปไหว้ที่ศาลซึ่งอยู่ตรงข้าม สักครู่ต่อมาจึงหายร้อน เมื่อหาน้ำมาเติมใส่รถเรียบร้อยและเครื่องยนต์ค่อยเย็นลงบ้างแล้ว เราก็ได้เดินทางต่อมุ่งหน้าไปพิษณุโลก ข้าพเจ้านึกขอบพระคุณ "หลวงพี่" ที่ท่านเมตตาฝาก "ยันต์" มาให้ข้าพเจ้าได้คุ้มกันอันตราย เหมือนท่านจะทราบล่วงหน้าว่าจะมีอุบัติเหตุเกิดกับข้าพเจ้า "ยันต์" ช่วยให้ข้าพเจ้าปลอดภัยอย่างประหลาด หน้าก็ไม่พอง ไม่บวม ไม่ปวดแสบ ปวดร้อน เพียงแต่ร้อนมากแล้วก็หาย แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:08 |
สมาชิก 43 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
รูปปั้นเด็กตีวงล้อหรือขอบกระด้ง
ท่านอาจารย์ให้ศิษย์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นช่าง ปั้นรูปเด็กผู้ชายตัวเล็กกำลังวิ่งเล่นไล่ตีขอบกระด้งอย่างสนุกสนาน รูปปั้นเล็ก ๆ นี้ท่านเก็บเอาไว้ที่กุฏิ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าในวัยเด็กท่านก็เหมือนเด็กอื่น ๆ ทั่วไป ชอบวิ่งเล่นซุกซน ของเล่นก็มีเพียงขอบกระด้งแล้วเอาไม้ไล่ตีให้หมุนไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เป็นของมีราคาค่างวดอะไร ท่านไม่คิดว่าจะได้เป็นพระคู่สวดและได้รับพระราชทานยศเป็นถึงท่านเจ้าคุณ ดังนี้ รูปปั้นจึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้ท่านเจียมเนื้อเจียมตน ไม่หลงใหลไปกับลาภยศสรรเสริญ จะเห็นได้ว่าท่านอาจารย์มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นปกติ ทั้ง ๆ ที่ท่านเกิดในตระกูลผู้ดีเก่า ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าใครเขาอยากจะใหญ่ก็ปล่อยให้เขาใหญ่ไป เราอยู่ของเราเงียบ ๆ อย่างนี้แหละดีแล้ว ปิดทองหลังพระจะดีกว่า สมัยเด็กท่านอาจารย์มีเรื่องขำตัวท่านเองอยู่เรื่องหนึ่ง ท่านเล่าว่าท่านได้มีโอกาสติดตามท่านบิดาไปในงานพิธีต่าง ๆ เมื่อเห็นข้าราชการบางคนติดเหรียญตราเต็มหน้าอกไปหมด ท่านก็คิดตามประสาเด็กว่าคงจะเป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงกว่าใคร ๆ ถึงมีเหรียญตรามากมายเช่นนั้นจึงถามท่านบิดา ดังนั้นท่านบิดาจึงต้องอธิบายถึงเรื่องเครื่องหมายประดับยศสำหรับตำแหน่งต่าง ๆ ให้ท่านเข้าใจ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อเห็นใครติดเหรียญตราเต็มหน้าอกอีก ท่านจึงรู้ว่าไม่ใช่เป็นผู้มีตำแหน่งสำคัญที่สุด พระประธาน พระรูปหล่อ ในโบสถ์วัดสนามรัตนาวาสมีพระประธานปางมารวิชัยรมดำ และมีพระรูปหล่อปิดทองของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์ และท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านอาจารย์เล่าว่า พระประธานเป็นฝีมือเอกของช่างสมุทรสงคราม ต้องนั่งเรือไปอัญเชิญมา และต้องระวังพวกนักเลงตามทางด้วย ส่วนพระรูปหล่อทั้งสององค์ เป็นฝีมือช่างของกรมศิลปากร ภายในองค์พระประธานบรรจุพระบรมธาตุ และพระธาตุเจ้าหลายองค์ รวมทั้งพระธาตุข้าวต้มของหลวงปู่ครูบาชัยวงษาด้วย แต่ที่สำคัญองค์หนึ่ง เป็นพระบรมธาตุสีทับทิมมีพระรัศมีงดงามสดใสมาก ท่านทูตผู้หนึ่งผู้เป็นศิษย์ได้มาจากชเวดากอง และนำมาถวาย เมื่อคิดว่าท่านอาจารย์เกิดวันอาทิตย์ และได้พระบรมธาตุสีแดงทับทิม อันตรงกับสีของวันเกิดมาบูชา ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ภายในพระรูปหล่อของสมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์บรรจุพระอัฐิธาตุของพระองค์ท่านซึ่งผู้ที่นำไปบูชาหลายคนได้บอกว่ากลายเป็นพระธาตุ ส่วนภายในพระรูปหล่อของท่านธมฺมวิตกฺโกบรรจุทนต์ ๑ ซี่ ที่ท่านมอบให้ท่านอาจารย์สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ผ้าซับเท้าวันมรณภาพของท่านธมฺมวิตกฺโก ส่วนพระบุพโพพร้อมกับผ้าจีวรชิ้นเล็ก ได้มาเพราะแรงอธิษฐานจิต เนื่องจากสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถได้มีพระราชเสาวณีย์ให้เจ้าพนักงานรวบรวมพระอัฐิธาตุ และพระอังคารทุกชิ้นหลังจากการพระราชทานเพลิงศพ เพื่อนำไปบรรจุในมณฑปที่สร้างถวาย เมื่อเจ้าพนักงานทำหน้าที่อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกประการเรียบร้อยแล้ว ภายหลังท่านอาจารย์ได้เข้าไปตรวจดูอีกครั้งพบส่วนหนึ่งของพระบุพโพ กับเศษจีวรชิ้นเล็ก ๆ ที่ไม่ไหม้ไฟ สมดังคำอธิษฐานท่านจึงนำมาบูชาและบรรจุไว้ในพระรูปหล่อ อัญเชิญไปประดิษฐานที่โบสถ์วัดสนามรัตนาวาส ที่สร้างเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงพระบุรพาจารย์ทั้งสอง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:08 |
สมาชิก 43 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ปาเจราจริยา โหนติ
เมื่อสิ้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ (ญาณวร มหาเถระ) และท่านธัมมะวิตักโกแล้ว ครูบาอาจารย์อีกองค์หนึ่งที่ท่านอาจารย์ให้ความเคารพรักอย่างสูงคือ พระสุธรรมยานเถระ (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มูลเหตุที่ท่านจะได้พบกับหลวงพ่อฤๅษีก็คือ ท่านได้อ่านหนังสือประวัติหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค แล้วเกิดความสนใจ อยากจะได้พบหลวงพ่อเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ในที่สุดมีผู้แนะนำให้ท่านรู้จักกับท่านอ๋อย และท่านเจ้ากรมเสริม สุขสวัสดิ์ ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ได้ไปอบรมพระกรรมฐานที่บ้านซอยสายลมเป็นประจำ ท่านอาจารย์ให้ความเคารพรักหลวงพ่อฤๅษีไม่แพ้ท่านครูบาอาจารย์องค์อื่นใด ในวันเกิดหลวงพ่อ ท่านตั้งใจนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบแทบเท้า พร้อมกับสวดบทเคารพครูอาจารย์ เป็นทำนองสรภัญญะด้วยสำเนียงอันไพเราะ ท่านกล่าวว่าทีแรกเกรงว่าจะมีผู้ครหาได้ว่าการกระทำดังนี้เป็นการที่พระแก่ประจบพระหนุ่ม แต่ "เราอยากจะกราบเท้าครูบาอาจารย์ของเรานี่ ใครจะว่าอะไรเราได้ ก่อนกราบเราก็ท่อง ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา ปัญญาวุฑฒิกเรเตเต ทินโนวาเท นมามิหัง ที่นี้ก็ไม่มีใครกล้าว่าอะไรแล้ว" เวลาอบรมกรรมฐานที่ซอยสายลม ท่านอาจารย์มักจะหลับตาตั้งใจฟังอย่างสงบนิ่ง ดังนั้นหลวงพ่อจึงกระเซ้าท่านบ่อย ๆ ว่า "เป็นไงหลวงน้า นั่งหลับแล้วหรือ" พอหลวงพ่อกล่าวจบ "หลวงน้า" ก็จะค่อย ๆ ลืมตาขึ้นแล้วอมยิ้ม พวกลูกศิษย์ลูกหาเลยพลอยอมยิ้มตามไปด้วย เมื่อศิษย์ผู้ใดมีปัญหาติดขัดในเรื่องปฏิบัติพระกรรมฐาน และมาถามท่าน ท่านมักจะแนะนำ ให้ไปกราบเรียนถามหลวงพ่อฤๅษีเอาเอง ทั้งนี้เพราะท่านจะไม่ทำตัวเสมอกับครูบาอาจารย์ทุกองค์อย่างเด็ดขาดในทุก ๆ ด้าน นอกจากนี้ท่านอาจารย์มักจะเล่าให้ใคร ๆ ฟังบ่อย ๆ ว่า "มีครูบาอาจารย์ที่ไหนบ้างที่ให้เงินลูกศิษย์สร้างโบสถ์เป็นล้าน" (แต่หลวงพ่อฤๅษีถวายเงินช่วยท่านอาจารย์สร้างโบสถ์วัดสนามรัตนาวาสเป็นเงินล้านเศษ) ดังนั้น เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษี แวะมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านอาจารย์ถึงกุฎิวัดเทพศิรินทราวาสเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๒ จึงยังความปลื้มปิติยินดีแด่ท่านอาจารย์และศิษยานุศิษย์โดยทั่วกัน ลูกศิษย์ท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังถึง ความมหัศจรรย์เป็นอย่างมากที่หลวงพ่อมาเยี่ยมท่านอาจารย์ ครั้งนั้นวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๒ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้มางานถวายพระราชทานเพลิงศพลูกศิษย์หลวงปู่มากราบเรียนหลวงปู่ว่า หลวงพ่อมาที่วัดเทพฯ ขณะนี้อยู่ที่เมรุ และจะมาเยี่ยมหลวงปู่ จากประโยคนี้ของลูกศิษย์ทำให้หลวงปู่ปลื้มปิติ รีบบอกให้ลูกศิษย์เตรียมจัดสถานที่ และจัดชุดถ้วยน้ำชาฝังมุกอย่างดีที่ได้เก็บไว้เอาออกมาต้อนรับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ หลวงปู่ห่มจีวรเรียบร้อยแล้วลงมานั่งรอหลวงพ่อ ปรากฏว่าเมื่อนั่งรอได้สักพักใหญ่ ลูกศิษย์ท่านหนึ่งของหลวงปู่ได้มาแจ้งให้ทราบว่า หลวงพ่อเกิดไม่สบายปวดที่บริเวณรากฟันมาไม่ได้ ทำให้บรรยากาศขณะนั้นเงียบเหงาไปสักพัก แต่หลวงปู่ก็ไม่ได้กล่าวอะไร ได้แต่ยกมือขึ้นจรดศีรษะหันไปทางรูปพระแก้วฯ ลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้ๆ เข้าใจเอาเองว่าท่านคงจะอธิษฐานจิตอะไรสักอย่าง เสร็จแล้วท่านก็ได้มาพักผ่อนที่บนเตียงตามปกติ ลูกศิษย์ผู้นั้นสังเกตเห็นว่าตาตุ่มที่เท้าของท่านอาจารย์มีรอยช้ำที่เกิดจากการนั่งพับเพียบนาน ตอนนั้นหลวงปู่ยังไม่แข็งแรงเท่าไรนัก ต้องใช้อ๊อกซิเจนช่วย เมื่อท่านอาจารย์ได้พักผ่อนได้ระยะหนึ่งแล้ว ลูกศิษย์หลวงปู่มารายงานให้ทราบว่าหลวงพ่อจะมาเยี่ยมหลวงปู่ และกำลังมาแล้ว เมื่อหลวงปู่ได้ยินดังนั้น ท่านจึงลุกจากเตียงมายืนเพื่อจะให้ลูกศิษย์รีบห่มจีวรให้ ตอนที่หลวงปู่ลุกขึ้นจากเตียงมายืนนั้น ลูกศิษย์คนนั้นงงไปพักหนึ่งเนื่องจาก หลวงปู่ลุกขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีใครช่วย หลังจากนั้น จึงห่มจีวรให้ท่านอาจารย์ ในวันนั้นท่านอาจารย์ก็ได้กราบท่านหลวงพ่อฤๅษีลิงดำซึ่งท่านถือว่าเป็นอาจารย์ของท่านได้สำเร็จสมความปรารถนา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:15 |
สมาชิก 43 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
วัวพี่ วัวน้อง
ท่านอาจารย์ และหลวงปู่ครูบาชัยวงษาต่างเกิดในปีฉลูแต่คนละรอบ ครั้งหนึ่งเมื่อหลวงปู่วงษ์ไปเยี่ยมท่านอาจารย์ที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า น้องสาวคนเล็กของท่านอาจารย์เล่าว่า ปิติมากที่เห็นท่านทั้งสองพูดคุยสนิทสนมเหมือนพี่น้อง ท่านอาจารย์ขออาราธนาให้หลวงปู่อยู่เป็นหลักของคนทางเหนือไปนาน ๆ เพราะหลวงปู่ครูบาธรรมชัยก็สิ้นไปแล้ว หลวงปู่วงษ์ก็ขออาราธนาให้ท่านอาจารย์อยู่ต่อไปอีกนาน ๆ เพื่อช่วยพระศาสนา หลวงปู่บอกว่า ท่านอาจารย์เปรียบเหมือนวัวพี่ ส่วนตัวหลวงปู่เองเปรียบเหมือนวัวน้อง เมื่อวันสืบชาตาหลวงปู่ครูบาชัยวงษา ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เสร็จพิธีแล้วหลวงปู่ได้พาคณะศิษย์มาเยี่ยมท่านอาจารย์ที่วัดเทพศิรินทราวาสเป็นครั้งแรก ท่านอาจารย์ได้นิมนต์ให้หลวงปู่ไปนมัสการที่มณฑปท่านเจ้าคุณนรฯ ด้วย ส่วนวันรุ่งขึ้นท่านอาจารย์ต้องติดตามคณะของหลวงพ่อฤๅษีฯ ไปอินเดีย (เป็นการไปเยือนอินเดียเป็นครั้งที่ ๒ ของท่านอาจารย์) ครั้งเมื่อท่านอาจารย์กลับมาจากอินเดียตอนค่ำของวันที่ ๓๐ เมษายน วันรุ่งขึ้น ๑ พฤษภาคม ท่านทราบว่าหลวงปู่ยังคงพำนักอยู่ที่บ้านศิษย์คนหนึ่งข้างวัดไก่เตี้ย จึงให้ศิษย์นำใบโพธิ์ ๑ ถุง จากพุทธคยาไปถวายหลวงปู่ทันที หลวงปู่ครูบาชัยวงษา มักพูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ช้า ๆ และแผ่วเบา ส่วนท่านอาจารย์ระยะหลัง ๆ ประสาทหูบางส่วนเสื่อมทำให้รับฟังเสียงไม่ชัดเจน แต่เวลาที่ครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านพบปะกัน ท่านมักจะมีเรื่องคุยกันอย่างสนุกสนาน บางทีก็ครั้งละนาน ๆ เมื่อครั้งที่หลวงปู่วงษ์ป่วยต้องทำภายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านอาจารย์ทราบเรื่องเข้ารีบหาโอกาสไปเยี่ยมทันที หลวงปู่ครูบาชัยวงษาเคยกล่าวว่า "หลวงปู่อำพันเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการมากนะ ให้หมั่นตั้งใจรับใช้ท่านให้ดี ๆ " ส่วนท่านอาจารย์เคยกล่าวถึงหลวงปู่ว่า "ถ้าท่านไม่ดีจริงแล้วเห็นจะชักชวนให้พวกกะเหรี่ยงถือศีลไม่สำเร็จหรอก" ผ้าซับรอยเท้าหลวงปู่ครูบาธรรมชัย เมื่อหลวงปู่ครูบาธรรมชัย ทิ้งขันธ์เมื่อคืนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ท่านอาจารย์รีบเตรียมตัวไปโรงพยาบาลจุฬา แต่เช้าตรู่ และช่วยจัดการให้คณะศิษย์ อัญเชิญสรีระของหลวงปู่ มาตั้งบำเพ็ญกุศลถวายที่วัดเทพศิรินทราวาส ก่อนนำขึ้นไปวัดทุ่งหลวง ท่านอาจารย์แนะนำให้บรรดาลูกศิษยานุศิษย์ ทำผ้าซับรอยเท้าหลวงปู่เพื่อเก็บไว้กราบไหว้บูชา เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแด่ตัวของศิษย์เอง ดังที่ท่านได้เคยทำเมื่อครั้งพระอุปัชฌาย์ และท่านธมฺมวิตกฺโกมรณภาพ ท่านอาจารย์เคยพูดหลายครั้งว่า ถ้าหลวงปู่ครูบาธรรมชัยไม่ช่วยทำพิธีสืบชาตาครั้งใหญ่ให้ บางทีท่านอาจจะไม่มีชีวิตอยู่รอดมาได้ เมื่อคราวอาพาธหนัก หลวงปู่ทั้งสาม คือ หลวงปู่อำพัน หลวงปู่วงษ์ หลวงปู่ธรรมชัย มีความผูกพันกันดุจพี่น้องร่วมสายโลหิต เคยมีผู้กราบเรียนถามหลวงปู่ธรรมชัยว่า หลวงปู่กับท่านอาจารย์เคยเป็นพี่น้องกันใช่หรือไม่ หลวงปู่บอกว่าเคยเป็น วัดพระแก้ว วัดพระแก้วนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของกระทรวงการคลังในสมัยก่อนอีกด้วย วันที่ ๑๘ สิงหาคม อันเป็นวันตรงกับวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์ ท่านจะนำธูปเทียน และกระเช้าดอกไม้ที่น้องหญิงของท่านคนหนึ่ง จัดถวายเป็นประจำไปนมัสการพระแก้วมรกต เมื่อเสร็จแล้วขากลับเวลารถแล่นผ่านตึก สถานที่ทำงานเก่าของท่านสมัยยังหนุ่ม ท่านจะชี้ให้ผู้ติดตามดูห้องทำงานของท่านเมื่อเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง เวลาท่านอาจารย์ไปวัดพระแก้ว ผู้คนที่พบเห็นมักหยุดแสดงความเคารพ หรือไม่ก็หยุดมองอย่างสนใจ บางคนแอบมากระซิบถามผู้ติดตามว่าท่านอยู่วัดไหน หรือไม่ก็บอกว่าท่านมีรัศมีผุดผ่องมาก บางคนคิดว่าท่านไม่ใช่พระไทย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้น แทนที่จะติดตามฟังมัคคุเทศก์บรรยาย บางกลุ่มกลับยืนรออย่างสงบ เพื่อให้ท่านเดินผ่านไปเสียก่อน บางครั้งก็เข้ามาถามผู้ติดตามว่า ถ้าขออนุญาตถ่ายวิดีโอเทป ท่านจะยินยอมไหม เสร็จจากการไปนมัสการพระแก้วมรกต ถ้าท่านอาจารย์ไม่เหน็ดเหนื่อยเกินไปท่านก็จะให้ตรงไปทำบุญต่อที่โรงพยาบาลสงฆ์ โรงเรียนสอนคนหูหนวก ตาบอด โรงพยาบาลพระมงกุฎ และสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงพยาบาลจุฬา เป็นต้น บางครั้งก็ไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำเทเวศน์ ภายหลังเมื่อร่างกายไม่แข็งแรงท่านจึงมอบหมายให้ศิษย์ไปทำธุระแทน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:12 |
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
วิชาการที่ใช้พลังจิต
ท่านอาจารย์ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ที่ใช้พลังจิตเพื่อสงเคราะห์บรรดาศิษย์ ดังจะยกตัวอย่างสัก ๔ เรื่อง ๑. ตำราครรภรักษา ศึกษาจากคุณโยมบิดา ท่านจะเสกดอกบัวขาวจำนวนห้าดอกแล้วให้สตรีมีครรภ์นำไปต้มกับน้ำมะพร้าวอ่อนรับประทาน เด็กที่เกิดมาเรียกกว่า "ลูกดอกบัว" ถ้าไม่เรียนหนังสือเก่ง ก็มีความประพฤติดีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง ท่านอาจารย์บอกว่า ท่านชอบสร้างคน ลูกดอกบัวคนแรก คือ ท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปัจจุบัน ส่วนลูกดอกบัวรุ่นหลังสุด เป็นหลานของทันตแพทย์ศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรม และอีกคนเป็นบุตรของพยาบาล โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า เป็นที่น่าสังเกตว่า "ลูกดอกบัว" รุ่นแรก และ รุ่นสุดท้าย เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ และพยาบาลทั้งสิ้น และมีระยะห่างกันตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นสุดท้ายประมาณ ๕๐ ปี ๒. ตำราต่อ และประสานกระดูก ศึกษาจากคุณหลวงศุภชลาสัย มีมีดหมอและไม้เคาะอย่างละอัน พร้อมดอกไม้และเงินไม่กี่สิบสตางค์สำหรับทำบุญบูชาครู ท่านอาจารย์สงเคราะห์ศิษย์เห็นผลมานักต่อนักแล้ว แต่ส่วนมากจะทำเป็นการภายใน ๓. ตำราขวั้นเทียนชัย ไม่ทราบว่าศึกษาจากผู้ใด เทียนที่ใช้ต้องใช้ขี้ผึ้งแท้ปิดทองลงอักขระทั้งเล่ม มีคาถาจุดเทียน และดับเทียนชัยกำกับ สำหรับอธิษฐานถึงสิ่งที่เป็นมิ่งมงคลและขจัดสิ่งที่ชั่วร้าย ๔. ตำราเสกไม้ปักสี่มุมบ้าน เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของบุคคลในบ้าน และขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป เกร็ดความรู้รอบตัว ท่านอาจารย์สอนว่าพบความรู้พิเศษอะไร พยายามจดไว้ทั้งข้อความ และที่มาเพื่ออ้างอิงเป็นหลักฐานสะสมไว้จะมีความรู้เพิ่มขึ้นทุกที ทำให้ฉลาดมากขึ้นเป็นปัญญาชนิดที่ ๓ ปัญญาอย่างนี้ท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ (นิรันดร์) ท่านเรียกว่า "ปัญญาปัจจุบัน" เพราะปัญญามี ๓ ชนิดคือ ๑. ปัญญาเดิม เกิดมาเป็นคนฉลาด ๒. ปัญญาเพิ่มเติม คือการศึกษาเล่าเรียนจากโรงเรียน ๓. ปัญญาปัจจุบัน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านอาจารย์ชอบฟังเทศน์ของท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ (นิรันดร์) มากถึงกับอัดเทปไว้หลายสิบม้วน และยังเผยแพร่ไปยังบรรดาศิษย์ทั้งหลายด้วย บางทีก็คัดลอกข้อความบางตอนที่ท่านเจ้าคุณเทศน์แจกจ่ายให้ศิษย์เพื่อเป็นข้อคิดนำไปพิจารณา ท่านอาจารย์มีความรอบรู้ในวิชาการสาขาต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น ดนตรีไทย ภาษาไทย การร้อยกรอง ดอกไม้แบบไทย เป็นต้น ท่านบอกว่า เป็นคนไทยต้องรักษาวัฒนธรรมไทย ท่านอาจารย์มักเขียนตัวเลขเป็นอักษรไทยเสมอ ลายมือของท่านงดงามมากทั้งภาษาไทย และอังกฤษท่านอาจารย์สนใจในเรื่องพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ทั้งไม้ดอกและไม้ผล โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ท่านสามารถจะบอกชื่อได้แทบทุกพันธุ์ ดอกกุหลาบสีชมพูกลิ่นหอมหวานมีชื่อเก๋ ว่า Eiffel Tower และเมื่อมีผู้นำกุหลาบดอกใหญ่ขนาดถ้วยชาของโครงการหลวงมาถวาย ท่านเล่าว่า สมัยก่อนที่กุฏิของท่านก็เคยมีกุหลาบที่ให้ดอกขนาดใกล้เคียงกัน มีบางเรื่องที่เรานึกไม่ถึงว่าท่านจะสนใจ แต่ท่านก็มีความรอบรู้อย่าง เช่น เรื่องดนตรีสากล เป็นต้น วันหนึ่งท่านเห็นโน้ตเพลงของศิษย์รุ่นเยาว์ผู้หนึ่งวางอยู่ห่าง ๆ มองไม่เห็นถนัด ท่านจึงถามว่าหนังสืออะไร พอศิษย์ตอบว่าเป็นโน้ตเพลงสากล ท่านนิ่งไปเดี๋ยวเดียว ก่อนจะตอบด้วยใบหน้ายิ้ม ๆ ว่า "When you play Beethoven, play it with your heart" แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:06 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
อารมณ์ขันของท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์มีใบหน้าเมตตายิ้มแย้มแจ่มใสให้ลูกศิษย์ชื่นใจอยู่เสมอ ท่านเคยสอนคนขี้โกรธทำหน้าบึ้งบ่อย ๆ ว่าไม่ดี เดี๋ยวหน้าเหมือนยักษ์ ถ้าศิษย์คนไหนทำผิดท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ พอครั้งที่ ๓ ถ้าศิษย์ขัดขืนไม่เชื่อฟังอีกท่านบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นเห็นจะต้องบ๋าย บาย กันละบอกแล้วเขาอยากไม่เชื่อเรานี่" บรรดาผู้ที่ได้เคยสนทนากับท่านคงจะนึกได้ถึงอารมณ์ขันต่าง ๆ ที่ได้ประสบกับตัวเอง ในที่นี้จะกล่าวเพียง ๒ - ๓ เรื่อง เรื่องแรกคือ เรื่องคุณหลวงสำเร็จ ตอนท่านอาจารย์อาพาธรักษาตัวอยู่ที่ รพ.พระปิ่นเกล้า ท่านเล่าว่าคืนหนึ่งท่านฝันว่า คุณหลวงสำเร็จมากราบท่านแล้วชวนท่านไปอยู่ด้วย ท่านอาจารย์พูดเสียงเบา ๆ เมื่อเล่าถึงตอนที่ว่า " เราก็บอกว่าไม่ไปซิ ปัทโธ่ ! จะไปได้ยังไงก็หลวงสำเร็จตายไปนานแล้วนี่ " ครั้นเมื่อท่านออกจากโรงพยาบาล ท่านก็เกิดอาการเบื่อหน่ายอาหาร ฉันได้แต่เต้าหู้ยี้กับข้าวต้มเป็นเวลาเกือบปี ถ้าเป็นพวกเราก็คงจะแย่ไปนานแล้ว ดังนั้นเวลาใคร ๆ นำอาหารมาถวายท่านจะตอบว่า "คุณเอ๋ย ขอบใจมากที่นำอาหารมาถวาย แต่ตอนนี้อาตมาฉันได้แต่ข้าวต้มกับเต้าหู้ยี้เท่านั้น อย่างอื่นมันรู้สึกเหม็นไปหมด แต่เราจะกลัวอะไรล่ะ" ท่านหยุดเว้นระยะก่อนจะพูดต่อไปว่า "ลูกศิษย์เรามีโรงงานทำเต้าหู้ยี้นี่นา เขาเอามาถวายทีละหลาย ๆ ขวด" เรื่องต่อไปก็คือ เรื่องจัดแจกันดอกไม้ถวายพระ ศิษย์ผู้หนึ่งเมื่อจัดแจงตัดก้านดอกไม้ใต้น้ำเพื่อไม่ให้ฟองอากาศเข้า ดอกไม้จะได้สดชื่นอยู่นาน ๆ ตามวิธีการที่ท่านอาจารย์สอนแล้ว ก็นำไปปักแจกัน บังเอิญวันนั้นดอกไม้มีน้อยแจกันดูโหรงเหรง ศิษย์ผู้นั้นเลยเดินออกไปหาใบไม้สำหรับปักแซมในแจกัน เมื่อเดินไปหลังกุฏิซึ่งเป็นสวนมีต้นไม้ขึ้นรกเรื้อ ก็เจอใบไม้ชนิดหนึ่งรูปร่างลักษณะใบสวนสีเขียวเข้มคล้ายว่าน เลยตัดมาปักแซมดอกไม้ในแจกัน เมื่อเล็งซ้ายขวาเห็นว่างามแล้วจึงนำไปถวายท่านอาจารย์ หวังว่าคงจะได้รับคำชมเชยว่าตนเป็นผู้มีความคิดดี รู้จักหาใบไม้มาเพิ่มเติมทำให้แจกันไม่โหรงเหรง เมื่อนำแจกันไปถวายแล้วก็ยังรี ๆ รอ ๆ ไม่ยอมไป คอยให้ท่านอาจารย์ออกปากชมเสียก่อน ครั้นท่านอาจารย์เหลือบมาเห็นแจกันเข้าท่านวางหนังสือพิมพ์ที่อ่านค้างอยู่แล้วถามทันทีว่า "นั่นไปเก็บใบอะไรที่ไหนมา" ศิษย์ผู้นั้นรู้สึกแปลกใจมากที่ท่านอาจารย์ถามตรงจุด เดาเอาว่าท่านคงล่วงรู้วาระจิตของตนเลยรีบยิ้มแป้นตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า "ใบไม้ที่ขึ้นเองในสวนหลังกุฏิเจ้าค่ะ วันนี้ดอกไม้น้อยเลยหาใบมาแซม" ท่านอาจารย์ถามซ้ำอีกว่า "แล้วรู้หรือเปล่าว่านี่ใบอะไร" ศิษย์ "ไม่ทราบเจ้าค่ะ แต่เห็นว่าลักษณะใบแปลกสวยดีเลยเก็บมา" ท่านอาจารย์ "ต้นอย่างนี้น่ะ รู้ไหมว่าเวลามีดอกแล้วคล้ายดอกหน้าวัว" ศิษย์ "ไม่ทราบเจ้าค่ะ" แล้วนั่งคอยฟังว่าเมื่อไรท่านจะชมเสียที ท่านอาจารย์เห็นว่าศิษย์ผู้นั้นถ้าจะไม่รู้จริง ๆ เลยสรุปให้ฟังว่า "เขาเรียกว่าดอกอุตพิด ยังไงล่ะ ทีนี้รู้หรือยัง" ปรากฏว่าศิษย์ผู้นั้นรีบคว้าแจกันออกไปทันที เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องบุรพกรรม ครั้งที่หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ตรวจบุรพกรรมให้ท่านอาจารย์นั้น ท่านอาจารย์ต้องทำพิธีถวายสังฆทานอุทิศให้ตาลุงคนหนึ่งซึ่งในอดีตชาติ ตาลุงคนนั้นทำความผิด ท่านอาจารย์ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาเลยสั่งให้กักบริเวณเป็นระยะเวลาหนึ่งเป็นการลงโทษ ของที่หลวงปู่บอกให้ท่านอาจารย์ถวายสังฆทานอุทิศให้ตาลุงนั้นจำไม่ได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่ที่พิเศษคือ ต้องให้ทานเสื้อผ้า หมากพลู และแว่นสายตาสำหรับคนแก่ด้วย เมื่อทำพิธีอโหสิกรรมแล้วลูกศิษย์ทั้งหลายพากันโล่งอก ต่อมาอีกไม่นานคืนหนึ่งหลังจากที่ท่านอาจารย์กลับมาจากอบรมกรรมฐานที่ซอยสายลม เมื่อลูกศิษย์ขับรถมาส่งที่กุฏิแล้วท่านก็สั่งให้กลับไปได้ บังเอิญวันนั้นท่านลืมเอากุญแจไขเข้ากุฏิติดตัวไปด้วย ท่านเลยต้องนั่งตากยุงคอยที่เฉลียงจนถึงรุ่งเช้า อันที่จริงท่านจะกดกริ่งให้พระลูกศิษย์ที่จำวัดห้องข้างบนอีกด้านหนึ่งลงมาเปิดประตูให้เป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านเกรงใจเลยนั่งรออยู่ตรงนั้นจนรุ่งเช้า เมื่อใคร ๆ รู้เรื่องเข้าต่างตกอกตกใจกันใหญ่ เพราะท่านอาจารย์อายุมากแล้วควรจะได้รับการพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ท่านอาจารย์กลับบอกอย่างอารมณ์ดีว่า "ไม่เป็นไรหรอก คิดเสียว่าเราเคยทำกับตาลุงไว้ยังไงล่ะ นี่ดีแต่หลวงปู่ครูบาธรรมชัยแก้กรรมให้แล้วนะ ไม่งั้นเห็นจะยิ่งกว่านี้" เมื่อมีผู้ถามว่าแล้วยุงไม่กัดท่านหรือ เพราะห้องเฉลียงสมัยนั้นไม่ได้ติดมุ้งลวด ท่านตอบว่า "ดูเหมือนจะมีเหมือนกันแหละที่มันบินมาตอม ๆ เอา ปัทโธ่ ! จะกลัวอะไรกันกับยุงตัวมันนิดเดียว มันอยากกัดก็ปล่อยให้มันกัดซีน่า" เมื่อมาคิดดูแล้วนัยเป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน ท่านอาจารย์นั่งอยู่ที่เฉลี่ยงทั้งคืน แต่ดูเหมือนไม่เห็นร่องรอยว่าโดนยุงกัดมากมายอะไร ยุงจะกัดท่านอาจารย์หรือเปล่าไม่มีใครทราบ แต่ทำให้คิดถึงคำสอนของท่านอาจารย์ว่า อะไรที่เราไม่รู้จริง หรือรู้จริงก็อย่าได้เที่ยวโอ้อวด "เดี๋ยวคนจะหาว่าเราโม้ จริงไหมล่ะ" สมัยหนึ่งหน้าประตูห้องท่านอาจารย์มีกระดาษติดเอาไว้ พร้อมกับข้อความตัวโรว่า "คนโง่ เอาใจไว้ที่ปาก คนฉลาด เอาปากไว้ที่ใจ" แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:17 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
เมตตาต่อสุนัขขี้เรื้อน
หลายปีมาแล้ว ใครไปใครมาที่กุฏิท่านอาจารย์คงพอจะจำเจ้าแดงสุนัขขี้เรื้อนได้ เจ้าแดงมีลักษณะสูงใหญ่ขนาดสุนัขพันธุ์ไทยทั่วไป อ้วนนิด ๆ ลักษณะดีแทบทุกอย่าง มีข้อเสียอย่างเดียวคือ มันเป็นขี้เรื้อน เจ้าแดงถือบัตรเบ่งขึ้นมานอนเฝ้าท่านอาจารย์ที่ใต้โต๊ะที่ท่านใช้เขียนหนังสือบ้าง อ่านหนังสือบ้าง เวลาแขกไปใครมามันจะเกาขี้เรื้อนแกรกกราก และส่งกลิ่นหึ่งไปทั่ว ถ้าคนอื่นไล่มันจะไม่ไป ต้องให้ท่านอาจารย์ไล่มันถึงจะไป บางทีก็ดื้อแพ่งต้องให้ท่านอาจารย์ขึ้นเสียงดุมันถึงจะทำอิดออดค่อย ๆ ลงกระไดไป พวกลูกศิษย์ต่างพากันย่นจมูก และกระเถิบหนีเวลาเจ้าแดงเฉียดกายมาใกล้ ๆ แต่ท่านอาจารย์จะเฉย ๆ ไม่แสดงอาการรังเกียจแต่อย่างใด ใคร ๆ คิดว่าอีกหน่อยมันคงต้องตายแน่ ๆ เพราะสารรูปดูแย่เต็มทน ระยะหลังมันจะซึม ๆ และชอบหลบไปนอนใต้ตู้หน้าครัว ใคร ๆ จึงลืมมันไปพักใหญ่ ต่อมาอีกไม่นานมีสุนัขขนสีน้ำตาลแดงสวย ตัวหนึ่งมาเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถวกุฏิ ผู้คนจึงถามกันใหญ่ว่าสุนัขตัวใหม่มาจากไหน ปรากฏว่าสุนัขตัวใหม่ไม่มี มีแต่เจ้าแดงนี่แหละ แต่ท่านอาจารย์แปลงโฉมให้มันใหม่ โดยขอให้ศิษย์ท่านหนึ่งเอาน้ำมันเครื่องผสมกับกำมะถันทาแก้ขี้เรื้อน นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงเมตตาจิตของท่านที่มีต่อสัตว์โลก วันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชานอกจากเป็นวันสำคัญทางศาสนาแล้ว ยังเป็นวันที่ท่านอาจารย์จัดให้มีพิธีมอบรางวัลให้เด็กที่หมั่นเพียรเรียนหนังสือ จนสอบได้คะแนนเฉลี่ย ๘๐% ขึ้นไป ในวันนี้จะมีเด็กนักเรียนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยมาร่วมจับฉลากเพื่อรับรางวัลจากท่านอาจารย์ ก่อนเริ่มพิธีก็มีการสวดมนต์ไหว้พระก่อน ท่านอาจารย์บอกว่าที่ให้รางวัลไม่ใช่เพราะพ่อแม่เขาไม่มีปัญญาซื้อให้ลูก พ่อแม่บางคนซื้อของรางวัลให้ลูกมีราคามากกว่าที่ท่านแจกเสียอีก แต่การที่ท่านจัดให้มีพิธีมอบรางวัลดังกล่าวเป็นการเร้าใจเด็กให้เกิดความพากเพียร และภาคภูมิใจในความขยันมั่นเพียรของตนเป็นการสร้างคนด้วยวิธีทางอ้อมอีกอย่างหนึ่ง ส่วนการเลือกจัดในวันวิสาขบูชานั้น จุดประสงค์เพื่อให้เด็กได้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเล็ก ในวันนั้นพวกเด็ก ๆ รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองจะตื่นเต้นสนุกสนานกันมาก ตลอดงานมีไอศกรีม ขนมน้ำหวานเลี้ยง เด็ก ๆ ต่างคอยฟังว่าเมื่อไรจะถึงคราวตัวเองออกไปรับรางวัล เมื่อประกาศชื่อผู้ใดได้คะแนนสูงเป็นพิเศษ ก็จะมีเสียงฮือฮาพร้อมกับปรบมือดังสนั่น รางวัลส่วนใหญ่จะเป็นของเล่น เครื่องกีฬา หรือไม่ก็เป็นหนังสือ และเครื่องเขียนที่ใช้ประกอบการเรียน ครั้งแรก ๆ ของรางวัลจะไม่มีการห่อกระดาษ วางอวดให้เห็นกันชัด ๆ เลยทีเดียวว่า ฉลากเบอร์ไหนมีรางวัลเป็นอะไร แต่ต่อมาปีหนึ่ง มีหนูน้อยคนหนึ่งหมายตาของเล่นชิ้นหนึ่งไว้ว่าจะต้องจับฉลากเบอร์นี้ให้ได้แต่จับฉลากแล้วเผอิญไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่หนูน้อยผู้นี้อยากทำมากที่สุดในเวลานั้นก็คือร้องไห้แงขึ้นกลางงาน ตั้งแต่นั้นมาท่านอาจารย์เลยขอให้กรรมการแผนกจัดหาของขวัญห่อของรางวัลทุกอย่างให้มิดชิด เด็กนักเรียนที่เคยได้รับรางวัลจากท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่มักจะมีโอกาสศึกษาต่อในสถาบันชั้นสูง หรือไม่ก็มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีเหมาะสม บางคนได้รับเหรียญทอง บางคนได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ และได้ทุนการศึกษาจากในหลวงองค์ปัจจุบัน (ทุนภูมิพล) สอนเด็กไม่ให้กลัวผี (คัดลอกมาจากเทปของผู้ปกครองคนหนึ่ง) วันหนึ่งมีผู้ปกครองนำเด็กหญิงน่ารักมากราบท่านอาจารย์ ขอให้ท่านสอนเด็กคนนี้ผู้ซึ่งชอบฟังเรื่องผีจากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนแล้วกลัวกลับมานอนคลุมโปงที่บ้านทุกวัน ใคร ๆ จะบอกอย่างไรก็ไม่เชื่อ ท่านอาจารย์ฟังแล้วจึงบอกกับแม่หนูคนนั้นอย่างเมตตาว่า "หนูจ๋าผีไม่ต้องกลัว อย่าไปเชื่อเพื่อนเขา หนูเป็นคนดีไม่อิจฉาริษยาใคร ผีมันไม่มาทำอะไรได้หรอก หนูท่องพุทโธ พุทโธ เข้าทุกวันสิ ผีมันกลัวคนท่องพุทโธ มันไม่กล้ามาหรอก แล้วอีกอย่างเรื่องนอนคลุมโปงน่ะ ไม่ดีเดี๋ยวหนูจะหายใจไม่ออก เดี๋ยวจะไม่สบายไป" แม่หนูคนนั้นได้ฟังแล้วยิ้มออก รีบบอกว่า "จริงเจ้าค่ะ เวลาหนูนอนคลุมโปงแล้วเหงื่อแตกพลั่ก หนูหายใจไม่ค่อยออก" เมื่อผู้ปกครองพาเด็กหญิงน้อยกลับบ้านไปแล้ว ตอนหลังมาเล่าว่าเด็กจะเลิกกลัวผีหรือยังก็ไม่ได้ถามอีก เพราะนับตั้งแต่วันนั้นมาเด็กผู้นั้นไม่เคยนอนคลุมโปงอีกเลย แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:18 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
วิธีทำสมาธิของหลวงปู่ครูบาชุ่ม
ท่านอาจารย์จดวิธีทำสมาธิตามคำบอกเล่าของหลวงปู่ครูบาชุ่ม เก็บไว้ด้วยลายมือของท่านเอง แม้เมื่อท่านอาพาธครั้งหลังสุด ท่านก็นำสมุดจดข้อความนี้ติดตัวไปโรงพยาบาลด้วย มีใจความย่อต่อไปนี้คือ (ศิษย์ผู้ที่ท่านอนุญาตให้คัดลอกจดแต่หัวข้อสำคัญ) สัคเค ๓ ครั้ง ชุมนุมเทวดาให้โปรดมารักษาตัวเอง และท่านผู้มีพระคุณ ตลอดจนถึงพระราชา พระราชินี พระโอรส พระธิดา และประเทศไทยให้มีความสุขไม่มีอันตราย แล้วระลึกถึงพระอุปัชฌาย์ (พระจันต๊ะ วัดวังมุย วัดเจดีย์ขาว) แล้วว่าคาถาป้องกันสิ่งชั่วร้าย "ตรังเม ยาจามะ" แล้วยกมือขวาผลักไปทุกทิศ เสร็จแล้วให้ภาวนาดังนี้ ๑. อิติปิโส (๓ ครั้ง) ๒. อิติปิโส ภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ (๓ ครั้ง) ๓. สัมพุทโธ (๓ ครั้ง) ๔. พุทโธ เอาไว้ที่หน้าอก ภาวนาจนกว่าจะเหนื่อย ไม่รู้สึก แล้วนึกถึง พระพุทธเจ้า ว่าเดิมท่านเป็นเจ้าชายโอรสของกษัตริย์มีความสุขสบายอยู่ในพระราชวังอันวิจิตร ด้วยเหตุอันใดท่านถึงยังนึกออกบวช ทรมานพระวรกายถึง ๖ ปีกว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น ตัวเราเองก็ต้องอดทนทรมานอย่างนี้เหมือนกัน บริกรรมพุทโธเรื่อยไป จนเกิดปิติน้ำตาไหลแล้วพักเงียบ ๆ ถ้ารู้สึกตัวเบาลอยไปในอากาศให้หยุดนิ่ง ภาวนา " พุทโธ " อีก ถ้าเห็นดาวเดือนในอากาศให้หยุด ภาวนา " พุทโธ " อีก ถ้าเห็นภูเขาล้อมรอบตัวเราให้หยุด ปีติ ๕ ทำให้อิ่มอกอิ่มใจ มายุ่งใจจะให้พ่ายแพ้ ต่อไปแม้จะมีรูปสัตว์เข้ามาทำร้ายก็ไม่กลัว ว่า "พุทโธ" เรื่อยไปจนสัตว์นั้นหายไปหมด นี่เป็นวิธีค้นหาสมถะ พบแล้วทำให้คล่อง ขั้นวิปัสสนา ให้ท่อง นามรูปัง อนิจจัง นามรูปัง ทุกขัง นามรูปัง อนัตตา แล้วไหว้ เลือกบทใดบทหนึ่งภาวนาต่อ พิจารณาให้เห็นถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูโลกให้เป็นอนัตตาทั้งหมด แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:19 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
สั่งศิษย์ซื้อขมิ้นและผ้าขาว
ก่อนที่ท่านอาจารย์จะมรณภาพได้ ๗ วัน ท่านสั่งลูกศิษย์ผู้มาค้างคืนอยู่เวรปฏิบัติท่านซื้อขมิ้นและผ้าขาว ๓๐ ผืน พร้อมกับสั่งไม่ให้บอกใคร ศิษย์ท่านนั้นเห็นท่าไม่ได้การจึงกราบเรียนว่า " นิมนต์อยู่ก่อนนะครับท่าน อย่าเพิ่งไปเลย " ท่านอาจารย์ไม่ตอบว่าอะไร แต่วันต่อมาท่านมีคำสั่งใหม่ว่าไม่ต้องซื้อขมิ้นกับผ้าขาวแล้ว "เดี๋ยวใคร ๆ จะตกใจ" ครั้นเมื่อท่านอาจารย์มรณภาพอย่างกะทันหัน ศิษย์ท่านนั้นนึกขึ้นมาได้ นับวันย้อนขึ้นไปถึงวันที่ท่านสั่งให้ซื้อของครบ ๗ วันพอดี ทิ้งขันธ์ หลังออกจากโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายท่านอาจารย์เคยพูดว่าท่านคงจะอยู่ต่อไปได้อีกนาน แม้ในวันเกิด (๑๘ ส.ค. ๒๕๓๒) ท่านยังเล่าอาการของท่านให้ท่านคณบดีแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงสภาพปอด และหัวใจว่าตรวจแล้วปกติไม่มีอะไร จะมีก็แต่ต้องระวังเรื่องพูดคุยไม่ให้นานเกินไป เพราะอดีตท่านเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือขอร้องไว้ " แต่อาจารย์ก็ชอบพูดคุยเสียด้วย " ท่านดูแข็งแรงดี ไม่มีวี่แววของความเจ็บป่วย แม้กระทั่งวันต่อมาที่จัดงานฉลองวันเกิด ท่านก็ยังเป็นปกตีดี ศิษย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งลงทุนนั่งเฝ้าหน้าประตูห้องไว้ ไม่ให้ใครเข้าไปรบกวนเกรงว่าท่านจะเหนื่อย ใครอยากกราบก็ขอร้องให้กราบข้างนอก พอได้เวลาก็ปิดประตูให้ท่านพักผ่อนจำวัดทันที ครั้นต่อมาอีกไม่นานอาการเบื่ออาหาร พร้อมกับหอบเป็นพัก ๆ ก็เริ่มอีก อาการแบบนี้สลับไปมาบ่อย ๆ กับอาการปกติ เลยไม่ค่อยจะมีใครตกใจมาก อีกทั้งคุณหมอท่านก็มาตรวจดูแลเอาใจใส่อย่างดีเป็นประจำอยู่แล้ว คืนวันอังคารที่ ๕ กันยายน ท่านอาจารย์สั่งให้ศิษย์ฆราวาสที่มาปรนนิบัติท่าน ให้หยิบเงิน ๑๐ บาท ออกมาทำบุญเดี๋ยวนั้น ศิษย์ท่านนั้นไม่เข้าใจว่า ทำไมท่านอาจารย์สั่งให้หยิบเงินของท่านมาทำบุญ ซึ่งเงินที่ทำบุญใส่ลงไปในกระป๋องนั้น ก็คือเงินที่หยิบออกมาจากกระป๋องนั้นนั่นเอง เลยหยิบเงินของตัวเองออกมาทำบุญกับอาจารย์ ๑๐ บาท ท่านอาจารย์สวดบังสุกุลแผ่เมตตาจิต และกล่าวคำอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เสร็จแล้วพระลูกศิษย์ก็ได้มาอยู่เวรต่อตลอดคืน โดยนอนอยู่หน้าเตียงของท่าน ก่อนจำวัดท่านอาจารย์กล่าวคำอำลาพระลูกศิษย์ และเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาท่านอาจารย์ก็ทิ้งขันธ์ ( เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งศิษย์ฆราวาส และพระลูกศิษย์องค์นั้น เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ท่านอาจารย์เป็นพระคู่สวดให้ ) ศิษย์อาวุโสผู้ที่ท่านอาจารย์มอบความไว้วางใจให้ท่านหนึ่ง เคยปรารภล่วงหน้านี้ไม่กี่เดือนว่า "กำลังใจของท่านที่จะอยู่ต่อไปน่ะมี แต่ผมเกรงว่าร่างกายของท่านจะไปไม่ไหวเท่านั้นเอง" เคยมีผู้อาราธนาให้ท่านอาจารย์อยู่ต่อไปอีกนาน ๆ โดยอ้างว่าผู้นั้นยังเอาตัวไม่รอดในการปฏิบัติ ขอให้ท่านอยู่สอนต่อไปก่อน ท่านตอบว่าอย่ากลัวไปเลย ให้อ่านธรรโมวาทโดยย่อของสมเด็จพระวันรัต (ทับ) ที่ท่านอาจารย์คัดมาแจก อ่านทุก ๆ วัน วันละเล็กวันละน้อย แล้วตั้งใจพิจารณาอีกหน่อยก็จะรู้เอง (ภายหลังคุณหญิงท่านหนึ่ง รวบรวมพิมพ์ถวายท่านอาจารย์เป็นธรรมบรรณาการ ตั้งชื่อหนังสือว่าหลวงปู่คัดมาให้) ท่านอาจารย์จากไปแล้ว สิ่งที่เหลือก็คือ คำแนะนำสั่งสอนที่ทิ้งไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อว่าพรที่ท่านให้จะสัมฤทธิผลเป็นปัจฉิม " ขอให้ไปพระนิพพานกันทุก ๆ คนนะ " น้อมนมัสการด้วยความรักและเคารพยิ่ง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:20 |
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
พระ เถระปฏิบัติต้อง พุทธธรรม
ภาวนา ดับนิวรณ์นำ จิตว่าง ปัญญา เกิดเห็นธรรม ดับอ- วิชชาแฮ วิสุทธิ์ ด้วยกิเลสสร้าง ปล่อยสิ้นปัญจขันธ์ อำ ไพจิตท่านแจ้ง รู้เห็น ธรรมแฮ พัน หมื่นยากหาเช่น ท่านได้ บุญ- กุศลท่านมิเว้น เพียรก่อ เสมอนา หลง โลภโกรธท่านไร้ หลุดพ้นสงสาร อา ลัยโพธิ์พฤกษ์ล้ม โค่นลง ภ ควสาวกปลง ชีพม้วย ร วิดั่งเกียรติท่านคง ปรากฏ นิรันดร์แฮ โณ จิตนบกายด้วย นบน้อมบูชา |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|