กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๑ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5029)

ลัก...ยิ้ม 10-06-2016 19:39

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๑
 
พระธรรม ในเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑

สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. การรักษาอารมณ์ของจิต จักต้องเพียรดูอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอ จักเห็นสังขารอันเป็นอารมณ์ปรุงแต่งไปตามสัญญา หรือความจำอยู่เนือง ๆ เป็นต้นเหตุของความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) เป็นหนทางแห่งความทุกข์ (ให้เกิดทุกข์) เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องเกิดสืบไปในภายภาคหน้า พึงเห็นการทำงานของจิต นั่นแหละจึงจักเกิดปัญญาเห็นการทำงานของรูปและนามได้ เป็นหนทางการเห็นทุกข์อย่างแท้จริง และเป็นแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

ลัก...ยิ้ม 13-06-2016 12:00

จำไว้ว่า ความตั้งใจจักไปพระนิพพานอย่างเดียวนั้น.. ยังไม่ใช่แนวทางปฏิบัติ เพียงแค่ตั้งเป้าหมายจักเดินทางไปจุดนั้น จักต้องเตรียมอาหาร – ค่าใช้จ่าย – ยานพาหนะ สิ่งจำเป็นต่าง ๆ ให้พร้อมก่อน วิธีปฏิบัติที่จักไปให้ถึงซึ่งพระนิพพานก็เช่นกัน จักต้องมี ศีล – สมาธิ – ปัญญาพร้อมจึงจักไปได้ แต่มิใช่จำ ศีล – สมาธิ – ปัญญา ได้ด้วยความรู้แค่สัญญา คือความจำเท่านั้น (รู้แค่ปริยัติแต่ยังมิได้ปฏิบัติจัดเป็นหนูที่ขุดรูไว้ แต่มิได้อยู่) ต้องมีความตั้งใจมั่นใน ศีล – สมาธิ – ปัญญา ด้วย กาย – วาจา – ใจ ให้พร้อมในคราวเดียวกัน นั่นแหละคือการปฏิบัติ ธรรมเหล่านี้จักครบอยู่ในจิตก็ต้องอาศัยบารมี ๑๐ ประการเข้าคุมใจให้พร้อม นั่นแหละการปฏิบัติใน ศีล – สมาธิ – ปัญญา จักไม่บกพร่องแม้แต่วินาทีเดียว

ลัก...ยิ้ม 17-06-2016 19:22

เช่น

- ทานบารมี การให้ทานคือการสละออกอยู่ตลอดเวลา มีศีล ๕ คือสละความชั่ว ๕ ประการทิ้งไป มีศีล ๘ สละความชั่ว ๘ ประการทิ้งไป มีศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗ ก็สละแม้อภิสมาจารของเณรของพระทิ้งไป มีกรรมบถ ๑๐ ก็สละความชั่ว ๑๐ ประการทิ้งไป ทิ้งไปจากกาย – วาจา – ใจ คือมีศีลพร้อมอยู่ในกาย – วาจา –ใจนี้

ลัก...ยิ้ม 24-06-2016 17:03

- ศีลบารมี การรักษาศีล มีกำลังใจรักษาศีลเต็มอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีจิตคิดละเมิดศีล ทางจิตไม่คิด ทางกายไม่ทำ ทางวาจาไม่พูดให้ผิดข้อบัญญัติของศีลนั้น ๆ อาบัติแปลว่าบาป ศีลทุกข้อมีโทษแก่จิตทุกข้อ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงเห็นโทษ คือบาปอันเกิดขึ้นกับกาย – วาจา – ใจ จึงบัญญัติศีลขึ้นมาเพื่อให้พุทธบริษัทได้สำรวมกาย – วาจา – ใจ ไม่ให้ละเมิดในศีลนั้น ๆ

ลัก...ยิ้ม 29-06-2016 17:01

- เนกขัมมะบารมี การถือบวชด้วยกาย – วาจา – ใจในศีลนั้น ๆ มีความพร้อมหรือยัง ?

ลัก...ยิ้ม 06-07-2016 17:08

- ปัญญาบารมี ใช้ปัญญาใคร่ครวญในศีล - สมาธิ - ปัญญา ให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาแล้วหรือยัง ที่รู้อยู่นั้น.. รู้ด้วยสัญญาหรือปัญญา

ลัก...ยิ้ม 21-07-2016 18:21

- วิริยบารมี ดูกาย – วาจา – ใจ มีความเพียรใน ศีล – สมาธิ – ปัญญา เป็นปกติหรือไม่

ลัก...ยิ้ม 28-07-2016 17:05

- ขันติบารมี มีความอดทนต่อความชั่วที่เข้ามายั่วยุ กาย – วาจา – ใจ ให้ละเมิดใน ศีล – สมาธิ – ปัญญา หรือไม่

- สัจจะบารมี พูดจริง – ทำจริงใน ศีล – สมาธิ – ปัญญา ทั้ง กาย – วาจา – ใจ

ลัก...ยิ้ม 02-08-2016 16:47

- อธิษฐานบารมี มีจิตตั้งมั่นในพระนิพพานหรือไม่ การรักษา ศีล – สมาธิ – ปัญญา ให้ครบทั้ง กาย – วาจา – ใจ ในหลักของพระพุทธศาสนา มีจุดมุ่งหวังอยู่ที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น ตรวจดู กาย – วาจา – ใจ ของตนเอง ยังตั้งมั่นอยู่หรือไม่

ลัก...ยิ้ม 08-08-2016 17:15

- เมตตาบารมี มีความรัก ความสงสารตนเอง คือจิตที่จักต้องไปตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ เวียนว่ายตายเกิดด้วยกรรม คือการกระทำของ กาย วาจา ใจ วนอยู่ในวัฎสงสาร เพราะละเมิด ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้กระทำเพื่อพระนิพพาน ทำเพื่อหวังผลตอบแทน นี่เป็นการขาดเมตตาแก่ตนเอง เมื่อขาดเมตตาตนเอง ก็ขาดเมตตาไปยังบุคคลอื่น สัตว์ วัตถุธาตุต่าง ๆ ด้วย

ลัก...ยิ้ม 18-08-2016 18:26

- อุเบกขาบารมี ความวางเฉยในกฎของกรรม รู้ต้นสายปลายเหตุในกฎของกรรมที่เข้ามาถึงตนเอง วางเฉยได้แล้วหรือยัง ? รู้ต้นสายปลายเหตุในกฎของกรรมที่ปรากฏแก่บุคคลอื่นนี้วางเฉยได้แล้วหรือไม่ ? อุเบกขาจักเกิดขึ้นได้พร้อม เมื่อ กาย – วาจา – ใจ ถึงพร้อมด้วย ศีล – สมาธิ – ปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในกองสังขารทั้งปวง การปล่อยวางจึงจักเป็นอุเบกขาญาณแท้ เห็นกฎของกรรมเป็นไปอย่างนี้แหละ รักษาบารมี ๑๐ เพียงเท่านี้ ศีล – สมาธิ – ปัญญา ก็พร้อมอยู่ใน กาย – วาจา – ใจ ทุกเมื่อ คนที่ปรารถนาจักไปพระนิพพาน จักทิ้งบารมี ๑๐ ไปไม่ได้เลย จงทำให้เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียวที่จิตนี้ เพราะจิตเป็นใหญ่ในธรรมปัจจุบันอยู่เสมอ ฝึกกำลังใจให้ตั้งมั่นพร้อมอยู่ใน ศีล – สมาธิ – ปัญญา ด้วยบารมี ๑๐ ประการเป็น ๓๐ ทัศแล้ว จุดนั้นแหละเป็นแนวทางสู่พระนิพพานได้อย่างแท้จริง

ลัก...ยิ้ม 26-08-2016 15:51

๒. อย่ากังวลใจในเหตุการณ์ที่จักเกิดขึ้นต่อไปในภายภาคหน้าทั้งปวง จงทำทุกอย่างให้เป็นหน้าที่ จักได้ไม่มีความหนักใจ พึงใช้ปัญญาพิจารณาเหตุการณ์ทั้งหลาย ให้เป็นอารมณ์พระกรรมฐานและอย่าท้อแท้ ให้รักษาอารมณ์ของจิตให้เข้มแข็งเข้าไว้

๓. มองธรรมดาให้เห็นเป็นธรรมดา ร่างกายมีสภาพไม่เที่ยงอยู่เป็นปกติ และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจักแก้ไขให้มันเที่ยงได้ การปฏิบัติจึงต้องมุ่งเอาที่จิตใจ เพราะจิตเป็นเรา เป็นของเราแก้ไขได้ อย่าไปแก้ที่ร่างกายซึ่งมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ธรรมของกายและของจิตมันก็เป็นปกติอยู่อย่างนั้น การทำใจให้ยอมรับปกติธรรมของร่างกายหรือรูป – นาม หรือขันธ์ ๕ จักต้องมีบารมี ๑๐ เกาะติดเป็นกำลังใจให้สมบูรณ์ จึงจักมีมรรคมีผลของการปฏิบัติธรรมได้ครบ

ลัก...ยิ้ม 01-09-2016 18:45

๔. ให้เห็นความเป็นจริงของร่างกาย ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ อริยสัจข้อต้น (ทุกขสัจ ต้องมีสติกำหนดรู้จึงจักรู้ – จักเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา เป็นปกติธรรมดา) คือต้องเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยง เกิด – เสื่อม – ดับอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับร่างกาย จักยึดเอาอะไรเป็นที่พึ่งไม่ได้สักอย่างเดียว พิจารณาให้มากจักได้มีความเบื่อหน่ายในชีวิต แล้วที่สุดก็จักปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลก รวมทั้งขันธ์ ๕ ให้เป็นไปตามกฎของธรรมดา หรือกฎของกรรมซึ่งเป็นตัวเดียวกัน จนในที่สุดก็จักทิ้งโลกทั้ง ๓ (มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก) เพื่อมุ่งพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น อย่าไปเห็นอะไรในโลกว่าเต็มไปด้วยความจีรังยั่งยืนเป็นอันขาด เหนื่อยมากก็ทุกข์มาก โครโง่ก็ให้เกิดมาพบกับความเหนื่อยความทุกข์อีกต่อไป ใครอยากพ้นทุกข์ก็จักต้องพิจารณาตามกฎของความเป็นจริง คืออริยสัจ ก็จักสามารถไปพระนิพพานได้ในชาติปัจจุบัน

ลัก...ยิ้ม 08-09-2016 17:14

๕. หมู่นี้ร่างกายเหนื่อยจัด.. การพิจารณาบทพระกรรมฐานย่อมไม่ปลอดโปร่ง ให้กำหนดสมถภาวนาเป็นองค์ประจำ เพื่อบรรเทาอาการเหนื่อยด้วยบท อิติปิ โส ภควาฯ ทั้งบท การเจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จักช่วยบรรเทาอาการเหน็ดเหนื่อยของร่างกายลงได้ (ในการทำพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลที่ถูกต้องนั้นก็ใช้ พุทธคุณ – ธรรมคุณ – สังฆคุณ ทั้งสิ้น เพราะในจักรวาลนี้ไม่มีพระคุณใดที่จะยิ่งไปกว่าคุณของพระรัตนตรัยนี้อีก หากพิธีใดมีบุคคลใดใช้พระคุณหรือบารมีของตนเองปลุกเสกแล้ว จัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำไป ๓ เดือน – ๓ ปี ก็ยังไม่เท่ากับบารมีคุณของพระพุทธเจ้าแค่นาทีเดียว)

การพิจารณาให้เห็นทุกข์ของการงานที่ทำอยู่นี้ เนื่องจากการมีร่างกาย ไม่ทำไม่หาก็จักอยู่ไม่ได้ หรือลำบากมากต่อไปในภายหน้า จึงจำเป็นที่จักต้องอดทนทำเพื่อร่างกายให้มีชีวิตรอดไปได้ ทั้งนี้ให้ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา ขอให้ตั้งใจไว้ว่า.. ทุกข์ยากลำบากครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ตายเมื่อไรตั้งใจเอาไว้เลยว่าจักไม่มาเกิดอีก จิตตั้งมั่นจักไปที่เดียวคือพระนิพพาน หากร่างกายไม่ดีให้นึกถึงมรณาฯ และอุปสมานุสติ ให้มาก จักได้ไม่ประมาทในชีวิต

ลัก...ยิ้ม 22-09-2016 18:06

๖. อย่ากังวลกับงานทางโลก และเหตุการณ์ใด ๆ ของโลกซึ่งกำลังตึงเครียด ข่าวร้ายใด ๆ เข้ามากระทบก็ให้เห็นเป็นกฎของกรรม เป็นกฎธรรมดาของโลกที่แก้ไขอะไรไม่ได้ โลกก็เป็นอยู่อย่างนี้แหละ เพราะไม่เที่ยง.. เดินเข้าหาความดับเป็นอนัตตาอยู่เป็นปกติทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ตถาคตเจ้าแต่ละพระองค์ในสมัยยังทรงชีวิตอยู่ สภาวะข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง เกิดทุพภิกขภัยต่าง ๆ ก็มีอยู่ทุก ๆ พุทธันดร ซึ่งจุดนั้นคนจักเป็นทุกข์มาก ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมก็จักมีมาก

แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่ยังมีกิเลสหนา ทะยานอยากมาก (มีตัณหามาก) ก็จักดิ้นรน – แสวงหาทรัพย์ – หาลาภ – หายศด้วยความเร่าร้อน หาเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ยิ่งดิ้นรนมากเท่าไรก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น เพราะเขาไม่เห็นทุกข์ ทั้ง ๆ ที่ตายไปเขาก็เอาอะไรไปไม่ได้ เพราะเป็นสมบัติของโลก ซึ่งไม่มีใครสามารถจักเอาไปได้ เพราะความ โลภ – โกรธ – หลง เต็มจิต ติดใจติดกายอยู่จนกระทั่งวันตาย

ยกเว้นพวกมีบารมีธรรมสูง (บารมี ๑๐ ประการ) มีปัญญารู้ธรรมของโลก และธรรมพ้นโลก คือ ศีล – สมาธิ – ปัญญา... ทาน – ศีล – ภาวนา ช่วยตัดอารมณ์ โลภ – โกรธ – หลง ได้ตามลำดับ จนดับสนิทเป็นสมุจเฉทปหาน ก็จักเอาสมบัติของโลกซึ่งเอาไปไม่ได้ แต่หากเชื่อและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ในเรื่องทานบารมี จากกำลังใจมีบารมีต้น ๆ หยาบ ๆ แล้วเจริญเป็นขั้นกลาง เป็นอุปบารมี และปรมัตถบารมีตามลำดับ ก็สามารถจักเอาสมบัติของโลก (โลกียทรัพย์) ไปเป็นอริยทรัพย์ (โลกุตรทรัพย์)

การทำทานเพื่อตัดความโลภจนชินกลายเป็นจาคะ เป็นจาคานุสติในทาน มีปัญญาเห็นความละเอียดของทาน จากทาสทาน – สหายทาน – สามีทานตามกำลัง เป็นสังฆทาน – วิหารทาน – ธรรมทานภายนอก – ธรรมทานภายใน แล้วจบลงที่อภัยทาน หากทำได้ทรงตัว สังขารุเบกขาญาณเกิดขึ้นทรงตัว ก็จบกิจในพระพุทธศาสนา (ผมไม่ขอเขียนรายละเอียด เพราะธรรมในพุทธศาสนาเป็นปัจจัตตัง ถึงแล้วจึงจะรู้ได้เองเฉพาะตน ของใครของมัน กรรมใครกรรมมัน อธิบายเท่าไรก็ไม่มีทางรู้จริงได้ ทุกอย่างล้วนมีระดับจากหยาบ – กลาง – ละเอียด เหมือนกับอารมณ์พระโสดาบันมี ๓ ระดับนั่นแหละ แม้ตัวผมเองก็ต้องรู้ว่าตนเองปฏิบัติได้แค่ไหน ยังเหลืออยู่อีกเท่าไรก็ต้องรู้)

ลัก...ยิ้ม 30-09-2016 18:55

๗. สถานการณ์ของโลกยิ่งร้อนแรงขึ้นทุกวัน ก็ต้องอดทนใช้บารมี ๑๐ ช่วยเพิ่มกำลังใจให้เต็มอยู่เสมอ พิจารณาให้เห็นทุกข์ตามหลักของอริยสัจ ก็จักมีดวงตาเห็นธรรมได้มากขึ้น ทุกอย่างให้พิจารณาลงตัวธรรมดาเข้าไว้จักไม่พลาดเป้าหมาย คือทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว จงอย่าประมาทในชีวิต เพราะความตายย่อมมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ปฏิบัติเพื่อตัดกิเลสให้ลดน้อยลง (อารมณ์โลภ – โกรธ – หลง) โดยใช้สังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดใจ แต่ทางลัดก็จงอย่าทิ้ง รู้ลม – รู้ตาย – รู้นิพพาน ทุกข์เสียให้พอ ต่อไปจักไม่ต้องกลับมาทุกข์อย่างนี้อีก อย่าละความเพียร หรือท้อแท้เสียอย่างเดียว เพราะเป็นชาติสุดท้ายแล้ว ทำอะไรอย่าหวังผลตอบแทน ทำเพื่อพระพุทธศาสนา และพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้นเป็นพอ

ลัก...ยิ้ม 07-10-2016 17:26

๘. เวลานี้ภัยพิบัติของธรรมชาติ เริ่มจักเยือนโลกมากขึ้นทุก ๆ ขณะ เพราะคำว่าโลกแปลว่ามีความฉิบหายไปในที่สุด โลกนี้มีทุกขังเป็นเบื้องต้น (ไม่สามารถจะทรงตัวอยู่ในสภาพเดิมได้) มีอนิจจัง (ไม่เที่ยงแท้แน่นอน) เป็นท่ามกลาง มีความอนัตตาไปในที่สุด (สลายตัวไปจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง เช่น วันนี้กินอาหารเข้าทางปาก พรุ่งนี้กลายเป็นขี้ สีเหลืองเหมือนกันหมด แยกไม่ออกว่าของเดิมมันเป็นอะไรบ้าง)

จิตจักได้เห็นความจริงของโลกให้มาก ทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน คือขันธโลกหรือร่างกาย หรือขันธ์ ๕ เมื่อเห็นความจริงแล้ว จิตจักได้มีความเบื่อโลก ไม่ต้องการเกิดมาในโลกนี้อีก เพราะจิตจักเห็นทุกข์ของการดำรงชีวิตอยู่ในโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกันจิตเมื่อรู้ความจริงแล้ว ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนไม่เที่ยง (อนิจจา วะตะสังขารา) แต่อุปาทานยึดมั่นถือมั่นมันคิดว่าเที่ยง ทุกข์เกิดขึ้นกับจิตเพราะเหตุนี้ (อุปาทะวะยะ ธัมมิโน) หากวางอุปาทานตัวยึดมั่นถือมั่นลงได้ จิตก็จักพ้นจากความทุกข์ (อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ) การไม่เกิดมามีร่างกาย (ขันธ์ ๕) อีก จึงเป็นยอดของความสุข หรือพระนิพพานเป็นยอดของความสุข (เตสังวูปะสะโม สุโข)

ลัก...ยิ้ม 14-10-2016 15:23

๙. เรื่องเหล่านี้ มิใช่พูดให้กลัว แต่พูดเพื่อให้ระมัดระวัง ถ้าหากมีเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ เกิดขึ้น จักได้มีสติสัมปชัญญะทรงตัว รับรู้ และสามารถแก้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ ดีกว่าอยู่อย่างไม่รู้ หรือรู้แล้วไม่ได้เตรียมอะไรเอาไว้เลย ก็เป็นการประมาทอย่างยิ่งเช่นกัน ในกรณีตระเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อสู้วิกฤติการณ์ของโลกนั้น จงอย่าเสียดายเงิน เพราะเงินทองแทบจักไม่มีความหมาย เพราะข้าวของจักมีราคาสูงขึ้นมาก และแทบจักหาซื้อไม่ได้ การเกิดมามีร่างกายในโลกใบนี้ จักต้องทนได้ทุกกรณี ให้เห็นเป็นธรรมดาของโลกให้มาก จักได้เบื่อหน่ายแล้วเข็ด จนไม่อยากจักกลับมาสู้กับโลกที่ไม่เที่ยง และเต็มไปด้วยความทุกข์ มีความสลายตัวไปในที่สุดอย่างนี้อีก

ลัก...ยิ้ม 25-10-2016 16:54

๑๐. จงเป็นคนทำงาน อย่าทำตัวเป็นคนแบกงาน เพราะงานทางโลกไม่มีใครทำได้เสร็จสมบูรณ์หมดหรอก ทำแต่พอดี ๆ ในทางสายกลาง ใช้ปัญญาให้มาก ใช้สัญญาแต่พอควร จงเป็นนายของงาน อย่าให้งานมาเป็นนายเรา อย่าลืมอารมณ์จิตที่ติดงานเกาะงาน คือยังมิได้ลงมือทำงาน จิตก็วิตกกังวลในงานนั้น ๆ เสียก่อนแล้ว จงอย่าสร้างปัญหาเสียก่อนที่ปัญหาจักเกิด (จงอย่าทุกข์เสียก่อนทุกข์จักเกิด หรือจงอย่าตีตนไปก่อนไข้) แต่ทุกอย่างก็ลงอยู่ในเรื่องของความไม่ประมาททั้งสิ้น ให้ศึกษาธรรมที่ตรัสไว้ในข้อที่แล้วด้วย

ลัก...ยิ้ม 28-10-2016 11:35

๑๑. การพิจารณาเห็นทุกข์จากการมีร่างกายนั้นเป็นของดีและถูกต้องแต่จิตต้องไม่ทุกข์.. หงุดหงิดเศร้าหมองไปกับมัน ตามหลักจักต้องพิจารณาให้ลงตัวธรรมดาให้ได้ จุดนั้นนั่นแหละคือความถูกต้องที่แท้จริง การเตรียมงานจงอย่าเอาจิตไปเกาะทุกข์ล่วงหน้า ทุกอย่างทำไปตามหน้าที่แล้วรักษาอารมณ์ให้สบาย ๆ อย่าเครียด คอยปรับอารมณ์ลงมาสู่อารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ แม้งานจักยุ่งยากเพียงใด จุดนั้นแหละเป็นการวัดอารมณ์ของใจ อย่าให้เครียดหรือเหนื่อยตามงาน เวทนาที่มีอยู่นี้ไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา งานจำเป็นต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ แต่เมื่อเลิกแล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปเครียดตามงาน

ลัก...ยิ้ม 03-11-2016 18:54

๑๒. คุณหมอเองก็เช่นกัน การทำงานให้ระมัดระวังด้วย เพราะร่างกายแก่ตัวลงไปทุกวัน อย่าคิดแต่ประหยัดอย่างเดียว หากร่างกายเป็นอะไรลงไปก็ไม่คุ้ม อย่าคิดว่าหากป่วยก็มีคนอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ เมื่อถึงคราวล้มป่วยเข้าจริง ๆ จักมุ่งหวังให้ใครช่วยใครนั้นก็ยากเต็มที ต้องมุ่งช่วยตนเองเป็นหลักใหญ่ ทำอะไรให้ยึดหลักมัชฌิมาเข้าไว้.. แล้วจักมีความพอดีหมดทุกอย่าง ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม เวลากายเหนื่อยจากการทำงาน เมื่อพักหมั่นทำจิตให้สงบมากที่สุด จุดนั้นจิตจักได้พัก ร่างกายก็จักหายเหนื่อยได้เร็ว

ลัก...ยิ้ม 09-11-2016 19:19

๑๓. วัดท่าซุงนั้นอยู่ได้ถึง ๕,๐๐๐ ปี แต่ความเจริญหรือความเสื่อมนั้นย่อมมีเป็นของธรรมดา ในอดีตวัดท่าซุงก็เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด เสื่อมบ้าง เจริญบ้าง ธรรมดาของวัดก็เป็นอย่างนี้เอง จงพิจารณาให้เห็นโทษของจิตที่เกาะติดโลก และขันธโลก มองหาความจริงของโลกให้พบ โลกนี้ไม่เที่ยง โลกนี้เป็นทุกข์ โลกนี้มีความสลายตัวไปในที่สุด อะไรเป็นปัจจัย ? ก็ตัณหา ๓ นี่แหละครองโลก (อารมณ์โลภ – โกรธ – หลง) ซึ่งมิใช่เรื่องที่ผิดปกติ อดีตก็เป็นอย่างนี้ ปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ อนาคตก็เป็นอย่างนี้ โลกหาได้เป็นอื่นไปไม่ ให้พิจารณาจิตที่โลภว่า โลภทำไม ? โลภเพื่ออะไร ? (ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าตายแล้วเอาสมบัติของโลกไปไม่ได้) จิตที่โกรธก็เช่นกัน โกรธทำไม ? โกรธเพื่ออะไร ? มีคุณหรือมีโทษในความโกรธนั้น จิตมีความหลงก็เช่นกัน หลงทำไม ? หลงเพื่ออะไร ? มีคุณหรือมีโทษในความหลงนั้น ถ้ารักจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลพระนิพพาน จักต้องเป็นผู้สอบสวนอารมณ์จิตของตนเองไว้เสมอ จิตของคนอื่นช่างมัน

ลัก...ยิ้ม 16-11-2016 18:23

๑๔. อย่าสนใจกับความชั่วของบุคคลอื่นจักทำให้จิตเศร้าหมอง.. ขาดทุนทุกครั้งที่เผลอ จงอย่าเอาความชั่วของเขามาใส่ใจเรา แม้จักทำได้ยากก็จริง.. ก็ต้องอดทนทำให้ได้เพราะเป็นชาติสุดท้ายแล้ว กรรมใดที่เราไม่เคยก่อไว้ วิบากนั้น ๆ จักเกิดกับเรานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย จำไว้..จงอย่าไปชั่วตามเขา ให้รักษาอารมณ์อุเบกขาให้จงหนัก อย่าไปปรุงแต่งธรรม ให้เห็นธรรมดาของโลก คนไม่มีศีลก็เป็นธรรมดาของเขา เช่นในพุทธันดรนี้ อย่างพระเทวทัต นางมาคันทิยา นางจิญจมาณวิกาเป็นต้น คนเหล่านี้ไม่มีศีล ให้เอาพวกนี้เป็นตัวอย่างของคนไม่มีศีล การพ้นทุกข์มิใช่พ้นที่คนนอก จักต้องพ้นที่จิตของเราเท่านั้น หมั่นทำกำลังใจให้เต็ม อย่าคิดไปแก้บุคคลอื่น ให้แก้จิตของตนเองเป็นสำคัญ

ลัก...ยิ้ม 25-11-2016 18:39

พระธรรม ในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๑

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. ขณะที่กำลังมีอารมณ์โกรธ เวลานั้นบารมี ๑๐ ขาดทุกข้อ เนื่องด้วยอกุศลกรรมเข้าครอบงำจิต บังคับจิต จิตเวลานั้นก็หมดกำลังที่จักต้านทานความชั่วได้ เพราะจิตมีแต่ธรรมปัจจุบัน ขณะใดที่จิตถูกอกุศลเข้าครอบงำในธรรมปัจจุบัน เวลานั้นจักไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรกได้ จิตมีอยู่อารมณ์เดียวคือธรรมปัจจุบัน เมื่ออกุศลเข้าครอบงำจิต.. กรรมที่เป็นกุศลก็เกิดไม่ได้หรือเกิดได้ยากยิ่ง ดังนั้นในเวลานั้นบารมี ๑๐ จึงขาดหมดทุกข้อ

กำหนดดูอารมณ์ของจิตให้ดี ๆ จักเห็นว่า อารมณ์เกิด – ดับ ๆ และแปรปรวนไปทุก ๆ ขณะจิตขณะอกุศลเกิด ดังนั้นไม่ต้องศึกษาอะไรให้ดีกว่าเรื่องกาย – เวทนา – จิต และธรรม ๒ ข้อแรกเป็นเรื่องของกาย ๒ ข้อหลังเป็นเรื่องอารมณ์ของจิต ก็เป็นธรรมดาของจิต ผู้รู้จริง ๆ คือจิตซึ่งเป็นตัวเรา เห็นสันตติธรรมนอกที่กายเรา และเห็นสันตติธรรมภายในคืออารมณ์จิตของเราเอง ซึ่งเกิด – ดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา หากทำได้จิตก็จักพ้นทุกข์ได้ในชาติปัจจุบันนี้แน่นอน

ลัก...ยิ้ม 30-11-2016 11:56

๒. อากาศร้อน จิตจงอย่าร้อนไปกับอากาศ แม้มีเรื่องกระทบกระทั่งใจจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็พึงวางอารมณ์จิตให้เยือกเย็น อย่าแก้โลก อย่าไปแก้คน ให้แก้อารมณ์จิตของตนเอง เพราะเราตั้งใจจักไปพระนิพพาน ก็จงปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ ค่อย ๆ ฝึกไป ให้พิจารณาตามหลักของความเป็นจริง โลกนี้ที่สุดไม่มีอะไรเหลือ คน – สัตว์ – วัตถุธาตุ ตายเหมือนกันหมด แม้ร่างกายที่จิตเราอาศัยอยู่ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น...พึงเร่งมรรคทางจิตให้มาก เพื่อจักให้ถึงผลของการที่จักไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จิตใครที่ไหนอื่นไม่มีความสำคัญ.. สำคัญที่จิตของตน ใครจักเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา สุดแล้วแต่กฎของกรรมจักทำให้เป็น อย่าไปขวางกรรมของเขา ปล่อยวาง ไม่รับ แผ่เมตตาจิตให้มาก แล้วเหตุการณ์ทุกอย่างจักคลี่คลายไปเอง

ลัก...ยิ้ม 15-12-2016 18:39

๓. การกระทบกระทั่งทั้งหมดมีได้ก็เพราะมีร่างกาย อายตนะ ๖ ภายในที่รับการสัมผัสกับอายตนะ ๖ ภายนอก จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อันเนื่องจากความไม่เที่ยงนั้น พิจารณาให้เห็นชัดจึงจักปล่อยวางได้ เช่น อายุมากขึ้นร่างกายก็เริ่มอ่อนแอ มีอาการเจ็บป่วยบ่อยขึ้น ก็ให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย ชีวิตยังอยู่ก็ต้องดูแลร่างกายไปตามหน้าที่ในทางสายกลาง หรือใช้พรหมวิหาร ๔ เป็นหลัก คนมีครอบครัวก็ต้องมีเรื่องมากระทบให้เกิดอารมณ์พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างเป็นธรรมดาตามกฎของกรรม ให้พยายามปล่อยวางให้มาก ลงตัวธรรมดาให้มาก

ลัก...ยิ้ม 21-12-2016 15:50

๔. การวางอารมณ์จิตเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะบางครั้งหรือบ่อยครั้งที่นิวรณ์ ๕ เข้าแทรก ทำให้คิดผิด ปฏิบัติผิด ดังนั้น..จึงพึงให้ความสำคัญกับอารมณ์ของจิตให้มาก เวลานี้ทฤษฎีแอลนีโญกับลานีญาปรากฏแก่โลก ภัยธรรมชาติย่อมเกิดขึ้นได้เหนือความคาดหมายเสมอ การตายหมู่จึงมีขึ้นได้หลายรูปแบบ จากดินถล่ม แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน ฝนตกมากเกินพอดี ลมพัดแรงเป็นพายุหมุนรุนแรงในระดับต่าง ๆ ไฟไหม้จากอุบัติเหตุ และจากฟ้าผ่า เป็นต้น จึงพึงสังวรณ์เตือนจิต เตรียมจิตให้พร้อม และจิตจักต้องพร้อมทิ้ง พร้อมละวางทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่ห่วงอะไรทั้งหมดแม้แต่ร่างกาย มุ่งจุดเดียวที่จักไปคือพระนิพพาน จุดนี้จักต้องทำให้ได้ในขณะจิตเดียว ให้ซ้อมจิตปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ห่วงอะไรทั้งหมด มุ่งสู่พระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น พึงหมั่นทำดู ถ้าไม่ไหวก็พิจารณาศีลข้อไหนพร่องบ้าง สมาธิจิตตรงไหนพร่องบ้าง นิวรณ์ข้อไหนกวนใจ ปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริงของร่างกายตรงไหนพร่องบ้าง แล้วตรวจดูบารมี ๑๐ จุดไหนยังอ่อนแอบ้าง เสริมกำลังใจให้เต็ม ค่อย ๆ ทำไป.. ไม่นานก็จักคล่องตัวได้เอง

ลัก...ยิ้ม 23-12-2016 14:45

๕. พระอรหันต์เขาเป็นกันก่อนตาย มิใช่ตายแล้วถึงเป็น ดังนั้น.. จงอย่าเพิ่งคิดว่าตายก็ช่างมัน ผู้ที่จักคิดเช่นนี้ได้ก็เมื่อผู้นั้นเข้าถึงพระอรหัตผลแล้ว คืออยู่กับตายมีผลทรงตัวแล้ว แม้พระอรหันต์เอง.. เมื่อจบกิจแล้วท่านก็ดูแลร่างกายเป็นอย่างดี เพื่อเป็นการบรรเทาทุกขเวทนา เป็นการทำตามหน้าที่ ตายแล้วหรือถึงที่ตาย ตรงนั้นแหละจึงช่างมัน ไม่ใช่จิตยังไปไม่ถึงแล้วคิดว่าตายก็ช่างมัน พิจารณาจุดนี้ให้ดี จักได้ไม่สำคัญผิด ดังนั้น..จงอย่าประมาทในความตาย ถ้ากฎของกรรมเข้าแทรก เวลาร่างกายเจ็บป่วย มันเอาทั้งนั้นไม่เคยยกเว้นให้ใครเลย แม้แต่พระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ยังป่วย จึงต้องรักษาเยียวยาร่างกายไว้ให้ดี เพราะหากจิตยังไม่ถึงพระอรหัตผลเพียงใด คำว่าประมาทในความตายไม่พึงมีในใจ เพราะร่างกายนี้ยังคงอยู่ ก็พึงเร่งรีบมรรคผลให้ถึงที่สุด ก่อนที่ร่างกายนี้จักพังลงไป

ลัก...ยิ้ม 27-12-2016 11:04

๖. งานมาฆบูชา จักมีการเวียนเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในบวรพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และเป็นวันปลงอายุสังขารของพระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ด้วย เหล่านี้พึงทำทักษิณาวัตรเป็นการเคารพบูชาอย่างยิ่ง แล้วสำรวจ กาย – วาจา – ใจ ของตนเองว่า ได้ทำตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้าได้ครบถ้วนหรือยัง อย่าไปสนใจกับจริยาของผู้อื่น เพราะการพ้นทุกข์จักมีขึ้นได้ก็ด้วยการสำรวม กาย – วาจา – ใจ ของตนเอง ให้อยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น

ลัก...ยิ้ม 28-12-2016 16:59

๗. ให้คุณหมอแนะนำทุกคนให้นึกถึงคำสอนของท่านฤๅษีคือ นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ไว้เป็นที่พึ่ง ก่อนออกจากบ้านให้ภาวนา พุท - โธ แล้วกลืนน้ำลาย ๓ จบก็จะปลอดภัย ถ้าหากไม่แน่ใจ วัตถุมงคลทุกชนิดที่ท่านฤๅษีได้อาราธนาพระพุทธเจ้าทำเอาไว้ก็ใช้ได้ทุกอย่าง แม้ทรายเสก พระธาตุรวมตัว น้ำมันชาตรี ก็สามารถกันสารพิษหรือกัมมันตภาพรังสีได้ รวมทั้งผ้ายันต์ต่าง ๆ ด้วย แต่อย่าลืมว่าทุกคนต้องตาย ให้เตรียมจิตเตรียมใจให้พร้อม ถ้ากฎของกรรมเข้ามาถึงก็หนีไม่พ้นเช่นกัน ไม่ว่าจักอยู่ที่ไหนในโลก ยกเว้นที่เดียวคือพระนิพพาน

ลัก...ยิ้ม 06-01-2017 15:18

๘. การมีชีวิตร่างกายอยู่ ก็อยู่อย่างผู้ไม่ประมาท และเมื่อความตายเข้ามาถึงก็พร้อมจะละร่างกายไปได้ โดยไม่มีความกังวลเกี่ยวกับร่างกายเพราะซ้อมตาย และพร้อมที่จะตายไว้เป็นปกติธรรมของจิตด้วยความไม่ประมาท มีมรณาฯ และอุปสมานุสติอยู่เสมอ ผู้มีสติ - สัมปชัญญะอยู่ย่อมไม่ประมาททั้งการอยู่และการตาย จงพยายามทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมในทุก ๆ อิริยาบถ และทุก ๆ ขณะจิตเถิด

ลัก...ยิ้ม 12-01-2017 18:06

๙. ให้กำหนดรู้ในเวทนาที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายนี้ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา พึงพิจารณาเวทนาให้มาก รวมทั้งพึงถวายสังฆทานอุทิศให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ที่ทำให้เกิดอาการมึนศีรษะ วิงเวียน จักอาเจียน (นับเป็นวาระกฎของกรรม.. ของสุรา-เมรัยในอดีตชาติให้ผล) ในครั้งนี้ด้วย จักทำให้ผลของกรรมทุเลาเบาบางลงได้

แล้วให้เห็นเป็นปกติของร่างกาย ความไม่เที่ยงเป็นของธรรมดาของร่างกาย ถ้าไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว ความเดือดร้อนต่าง ๆ อันเนื่องด้วยร่างกายก็จักไม่มี ให้พิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้มาก อย่าสักแต่ว่ารู้โดยสัญญาเท่านั้น หากยังไม่เข้าถึงจิตเพียงใด ก็ยังไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง ตัวปัญญาที่แท้จริงเกิดขึ้น ก็จักปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด รวมทั้งขันธ์ ๕ ของตนเองด้วย

จำไว้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา แยกส่วนออกมาให้ได้ จิตจักได้ไม่เดือดร้อนไปกับขันธ์ ๕

ลัก...ยิ้ม 24-01-2017 17:21

๑๐. การถูกลอบทำร้ายด้วยคุณไสยให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ศัตรูส่วนตัวหรอก อย่าไปโกรธแค้นใครเขาเลย ขอจงอย่าประมาทก็แล้วกัน เพราะพวกเจ้าทำงานให้กับพระพุทธศาสนา ให้ตั้งอภัยทานและอโหสิกรรมเอาไว้ในจิต คิดเอาไว้เสมอว่าเราจักไม่เป็นศัตรูกับใคร ให้แผ่เมตตาเอาไว้เสมอ ๆ จิตจักได้เยือกเย็นมีความสุข ให้จดจำอารมณ์พระอรหันต์เข้าไว้ ท่านมีความสุขเป็นปรมัตถ์ แม้เหตุการณ์ที่เข้ามากระทบทางร่างกายจักเป็นอย่างไรก็ตาม (เช่น พระโมคคัลลาน์ เป็นต้น) จิตของท่านหาได้หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ทั้งหลายไม่ การมีชีวิตอยู่ก็ต้องต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงอย่างนี้แหละ อย่าคิดว่าจักอยู่ได้โดยสมความปรารถนาหมดทุกอย่าง ไม่มีอันใดเข้ามาเป็นอุปสรรคเลย ถ้าคิดเช่นนั้นก็เป็นการหลงผิดเพราะการมีร่างกาย ย่อมมีความปรารถนาไม่สมหวังเป็นของธรรมดา นี่เป็นอริยสัจของชีวิตที่มีร่างกายดำรงอยู่นี้

ลัก...ยิ้ม 26-01-2017 17:08

๑๑. กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ ถึงที่ตายก็ตาย ไม่ถึงที่ตายก็ไม่ตาย เมื่อรู้แล้วก็จงมองทุกอย่างให้เป็นธรรมดาเสียให้หมด จิตก็จักได้ปล่อยวางร่างกายลงไป อย่าทิ้งการพิจารณาร่างกายและความตาย เพื่อมุ่งตัดอุปาทานขันธ์ ๕ อันจักเป็นหนทางนำจิตเข้าสู่พระนิพพานได้

จุดนี้อย่าคิดว่าใครจักช่วยเราได้ ทุกคนจักต้องช่วยตัวเองในวินาทีสุดท้ายทั้งนั้น ยกเว้นพระอรหันต์ ท่านยังมีชีวิตอยู่ได้เมื่อตัดกิเลสได้หมดในความเป็นพระ (สมณวิสัย) ท่านอยู่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ท่านรู้อยู่ขันธ์ ๕ นี้ไม่มีในท่าน อุปทานขันธ์ ๕ ท่านปล่อยวางไปสิ้นแล้ว

สำหรับพวกเจ้าหากเวทนารบกวนหนัก ก็พึงพิจารณาและภาวนาให้มาก มุ่งกำหนดรู้ในเวทนานั้นว่าไม่ใช่เรา ภาวนาไปไม่ไหวก็ให้พิจารณา พิจารณาไปไม่ไหวก็ให้ภาวนา สลับกันไปสลับกันมา จิตทรงตัวได้บ้างไม่ได้บ้างก็ให้ถือว่าเป็นของธรรมดา ให้พยายามเอาสติ - สัมปชัญญะกำหนดรู้เข้าไว้ ค่อย ๆ ทำไปแล้วจักถึงคำว่าต่อเนื่องขึ้นมาในจิตได้เอง ถ้าไม่ขี้เกียจเสียก่อน จุดนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ที่จักต้องต่อสู้กับอารมณ์ของจิต จักต้องพยายามแก้ไขให้ได้ มิฉะนั้นปฏิบัติธรรมไปก็จักไม่มีผล

ลัก...ยิ้ม 02-02-2017 12:32

๑๒. ให้ติดตามดูสภาวะของร่างกายที่ไม่เที่ยงอยู่นี้ให้เป็นปกติ จิตจักได้เย็น ไม่ร้อนไปกับความไม่เที่ยงแปรปรวนของร่างกายนี้ โดยอาศัยหลักของมหาสติปัฏฐาน ๔ มีสติกำหนดรู้อยู่กับธรรม ๔ ประการ แยก กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งไม่เที่ยง เกิดแล้วดับอยู่อย่างนั้นเป็นปกติธรรม จิตคือตัวเราที่ไปกำหนดรู้ เห็นธรรมทั้ง ๔ ตัวนั้นเกิดดับอยู่ ว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่มีในเรา มันเป็นแค่สภาวธรรมที่เกิดดับอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา จิตรับรู้ความเป็นจริงแล้วไม่ปรุงแต่งธรรมนั้นต่อ เห็นเป็นธรรมดา มันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา นี้เป็นธรรมภายใน คือธรรมของร่างกายที่แปรปรวนไม่เที่ยงอยู่นี้ ส่วนธรรมภายนอกคือเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ามากระทบ ก็จงเห็นเขาเกิดได้ เขาก็ดับไป (เกิด ดับ) มันก็เป็นเรื่องของเขา จิตอย่าไปยึดสิ่งกระทบให้เป็นที่เร่าร้อน ปล่อยวางเหตุการณ์ทั้งหมดไปตามกรรม จักทำอะไรให้ใจเย็น ๆ จึงจักเห็นผลดี ไม่ว่าจักเป็นงานทางโลกหรือทางธรรม ใจเย็นมีความรอบคอบ ใจร้อนงานไม่เรียบร้อย ขาดความรอบคอบ งานใดไม่แน่ใจ ให้ใคร่ครวญพิจารณาเสียก่อนจึงทำ นั่นแหละจักได้ผลสมบูรณ์

ลัก...ยิ้ม 10-02-2017 11:38

๑๓. จงอย่าประมาทในเหตุการณ์ทั้งปวง เพราะความสงบภายนอกจักหาได้ยากเข้าทุกที จงหมั่นรักษาความสงบในจิตให้มาก เพราะภายนอกยิ่งร้อนมากเท่าไร จักต้องรักษาภายในให้เย็นมากเท่านั้น พยายามพิจารณาหาเหตุ – หาผลให้มากด้วยอริยสัจ แล้วจักปล่อยวางเหตุการณ์ภายนอกลงได้ พิจารณาลงในความไม่เที่ยงทั้งหมด ยึดถืออะไรไม่ได้เลยในโลกนี้ มองทุกอย่างให้เห็นตามความเป็นจริง จิตจึงจักวางได้ การปฏิบัติธรรมให้ได้ผล จักต้องเดินตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้า อย่าออกนอกลู่นอกทางจักไม่มีผล โดยให้มุ่งตัดกิเลสที่ใจของตนเองเป็นสำคัญ อย่าไปสนใจกับกิเลสของบุคคลอื่น มองดูทุกอย่างตามความเป็นจริง จักมีการปล่อยวางความโกรธ – โลภ – หลง ได้ง่าย อย่าไปแบกโลก แล้วอย่าไปแบกธรรม โลกก็เป็นอย่างนี้เป็นปกติ ธรรมก็เป็นอย่างนี้เป็นปกติ อย่าคิดว่ามีอะไรผิดธรรมดาเป็นอันขาด

ลัก...ยิ้ม 16-02-2017 17:20

พระธรรม ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. เรื่องทุกเรื่องในโลกล้วนแล้วแต่เป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น จงอย่าวิตกให้เกินกว่าเหตุ สิ่งที่ตถาคตบอกให้พวกเจ้ารู้ รู้แล้วพึงวางเฉยกับเรื่องราวทั้งหมด อย่าตีตนไปก่อนไข้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะเป็นกฎของกรรมอันฝืนไม่ได้ อันเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรที่จักกังวล ให้หมั่นดูแลรักษาจิตของตนเองเอาไว้ดีกว่า

๒. เรื่องของการพ้นทุกข์อยู่ที่จิต ไม่ใช่เรื่องของร่างกาย เพราะหากร่างกายนี้ไม่มีจิตอยู่แล้ว ก็ไม่มีความรู้สึกแต่อย่างไร ให้พิจารณาจุดนี้ให้ดี ๆ แล้วจึงจักวางอารมณ์ลงได้ด้วยเห็นกฎของความเป็นจริง และจงอย่าฝืนใจใคร ให้วางกรรมใครกรรมมันให้จงหนัก เมตตาได้เฉพาะคนที่ควรจักเมตตาเท่านั้น และควรมีกำหนดขอบเขตของความเมตตาด้วย มิใช่เมตตาจนเป็นที่เบียดเบียนตนเอง ถ้าทำอันใดไปแล้วคิดว่าเป็นเมตตา แต่สร้างความหนักใจและทุกข์ใจให้กับตนเอง จุดนั้นไม่ใช่เมตตา จับทางปฏิบัติให้ถูกแล้วจักถึงมรรคถึงผลได้ง่าย

ลัก...ยิ้ม 17-02-2017 15:39

๓. ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่พ้นกฎของธรรมดาไปได้ แต่ที่ไม่เห็นก็เพราะโมหะบดบังจิตอยู่ จุดนี้สำคัญมาก จักต้องใช้ปัญญาจึงจักเห็นได้ชัด และเมื่อลงกฎธรรมดาได้แล้ว จิตก็จักเป็นสุขและสงบ เนื่องจากไม่ฝืนในกฎของธรรมดานั้น ๆ

ลัก...ยิ้ม 23-02-2017 16:36

๔. จงอย่าไปเดือดร้อนกับกรรมของบุคคลอื่น ให้ทำใจอยู่ในขอบเขตกรรมของตนเองก็พอ อะไรมันผ่านมากระทบแล้วก็ให้มันผ่านไปเลย แยกแยะให้ออกว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่เรื่องที่เป็นสาระอันพึงจักยึดถือ มิใช่เป็นปัจจัยนำจิตให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยรักษากำลังใจในการทำหน้าที่ของตนให้เต็มเท่านั้น ผลจักเป็นอย่างไรได้แค่ไหนก็พอใจแค่นั้น แม้จักถูกตำหนิในบางครั้ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกคนมีโอกาสผิดพลาดได้ มีแต่พระตถาคตเจ้าเท่านั้นที่จักไม่พลาดเลย ดังนั้น เมื่อมีการผิดพลาดขึ้นครั้งใด แม้จักทำด้วยกำลังใจเต็มที่แล้ว ก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหตุอันใดแก้ไขได้ก็แก้ไข แก้ไม่ได้ก็ก็ไม่ต้องแก้ ยึดเอาธรรมดาเป็นที่ตั้งแล้วจิตจักได้เป็นสุข สงบเยือกเย็นขึ้น

ลัก...ยิ้ม 08-08-2017 17:20

๕. อะไรมันจักเกิด มันก็ต้องเกิด ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกฎของธรรมดา เรื่องภัยธรรมชาติภัยจากสงคราม แม้แต่เรื่องใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยกับวัด ก็ล้วนเป็นกฎของธรรมดา อย่าไปวิตกกังวล วางจิตให้ยอมรับธรรมดาก็จักไม่เป็นทุกข์ การฝืนโลกฝืนธรรม ฝืนสังขารร่างกาย ล้วนเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ทุกอย่างต้องเดินสายกลางทั้งทางโลกและทางธรรม ทำใจให้ยอมรับกฎของธรรมดา (กฎของกรรม) ตั้งใจชดใช้กรรมไปเรื่อย ๆ ตายเมื่อไหร่ก็มุ่งสู่พระนิพพานเมื่อนั้น การหมดภาระของขันธ์ ๕ ย่อมเป็นสุขอย่างยิ่ง ขอให้พวกเจ้ามุ่งหวังเข้าไว้ อย่าทำอารมณ์ใจให้พร่องไปกับอุปสรรคที่เข้ามาทดสอบจิตใจของแต่ละคน ให้เอาทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกรรมฐาน แล้วจักเกิดประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:20


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว