กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะ เรื่องราวในอดีต และสรรพวิชา > เรื่องราวในอดีต และสรรพวิชา > เคล็ดวิชาต่าง ๆ

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 22-03-2019, 17:47
ภาณุวัฒน์ สิทธิกูล ภาณุวัฒน์ สิทธิกูล is offline
สมาชิก - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Aug 2018
ข้อความ: 12
ได้ให้อนุโมทนา: 32
ได้รับอนุโมทนา 840 ครั้ง ใน 39 โพสต์
ภาณุวัฒน์ สิทธิกูล is on a distinguished road
Default พิธีสืบชะตา

พิธีสืบชะตาหรือการต่ออายุ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวล้านนาถิ่นเหนือ เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเพื่อต้องการให้เกิดมงคล และมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย เพื่อทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองต่อชีวิต เป็นพิธีซึ่งเป็นมงคลที่ชาวล้านนานิยมทำในโอกาสต่าง ๆ เช่น เนื่องในวันเกิด วันที่ได้รับยศศักดิ์ ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น หรือทำในกรณีที่เจ็บป่วยถูกทายทักว่าชะตาไม่ดี ชะตาขาด จะทำพิธีสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาต่ออายุ จะทำให้แคล้วคลาดจากโรคภัย และดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขสบายใจสืบไป

ความเชื่อตำนานเกี่ยวกับพิธีสืบชะตา

มีตำนานปรากฏในคัมภีร์สืบชะตา กล่าวว่า พระสารีบุตรเถระซึ่งเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า มีลูกศิษย์รูปหนึ่งเป็นสามเณรชื่อติสสะ อายุ ๗ ปี มาบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนกับท่านเป็นระยะเวลาหนึ่งปี วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นลักษณะของสามเณรว่าจะมีอายุได้อีก ๗ วันเท่านั้นก็จะถึงแก่มรณภาพ ท่านพระสารีบุตรจึงเรียกมาบอกความจริงให้ทราบว่า ตามตำราหมอดูและตำราดูลักษณะเธอจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน ๗ วัน พระสารีบุตรจึงให้สามเณรกลับไปลาพ่อแม่ญาติพี่น้อง จึงสร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่สามเณรเป็นอันมาก ระหว่างทางกลับได้พบกับปลาที่กำลังดิ้นทุรนทุรายเพราะน้ำไม่พอ จึงจับไปปล่อยในหนองน้ำ และกับเก้งที่ติดบ่วงนายพราน จึงได้ปล่อยเก้งสู่อิสรภาพ โดยนึกถึงตนเองว่าจะต้องตายอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่สัตว์ทั้งสองถ้าไม่ปล่อยช่วยชีวิตก็จะต้องตายก่อนตนเองแน่นอน เมื่อกลับถึงบ้านพ่อแม่ญาติพี่น้องต่างก็เฝ้ารอคอยด้วยความเศร้าโศก จนเวลาล่วงเลยกำหนดไปแล้ว สามเณรติสสะก็ยังมีชีวิตอยู่ ผิวพรรณผ่องใส และได้กลับไปหาพระสารีบุตร ได้กราบเรียนถึงการปล่อยชีวิตทั้งสองเป็นการให้ชีวิตใหม่ จึงเป็นบุญให้พ้นจากความตายได้



เรื่องของอายุวัฒนกุมารมีปรากฏในอรรกถาธรรมบท ยมกวรรค กล่าวคือ อายุวัฒนกุมารบุตรของพราหมณ์ชาวฑีฆสัมพิกนคร ได้รับคําทํานายจากพราหมณ์ผู้เป็นสหายของบิดาว่าจะหมดอายุ อยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน พราหมณ์สามีภรรยาจึงนําบุตรไปยังสํานักพระพุทธเจ้า กราบทูลวิธีแก้ไขมูลเหตุ พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกวิธีที่จะป้องกันบุตรจากการเสียชีวิต โดยให้พราหมณ์สร้างมณฑปที่ประตูเรือนของพราหมณ์ แล้วนําบุตรไปนอนบนตั่งในมณฑปนั้น จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดพระปริตร ๗ คืน ๗ วัน และในวันที่ ๗ พระพุทธเจ้าเสด็จไปด้วยพระองค์เอง ทรงทําพระปริตรตลอดคืนยังรุ่งเช้า เด็กก็พ้นจากการเสียชีวิตในวันที่ ๘ เมื่อสองสามีภรรยานําบุตรมาถวายบังคม พระองค์ท่านตรัสว่า “ขอเจ้าจงมีอายุยืนเถิด” และตรัสว่าเด็กจะมีอายุยืนดํารงอยู่นาน ๑๒๐ ปี ดังนั้น จึงขนานนามบุตรว่า “อายุวัฒนกุมาร”
ประเภทของพิธีสืบชะตา
มี ๓ ประเภท คือ

๑.ประเพณีสืบชะตาคน คนล้านนาจะมีความเชื่อว่า หากเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับชีวิตในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องประกอบพิธีสืบชะตาบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ เกตุ เพื่อให้เจ้าของพิธีนั้นมีความสุขต่อไป เป็นการประกอบพิธีที่จัดขึ้นในโอกาสสําคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นิยมทําเมื่อวันเกิดที่ครบรอบเช่น ๒๔ ปี ๖๐ ปี ๗๒ ปี และการขึ้นบ้านใหม่ ย้ายที่อยู่ใหม่ ได้รับยศหรือตําแหน่งสูงขึ้น หรือฟื้นจากป่วยหนัก หรือมีผู้ทักทายว่าชะตาไม่ดี จําเป็นต้องสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา เป็นต้น อนึ่งจากการเสวนาผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมกล่าวว่า การสืบชะตาคนนั้นมักมีคําเรียกขานต่อท้ายด้วย เช่น การสืบชะตาน้อยและการสืบชะตาหลวง และมีข้อสังเกตดังนี้

- การสืบชะตาน้อย คือ ผู้เข้าสืบชะตามีเพียงคนเดียว มีเครื่องสืบชะตาครบตามอายุ และมีพระสงฆ์ ๙ รูปประกอบพิธีเจริญพุทธมนต์สืบชะตาให้ สถานที่ประกอบพิธีคือที่บ้านของเจ้าชะตา และมีผู้ร่วมพิธีมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบพิธีสืบชะตาเนื่องในวันเกิด เจ็บป่วย เพื่อความเป็นสิริมงคล และเชิญญาติพี่น้องและผู้ที่เคารพนับถือมาร่วมงานจํานวนมาก ก็ถือว่าเป็นการสืบชะตาน้อยเช่นกัน

- การสืบชะตาหลวง คือ ผู้เข้าสืบชะตามีมากกว่า ๑ คนประกอบ พ่อ แม่ ลูก ฯลฯ เครื่องสืบชะตาเกิน ๑๐๐ ชิ้น มีพระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์และสืบชะตาให้ สถานที่คือบ้านของผู้สืบชะตา และผู้ที่มาร่วมงานจะมีมากหรือน้อยก็ตาม เช่น การทําบุญขึ้นบ้านใหม่ เรียกว่า ชะตาหลวง อย่างไรก็ตามการเรียกโดยทั่ว ๆ ไปอาจจะขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจตําแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ ฐานะทางสังคมของเจ้าชะตาด้วย

๒.ประเพณีสืบชะตาบ้าน นิยมทําเมื่อคนในหมู่บ้านประสบความเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วยหรือตายติดต่อกันเกิน ๓ คนขึ้นไป หรือคนในหมู่บ้านพร้อมใจกันจัดในวันสงกรานต์ เช่น วันปากปี ปากเดือน หรือปากวัน คือ วันที่หนึ่งสองสามวันหลังวันเถลิงศก (สงกรานต์) เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล พิธีสืบชะตาหมู่บ้านมีเครื่องประกอบพิธีกรรมเช่นเดียวกับการสืบชะตาคน การโยงด้ายสายสิญจน์จะโยงให้ทั่วหมู่บ้าน โดยบ้านแต่ละหลังก็จะโยงรอบบ้านตัวเอง แล้วดึงด้ายสายสิญจน์ไปโยงกับบ้านอีกหลังหนึ่ง ที่โยงด้ายสายสิญจน์มาจากสถานที่ประกอบพิธี แล้วต่อกันไปทั้งหมู่บ้าน ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของชาวบ้านด้วย

๓.ประเพณีสืบชะตาเมือง จัดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อน จะด้วยตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ หรือเพราะเหตุปั่นป่วนวุ่นวาย การจลาจล เกิดโรคภัยแก่ประชาชนในเมือง ฯลฯ การสืบชะตาเมืองนี้ สิ่งของต่าง ๆ ในการประกอบพิธีจะมีจำนวนมาก และมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก จะขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้ครับ

อนึ่ง นายอนุกุล ศิริพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและพิธีกรรมล้านนา อาจารย์วิทยาลัยอินเตอร์เทคลําปาง ได้กล่าวถึงฐานเดิมของการสืบชะตาและมาสู่รูปแบบการสืบชะตาว่าทําไมจึงต้องมีการสืบชะตาว่า มาจากในอดีตใช้ ๓ เสา (เดิม) จากความเชื่อเรื่อง ๓ ก้อนเส้าหนุนแกนกลางจักรวาล (ฐานของจักรวาล) ปัจจุบันใช้ ๔ เสา หลวงพ่อวัดคะตึก เชียงมั่น ปรับใช้เป็น ๔ เสา โดยเอาความหมายของ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นองค์ประกอบสําคัญของการจัดเครื่องสืบชะตา และต้องมีบายศรี หลายพื้นที่จึงมีการจัดเครื่องสืบชะตา ๒ รูปแบบ คือ การตั้งเครื่องสืบชะตาแบบ ๓ เสา และตั้งเครื่องชะตาแบบ ๔ เสา ส่วนปัจจุบันการจัดเตรียมเครื่องสืบชะตาที่เป็นองค์ประกอบ เช่น เครื่องประกอบพิธีกรรมที่มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น หรือการเพิ่มจํานวน เช่น มะพร้าว กล้วย อ้อย หรือการจัดทําสะตวงให้มีจํานวนมากขึ้น ตามตําแหน่งและฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าภาพหรือเจ้าของงาน

เครื่องประกอบพิธีสืบชะตา


๑.ขันตั้งสืบชะตา หมายถึง พานหรือภาชนะอื่น ๆ (สำหรับให้พระสงฆ์ผู้เป็นประธานยกขันกล่าวคาถาบูชาครู) ที่ภายในประกอบด้วยสิ่งของดังนี้

- หมาก ๑ หัว หมายถึง หมากแห้ง ใช้พันสามจํานวน ๑๐ เส้น ซึ่งแต่ละเส้นร้อยด้วยเชือกปดเข้าด้วยกันประมาณ ๑๐ เส้น หมาก ๑๐ เส้นเมื่อมัดรวมกันเรียกว่าหมาก ๑๐ หัว ส่วนหมากพันสาม คือ หมากแห้งจํานวน ๑๓ เส้น
- พลูสด จํานวน ๑ มัด
- ข้าวเปลือกจํานวน ๑ กระทง
- ข้าวสารจํานวน ๑ กระทง
- เบี้ยพันสาม (เบี้ยใช้แทนเงินจริง ๆ จํานวน ๑,๓๐๐ บาท เดิมใช้หอยเบี้ยบางแห่งใช้ลูกเดือยหินแทน)
- ผ้าขาว ๑ พับ
- ผ้าแดง ๑ พับ
- เทียนเล่มบาท (๑๕ กรัม) จํานวน ๑ คู่
- เทียนเล่มเฟื้อง (๑๒ กรัม) จํานวน ๑ คู่
- กรวยหมากพลู จํานวน ๔ กรวย
- กรวยดอกไม้ จํานวน ๔ กรวย ทั้งนี้อาจจะมีมะพร้าว กระบวย หม้อน้ำ เสื่อ เพิ่มเติม แล้วแต่พระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีได้ร่ำเรียนมา และแล้วแต่ท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย แต่องค์ประกอบจะคล้าย ๆ กัน หากพิธีที่ใหญ่ขึ้น จำนวนของในขันตั้งจะต้องมากขึ้นตามด้วย
๒.โขงชะตา ประกอบด้วย

- ไม้ค้ำศรี ไม้ค้ำมีลักษณะเป็นไม้ง่าม ๓ หรือ ๔ อัน สําหรับนํามาประกอบกันเป็นซุ้ม เรียกว่าไม้ค้ำชะตา บางแห่งก็มีขนาดยาว บางแห่งก็มีขนาดสั้น แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ไม้ค้ำมีความหมายว่าเพื่อให้เป็นสิ่งค้ำจุนชีวิตให้ความเจริญรุ่งเรืองมีอายุยืนยาว และบริเวณไม้ค้ำศรีก็จะมีก็จะมีไม้ค้ำเล็ก ๆ ข้างละ ๓๖ ชิ้นรวม ๓ ข้างก็จะครบ ๑๐๘ พอดี หรือมัดรวมกันไว้ข้างใดข้างหนึ่งก็ได้

- ตุงยาวค่าคิง (ยาวเท่าตัวคน) หรือใช้เป็นเทียนชะตา มีขนาดความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของชะตาเหมือนกัน
- ตุงเล็ก ตุงช่อ ทําจากกระดาษจํานวน ๑๐๘ อันทําให้เกิดความสว่างไสวในชีวิต
- หม้อข้าวเปลือก หม้อข้าวสาร หม้อน้ำ กระบวย ใช้หม้อดินเผาหุ้มด้วยกระดาษเงินและกระดาษทองหรืออาจใช้สีพ่นก็ได้ ความหมายคือความสมบูรณ์ของภักษาหารและผลาหาร
- กระบอกน้ำ หมายถึง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสําคัญที่จะทําให้คนเรามีความแข็งแรงยิ่งขึ้น (สําหรับกระบอกน้ำ ทางเหนือนิยมใช้ต้นอ้อ ที่มีลักษณะเป็นปล้องแต่ละปล้องยาว ๑ คืบ นํามาเจาะเป็นช่องเพื่อใช้ใส่น้ำ)
- สะพาน (ขัว) หมายถึง สะพานแห่งชีวิตที่ทอดให้เดินข้ามจากฝั่งที่เลวร้ายไปสู่ฝั่งที่ดีงามกว่า
- ลวดเงิน ลวดคํา ลวดหมาก ลวดเหมี้ยง หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินเงินทองและอาหารการกิน
- สะตวง ทําจากกาบต้นกล้วย กว้างยาวหนึ่งศอก หักมุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ไม้เสียบตรงกลาง เสร็จแล้วใบตองตานีมาปูพื้นสะตวง เพื่อใส่เครื่องคาวหวานสําหรับสืบชะตาอย่างละ ๑๐๘ อันประกอบด้วย หมาก เมี่ยง อ้อย ข้าวต้ม (ข้าวต้มมัด) ข้าวหนม (ขนมมงคล) บุหรี่ ข้าวสุก (ทางเหนือใช้ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว) อาหารจะเป็นปลาหรือหมูทอดก็ได้ ดอกไม้ ซึ่งเครื่องเหล่านี้เมื่อใส่สะตวงครบแล้วจะทําให้ชีวิตยืนยาวมีความบริบูรณ์ของอาหารตลอดไป
- บันได (ขั้นได) หมายถึง บันไดแห่งชีวิต สําหรับพาดให้เราปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูง
- ต้นกล้ามะพร้าว ต้นอ้อย ต้นกล้วย กล้วยน้ำว้าดิบ ๑ เครือ มะพร้าว ๑ ทะลาย มีความหมายว่าคนที่ได้รับการสืบชะตา จะมีชีวิตที่เหมือนกับได้เกิดใหม่แล้วจะมีความหอมหวาน มีความเจริญงอกงาม เหมือนต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นหมาก ต้นมะพร้าวที่พร้อมจะเจริญเติบโตต่อไป
- เสื่อใหม่ หมอนใหม่
- ใบไม้ที่เป็นมงคล เช่น ใบตองเต๊า ใบขนุน ใบเงิน ใบทอง หมายความว่าเป็นเครื่องเสริมชีวิต ให้มีการเพิ่มพูนของหน้าที่การงาน มีทรัพย์สินหนุนเนื่อง เงินทองไหลมาเทมามากมายไม่มีอดอยาก
- ด้ายสายสิญจน์ บาตรสําหรับใส่น้ำพุทธมนต์ อาจมี ปลา นก ปู หอยสําหรับปล่อย เป็นความหมายของการปลดปล่อยลอยเคราะห์ต่าง ๆ ออกไปจากตัวตนของผู้อยู่ในพิธี
- ถาดทราย สําหรับปักเทียน ๑๐๘ เล่ม ในระหว่างกึ่งกลางของการทําพิธีขณะพระสงฆ์สวดพระปริตร ก็จะจุดให้เกิดความสว่างไสวของชีวิต (นิยมจุดนอกบ้าน)
- ด้านสายสิญจน์ สาวด้ายสายสิญจน์เท่าจํานวนอายุของผู้สืบชะตา โดยม้วนเป็นวงเล็ก แต่ละวงจะมี ๙ เส้น แล้วนําไปคลุกกับน้ำมันงา ห่อด้วยใบตอง วางไว้ในสะตวงในระหว่างกึ่งกลางของการทําพิธี ก็จะจุดโดยวางไว้กับราวไม้ที่เตรียมไว้นอกที่ประกอบพิธี

๓.บัตรพลี (สะตวง) ซึ่งประกอบด้วยสิ่งของต่าง ๆ อย่าง ๑๐๘ ชิ้นดังนี้ หมาก เหมี้ยง บุหรี่ ข้าว อาหาร ขนม ผลไม้ ธูป เทียน ใบไม้มงคล ใบตองเต๊า ใบขนุน ใบเงิน ใบทอง

เมื่อได้เตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดครบ ก็จะจัดตั้งเครื่องสืบชะตา นําไม้ค้ำศรีมาตั้งทําซุ้มหรือเป็นกระโจมเรียกว่าโขงชะตา มีลักษณะเป็นซุ้มกว้างพอที่เจ้าชะตาจะเข้าไปนั่งได้ แล้ววางเครื่องประกอบพิธีกรรมอื่น ๆ ประกอบ จากนั้นใช้ด้ายสายสิญจน์โยงรอบบริเวณที่จะประกอบพิธี หากเป็นบ้านใหม่ก็จะโยงด้ายไปรอบบ้าน แล้วโยงด้ายให้สามารถพันรอบศีรษะเจ้าชะตาไปยังยอดซุ้มกระโจม และดึงไปหาพระพุทธรูป วนรอบบาตรน้ำมนต์ และพระสงฆ์ (ถ้าเป็นพิธีสืบชะตาหลวงก็จะต้องจัดด้ายสายสิญจน์โยงเพิ่มให้เป็นแถว ๆ ตารางพอให้คนอื่นสามารถนั่งได้แล้วหย่อนลงมาและนำมาพันรอบศรีษะตัวเอง หากเป็นการสืบชะตาหมู่บ้าน จะต้องโยงด้ายสายสิญจน์เพิ่มเติมออกไปด้านนอกตามถนนต่าง ๆ ให้ชาวบ้านนำสายสิญจน์ของตัวเองมาต่อเพิ่ม เพื่อโยงไปรอบบ้านของตนเอง)



ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม


๑) อาจารย์ผู้นำประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่(ท้าวจตุโลกบาล) ตอนเช้ามืดของวันงาน เป็นการบอกกล่าวหรือเชิญเทวดาอารักษ์เจ้าที่เจ้าทางผู้ดูแลในพื้นที่อยู่อาศัย ว่าจะมีการทําบุญใหญ่สืบชะตา เพื่อให้งานราบรื่นไม่มีอุปสรรค และแสดงถึงความเคารพกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
๒) เจ้าชะตาหรือประธานในงาน จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประเคนบาตรน้ำมนต์ให้พระสงฆ์ ประเคนขันตั้งสืบชะตา ด้ายสายสิญจน์ ประเคนพานอาราธนาศีล
๓) อาจารย์ผู้นำประกอบกล่าวบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และอาราธนาพระปริตร
๔) พระสงฆ์ให้ศีลและสวดเจริญพระพุทธมนต์ โดยใช้บทสวดสืบชะตาสมาธรรม เทศนาธรรมสืบชะตา ๑ ผูก (มีหรือไม่มีก็ได้)
๕) อาจารย์ผู้นำประกอบหรือผู้ร่วมพิธีคนใดก็ได้ จุดเทียนค่าคิงที่โขงชะตาและจุดเทียน ๑๐๘ เล่มที่ปักไว้ในถาดทราย
๖) ประธานสงฆ์มอบเครื่องสืบชะตาให้แก่เจ้าชะตาและคณะ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เจริญชัยมงคลคาถา และผูกข้อมือแก่เจ้าชะตาและเครือญาติ
๗) อาจารย์ผู้นำประกอบปัดเคราะห์และผูกข้อมือให้เจ้าภาพ
๘) เจ้าภาพถวายขันข้าวให้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
๙) อาจารย์ผู้นำประกอบนําขอขมาครัวทาน (ของสังฆทาน)
๑๐) อาจารย์ผู้นำประกอบนํากล่าวคําถวายสังฆทาน
๑๑) พระสงฆ์อนุโมทนา ให้ศีลให้พร พระสงฆ์ผู้เป็นประธานกล่าวคำปลดขันตั้งสืบชะตา
๑๒) ผู้ร่วมพิธีทุกคนร่วมกันพร้อมกันแผ่เมตตา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ขั้นตอนพิธีที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ตัวอย่างคร่าว ๆ ของงานเท่านั้นครับ ไม่จำเป็นต้องตรงตามนี้
อนึ่งการประกอบพิธีสืบชะตาตามตำราระบุไว้ ให้กระทำในช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้น คือไม่เกินเวลาเที่ยง

ที่มาข้อมูล: รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่องสืบชะตาล้านนา แนวคิดและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและจิตวิญญานของชุมชนในล้านนา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-03-2019 เมื่อ 19:34
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ภาณุวัฒน์ สิทธิกูล ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 11:42



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว