|
พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) รวมธรรมะจากพระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#1
|
||||
|
||||
บัญญัติศีลครั้งแรก
มีใครได้ศึกษาพระวินัยปิฎกของพระบ้างไหม ? พระพุทธเจ้าบัญญัติศีลครั้งแรกเมื่อไร ?
การบัญญัติศีลครั้งแรกนั้น มีสาเหตุมาจากพระสุทินน์กลันทบุตร ท่านเป็นลูกเศรษฐี พ่อแม่ไม่ยอมให้บวช ท่านก็อดข้าวประท้วง เพื่อน ๆ เป็นห่วงก็มาเกลี้ยกล่อมพ่อแม่ บอกว่า "ให้พระสุทินน์บวชเถอะ คนที่ไม่เคยลำบากมาก่อน ไปเป็นสาวกของพระสมณโคดม ต้องนอนกลางดินกินกลางทราย อยากได้ร้อนก็ได้เย็น อยากได้อ่อนก็ได้แข็ง เดี๋ยวเข็ดก็สึกเอง" พ่อแม่ก็เลยให้บวช ปรากฏว่าท่านตั้งใจบวชปฏิบัติ สามารถอยู่ในเพศภิกษุได้ ทางบ้านก็เลยหาทางที่จะให้ท่านสึก โดยนิมนต์กลับบ้าน เอาทรัพย์สมบัติกองไว้เต็มเรือน บอกให้ท่านสึกมาเพื่อปกครองดูแลทรัพย์สมบัตินั้น พระสุทินน์ยังดีกว่าพระรัฐบาลเถระ พระรัฐบาลเถระพ่อแม่ให้สึกออกมาปกครองสมบัติ พระรัฐบาลบอกว่า "ถ้าดูแลไม่ได้ก็ให้ทิ้งน้ำไปเลย" แต่พระสุทินน์ยังเมตตาพ่อแม่ บอกว่า "ไม่สึกหรอก อยากบวชมากกว่า" สมัยนั้นยังไม่มีศีลข้อห้าม เรื่องพระภิกษุห้ามมีเมีย พ่อแม่ก็เลยไปจูงมือภรรยาเก่าของพระสุทินน์มา บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นก็ขอทายาทไว้สักคนหนึ่ง" เพราะสมัยนั้นมีธรรมเนียมว่า ถ้าครอบครัวไม่มีลูกชายสืบต่อ สมบัติจะถูกยึดเป็นของหลวง เพราะฉะนั้น..เราต้องเห็นใจท่านด้วยว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ พระสุทินน์กลันทบุตรก็เลยร่วมประเวณีกับภรรยาเก่าจนมั่นใจว่าท้อง แล้วก็กลับไป ปรากฏว่าท่านก็ตะหงิดใจ ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของพระที่จะต้องทำอย่างนั้น ท่านก็เลยคิดมาก เครียดจนผอม เพื่อนพระท่านก็ถามว่า "อาวุโส..ท่านเป็นอะไรไปหรือ ?" พระสุทินน์กลันทบุตรก็เล่าให้ฟัง เพื่อนพระก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วก็เลยมีการบัญญัติศีลครั้งแรกขึ้นในครั้งนั้นว่า ภิกษุเสพเมถุนต้องปาราชิก คือขาดจากความเป็นพระ หาสังวาสมิได้ (ไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันกับพระอื่น) แต่บุคคลที่เป็นอาทิกัมมิกะ คือ บุคคลที่ทำเป็นคนแรกก่อนมีข้อห้าม ถือว่าไม่ผิด พระสุทินน์กลันทบุตรจึงไม่มีโทษเลย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2014 เมื่อ 16:00 |
สมาชิก 82 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
คราวนี้..ศีลนั้นบัญญัติขึ้นในพรรษาที่ ๒๑ ของพระพุทธเจ้า เพราะว่าช่วง ๒๐ ปีแรกนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นพระอริยเจ้าทั้งหมด ท่านรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แต่พอระยะหลังการบวชแพร่หลายไปเรื่อย ๆ จากการประทานเอหิภิกขุ คือ พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยพระองค์เอง ก็กลายเป็นให้สงฆ์บวชด้วยญัตติจตุตถกรรม บุคคลที่บวชเข้ามาเป็นปุถุชนเสียมาก ก็เลยมีการทำผิดพลาดขึ้นมา ต้องเริ่มบัญญัติศีลไล่ไปเรื่อย พระพุทธเจ้าประกาศศาสนา ๔๕ ปี ช่วง ๒๕ ปีหลัง คณะสงฆ์เริ่มมีปัญหามากขึ้น เพราะคนร้อยพ่อพันแม่เริ่มเข้ามาบวชด้วยกัน ต้องมีข้อห้ามอย่างนั้น ข้อห้ามอย่างนี้ โดยเฉพาะภิกษุที่เขาเรียก ฉัพพัคคีย์ ก็คือ พวก ๖
พระภิกษุพวก ๖ นี่สุดยอดมนุษย์เลย มีพระปัณฑุกะ พระโลหิตกะ พระเมตติยะ พระภุมมชกะ พระอัสสชิ พระปุนัพพสุกะ ท่านทั้ง ๖ นี้ เวลาจะทำอะไรมีการวางแผนชนิดยอดเยี่ยมมาก คำนวณเลยว่า เมืองสาวัตถีนี้ประกอบไปด้วยคนสองล้านครอบครัว มีมหาเศรษฐีมาก บวชแล้วเราควรจะไปอยู่ที่นั่น พอ ๖ คนบวชด้วยกันแล้วแยกกันไปอยู่คนละทิศละทาง แล้วก็ก่อปัญหาสารพัด แต่คราวนี้เวลาเขาจะทำอะไร เขาทำในแบบที่ว่าไปไม่ล้ำเส้น เรื่องไหนที่ไม่ห้ามเขาทำ...พอห้ามเมื่อไรก็หยุด พระฉัพพัคคีย์และพระโลลุทายีเป็นต้นกำเนิดศีลเกือบ ๒๒๗ ข้อ ต้องบอกว่าเป็นบุญคุณของท่านจริง ๆ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีศีลมากขนาดนั้น เพราะท่านทำทุกเรื่อง อาตมาอ่านประวัติท่านไปก็เครียดแทน ลองมานึกว่าถ้าเราเป็นพระพุทธเจ้า แล้วมีลูกศิษย์ประเภทหาเรื่องให้ทุกวัน แล้วไม่ใช่ใกล้ ๆ นะ เทียบแล้วกีฏาคีรีชนบทก็ประมาณสุไหงโกลก ส่วนพระพุทธเจ้าอยู่กรุงเทพฯ แล้วเขาก่อเรื่องที่นั่น พระองค์ก็ต้องตามไปสอบสวนกัน ครั้งแรกท่านไปเผาป่า แล้วมีคนตายไปหลายคน พระพุทธเจ้าสอบสวนว่า"เธอมีเจตนาหรือไม่ ?" เขาบอกว่า"ไม่มีเจตนา" พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าอย่างนั้นเธอโดนอาบัติถุลลัจจัย ไม่โดนปาราชิก ภิกษุฉัพพัคคีย์เลยรอดไป ครั้งต่อมาก็เผาอีก พระพุทธเจ้าถามว่า "เธอตั้งใจหรือเปล่า ?" ภิกษุฉัพพัคคีย์บอกว่า"ตั้งใจ" คราวนี้โดนปาราชิก เราจะเห็นความดีของคนสมัยก่อนว่าพูดจริงทำจริง ไม่โกหก ถามอย่างไรก็ตอบจริง ทำอย่างไรก็รับอย่างนั้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2014 เมื่อ 16:03 |
สมาชิก 81 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
เราจะเห็นคุณความดีของท่านหลายอย่าง และที่แน่ ๆ เราจะเห็นคุณของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่งเลยว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่แค่บัญญัติสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ยังมีอภิสมาจาร คือ มารยาทเล็กน้อย ๆ อีก ๔๐๐ - ๕๐๐ ข้อ แล้วสิกขาบทแต่ละข้อ ยังมีอนุบัญญัติตามมาอีก บางข้อเขาแหกคอกไปได้ ๒๐๐ กว่ามุม อย่างเช่นว่า ห้ามภิกษุเสพเมถุน ก็คือ ห้ามมีเมีย เขาตีความว่าห้ามมีเมียที่เป็นมนุษย์ ก็เลยไปเสพเมถุนกับลิง พอห้ามเสพเมถุนกับมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน เขาก็ตีความว่าซากศพไม่ใช่มนุษย์ ก็เลยไปเสพเมถุนกับซากศพอีก ทีนี้พอเขาใช้คำว่า ปัสสาวะมรรค ก็คือ ช่องเพศธรรมดา เขาก็เลี่ยงไปเสพเมถุนทางช่องปากอีก เขาเลี่ยงไปเรื่อย.... กระทั่งรอยแผลเขายังทำได้ คนหน้ามืดขึ้นมานี่ไม่รู้จะว่าอย่างไรจริง ๆ ถ้าหากใครไปอ่านพระวินัยปิฎก คนที่ประเภทเลี่ยงกฎหมายเขาเลี่ยงกันสุดชีวิตจริง ๆ
เราลองมานึกถึงพระพุทธเจ้า ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เช้าขึ้นมาต้องเสด็จออกบิณฑบาต ท่านไม่ได้ออกไปบิณฑบาตเฉย ๆ แต่ท่านตั้งใจที่จะไปโปรดคน สงเคราะห์คน ก็แปลว่า ต้องไปเทศน์โปรดเขาด้วย เดินทางไกลอีกด้วย สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ตอนบ่ายเทศน์โปรดชาวบ้าน ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำก็ให้โอวาทพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เที่ยงคืนแล้วก็แก้ปัญหาให้พรหมและเทวดา ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ พอใกล้รุ่งก็ตรวจอุปนิสัยสัตว์โลก ว่าวันนี้จะไปโปรดใคร แล้วพระองค์ยังต้องมาเจอประเภทภิกษุฉัพพัคคีย์อีก ท่านเอาเวลาที่ไหนมา ? ท่านไม่ได้บัญญัติแค่มูลบัญญัติ คือ ศีลต้น ไม่ได้บัญญัติแค่อนุบัญญัติ ก็คือข้อห้ามรอง ๆ ลงมา แต่ท่านจะต้องบอกด้วยว่า แต่ละข้อจะต้องทำอย่างไร ต้องห้ามอย่างไร อย่างเช่นว่า ถ้าหากโดนอาบัติปาราชิกต้องทำอย่างไร โดนอาบัติสังฆาทิเสสต้องทำอย่างไร ลักษณะไหนจึงโดน ลักษณะไหนจึงไม่โดน เหมือนกับอธิบายความกฏหมาย เท่ากับทำตำราขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง แล้วท่านเอาเวลาที่ไหนมาอธิบายละเอียดขนาดนั้น ? ท่านอธิบายอย่างไม่มีช่องทางให้เล็ดลอดเลย แต่ยังมีคนสงสัยว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นสัพพัญญูขนาดนั้น ทำไมท่านไม่ห้ามไปเสียก่อน? รอให้เกิดเรื่องก่อนแล้วค่อยห้าม ทำให้เสียเวลา...
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2014 เมื่อ 16:06 |
สมาชิก 78 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
มีคำอธิบายง่าย ๆ ว่าถ้าห้ามก่อน เขาจะไม่เชื่อว่าคนเราจะแหกคอกได้ขนาดนั้น คุณเคยได้อ่านพระวินัยหรือยัง ? สุดท้ายไม่มีอะไรแล้ว แม้กระทั่ง กบ ปลา งู เขาก็ยังเอา บีบให้อ้าปาก นี่ถ้าเจองูเขี้ยวยาว ๆ ละก็..แค่นึกก็สยองแล้ว แต่คนหน้ามืดเขาทำของเขาได้ เขาถือว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ห้าม
เขาไม่ได้รักในพระศาสนา แค่อาศัยอยู่เฉย ๆ แค่ปัญหาเรื่องบวชก็แย่แล้ว พระบวชเข้ามาก็มีแต่สารพัดโรคเต็มไปหมด เพราะหมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านปวารณารักษาพระ คราวนี้ท่านรับราชการเป็นหมอหลวง รักษาพระพุทธเจ้าด้วย รักษาพระเณรทั่วไปด้วย จึงไม่มีเวลาที่จะไปรักษาคนอื่น คนทั่วไปไม่รู้จะรักษากับใคร เพราะหมออื่นรักษาหายบ้างไม่หายบ้าง แถมโกงเงินอีกต่างหาก แต่ถ้ารักษากับหมอชีวกโกมารภัจจ์หายแน่นอน เขาก็เลยวางแผนว่า ในเมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์รักษาแต่พระเณร เขาก็บวชเข้ามา รักษาจนหายเขาก็สึกไป แต่คราวนี้หมอชีวกไปเจอเข้าสิ "อ้าว...ท่านบวชอยู่ไม่ใช่หรือ ?" "หายแล้วจ้ะ ก็เลยสึก" หมอชีวกโกมารภัจจ์ท่านจำหน้าคนที่ไปรักษากับท่านได้ ก็เลยไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บรรดาโรคน่ารังเกียจ ๕ อย่าง อย่าให้บวชได้ไหม ? พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติขึ้นมา ห้ามพระที่เป็นโรค ๕ อย่างนี้บวช ก็คือ กุฏฐัง โรคเรื้อน คัณโฑ โรคฝีดาษ กิลาโส โรคกลาก พวกกลากวงเดือน เรื้อนกวาง สะเก็ดเงิน โสโส โรคไข้มองคร่อ (วัณโรค) อปมาโร โรคลมบ้าหมู ถาม : พรากของเขียวเพื่อเล่น เล่มไหน ๆ ผมก็หาอ่านไม่เจอ ? ตอบ : ดูในอุปกรณ์วินัยมุขเล่ม ๑ เขาจะมีคำอธิบายอยู่ อย่างเช่นว่าห้ามด่าภิกษุ เขาก็จะมีว่าคำด่าคืออะไร เจ้าเป็นโค เจ้าเป็นลา เจ้าเป็นอูฐ เจ้าเป็นม้า ท่านอาจารย์วิจิตร (พระมหาวิจิตร กลฺยาณจิตฺโต ป.ธ.๘) ท่านสอนเรื่องนี้ แล้วท่านก็สงสัยว่า เจ้าเป็นโค เจ้าเป็นลา เจ้าเป็นม้า เจ้าเป็นอูฐ ด่าอย่างนี้หยาบตรงไหน ? ก็บอกท่านอาจารย์ไปว่าลองเปลี่ยนเป็นไอ้เหี้_สิครับ..! เพราะสมัยนั้นคำเหล่านั้นเป็นคำหยาบอย่างหนึ่ง แต่สมัยนี้ของเราหยาบอีกอย่างหนึ่งแล้ว
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2014 เมื่อ 16:11 |
สมาชิก 66 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
พระวินัยปิฎกมี ๘ เล่ม ก็แปลว่าพระพุทธเจ้าเขียนหนังสือกฏหมายหนา ๆ มา ๘ เล่ม นี่ยังไม่นับรวมเรื่องเทศน์เลย นี่แค่เรื่องภิกษุ เรื่องของภิกษุณีก็ปวดหัวไม่แพ้กัน พระภิกษุที่แสบก็มี พระโลลุทายี พระอุปนันทศากยบุตร และภิกษุฉัพพัคคีย์ เป็นต้น ส่วนภิกษุณีก็มีถูลนันทาเถรี
ถาม : มีแสบด้วยหรือครับ ? ตอบ : สุดยอดความแสบเลย เขาเป็นผู้หญิงสามพี่น้อง มีนันทาวดี ถูลนันทา สุนทรีนันทา แต่ถูลนันทาเขาบอกชัดเลยว่าอ้วน (ถูละ = อ้วน) ที่สร้างปัญหาก็เพราะว่าพวกนี้บวชเข้ามาแล้ว พอพรรษามากก็รู้มาก เลยเลี่ยงกฏหมาย ไม่ใช่ไม่รู้ แต่นี่รู้แล้วทำ อย่างภิกษุฉัพพัคคีย์นั้นลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง พอเวลาท่านทำผิดจึงเสียหายเยอะ เพราะอาจารย์ทำลูกศิษย์ก็ทำตาม นางถูลนันทาเถรีเหมือนกัน สารพัดปัญหา มีศีลอยู่ข้อหนึ่งบอกว่า ภิกษุณีไม่มีผ้ารัดอก ห้ามออกจากกุฏิ เพราะว่าผ้าสมัยนั้นบาง บางท่านนี่แม่ให้มาเยอะ ออกไปผู้ชายเห็นแทบจะหัวใจวาย ก็เลยต้องมีผ้ารัดอก นางถูลนันทาเถรีนั่นแหละเป็นต้นบัญญัติ กระทั่งภิกษุณีห้ามฉันกระเทียมก็เพราะท่าน ถาม : ทำไมครับ ? ตอบ : ไม่ใช่ฉันแล้วคึก เหตุเกิดจากนางไปขอกระเทียมจากชาวบ้าน ชาวบ้านก็บอกว่า ขอเชิญแม่เจ้าไปเก็บถอนเอาเองเถอะ พระคุณท่านก็เลยถอนจนหมดไร่ ไม่เกรงใจเขาเลย เขามาฟ้องพระพุทธเจ้า พระองค์จึงต้องห้ามภิกษุณีฉันกระเทียม ถาม : อ่อ..ภิกษุณีนี่ฉันกระเทียมไม่ได้เลย ? ตอบ : ฉันไม่ได้..ห้ามเสียให้หมดเรื่องหมดราวไปเลย พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงบ่าย ณ บ้านอนุสาวรีย์ วันศุกร์ที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2014 เมื่อ 16:13 |
สมาชิก 67 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
Tags |
พระวินัย, พระสุทินน์กลันบุตร, ศีล |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|