|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#1
|
||||
|
||||
หลวงปู่ครูบาธรรมชัย แห่งวัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กับความลี้ลับของป่า
ครูบาธรรมชัย นามเดิมว่า "กองแก้ว เมืองศักดิ์" เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ตรงกับเดือน ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีขาล ทางเหนือเรียกว่าปีกาบยี่ ร.ศ. ๑๓๓ จุลศักราช ๑๒๗๖ เป็นบุตรชายของนาย "สุจา" หรือ หนานพรหมเสน มารดาชื่อนางคำป้อ หนูน้อยกองแก้ว เมืองศักดิ์ ถือกำเนิดที่หมู่บ้านสันป่าสัก หมู่ที่ ๖ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน หนานพรหมเสนกับนางคำป้อ มีอาชีพแพทย์แผนโบราณและช่างไม้ ทำนาทำสวน หนูน้อยกองแก้วเคารพบูชาในบิดามารดามาก เชื่อฟังคำสั่งสอนอยู่ในโอวาทของบุพการีอย่างเคร่งครัด เป็นเด็กผู้มีจริตนิสัยพูดจริงทำจริง สนใจข้อธรรมคำสอนขององค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพทธเจ้า เล่าเรียนเขียนอ่านสิ่งใดที่เกี่ยวข้องไปถึงหลักธรรมจะชุ่มเย็นในดวงจิต จึงเป็นเด็กที่ชอบเข้าวัดเข้าวามาตั้งแต่ยังเล็ก หนูน้อยกองแก้วเป็นเด็กรูปงามตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย ผิวขาวสะอาด นิสัยใจคอเยือกเย็น ไม่รุ่มร้อนขี้โมโห เอาแต่ใจตนเองเช่นเด็กรุ่นเดียวกัน วาจาไพเราะอ่อนหวานเป็นที่พึงพอใจของผู้หลักผู้ใหญ่ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-04-2012 เมื่อ 09:51 |
สมาชิก 181 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
คำว่า "หนาน" หมายถึงผู้ที่สึกจากพระภิกษุ เหมือนกับภาษาภาคอีสานและภาษาภาคกลางว่า "ทิด" ส่วนผู้ที่สึกจากการบวชเป็นสามเณร ทางภาคเหนือเรียกว่า "น้อย" ทางภาคอีสานเรียกว่า "เซียงน้อย"
บิดาของหนูน้อยกองแก้ว มีผู้เรียกว่า "พ่อหนาน” หรือ "หนานพรหมเสน" ก็เพราะเคยบวชเรียนมาก่อนแล้วนั่นเอง ความรอบรู้ในข้ออรรถข้อธรรมในสมัยที่เป็นพระภิกษุ จึงถูกนำมาใช้อบรมสั่งสอนกุลบุตรทุกคน ในจำนวนพี่น้องทั้ง ๗ คนของหนูน้อยกองแก้ว ให้เคารพเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๓ อายุ ๑๕ ปี หนูน้อยกองแก้วได้เข้าอบรมเป็นศิษย์วัดสันป่าสักอยู่ ๓ เดือน หัดท่องเรียนเขียนอ่านอักขระพื้นเมืองทางเหนือ เรียนสวดมนต์ รู้สิกขาของสามเณร จากนั้นจึงบวชเป็นสามเณรที่วัด"แม่สารบ้านตอง" มีเจ้าอธิการคำมูล ธมฺมวํโส เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นสามเณรได้หนึ่งพรรษา สามเณรกองแก้วใส่ใจในการปฏิบัติจิตเจริญกรรมฐานเป็นพิเศษ มีจุดประสงค์แน่วแน่อยู่เสมอมา เกี่ยวกับการเดินธุดงค์เข้าสู่ป่าเขาลำเนาไพร เฉกเช่นพระสงฆ์องค์ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่บวชเรียนแล้วนิยมจาริกธุดงค์เข้าสู่ไพรลึกเถื่อนถ้ำดงกันดาร บำเพ็ญตบะธรรมมุ่งหวังให้จิตบรรลุลึงธรรมวิเศษ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 02-01-2010 เมื่อ 21:46 |
สมาชิก 162 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ถึงเป็นเพียงสามเณร ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้บวชอยู่ในบวรพระพุทธศาสนา ควรเอาเยี่ยงพระผู้ใส่ใจในการปฏิบัติ ออกปลีกวิเวกแสวงหาธรรมวิเศษดูบ้าง
เมื่อตริตรองจนแน่ใจในความปรารถนาของตนเองแล้ว สามเณรน้อยจึงเข้าไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส ขอลาไปบำเพ็ญเพียรในป่าเขาลำเนาไพรสักหนึ่งพรรษา ท่านสมภารตกใจเมื่อเณรน้อยอายุเยาว์ ดำริถึงขนาดขอออกท่องธุดงค์ ทั้งที่พรรษายังน้อยนิด ข้ออรรถข้อธรรมอันลึกซึ้งยังไม่ประสีประสา ข้อวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์ยังไม่แม่นยำเพียงพอ ขืนบุกป่าฝ่าดงไปตามลำพัง จะมีอันตรายร้ายแรง ป่าเขาในยุคกระโน้นส่วนมากยังเป็นป่าดงดิบ มีอันตรายทั้งจากสัตว์ป่าดุร้าย เช่น เสือ สิงห์ กระทิง แรด และยังมีภัยมืดอันมองไม่เห็นด้วยตาเปล่ารออยู่ แค่ก้าวแรกที่เหยียบย่างสู่ป่า ย่อมจะเผชิญอาถรรพ์ลี้ลับอันแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ทั่วทุกหย่อมหญ้า แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 02-01-2010 เมื่อ 21:46 |
สมาชิก 165 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
พระภิกษุผู้เจริญสมณธรรมมาบ้างแล้ว แต่ไม่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติ ขณะเดินธุดงค์อยู่ในป่าเปลี่ยววิเวกวังเวง ยังเจอดี ปรากฏว่าพบภูตผีปีศาจโผล่จากสุมทุมพุ่มไม้ หลอกหลอนด้วยวิธีการอันน่าสยองขวัญต่าง ๆ นานา ถ้าคุมสติไม่อยู่ อย่างน้อยจะตกใจถึงกับวิ่งจีวรปลิวว่อน อย่างหนักหากไม่ตายอยู่กลางป่าก็คางเหลืองไปตาม ๆ กัน ท่านสมภารจึงห้ามปรามเณรน้อย
แต่สามเณรกองแก้วยืนกรานขอออกท่องธุดงค์ โดยสละสิ้นซึ่งอัตภาพร่างกาย ท่านสมภารเจ้าอาวาสอ่อนอกอ่อนใจ เห็นว่าการขัดศรัทธาของผู้แน่วแน่ในการบำเพ็ญเพียร จะเป็นการหาบาปกรรมใส่ตน จึงยอมอนุญาต แต่พร่ำสอนข้อวัตรปฏิบัติหลายเที่ยวหลายหนด้วยความรักใคร่เอ็นดู สามเณรน้อยจึงกราบลาด้วยจิตโสมนัสยินดี... ขณะก้าวเท้าออกจากประตูวัดวาอาราม สามเณรกองแก้วมีเพียงบริขารเท่าที่จำเป็นในการจาริกธุดงค์คือ สบง จีวร และบาตร สำหรับ กลด ไม่มีเพราะไม่ปรารถนาจะแบกกลดให้เป็นภาระหนัก คิดจะอาศัยนั่งนอนและพักผ่อนตามโคนไม้ เถื่อนถ้ำ ชะง่อนหิน อาศัยธรรมชาติแบบทำตนให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติในขุนเขาลำเนาไพร ยุงป่ามีภัยร้ายกาจก็ยินดีให้พวกมันดูดเลือดแก้กระหายหิว ทากป่าจะเกาะสูบเลือดบ้างก็ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของมัน ตั้งใจเด็ดเดี่ยวในการแสวงหาธรรมอันเป็นคุณวิเศษ ไม่อาศัยในสังขารอันเป็นอนิจจัง ถึงกระนั้นบาตรยังจำเป็นต้องมีเพื่อหาอาหารมาหล่อเลี้ยงชีวิต เพิ่งออกแสวงหาธรรมวิเศษยังไม่ทันเจอธรรมสักประการ จะมาทิ้งชีวิตเสียง่าย ๆ ก็ดูกระไรอยู่ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:35 |
สมาชิก 157 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
จากประตูวัด สามเณรเดินจาริกธุดงค์โดยไม่มีที่หมายตายตัว
ผ่านดงอันรกชัฏและต้นไม้สูงใหญ่ไปตามลำตับ สิ่งเดียวที่เหมือนเพื่อนร่วมเดินคือเสียงฝีเท้าที่ย่ำกรอบแกรบไปบนเศษกิ่งไม้ใบหญ้าแห้ง กำหนดให้จิตอยู่กับกาย กายอยู่กับจิต ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงทุกสรรพสิ่งอันแวดล้อมไปด้วยความแปลกใหม่และสงบงันอย่างไม่เคยเจอ เดินท่องไปจนกระทั่งถึง "ป่าห้วยดิบ" บังเอิญมีชายวัยกลางคนผู้หนึ่งเที่ยวเสาะหาของป่าอยู่ พบสามเณรน้อยท่องธุดงค์เพียงลำพังผู้เดียว ชายผู้นั้นตกอกตกใจเพราะคาดไม่ถึง ทีแรกเข้าใจว่าสามเณรเดินพลัดหลงอยู่กลางป่า เมื่อรู้ว่าสามเณรน้อยมีเจตนาออกแสวงวิเวกเยี่ยงพระภิกษุผู้มีธุดงค์เป็นวัตร ชายวัยกลางคนยิ่งอกสั่นขวัญหายแทน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:34 |
สมาชิก 158 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
เขากล่าวตักเตือนให้ตระหนักถึงภยันตรายอันน่าพรั่นสะพรึง ซึ่งคือ เสือเย็น ที่ผู้คนในแถบถิ่นนี้แค่ได้ยินชื่อก็ขนหัวลุกชัน
สามเณรน้อยไม่เข้าใจถึงเรื่องเสือเย็นคืออะไร จึงถามชายวัยกลางคนไปตามประสาซื่อ ชายวัยกลางคนสาธยายให้รู้โดยละเอียด เรื่องลี้ลับในป่าดงดิบ นอกจากเจ้าป่าเจ้าเขา ผีสางนางไม้ และเปรตอสุรกาย อันน่าครั่นคร้ามแล้ว ในแวดวงป่าดงดิบยังมีไสยเวทย์มนต์ดำที่ผู้ฝักใฝ่ในด้านดิรัจฉานวิชา ศึกษากันอยู่อย่างคร่ำเคร่ง เมื่อศึกษาโดยรู้ไม่ถ่องแท้ของหลักวิชาดั้งเดิม นานเข้าจึงกลายเป็นผู้ร้อนวิชา กลายเป็นปอบ เป็นกระสือ เป็นกระหัง ออกเที่ยวทำอันตรายต่อผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ต้องมาล้มตายไปโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ คือตายโดยไม่รู้ว่ามีสิ่งใดมาทำให้เสียชีวิต ยังมีเสือโคร่งเจ้าป่า เมื่อจับคนไปกินเป็นภักษาหารมากเข้า วิญญาณอาฆาตของผู้ตายจะสุมหัวกัน เข้าสิงสู่อยู่ในร่างเจ้าป่า เปลี่ยนจากเสือดุร้ายอำมหิตสามัญธรรมดา กลายเป็น เสือสมิง เมื่อเป็นเสือสมิง เท่ากับเป็นสัตว์ดุร้าย แถมยังมีวิญญาณผีผู้มีความคิดแยบยลเป็นมันสมอง วิญญาณร้ายผู้เจ็บแค้นอาฆาต จึงสามารถทำให้เสือสมิงจำแลงแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้อย่างมหัศจรรย์ มีกลอุบายสารพัด หลอกล่อเอาพรานป่าและนักนิยมไพรไปกินเป็นอาหารเสียนักต่อนัก พรานป่าและนักนิยมไพร ก็จะกลายเป็นวิญญาณร้ายสิงสู่อยู่ในร่างเสือสมิงเข้าไปอีก นานเข้าก็กลายเป็นเสือมีอภินิหาร อันยากแก่การกำราบปราบปราม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:34 |
สมาชิก 148 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
แต่ "เสือเย็น" ยิ่งใหญ่เหนือกว่าเสือสมิง เพราะอุบัติไปจากผู้ศึกษาไสยเวทย์จนเข้มขลังแก่กล้า ร่ายเวทย์คาถาอาคมจำแลงแปลงร่างจากมนุษย์กลายเป็นเสือโคร่งเจ้าป่า เรียกว่า "เสือเย็น" เมื่อเสือเย็นคือ ผู้ทรงศักดาภินิหารทางคุณไสย ถึงขั้นสุดยอดแปลงร่างได้ พลังอำนาจคาถาอาคมย่อมอยู่ร่างพร้อมมูล นำออกมาใช้เมื่อไหร่ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ผู้กำราบเสือเย็นจำจะต้องเรืองวิชาทางไสยเวทย์มนต์ดำยิ่งไปกว่า แต่จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อผู้จำแลงแปลงร่างเป็น เสือเย็น ถึงจุดสุดยอดของอาคมขลังเสียแล้ว การจำแลงจากร่างมนุษย์เป็นร่างเสือคือสุดยอดของหลักวิชานั่นเอง
ร้ายไปกว่านั้นคือ เสือเย็นที่ได้ลิ้มรสเลือดสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควายหรือสัตว์ใหญ่ในป่าอื่น ๆ จะเป็นการเสริมพลังอำนาจในแนวทางของดิรัจฉานวิชา เสือเย็นจะทวีพลังอำนาจมากขึ้นกลายเป็น อยู่ยงคงกระพัน ล่องหนหายตัวได้ ภยันตรายสุดขีดคือ เสือเย็นไปกินมนุษย์ด้วยกัน อำนาจเวทย์จะถึงขั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในป่าดงดิบ มีเพียงพระอริยสงฆ์ผู้สำเร็จธรรมวิเศษเท่านั้นที่จะสยบฤทธิ์ของเสือเย็นให้พ่ายแพ้ราบคาบ เวลานี้ "เสือเย็น" ตัวหนึ่งกำลังออกอาละวาดหากินอยู่กลางป่า ผู้หนีรอดกรงเล็บของมันมาได้หวุดหวิดเล่าว่า เสือเย็นมีขนาดเท่าควายวัยฉกรรจ์ล่ำสันกำยำ แต่คล่องเยี่ยงพญาเสือเจ้าป่า เป็นเสือที่เกิดจาก "ตุ๊เจ้า" หรือพระภิกษุลึกลับรูปหนึ่งซึ่งร่ำเรียนวิชาทางไสยศาสตร์จนวิชาแก่กล้า เกิดร้อนวิชาจำแลงแปลงกายเป็นเสือ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:33 |
สมาชิก 151 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
เมื่อกลายเป็นเสือตัวใหญ่มหึมาเท่าควายเปลี่ยว จึงจับวัวควายของชาวบ้านคาบไปกินได้อย่างสบาย เพียงงับเข้าที่ก้านคอวัวควาย สะบัดหัวให้ร่างที่ลำคอแหลกยับคาคมเขี้ยวลอยขึ้นไปพาดบนหลัง มันก็โจนทะยานเอาไปนอนแทะซากวัวควายกินอยู่ภายในป่า ใครก็ไม่กล้าออกติดตามไล่ล่า เพราะเสือเย็นตัวใหญ่มหึมาและคล่องแคล่วเคลื่อนไหวได้รวดเร็วปานลมพัด
เวลาผ่านไปมีชาวบ้านออกไปหาของป่า เช่น สมุนไพร เศษฟืน เจอเสือเย็นกลางป่าที่ดักรออยู่ พวกชาวบ้านป่าถูกเสือเกิดจากอาคมตนนี้คาบไปกินหลายรายแล้ว ชายวัยกลางคนขอให้สามเณรรีบย้อนกลับไปเข้าวัดโดยเร็ว ขืนท่องตระเวนอยู่ในดงดิบมีหวังประจัญหน้ากับเสือเย็นอันน่าพรั่นพรึง กลายเป็นอาหารอันโอชะของมันเสียเปล่าไม่เข้าการ สามเณรกองแก้วไม่นึกหวาดกลัวเสือเย็นที่ได้รับคำบอกเล่าแม้แต่น้อย ชี้แจงให้ชายวัยกลางคนผู้นั้นฟังว่า "คนเราเกิดมายากดีมีจนเช่นไร ยามมีชีวิตต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพกันต่าง ๆ นานา วาระสุดท้ายคือตายทิ้งสังขารไปเหมือนกันหมด อาตมาเป็นสามเณร ถือว่าเกิดมาในชาตินี้มีบุญกุศลเกื้อหนุน ได้บวชในบวรพุทธศาสนา จึงยอมสละซึ่งอัตภาพสังขารเพื่อปฏิบัติบำเพ็ญเพียรให้รู้แจ้งเห็นจริง อุทิศชีวิตแล้วเพื่อแสวงหาธรรมชั้นสูงอันหาได้ยากในบ้านในเมือง เสือเย็นหากเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของอาตมา หนีอย่างไรก็คงหนีกันไม่พ้น อาตมาประสงค์จะบำเพ็ญตบะธรรมโดยไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะผู้ชักช้ารีรอถือว่าเป็นผู้ตั้งตนอยู่บนความประมาท" แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:33 |
สมาชิก 152 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
ปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรวบรวมหลักธรรมคำสอนตลอด ๔๕ พรรษา รวมเป็นจุดใหญ่ใจความเดียวคือ "ความไม่ประมาท" พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ให้สมบูรณ์พร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" "อาตมาเห็นคุณของพุทธโอวาทแห่งพระบรมศาสดา เรื่องเสือเย็นจึงไม่นึกเกรงกลัวแม้แต่สักนิดเดียว" ชายชาวป่าเห็นความแกล้วกล้าอาจหาญของสามเณรน้อย นึกเลื่อมใสศรัทธาเป็นล้นพ้น ยกสองมือไหว้ท่วมหัว สรรเสริญสามเณรน้อยว่าเป็นผู้แน่วแน่ในพระสัทธรรม ยากยิ่งที่จะพบในสามเณรทั่วทั้งแผ่นดิน กล่าวจบชายวัยกลางคนก็นมัสการลาสามเณรกองแก้วไปตามทางของตน ป่าห้วยดิบจึงเหลือสามเณรเพียงลำพัง เมื่อก้าวเดินไปพบทำเลเหมาะสม ใต้โคนไม้ใหญ่กิ่งใบดกร่มรื่นดูเย็นสบาย เป็นสถานที่อันสัปปายะ จึงตกลงใจถือเป็นที่พักอาศัย นั่งเจริญสมาธิและเดินจงกรม คืนแรกในป่าห้วยดิบ สามเณรนั่งสงบขัดสมาธิเจริญภาวนา ธรรมชาติของป่าลึกยามกลางค่ำกลางคืนดูวิเวกวังเวง น่าพรั่นพรึงทั้งที่อันตรายยังไม่ปรากฏ ผู้ไม่เคยย่างกรายเข้ามาในป่าใหญ่ หลงพลัดมาอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวจะนึกเห็นไปเองสารพัด ทั้งที่อันตรายจริงยังมาไม่ถึง แต่สามเณรน้อยจิตตั้งมั่นตามแนวทางพระธุดงค์แท้ ความครั่นคร้ามเรื่องสิ่งแวดล้อมมืดทะมึนไม่มีเลย ผู้กล้าสละแม้แต่ชีวิตเท่านั้นจึงเผชิญหน้าได้ทุกสภาพที่มีอยู่ในป่า อันเป็นการพิสูจน์ศรัทธาที่ตนเองมีในธรรมะของพระพุทธศาสนา เมื่อจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ธรรมวิเศษย่อมรออยู่เบื้องหน้า ไม่ช้าก็เร็วต้องดำเนินไปถึง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:33 |
สมาชิก 149 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
อุปสรรคประการเดียวที่สามเณรน้อยประสบในคืนแรกนั้นคือ "ถีนมิทธะ" ความง่วงเหงาหาวนอน และ "อุทธัจจะกุกกุจจะ" ความฟุ้งซ่านในอารมณ์ เพราะตอนอยู่ในวัดมีเพื่อนข้างกุฏิพอทักกันให้คลายเหงาหายง่วง
ซึ่งทั้งสองประการนั้นเป็นสิ่งกีดกั้นความดีมิให้บังเกิดขึ้น เรียกว่า "นิวรณ์" คอยรบกวนจิตไม่ให้รวมตัวถึงซึ่งความสงบได้ หนทางแก้ความง่วงเหงาหาวนอนคือลุกเดินจงกรม แล้วย้อนกลับลงนั่งหลับไปงีบหนึ่งก็พอดีสว่าง ตลอดคืนไม่มีสัตว์ร้ายใด ๆ มาแผ้วพาน ก่อนออกไปเที่ยวบิณฑบาตได้อาบน้ำในลำห้วยพอสดชื่น ที่หมู่บ้านในป่ามีศรัทธาญาติโยมใส่บาตรได้อาหารตามสมควรพออิ่ม ยังชีพให้ดำรงอยู่ได้ไม่เดือดร้อน หากไม่ยึดติดในรสชาติของอาหารเหล่านั้น ขณะสามเณรฉันอาหารในบาตรอยู่ที่โคนไม้ใหญ่ สังเกตพบพื้นดินข้างที่นั่งมีรอยบุ๋มลึกลงไป พิจารณาประเดี๋ยวเดียวต้องสะดุ้งใจ เมื่อเห็นถนัดว่าเป็นรอยตีนเสือใหญ่หวิดเท่าชามข้าว จึงลุกขึ้นเดินทอดสายตามองพื้นดินรอบบริเวณ พบรอยตีนเสือเหยียบย่ำไปรอบโคนไม้ใหญ่ เป็นรอยใหม่ ๆ ยังไม่มีเศษผลธุลีลงไปเกลื่อนอยู่ แสดงแน่ชัดว่าตอนสามเณรเดินเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน มีเสือขนาดมหึมาชนิดไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า เสือเมืองไหนมีรอยตีนใหญ่ถึงเพียงนี้ เสือตัวนั้นกำลังกระสากลิ่นมนุษย์ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:32 |
สมาชิก 145 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
พอรู้ว่ามีเสือตัวมหึมา เข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในสถานที่บำเพ็ญเพียร สามเณรซึ่งตั้งจิตแน่วแน่ว่า จะยอมตายเพื่อแลกกับคุณวิเศษ รู้สึกขนลุกเกรียวไปทั้งตัว ตบะเสือจ้าวป่าคือสิ่งซึ่งสะกดป่าทั้งป่าให้สยดสยองหวาดกลัว สามเณรน้อยใจสั่นหวั่นไหว กลัวจนตัวสั่นไปชั่วขณะหนึ่ง
เมื่อตั้งสติได้จึงนึกตำหนิตนเอง เพิ่งบอกกับชายผู้หวังดีว่าไม่เกรงแม้กระทั่งความตาย เพียงพบรอยตีนเสือเท่านั้น เสือตัวจริงยังไม่เห็นแม้แต่เงา ก็หวาดเสียว ครั่นคร้ามต่อความตายที่จะมาเยือนเสียแล้ว สามเณรกองแก้วย้อนกลับไปนั่งลงที่โคนไม้ใหญ่ตามเดิม ระลึกถึงพระสัทธรรมอันสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว พระศาสดาให้พึงระลึกถึง "มหาสติปัฏฐาน ๔" ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไปอยู่กลางป่า อยู่โคนไม้ใหญ่ ไปอยู่เรือนร้างว่างเปล่า ภิกษุนั้นพึงดำรงสติมั่น พิจารณากายในกายหนึ่ง พิจารณาเวทนาในเวทนาหนึ่ง พิจารณาจิตใจจิตหนึ่ง พิจารณาธรรมในธรรมหนึ่ง ภิกษุนั้นจักพ้นเสียซึ่งความหวาดเสียว ความกลัว ฯลฯ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:32 |
สมาชิก 148 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
สามเณรน้อยเริ่มพิจารณาร่างกายของตนเป็นปฐม ที่เรียกว่าพิจารณา ขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พิจารณาทบทวนย้อนกลับไปกลับมาให้ถ่องแท้ว่า ร่างกายนี้มิใช่ของเรา ร่างกายเป็นเพียงธาตุทั้ง ๔ มาประกอบกันคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ รวม ๔ ธาตุ จึงกลายเป็นเรือนร่าง ผู้สร้างเรือนร่างนี้คือผู้มีนามว่า ตัณหากิเลส ตัวเรานี้คือ "จิต" หรือ อทิสมานกาย ลอยมาด้วยกำหนดกฏแห่งกรรม เข้าเกาะกุมพักพิงอยู่อาศัยในเรือนร่างนี้ชั่วคราว เราไม่สามารถบังคับบัญชาร่างกายนี้ได้ดังใจเลย ไม่สามารถสั่งว่า ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้แก่ ฯลฯ เรือนร่างนี้แท้ที่จริงคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันอยากป่วย มันก็ป่วย มันอยากเจ็บ มันก็เจ็บ มันอยากตาย มันก็ตาย ไม่มีทางไปยับยั้งหรือขอร้องอะไรมันได้ เมื่อตายไปแล้ว กิเลสตัณหาก็สร้างเรือนร่างขึ้นมาใหม่ ดีไม่ดีกิเลสตัณหาพาไปสู่นรก จากนรกมาเกิดเป็นเปรต อสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่พบ ถ้าต้องการพบความสุข พึงกำจัดกิเลสตัณหาให้เด็ดขาด ไม่ให้มันมีอำนาจบังคับบัญชาจิต ต้องไม่ยินดีในเรือนร่าง คือกายเนื้อที่กิเลสสร้างให้พักอาศัย พึงระลึกถึงความจริงว่า เรือนร่างนี้เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล มีสิ่งที่เรียกว่า "ขี้" ทั้งภายนอกภายใน เช่น ขี้มูก ขี้ตา ฯลฯ เป็นต้น เมื่อรู้สภาพความเป็นจริง ไม่ใช่รู้แล้วก็รู้เฉย ๆ เห็นสิ่งสวยสดงดงาม เช่น สตรีมายืนเปลือยเปล่า เห็นทรวดทรงองค์เอวอรชรอ้อนแอ้น ก็ลืมว่ามีขี้แอบแฝงอยู่ในความงามนั้น ต้องตัดขาดจากกองกิเลสอาสวะให้เบ็ดเสร็จเด็ดเดี่ยว เมื่อนั้นย่อมพบคุณวิเศษที่น่ามหัศจรรย์ สามเณรกองแก้วพิจารณากลับไปกลับมาพอควร ปรากฏเป็นอัศจรรย์ว่าจิตรวมตัวเป็นสมาธิอย่างแน่วนิ่งดิ่งตรง ไม่ซัดส่ายไปมาอย่างตอนเริ่มหวาดกลัวเสือทีแรก ลืมเรื่องเสือตัวใหญ่มหึมา ลืมสิ้นทุกสรรพสิ่ง จิตเริ่มคลายออกจากสมาธิมารับรู้อารมณ์ภายนอกอีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลาเย็นย่ำสนธยา อาทิตย์อัสดงใกล้ลาลับพื้นพสุธา ดำรงอยู่ในเอกะจิต ๘ ชั่วโมงเต็ม สามเณรน้อยจึงลุกจากโคนไม้ใหญ่ เปลี่ยนอิริยาบถเดินไปยังลำห้วยที่มีน้ำใสสะอาดปานแผ่นกระจกใส เพื่อชำระล้างร่างกาย ทันใดนั้นเอง... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 10:21 |
สมาชิก 132 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
สามเณรน้อยตกตะลึงพรึงเพริดยืนตัวแข็งทื่ออยู่กับที่ก้าวขาไม่ออก เบื้องหน้าที่ลำห้วย เสือใหญ่ขนาดมหึมาก้มหน้าเลียน้ำอยู่อย่างเงียบเชียบ
เป็นเสือลายพาดกลอนตัวใหญ่เท่าควายกำลังฉกรรจ์ เมื่อกินน้ำเสร็จจึงเงยหัวขึ้นเพ่งมองสามเณรเขม็งนิ่ง หัวเสือใหญ่เท่ากระบุง ดวงตาสีเหลืองเข้มลุกวาวเจิดจ้าเหมือนสายฟ้าแลบแปลบปลาบ ชะรอยจะเป็น เสือเย็น ที่ชาวบ้านร่ำลือกันด้วยความอกสั่นขวัญแขวน เณรน้อยขนลุกเกรียว มองไม่เห็นทางใดที่จะเอาชีวิตรอดไปได้ ชายวัยกลางคนเคยบอกให้ฟัง จำได้ไม่ลืมเลือนว่ามันว่องไวปานลมพัด ไม่ทันที่สามเณรจะขยับตัวจากที่เดิม เสีอโคร่งยักษ์แสยะแยกเห็นเขี้ยวยาวเกือบคืบขาววับ มีเสียงคำรามประหนึ่งป่าแตกด้วยอำนาจจ้าวป่า ย่อตัวก่อนโถมทะยานเข้าตะครุบสามเณรกองแก้ว เณรน้อยตกใจจนเข่าอ่อนยวบ หงายผลึ่งลงไปนอนกับพื้นดิน กรงเล็บคมกริบเหมือนเงื้อมมือมฤตยูตะกุยถาก ร่างทะมึนของพญาเสือโคร่งลอยข้ามไปอย่างหวุดหวิด..! สามเณรขวัญหายนึกว่าตายจากโลกไปแล้ว นอนเนื้อตัวสั่นเทาอยู่ตรงนั้น ปล่อยทุกอย่างไปตามบุญตามกรรม เชี่อแน่ว่าจะอย่างไรก็ไม่พ้นที่จะตกเป็นอาหารอันโอชะของเสือเย็นผู้อำมหิต แต่ความมหัศจรรย์อุบัติขึ้นในเพลานั้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 31-12-2009 เมื่อ 03:36 |
สมาชิก 138 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
คั่นเวลาด้วยภาพเสือที่เขาว่ากันว่า เป็นเสือที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก...
|
สมาชิก 111 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
||||
|
||||
เสือเย็นผู้หฤโหดหายไปไหนเสียก็ไม่รู้ หลังจากโถมกระโจนเข้าตะครุบพลาดเป้าหมาย เหมือนพญาเสือร้ายอันตรธานกลายเป็นอากาศธาตุ
สามเณรกองแก้วเมื่อมีสติกลับคืนมาครบถ้วนบริบูรณ์ ลุกขึ้นยืนมองไปรอบบริเวณป่า ไม่เห็นแม้แต่เงาของเสือตัวเท่าควายเปลี่ยว คงพบแต่รอยตีนเหยียบย่ำไปมาอยู่ในละแวกนั้น คะเนจากขนาดรอยตีน ต้องเป็นเสือตัวเดียวกับที่มาเดินวนเวียนอยู่แถวโคนไม้ที่อาศัยนั่งบำเพ็ญภาวนา เมื่อจิตค่อยคลายจากความประหวั่นตบะจ้าวป่า ซึ่งมีอำนาจเหนือสรรพชีวิตในไพรกว้าง สามเณรน้อยได้ข้อคิดพิจารณาว่า "สติ" คือสิ่งสำคัญยิ่งของมนุษย์ ยามคับขันมนุษย์ส่วนใหญ่จะขาดสิ่งสำคัญยิ่งยวดคือ "สติ" เพราะมีแต่สติเท่านั้นที่จะควบคุมจิตให้แน่วนิ่ง ไม่พรั่นพรึงต่อสรรพอันตรายใดๆ เนื่องจากจิตเองเมื่อยังไม่บรรลุถึงสัจธรรมขั้นสูง ย่อมหวั่นไหวไปมาตามสภาพจิตอันขาดที่พึ่ง การนอนตายอย่างสงบอยู่บนเตียงในบ้าน การโดนเสือฉีกกระชากเนื้อหนังกินเป็นภักษาหาร คือ "ตาย" เสมอเหมือนอันเดียวกัน ไม่มีแบ่งแยก ถ้ายอมตายโดยแน่วแน่ว่า จิตเบื่อหน่ายเรือนร่างอันเป็นรังของกิเลส ย่อมมีทางไปเบื้องหน้าอันประเสริฐ สามเณรน้อยตริตรองพระสัทธรรมในนาทีอันคับขันปานชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายเปื่อยขาด ปลงตกเด็ดเดี่ยวคือเป็นฝ่ายเที่ยวเดินตามหาเสือร้าย ถ้ากลัวเสือจะเดินจาริกธุดงค์ต่อไปกระไรได้ จากลำห้วยแห่งนั้น สามเณรกองแก้วแกะรอยตีนเสือลายพาดกลอนไปเรื่อย ๆ รอยตีนขนาดเท่าจานข้าว สามารถเห็นถนัดชัดเจน จึงก้าวเดินไปตามรอยบุ๋มที่พื้นดินอันเป็นรอยตีนเสือ เดินตามวกไปวนมาสักพักใหญ่ ปรากฏว่ารอยวกกลับมายังโคนไม้ใหญ่ต้นเดียวกับที่สามเณรน้อยอาศัยนั่งบำเพ็ญเพียรเมื่อคืนก่อน ที่โคนไม้มีสีเหลืองสว่างวาบ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 31-12-2009 เมื่อ 21:56 |
สมาชิก 131 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
แต่หาใช่สีเหลืองของเสือลายพาดกลอนผู้น่าสะพรึง แต่เป็นพระภิกษุห่มดองจีวรสีเหลืองหม่น ลักษณะอยู่ในวัยกลางคน ผิวคล้ำดำเกรียมเหมือนกรำแดดลมอยู่ชั่วนาตาปี ท่านั่งขัดสมาธิตั้งกายตรงเป็นสง่าน่าเคารพเลื่อมใส
พระภิกษุผู้ปรากฏกายขึ้นอย่างลึกลับ เอ่ยทักสามเณรน้อยด้วยสุ้มเสียงแจ่มใส เปี่ยมไปด้วยเมตตาการุณในน้ำเสียง "เดินเที่ยวตามหาเสือโคร่ง จะยอมให้เสือมันขบหัวกินจริงหรือเจ้าหนูน้อย" สามเณรกองแก้วสะดุ้งใจ เมื่อพระภิกษุลึกลับทราบถึงความในใจของตนเหมือนเปิดหนังสืออ่าน จึงทรุดตัวลงถวายนมัสการ แล้วถามพระภิกษุผู้ลึกลับ "หลวงพ่อรู้ได้อย่างไรขอรับ ว่ากระผมกำลังจะเดินไปให้เสือมันจับกิน หลวงพ่อเห็นเสือตัวใหญ่เบ้อเริ่มผ่านมาทางนี้หรือขอรับ" พระภิกษุผู้ลึกลับไม่ตอบคำถาม กลับยิ้มแย้มอย่างอารมณ์ดี กล่าวกับสามเณรน้อยแช่มช้า "เจ้าหนู เจ้านี้เป็นเด็กมีสติปัญญากล้าหาญในทางธรรม จากที่บวชเป็นสามเณรจงอยู่ให้ถึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุสืบไปตลอดชั่วอายุขัยของเจ้า ฝากชีวิตไว้กับพระศาสนา จะรุ่งเรืองบนเส้นทางสายนี้ต่อไปในภายภาคหน้า" แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 01-01-2010 เมื่อ 22:13 |
สมาชิก 137 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
||||
|
||||
คำชมเชยอันบ่งชี้ไปถึงกาลในอนาคตของพระภิกษุลึกลับ ทำให้สามเณรกองแก้วรู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งขึ้น ฟังดูเหมือนแสดงให้รู้ว่าเป็นพระผู้ทรงอภิญญาขั้นสูงเยี่ยม เพราะผู้ที่สามารถรู้วาระจิตของมนุษย์ และรู้กาลในอนาคตอันยังมาไม่ถึง มีเพียงผู้ทรงอภิญญาสมาบัติเท่านั้นจึงมีความสามารถกระทำได้
แต่เรื่องเกี่ยวกับเสือลายพาดกลอนตัวใหญ่มหึมายิ่งกว่าเสือโคร่งธรรมดาหลายเท่า ยังเป็นสิ่งรบกวนจิตใจ เป็นความคลางแคลงสงสัยไม่สร่างซา สามเณรน้อยไม่เชื่อว่ามีเสือชนิดใดในโลกจะตัวใหญ่ถึงเพียงนั้น น่าจะเป็นเสืออาคมจำแลงแปลงร่างมาจากผู้ทรงความรู้สูงด้านไสยเวทย์เสียมากกว่า อาจจะเป็น "เสือเย็น" ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านป่าวัยกลางคนที่เจอเมื่อวานซืน จึงไต่ถามพระภิกษุลึกลับว่าเป็นเสือจริง ๆ หรือเสืออันอุบัติขึ้นจากวิชาลี้ลับกันแน่ พระภิกษุรูปนั้นกล่าวอย่างเคร่งขรึมสำรวมให้สามเณรฟังเสียงเยือกเย็นแช่มช้า "เสือจริงหรือเสือปลอมไม่มีความสำคัญอะไร ใจเราสำคัญกว่าทุกอย่างที่มีในมหาจักรวาล อย่าเอาใจใส่เรื่องเสือ เมื่อใจเรามีศีล สมาธิ ปัญญา ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว เราย่อมมีชัยชนะทุกอย่าง เสือสางหรืออำนาจเร้นลับประการใดย่อมทำอันตรายเราไม่ได้" สามเณรน้อยกราบนมัสการคำตักเตือนของพระภิกษุลึกลับ จากนั้นเลียบเคียงถามท่านว่าหลวงพ่อมาจากไหน กำลังจะไปไหน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 02-01-2010 เมื่อ 21:37 |
สมาชิก 131 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#18
|
||||
|
||||
พระภิกษุลึกลับตอบสั้น ๆ ว่าท่านเป็นพระธุดงค์กรรมฐาน เป็นพระป่าผู้แสวงหาสถานที่สงบวิเวกอันเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม แต่ไม่แพร่งพรายชื่อเสียงเรียงนามที่มาที่ไปให้สามเณรน้อยรู้ ท่านประสงค์เพียงสิ่งเดียว คือแนะทางการปฏิบัติให้สามเณรน้อยกำหนดจดจำ
"การประพฤติปฏิบัติตามพุทธวิธีของสมเด็จพระบรมศาสดา ที่เรียกว่าการปฏิบัติเจริญกรรมฐานต้องเป็นศิษย์มีครู ถ้าดั้นด้นบำเพ็ญเพียรไปตามความคิดด้นเดาของตนเอง เปรียบก็เหมือนถนนหลวงเขาตัดไว้ดีแล้ว แต่เราไปหาทางตัดถนนเพื่อเดินเสียเอง เณรน้อยกล้าหาญที่บุกป่าฝ่าดงมาเพียงรูปเดียว แต่ความรู้ที่มียังน้อยนิดเหมือนน้ำจอกน้อย ดื่มอย่างไรก็แก้กระหายไม่ได้ ถึงเจ้าจะไม่หลงทาง แต่กว่าจะไปถึงจุดหมายที่ปรารถนา อาจท้อถอยหรือเดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงเสียในระหว่างทาง" สามเณรกองแก้วนมัสการถามว่า กระผมควรจะไปขึ้นพระกรรมฐานกับพระอาจารย์องค์ใดจึงดี พระภิกษุลึกลับยิ้มยินดีที่สามเณรน้อยผู้หวาดกลัวเสือ แต่ไม่ลืมเลือนเจตนาที่จาริกธุดงค์เข้าสู่ป่าของตน จึงชี้แจงให้ทราบว่า "พระอาจารย์ที่เจ้าสามารถกราบไหว้เป็นครูบาอาจารย์ได้มีมากมายหลายองค์ด้วยกัน ท่านที่อยู่ในวัดวาอารามก็มี ท่านที่รุกขมูลอยู่ตามป่าดงดิบก็มี แต่ที่สะดวกสำหรับเจ้า สามารถเดินทางไปหาได้ง่ายเพราะท่านอยู่ไม่ไกลคือ ครูบาศรีวิชัย ควรที่เจ้าจะไปกราบนมัสการท่านขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์เสียเถอะ ครูบาท่านมีบุญญาบารมีมาก เป็นสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหาผู้ใดเสมอเหมือนยาก" แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 03-01-2010 เมื่อ 23:18 |
สมาชิก 132 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#19
|
||||
|
||||
สามเณรกองแก้วก็กำหนดจดจำชื่อ "ครูบาศรีวิชัย" ไว้แม่นยำ
พระภิกษุลึกลับไม่ให้เสียเวลาไปโดยป่วยการ เริ่มชี้แนะแนวทางการปฏิบัติอย่างถูกต้องให้สามเณรในด้านกรรมฐาน โดยเฉพาะการเดินจงกรม ท่านได้กรุณาแนะนำว่า การเดินจงกรม และการนั่งเจริญสมาธิ จะต่างกันก็ตรงที่ "เปลี่ยนอิริยาบถ" เท่านั้น การเดินจงกรมต้องเดินให้ถูกวิธีขั้นตอนแบบโบราณที่สืบ ๆ กันมาจึงจะได้ผล ห้ามเดินส่งเดชตามใจตนเอง จะหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ก่อนเริ่มต้นเดินจงกรมต้องแสวงหาสถานที่เหมาะสมเสียก่อน สถานที่เหมาะสมคือสถานที่ เงียบสงัด พื้นดินต้องเรียบเสมอกัน ไม่ขรุขระ ไม่เป็นพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 04-01-2010 เมื่อ 21:25 |
สมาชิก 126 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#20
|
||||
|
||||
ความยาวของสถานที่เดินจงกรม
กำหนดความยาวอย่างสั้นที่สุดคือประมาณ ๒๕ ก้าว อย่างยาวที่สุดไม่เกิน ๕๐ ก้าว ควรกำหนดทางเดินไว้ ๓ สาย คือ ๑. เดินตามดวงตะวัน จากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก ๒. เดินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๓. เดินไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทางเดินจงกรม ๓ สายนี้ เดินเพื่อบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระอริยสงฆ์เจ้า อย่าเดินตัดทางโคจรดวงตะวัน...ไม่ดี แต่ถ้าสถานที่จำกัด จะเดินสายเดียวก็ได้ ให้เลือกเอา ๑ ใน ๓ สาย เริ่มแรก ก่อนจะเดินจงกรม ให้ประนมมือเสียก่อน ระลึกขึ้นในใจว่า "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" (ว่า ๓ จบ) ยกมืออธิษฐานไว้เหนือระหว่างคิ้ว ระลึกในใจถึง คุณพระศรีรัตนตรัย ที่ตนถือเป็นสรณะที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ระลึกถึง คุณของบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดถึง ท่านผู้เคยมีพระคุณแก่ตน จากนั้น รำพึงถึงความมุ่งหมายแห่งการเพียรที่กำลังจะกระทำ ด้วยความตั้งใจเพื่อผลนั้น ๆ (ผลคือก้าวหน้าไปในทางธรรม อันมี มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) เสร็จเรียบร้อยแล้วเอามือลง เริ่มเอามือทั้งสองข้างวางทับกัน มือข้างซ้ายลงก่อน เอาฝ่ามือข้างขวาทาบทับหลังมือซ้าย แล้ววางทาบทับอยู่แนบท้องน้อยใต้สะดือตามแบบพุทธรำพึง ให้เจริญพรหมวิหาร ๔ พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เจริญพอใจดีแล้ว ทอดสายตาลงต่ำในท่าสำรวมระวัง ตั้งสติ กำหนดจิตและธรรมที่เคยนำมาบริกรรมกำกับใจ หรือพิจารณาธรรมทั้งหลาย ตามแบบที่เคยภาวนา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 05-01-2010 เมื่อ 22:30 |
สมาชิก 129 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
Tags |
ครูบาธรรมชัย |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|