#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๒
ทุกคนนั่งตัวตรงหลับตาเบา ๆ วางร่างกายสบาย ๆ อย่าให้เกร็ง หายใจเข้าออกยาว ๆ สักสองสามครั้ง เป็นการระบายลมหายใจหยาบออกเสียก่อน หลังจากนั้นก็ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดตามลมหายใจเข้าไปพร้อมกับคำภาวนา จะกำหนดภาพพระไปพร้อมกันเลยก็ได้ หายใจออก...ภาพพระพร้อมกับความรู้สึกและคำภาวนาไหลออกมา หายใจเข้า...ภาพพระความรู้สึกทั้งหมดพร้อมกับคำภาวนาไหลเข้าไป กำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างนี้เพื่อที่สภาพจิตของเราจะได้มี "กำลังใจมั่นคงทรงตัว" สามารถที่จะมีกำลังในการรบรากับกิเลสได้
เมื่อครู่นี้ได้เล่าถึงชีวิตทหารบางช่วงให้ฟัง จริง ๆ แล้ว พวกเราก็จัดว่าเป็นทหาร เพียงแต่ว่าทหารที่เล่าให้ฟังนั้น เป็นทหารของอาณาจักรคือทางโลก ของพวกเราเป็นทหารทางพุทธจักร ก็คือ ทหารของพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า ธรรมเสนา คือ ทหารในกองทัพธรรม หน้าที่ของเราก็คือต่อสู้กับกิเลสที่มันจะเข้ามายึดจิตยึดใจของเรา ในเมื่อเราเป็นทหารมันจะเหยาะแหยะ จะอ่อนแอไม่ได้ โดยเฉพาะจอมทัพของเราคือพระพุทธเจ้า แม่ทัพแห่งกองทัพธรรมอย่างเช่น พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร เราเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพธรรม ทุกอย่างที่เราปฏิบัติต้องจริงจัง แน่วแน่ไม่แปรผัน ทุ่มเทให้กับมัน แลกกันด้วยชีวิต สิ่งสุดท้ายที่เราสู้กับกิเลสได้ดีที่สุด เรียกว่า บารมี คือกำลังใจ ชีวิตทหารทางโลก ถ้าขาดบารมีก็ไม่สามารถต่อสู้ฟันฝ่าจนเรียนจบได้ชีวิตของทหารในกองทัพธรรมถ้าปราศจากบารมี ก็ไม่สามารถต่อสู้เอาชนะกิเลสได้ บารมีทั้งหมดมีสิบอย่างด้วยกัน สมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงยังอยู่ ท่านให้พระทุกรูปเขียนบารมี ๑๐ ติดหัวเตียงไว้ ตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ต้องได้เห็น เข้าห้องเมื่อไหร่ต้องได้เห็น จะได้ทบทวนว่าบารมีของเรายังมีข้อไหนบกพร่องอยู่ จะได้เร่งรัดมันให้มากขึ้น ข้อไหนดีอยู่แล้วก็ให้ประคับประคองรักษามันต่อไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 24-12-2009 เมื่อ 12:42 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
บารมีทั้งสิบนั้นประกอบด้วย ทานบารมี ต้องรู้จักเสียสละให้ปัน เพื่อเป็นการตัดความโลภซึ่งเป็นกิเลสใหญ่ในใจเรา ให้สังเกตดูว่าในแต่ละวัน เรามีโอกาสที่จะให้ปันแก่คนอื่นได้หรือไม่ ถ้ามีโอกาสแล้วเราได้กระทำหรือเปล่า ถ้าเราได้ทำ สามารถที่จะสละออกแบ่งปันแก่คนอื่นได้ทันที ถือว่าบารมีข้อนี้ของเราใช้ได้ แต่ถ้าเรายังมีความหวง มีความห่วง สละออกได้ยาก แปลว่าบารมีข้อนี้ของเราบกพร่องต้องเน้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสละออกซึ่งทรัพย์สินสิ่งของ สิ่งที่เราหามาได้โดยยาก เรายังยอมสละออก เพื่อเป็นการสร้างความดีตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องใช้กำลังใจในการสละออกอย่างแรงกล้าถึงจะสำเร็จ เราต้องทบทวนดูว่า ทานบารมีของเราในแต่ละวันยังบกพร่องอยู่หรือไม่ ถ้ายังบกพร่องอยู่ให้ตั้งใจไว้ว่าพรุ่งนี้เราต้องทำให้ได้ และเราจะทำ
ข้อสอง คือ ศีลบารมี กำลังใจในด้านงดเว้น ระมัดระวังไม่ให้กายวาจาของเรา คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว การงดเว้นนอกจากตัวเราเองงดเว้นแล้ว ยังไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเขาละเมิด และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล เราต้องทบทวนในแต่ละวันว่าศีลบารมีของเราบกพร่องหรือไม่ เรามีโอกาสฆ่าสัตว์...เราได้ฆ่าสัตว์หรือไม่ เรามีโอกาสลักทรัพย์...เราได้ลักทรัพย์หรือไม่ มีโอกาสประพฤติผิดในกาม...เราได้ประพฤติผิดหรือไม่ มีโอกาสโกหก....เราได้กระทำหรือไม่ มีโอกาสที่จะดื่มสุราและเสพยาเสพติด...เราได้กระทำหรือไม่ ถ้าหากว่าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง ให้ตั้งใจว่าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลบารมีของเราจะต้องสมบูรณ์และบริบูรณ์แล้วระมัดระวังรักษาเอาไว้ ข้อที่สาม เนกขัมมะบารมี ถ้าว่ากันตามตรงคือการสละออกจากกาม เว้นจากการครองคู่ ถ้าสำหรับพวกเราที่เป็นปุถุชน โยคาวจรทั่วไป บางทีจะเป็นการงดเว้นได้ยาก ดังนั้นเราก็พยายามรักษาศีลในข้อที่สามให้สมบูรณ์ให้บริบูรณ์ไว้ ก็คือให้ยินดีเฉพาะคู่ครองของตน ไม่ไปล่วงละเมิดของรักหรือคนรักของผู้อื่นเขา แต่ถ้าผู้ใดสามารถทรงฌานสมาบัติได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป แล้วรักษาอารมณ์นั้นเอาไว้ได้ จะสามารถทรงตัวเนกขัมมบารมีนั้นได้ง่าย เนื่องจากว่ากำลังของฌานสมาบัติสามารถปลดกามราคะให้ดับลงได้ชั่วคราว ดังนั้นผู้ที่จะทรงเนกขัมมะบารมีอย่างต่ำสุดต้องได้ปฐมฌานขึ้นไป ถ้าจะเอาให้ปลอดภัยทีเดียวต้องทรงฌานสี่ให้คล่องตัว ชนิดที่นึกเมื่อไรก็ทรงฌานได้เมื่อนั้น ไม่อย่างนั้นแล้วไม่สามารถจะต่อสู้กับมันได้ ข้อที่สี่ คือ ปัญญาบารมี ในแต่ละวันเราใช้ปัญญาในการละกิเลสอย่างไรบ้าง อย่างหยาบ ๆ ก็เปรียบจากศีลทั้งห้าข้อ ลองทบทวนดูว่าเราได้ละเมิดศีลหรือไม่ ? อย่างกลางก็คือทบทวนว่า นิวรณ์ห้ากินใจเราได้หรือไม่ ? อย่างละเอียดก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เข้ามาสารพัดรูปแบบ สามารถเข้ามาแทรกแซงยึดครองพื้นที่ในใจเราได้หรือไม่ ? ถ้าหากว่าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง ให้ตั้งใจปฏิบัติให้บริบูรณ์สมบูรณ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงจะเรียกว่าเป็น การใช้ปัญญาในการตัดกิเลส และโดยเฉพาะต้องรู้จักใช้ปัญญาในการเสาะหาสาเหตุว่ากำลังใจของเราสะอาด สงบผ่องใส เกิดจากการที่เราคิด เราพูด เราทำอย่างไร ? เกิดจากสาเหตุอะไร ? แล้วเราก็คิดอย่างนั้นพูดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น สร้างสาเหตุนั้น ๆ กำลังใจของเราก็จะทรงตัวสะอาดผ่องใสได้นาน ถ้าพิจารณารู้ว่า กำลังใจของเราขุ่นมัว ด้วยกาย วาจา หรือใจ ในสภาพไหน ? เรากระทำอะไร ? ถึงเป็นเช่นนั้น เราก็ละเว้น งดเว้นเสียซึ่งกายวาจาและใจแบบนั้น หยุดสร้างสาเหตุแบบนั้น ความขุ่นมัวเศร้าหมองก็จะไม่เกิดขึ้นกับใจของเรา นี่จึงจะเรียกว่า เป็นการใช้ปัญญาบารมีอย่างแท้จริง ข้อที่ห้า วิริยบารมี เรามีความพากเพียรพอหรือไม่ ? ถ้าหากว่าความพากเพียรของเราเพียงพอ อุปสรรคต่าง ๆ ไม่สามารถจะขวางกั้นเราได้ แต่ถ้าความเพียรในการกระทำไม่พอ นิดนึงก็ท้อ หน่อยนึงก็ถอย ชีวิตนี้เอาดีได้ยาก หรือไม่สามารถจะเอาดีได้เลย ดังนั้นเราต้องรู้จักพิจารณาทุกวัน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 11-01-2011 เมื่อ 11:54 เหตุผล: แก้ รึ-หรือ, ไม้.ๆ |
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ข้อที่หก ขันติบารมี เราต้องมีความอดกลั้น อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก ที่จะต้องควบคุมกายวาจาใจของเราให้อยู่ในกรอบที่จะต้องเสาะหาให้ได้ว่า สาเหตุของความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากอะไร? และท้ายสุดต้องพยายามละให้ได้ วางให้ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องใช้ความพยายามอย่างแรงกล้า ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง อดทนชนิดที่เรียกว่าต้องเป็นคนเหนือคนเท่านั้นจึงจะทนได้ ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะสู้กิเลสไม่ได้ เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ปล่อยวางไม่ได้ ถ้ากิเลสมันยังไม่ตาย ลำบากแค่ไหนก็ต้องต่อสู้ฟันฝ่าไปจนกว่าจะก้าวล่วงไปได้ ขันติบารมีจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเอาไว้
ข้อที่เจ็ดเรียกว่า อธิษฐานบารมี เป็นการมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ ต่อเป้าหมาย ต่อจุดหมายของเรา ตั้งใจแล้วว่าเราจะปฏิบัติเพื่ออะไร แล้วมุ่งไปยังจุดหมายที่เราตั้งเอาไว้ แน่วแน่ไม่แปรผัน โดยเฉพาะถ้าเราตั้งใจว่าทำเพื่อพระนิพพาน เราต้องทุ่มเทเพื่อพระนิพพานจริง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ข้อที่แปดเรียกว่า สัจจะบารมี มีความจริงจัง จริงใจ ถึงเวลาต้องปฏิบัติ ให้ละเว้นงานอื่น ๆ มาปฏิบัติทันที ถ้าหากว่าเราไม่มีความจริงจังจริงใจ ไม่มีความเที่ยงตรงต่อตัวเอง เราไม่สามารถที่จะเอาดีได้ ข้อที่เก้าเรียกว่า เมตตาบารมี ให้ซักซ้อมแผ่เมตตาเสมอ ๆ อย่างที่สอนเอาไว้ เพราะว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ย่อมรักสุขเกลียดทุกข์เช่นกัน หวังล่วงพ้นจากความทุกข์เช่นกัน เราต้องเห็นเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ควรแก่การเมตตาปราณี ไม่ใช่เห็นเขาเป็นศัตรูเพราะว่าไม่ว่าเขาจะเป็นศัตรูหรือเขาไม่เป็น เขาก็มีความทุกข์เป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อเขามีความทุกข์น่าเวทนา น่าสงสารขนาดนั้นถ้าเราช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์ได้เราจะช่วย ข้อที่สิบ ข้อสุดท้าย อุเบกขาบารมี การปล่อยวาง โดยปกติแล้วพวกเราปล่อยวางกันไม่ค่อยจะเป็น มักจะคิดว่าฉันวางแล้ว ฉันวางแล้ว แต่บางเรื่องเราไปวางลงบนหัวของคนอื่นเขา โดยไม่ได้พินิจพิจารณาว่าสิ่งทีเราทำและคิดว่าวางแล้ว มันสร้างความเดือดร้อนแก้ผู้อื่นหรือไม่ ตัวอุเบกขาที่แท้จริงนั้นเป็นการปล่อยวางในความทุกข์ทั้งปวง ระลึกรู้อยู่ว่าชีวิตที่มีอยู่ไม่เกินร้อยปีนี้ ถ้าหากว่ามันสามารถล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ เปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดนับชาติไม่ถ้วนนั้นมันเป็นเพียงเสี้ยวเล็กเท่านั้น ทำไมเราจะอยู่ดีมีสุขกับมันไม่ได้ ดังนั้นถ้าทุกข์ปรากฏขึ้นก็รับรู้ไว้แล้วปล่อยวาง สิ่งไหนไม่เกินกำลังสามารถแก้ไขได้...ก็แก้ไข ถ้าทุ่มเทแก้ไขเต็มที่แล้วแก้ไขไม่ได้...ก็ปล่อยวาง โดยเฉพาะการเห็นจริงผ่านสภาพร่างกายของเรา ว่ามันมีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความทุกข์เป็นปกติในที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังเป็นปกติ ในเมื่อธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้ มันอยากจะเป็นก็เชิญเป็น เราดูแลมันดีที่สุดแล้ว ถ้ามันไม่สามารถดำรงอยู่ได้ อยากจะพังอยากจะสลายไปเมื่อไหร่ก็เชิญไปตามสลาย ทั้งสิบข้อนี้เราจำเป็นต้องทบทวนอยู่เสมอ ข้อไหนบกพร่องก็เสริมสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อที่เราจะได้มีกำลังต่อสู้กิเลสได้ เพื่อที่เราจะเดินได้ถูกต้องและตรงตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่เราทุ่มเทกระทำไปจะได้สมกับที่เกิดมาอยู่ในกองทัพธรรม เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่จะต่อสู้กับกิเลส เป็นทหารอันเป็นที่รักยิ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นทหารที่อยู่ในกองทัพน้อย ๆ ของหลวงปู่หลวงพ่อของเรา ซึ่งรวมอยู่ส่วนใหญ่ของกองทัพธรรมของพระพุทธเจ้า ดังนั้นอ่อนแอไม่ได้ บกพร่องไม่ได้ ทุกอย่างต้องทุ่มเทจริงจัง จริงใจ พากเพียรพยายาม อดทน อดกลั้น ตั้งมั่นต่อเป้าหมายโดยไม่แปรผัน เป้าหมายของเราคือพระนิพพาน ดังนั้นท้ายสุดของการปฏิบัติทุกครั้งให้เอาใจเกาะภาพพระบนนิพพานไว้ ตั้งใจว่าถ้าตายเมื่อไหร่เราขอมาอยู่ที่นี้ที่เดียว การเกิดใหม่มามีร่างกายที่เต็มไปด้วยทุกข์นี้เราไม่ต้องการมันอีก การเกิดเป็นเทวดาเป็นพรหมพ้นทุกข์ชั่วคราวเราก็ไม่ต้องการมันอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน แล้วเอาใจจดจ่อแน่วแน่เอาไว้ รักษาและประคับประคองอารมณ์ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ให้ทุกคนตั้งกำลังใจเอาไว้อย่างนี้จนกว่าจะกว่าจะถึงเวลาที่จะอุทิศส่วนกุศล พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์ วันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 11-01-2011 เมื่อ 11:55 |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
Tags |
กรรมฐาน, ธรรมเสนา, บ้านอนุสาวรีย์, บารมี ๑๐, บารมีสิบ |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|