#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖
|
สมาชิก 43 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชวัฒน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนนี้ที่สังขละคีรีรีสอร์ท หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
หลังจากที่ช่วงเช้าได้ต้อนรับคณะของนางเนตรทิพย์ เจริญวัย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรีที่ไปเยี่ยมถึงวัดท่าขนุน แล้วก็เดินทางขึ้นมาสังขละบุรี เพื่อเตรียมตัวเข้าประชุมในการประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล และเลขานุการทุกระดับ ซึ่งทางจังหวัดกาญจนบุรีรับเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ โดยมีวัดวังก์วิเวการาม หรือที่เรียกกันว่าวัดหลวงพ่ออุตตะมะ เป็นสถานที่จัดประชุม เมื่อดูความเรียบร้อยทุกอย่างแล้ว กระผม/อาตมภาพซึ่งตอนแรกได้รับการจัดสรรให้พักที่วังกะรีสอร์ต หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองลู ห่างจากวัดหลวงพ่ออุตตะมะไม่ไกล แต่เนื่องจากว่าพระเถระในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาต ๑๔ มากันเป็นจำนวนมาก จึงต้องสละห้องพักที่นั่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแขกบ้านแขกเมือง ตนเองต้องออกมาพักที่สังขละคีรีรีสอร์ท ซึ่งอยู่ห่างออกมาค่อนข้างมาก แต่ว่าเมื่อมาแล้วก็ดีใจ เนื่องเพราะว่าสถานที่ โดยเฉพาะอาคาร ๒ ซึ่งกระผม/อาตมภาพพักอยู่นั้น มีความกว้างขวาง และประกอบไปด้วยระเบียงต่าง ๆ อยู่ในลักษณะเหมือนอย่างกับบ้าน ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่เหมือนอย่างกับที่เก่าซึ่งได้รับการจัดสรรมา ที่ดูแล้วค่อนข้างจะอับทึบ ก็แปลว่าเดินทางไกลหน่อย แต่ได้รับความสะดวกสบายอย่างคาดไม่ถึง สำหรับวันนี้ นอกจากงานที่ได้ว่ามาแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้มอบข้าวสารอาหารแห้ง กับให้ทางโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก (วังด้ง) ซึ่งอยู่ในสังกัดของมูลนิธิเด็ก สถานที่นี้ทางวัดท่าขนุนให้การอุปถัมภ์มาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ยังไม่ทันจะระบาด จนกระทั่งยาวมาถึงในปัจจุบัน แต่ละเดือนก็มอบข้าวสารอาหารแห้งให้ คิดเป็นเงินหลายหมื่นบาท เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเด็ก ๆ จำนวนร้อยกว่าคนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก (วังด้ง) นั้น ต้องใช้คำว่า "หลุดออกมาจากนรก" เนื่องเพราะว่าส่วนใหญ่แล้วก็โดนทำร้ายจากครอบครัวบ้าง จากคนรอบข้างบ้าง ทางมูลนิธิเด็กได้ไปให้การช่วยเหลือ แล้วนำมาพักฟื้น เยียวยาจิตใจ หลังจากนั้นก็มีการให้เรียนหนังสือและฝึกการทำมาหากินอื่น ๆ โดยเฉพาะในส่วนของข้าวปลาอาหารนั้น บรรดาพ่อครู แม่ครู พยายามที่จะให้เด็กได้รับอาหารครบทั้ง ๕ หมู่ โดยเน้นอาหารสุขภาพ ก็แปลว่าส่วนใหญ่จะต้องเว้นจากเรื่องของขนมหรือว่าน้ำตาล
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-05-2023 เมื่อ 02:27 |
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ในส่วนนี้ถ้าท่านทั้งหลายมีโอกาสจะไปช่วยเหลือ ก็สามารถที่จะเดินทางไปยังโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก (วังด้ง) ซึ่งอยู่ที่บริเวณตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เส้นทางลาดหญ้า - ศรีสวัสดิ์ ถ้าหากว่าเปิดกูเกิ้ลแม็พ ก็สามารถที่จะไปถึงได้โดยสะดวก ท่านใดที่มีจิตศรัทธา เข้าไปให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ ท่านก็จะได้ทั้งทานบารมีและได้ทั้งพรหมวิหาร ๔
เด็กทั้งหลายเหล่านี้ จะว่าไปแล้วก็เป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในภายภาคหน้า สิ่งหนึ่งที่บรรดาพ่อครูแม่ครูทั้งหลาย พยายามที่จะเยียวยาก็คือสภาพจิตใจ ทำอย่างไรที่จะให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นเลิกเคียดแค้นสังคม เลิกเคียดแค้นครอบครัว เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีแต่จะฝังรากของกิเลสต่าง ๆ เอาไว้ในจิตในใจของตน เมื่อถึงเวลาแล้วไประเบิดใส่คนอื่น อยู่ในลักษณะที่ว่าตนเองเคยโดนกระทำมา ถึงเวลาก็ไปทำต่อกับคนอื่นบ้าง ถ้าเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมของเราวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด จังหวัดกาญจนบุรีมีสถานที่ในลักษณะแบบนี้หลายแห่ง ซึ่งกระผม/อาตมภาพให้การอุปถัมภ์มาเป็นระยะ แม้กระทั่งสถานที่ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ที่ดัดสันดาน" หรือที่เรียกกันว่า "ศูนย์พัฒนาฟื้นฟูเยาวชน" กระผม/อาตมภาพก็เข้าไปช่วยเหลือ และเข้าไปบรรยายหลักธรรมต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสำหรับกำลังใจของเด็กหรือว่าวัยรุ่นทั้งหลายเหล่านี้ เป็นที่น่ายินดีว่า ผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองมีแนวคิดที่ว่า เด็ก ๆ ทั้งหลายเหล่านี้จัดเป็นผู้ป่วยประเภทหนึ่ง ก็คือตนเองโดนกระทำมาแล้วก็ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก ถึงเวลาก็ไปใช้ความรุนแรงกับคนอื่น จึงต้องมีการฟื้นฟูจิตใจ ถ้าเป็นเด็กเล็ก ๆ ก็แก้ไขได้ง่าย แต่ถ้าหากว่าเป็นเด็กโต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นวัยรุ่นระดับมัธยม ก็จะแก้ไขได้ยาก เพราะว่าสภาพจิตนั้นมีการจดจำมากกว่า ให้อภัยได้ยากกว่า ถ้าจะว่าไปแล้ว มีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากสามารถนำมาใช้งานได้ แต่ว่าต้องประกอบไปด้วยความอดทนจริง ๆ เนื่องเพราะว่าเด็กบางคนก็ปิดกั้นตนเอง เหมือนอย่างกับมีโลกส่วนตัว ใครพูดใครกล่าวอะไรเหมือนอย่างกับผ่านหูไปเฉย ๆ พ่อครูแม่ครูทุกคนก็ได้แต่เพียรพยายามทำดีไปเรื่อย หวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะเปิดใจออกมา แล้วก็ทำให้สามารถที่จะเยียวยาได้อีก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ส่วนหนึ่งแล้วคนในสังคมไทยของเราจะต้องให้ความร่วมมือกัน อันดับแรกเลยก็คือหาสถานที่ให้เขาพักฟื้นในลักษณะอย่างนี้ให้ได้ อันดับที่สองก็คือ สนับสนุนในเรื่องของสถานที่อยู่ ที่กิน ที่ศึกษา ที่เรียนรู้วิชาชีพ ตลอดจนกระทั่งการเยียวยารักษาจิตใจ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-05-2023 เมื่อ 02:29 |
สมาชิก 34 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
เรื่องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ท่านทั้งหลายที่ติดตามงานของวัดท่าขนุนมา ก็จะเห็นว่ากระผม/อาตมภาพนั้นไปสร้างอาหารหอพักให้ มีการไปทอดผ้าป่าทุนการศึกษา มีการสร้างห้องสำหรับเด็กบกพร่อง หรือที่เรียกกันว่าออทิสติก ในการที่จะศึกษาเรียนรู้แล้วก็ปรับปรุงตนเอง เหล่านี้เป็นต้น เรื่องพวกนี้ถ้าในสังคมของเรามีการช่วยเหลือเจือจาน ช่วยกันประคับประคอง เราก็จะได้เด็กหรือว่าเยาวชนที่ดีกลับคืนมา
ท่านที่ได้กระทำหน้าที่ต่าง ๆ ด้านนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นบุคคลที่เสียสละ ทั้งกาย วาจา และใจ ถือว่าเป็นการฝึกฝนขัดเกลาตนเองอย่างหนึ่ง บรรดาพ่อครูแม่ครู จะรู้ตัวหรือว่าไม่รู้ตัวก็ตาม ท่านทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีปฏิปทาพระโพธิสัตว์ ท่านที่มีบารมีค่อนข้างเข้มข้นก็ต่อสู้อยู่ได้นาน บางคนก็ยืนหยัดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านที่กำลังใจน้อย บางคนก็อยู่ได้ไม่นาน บางท่านเข้ามาได้ไม่กี่วัน ก็ไม่สามารถที่จะรบกับเด็กเหล่านี้ไหว ก็จำเป็นที่จะต้องปลีกตัวออกไป แต่ว่าเราก็ไม่ตำหนิกัน เพราะว่าการเสียสละ ทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อส่วนรวมนั้นเป็นของยาก แต่ถ้าหากว่าเรานำเอาพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาใช้ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า เราต้องเสียสละผลประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของชาติบ้านเมือง กระผม/อาตมภาพอยากจะย้ำว่า คำว่าชาติบ้านเมืองในที่นี้หมายถึงสังคม คำว่าสังคมนี้มีตั้งแต่วงแคบ ก็คือภายในครอบครัวของเรา ขยายกว้างขึ้นไปอีกหน่อย ก็คือภายในหมู่บ้านของเรา ภายในชุมชนของเรา จนกระทั่งภายในตำบลของเรา ภายในอำเภอของเรา ภายในจังหวัดของเรา ภายในภาคของเรา ภายในประเทศของเรา เป็นต้น ถ้าหากว่าท่านใดที่มีกำลังสูง ก็สามารถที่จะช่วยเหลือภายในโลกของเราก็ยังได้..! จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายควรที่จะคิดว่า ในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้ามีสิ่งหนึ่งประการใด พอที่เราจะช่วยกันแก้ไข ให้สังคมของเราดีขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ไม่เช่นนั้นแล้วสังคมของเราก็มีแต่จะตกต่ำ เสื่อมทรามไปอย่างรวดเร็ว
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-05-2023 เมื่อ 02:32 |
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
กระผม/อาตมภาพเกิดมาในยุคที่บ้านใกล้เรือนเคียงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน บ้านโน้นมีแกงก็ส่งมา บ้านนี้มีผักผลไม้ก็ส่งไป มีอะไรก็เกาะรั้วปรึกษาหารือกัน ทำให้บ้านไม่จำเป็นที่จะต้องมีรั้วก็ได้ เพราะว่าคนข้างบ้านช่วยกันระมัดระวังดูแลให้
เมื่อคุ้นเคยกับสภาพสังคมเก่า ๆ บางทีก็หวนระลึกว่า เวลาใดหนอที่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้หมดไป ? ก็มานึกได้ว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้หมดไปตอนที่บรรดาผู้คนทั้งหลายทอดทิ้งครอบครัวเข้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อที่จะหางานมาจุนเจือครอบครัวของตน กลายเป็นว่าการศึกษาที่มีมากขึ้น ทำให้คนต้องการอิสระมากขึ้น เมื่อแยกครอบครัวออกไปแล้วก็ยังมีการสันโดษ ก็คือต่างคนต่างอยู่ ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สมัยที่กระผม/อาตมภาพยังเด็กอยู่ เข้าไปสอบถามถึงผู้หนึ่งผู้ใดในตำบล ขอยืนยันว่าในตำบล จะมีกี่หมู่บ้านก็ตาม เขาสามารถบอกได้หมด ว่าบุคคลนั้นเรือนชานบ้านช่องอยู่ที่ไหน เป็นลูกเต้าเหล่าใคร บางทีก็ชักสาแหรกไปได้ถึง ๑๘ ชั่วคน..! แต่ว่าในปัจจุบันนี้น่าเสียดายว่า บ้านข้างกันบางทีก็ไม่รู้จักชื่อกัน บางคนก็เคยแค่เห็นหน้าเท่านั้น ทักทายกันก็ยังไม่มี สังคมของเราถ้าอยู่ในลักษณะแบบนี้ ก็จะก้าวเข้าไปสู่สังคมแบบต่างประเทศ คือต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเรา กระผม/อาตมภาพเอง ต้องบอกว่าอายุมากแล้ว บางทีก็มาระลึกถึงความหลัง แม้ว่าจะไม่ได้หวนหาอาลัยมาก แต่มาคิดว่าในยุคนั้นสมัยนั้น เราอยู่กันอย่างสงบสุข มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำไมยุคปัจจุบันนี้ ถึงได้เปลี่ยนแปลงไปมากจนขนาดนี้ ? แต่พอได้ยินเพื่อนฝูงบอกว่า "ถ้าเล่าความหลังแปลว่าแก่แล้ว" ก็ได้แต่หัวเราะอยู่ในใจ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมดาของโลกที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นช้าลง ก็แปลว่าเราสามารถที่จะดึงให้ความดีทั้งหลายเหล่านี้อยู่ได้เนิ่นนานขึ้นไปอีกหน่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อทั้งตัวเองและสังคมรอบข้างไปอีกระยะหนึ่ง สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-05-2023 เมื่อ 02:34 |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|