#1
|
|||
|
|||
คิริมานนทสูตร
คิริมานนทสูตร
ผมขอย่อพระสูตรนี้เป็นภาษาไทยปัจจุบันดังนี้ พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทราบด้วยพระพุทธองค์จึงได้เทศนาให้พระอานนท์ฟัง พระอานนท์ซึ่งมีความจำเป็นเลิศ ฟังแล้วจะได้ไปเทศนาที่สำนักของท่านคิริมานนท์ต่อไป จึงได้ชื่อว่า คิริมานนทสูตร มีเนื้อความโดยย่อดังนี้ ก่อนอื่นผมขอชี้แจงว่า พระสูตรนี้มีผู้นำมาให้ผมได้อ่านครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ แล้ว อ่านครั้งแรกเมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ขอรับว่ายังมีข้อสงสัยอยู่มากเพราะภาษาที่เขียนเป็นภาษาโบราณ อ่านแล้วหลาย ๆ ตอนไม่เข้าใจความหมาย ทำให้หมดอารมณ์ที่จะอ่านต่อ ครั้งที่ ๒ เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีมานี้ อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายอยู่หลายตอน เพราะยังใช้ภาษาโบราณปนอยู่มาก จึงต้องอุเบกขาหรือวางเฉยไว้ก่อน เพราะผมไม่แน่ใจว่าผู้อ่านจะมีความเพียรทนอ่านจนจบเล่มได้สักกี่คน เพราะธรรมทานที่ผมพิมพ์แจก ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ของหลวงพ่อฤๅษีและของหลวงปู่ทั้งหลาย สอนง่าย ๆ ใช้ภาษาไทยปัจจุบัน พิมพ์ตัวโต ๆ แจกให้หลายเรื่องหลายรอบแล้ว ยังไม่ค่อยจะอ่านกันสักเท่าไหร่ มาครั้งนี้ผมใช้ความเพียรหนักขึ้น อ่านไปกว่า ๓ จบ แล้วก็พบอุปสรรคหรือปัญหาแบบเดิมคือภาษาโบราณ แต่เห็นชื่อท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เข้าความศรัทธาก็เกิดเพราะเคารพนับถือในความดีของท่านมาก (หลวงพ่อท่านบอกผมว่า ท่านไม่เกิดอีกแล้ว) ผู้ศรัทธาในพระสูตรนี้ได้จ้างช่างทางเหนือ จารึกเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้น แล้วนำไปให้ท่านเจ้าคุณอุบาลีตรวจสอบ (แปลมาจากภาษาไทยเหนือมาเป็นภาษาไทยกลาง) และเป็นเหตุของที่มาของหนังสือเล่มนี้ ผมเพียรอ่านหลายจบแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์เพราะเป็นหมวดอาพาธสูตร ซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้เพื่อให้ผู้รับฟัง (ในขณะอาพาธหรือเจ็บป่วยมีทุกขเวทนาสูง) ผ่อนคลายทุกขเวทนาจนถึงหายจากทุกขเวทนาได้อย่างดี และบางรายก็จบกิจเป็นพระอรหันต์เลยก็มี เช่น ท่านคิริมานนท์เป็นต้น พระองค์ทรงตรัสสอนเหมาะแก่จริต-นิสัย และกรรมของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน จึงมีอยู่หลายพระสูตร จัดไว้เป็นหมวดอาพาธสูตร ***หมายเหตุ มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในบางส่วน*** แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 20-01-2010 เมื่อ 10:06 |
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๑ : ให้ละรูปและนาม ซึ่งไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา เราจึงควบคุมบังคับมันไม่ได้
ผมขอสรุปย่อ ๆ ว่า ขันธ์ ๕ หรือร่างกายซึ่งประกอบด้วยรูป ๑ กับนามอีก ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน และมันไม่มีในเรา รายละเอียดไม่เขียนเพราะหลวงพ่อฤๅษีท่านสอนไว้ละเอียดมากอยู่แล้ว ผู้รักดีต้องการพ้นทุกข์ในชาตินี้ ย่อมหาอ่านศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้ด้วยตนเองเฉพาะตน กรรมใครกรรมมัน หรือของใครของมัน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 20-01-2010 เมื่อ 10:04 |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๒ : ให้ละอัตตาด้วยการพิจารณากองกระดูก ความตาย และสิ่งสกปรกซึ่งอยู่ในตัวเรา (บาลีว่าอัฏฐิกสัญญา-มรณานุสติ-อสุภานุสติ) ผมขอสรุปย่อ ๆ ว่า
๑. อัตตาหรือตัวตนในพุทธศาสนาไม่มี เพราะในที่สุดแล้วก็ต้องเป็นอนัตตาหมด หรือพังหมด ตายหมด สลายตัวไปหมด เปลี่ยนสภาวะจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งหมด เช่น ๑.๑ อาหารที่กินมีสมมุติชื่อเรียกมากมายหลายพันหลายหมื่นชื่อ กินเข้าไปทางปาก พรุ่งนี้ออกมาเป็นขี้หมด ไม่สามารถแยกว่ามันเป็นอะไรบ้าง ๑.๒ ทุกสิ่งในมนุษย์โลก แม้เทวโลกและพรหมโลก ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น หรือจะกล่าวเป็นสำนวนว่า สิ่งที่เที่ยงที่สุดในโลกนี้ คือ ความไม่เที่ยง ๑.๓ ในที่สุดโลกนี้ทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ หมายความว่า ทุกสิ่งในโลกตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือ เกิดดับ ๆ ๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติธรรม เห็นได้ด้วยตาปัญญาเท่านั้น อย่างที่ท่านอัญญาโกณฑัณญะ ท่านเห็นธรรมขั้นละเอียดว่า โลกนี้จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรเหลือ “มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และสิ่งเหล่านั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา โลกทั้งโลกมีสภาวะธรรมอยู่เพียงแค่นี้” ท่านจบกิจเป็นพระอรหันต์สาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ด้วยการวางอัตตาตรงจุดนี้เอง (ท่านเห็นไตรลักษณ์ขั้นละเอียดสุด) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-01-2010 เมื่อ 04:44 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
|||
|
|||
๒. สมถะ ๓ กองที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไม่ทิ้ง คือ
๒.๑ อานาปานุสติ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออกเพราะทำให้จิตสงบเป็นสุข ผู้มีปัญญาท่านพิจารณาลมหายใจให้เป็นศีล-สมาธิ-ปัญญาได้ ให้เป็นมรณานุสติก็ได้ เป็นต้น ประโยชน์ของอานาปาหลวงพ่อฤๅษีท่านสอนไว้ละเอียดมาก ทั้งในเทปและหนังสือ ๒.๒ กายคตานุสติและอสุภะ ๑๐ อย่าง (ไม่ขออธิบาย) ๒.๓ มรณานุสติและอุปสมานุสติ (นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์) ผมไม่อธิบาย ผู้ใฝ่ดีย่อมหารายละเอียดเอาเองได้จากเทปและหนังสือของหลวงพ่อฤๅษีที่สอนไว้ |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๓ : ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางไปสู่พระนิพพาน ผมขอสรุปย่อ ๆ ว่า
ก) ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมาจากอริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ข) “พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ต่างก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจทั้งสิ้น และพระสาวกของพระองค์ทุกองค์ต่างก็จบกิจเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจ มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี” ทรงตรัสไว้ชัดแจ้งแล้ว ค) ดังนั้นท่านผู้ใดที่ต้องการจะพ้นทุกข์ หรือไปพระนิพพานภายในชาตินี้ ก็ต้องอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ ทรงตรัสว่า “ผู้ใดต้องการพระนิพพานจริง ต้องรักษาศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗ หรือศีลพระปาติโมกข์เสียก่อน จึงชื่อว่าเข้าใกล้ทางมีโอกาสที่จักได้ถึงโลกุตรธรรมนิพพานโดยแท้” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-01-2010 เมื่อ 18:51 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๔ : “ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องแสวงหาครูที่ดีที่รู้แจ้งพระนิพพานจริง”
ทรงยกตัวอย่าง ท่านพระองคุลิมาลเถระ เดิมได้ครูที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อเริ่มต้นผิด ผลที่ได้รับก็ผิดตลอด คือ เป็นมหาโจรฆ่าคนตายนับด้วยพัน เมื่อได้พบตถาคตซึ่งเป็นสัมมาทิฎฐิ ผลที่ได้รับก็จบกิจเป็นพระอรหันต์ได้ ดังนั้น บุคคลผู้ไม่รู้พระนิพพาน ไม่ควรเป็นครูสั่งสอนท่านผู้อื่นในทางนิพพานเลย ถ้าขืนเป็นครูจักพากันฉิบหาย เป็นบาปกรรมแก่ตัวหนักหนาทีเดียว แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-01-2010 เมื่อ 16:58 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๕ : ผู้รู้กับผู้ไม่รู้ ได้รับทุกข์เหมือนกันหากทำบาป ส่วนผู้จะได้สุขในนิพพานต้องรู้เท่านั้น
“ดูกรอานนท์ อยากได้สุขอันใด ควรรู้จักสุขอันนั้นก่อนจึงจะได้ อยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ควรรู้จักสุขในพระนิพพาน อยากได้สุขในเมืองมนุษย์และสวรรค์ ก็ให้รู้จักสุขในโลกมนุษย์และสวรรค์นั้นเสียก่อนจึงจะได้ ไม่เหมือนทุกข์ในนรก จักรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม ถ้าไม่รู้จักนรกก็ยิ่งไม่มีทางพ้นนรกได้ แม้จักทำบุญให้ทานสักปานใดก็ไม่อาจพ้นนรก แต่มิใช่ว่าทำบุญให้ทานแล้วไม่ได้บุญ ความสุขจากบุญนั้นยังมีอยู่ แต่เป็นบุญที่ยังไม่พ้นทุกข์จากนรก จึงควรรู้จักทางออกจากนรกให้ชัดแจ้ง คือ การรักษาศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, และศีล ๒๒๗ นั่นเอง ขอสรุปสั้น ๆ ว่า - จะพ้นนรกหรืออบายภูมิ ๔ ได้ด้วยอธิศีล - จะพ้นการเกิดการตายจากมนุษย์โลกได้ด้วย อธิศีลและอธิจิต - จะพ้นจากเทวโลก พรหมโลก ได้ด้วยอธิศีล อธิจิตและอธิปัญญา (ผู้มีปัญญาย่อมทราบได้ดีว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ก็คือ การละสังโยชน์ ๑๐ นั่นเอง) ขออนุญาตเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องนะครับ(สุธรรม) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-01-2010 เมื่อ 13:30 |
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๖ : การรู้จักนรก-สวรรค์-พระนิพพาน ควรรู้ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่
เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับความสุขฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความทุกข์ฉันใด เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับความทุกข์ฉันนั้น (ทรงหมายถึง สุขหรือทุกข์เกิดที่ใจ อยู่ที่ใจ ใจเป็นผู้สร้างสุขและทุกข์ขึ้นเอง เมื่อจะดับหรือแก้ไขก็ต้องดับที่ใจ ส่วนกายนั้นเหมือนกันทุกคน คือ มันมีทุกข์ของมันอยู่เป็นปกติธรรมดา จะยากดีมีจน จะมียศ-ศักดิ์มากน้อยแค่ไหน มันก็ทุกข์อยู่เป็นปกติ ไม่มีใครจะมาห้ามมันได้ ทรงเน้นทุกข์จากสัทธรรม ๕ เป็นหลักสำคัญ คือ การเกิดแล้วต้องแก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบ มีความปรารถนาไม่สมหวัง เป็นธรรมดาของผู้มีร่างกายจะต้องพบ โดยไม่มีผู้ใดได้รับยกเว้น) |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๗ : บุคคลที่ปรารถนาพ้นทุกข์ได้สุขหรือพระนิพพาน ควรให้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่
ดูกรอานนท์ พระนิพพานนั้นมี ๒ ประเภท คือ สุกหนึ่งดิบหนึ่ง นิพพานดิบ หมายถึง บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ เจริญศีล สมาธิ ปัญญา จนพบสุขในพระนิพพานแล้ว หรือจบกิจที่จะต้องตัดกิเลสทุกชนิดแล้ว แต่ยังมีร่างกายอยู่หรือยังไม่ตาย นิพพานสุก หมายถึง บุคคลที่จบกิจในพระพุทธศาสนาแล้วด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และร่างกายตายหรือพังด้วย จิตเป็นอิสระก็ไปเสวยสุขที่แดนพระนิพพาน ทรงอธิบายว่า นิพพานดิบนั้น จิตเป็นสุขก็จริงอยู่ แต่ไม่ละเอียดปราณีตเท่ากับนิพพานสุก หรือเทียบกันไม่ได้เลยเพราะ ก) ตราบใดที่ร่างกายยังอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ทุกข์ของกาย(ทุกขสัจ) ก็ยังคงมีอยู่ คือ นิพัทธทุกข์ ทุกข์ปกติของการมีร่างกาย เช่น ปวดท้องขี้ ปวดท้องเยี่ยว หิว ต้องอาบน้ำชำระสิ่งสกปรกของกาย ต้องทำงานเพื่อหาเงิน หาอาหารมาเลี้ยงดูร่างกายเป็นต้น มีสภาพเหมือนคนติดคุก มีสภาพเหมือนต้องเลี้ยงลูกอ่อนอยู่ตลอดเวลาหรือตลอดชีวิต ข) ทุกข์จากสัทธรรม ๕ ดังกล่าวแล้วในข้อ ๖ ค) ทุกข์จากกฎของกรรม ที่ตามมาให้ผลกับร่างกายได้ตลอดเวลา กฎของกรรมข้อใดที่เราทำไว้ในอดีตตามมาทัน วิบากกรรมนั้นก็ตามให้ผล เช่น พระโมคคัลลาน์ถูกโจร ๕๐๐ ทุบ จนร่างกายแหลกเหลว พระสารีบุตรก่อนจะเข้าสู่พระนิพพานก็ป่วยหนัก แม้แต่พระพุทธองค์เองก่อนจะเข้าสู่ปรินิพพาน ก็ยังถูกกฎของกรรมตามมาเล่นงาน เป็นต้น |
สมาชิก 34 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๘ : ทำตัวเราให้เหมือนแผ่นดิน หรือปล่อยวาง จึงได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ
ถ้าปรารถนาจักถึงพระนิพพาน จักต้องทำจิตให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดินเสียก่อน ซึ่งไม่ใช่ของง่าย ต้องพากเพียรลำบากยากยิ่งนักจึงจักได้ เพราะแผ่นดินนั้นคน สัตว์ จะมาทำร้ายทำดีประการใด แผ่นดินก็มิได้โกรธเคืองหรือว่ากล่าวอย่างใด ให้ระลึกไว้เสมอว่า เราเกิดมาตามกรรมที่เราทำไว้ (กรรมลิขิต) เราคือจิตดวงเดียวที่มาอาศัยร่างกายอยู่ชั่วคราวเท่านั้น เราอยู่เพื่อชดใช้กรรมเพื่อคอยวันตายเท่านั้น (ด้วยความไม่ประมาท ซ้อมตายและพร้อมที่จะตายอยู่เสมอ) ทรงให้หลักในการอบรมใจซึ่งเป็นของเรา เราต้องบังคับและอบรมมันให้ได้ |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
|||
|
|||
หลักสำคัญในการทำใจเราให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ทรงให้หลักไว้ ดังนี้
ก) ให้ละอารมณ์โลภ โกรธ หลงและโลกธรรม ๘ คืนไว้ให้แก่โลกตามเดิม เพราะบนโลกุตรนิพพานนั้นปราศจากวิญญาณ วิญญาณยังมีที่ใด ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ยังมีอยู่ในที่นั้น (วิญญาณในที่นี้ทรงหมายถึงระบบประสาทสัมผัสทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ หรืออายตนะสัมผัสทั้ง ๖ นั่นเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายหรือขันธ์ ๕ ซึ่งประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ) ข) บุคคลบางกลุ่มหลงไปเกิดเป็นอรูปพรหม ซึ่งไม่ใช่โลกุตรพระนิพพาน เพราะหลงคิดไปว่าวิญญาณของขันธ์ ๕ (อันเป็นระบบประสาทสัมผัสของร่างกาย) ว่าเป็นจุติวิญญาณ (ใจ) จึงพาตัว (พาใจ) ขึ้นไปอยู่ในที่อันไม่มีรูป (อรูปฌาณ) หลงคิดว่าเป็นสุขในอรูปพรหม ซึ่งยังไม่เที่ยงจัดเป็นนิพพานโลกีย์ เมื่อหมดอายุของอรูปฌาณแล้ว ยังต้องมีเกิด แก่ เจ็บ ตายต่อไป (ข้อเท็จจริงพวกเล่นอรูปฌาณนั้นยังมีอารมณ์ไม่พอใจ (ปฏิฆะ) ในรูป ยังนึกรังเกียจรูปเลย เอาใจหนีรูปไปอยู่ในอรูป จึงมิใช่อารมณ์ตัดหรือละ ปล่อยวางรูปแต่อย่างใด เมื่อออกจากอรูปฌาน ตัวกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม) ค) ผู้ปฏิบัติอริยมรรค (ศีล สมาธิ ปัญญา) ให้เต็มที่ จึงจักวางใจได้เหมือนกับแผ่นดิน ง) เหตุที่เขาวางใจไม่ได้ เพราะยังถือตัวถือตนว่าเป็นเขาเป็นเรา หรือเป็นของเขาเป็นของเรา เป็นพวกเขาเป็นพวกเรา (สาเหตุเพราะคิดว่าร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเราเป็นของเรา หรือร่างกายเป็นอัตตา ตัวตน จึงปล่อยวางไม่ได้) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 01-02-2010 เมื่อ 12:42 |
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๙ : ผู้จะถือเอาความสุขในนิพพาน ต้องวางความสุขในโลกีย์ให้หมด
๙.๑ ความสุขในโลก เกิดจากประตูทั้ง ๖ (ทวารทั้ง ๖ อายตนะทั้ง ๖ ในอินทรีย์ทั้ง ๖ โดยยกให้ใจเป็นหัวหน้า เอาระบบประสาททั้ง ๕ (วิญญาณของขันธ์ ๕) คือ ประสาทของตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นเป็นกามคุณ ๕ ประสาททั้ง ๕ นี้เป็นผู้ปรุงแต่งความสุขให้กับเจ้าพระยาจิตตราช (ใจ) จึงชื่อว่ากามคุณ ๕ สุขในโลกนี้มีแต่กามคุณทั้ง ๕ นี้เท่านั้น ตลอดขึ้นไปจนถึงสุขในเทวโลกและพรหมโลก ก็ยังไม่พ้นกามคุณทั้ง ๕ จัดเป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยความทุกข์ ดังนั้น หากไม่วางโลกียสุขเสียก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะสุขกับทุกข์เป็นของคู่กัน จะเลือกเอาอย่างเดียวไม่ได้ ๙.๒ “อานนท์..บุคคลทั้งหลายที่จักรู้ตามความเป็นจริงว่า สุขกับทุกข์ติดกันอยู่นั้น หายากยิ่งนัก ไม่มีใครสามารถพรากสุขทุกข์ออกจากกันได้ แม้แต่ตถาคตเอง ก็เคยแสวงหาสุขโดยส่วนเดียวมาก่อน และพบความจริงว่า ไม่มีทางทำได้ ตถาคตจึงวางโลกียสุขนั้นเสีย (สุขที่ไม่เที่ยงหรือสุขที่เจือทุกข์อยู่) เมื่อวางโลกียสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวางก็หายไปเอง ตถาคตจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์อย่างถาวรด้วยประการดังนี้” ๙.๓ ผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องพ้นจากกุศลธรรมและอกุศลธรรม (พ้นดีพ้นชั่ว) “ดูกร..อานนท์ กุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น ได้แก่ กองกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเอง อัพยากตธรรม (ธรรมที่ไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล) คือ พระนิพพาน ครั้นพ้นจากกองกุศลธรรมและอกุศลธรรมแล้ว จึงเป็นองค์แห่งพระอรหันต์และพระนิพพานโดยแท้ “ดูกร..อานนท์ กุศลนั้นได้แก่กองสุข อกุศลนั้นได้แก่กองทุกข์ ซึ่งสุขทุกข์นี้ติดเนื่องอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครจักพรากให้แตกออกจากกันได้ ครั้นวางกองสุขแล้ว กองทุกข์ไม่ต้องวางก็มีผลเหมือนกับวางกองทุกข์ด้วย (หมายความว่าทำความดี แต่จงอย่าติดหรือเกาะความดี หรือทำบุญแต่จงอย่าติดหรือเกาะในบุญ หรือทำกุศลธรรมแต่ก็จงอย่าติดหรือเกาะในกุศลธรรม) เมื่อวางโลกียสุขลงแล้ว จึงจักถึงพระนิพพานได้ แต่สำหรับบุคคลที่ยังมีกำลังใจไม่เต็ม (บารมี) ไม่อาจทำนิพพานให้แจ้งได้ (ในชาติปัจจุบัน) ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ก่อน เพื่อกันนรกเมื่อร่างกายแตกตาย จิตจักได้เสวยโลกียสุขในมนุษยโลกและสวรรคโลกได้ หรือให้ยึดเอากุศลนั้นไว้เป็นสะพานสำหรับไต่ไปสู่ความสุขอย่างถาวร (เอาโลกียสุขชั่วคราวเป็นสะพานเพื่อไปสู่โลกุตรสุขถาวร) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-02-2010 เมื่อ 12:13 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
|||
|
|||
๙.๔ จิตและตัณหาเป็นที่มาของสุขและทุกข์ ซึ่งต้องวางให้หมดจึงจักถึงนิพพานได้ “ดูกร..อานนท์ ตถาคตจักแสดงที่สุดโดยย่อ ๆ พอให้เข้าใจง่าย ๆ คือ
สุขกับทุกข์ บุญกับบาป ดีกับชั่ว (เลว) กุศลกับอกุศล ล้วนเกิดจากอารมณ์ของจิตทั้งสิ้น หากคิดดีก็เป็นกุศลเป็นบุญ เป็นความดี หากคิดไม่ดีก็เป็นอกุศล เป็นบาป เป็นความเลว ทุกอย่างเกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งสิ้น เมื่อจิตคิดดีมีความสุขมากเท่าใด ตัณหาก็ทำให้เกิดทุกข์ตามมาเท่านั้น เพราะสุขและทุกข์อยู่ติดกันแกะไม่ออก เมื่อได้สุขเท่าใด ทุกข์ก็พลอยเกิดมีเท่านั้น ครั้นภายหลังเราตถาคตพิจารณาด้วยญาณจักษุปัญญา (ญาณทัศนะอันบริสุทธิ์) เห็นแจ้งชัดว่าสุขและทุกข์ติดอยู่ด้วยกัน จึงหาอุบายแยกสุขกับทุกข์ออกจากกันด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เมื่อพบหนทางแล้ว จึงวางเสียซึ่งสุขคืนให้แก่ทุกข์ คือ วางใจให้แก่ตัณหา เมื่อวางได้ ความสุขในพระนิพพานก็เกิดขึ้น เป็นนิพพานดิบ (จิตพ้นทุกข์อย่างถาวรแล้ว แต่ขันธ์ ๕ หรือร่างกายยังไม่ตาย) เมื่อวางใจได้จึงเป็นอัพยากฤต ถือเอาอัพยากฤตเป็นอารมณ์ เป็นองค์พระอรหันต์ คือ ได้เข้าถึงพระนิพพานได้ด้วยอาการดังนี้ (อารมณ์อัพยากฤต หมายถึง สุขเกิดก็รู้แต่ไม่เอา ไม่รับ ทุกข์เกิดก็รู้แต่ไม่เอา ไม่รับ เป็นอารมณ์กลาง ๆ ที่รู้ด้วยอธิปัญญา หรือสังขารุเบกขาญาณนั่นเอง พระอรหันต์ทุกองค์ท่านจึงมีอารมณ์เดียว คือ อารมณ์อัพยากฤต หรือสังขารุเบกขาญาณ) ๙.๕ อรหันต์หรือการเข้าถึงพระนิพพาน เป็นของมีไว้สำหรับโลก มีความสำคัญโดยย่อ ๆ ดังนี้ ก) บุคคลใดปราศจากกิเลสแล้ว บุคคลนั้นก็ได้เป็นพระอรหันต์เสมอกันทุกคน ข) บุคคลผู้ที่ยังมากด้วยกิเลส จะอ้อนวอนพระอรหันต์จงมาช่วยตนให้หมดกิเลสย่อมไม่ได้ อุปมาเหมือนบุคคลผู้ตกอยู่ในสระน้ำที่แสนจะสกปรกน่ารังเกียจยิ่ง จะมาชวนให้พระอรหันต์ซึ่งพ้นจากวังวนหรือวัฏฏะแล้ว ให้เข้ามาอยู่กับเขา ซึ่งแสนจะทุกข์ทรมานสกปรกอย่างยิ่งอีก ย่อมไม่มีทาง ค) พระอรหันต์มีหน้าที่ชี้แนะทาง (มรรคและปฏิปทาของมรรค) ที่จะให้พ้นจากกิเลสหรือวังวนได้เท่านั้น การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเราผู้รับฟัง พึงใช้ตนช่วยตนเอง โดยนำมาปฏิบัติให้เกิดผลที่กายและใจตนเองเท่านั้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-02-2010 เมื่อ 12:14 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
|||
|
|||
หลักคำสอนที่ ๑๐ : ปกิณกธรรมที่ช่วยให้พ้นจากอำนาจของกิเลส มีความสำคัญโดยย่อดังนี้
๑๐.๑ กิเลสและตัณหาล่อลวงให้จิตไม่หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ทางพ้นมีเป็นขั้นตอนดังนี้ ก) ผู้ใดตั้งอยู่ในนิจศีล คือศีล ๕ ผู้นั้นชื่อว่ายังหนาอยู่ด้วยกิเลส แต่เป็นผู้บางจากกิเลสไปขั้นหนึ่ง (อธิศีล เพียรรักษาศีลจนกระทั่งศีลรักษาใจเราให้เป็นสีลานุสติ มีผลทำให้พ้นวังวนหรือวัฏสงสารจากอบายภูมิทั้ง ๔ หรือนรก ได้เป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้น คือพระโสดาบันและพระสกิทาคามี) ข) ผู้ใดตั้งอยู่ในอุโบสถศีลคือ ศีล ๘ ชื่อว่าบางจากกิเลสได้ขั้น ๒ (เพียรรักษาอารมณ์จิต คือราคะ (โลภะ) กับปฏิฆะ (โทสะ) ให้ทรงตัวจนจิตเป็นฌาน เป็นอัตโนมัติ แบบที่เพียรรักษาศีลจนศีลรักษาเราไม่ให้ทำผิดศีลอีก ขั้น ๒ นี้ก็เพียรรักษาอารมณ์ทั้ง ๒ นี้ จนอารมณ์ ๒ นี้รักษาเราไม่ให้เกิดอารมณ์ราคะ (โลภะ) กับปฏิฆะ (โทสะ) อีก เรียกว่ามีอธิจิต มีผลทำให้พ้นจากวังวนขั้น ๒ ทรงจัดไว้เป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง คือเป็นพระอนาคามี จิตไม่ต้องกลับมาเกิดมีขันธ์ ๕ หรือมีร่างกายมนุษยโลกอีกอย่างถาวร ทุกข์ทั้งหลายล้วนมีเหตุจากการเกิดมีร่างกาย หรือขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น เมื่อไม่ต้องเกิดมาในมนุษยโลกแล้ว ทุกข์จากขันธ์ ๕ ก็ย่อมไม่มี ค) ผู้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ (คือบวชเป็นเณร) ชื่อว่าบางจากกิเลสได้ขั้นที่ ๓ (เพราะเณรมีศีลข้อที่๑๐ ซึ่งแปลให้ถูกตรงตามบัญญัติของพระพุทธองค์ความว่า “มีจิตไม่ยินดีไม่ยินร้ายด้วยในเงินในทอง หรือของมีค่า” ทรงเน้นเรื่องมโนกรรม เพราะจิตเป็นนาย ร่างกายเป็นบ่าว หมายความว่า เป็นอารมณ์ตัดชีวิต คือไม่กลัวตาย ไม่กลัวอด ไม่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ และโลกียสุขในมนุษย์โลกอันไม่เที่ยง จะต้องมีกำลังใจเต็ม (บารมี) จึงจะทำได้ ในสมัยของพระพุทธองค์ จึงมีเณรอายุเพียงแค่ ๗ ขวบ (จึงจะบวชเป็นเณรได้) รักษาศีลแค่ ๑๐ ข้อ มีกำลังใจเต็ม (บารมี) เมื่อรับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เพียงครั้งเดียว ก็จบกิจเป็นพระอรหันต์กันหลายองค์) หมายเหตุ กราบโมทนาบุญต้นฉบับจากท่านสายท่าขนุนด้วยนะคะ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย โอรส : 03-02-2010 เมื่อ 23:05 |
สมาชิก 28 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
|||
|
|||
ง) ผู้ตั้งอยู่ในศีลพระปาติโมกข์คือ ศีล ๒๒๗ ได้ชื่อว่าบางจากกิเลสได้ขั้นที่ ๔ (บุคคลธรรมดา ๆ ที่ยังรักษาศีล ๕ ข้อไม่ได้ จึงไม่ควรจะไปรักษาศีล ๘ ข้อ ยกเว้นซ้อมรักษาศีลอุโบสถในวันพระ คือ รักษาศีล ๘ ชั่วคราว เพื่อให้จิตชินในความดีที่สูงขึ้น แม้รับศีล ๘ ข้อในเวลาเจริญกรรมฐาน ซึ่งมีอานิสงส์สูงกว่าศีล ๕ ข้อมาก เพียงชั่วคราวก็ยังดีได้บุญสูง ดังนั้นผู้ใดมีเจตนาเข้ามาบวชเป็นพระในพุทธศาสนา จะต้องมีกำลังใจสูงมาก (บารมี) จึงจะทำได้ เพราะความเป็นพระอยู่ที่ศีล ๒๒๗ ข้อ หากขาดแม้ข้อหนึ่งข้อใด ความเป็นพระก็ยังไม่สมบูรณ์ นี่คือเหตุผลที่ว่าเหตุใดพวกเราฆราวาสจึงต้องกราบไหว้และเคารพในพระสงฆ์ ก่อนบวชลูกไหว้พ่อแม่ เมื่อลูกบวชเป็นพระแล้วพ่อแม่กลับมาไหว้ลูก ดังนั้นลูกคนใดบวชแล้วไม่ยอมเป็นพระ คือศีลไม่ครบ ๒๒๗ ข้อ เมื่อพ่อแม่หรือบุคคลอื่น ๆ มาไหว้ตน จึงเป็นบาปหรือซวยอย่างยิ่งสำหรับผู้นั้น)
จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างบน พระองค์ทรงตรัสความว่า ผลอานิสงส์มีเป็นลำดับตามศีลนั้น บุคคลใดมิได้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ถึงจะมีความรู้ฉลาดสักเท่าใด ก็ไม่ควรจะกล่าวคำประมาทแก่ผู้มีศีล ๕ ผู้ที่มีศีล ๕ ก็ควรยินดีแต่เพียงชั้นศีลของตน ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาทในท่านผู้ที่มีศีล ๘ ผู้ที่มีศีล ๘ ก็ควรยินดีแต่เพียงชั้นศีลของตน ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาทในท่านผู้ที่มีศีล ๑๐ ผู้ที่มีศีล ๑๐ ก็ควรยินดีแต่เพียงชั้นศีลของตน ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาทในท่านผู้ที่มีศีล ๒๒๗ (ศีลพระปาติโมกข์) ถ้าขืนกล่าวโทษติเตียนท่านที่มีศีลยิ่งกว่าตนชื่อว่าเป็นคนหลง เป็นคนห่างจากทางสุขในมนุษย์, สวรรค์ และพระนิพพานอย่างแท้จริง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2010 เมื่อ 11:08 |
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
|||
|
|||
๑๐.๒ ผู้มีความรู้จะฉลาดสักปานใด ไม่ควรถือตัวว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล ดูกรอานนท์บุคคลผู้ไม่มีศีล ปราศจากการรักษาศีล ไม่ควรกล่าวคำประมาทแก่ท่านผู้มีศีล หรือเข้าใจว่าตนเองดีกว่าผู้มีศีล จัดเป็นมิจฉาทิฎฐิ เป็นคนหลงทาง ห่างจากความสุขในมนุษย์,สวรรค์และพระนิพพานมาก เพราะเหตุว่าผู้มีศีล(อธิศีล) ได้ชื่อว่าใกล้ต่อพระนิพพานอยู่แล้ว จะถือเอาความรู้และความไม่รู้เป็นเครื่องวัดความดีไม่ได้ ต้องถือเอาการละกิเลสได้เป็นเครื่องวัด เพราะผู้จะเข้าถึงพระนิพพาน ต้องอาศัยการละกิเลสได้ส่วนเดียว เมื่อละกิเลสได้แล้ว แม้จักไม่มีความรู้มาก รู้แต่เพียงการละกิเลสได้เท่านั้น ก็อาจถึงพระนิพพานได้
๑๐.๓ การที่จะถึงพระนิพพาน ต้องละกิเลสเสียให้สิ้น ดูกรอานนท์ ตถาคตไม่สรรเสริญผู้มีความรู้แต่ไม่มีศีล ผู้มีความรู้น้อยแต่ตั้งอยู่ในศีล เราสรรเสริญและนับถือผู้นั้นว่าเป็นคนดี ถ้าบุคคลใดนับถือผู้มีกิเลสดีกว่าผู้ไม่มีกิเลส ชื่อว่าถือศีลเอาต้นเป็นปลาย เอาปลายเป็นต้น เอาสูงเป็นต่ำ เอาต่ำเป็นสูง ผิดทางแห่งพระนิพพาน เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นคนหลงโลก หลงทางแห่งพระนิพพาน |
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
|||
|
|||
๑๐.๔ การให้ทาน การรักษาศีล และบำเพ็ญภาวนาจะเกิดอานิสงส์มาก (เพราะเป็นปฏิบัติบูชา)
“ดูกร..อานนท์ การทำบุญทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ชื่อว่าเดินถูกทางพระนิพพานโดยแท้ จงพากันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนที่เราแสดงไว้นี้ ผู้ใดไม่ประพฤติตาม ก็พึงเข้าใจว่า ผู้นั้นเป็นคนนอกพุทธศาสนา (เดียรถีย์) ตถาคตบัญญัติศีล ๕, ๘, ๑๐, ๒๒๗ ไว้ ก็เพื่อให้สัตว์ยกตนออกจากกองกิเลส ดังนั้น..เมื่อรักษาศีล ๕ ได้แล้ว จงเพียรรักษาศีล ๘, ๑๐ และ ๒๒๗ เป็นลำดับ เพื่อยกตนให้พ้นจากกองกิเลสตามลำดับ จึงจัดได้ว่าไม่เป็นคนหลง เดินตรงเข้าสู่พระนิพพานโดยแท้” “ดูกร..อานนท์ กุลบุตรผู้เข้ามาบวชในพุทธศาสนา ก็เพื่อความระงับดับกิเลส ไม่อยากจะเกิดมาในโลกเพื่อพบกับความทุกข์จาก ความแก่ ความป่วยไข้ไม่สบาย ความตาย ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความปรารถนาไม่สมหวังอีกต่อไป ตถาคตอนุญาตให้บวชเพื่อความดับไม่มีเชื้อ ไม่ให้เกิดมาในโลกอีกต่อไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็จงตั้งใจรักษาศีล เพื่อความดับกิเลสเถิด ข้อวัตรอันใดที่เป็นไปเพื่อละกิเลสแล้ว จงกระทำข้อวัตรนั้นให้บริบูรณ์เถิด” ๑๐.๕ การบวชเพื่อระงับดับกิเลสเท่านั้น จึงจะเป็นทางสู่พระนิพพาน “ดูกร..อานนท์ บุคคลผู้ฉลาดทางธรรม ย่อมศึกษาประโยชน์ของการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา รู้ต้นเหตุของกิเลสทั้งหมดว่าล้วนอยู่ที่ใจ จึงต้องดับเหตุที่ใจ รากเหง้าของกิเลสคือ โลภ โกรธ หลง หากตัดรากเหง้าใหญ่ได้ กิเลสอื่น ๆ ก็ดับไปเอง เมื่อเข้าใจดีแล้ว (ตัวเข้าใจคือตัวปัญญา) จึงเข้ามาบวชเพื่อระงับดับกิเลสให้หมดเชื้อ หากไม่หวังตามนี้จงอย่าบวชเสียดีกว่า แต่ตถาคตมิได้ตำหนิว่า ผู้ที่ฉลาดเป็นผู้รู้ทางโลก เป็นผู้ไม่ดีไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล หากแต่ว่าเป็นความรู้ที่ผิดไปจากทางสู่พระนิพพานเท่านั้น” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-02-2010 เมื่อ 15:24 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#18
|
|||
|
|||
๑๐.๖ พาลชนสั่งสอนได้น้อย เพราะถือว่าตนดีแล้ว ผมขอสรุปสั้น ๆ โดยย่อว่า พระพุทธองค์สอนบุคคลตามจริตนิสัย และกรรมของแต่ละบุคคลซึ่งมีไม่เสมอกัน อุปมาเหมือนดอกบัว ๔ เหล่า
ก) บัวพ้นน้ำแล้วกำลังจะบาน พวกนี้มีบารมีเต็มแล้ว โดยธรรมชาติเป็นผู้มีปัญญาแท้ ไม่ต้องกล่าวอะไรมาก ก็รู้ได้ด้วยปัญญาของตนเอง ข) บัวพ้นน้ำแล้ว พวกนี้แม้จักกล่าว (สอนหรือแนะนำ) เพียงเล็กน้อยก็เข้าใจได้มากมาย หลายอย่างหลายนัย ค) บัวปริ่มน้ำ พวกนี้ถ้ากล่าวแต่น้อยพอเป็นสังเขป ก็ยังไม่เข้าใจ ต้องใช้อุบายอื่นเข้าเสริมชี้แนะด้วย จึงจะเข้าใจได้ ง) บัวใต้น้ำ พวกนี้เป็นพาลชน ยังไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในตถาคต ตถาคตจึงเว้นเสียไม่กล่าวเพราะเสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์ ๑๐.๗ ผู้ต้องการพระนิพพาน ไม่ควรถือเนื้อถือตัวว่าตัวรู้ ตัวดี (มีมานะทิฐิ) “ดูกร..อานนท์บุคคลผู้ฉลาดเป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่ถือเนื้อถือตัวว่า ตัวรู้ตัวดีแล้ว แต่พวกพาลปุถุชนที่ห่างไกลพระนิพพาน ย่อมถือเนื้อถือตัว คิดว่าตนเองรู้แล้วดีแล้ว การมีมานะทิฐิมากเท่าใด ยิ่งห่างไกลพระนิพพานเท่านั้น” ๑๐.๘ ผู้มีปัญญาเลือกรักษาศีลและข้อวัตรแต่เล็กน้อย ก็มีความสุขทั้งกายและใจได้ ผมขอสรุปย่อ ๆ ว่า ผู้ฉลาด มีปัญญา ท่านพิจารณาศีล เห็นคุณและโทษของศีลได้ชัดแจ้งว่า ตัวเจตนาที่จะงดเว้นไม่กระทำความชั่ว คือ ศีล (บุญบาป,ดีชั่ว,กุศล อกุศล ล้วนอยู่ที่เจตนาของใจเป็นหลักสำคัญ) เมื่อท่านเข้าใจ อารมณ์จิตของท่านก็ไม่หนัก แต่เบาสบายเป็นสุข ไม่เหมือนผู้ไม่เข้าใจ (ขาดปัญญา) ย่อมรักษามากมายหลายอย่างทั้ง กาย วาจา ใจ จิตวิตกและสงสัยในธรรมปฎิบัติเรื่องศีลอยู่เสมอ จึงเป็นทุกข์ทั้งกายและใจ เพราะเหตุที่รักษามากเกินไป หรือพูดสั้นๆว่า “คนฉลาดใช้ใจรักษาศีล (ใช้ปัญญาอบรมศีลให้บริสุทธิ์) ไม่ให้กระทำผิดศีล จึงเบาและเป็นสุข (เพราะใจไม่เหนื่อย) แต่คนโง่ใช้กายรักษาศีล เท่ากับแบกศีล จึงหนักและเป็นทุกข์ หรือจะพูดว่า คนฉลาดเอาจิตคุมกาย คนโง่เอากายคุมจิตก็ได้” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย โอรส : 11-02-2010 เมื่อ 17:19 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#19
|
|||
|
|||
๑๐.๙ ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น ผมขอสรุปสั้น ๆ เป็นข้อ ๆ เพื่อความเข้าใจให้ง่ายขึ้นดังนี้
ก) บาปอกุศลทุกชนิดคือตัวกิเลส หรือสิ่งใดที่มากระทบจิตแล้วทำให้จิตเศร้าหมอง ล้วนเป็นกิเลสทั้งสิ้น ส่วนตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมต่าง ๆ ล้วนเป็นกิเลสทั้งสิ้น แต่มีรายละเอียดต่างกัน จึงมีสมมุติชื่อเรียกให้แตกต่างออกไป ข) สุข ทุกข์,บุญ บาป,ดี ชั่ว ล้วนอยู่ที่ใจเรา หรือเกิดจากใจเราทั้งสิ้น ค) ผู้ใดที่ไปหาบุญบาปนอกกายนอกใจเรา ล้วนเป็นคนหลง เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น ง) การระงับดับกิเลส จึงต้องแก้ที่กายเราและจิตเราเท่านั้น จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ อย่าไปยุ่งกับกายและใจของผู้อื่น จ) ในเมื่อสุข ทุกข์,บุญ บาป อยู่ที่ใจเรา เราเองเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีใครจะช่วยเราให้พ้นทุกข์ ได้รับสุขได้ นอกจากตัวเราเอง หรือที่พึ่งอันสุดท้ายจริง ๆ ก็คือตัวเราเอง หรือจงเอาตนเองเป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัย อย่าเอาผู้อื่นเป็นที่พึ่งเป็นที่อาศัย ๑๐.๑๐ บุญกุศล-สวรรค์-นิพพาน เกิดจากตัวเราเอง ไม่มีผู้ใดนำมาให้ ดูกร..อานนท์ บุญกับสุข หากเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบุญก็ชื่อว่ามีความสุข บาปกับทุกข์ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบาปก็ชื่อว่ามีทุกข์ ถ้าไม่รู้บาปก็ละบาปไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ ผมขอสรุปพระธรรมจุดนี้โดยย่อว่า พระองค์ทรงหมายถึง บุคคลส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจว่า บุญ บาป,สุข ทุกข์ มิได้อยู่นอกตัวเรา ความจริงแล้ว บุญ บาป,สุข ทุกข์ ล้วนอยู่ที่กายและใจเราทั้งสิ้น ตามธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ในข้อ ๑๐.๙ มีรายละเอียดแยกไว้จากข้อ ก.และข้อ จ.นั่นเอง ๑๐.๑๑ จะไปสวรรค์ ไปพระนิพพานต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่นไปด้วยไม่ได้ ผมขอสรุปสั้น ๆ เป็นข้อ ๆ ดังนี้ ก) ผู้ใดอยากพ้นนรก ก็จงทำตนให้พ้นนรกตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เพราะธรรมของตถาคตจริงในปัจจุบันเท่านั้น อดีตที่ผ่านมาแล้วก็ไม่ใช่, อนาคตซึ่งยังไม่ถึงก็ไม่ใช่ ทุกสิ่งทุกอย่างจริงในปัจจุบันเท่านั้น ทรงหมายถึงการปฏิบัติธรรม จะต้องทำจิตให้อยู่ในปัจจุบันธรรมเท่านั้น อย่าไปติดอดีตที่ผ่านมาแล้ว อย่าไปหวังอนาคตซึ่งยังไม่ถึง หากไม่เข้าใจจุดนี้แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะสู้กับกิเลสได้ ข) ดูกร..อานนท์ สวรรค์ในโลกมนุษย์ก็คือ การมีลาภ-มียศ-มีตำแหน่งสูง ๆ มีคนชมหรือสรรเสริญ ก็คิดว่ามีความสุข (เหมือนขึ้นสวรรค์) แต่ความจริงแล้วแม้สวรรค์จริง ๆ ในทุกชั้นฟ้า ย่อมเจือปนอยู่ด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น สุขในสวรรค์นั้นเป็นสุขจริง แต่ยังเป็นสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ แต่ก็ยังดีกว่าตกนรกโดยแท้ ไม่เหมือนสุขในพระนิพพาน ซึ่งเป็นเอกันตบรมสุข มีแต่สุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทุกข์เจือปนด้วยเลย (ธรรมะจุดนี้ทรงหมายถึง มนุษยโลก และสวรรคโลกยังตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์คือ ความไม่เที่ยง เพราะความไม่เที่ยงนี้แหละเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่น ความหิวเป็นทุกข์ พอกินอิ่มแล้วทุกข์คลายตัวก็คิดว่าเป็นสุข แต่ครู่เดียวก็หิวอีก,อาบน้ำเพื่อชำระความสกปรกของกายก็บรรเทาได้ชั่วคราว ประเดี๋ยวก็ต้องอาบอีก,ซักเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว (สกปรก) ต่อมาก็ต้องซักอีก ทำงานแล้วก็ต้องทำอีก เพราะงานในโลกไม่มีใครทำเสร็จ สรุปว่าทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น พระองค์ทรงตรัสเป็นหลักธรรมว่า ภาระที่หนักยิ่งในโลก ก็คือภาระที่ต้องดูแลขันธ์ ๕ หรือร่างกาย เพราะต้องดูแล เอาใจมันตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ไม่มียกเว้นแม้แต่วันเดียว จึงมีสภาพเหมือนกับต้องเลี้ยงลูกอ่อนตลอดชีวิต หรือมีสภาพเหมือนต้องติดคุกตลอดชีวิต (คุกที่แสนสกปรก ต้องล้างขี้-เยี่ยวให้มัน ตั้งแต่หัวลงมาถึงเท้า ทุกวันตลอดชีวิต ผู้ใดพิจารณาสภาวธรรมจุดนี้จนเข้าใจได้ดีแล้ว จะเห็นทุกข์-เห็นโทษ-เห็นภัยจากการเกิดมามีร่างกายได้ตามความเป็นจริง ผลทำให้มีอารมณ์เบื่อกาย-เบื่อเกิดไม่อยากเกิดมาพบกับความทุกข์เช่นนี้อีก เรียกว่าเข็ดแล้วในการเกิด ขอเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ขันธ์ ๕ หรือร่างกายตายเมื่อไร เราหรือจิตก็ขอพุ่งตรงไปพระนิพพานเมื่อนั้น เรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรม ธรรมที่นำเราไปสู่ความพ้นทุกข์ตลอดกาล หรือธัมมวิโมกข์นั้นเอง) ๑๐.๑๒ อยากรู้ว่าได้รับความสุขหรือทุกข์ ให้สังเกตดูอารมณ์จิตเรา ขณะยังมีชีวิตอยู่ ดูกร..อานนท์ ในอดีตชาติตถาคตหลงอยู่ในวัฏฏสงสารนี้มาช้านาน มุ่งทำบุญกุศลเพื่อให้พ้นทุกข์ ครั้นกายตายไป ก็ตายแต่ขันธ์ ๕ หรือร่างกาย ส่วนใจนั้นไม่ตายเป็นอมตะ ต้องไปเกิดเสวยกรรมตามที่ใจทำไว้ เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย เกิด-ตายอยู่เช่นนี้นับชาติไม่ถ้วน มาชาติปัจจุบันนี้ (ปัจฉิมชาติ) จึงรู้ว่าสวรรค์-นิพพานอยู่ที่ใจ จึงรีบเร่งปฏิบัติที่ใจ จนได้เป็นพระบรมครู แล้วจึงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ตามตถาคตอยู่ทุกวันนี้ ๑๐.๑๓ สวรรค์และนิพพานต้องทำเอาเอง ด้วยการดับกิเลสตัณหา พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอก ผู้ชี้แนะแนวทางปฏิบัติให้เท่านั้น ธรรมข้อนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ผมไม่ขออธิบายอีก ๑๐.๑๔ การตกนรกและขึ้นสวรรค์ เอาร่างกายไปไม่ได้ ต้องเอาจิตไป ธรรมข้อนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุ ๔ เป็นสมบัติของโลก จึงไม่มีใครสามารถเอาไปได้ ส่วนจิตเป็นของเรา จิตไม่ตายเป็นอมตะ จิตมาอาศัยร่างกายอยู่ชั่วคราว เพื่อบำเพ็ญบารมีหรือกำลังใจให้เต็ม เต็มแค่สวรรค์ก็ไปสวรรค์ เต็มแค่พรหมก็ไปพรหม เต็มบริบูรณ์ (ปรมัตถะ) ก็ไปพระนิพพาน หากไม่ปฏิบัติตามหลักธรรม ที่พระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนาของพระองค์ไว้ในวันมาฆบูชา มีความสำคัญย่อ ๆ ๓ ข้อว่า จงละกรรมชั่วทั้งหมด,จงทำแต่ความดี,จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ตรัสอย่างนี้เหมือนกันหมด วิธีปฏิบัติให้พ้นทุกข์ก็คือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือทาน-ศีล-ภาวนา ใครไม่ปฏิบัติตามนี้ ก็ไปตามกรรมคือนรก แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-02-2010 เมื่อ 12:23 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#20
|
|||
|
|||
๑๐.๑๕ สิ่งที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ มีแต่บุญกุศลเท่านั้น ธรรมข้อนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ทรงยกตัวอย่างว่า เช่นการให้ทานและรักษาศีลเป็นต้น ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า
สมาธิ เพียรรักษาสมาธิ หรือทำจิตให้เป็นสมาธิ จนกระทั่งสมาธิรักษาเรา (จิต) ให้เป็นผู้ทรงฌานหรือทรงสมาธิได้เป็นอัตโนมัติตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือเป็นอธิจิต มีผลทำให้อารมณ์ชั่ว ๒ อย่างไม่สามารถเกิดได้คือ โลภะ (ราคะ) กับปฏิฆะ (โทสะ) ซึ่งกันไม่ให้จิตดวงนี้ลงมาเกิดมีร่างกายหรือขันธ์ ๕ อีกตลอดกาล (ไม่เกิดในมนุษยโลก) ปัญญา เกิดจากการใคร่ครวญ พิจารณาหรือธัมมวิจยะ ยกเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มาใคร่ครวญ เรียกว่า วิปัสสนา จนกระทั่งพบเห็นอริยสัจคือ ก) เห็นทุกข์ได้ตามความเป็นจริง คือทุกขสัจ เป็นทุกข์ของกายซึ่งไม่มีใครสามารถห้ามได้ ให้เห็นเป็นเพียงสภาวธรรม ให้ใจเรากำหนดรู้ว่า มันก็ทุกข์ของมันเป็นธรรมดาอย่างนี้แหละ จงอย่าไปยุ่งกับมัน เพราะร่างกายหรือทุกข์ของกาย เวทนาของกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ข) เห็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) ใจเป็นต้นเหตุ เพราะมีอุปาทานซึ่งเป็นอารมณ์ยึดมั่นถือมั่น คิดว่าขันธ์ ๕ หรือร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา จึงเป็นอารมณ์ฝืนความจริง ที่ไม่ยอมรับว่าทุกข์ของกายหรือเวทนาของกาย มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ยิ่งฝืนก็ยิ่งทุกข์ ดังนั้น..หากใครวางหรือละอุปาทานขันธ์ ๕ ได้อย่างเดียว ก็พ้นทุกข์ตลอดกาล หรือจบกิจในพระพุทธศาสนา (ผมขออธิบายสั้น ๆ แค่นี้) ค) เห็นความพ้นทุกข์ หรือเห็นความดับทุกข์คือนิโรธ ตามข้อ ข ง) เห็นวิธีปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ คือ อริยมรรค ๘ ขอย่อสั้นๆว่า คือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือทาน-ศีล-ภาวนา (ขออธิบายสั้น ๆ แค่นี้) “พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ต่างก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจทั้งสิ้น และพระสาวกของพระองค์ทุก ๆ องค์ ต่างก็บรรลุด้วยอริยสัจ มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี” นี่คือพระพุทธพจน์ ดังนั้นหากผู้ใดต้องการไปพระนิพพาน ก็ต้องใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา (ความทุกข์) ทั้งทางโลกและทางธรรม จึงจะพ้นทุกข์ได้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-02-2010 เมื่อ 13:00 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|