#1
|
||||
|
||||
ท่านแม่เรือล่ม
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา ท่านแม่เรือล่ม อนุสาวรีย์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือ ทัชมาฮาลปราสาทหินอ่อนทั้งหลัง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ดินแดนชมพูทวีป ความยิ่งใหญ่โอฬารของมัน ถูกจัดเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลก นั่นเป็นสิ่งแสดงออกซึ่งความรักอันยิ่งใหญ่ที่ ชาห์เจฮัน มีต่อ พระมเหสีมุมตัส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า ปิยโต ชายเต โสโก ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีแต่ความเศร้าโศก ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง ย่อมเป็นทุกข์ ผู้ทุกข์โศกในโลกนี้ มิใช่มีแต่ชาห์เจฮันเพียงผู้เดียวหรอก..... ณ มุมหนึ่งของพระราชวังบางประอิน ปรากฏอนุสาวรีย์เล็ก ๆ หลังหนึ่ง มีคำจารึกพรรณาถึงนางอันเป็นที่รัก ผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เป็นถ้อยคำที่กลั่นออกมาจากดวงใจอันแสนเศร้าอย่างแท้จริง แม้ผู้ตายมีญาณวิถีรับรู้ ก็คงจะปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด.... ถูกแล้ว... นั่นเป็นอนุสาวรีย์แห่งความรักที่ สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ผู้เป็นพระมเหสีที่รักยิ่ง ซึ่งสวรรคตด้วยเหตุเรือพระที่นั่งล่ม พระนางจมลงสู่ใต้กระแสน้ำเชี่ยว ถึงแก่สิ้นพระชนม์... บางพูด นนทบุรี ในวันนั้น... ท่ามกลางกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากของแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้ามีผู้ใดผู้หนึ่งยินยอมช่วยเหลือ องค์พระมเหสีที่รักยิ่งก็ไม่ต้องจากไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ไม่ต้องเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งเช่นนั้น... ทว่า...กฎมณเฑียรบาลในยุคนั้น ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใดให้การช่วยเหลือต่อองค์พระมเหสีก็ดี เจ้าจอมหม่อมห้ามก็ดี ขึ้นมาจากน้ำมีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต แล้วผู้ใดล่ะ ..? ที่จะกล้าฝืนกฎมณเฑียรบาล โดยไม่เกรงกลัวพระราชอาญา... พิเคราะห์เพียงเผิน ๆ จะคิดว่า ไม่น่ามีโทษถึงเพียงนั้น แต่ถ้าคิดดูให้ดี จะพบว่าในยุคสมัยนั้น ... ชายหญิงไม่อาจชิดใกล้กันไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสามีภรรยา หรือญาติสนิทเท่านั้น การถูกเนื้อต้องตัวยิ่งเป็นของต้องห้ามอย่างเด็ดขาด... นั่นเป็นเรื่องของสามัญชน นี่เป็นเรื่องของเจ้าพระยามหากษัตริย์ พระวรกายประดุจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่มองยังไม่กล้า แล้วถ้าเป็นเรื่องในสระสวนอุทยาน ผู้ที่สามารถทำการช่วยเหลือได้ทัน ต้องอยู่ในบริเวณนั้น การล่วงล้ำเขตหวงห้ามเพียงนั้น โทษก็ถึงตายแล้ว .. เสียงของครูเปี๊ยก (คุณสมพร บุณยเกียรติ) ที่ทำการฝึกญาณ ๘ แก่ลูกศิษย์สั่งทุกคนกำหนดใจย้อนหลังไปยังเหตุการณ์ครั้งนั้น “เอ้า...ทุกคนดูซิคะ ทำไมพระองค์ท่านถึงสิ้นพระชนม์ ?” ภาพที่ปรากฏคือ... ท่ามกลางกระแสน้ำอันปั่นป่วนนั้น พระองค์ท่านโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ... ทรงเหลียวมองรอบด้าน แล้วร้องออกมาคำเดียวว่า “ลูก!” พลางแหวกว่ายเข้าหาเรือพระที่นั่งที่จมผลุบ ๆ โผล่ ๆ อยู่อย่างสุดกำลัง จังหวะเดียวกับที่คลื่นอีกลูกโถมซัดมา เรือพระที่นั่งพลิกกลับ ครอบพระองค์หายวับไปกับตา... อาตมาน้ำตาร่วงพรู..แม่..นี่แหละแม่.. ความเป็นแม่ที่รักลูกยิ่งอื่นใด แม้แต่ชีวิตก็สละเพื่อลูกได้ “แม่” คำเดียวสั้น ๆ ที่แฝงไว้ด้วยพลานุภาพใหญ่หลวง ยอมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเลือดในอก แม้ต้องสละด้วยชีวิตและเลือดเนื้อแห่งตน... แล้วพ่อละ..? มีใครคิดถึงหัวอกพ่อบ้าง ...? พ่อที่เสียทั้งแม่ทั้งลูกจะทุกข์ใจสุดพรรณนาขนาดไหน...? อาตมาต้องลุกหนีการฝึกแต่กลางคันออกไปร้องไห้อยู่ข้างนอก ร้องจนสาแก่ใจ วันนั้นทั้งวันมีแต่น้ำตา ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์หนอ... รักใด ไหนเล่า เท่าแม่ เที่ยงแท้ ยืนยง คงมั่น รักลูก ยิ่งกว่า ชีวัน ลูกนั้น รักแม่ เท่าใด..? ๓ มีนาคม ๒๕๓๓
พระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 20-08-2009 เมื่อ 14:50 |
สมาชิก 131 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนางเรือล่ม (๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ - ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ) มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ เป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็ก ลำดับที่ ๕๐ ในจำนวนทั้งหมด ๘๒ พระองค์ โดยรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระขนิษฐาร่วมพระโสทรทั้ง ๒ พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอีกด้วย ระหว่างการตามเสด็จฯพระบรมราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๕๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ ๓ ในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีวอก เวลา ๕ โมงเช้า ๔๐ นาที ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ โดยได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งคำว่า “สุนันทา” นั้น เป็นนามของพระมเหสี ๑ ใน ๔ พระองค์ของพระอินทร์ นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานพรเป็นภาษามคธ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า “พระองค์เจ้าองค์นี้ ทรงนามว่า “สุนันทากุมารีรัตน์” อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากความทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทวดา จงช่วยอภิบาลรักษา พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้นให้พ้นภัยจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ” พระองค์ทรงมีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น ๖ พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ พระนางเธอในรัชกาลที่ ๕ ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษาเพียง ๘ ปี จึงเปลี่ยนพระฐานันดรศักดิ์จาก “พระเจ้าลูกเธอ” เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และเมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ได้ถวายตัวรับราชการเป็นภรรยาเจ้าเมื่อพระชนมายุประมาณ ๑๕ – ๑๖ พรรษา จึงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงมีพระอุปนิสัยแข็งแกร่ง เด็ดขาด แต่ด้วยพระสิริโฉม รวมทั้งพระอัธยาศัยที่สุภาพ เรียบร้อย และสงบเสงี่ยม ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของพระองค์ โดยเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๒๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มีพระตำหนิเด่นชัด คือ มีติ่งที่พระกรรณข้างขวามาแต่แรกประสูติ จึงพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 20-08-2009 เมื่อ 18:11 |
สมาชิก 101 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
สวรรคต เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้แต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์เอาไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์พระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์พระเจ้าลูกเธอจนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงหวั่นพระทัย แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์ ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่าง ๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ ๒ โมงเช้า โดยพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ประทับบนเรือเก๋งกุดันโดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจแล้วจึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แลพระชนนีสิ้นพระชนม์” งานออกพระเมรุพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้นนำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชของกรมหลวงวรศักดาพิศาล ซึ่งจูงเรือกรมพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ ๑๐ ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นระลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง” อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า ๑๐ ศอก” ซึ่งกรมหมื่นอดิศรอุดมเดชและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา โดยในขณะที่เรือล่มนั้น พระยามหามนตรีก็ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือ ด้วยเป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงคนอื่น ๆ ดู แล้วจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็สวรรคตพร้อมด้วยพระราชบุตรในพระครรภ์พระชนม์ ๕ เดือนเต็ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก และเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนถวายพระนามพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม” พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวชภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันสวรรคต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศทองใหญ่ซึ่งเป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ให้ทรงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ซึ่งถือเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้น ได้มีการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง ๒ พระองค์ขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตรต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแด่อารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ และยังคงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 20-08-2009 เมื่อ 18:21 |
สมาชิก 98 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
การเฉลิมพระนามาภิไธย พระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ : พระนามาภิไธยย่อ "ส" (สุนันทากุมารีรัตน์) ภายใต้มงกุฎขัตติยนารี ที่ด้านใต้ของพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชวังบางปะอินการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้นทำให้เกิดปัญหาในการออกพระนามในประกาศทางราชการ เนื่องจากยังไม่มีการสถาปนาฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีอย่างเป็นทางการแต่ประการใด ดังนั้น จึงมีการออกพระนามเป็นลำดับ ดังนี้ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๓ นั้น กรมหมื่นนเรศรเข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลด้วยพระนามพระองค์เจ้าสุนันทา ว่า สมเด็จกรมพระฯ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระบำราบปรปักษ์) จะทรงออกตราเกณฑ์ไม้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ “สมเด็จพระนางเจ้า อย่างสมเด็จพระนางโสมนัส” ดังนั้น จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๓ มีรับสั่งให้กรมหมื่นนเรศรไปทูลสมเด็จกรมพระว่า พระนามนั้นให้ใช้แต่ “สมเด็จพระนางเธอ” เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้านั้นไว้ใช้สำหรับการแปลเป็นคำอังกฤษว่า ควีน ดังนั้น จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์ และใช้ภาษาอังกฤษว่า Princess ส่วนสมเด็จพระนางเจ้านั้นให้ใช้กับคำว่า Queen ในภาษาอังกฤษ โดยให้ใช้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าตามด้วยชื่อ และต่อท้ายด้วยพระราชเทวี ต่อมาในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ให้เปลี่ยนพระนามเป็นจาก “สมเด็จพระนางเธอ” เป็น สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ หลังจากนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 20-08-2009 เมื่อ 18:24 |
สมาชิก 92 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
พระราชกรณียกิจ จากเอกสารต่างประเทศได้บันทึกไว้ว่าพระองค์ทรงตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วฉะฉาน และทรงกล้าเข้าสังคมซึ่งแตกต่างจากบุคลิกลักษณะของฝ่ายในโดยมาก ในสมัยก่อน ทำให้ทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการต้อนรับขับสู้ชาวต่างประเทศเมื่อทรงออกมหาสมาคม ขณะดำรงตำแหน่ง พระนางเธอ หรือ Queen อย่างสมพระเกียรติ ดังจะเห็นได้จากบันทึกของ นายพลแกนต์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่ได้เดินทางเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ มีความว่า "เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวนั้น ภรรยาของข้าพเจ้าก็ได้รับการต้อนรับและสนทนาวิสาสะอย่างอบอุ่นเป็นกันเองจากพระราชินี" พระราชมรดก หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการแบ่งพระราชทรัพย์มรดกของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในพระบรมโกศ ให้แก่บรรดาพระญาติ(ของพระนางเอง) โดยพระองค์พระราชทานเครื่องยศสำหรับผู้หญิงให้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย พระราชธิดาในพระองค์และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี (พระยศขณะนั้น)ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ดังนั้นทูลกระหม่อมหญิงพาหุรัดฯจึงทรงเป็นพระนัดดาอันสนิทในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในพระบรมโกศที่ได้ทรงเลี้ยงดูกันมา ซึ่งมีรายการดังต่อไปนี้ เครื่องยศพานหมากทองคำลงยาราชาวดี ผอบทองคำลงยาราชาวดีปริกประดับเพชร จอกหมากทองคำลงยาราชาวดี ซองพลูทองคำลงยาราชาวดี ตลับขี้ผึ้งรูปผลลิ้นจี่ประดับทับทิมมีสายสร้อยห้อยแขวน-ไม้ควักหูจิ้มฟันประดับเพชรบ้างเล็กน้อย หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี หลังเป็นลายสระบัว มีมงกุฎกษัตรียประดับเพชรพลอยบ้าง ตลับเครื่องในทองคำลงยาราชาวดี หลังประดับมรกต เพชรสามใบเถา พานทองคำลงยาราชาวดี สำหรับรองหีบหมาก ขันครอบทองคำลงยาราชาวดี จอกลอย และพานรอง ขันล้างหน้าทองคำลงยาราชาวดีพานรอง กาน้ำร้อยหูหิ้วมีถาดรองทองคำลงยาราชาวดี กระโถนเล็กทองคำลงยาราชาวดี โต๊ะเงินสำหรับเครื่องคาวและหวาน แต่หีบหลังประดับเพชรมีตลับสามใบเถานั้น ทรงมอบให้แก่พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ส่วนสิ่งของอื่น ๆ นั้น พระองค์ทรงแบ่งออกพระราชทานให้แก่พระเชษฐา พระขนิษฐา และพระนัดดาของพระนาง ได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี, พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ, พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ส่วนของที่พระองค์ทรงให้คืนพระคลัง ได้แก่ กล่องจุลจอมเกล้า ๑ ใบ และหีบกะไหล่โปร่ง ๑ ใบ ที่มา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 20-08-2009 เมื่อ 18:30 |
สมาชิก 84 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
เคยอ่านผ่านตาและหลงเหลือติดหัวว่า
๑. มีพระราชหัตถเลขาถึงพระบรมวงศฯพระองค์หนึ่ง ทรงบ่นรำพันถึงความอิจฉาริษยาที่น่าจะหมดสิ้นไปแล้ว... ๒. พระยามหามนตรีถูกจองจำไว้ระยะหนึ่ง และได้รับการปล่อยตัวจากการกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษโดยสมเด็จพระนางเจ้าพระองค์หนึ่ง... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 20-08-2009 เมื่อ 18:01 |
สมาชิก 76 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
เคยอ่านเรื่องราวเช่นนี้มาเหมือนกันค่ะ ไม่ได้แค่หลงเหลือติดหัวนะคะ แบบว่าจารไว้ในใจเลยค่ะ นึกถึงแล้วน้ำตาไหลทุกที บางทีเรื่องราวที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจำพวกนี้ ไม่แน่ใจว่าควรจะนำมาลงไว้หรือเปล่า แต่โดยส่วนตัวแล้ว ชอบอ่านพวกคำบอกเล่านอกตำราแบบนี้เหมือนกันค่ะ ถ้ามีผู้สนใจ จะลองหามาให้อ่านกันค่ะ
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 20-08-2009 เมื่อ 18:35 |
สมาชิก 80 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
ชอบศึกษาความจริงเฉยๆ ครับ จึงเพียงบอกไว้เพื่อ
ให้ความจริงได้ถูกศึกษาและสืบทอด แต่ก็เข้าใจกรณีที่เขาไม่บอกออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ขนบธรรมเนียมของเรา ให้ความเคารพเทิดทูน เจ้านาย จึงมีหลายแง่มุมที่ต้องระมัดระวัง ผลเสีย ก็อาจมีได้ในหลายด้าน |
สมาชิก 76 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
|||
|
|||
เท่าที่อ่านจาก กฎมณเฑียรบาล ประชาชนสามารถช่วยเหลือได้ครับ แต่จะต้องไม่ถูกพระวรกาย เช่นใช้วิธีโยนสิ่งของให้พระองค์เกาะลอยพระวรกายไว้ เป็นต้น ครับ
แต่เนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินคราวนั้น ประชาชนไม่น่าที่จะทราบว่าเป็นบุคคลใด จึงพายเรือมากันไม่น้อยเพื่อจะช่วยเหลือ แต่โดนท่านเจ้าคุณท่านนั้นห้ามไว้ครับ ถ้าท่านเจ้าคุณมีสติอีกสักหน่อย ก็น่าที่จะบอกวิธีการช่วยเหลืออย่างถูกต้องได้ครับ |
สมาชิก 78 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
พระราชหัตถเลขาที่กล่าวถึง ยังมีเนื้อความบ่นรำพัน ใจความว่า ...จะมัวถือกฎอะไรอยู่ ชีวิตคน ควรต้องเร่งรักษาไว้ก่อน...
|
สมาชิก 83 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
ได้อ่านเจอจากหนังสือเรื่อง " สมเด็จพระนางเรือล่ม " เกี่ยวกับ
พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ห้าถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ( ท้วม บุนนาค ) บอกข่าวที่เกิดเหตุเรือพระประเทียบล่ม ขอยกเนื้อความบางตอนมาดังนี้ค่ะ "...........การซึ่งเป็นครั้งนี้ เพราะฉันเชื่อผิด คิดผิด มีความโทมนัสเสียใจยิ่งนัก แทบจะถึงชีวิต จึงได้จดหมายมาถึงเธอช้าไป มีความคิดถึงเธอเป็นที่สุด ถ้าอยู่แล้วจะเป็นที่หวังใจวางใจของฉันทุกอย่างทุกประการ การซึ่งตกลงกันไปแล้วนี้จะเป็นการตลอดไปฤๅไม่ตลอดก็ไม่ทราบ แต่เห็นว่าชีวิตฉันในเวลานี้จะให้ตายนั้นไม่สู้ยากนัก จะบอกอะไรอีกไม่ได้แล้ว ไม่มีเสียงจะพูด " กับอีกฉบับหนึ่ง เป็นพระราชหัตถเลขาถึงพระยาเทพประชุน ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ขอยกเนื้อความบางตอนมาเช่นกันค่ะ " ......เรื่องเรือล่มนั้น นึกจะบอกให้พระยาเทพประชุนทราบแต่แรก แต่ไม่มีแรงจะบอก ทีหลังมาก็มีการมากเสีย ไม่มีเวลาจะเขียน เพื่อจะเล่าความโดยย่อดังนี้ คือ ที่ตำบลบางพูดนั้นเป็นที่น้ำตื้น พระยาเทพประชุนทราบอยู่แล้ว เรือโสรวารซึ่งนายอ่ำไป แล่นริมฝั่งตะวันออก เรือสมเด็จพระสุดารัตน์แล่นริมฝั่งตะวันตก เรือปานมารุตซึ่งลากเรือสุนันทาแล่นไปทีหลังขึ้นไปในระหว่างกลาง ระยะห่าง ๆ กัน ฝั่งข้างตะวันออกว่าน้ำตื้น พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปเกือบจะเสมอเรือโสรวาร เรือโสรวารเบนหัวเรือมาข้างตะวันตก เรือปานมารุตก็เบนหัวเรือหนีไปข้างตะวันตกบ้าง แต่เรือที่สุนันทาไป คนถือท้ายกลับคัดท้ายเฉหัวเรือไปทางตะวันออก ทวนคลื่นเข้าอยู่ในระหว่างเรือไฟทั้งสองลำ จนเชือกถอนหลักแจวที่ผูกเรือโสรวารก็ไม่หยุด แล่นมาจนหัวเรือปิกนิกและเรือโสรวารโดนกัน เรือก็แอบเข้าข้างกัน คนอยู่บนดาดฟ้าเรือโสรวารรับเพดานเรือบตผลักออกมา เรือเพียบเปลี้ยอยู่แล้วก็คว่ำกันลอยลงไปห่างเรือโสราวารลิบ เพราะนายอ่ำยังเรียกเรือสำปั้นที่จะลงไปช่วยอยู่ แต่บ่าวที่ลงเรือครัวมากระโดดลงน้ำไปช่วยก่อนคนหนึ่ง เรือนั้นไม่ได้พลิกขึ้นเลยจนรับคนที่ว่ายน้ำขึ้นหมดแล้ว แลบ่าวไปงมเอาศพเจ้าขึ้นมาได้ แล้วจึ่งได้พลิกเรือ ในเวลานั้นเราไปถึงกลางทาง จมื่นทิพเสนาลงเรือไฟกลับมาบอก เมื่อไปพ้นปากเกร็ดหน่อยหนึ่ง ว่าเรือล่ม เราถามว่า ใครเป็นอันตรายอย่างไรบ้าง บอกแต่ว่าลูกตายคนเดียว นอกนั้นดีหมด ครั้นไปถึงบางพูด คิดว่าลูกเล็กนักคงจะตายแล้ว เสร็จก็ไม่รีบร้อนเข้าไปดู รอไล่เลียงความอยู่ประมาณ ๑๕ มินิต นายอ่ำแจ้งความว่า ตายแต่ลูกคนเดียว ตัวเองได้โดดน้ำลงไปรับขึ้นมา ก็หมายว่าเป็นจริงดังนั้น ต่อเทวัญขึ้นไปเห็น จึงได้ลงมาบอกว่าหญิงใหญ่ก็เต็มทีเหมือนกัน รีบไปแก้ไขอยู่ถึงสามชั่วโมง แต่เปล่า แก้ไขคนตายแล้วทั้งนั้น ตายเสียแต่เมื่อเอาขึ้นมาจากน้ำแล้ว จนเขาไม่แก้ไขกันแล้ว การเป็นดังนี้ เพราะไว้ใจคนผิด เข้าใจว่าบุญคุณจะลบล้างความริษยาเกลียดชังกันได้ แต่การกลับเป็นอย่างอื่นก็เป็นอันจนใจอยู่ เราไม่ว่า ว่าเป็นการแกล้งฆ่าที่คิดไว้ว่าจะฆ่าด้วยอย่างนี้ แล้วแลสมประสงค์ เห็นว่าเป็นเหตุที่เผอิญจะเกิดเป็นขึ้น ให้เป็นช่องที่จะให้อคติเดินได้สะดวกตามประสงค์ หญิงใหญ่นั้นเป็นคนว่ายน้ำแข็ง แจวเรือพายเรือได้แข็ง ที่ตายครั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะห่วงลูก เพราะพี่เลี้ยงของลูกว่ายน้ำไม่เป็น คนที่อยู่ในเก๋งเรือนั้นถึง ๖ -๗ คนด้วยกันนอกนั้นรอดหมด ตายแต่พี่เลี้ยงของลูกที่ว่ายน้ำไม่เป็นคนหนึ่งกับแม่ลูกเท่านั้น เก๋งเรือนั้นปิดฝาเกล็ดแลเอาม่านลงข้างแถบตะวันออกตลอดเพราะแดดร้อน ข้างแถบตะวันตกเปิดฝาเกล็ดอยู่สองช่อง ช่องนั้นเฉพาะพอตัวคนลอดออกมาได้ เมื่อได้หญิงใหญ่นั้นได้ที่ช่องหน้าต่างนั้น จะว่าเพราะติดท้องก็จะไม่ติด กลัวว่าจะพาลูกออกมาด้วย แต่สิ้นกำลังออกมาไม่ได้ จึงได้ค้างอยู่ การซึ่งเป็นขึ้นครั้งนี้ ทำให้ได้ทุกข์โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง........... |
สมาชิก 87 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
"ที่รฦกถึงความรัก แห่ง สมเดจพระนางเจ้า สุนันทากุมารัรตน์ พระบรมราชเทวี อรรคมเหษี อันเสดจทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยความศุขสบาย แลเปนที่เบิกบานใจพร้อมด้วยผู้ซึ่งเปนที่รัก แลที่ สนิทอย่างยิ่งของเธอ อนุสาวรี นี้สร้างขึ้น โดย จุฬาลงกรณ์ บรมราช ผู้เปนสวามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์ อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิตร ถึงกระนั้นยังมิได้หักหาย จุลศักราช ๑๒๔๓" อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในพระราชอุทยาน หลังพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน สร้างจากหินอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุดจากอิตาลี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จารึกคำไว้อาลัยอันเกิดจากส่วนลึกแห่งพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ด้านตะวันตกจารึกคำไว้อาลัยภาษาไทย |
สมาชิก 86 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
ที่วัดกู้ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้มีการสร้างศาลสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ขึ้นมาตรงตำแหน่งใหม่ แต่ศาลเก่าที่ตั้งอยู่ริมน้ำก็ยังคงอยู่ที่เดิมค่ะ เห็นว่าทางวัดจะบูรณะ ตอนแรกจะย้ายมาให้เป็นศาลใหม่ศาลเดียว แต่เห็นว่าชาวบ้านไม่ยินยอมค่ะ
รูปเล็ก ๆ น้อย ๆ จากศาลใหม่ค่ะ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-04-2010 เมื่อ 03:25 |
สมาชิก 90 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
|||
|
|||
วัดกู้ไปทางไหนครับ?
|
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
|||
|
|||
ถ้าขับรถยนต์ส่วนตัว ให้ขับไปทาง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ครับ มุ่งหน้าไปยังสะพานพระราม ๕ พอเลยห้าแยกปากเกร็ด ให้ตรงไปกลับรถใต้สะพานพระราม ๔
พอกลับรถใต้สะพานพระราม ๔ แล้วชิดซ้ายไว้ จะเจอซอยแรกสุดที่ติดกับตลาดสดเทศบาล ให้เลี้ยวเข้าซอยนั้น แล้วก็วิ่งตรงไปอีกราว ๆ ไม่เกิน ๒ กิโลเมตร จะเจอป้ายทางเข้าวัดกู้ครับ ไม่ต้องกลัวจะหลง เพราะมีเครื่องบินลำใหญ่ จอดนิ่งสนิทอยู่ในวัด เนื่องจากอดีตเจ้าอาวาสท่านให้เลขเด็ด จนลูกศิษย์หลายคนร่ำรวย จึงได้ซื้อเครื่องบินเก่ามาถวายครับ ถ้ามาจากฝั่ง จ.ปทุมธานี ให้ ขึ้นสะพานพระราม ๔(ขวามือจะเห็นเกาะเกร็ด ,ซ้ายมือจะเห็นอาคารเทศบาลนครปากเกร็ด เป็นอักษรตัวโต ๆ ครับ) พอลงสะพานพระราม ๔ แล้วชิดขวา กลับรถมุ่งหน้าไปยังท่าน้ำปากเกร็ดแล้วก็กลับรถใต้สะพานพระราม ๔ ที่เพิ่งจะข้ามมา จากนั้นก็ใช้เส้นทางเดียวกับข้างบนครับ ถ้านั่งรถโดยสารประจำทาง ให้สังเกตรถที่เขียนว่าไป ปากเกร็ด ไปได้ส่วนมากครับ ถ้าจะให้แน่ใจ ควรจะเลือกรถที่มุ่งไปท่าน้ำปากเกร็ดครับ พอรถเลยห้าแยกปากเกร็ดมา ให้บอกพนักงานประจำรถว่า ขอลงป้ายเทศบาลนครปากเกร็ด รถโดยสารจะจอดด้านซ้ายมือ ให้เดินข้ามฝั่งมายังฝั่งเทศบาลนครปากเกร็ด จากนั้นเดินขึ้นไปทางท่าน้ำฯ ผ่านอาคารเทศบาลฯ แล้วก็จะผ่านตลาดสดเทศบาล จนมาพบกับซอยสุดท้ายที่มีรถจักรยานยนต์รับจ้างจอดอยู่เยอะ ๆ หน่อย ก็บอกเขาว่า..ไปวัดกู้.. แค่นี้เองครับ สำหรับเรือโดยสารไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่ เพราะเรือด่วนเจ้าพระยา(ทั้งธงเหลือง และ ธงส้ม) จะวิ่งไปจอดที่ท่าน้ำนนท์(ท่าน้ำ จ.นนทบุรี) เป็นป้ายสุดท้ายครับ ถ้าไปไหว้ศาลท่านแม่เรือล่มแล้ว จะไปชมเจดีย์มอญที่วัดปรมัยยิกาวาส บนเกาะเกร็ด ก็ได้นะครับ มีเรือบริการข้ามไปเกาะเกร็ด เหมือนกันครับ หมายเหตุ ๑.ตัวศาลท่านแม่เรือล่ม จะเป็นศาลสีเขียวอ่อน ตั้งยื่นเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาครับ ๒.ถ้าท่านขับรถมาจากทางด้านถนนแจ้งวัฒนะ ไม่แนะนำให้ขึ้นทางด่วนที่เชื่อมกับสะพานพระราม ๔ เพราะจะไม่มีทางลงตรงท่าน้ำปากเกร็ด ทำให้ท่านต้องเสียเวลาไปกลับรถ ที่ฝั่งถนนนครอินทร์แทนครับ ควรจะมาทางปกติ แล้วมุ่งหน้าไปทางห้าแยกปากเกร็ดจะแน่นอนกว่า แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 21-08-2009 เมื่อ 11:52 |
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
|||
|
|||
กะเหรี่ยงยูเค
อ้างอิง:
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-04-2010 เมื่อ 03:25 |
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|