#1
|
||||
|
||||
พระยอดเมืองขวาง
พระยอดเมืองขวาง เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ มักจะได้การรับรู้แต่ในความสูญเสียใหญ่ๆ คือ การเสียค่าปรับด้วยเงินถุงแดง และการเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง หากยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ควรแก่การเผยแพร่ศึกษาความเก่งกล้าของคนไทยสามัญชนคนหนึ่ง ที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายด้วยความสัตย์ซื่อในหน้าที่ แต่กลับถูกมหาอำนาจตะวันตกรังแก บังคับให้ต้องโทษ วีรบุรุษผู้อาภัพท่านนี้คือพระยอดเมืองขวาง เจ้าเมืองชายขอบพระราชอาณาเขตติดชายแดนเวียดนาม ได้ต่อสู้ปกป้องแผ่นดินตามหน้าที่อย่างกล้าหาญกับกองกำลังฝรั่งเศสผู้รุกราน ขนาดเพลี่ยงพล้ำถูกข้าศึกจับเป็นเชลย ก็ยังสามารถแก้ไขสถานการณ์ ต่อสู้สร้างความเสียหายแก่ศัตรูพร้อมหนีเล็ดรอดกลับออกมาได้ สร้างความคลั่งแค้นให้อันธพาลมหาอำนาจที่เสียหน้าจากเหตุการณ์ ใช้อำนาจบังคับให้ไทยต้องควบคุมตัวพระยอดเมืองขวางขึ้นศาลไม่รู้จบ มุ่งแต่จะให้ท่านต้องโทษให้ได้ เว็บของเนชั่นสุดสัปดาห์ http://www.nationweekend.com/weekend...01/wec02.shtml กล่าวพาดพิงไว้ในบทความ รายงานพิเศษ"ต้นสกุล 'เทวกุล' พระบิดาแห่งการทูตไทย" โดย 'ช่อปาริชาต' อย่างแตกต่างและน่าสนใจว่า .........ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะทายาทเทวกุล กล่าวว่า "เรื่องเสด็จปู่ ได้ยินจากท่านพ่อ ท่านระวังฝรั่งว่าจะมาเอาเปรียบเรา ทำการเจรจาต่อสู้ ที่อ่านแล้วสนุกคือบท พระนางเรือล่ม บทที่เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คดีพระยอดเมืองขวางเขียนดีที่สุด เขียนลึกว่าทำไมท่านถึงทำคดี ท่านใช้ลูกเล่น วันสุดท้ายที่ฝรั่งเศสจะตัดสิน เขียนเห็นชัดเลยว่า พระยอดเมืองขวางไม่มาศาล จริงแล้วเสด็จปู่ไม่ให้มา เพราะท่านรู้ว่าถ้ามาก็จะถูกตัดสินว่าผิดแล้วจะถูกจับตัวไปติดคุกที่เวียดนาม เมื่อไม่มา ฝรั่งเศสโมโห จนเจรจาสำเร็จว่าติดคุกเมืองไทยถึงยอมให้มา ฝรั่งเศสก็รู้ทันทีว่าถ้าติดคุกเมืองไทยไม่นานก็ต้องปล่อยตัวออกมา ฝรั่งเศสก็มีเงื่อนไขว่าถ้าปล่อยก็อย่าเอิกเกริก อีกตอนหนึ่งเสด็จปู่มีลูกเล่นตอนสงครามโลก ถ่วงไว้ไม่ยอมประกาศจนรู้พันธมิตรชนะจึงประกาศ ที่เตะถ่วงเพราะเจ้าส่วนใหญ่จบจากเยอรมันเยอะ ถ้าประกาศจะมีคนคัดค้าน" มีเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งข้าราชการระดับเล็กๆ คนหนึ่ง พระยอดเมืองขวาง เป็นคดีความที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเมื่อปี ๒๔๓๖ ที่สร้างความขมขื่นให้แก่รัฐบาลไทยและผู้ปกครองไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรปะการ ผู้ซึ่งทรงรับผิดชอบด้านการต่างประเทศ ข้อกล่าวหาของฝรั่งเศส คือ พระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพ็ชร) ข้าหลวงเมืองคำม่วนและเมืองคำเกิด ผู้ปกป้องรักษาเขตแดนไทยจากการรุกรานของฝรั่งเศสอย่างสุดความสามารถ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำร้ายนายทหารฝรั่งเศสจนถึงแก่ความตาย ฝรั่งเศสต้องการเอาผิดให้จงได้ โดยใช้อำนาจและเล่ห์กลทุกอย่างบิดผันกระบวนการยุติธรรม จนพระยอดเมืองขวางถูกตัดสินลงโทษให้จำคุก ๒๐ ปี และกำหนดที่จะให้ไปรับโทษในคุกในเขตแดนของฝรั่งเศส สมเด็จฯ ทรงไม่ยอมส่งตัวพระยอดเมืองขวางให้ และทั้งต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อมิให้ พระยอดเมืองขวาง ต้องได้รับโทษในต่างแดน ในที่สุดการเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายไทยในประเทศฝรั่งเศสเป็นผลสำเร็จ พระยอดเมืองขวางจึงรับโทษจำคุกในประเทศสยาม หลังจากรับโทษเป็นเวลา ๔ ปี ๔ เดือน รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยตัว พระยอดเมืองขวาง ออกจากเรือนจำอย่างเงียบ ๆ และมีพระบรมราชโองการให้กรมพระคลังมหาสมบัติจ่ายเบี้ยบำนาญให้พระยอดเมืองขวางปีละ ๖๐ ชั่ง เป็นการตอบแทนความชอบในราชการแผ่นดินที่พระยอดเมืองขวางได้เคยทำมา รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ปลุกให้คนไทยตื่นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ต้องชมเชยวิธีคิดเจรจาต่อรองของคนไทยเก่งมาก เป็นความโดดเด่นเฉพาะตัว เห็นได้ชัดจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ กลุ่มสยามหนุ่มมีบทบาทมาก ในขณะที่รวมกับญี่ปุ่น ก็รวมกับสหรัฐได้อีก "ผมเคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่ประเทศญี่ปุ่น เคยถามญี่ปุ่นว่า ไทยพลิ้วหลุดจากแพ้สงครามโลกทั้ง ๆ ที่รวมกับญี่ปุ่น ถ้าพูดกันอย่างสุภาพคือ ไทยหักหลังญี่ปุ่น เขาบอกไม่โกรธ พร้อมกับยกตัวอย่างว่ารัสเซียเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่เมื่อเห็นญี่ปุ่นแพ้ ก็ถีบหัวส่งทันที ในขณะที่คนไทยร่วมรบกัน แต่ไม่ได้ถีบหัวส่งในทันที ยังรอเวลาให้มีการประกาศแพ้สงครามก่อน จึงประกาศตัดความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ผมว่าไม่ต้องไปเรียนด้านการทูตที่ไหนไกล เรียนในเมืองไทยดีที่สุด" งานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนี้เกิดขึ้น เมื่อ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหลานของ สมเด็จปู่ (สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) ซึ่ง ท่านพ่อ (หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล) เก็บรักษาสมุดไดอารีไว้ทั้งหมด ๒๗ หีบ ระหว่างที่สมเด็จปู่ทรงรับภาระในกิจการงานบ้านเมืองอย่างหนักตลอดพระชนมายุ และจึงได้มอบหมายให้ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย และ หม่อมหลวงวัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธ์ ได้ทำหนังสือพระประวัติ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ฉบับแรกเมื่อปี ๒๕๒๕ เป็นประวัติย่อ และให้ทำประวัติอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งทันกับโครงการบูรณะพระตำหนักของ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ในวันเปิด พระตำหนักวังเทวะเวสม์ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ตรงกับวันคล้ายวันประสูติ ๑๔๖ พรรษา ของ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขณะนี้ทาง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำโครงการสื่อข่าวคลายทุกข์ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ โดย สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนหนังสือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นหนังสือพระประวัติขององค์ผู้เป็น ต้นราชสกุล เทวกุล ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เขียนโดย วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ หนังสือนี้จะนำไปจำหน่ายชุดละ ๖๘๐ บาท เพื่อนำกำไรจากการจำหน่ายไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้ด้วย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ ๐-๒๖๖๘-๙๔๒๒ หรือหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 07-03-2009 เมื่อ 19:03 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|