#1
|
|||
|
|||
พิธีสืบชะตา
พิธีสืบชะตาหรือการต่ออายุ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวล้านนาถิ่นเหนือ เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเพื่อต้องการให้เกิดมงคล และมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย เพื่อทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองต่อชีวิต เป็นพิธีซึ่งเป็นมงคลที่ชาวล้านนานิยมทำในโอกาสต่าง ๆ เช่น เนื่องในวันเกิด วันที่ได้รับยศศักดิ์ ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น หรือทำในกรณีที่เจ็บป่วยถูกทายทักว่าชะตาไม่ดี ชะตาขาด จะทำพิธีสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาต่ออายุ จะทำให้แคล้วคลาดจากโรคภัย และดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขสบายใจสืบไป
ความเชื่อตำนานเกี่ยวกับพิธีสืบชะตา มีตำนานปรากฏในคัมภีร์สืบชะตา กล่าวว่า พระสารีบุตรเถระซึ่งเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า มีลูกศิษย์รูปหนึ่งเป็นสามเณรชื่อติสสะ อายุ ๗ ปี มาบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนกับท่านเป็นระยะเวลาหนึ่งปี วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นลักษณะของสามเณรว่าจะมีอายุได้อีก ๗ วันเท่านั้นก็จะถึงแก่มรณภาพ ท่านพระสารีบุตรจึงเรียกมาบอกความจริงให้ทราบว่า ตามตำราหมอดูและตำราดูลักษณะเธอจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน ๗ วัน พระสารีบุตรจึงให้สามเณรกลับไปลาพ่อแม่ญาติพี่น้อง จึงสร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่สามเณรเป็นอันมาก ระหว่างทางกลับได้พบกับปลาที่กำลังดิ้นทุรนทุรายเพราะน้ำไม่พอ จึงจับไปปล่อยในหนองน้ำ และกับเก้งที่ติดบ่วงนายพราน จึงได้ปล่อยเก้งสู่อิสรภาพ โดยนึกถึงตนเองว่าจะต้องตายอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่สัตว์ทั้งสองถ้าไม่ปล่อยช่วยชีวิตก็จะต้องตายก่อนตนเองแน่นอน เมื่อกลับถึงบ้านพ่อแม่ญาติพี่น้องต่างก็เฝ้ารอคอยด้วยความเศร้าโศก จนเวลาล่วงเลยกำหนดไปแล้ว สามเณรติสสะก็ยังมีชีวิตอยู่ ผิวพรรณผ่องใส และได้กลับไปหาพระสารีบุตร ได้กราบเรียนถึงการปล่อยชีวิตทั้งสองเป็นการให้ชีวิตใหม่ จึงเป็นบุญให้พ้นจากความตายได้ เรื่องของอายุวัฒนกุมารมีปรากฏในอรรกถาธรรมบท ยมกวรรค กล่าวคือ อายุวัฒนกุมารบุตรของพราหมณ์ชาวฑีฆสัมพิกนคร ได้รับคําทํานายจากพราหมณ์ผู้เป็นสหายของบิดาว่าจะหมดอายุ อยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน พราหมณ์สามีภรรยาจึงนําบุตรไปยังสํานักพระพุทธเจ้า กราบทูลวิธีแก้ไขมูลเหตุ พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกวิธีที่จะป้องกันบุตรจากการเสียชีวิต โดยให้พราหมณ์สร้างมณฑปที่ประตูเรือนของพราหมณ์ แล้วนําบุตรไปนอนบนตั่งในมณฑปนั้น จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดพระปริตร ๗ คืน ๗ วัน และในวันที่ ๗ พระพุทธเจ้าเสด็จไปด้วยพระองค์เอง ทรงทําพระปริตรตลอดคืนยังรุ่งเช้า เด็กก็พ้นจากการเสียชีวิตในวันที่ ๘ เมื่อสองสามีภรรยานําบุตรมาถวายบังคม พระองค์ท่านตรัสว่า “ขอเจ้าจงมีอายุยืนเถิด” และตรัสว่าเด็กจะมีอายุยืนดํารงอยู่นาน ๑๒๐ ปี ดังนั้น จึงขนานนามบุตรว่า “อายุวัฒนกุมาร”ประเภทของพิธีสืบชะตา มี ๓ ประเภท คือ ๑.ประเพณีสืบชะตาคน คนล้านนาจะมีความเชื่อว่า หากเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับชีวิตในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องประกอบพิธีสืบชะตาบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ เกตุ เพื่อให้เจ้าของพิธีนั้นมีความสุขต่อไป เป็นการประกอบพิธีที่จัดขึ้นในโอกาสสําคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นิยมทําเมื่อวันเกิดที่ครบรอบเช่น ๒๔ ปี ๖๐ ปี ๗๒ ปี และการขึ้นบ้านใหม่ ย้ายที่อยู่ใหม่ ได้รับยศหรือตําแหน่งสูงขึ้น หรือฟื้นจากป่วยหนัก หรือมีผู้ทักทายว่าชะตาไม่ดี จําเป็นต้องสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา เป็นต้น อนึ่งจากการเสวนาผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมกล่าวว่า การสืบชะตาคนนั้นมักมีคําเรียกขานต่อท้ายด้วย เช่น การสืบชะตาน้อยและการสืบชะตาหลวง และมีข้อสังเกตดังนี้ - การสืบชะตาน้อย คือ ผู้เข้าสืบชะตามีเพียงคนเดียว มีเครื่องสืบชะตาครบตามอายุ และมีพระสงฆ์ ๙ รูปประกอบพิธีเจริญพุทธมนต์สืบชะตาให้ สถานที่ประกอบพิธีคือที่บ้านของเจ้าชะตา และมีผู้ร่วมพิธีมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบพิธีสืบชะตาเนื่องในวันเกิด เจ็บป่วย เพื่อความเป็นสิริมงคล และเชิญญาติพี่น้องและผู้ที่เคารพนับถือมาร่วมงานจํานวนมาก ก็ถือว่าเป็นการสืบชะตาน้อยเช่นกัน - การสืบชะตาหลวง คือ ผู้เข้าสืบชะตามีมากกว่า ๑ คนประกอบ พ่อ แม่ ลูก ฯลฯ เครื่องสืบชะตาเกิน ๑๐๐ ชิ้น มีพระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์และสืบชะตาให้ สถานที่คือบ้านของผู้สืบชะตา และผู้ที่มาร่วมงานจะมีมากหรือน้อยก็ตาม เช่น การทําบุญขึ้นบ้านใหม่ เรียกว่า ชะตาหลวง อย่างไรก็ตามการเรียกโดยทั่ว ๆ ไปอาจจะขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจตําแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ ฐานะทางสังคมของเจ้าชะตาด้วย ๒.ประเพณีสืบชะตาบ้าน นิยมทําเมื่อคนในหมู่บ้านประสบความเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วยหรือตายติดต่อกันเกิน ๓ คนขึ้นไป หรือคนในหมู่บ้านพร้อมใจกันจัดในวันสงกรานต์ เช่น วันปากปี ปากเดือน หรือปากวัน คือ วันที่หนึ่งสองสามวันหลังวันเถลิงศก (สงกรานต์) เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล พิธีสืบชะตาหมู่บ้านมีเครื่องประกอบพิธีกรรมเช่นเดียวกับการสืบชะตาคน การโยงด้ายสายสิญจน์จะโยงให้ทั่วหมู่บ้าน โดยบ้านแต่ละหลังก็จะโยงรอบบ้านตัวเอง แล้วดึงด้ายสายสิญจน์ไปโยงกับบ้านอีกหลังหนึ่ง ที่โยงด้ายสายสิญจน์มาจากสถานที่ประกอบพิธี แล้วต่อกันไปทั้งหมู่บ้าน ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของชาวบ้านด้วย ๓.ประเพณีสืบชะตาเมือง จัดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อน จะด้วยตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ หรือเพราะเหตุปั่นป่วนวุ่นวาย การจลาจล เกิดโรคภัยแก่ประชาชนในเมือง ฯลฯ การสืบชะตาเมืองนี้ สิ่งของต่าง ๆ ในการประกอบพิธีจะมีจำนวนมาก และมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก จะขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้ครับ อนึ่ง นายอนุกุล ศิริพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและพิธีกรรมล้านนา อาจารย์วิทยาลัยอินเตอร์เทคลําปาง ได้กล่าวถึงฐานเดิมของการสืบชะตาและมาสู่รูปแบบการสืบชะตาว่าทําไมจึงต้องมีการสืบชะตาว่า มาจากในอดีตใช้ ๓ เสา (เดิม) จากความเชื่อเรื่อง ๓ ก้อนเส้าหนุนแกนกลางจักรวาล (ฐานของจักรวาล) ปัจจุบันใช้ ๔ เสา หลวงพ่อวัดคะตึก เชียงมั่น ปรับใช้เป็น ๔ เสา โดยเอาความหมายของ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นองค์ประกอบสําคัญของการจัดเครื่องสืบชะตา และต้องมีบายศรี หลายพื้นที่จึงมีการจัดเครื่องสืบชะตา ๒ รูปแบบ คือ การตั้งเครื่องสืบชะตาแบบ ๓ เสา และตั้งเครื่องชะตาแบบ ๔ เสา ส่วนปัจจุบันการจัดเตรียมเครื่องสืบชะตาที่เป็นองค์ประกอบ เช่น เครื่องประกอบพิธีกรรมที่มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น หรือการเพิ่มจํานวน เช่น มะพร้าว กล้วย อ้อย หรือการจัดทําสะตวงให้มีจํานวนมากขึ้น ตามตําแหน่งและฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าภาพหรือเจ้าของงาน ๑.ขันตั้งสืบชะตา หมายถึง พานหรือภาชนะอื่น ๆ (สำหรับให้พระสงฆ์ผู้เป็นประธานยกขันกล่าวคาถาบูชาครู) ที่ภายในประกอบด้วยสิ่งของดังนี้ - หมาก ๑ หัว หมายถึง หมากแห้ง ใช้พันสามจํานวน ๑๐ เส้น ซึ่งแต่ละเส้นร้อยด้วยเชือกปดเข้าด้วยกันประมาณ ๑๐ เส้น หมาก ๑๐ เส้นเมื่อมัดรวมกันเรียกว่าหมาก ๑๐ หัว ส่วนหมากพันสาม คือ หมากแห้งจํานวน ๑๓ เส้น - พลูสด จํานวน ๑ มัด - ข้าวเปลือกจํานวน ๑ กระทง - ข้าวสารจํานวน ๑ กระทง - เบี้ยพันสาม (เบี้ยใช้แทนเงินจริง ๆ จํานวน ๑,๓๐๐ บาท เดิมใช้หอยเบี้ยบางแห่งใช้ลูกเดือยหินแทน) - ผ้าขาว ๑ พับ - ผ้าแดง ๑ พับ - เทียนเล่มบาท (๑๕ กรัม) จํานวน ๑ คู่ - เทียนเล่มเฟื้อง (๑๒ กรัม) จํานวน ๑ คู่ - กรวยหมากพลู จํานวน ๔ กรวย - กรวยดอกไม้ จํานวน ๔ กรวย ทั้งนี้อาจจะมีมะพร้าว กระบวย หม้อน้ำ เสื่อ เพิ่มเติม แล้วแต่พระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีได้ร่ำเรียนมา และแล้วแต่ท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย แต่องค์ประกอบจะคล้าย ๆ กัน หากพิธีที่ใหญ่ขึ้น จำนวนของในขันตั้งจะต้องมากขึ้นตามด้วย๒.โขงชะตา ประกอบด้วย - ไม้ค้ำศรี ไม้ค้ำมีลักษณะเป็นไม้ง่าม ๓ หรือ ๔ อัน สําหรับนํามาประกอบกันเป็นซุ้ม เรียกว่าไม้ค้ำชะตา บางแห่งก็มีขนาดยาว บางแห่งก็มีขนาดสั้น แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ไม้ค้ำมีความหมายว่าเพื่อให้เป็นสิ่งค้ำจุนชีวิตให้ความเจริญรุ่งเรืองมีอายุยืนยาว และบริเวณไม้ค้ำศรีก็จะมีก็จะมีไม้ค้ำเล็ก ๆ ข้างละ ๓๖ ชิ้นรวม ๓ ข้างก็จะครบ ๑๐๘ พอดี หรือมัดรวมกันไว้ข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ - ตุงยาวค่าคิง (ยาวเท่าตัวคน) หรือใช้เป็นเทียนชะตา มีขนาดความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของชะตาเหมือนกัน - ตุงเล็ก ตุงช่อ ทําจากกระดาษจํานวน ๑๐๘ อันทําให้เกิดความสว่างไสวในชีวิต - หม้อข้าวเปลือก หม้อข้าวสาร หม้อน้ำ กระบวย ใช้หม้อดินเผาหุ้มด้วยกระดาษเงินและกระดาษทองหรืออาจใช้สีพ่นก็ได้ ความหมายคือความสมบูรณ์ของภักษาหารและผลาหาร - กระบอกน้ำ หมายถึง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสําคัญที่จะทําให้คนเรามีความแข็งแรงยิ่งขึ้น (สําหรับกระบอกน้ำ ทางเหนือนิยมใช้ต้นอ้อ ที่มีลักษณะเป็นปล้องแต่ละปล้องยาว ๑ คืบ นํามาเจาะเป็นช่องเพื่อใช้ใส่น้ำ) - สะพาน (ขัว) หมายถึง สะพานแห่งชีวิตที่ทอดให้เดินข้ามจากฝั่งที่เลวร้ายไปสู่ฝั่งที่ดีงามกว่า - ลวดเงิน ลวดคํา ลวดหมาก ลวดเหมี้ยง หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินเงินทองและอาหารการกิน - สะตวง ทําจากกาบต้นกล้วย กว้างยาวหนึ่งศอก หักมุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ไม้เสียบตรงกลาง เสร็จแล้วใบตองตานีมาปูพื้นสะตวง เพื่อใส่เครื่องคาวหวานสําหรับสืบชะตาอย่างละ ๑๐๘ อันประกอบด้วย หมาก เมี่ยง อ้อย ข้าวต้ม (ข้าวต้มมัด) ข้าวหนม (ขนมมงคล) บุหรี่ ข้าวสุก (ทางเหนือใช้ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว) อาหารจะเป็นปลาหรือหมูทอดก็ได้ ดอกไม้ ซึ่งเครื่องเหล่านี้เมื่อใส่สะตวงครบแล้วจะทําให้ชีวิตยืนยาวมีความบริบูรณ์ของอาหารตลอดไป - บันได (ขั้นได) หมายถึง บันไดแห่งชีวิต สําหรับพาดให้เราปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูง - ต้นกล้ามะพร้าว ต้นอ้อย ต้นกล้วย กล้วยน้ำว้าดิบ ๑ เครือ มะพร้าว ๑ ทะลาย มีความหมายว่าคนที่ได้รับการสืบชะตา จะมีชีวิตที่เหมือนกับได้เกิดใหม่แล้วจะมีความหอมหวาน มีความเจริญงอกงาม เหมือนต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นหมาก ต้นมะพร้าวที่พร้อมจะเจริญเติบโตต่อไป - เสื่อใหม่ หมอนใหม่ - ใบไม้ที่เป็นมงคล เช่น ใบตองเต๊า ใบขนุน ใบเงิน ใบทอง หมายความว่าเป็นเครื่องเสริมชีวิต ให้มีการเพิ่มพูนของหน้าที่การงาน มีทรัพย์สินหนุนเนื่อง เงินทองไหลมาเทมามากมายไม่มีอดอยาก - ด้ายสายสิญจน์ บาตรสําหรับใส่น้ำพุทธมนต์ อาจมี ปลา นก ปู หอยสําหรับปล่อย เป็นความหมายของการปลดปล่อยลอยเคราะห์ต่าง ๆ ออกไปจากตัวตนของผู้อยู่ในพิธี - ถาดทราย สําหรับปักเทียน ๑๐๘ เล่ม ในระหว่างกึ่งกลางของการทําพิธีขณะพระสงฆ์สวดพระปริตร ก็จะจุดให้เกิดความสว่างไสวของชีวิต (นิยมจุดนอกบ้าน) - ด้านสายสิญจน์ สาวด้ายสายสิญจน์เท่าจํานวนอายุของผู้สืบชะตา โดยม้วนเป็นวงเล็ก แต่ละวงจะมี ๙ เส้น แล้วนําไปคลุกกับน้ำมันงา ห่อด้วยใบตอง วางไว้ในสะตวงในระหว่างกึ่งกลางของการทําพิธี ก็จะจุดโดยวางไว้กับราวไม้ที่เตรียมไว้นอกที่ประกอบพิธี ๓.บัตรพลี (สะตวง) ซึ่งประกอบด้วยสิ่งของต่าง ๆ อย่าง ๑๐๘ ชิ้นดังนี้ หมาก เหมี้ยง บุหรี่ ข้าว อาหาร ขนม ผลไม้ ธูป เทียน ใบไม้มงคล ใบตองเต๊า ใบขนุน ใบเงิน ใบทอง เมื่อได้เตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดครบ ก็จะจัดตั้งเครื่องสืบชะตา นําไม้ค้ำศรีมาตั้งทําซุ้มหรือเป็นกระโจมเรียกว่าโขงชะตา มีลักษณะเป็นซุ้มกว้างพอที่เจ้าชะตาจะเข้าไปนั่งได้ แล้ววางเครื่องประกอบพิธีกรรมอื่น ๆ ประกอบ จากนั้นใช้ด้ายสายสิญจน์โยงรอบบริเวณที่จะประกอบพิธี หากเป็นบ้านใหม่ก็จะโยงด้ายไปรอบบ้าน แล้วโยงด้ายให้สามารถพันรอบศีรษะเจ้าชะตาไปยังยอดซุ้มกระโจม และดึงไปหาพระพุทธรูป วนรอบบาตรน้ำมนต์ และพระสงฆ์ (ถ้าเป็นพิธีสืบชะตาหลวงก็จะต้องจัดด้ายสายสิญจน์โยงเพิ่มให้เป็นแถว ๆ ตารางพอให้คนอื่นสามารถนั่งได้แล้วหย่อนลงมาและนำมาพันรอบศรีษะตัวเอง หากเป็นการสืบชะตาหมู่บ้าน จะต้องโยงด้ายสายสิญจน์เพิ่มเติมออกไปด้านนอกตามถนนต่าง ๆ ให้ชาวบ้านนำสายสิญจน์ของตัวเองมาต่อเพิ่ม เพื่อโยงไปรอบบ้านของตนเอง) ๑) อาจารย์ผู้นำประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่(ท้าวจตุโลกบาล) ตอนเช้ามืดของวันงาน เป็นการบอกกล่าวหรือเชิญเทวดาอารักษ์เจ้าที่เจ้าทางผู้ดูแลในพื้นที่อยู่อาศัย ว่าจะมีการทําบุญใหญ่สืบชะตา เพื่อให้งานราบรื่นไม่มีอุปสรรค และแสดงถึงความเคารพกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ๒) เจ้าชะตาหรือประธานในงาน จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประเคนบาตรน้ำมนต์ให้พระสงฆ์ ประเคนขันตั้งสืบชะตา ด้ายสายสิญจน์ ประเคนพานอาราธนาศีล ๓) อาจารย์ผู้นำประกอบกล่าวบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และอาราธนาพระปริตร ๔) พระสงฆ์ให้ศีลและสวดเจริญพระพุทธมนต์ โดยใช้บทสวดสืบชะตาสมาธรรม เทศนาธรรมสืบชะตา ๑ ผูก (มีหรือไม่มีก็ได้) ๕) อาจารย์ผู้นำประกอบหรือผู้ร่วมพิธีคนใดก็ได้ จุดเทียนค่าคิงที่โขงชะตาและจุดเทียน ๑๐๘ เล่มที่ปักไว้ในถาดทราย ๖) ประธานสงฆ์มอบเครื่องสืบชะตาให้แก่เจ้าชะตาและคณะ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เจริญชัยมงคลคาถา และผูกข้อมือแก่เจ้าชะตาและเครือญาติ ๗) อาจารย์ผู้นำประกอบปัดเคราะห์และผูกข้อมือให้เจ้าภาพ ๘) เจ้าภาพถวายขันข้าวให้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ๙) อาจารย์ผู้นำประกอบนําขอขมาครัวทาน (ของสังฆทาน) ๑๐) อาจารย์ผู้นำประกอบนํากล่าวคําถวายสังฆทาน ๑๑) พระสงฆ์อนุโมทนา ให้ศีลให้พร พระสงฆ์ผู้เป็นประธานกล่าวคำปลดขันตั้งสืบชะตา ๑๒) ผู้ร่วมพิธีทุกคนร่วมกันพร้อมกันแผ่เมตตา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ขั้นตอนพิธีที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ตัวอย่างคร่าว ๆ ของงานเท่านั้นครับ ไม่จำเป็นต้องตรงตามนี้ อนึ่งการประกอบพิธีสืบชะตาตามตำราระบุไว้ ให้กระทำในช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้น คือไม่เกินเวลาเที่ยง ที่มาข้อมูล: รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่องสืบชะตาล้านนา แนวคิดและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและจิตวิญญานของชุมชนในล้านนา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-03-2019 เมื่อ 19:34 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ภาณุวัฒน์ สิทธิกูล ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|