|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#21
|
|||
|
|||
ในช่วงเวลานี้พ่อและแม่ของท่าน เวลาฝันมักจะฝันขัดแย้งกันตลอด พ่อมักฝันแต่เรื่องของผู้ชาย เช่น ฝันว่าได้ปืน หรือเห็นผู้ชายถือปืน ส่วนแม่มักฝันแต่เรื่องของผู้หญิง เช่น ฝันเห็นตลับขี้ผึ้ง หรือเครื่องแต่งเนื้อแต่งตัวของผู้หญิง และในที่สุดถึงคราวที่จะมาเกิด ท่านเล่าว่า
“...โยมพ่อฝันว่า ‘ได้มีดโคก คือ มีดที่มีด้ามเป็นงา ฝักเป็นเงิน มีปลายแหลมคม’ โยมแม่ได้ฟังดังนั้นจึงพูดแย้งว่า ‘อู๊ย! ฉันไม่ได้ฝันอย่างนั้น ฉันกลับฝันว่า ได้ต่างหูทองคำ เวลาใส่ต่างหูอันนี้ อู๊ย! มันช่างงดงามหยดย้อยอะไรปานนั้น งามมากถึงขนาดอดใจที่จะไปส่องกระจกดูตัวเองไม่ได้ เมื่อส่องดูก็ยิ่งสวยงามแวววาวประทับจับใจ’...” และด้วยเหตุนี้ คุณตาจึงได้ทำนายฝันของพ่อและแม่ไว้ว่า “เออ! ลูกมึงคนนี้ กูว่ามันต้องเป็นผู้ชาย มันเกิดมามีทางเดินให้เลือกอยู่ ๒ ทาง ๑) ถ้ามันไปทางชั่วแล้ว พังหมดเลยว่ะ ความโหดเหี้ยม.. มหาโจรสู้มันไม่ได้ มันยังเป็นนาย เป็นหัวหน้ามหาโจรอีก จะให้จับมันไปเข้าคุกตะรางไม่มีทาง ต้องฆ่ามันเท่านั้นถึงจะจับได้ แล้วมันจะไม่ยอมตายอยู่ในเรือนจำนะสู มันจะตายแบบไม่มีป่าช้า สู้กับเจ้าหน้าที่อยู่ในป่าในเขา ต้องตายอยู่ในป่า ฟัดกันกับเจ้าหน้าที่เขาเพียงเท่านั้น ๒) ถ้ามันไปทางดีแล้ว ถึงไหนถึงกัน จะดีแบบสุดโต่ง ตรงกันข้ามกับฝ่ายชั่ว... ชอบไปทางไหนเรียกว่าขาดเลยทีเดียว เป็นคนจิตใจหนักแน่น ลงได้ทำอะไรแล้ว ต้องจริงทุกอย่าง ไม่มีเหลาะ ๆ แหละ ๆ...” เมื่อทารกคลอดออกมา ปรากฏว่ามีสายรกพันคอออกมา และยังมีลักษณะที่ต่างไปจากเด็กทั่วไป องค์หลวงตากล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น ดังนี้ “... โยมแม่เล่าว่า ‘พอเราตกคลอดออกมาแล้ว... มีสายรกพันคอ เงียบเฉยไม่มีเสียงร้องแม้แต่น้อย ผิดกับเด็กทั่ว ๆ ไป เขาจึงเอาน้ำสาดใส่นิดหนึ่ง แทนที่มันจะร้อง กลับไม่มีเสียงออกมาเลยแม้แต่น้อย’ โยมตาได้ทำนายความเป็นไปไว้ ๓ อย่าง คือ ๑) สายโซ่ หมายถึง ไปทางโจรขโมย... ถ้าเป็นโจร ก็เป็นประเภทคุกตะรางแตก ๒) สายกำยำ* หรือสายสะพายปืน หมายถึง เป็นนายพรานเดินตามรอยพ่อ... ถ้าเป็นพรานจะมีความชำนิชำนาญลือลั่นป่า ๓) สายบาตร หมายถึง จะได้ออกบวชเป็นพระ... ถ้าเป็นนักปราชญ์ ก็จะเหยียบแผ่นดินสะเทือน...’ พอเราตกคลอดออกมามีสายรกพันคอ โยมตาเห็นดังนั้น จึงรีบแก้เคล็ด สะเดาะเคราะห์ให้เป็นมงคลอย่างยิ่ง โดยแกร้องพูดให้พรในทางดีแก่เราขึ้นทันทีว่า ‘โอ้! รกพันคอ นี่เป็นสายบาตร สายบาตร สายทางธรรม นี่สายบาตร ๆ สูดูนี่..! สายบาตร สายบาตร ๆ เด็กน้อยคนนี้มันจะได้บวชเป็นพระ แล้วก็จะได้เป็นนักปราชญ์ นี่คือ ทางสายบาตร’…” ====================== * ปกติ นายพรานเวลาไปยิงเนื้อ จะสะพายถุงกำยำเพื่อเอาไว้ใส่ดินปืน
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-04-2012 เมื่อ 11:51 |
สมาชิก 100 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#22
|
|||
|
|||
เหมือนไม่มีวัน “กล้า” คุณตารักหลานคนนี้มาก จะเป็นผู้ดูแลด้วยตนเองทีเดียว คอยจุดไต้ส่องดูหลานทั้งคืน ไม่อยากให้ลูกสาวต้องมากังวล เพราะทั้งห่วงหลานก็ห่วง ห่วงลูกสาวคนเดียวก็ห่วง ไม่อยากให้ต้องลำบากคอยลุกขึ้นดู คุณตาเลยคอยดูอยู่ทั้งคืน ดูแล้วดูเล่า.. คอยส่องอยู่อย่างนั้นบ่อยครั้ง พอมาดูอีกทีหนึ่ง ปรากฏว่าไฟจากไต้เลยตกใส่ตะกร้าลุกไหม้ผ้าอ้อมหลานเลย เมื่อหลานเติบโตขึ้น คุณตาก็จะมีอุบายสอนหลานอยู่เนือง ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นหลานน้อยกินมะยมหรือกระท้อนเข้าไปแล้ว กลืนเม็ดเข้าไปด้วย คุณตากลัวว่าเม็ดอาจจะติดคอได้ เพราะหลานยังเล็กเกินไป จึงบอกหลานว่า “ระวังนะ! กลืนลงไปทั้งเม็ด เดี๋ยวมันจะไปเกิดเป็นต้นอยู่ในท้อง ใบก็จะงอกออกทางจมูก ทางปาก รากจะงอกออกทางก้น ระวังให้ดี ! เดี๋ยวจะตายได้นะ” หลานได้ยินเช่นนั้น เกิดความกลัวจนถึงกับร้องไห้เสียใหญ่โต จากนั้นมาไม่กล้ากลืนเม็ดมะยมนั้นอีกเลย จวบจนโตขึ้นจึงได้รู้เรื่อง อีกครั้งหนึ่ง ในตอนที่ท่านยังเด็ก ๆ อยู่นั้น จัดว่าเป็นคนขี้กลัวมากคนหนึ่ง คงจะเป็นเพราะผู้เฒ่าผู้แก่เคยพูดถึงเรื่องผี เรื่องปอบ หรือเรื่องสัตว์ เรื่องเสือ ให้ฟังมาก่อน เพราะแม้เวลาจะไปขับถ่าย ยังต้องให้น้อง ๆ เป็นเพื่อนคอยเฝ้าอยู่ใกล้ ๆ กันนั้นอยู่ตลอด “อย่าไปไกลกูหลาย” จากนั้นก็บอกให้น้องคนหนึ่งอยู่หน้า อีกคนหนึ่งอยู่หลัง เมื่อได้อยู่ตรงกลางเป็นที่สบายใจแล้วจึงยอมถ่าย สิ่งนี้ทำให้เห็นชัดว่า แต่เดิมคนเราอาจเป็นคนขี้กลัวมาก่อน ปานว่าจะไม่มีความกล้าได้เลย แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนในระยะต่อ ๆ มาแล้ว ย่อมสามารถพลิกนิสัยได้อย่างสิ้นเชิง กลายเป็นนักสู้ที่องอาจไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใดทั้งนั้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-04-2012 เมื่อ 10:05 |
สมาชิก 85 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#23
|
|||
|
|||
ไม่กินของดิบ ทางอีสานในตอนนั้น ความรู้ทางโภชนาการยังไม่ค่อยเจริญนัก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงชอบกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ แม้คุณพ่อของท่านก็เช่นกัน ด้วยความรักของพ่อ เมื่อได้อะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ มา ก็อยากจะให้ลูกได้ลองกินดูบ้าง แต่สำหรับเด็กชายบัวนั้น เป็นมาแต่เล็กแต่น้อยแล้ว คือจะไม่ยอมกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เลย แม้พวกปลาร้าอย่างนี้ หากยังดิบอยู่ ก็จะไม่ยอมเอาเข้าปากโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุผลว่า “มันคาว” แต่แล้ววันหนึ่ง พ่อไปล่าไก่ป่ามาได้ แล้วนำมาทำเป็นเหมือนป่นปนน้ำเหลว ๆ จากนั้นให้ท่านลองชิมดู ในวันนั้น ใจพ่อคิดอยากทดสอบดูว่า ลูกชายคนนี้จะไม่ยอมกินของดิบ ๆ จริง ๆ หรือ เพราะก็เห็นเด็กคนอื่น รวมทั้งพี่ ๆ น้อง ๆ ก็กินกันได้เป็นปกติ ไม่เห็นมีใครบ่นว่าเหม็นคาวแต่อย่างใดเลย การทดสอบหาความจริงของพ่อจึงเริ่มขึ้น หลังจากปรุงอาหารดิบสูตรพิเศษเสร็จแล้ว จึงยกออกมาวาง และลูกก็คงจะมองสีสันและลักษณะดูแปลกตาไป จึกยกขึ้นมาดมแล้วถามอย่างไม่ค่อยวางใจเท่าไหร่นักว่า “มันสุกแล้วจริงหรือ ? บ่ได้หลอกข้อยหรือ ?” (“ข้อย” หมายถึง ผม) “บ่ได้หลอกดอก กินเถอะลูก ทำให้สุกแล้ว” ความที่หวังดี ทั้งก็อยากทดสอบดูว่าลูกคนนี้จะไม่ยอมกินจริง ๆ หรือ ทำไมมันแปลกกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ นักเล่า ? ลูกไม่แน่ใจจึงถามย้ำเข้าไปอีกว่า “บ่หลอกจริง ๆ หรือ ?” “บ่..บ่หลอกดอก” แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้ใหญ่ร่วมกันหลอกเด็กเสียเต็มประตู เมื่อผู้ใหญ่ต่างก็ยืนยันเช่นนั้น ก็เลยเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นคำน้อย ๆ แล้วจิ้มอาหารดิบสูตรพิเศษเข้าปาก จากนั้นก็เคี้ยวไว้สักพักหนึ่งแล้วก็อมไว้ ไม่ยอมกลืนแต่อย่างใด แค่อม ๆ ไว้เท่านั้น แล้วก็จิ้มคำที่สอง ก็ทำในลักษณะเดิมอีก คือพอเอาใส่ปากแล้วเคี้ยวอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ไม่ยอมกลืน ยังคงอมไว้เหมือนเดิม เหตุการณ์ในตอนนี้ คุณตาแอบสังเกตเห็นโดยตลอด พอคำที่สามเท่านั้น คราวนี้หลานอาเจียนแทบเป็นแทบตาย ชนิดในท้องมีอะไรเท่าไหร่ก็เอาออกมาหมดเกลี้ยงเลย ถึงตอนนี้คุณตาเห็นท่าไม่ดีแล้ว จึงรีบเข้าไปลูบหลังพร้อมพูดปลอบขวัญหลานด้วยความสงสารเป็นที่สุดว่า “โอ้..ลูกเอ๋ย ตาหลอกลูกจริง ๆ นะแหละ ตาขอโทษนะ ตาอยากทดสอบดูลูกว่า ลูกเป็นหยัง ? บางทีพอตาหลอกให้กินก่อนแล้ว เดี๋ยวต่อไปลูกก็คงจะกินเป็นเหมือนคนอื่น ๆ เขา” หลานตอบว่า “ก็ข้อยบอกแล้วว่ามันคาว มันกินไม่ได้จริง ๆ” ถึงตอนนี้องค์หลวงตาได้เล่าย้อนหลังถึงความรู้สึกในทันทีที่ชิมอาหารปรุงรสพิเศษของพ่อไว้ด้วยว่า “โหย..มันยังไงไม่รู้นะ มันพุ่งเข้าไปข้างใน อาเจียนแตกออกมา วันนั้นยุ่งใหญ่เลย ไม่ได้หลับได้นอนเลย” น้อง ๆ ของท่านกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้น จากคำบอกเล่าของแม่อีกทีหนึ่ง ผลปรากฏว่า ในคืนนั้นคุณตาเลยไม่เป็นอันหลับอันนอน สงสารหลาน เห็นหลานกินข้าวไม่ได้ ต้องคอยเทียวลุกไปดูหลานอยู่ตลอด เที่ยวหาฝ้ายมาผูกแขนผูกมือให้หลานถึง ๓ ครั้ง ๓ หน ทั้งปลอบขวัญทั้งเป่าหัวให้หลานอยู่อย่างนั้น เรียกว่ามีวิชาอะไรก็จะขุดจะลากออกมาใช้หมดสิ้น เพราะอยากให้หลานหายโดยเร็ว ในเรื่องนี้ แม้เมื่อท่านโตขึ้นแล้วก็ตาม หากเห็นน้อง ๆ พากันกินของดิบ ท่านก็มักจะดุเอาบ้างเหมือนกัน เช่น คราวหนึ่งน้องกำลังกินส้มตำผสมกุ้งสด ๆ กันอยู่ ท่านเห็นเข้าก็เลยดุเอาว่า “เอาไปทำให้สุกเสียก่อน” น้องตอบว่า “โอ๊ย แค่กุ้งดิบมันไม่มีเลือด มียาง มันไม่คาวหรอก จะเป็นอะไรไป” ท่านก็ยังคงยืนยันตามเดิมเหมือนเมื่อตอนยังเล็กว่า “มันคาว” เรื่องนี้องค์หลวงตาเมตตาอธิบายในภายหลังว่า “นิสัยนี้มันเป็นเองไม่มีใครสอน ของดิบกินไม่ได้ พวกลาบพวกก้อย แม้ที่สุดปลาซิวตัวเล็ก ๆ ก็กินไม่ได้ กินของดิบได้แต่กุ้ง แต่ต้องกุ้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ก็กินไม่ได้ มันคาว เขาป่นกุ้งนี้กินได้ นอกนั้นพวกปลาซิวนี้กินไม่ได้เลย นิสัยทุกอย่างนี้เป็นเอง ไม่มีใครบอก มันเป็นในนิสัยเอง ไม่มีใครสอน จนถึงขนาดว่าพ่อต้องทดลองดูทุกอย่าง ก็ยังอาเจียนออกมาต่อหน้าต่อตา” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-04-2012 เมื่อ 14:23 |
สมาชิก 85 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#24
|
|||
|
|||
อุบายฝึกหลาน คำสอนของตา เมื่อท่านเติบโตขึ้นพอปีนป่ายได้แล้ว คุณตามักมีอุบายฝึกให้หลานชายทั้ง ๒ คน (คือพี่ชายและตัวท่าน) ปีนขึ้นต้นไม้แข่งกัน หากว่าใครปีนขึ้นไปถึงกิ่งนี้ได้ก่อน คุณตาก็จะให้รางวัล ปรากฏว่า ท่านเป็นผู้ชนะพี่ชายทุกครั้งไป สำหรับของรางวัลก็คือผลไม้ป่าบ้าง หรือข้าวจี่*บ้าง คุณตาจะให้เพียงปั้นเดียวเท่านั้น ไม่ได้ให้อะไรมาก เมื่อคนน้องได้รางวัลมาแล้ว คุณตาจะคอยแอบสังเกตดูอยู่ห่าง ๆ ตลอดมา พบว่าน้องจะแบ่งของรางวัลนั้นให้พี่ชายทุกครั้งไป และให้มากกว่าตัวเองเสียอีก คุณตาไม่เคยเห็นน้องหวงเลย จนต้องได้มาพูดกับแม่ของท่านว่า “บัวนี่ มีน้ำใจมีความเมตตาแท้ ๆ นะ มันรู้จักสงสาร... พี่ชายมันปีนสู้ไม่ได้ มันเลยเอาของแบ่งให้พี่ชายมันกินมากกว่า แทนที่ว่ามันผู้ไปปีนได้ จะกินมากกว่าพี่ชาย มันกลับกินน้อยกว่าพี่ชาย ดูซิ มันมีน้ำใจนะไอ้นี่ มันแปลกนะ แปลกทุกอย่าง” ทั้ง ๆ ที่คุณตาก็ให้ความรักแก่หลานทุกคนพอ ๆ กัน แต่คงเป็นด้วยอุปนิสัยที่มีน้ำจิตน้ำใจเช่นนี้นี่เอง ทำให้คุณตามักมีข้อชมเชยหลานคนนี้อยู่เสมอ ๆ นิสัยอีกอย่างหนึ่งของหลานคนนี้ก็คือ ตั้งแต่เด็กแต่เล็กมาแล้ว ชอบที่จะเล่นกับสัตว์เฉพาะอย่างยิ่งคือสุนัข ยิ่งตัวไหนอ้วน ๆ ดำ ๆ ด้วยแล้ว ยิ่งชอบหยอกเล่นด้วย จนถึงกับมีบางครั้งที่ทำให้แม่ต้องได้ดุได้ว่าเอาบ้าง แต่ท่านจะไม่ยอมตีหรือแกล้งมันให้เจ็บ ตรงกันข้ามหากเห็นน้อง ๆ แกล้งมันคราวใด ท่านจะดุจะว่าทันที องค์หลวงตาเคยกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ด้วยว่า “... เราชอบเล่นกับหมาเป็นประจำ นิสัยกับหมาถูกกันแต่ไหนแต่ไรมา จนกระทั่งโตเป็นหนุ่มก็ยังเล่นอยู่อย่างนั้นแหละ หมาจะเรียบร้อยขนาดไหน ครั้นมาได้รับการอบรมจากเราแล้ว ดื้อหมด เล่นกับหมาจนกระทั่งมันเหนื่อย มันเพลีย พอหลุดมือเราปั๊บวิ่งหนีเข้าป่าเลย คือลูกหมาเขาไม่อยากเล่นกับเรา เขาเหนื่อย แม่มาเห็นก็ว่าขึ้นเลยว่า ‘เลี้ยงหมาตัวไหนไว้ มีเท่าไร เท่าไร ดื้อเหมือนกันหมด หยอกแต่กับหมา เล่นแต่กับหมา’ เราฟังแม่พูดแล้วก็เฉย เพราะมันก็เป็นอย่างที่แม่ว่าจริง ๆ ก็เราเล่นกับมัน จะไม่ให้มันดื้อได้อย่างไร...” อีกเรื่องหนึ่ง สมัยที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่ มีคนมาขอใบพลูกับแม่ ในคราวที่เขามาขอแม่ แม่มักจะให้ทุกอย่างไม่เคยเห็นปฏิเสธเลย แต่พอมีความจำเป็นไปขอเขาบ้าง ทุกครั้งเขากลับไม่เคยให้เลย เรื่องนี้หลาน ๆ มักได้ยินคุณตาสอนเป็นข้อเตือนใจว่า “เขาไม่ให้ครั้งที่ ๑ ก็อย่าโกรธให้เขา บางทีของมันอาจจะไม่พอให้ แล้วก็คนเก่านั้นแหละ ให้ไปขอเขาอีกครั้งที่ ๒ เผื่อว่าเขาได้อะไรมา เช่น พวกของป่า ของอะไร ๆ ก็ตาม ถ้าหากครั้งที่ ๒ นี้ก็ไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปโกรธให้เขา บางทีเราอาจไปขอเขาทีหลังไม่ทันคนอื่น ของมันเลยไม่พอกัน ให้ลองกับคน ๆ นี้อีกเป็นครั้งที่ ๓ ถ้าไม่ได้ก็เลิกซะ แต่ว่าอย่าโกรธให้เขานะ อย่าไปโกรธให้เขา” ======================= * ข้าวเหนียวสุก ปั้นเป็นก้อน โรยด้วยเกลือเล็กน้อย แล้วเอามาปิ้งไฟให้หอมหวนน่ารับประทาน
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-04-2012 เมื่อ 11:03 |
สมาชิก 80 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#25
|
|||
|
|||
คุณตาดัดนิสัยด้วย “อ้อย” เป็นเหตุ ป้าฝ้ายเป็นญาติกับครอบครัวของท่าน บ้านอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น ป้าฝ้ายมีสวนอ้อยที่เป็นเหตุให้ท่านในวัยเด็ก ต้องได้กินคลุกเคล้าน้ำตาดังนี้ “...ป้าฝ้ายกับเราเป็นญาติกัน แกเป็นสาวสวยงามมาก ผิวขาวเหมือนฝ้าย คนเขาจึงเรียก “ป้าฝ้าย” แกมีกิริยานิ่มนวล แกมาเจอกับเด็กอย่างเรา... ตอนนั้นเราเป็นเด็กอายุ ๖ ปี พี่ชายอายุ ๗ - ๘ ปีอยู่บ้านตาด... เราจำได้ทุกสิ่ง... วันหนึ่งเดินผ่านออกไปทางบ่อน้ำ แล้วก็ไปทุ่งนา ผ่านสวนอ้อยแม่ป้าฝ้าย มันอยู่ข้าง ๆ ทาง อ้อยก็ลำใหญ่น่ากินเสียเหลือเกิน เราจึงออกปากชวนพี่ชายว่า ‘พี่... ขโมยอ้อยเขาไปกินกันเถอะ’ จึงพากันลอดรั้วเข้าไปขโมยตัดอ้อยแม่ป้าฝ้าย ดึงกระชากลากออกมาคนละลำ ... พอดีในวันนั้นป้าฝ้ายไม่อยู่ แกไปทุ่งนา ... ขณะที่เรากับพี่กำลังกุลีกุจอลอดรั้วกลับออกมา แกก็มาพบเข้าพอดี จึงถามขึ้นว่า ‘เด็กเหล่านี้..สูทำไมมาขโมยอ้อยกูหละ’ ป้าฝ้ายพูดพร้อมกับอมยิ้ม เพราะเห็นว่าทั้งสองยังเด็กเกินไปที่จะถือสีถือสา เราก็ตอบไปแบบโวหารเด็กโวหารโจรว่า ‘ผมไม่ได้ขโมยอ้อยป้านะ ผมเดินผ่านไปผ่านมา ผมเห็นอ้อย ผมอยากกินอ้อยมาก จึงให้พี่ชายเข้าไปตัดอ้อย ตัดแล้วจะแบกไปบอกป้าแล้วจึงจะกลับไปบ้านกัน เผอิญป้าผ่านมาพบพอดี ถ้าอย่างนั้น ป้าก็เอาคืนไปเสียเถอะ’ ‘โอ๊ย กูไม่เอาละ สูตัดมาแล้ว สูก็เอาไปกินเสีย’ ป้าพูดใจดีอย่างนั้น เรากับพี่ก็ยิ้มแต้เลย พอกลับไปบ้าน ก็ไปอวดโยมตาละซิว่า ‘ได้ไปขโมยอ้อยป้าฝ้ายกับพี่ชาย’ พอโยมตาได้ทราบดังนั้น... วันต่อมาก็เดินด้อมไปหาป้าฝ้าย ไปบ้านเขาก็เพราะกลัวหลานของตัวจะเสียคน ถ้าส่งเสริมเดี๋ยวหลานมันจะกลายเป็นขโมย เพราะฉะนั้น โยมตาจึงไปบอกเขาว่า ‘เด็กเหล่านั้น มันไปขโมยอ้อยสูเมื่อวาน สูรู้ไหม ?’ ป้าฝ้ายตอบว่า ‘รู้.. แต่พวกเด็กเขาไม่ได้ขโมยนะน้า เขาบอกว่าเขาหิวอ้อยมาก เขาตัดอ้อยแล้ว เขาจะแบกมาขอที่บ้านนี่ก่อน แล้วพวกเด็กถึงจะไปบ้านเขา’ โยมตาก็ว่า ‘พวกเด็กมันขโมยอ้อยสู สูรู้ไม่ทันมัน มันพูดกับกูชัดเจนแล้วว่ามันขโมย มันโกหกสู’ ทางฝ่ายป้าฝ้ายแกก็ไม่ถือสานะ แกบอกว่า ‘โอ๊ย ! ช่างหัวมันเถอะ ประสาเด็ก’ ทางฝ่ายโยมตา ได้เอาเรื่องขโมยอ้อยนี้มาขู่ดัดนิสัยเรา ด้วยเสียงแข็ง ๆ โดยแกล้งบอกพวกญาติ ๆ ว่า ‘พวกสูไปหาพวกเครื่องอาหารการบริโภคใส่พกใส่ห่อไว้ให้เด็กสองตัวนี่ซิ เดี๋ยวตำรวจเขาจะมาจับมันมัดไปติดคุก เพราะมันไปขโมยอ้อยเขามา’...” พอหลานบัวได้ฟังดังนั้นก็เกิดความกลัวขึ้นมาจับใจ จึงวิ่งร้องห่มร้องไห้กระโดดขึ้นไปหลบบนบ้าน เข้าห้องปิดประตู ครั้นพอเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในห้องก็คิดกลัวอีกว่า ‘อยู่ในห้องแคบ ๆ แบบนี้... ตำรวจเขายิ่งจะมาจับเอาตัวไปได้ง่าย’ พอคิดได้อย่างนี้ก็ตกใจ รีบกระโดดลงบ้านฟาดวิ่งเตลิดเปิดเปิงลงทุ่งกลางนาหาที่หลบซ่อนตัว แบบกะว่าจะไม่ให้ใครตามหาตัวเจอเลยก็ว่าได้ ท่านว่า คราวนั้น คุณตาดัดนิสัยสันดานหลานชายอย่างเต็มที่ เพราะกลัวหลานรักจะเสียผู้เสียคน ถ้าไปแก้ต่างให้หลานจะกลายเป็นการส่งเสริม แล้วเด็กจะเสียคนได้ ทั้งที่ปกติธรรมดานิสัยของท่านเองไม่เป็นเช่นนี้ จะมีก็เพียงตอนหิวอ้อยตอนนี้ตอนเดียวเท่านั้น ก็เลยพาให้โกหกผู้ใหญ่ได้เก่งทีเดียวว่า ‘ไม่ได้ขโมย’ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-04-2012 เมื่อ 21:52 |
สมาชิก 75 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#26
|
|||
|
|||
ตอนไม่รู้ ก็ผิดบ้าง พอรู้แล้ว ไม่ยอมให้ผิด ปกติอุปนิสัยเด็กชายบัวเป็นที่รักของคนทั่วไป ทั้งผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน เพราะที่เป็นเด็กมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือการงานผู้อื่นอยู่เสมอ หากไปไร่ไปสวนกับใครก็ตาม มักจะช่วยเหลือทุกอย่างที่จะช่วยได้ เช่น ช่วยทำการทำงาน ช่วยหาบช่วยถือสิ่งของ ใคร ๆ ก็เลยรักทั้งนั้น ไม่มีใครคิดหวงข้าวหวงของอะไร ชีวิตของเด็กชายบัว มิได้มีสิ่งใดผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน แต่เล็กแต่น้อยก็ให้ความเคารพในพระศาสนา มีความเลื่อมใสในพระในเณรมาโดยตลอด ในตอนเด็กก็ชอบใส่บาตรกับผู้ใหญ่ เมื่อเข้าเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาแล้ว เด็กชายบัวก็รับผิดชอบในการเล่าเรียนดี จะมีบางครั้งที่ซุกซนบ้างตามประสาวัยที่กำลังรักสนุกเพลิดเพลิน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไรนัก เช่น ครั้งหนึ่งท่านยกเอาเรื่องสมัยเด็กมาสอนนักเรียนว่า “... นี่หลวงตาบัวเคยเป็นนักเรียนมาแล้วนี่ เป็นนักเรียนเป็นหยัง (ไง) ละ วันไหน ขี้เกียจเรียนหนังสือก็หาอุบายลาไปเลี้ยงน้อง ‘วันนี้ลาเอาน้องครับ พ่อแม่หนีหมด’ ว่ายังงั้นนะ ‘พ่อแม่บอกดูน้องให้ด้วย’ นั่น ว่าไปยัง 'งั้น' นะ ครูเขาก็อนุญาตนะสิ ใช่ไหมละ พอครูอนุญาต ที่แท้ก็เผ่นแน่บเข้าป่าหายจ้อยไปเลย... เคยเป็นแล้วจึงเอามาพูด... อย่าให้เป็นนะเด็กเหล่านี้ หลวงตามันเคยเป็นมาแล้ว... มันไม่ดี จึงได้เอามาสอนลูกสอนหลาน... วันหนึ่ง ๆ นี้ ขาดโรงเรียนไป ขาดวิชาไป บางทีเขาโน้ต จดวิชาอะไรต่ออะไรนี้ เราไม่ได้จดกับเขา แล้วถ้าเราจะไปโน้ตหรือจดวันหลัง เช่นนี้ก็จะเสียเวลาไปอีกมากมาย แล้วถ้าครูสอนอะไรมันก็ไม่ได้เรื่องได้ราว เพราะวันนั้นเป็นวันที่เราขาดโรงเรียน นั่นแหละ เพราะฉะนั้น พอโตขึ้นมา พอรู้เรื่องรู้ราวแล้ว... รู้จักผล รู้จักประโยชน์ในการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ที่นี้... โอ๊ย ไม่ยอมให้ขาดเรียนเลยนะ หมายถึงว่าตอนเล็กกว่านั้นมันเคยเถลไถล พอโตขึ้นมาพอรู้ภาษาบ้าง... เป็นไม่ยอม แม้แต่พ่อแม่ให้ลาเวลาจำเป็นนี้ ยังไม่ยอมลา มันจะขาด... ถ้าไปแล้วมันต้องเสียวิชานี้... วันนี้ครูจะสอนอันนั้น ๆ บอกไว้เลย ถ้าไปแล้วจะไม่ได้เรียน ไม่ได้ฟังวิชานี้..” ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่ผู้ใหญ่กำลังนั่งพูดคุยกันอยู่นั้น ท่านก็เดินเข้าไปในบริเวณกองไม้ซึ่งอยู่สูงกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ดูเหมือนว่าท่านไม่ให้ความเคารพ ครูใหญ่เห็นดังนั้น คิดจะสอนท่าน จึงพยายามมองสบตาและส่งสายตาเตือนให้รู้ตัว ท่านก็เลยรีบลงมา เมื่อผู้ใหญ่ไปแล้ว ครูก็พูดด้วยความเมตตา บอกให้ทราบว่า ‘บัวเอ๊ย อย่าขึ้นนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่นะ อย่างนั้นมันดูไม่งาม’ ในตอนนั้น ท่านไม่ทันคิดว่ามันไม่เหมาะสมไม่ควร ต่อเมื่อครูทำสัญญาณบอกดังกล่าว ท่านจึงทราบและรีบปฏิบัติตามทันทีด้วยความเชื่อและเคารพในเหตุผล แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-04-2012 เมื่อ 21:54 |
สมาชิก 67 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#27
|
|||
|
|||
เด็กชายบัว ผู้เกรงกลัวบาป มีอยู่ครั้งหนึ่งในวัยเด็กขององค์หลวงตา ซึ่งท่านยังจำได้ไม่เคยลืมเลือน ท่านเล่นซุกซนชนิดที่เพื่อนรุ่นพี่ด้วยกันยังรับไม่ได้ ครั้งนั้นเด็กชายบัวเห็นพวกผู้ใหญ่เขาตัดต้นมะอึก (เป็นต้นไม้พุ่มมีหนามกอใหญ่ ๆ) ทิ้งไว้ข้างทาง เกิดนึกสนุกอยากแกล้งคน จึงไปลากกิ่งไม้มะอึกที่มีหนามมาขวางทางเดินไว้ เพื่อนรุ่นพี่ที่ไปด้วยกันเห็นเข้าจึงถามขึ้นว่า ‘มึงจะทำอะไรนี่ ?’ ‘เอามาขวางทางคนเดินนะสิ’ เด็กชายบัวตอบ ‘มึงเอามาหาพ่อมึงอะไร มึงไม่รู้จักหรือว่าไม้มันมีหนาม มันกีดขวางทางคนเดิน ?’ ‘รู้...แต่กูจะทำ คนเขาเดินมา เขาจะด่าก็ช่างหัวเขา กูสนุกของกู’ เด็กชายบัวตอบไปตามประสาเด็ก ๆ ไม่รู้เรื่องกำลังซุกซน ‘มึงเอาออกไป…เดี๋ยวนี้’ หนุ่มรุ่นพี่ขู่เด็กชายบัวให้เอาออกโดยเร็ว และแล้วในที่สุด เด็กชายบัวก็ยอมเป็นผู้เอาออกแต่โดยดี เรื่องนี้ ท่านอธิบายถึงอุปนิสัยในวัยเด็กของท่านเองว่า “นิสัยนี้เป็นนิสัยของมันเอง ก็คือนิสัยกิเลสนั่นแหละ จิตใจคนเรามันมีเป็นขั้น ... เป็นขั้น... ในเวลานั้นไม่ได้นึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆอะไร หนักเบาอะไร ๆ ไม่นึกถึง มันดิ้นไปตามกิเลส ที่เป็นนิสัยดั้งเดิมของมันเอง” เกี่ยวกับการใช้ภาษา ในการพูดคุยสนทนากันของคนในสมัยเมื่อท่านยังเด็ก องค์หลวงตาเคยกล่าวถึงไว้แบบขำขันว่า “ก็เราเป็นลูกชาวนา พ่อแม่ทำไร่ทำนา ไม่ได้พาซื้อพาขายอะไร จึงไม่ได้ชำนิชำนาญในเรื่องตลาดภาษิต ภาษาสังคมต่าง ๆ ไม่ค่อยเข้าใจ พวกกันก็ต้องพูดภาษาชาวนาไปเลย (หัวเราะ)” ด้วยเหตุนี้เอง การพูดจากันระหว่างพี่น้อง เพื่อนฝูง ซึ่งมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันในสมัยนั้น จึงมักใช้ภาษาเป็นแบบกันเอง ไม่ได้ถือเป็นคำหยาบคายอะไร เป็นภาษาชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่ภาษาคนเมือง ที่ต้องใช้เพื่อการติดต่อซื้อขายเป็นการเป็นงานประจำระหว่างกัน อีกเรื่องหนึ่ง ในวัยเด็กขององค์หลวงตาที่ท่านไม่เคยลืมเลือนเลย เป็นการพูดคุยกันระหว่างผู้ใหญ่ ๒ คน ครั้งนั้น ท่านได้ยินผู้ใหญ่เขาพูดคุยกันเป็นเชิงทีเล่นทีจริง คนหนึ่งเป็นคนใจบุญสุนทาน อีกคนหนึ่งใจบาปชอบเข้าป่าเข้าเขา หายิงเนื้อยิงสัตว์ หาจับปู จับปลาเป็นประจำอยู่อย่างนั้นตลอด คนที่ใจบุญก็ชอบทำบุญทำทาน วันพระวันเจ้า ถ้าวัดใกล้บ้านไม่มีพระ ก็ไปทำบุญทำทานวัดอื่น ในวันพระไม่เคยละเว้น ที่นี้เวลาจะไปวัดก็เลยมาชวนเพื่อนอีกคนว่า ‘เพื่อน.. เพื่อน วันนี้เราจะไปวัด ไปวัดด้วยกันไหม ?’ ‘อู๊ย ๆ วันนี้กูไม่ไปแหละ มึงไปวัดแล้วมึงได้บุญกุศล มึงไปสวรรค์แล้ว มึงจะได้ไม่มาแย่งหาสัตว์ หาฆ่าเนื้อฆ่าปลากับกู กูจะสนุกหาตกปู ตกปลา ไม่มีใครมาแย่งกู’ ท่านเล่าถึงความรู้สึกในครั้งนั้นว่า ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเด็ก ทำไมมันจึงไม่ลืม ไม่เคยลืมเลยนะ คำพูดอย่างนี้เราได้ยินจริง ๆ เต็มหูเราเลย เราอุทานในใจว่า ‘โอ๊ย! ผู้เฒ่าทำไมพูดอย่างนี้ คนทั้งโลก เขารักบุญ รักกุศล รักการให้ทาน เอ๊ะ! ทำไมแกจึงพูดอย่างนี้ได้ จะเป็นลักษณะคำพูดมันมีทีเล่นทีจริงก็ตาม แต่มันก็ไม่น่าจะเอามาพูด’ เรื่องในวัยเด็กทั้งสองเรื่องนี้ สะท้อนถึงความสามารถในการแยกแยะผิดชอบชั่วดีตั้งแต่ยังเล็กของท่าน แม้จะเป็นวัยที่ยังมีความซุกซนอยู่ไม่น้อยก็ตาม สิ่งนี้บ่งบอกถึงคุณธรรมที่ฝังอยู่ลึกในใจท่าน ทำให้ท่านในวัยเด็กรู้สึกได้ว่า การพูดจาของผู้ใหญ่เช่นนี้มันเป็นความเสียหาย และจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อไปในอนาคตอย่างแน่แท้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-04-2012 เมื่อ 21:56 |
สมาชิก 66 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#28
|
|||
|
|||
คติธรรมมักจดจำไม่ลืม
แก้หน้าให้พี่ชาย ในสมัยนั้นโรงเรียนอยู่ตรงวัดร้างบริเวณป่าสัก ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านตาด ในช่วงที่เรียนหนังสืออยู่นั้น โรคอหิวาต์กำลังระบาด ครูจึงเขียนกลอนไว้สอนเด็กนักเรียนให้ท่องจำว่า “อหิวาต์กำเริบ ล้างมือก่อนเปิบ ด้วยน้ำประปา ผักดิบผักสด งดเสียดีกว่า หากใช้น้ำท่า จงต้มเสียก่อน อาหารหวานคาว เมื่อกินทุกคราว เลือกแต่ร้อน ๆ อาหารสำส่อน จำไว้ใคร่สอน กินไม่ดีเอย” บทท่องจำบทนี้ แม้จะท่องจำมาตั้งแต่สมัยเด็กนานมาแล้วก็ตาม องค์หลวงตาก็ยังสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำตลอดมา ท่านเคยให้เหตุผลไว้เช่นกันว่า “อันไหนที่มันติดใจแล้ว มันจะจำได้ไม่ลืม เป็นคติธรรมดี จึงทำให้จำได้แม่นยำ” ชีวิตในวัยเรียนของท่านนั้น ท่านเป็นเด็กนักเรียนที่ตั้งอกตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบสูง จะเห็นได้จากผลการเรียนที่ดีเยี่ยมของท่านคือ ประถม ๑ สอบได้ที่ ๒ ประถม ๒ สอบได้ที่ ๑ ประถม ๓ สอบได้ที่ ๑ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า “พ่อแม่มีลูกหลายคน แต่ไปเรียนหนังสือพร้อมกัน ๓ คน สมัยนั้นเด็กอายุ ๑๐ ปี เขาให้เข้าโรงเรียน ถ้าต่ำกว่านั้นเขาไม่นับเข้าในบัญชี.. เรายังไม่ลืมนะ เขาให้เป็นลูกเสือ ไปซื้อชุดลูกเสือ ... เราเป็นน้องก็จริง แต่เรียนสูงกว่าพี่ พี่ได้ชุดลูกเสือ เราเป็นน้องเรียนชั้นสูงกว่าพี่ ก็ควรจะได้เช่นเดียวกัน ตกลงเราทั้งสองก็ได้พร้อมกัน ราคาฟาดเสียตั้ง ๗ บาท เงิน ๗ บาทในสมัยนั้น ไม่ใช่เล่น ๆ ฝังใจลึกมาก พ่อบอกว่า ‘อุ๊ย! กูก็มีเงินเท่านี้แหละ กูหามาได้สองสามวัน สูก็เอาไปหมด’ เรายังจำฝังใจไม่ลืม เวลาไปสอบ .. ไอ้เราได้ที่หนึ่งเสมอ ส่วนบักคำไพผู้เป็นพี่ชาย ขาดเพียงคะแนนเดียวก็จะสอบผ่าน คือว่าคะแนนถึงสิบจึงจะสอบผ่าน มันสอบได้เพียงเก้าคะแนนจึงสอบตก เราจึงแซงขึ้นไปเรียนชั้นสูงกว่า พี่ชายเราเซ่อ ๆ นะ เวลาไปเรียนหนังสือ...” การเรียนหนังสือในตอนนั้น ก็ไม่ได้มีฝากั้นแบ่งแยกเป็นห้อง ๆ ดิบดีอะไร ทำให้มองเห็นกันและได้ยินเสียงครูข้าง ๆ ห้องสอนหนังสือนักเรียนชัดเจน เหตุนี้เองทำให้มีเรื่องน่าขบขันเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่เรียนหนังสือ อย่างเช่นวันหนึ่ง พี่ชายของท่านไปเรียนหนังสือและครูให้ไปเข้าแถว หากว่าใครเป็นคนที่ยืนอยู่อันดับแรกก็นับ.. หนึ่ง สอง สาม ไปตามลำดับ ในวันนั้นพี่ชายของท่าน (ชื่อคำไพ) อยู่ในอันดับที่สิบเอ็ด พอเพื่อนนับถึงคนที่สิบ อันดับต่อไปเป็นพี่ชายของท่าน และต้องนับเลข “สิบเอ็ด” พี่ชายกลับมัวแต่อ้าปากค้าง อ้า... อ้า... อ้าปากค้าง... อยู่อย่างนั้น นับไม่ได้หน้าไม่ได้หลังอะไร เป็นที่รำคาญใจและอับอายแก่น้องยิ่งนัก น้องซึ่งอยู่ในวัยเด็กกว่าและไปอยู่แถว ๆ นั้นพอดี จึงตะโกนบอกพี่ชายในทันทีว่า “สิบเอ็ด สิบเอ็ด สิบเอ็ด ตอบเร็ว ๆ ๆ ๆ สิพี่” พี่ชายได้ยินเสียงน้องก็รีบตอบในทันทีว่า “สิบเอ็ด ด ด ด” ท่านจะเล่าถึงเหตุการณ์นี้ ในวัยเด็กระหว่างพี่ชายกับตัวท่านเองด้วยความขบขันทุกครั้งไป และอีกเรื่องหนึ่งท่านเล่าถึงพี่ชายทำขายหน้าตอนอยู่โรงเรียนขณะท่านกำลังเรียนอยู่ชั้น ป.๑ และพี่ชายของท่านก็เรียนหนังสืออยู่ห้องติดกันดังนี้ “... พี่ชายเรายังไม่ได้หน้าได้หลังอะไร ที่นี้เวลาครูถามเรื่องง่าย ๆ มันน่าจะคิดได้ แต่มันกลับคิดไม่ได้ ทำให้เป็นเรื่องยาก เช่น ครูถามขึ้นว่า ‘คำไพ ค้างคาว ภาษาอีสานเรียกอะไร ?’ พี่ตอบว่า ‘เจียครับ’ ทีนี้ครูถามย้อนกลับอีกว่า ‘แล้วเจีย ภาษากลางเรียกว่าอะไร ?’ แทนที่พี่จะตอบว่าเรียกว่า “ค้างคาว” แกก็ย้อนกลับไม่เป็นนะ มันโง่จะตาย (หัวเราะ) เพื่อนเขาหลอกให้ตอบแบบไหนมันก็ว่าไปตามเขาหมด พอครูถามย้ำ ๆ อีก ‘เจียเรียกว่าอะไร.. เจียเรียกว่าอะไร.. คำไพ เจียเรียกว่าอะไร ?’ พวกเพื่อน ๆ ที่นั่งอยู่นั่นหลอกมัน แอบกระซิบบอกเรียกว่า ‘ดังวีก’ พี่จึงเหลียวมองโน้นมองนี้ แล้วก็ตอบครูตามเขาทันทีว่า ‘เรียกว่าดังวีกครับ’ (แปลว่า จมูกวิ่น).. ทันทีที่พี่ชายหลงเชื่อ ตอบคุณครูตามคำกระซิบของเพื่อน ๆ ผลปรากฏว่าทั้งครูและเพื่อนในห้องนอกห้อง พากันส่งเสียงหัวเราะสนั่นโรงเรียน เด็กชายบัวในครั้งนั้นจึงทั้งจะหงุดหงิดทั้งขบขันปะปนกันไป ได้แต่คิดว่า เราเป็นน้องแท้ ๆ เราคิดได้แล้ว นี่ครูเพียงให้แปลย้อนหลังเท่านั้น พี่ชายกลับทำไม่ได้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 03-05-2012 เมื่อ 13:40 |
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#29
|
|||
|
|||
เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ ต่อมาเมื่อจบชั้นประถม ๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาภาคบังคับในเวลานั้นแล้ว ท่านก็ไม่ได้ศึกษาในชั้นต่อ ๆ ไปอีก ในช่วงที่เป็นนักเรียนอยู่นั้น ท่านเป็นที่รักที่วางใจของคุณครูอยู่ไม่น้อย สังเกตได้ชัดเจนก็คือ เวลาไปไหนมาไหนคุณครูมักพาไปด้วย คงจะเป็นเพราะอุปนิสัยช่างสังเกต ขยันขันแข็ง ถึงคราวจะใช้จะวานอะไร ก็คล่องแคล่วว่องไว และเข้าใจกาลใดควรไม่ควร สิ่งนี้ทำให้คุณครูให้ความสนิทสนมเป็นกันเองกับท่านตลอดมา แม้ภายหลังท่านจะเข้าสู่เพศบรรพชิตแล้วก็ตาม แต่การติดต่อสัมพันธ์ก็มิได้จืดจางห่างเหินแต่อย่างใดเลย คุณครูชาลี สิงหะสุริยะ เป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลบ้านตาดในระยะนั้น เป็นผู้ที่ท่านกล่าวถึงเสมอมาด้วยความชื่นชมและซาบซึ้งในพระคุณไม่เสื่อมคลายว่า “... ท่านเป็นครูของอาตมา เป็นครูตั้งแต่อาตมายังเป็นนักเรียน ท่านเป็นครูที่ดีจริง ๆ หายากมาก อาตมารักและเคารพครูของอาตมาคนนี้มาก ซึ่งความจริงแล้วอาตมามีครูที่สอนไม่รู้กี่คน ตั้งแต่ชั้นนั้นชั้นนี้ ตั้งแต่ ก ไก่ ก กา ก็มีครูท่านนี้แหละ ที่อาตมาติดใจมากที่สุด รักมากที่สุด เคารพมากด้วย ไปไหนชอบเอาไปด้วยนะนี่ ท่านชอบเอาไปด้วย โอ... หายากนะนี่ คนไม่ลืมเนื้อลืมตัว คือครูคนนี้แหละ ไม่ลืมเนื้อลืมตัวเลย เข้านอกออกในได้หมด ไม่ถือสีถือสา ถือยศถาบรรดาศักดิ์ ความประหยัดนี่เก่งมากทีเดียว ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ลืมเนื้อลืมตัว การเล่นเกะกะเกเรไม่มีเลย ไปไหนมาไหนเรียบ ๆ ชอบทำบุญให้ทานเป็นประจำนิสัย และเป็นคนกว้างขวางมาก ไม่เห็นแก่ตัว เพื่อนฝูงรักมาก ช่วยเหลือคนไม่กลัวหมดกลัวสิ้น แต่ตัวเองรับกินและใช้สอยน้อย ประหยัดดี หายาก อาตมารักท่านมาก โอ... หายากมาก อาตมารักมาแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งทุกวันนี้แหละ ความรักของอาตมา ความเห็นบุญเห็นคุณ ไม่เคยจืดจางไปเลย ฝังลึก อาตมาไม่ค่อยเหมือนใครง่าย ๆ ครั้นว่าลงก็ลงจริง ๆ ครั้นว่าไม่ลงก็ไม่ลงนะ ครั้นว่าลงก็ลงจนกระทั่งวันตาย ไม่มีอะไรมาแก้ให้ตกดอก นี่ก็ลงแท้ ๆ ลงเชื่อว่าเป็นครูของอาตมา ให้กำเนิดวิชาความรู้อาตมามาโดยตลอด กิริยามารยาท การปฏิบัติตนอย่างไร อาตมาได้ยึดเป็นคติเป็นตัวอย่างมาตลอด เหมาะสมกับที่เป็นครู...”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-05-2012 เมื่อ 13:58 |
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#30
|
|||
|
|||
หยอกล้อประสาพี่น้อง ย้อนมากล่าวถึงความผูกพันประสาพี่น้องในครอบครัว เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น้อง ๆ เล่าถึงอุปนิสัยและความจริงจังของท่านในวัยหนุ่มว่า “... ท่านเป็นคนดุ เพราะนิสัยเป็นคนจริงจัง ทำให้น้อง ๆ เกรงกลัวอยู่ไม่น้อยทีเดียว บางทีถ้าหากท่านไม่อยู่หรือออกนอกบ้าน จะรู้สึกโล่งอกโล่งใจ แต่ถ้ากลับมาเมื่อใด ต้องได้แอบบอกกันว่า ‘นั่น ๆ บัวมาแล้ว ๆ’...” โดยมากน้อง ๆ จะเกรงท่านมากเป็นพิเศษ ก็คือช่วงที่กำลังทำงาน เพราะท่านจะทำจริงทำจังมาก น้อง ๆ จะมัวมาหยอกมาเล่นกันไม่ได้ ท่านจะดุทันที แม้ท่านจะจริงจังขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตาม จะเป็นเฉพาะช่วงเวลางานเท่านั้น ถ้าเป็นช่วงปกติกันเอง พี่ ๆ น้อง ๆ ท่านกลับชอบหยอกล้อน้อง ๆ เล่น ดังเหตุการณ์ในวันหนึ่ง ตอนนั้นท่านมีอายุประมาณ ๑๘ - ๑๙ ปี ขณะที่น้อง ๆ กำลังวิ่งเล่นกันอยู่นั้น ท่านก็คิดหาอุบายหยอกน้อง โดยเก็บมะละกอมา ขณะเดินผ่านน้อง ๆ ก็พูดขึ้นว่า “จะยากอะไร ตำบักหุ่ง” จากนั้นก็ขึ้นไปบนบ้าน แล้วก็ทำท่าตำส้มตำ เสียงโขลกครกดัง โป๊ก ๆ ๆ อยู่ครู่หนึ่ง สักประเดี๋ยวก็เรียกน้อง ๆ ขึ้นไปกินส้มตำ “กูตำแล้ว จะกินก็มาเด้อ กูตำแล้ว รีบ ๆ มา กูตำบักหุ่งเสร็จแล้ว มาเอาลงไปกิน” ว่าดังนี้แล้วก็ทำท่าไปยืนอยู่ไกล ๆ ครัวไฟและไม่ยอมหันหน้ามาทางน้อง ๆ อีกด้วย จากนั้นก็ทำท่าเหมือนเอาใบตองมาห่อส้มตำที่เพิ่งโขลกเสร็จแล้วก็วางไว้ น้องส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพิ่งเล่นกันมาเหนื่อย ๆ จึงต่างมุ่งมาที่ห่อส้มตำด้วยความดีใจว่าจะได้กินกัน พอคว้าได้ก็หัวเราะเริงร่า วิ่งลงมาข้างล่าง เพื่อจะได้เปิดออกมากินพร้อม ๆ กัน พอเปิดห่อใบตองออกเท่านั้น ก็ได้ยินเสียงแหลม ๆ ร้องประสานกันขึ้นทันทีว่า “ว้าย..เขียดตะปาด..!” น้อง ๆ ผงะจาก “เขียดตะปาดตาโปน ๆ ” ในห่อด้วยกลัวว่า มันจะโดดออกมาเกาะ และต่างพากันวิ่งหนีไปคนละทิศคนละทาง วงส้มตำจึงสลายไปโดยฉับพลัน ท่ามกลางเสียงหัวเราะงอหายตามมาอีกยกใหญ่ ๆ
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-05-2012 เมื่อ 11:30 |
สมาชิก 62 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#31
|
|||
|
|||
ความรักของพ่อ เวลาที่พ่อพาลูก ๆ เข้าไปในป่า พ่อจะคอยแนะคอยเตือนถึงวิธีการรักษาและป้องกันตัวจากภัยอันตรายรอบด้าน โดยเฉพาะพวกสิงสาราสัตว์ประเภทต่าง ๆ เช่น คราวหนึ่งพ่อพาลูก ๆ ไปเก็บลูกเร่ว* ที่ขึ้นอยู่ตามป่า เพราะขายได้ราคาดี ดังนี้ “...เวลาเข้าดง ระหว่างเดินไป ให้ใช้สายตาคอยสังเกตดูแถว ๆ ขอนไม้นะ เสือมันมักจะหมอบอยู่ข้าง ๆ ขอน ถ้าเห็นมันให้รีบวิ่งมาหาพ่อนะ... ก่อนจะเก็บลูกเร่ว ให้สังเกตดูสิ่งรอบ ๆ ข้างว่า มีงูมีสัตว์ร้ายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็รีบเก็บลูกเร่วได้ ตอนเข้าในดงในป่าลึก ๆ โน่น ให้มองดูต้นไม้ที่เด่น ๆ สังเกตว่ากิ่งไม้มันยื่นไปทางทิศไหน ตะวันออกหรือตะวันตก ให้สังเกตทิศของดวงอาทิตย์ด้วย ให้จำไว้ เวลากลับจะได้ไม่หลงทาง...” พ่อมักจะพาท่านไปตีผึ้งอยู่บ่อย ๆ (โดยตอกทอยฝังเป็นขั้น ๆ ไว้ในเนื้อไม้ จากนั้นก็ปีนขึ้นไปเอารังผึ้ง) บางครั้งก็เอาน้องของท่านไปด้วย ในคราวที่พาลูกไป พ่อจะบอกหนทางไปกลับให้ลูกรู้จักหมดและจำให้ได้ เรื่องนี้น้อง ๆ ของท่านเคยเล่าไว้ว่า “พ่อพาท่านไปตีผึ้งบ่อย ๆ บางทีก็เอาน้องไปด้วย พ่อจะบอกทางหมดว่า ทางนี้ไปนั้น ทางนั้นจะไปนั้น ส่วนลูกมักกลัวเสือจึงต้องเหลียวดูอยู่ตลอด ถ้าไปเอาผึ้งพุ่ม (ผึ้งโพรง).. เมื่อไปถึงทางแยก พ่อจะบอกว่า ‘ทางเส้นนี้ไปหนองปากด่านนะ ออกบ้านคำกลิ้งนะ ไปทางนี้ไปเข้าดงใหญ่ดงหลวง ไปได้เตลิดเลยนะ ถ้าไปทางที่เรามานี้จะคืนกลับบ้านเรานะ’ ท่านบอกไว้หมด พาไปไหนก็จะบอกไว้หมดเรื่องหนทาง... พ่อคงจะคิดเผื่อไว้ว่า หากปีนพลาดพลัดตกต้นไม้ตาย ลูกก็จะไม่รู้หนทางคืนกลับบ้านได้ จึงต้องบอกกันไว้ก่อน... พ่อเป็นคนปีนขึ้นไปตีผึ้ง ปีนเก่ง เป็นทั้งพราน เป็นทั้งหมอผึ้งด้วย...” ในสมัยก่อนยังไม่มีธนาคาร เวลามีเงินมีทอง เขามักจะเอาไปฝังดินไว้ พ่อของท่าน บางทีเวลาไปดงป่าก็จะเอาเงินไปด้วย ทีละชั่ง แม้เข้าป่าล่าสัตว์ก็เอาติดตัวไปด้วย เวลาลงอาบน้ำในหนอง ก็จะเอาเงินไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้ก่อน การที่พ่อต้องเก็บต้องหา ต้องระแวดระวังทรัพย์สมบัติดังกล่าว ก็ด้วยเหตุผลที่พ่อเคยบอกลูก ๆ ว่า “โอ๊ย... สาธุ พ่อทำอะไรก็หาไว้เผื่อลูกเผื่อเต้าทั้งนั้นแหละ ตัวเองไม่รู้ว่าจะได้อยู่ได้กิน 'ยังไง' ก็ช่างไม่ว่า ขอแต่ให้ลูกได้อยู่ได้กินมีความสุขก็พอ” ===============
* เร่ว เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า คล้ายต้นข่า ผลใช้ทำยา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-05-2012 เมื่อ 17:24 |
สมาชิก 61 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#32
|
|||
|
|||
(โยมบิดามารดาขององค์หลวงตา ถ่ายเมื่อปี ๒๔๘๕ หลักจากนั้นอีก ๒ ปี โยมบิดาก็จากไป) ๒. น้ำตาพ่อแม่พลิกสายทางชีวิต องค์หลวงตาสมัยเป็นฆราวาสในวัยหนุ่ม ตั้งใจจะดำเนินชีวิตทางโลกเช่นคนทั่วไป มิได้คาดฝันเลยว่าจะได้มาใช้ชีวิตแบบบรรพชิต แต่ก็มีสิ่งที่ทำให้ชีวิตเกิดพลิกผันขึ้น ............................ ใจแป้วเมื่อยิงหมี โดยปกติแล้ว การตีผึ้งจะทำกันในตอนกลางเดือนมืด แต่ตอนท่านเป็นหนุ่มเป็นคนไม่กลัวอะไรง่าย ๆ จึงอยากจะทดลองตีผึ้งในตอนกลางวันดูบ้าง ครั้งนั้นผลปรากฏว่า ผึ้งจำนวนมากต่างก็บินตามไล่ต่อยตลอดทาง ถึงขนาดที่ว่าต้องถอดเสื้อถอดผ้าออกหมด และรีบกระโจนลงไปอยู่ในน้ำ แม้ขนาดนั้นฝูงผึ้งก็ยังวนเวียนอยู่เหนือน้ำ แต่ที่สุดก็รอดพ้นไปได้ ครั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว มาดูตามเนื้อตัวปรากฏว่า มีแต่เหล็กในผึ้งฝังอยู่เต็มไปหมด มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านตามผู้ใหญ่ไปในป่า บังเอิญเหลือบไปพบหมีตัวหนึ่งเข้า ก็เป็นระยะที่ประชิดตัวมากแล้ว เพราะอยู่ใกล้มาก ครั้งนั้น ท่านช่วยพ่อแบกปืนอยู่จึงจำเป็นต้องยิงทันที ทราบว่าหมีตัวนั้นได้รับบาดเจ็บไม่น้อย ท่านบอกว่า วันนั้นทั้งวันรู้สึกไม่สบายใจเลย เมื่อกลับถึงบ้าน จึงถามพ่อว่า “ยิงหมีนี่บาปไหม ?” คงเป็นเพราะท่านได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กว่า การฆ่าและการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาป หากเป็นวันพระด้วยแล้วยิ่งบาปมาก ทำให้ท่านแสดงความเสียใจปรากฏออกมา จนพ่อสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ยิ่งลูกตั้งคำถามกับพ่อดังกล่าวด้วยแล้ว ความที่พ่อเกรงว่าลูกจะสลดหดหู่เศร้าสร้อยเกินไป จึงได้กล่าวปลอบขวัญพอเป็นกำลังใจแก่ลูกแทนการให้คำตอบที่แท้จริง ภายหลังเมื่อบวชแล้ว ท่านยังรู้สึกแป้ว ๆ ในใจอยู่ตลอดมา ดังนั้น เวลาภาวนาไหว้พระสวดมนต์คราวใด ท่านจะต้องแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้หมีตัวนั้นทุกครั้งทุกคราไป ท่านเคยกล่าวกับพระด้วยว่า แม้จนทุกวันนี้ท่านก็ยังแผ่เมตตาให้มันอยู่ตลอดมิเคยขาดเลย คำกล่าวของท่านตอนหนึ่ง เล่าถึงความคิดในสมัยเด็ก ๆ เกี่ยวกับเรื่องความตาย จากนั้นก็กล่าวมาถึงเรื่องการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนี้ “...พูดถึงเรื่องเป็นเรื่องตายนี้กลัวมาก ตอนเป็นเด็กเรากลัวมาก พอพูดถึงเรื่องตายนี้ ไม่อยากให้ระลึกขึ้นเลย มันเหี่ยวมันห่อในใจให้ระลึกเรื่องอื่นมากลบมันเอาไว้ เราไม่ลืมนะ นี่ข้อหนึ่ง ข้อที่สอง มีเพื่อนฝูงเขาพูด เราก็พากันไปหากินตามเรื่องตามราวนั่นละ เขามาพูดว่า ‘วันพระนี้ทำบาปเป็นบาปมากนะ วันพระนี่ไม่ฆ่าอะไร ทำบาปอะไร เป็นบาปมากนะ’ มันก็ฝังใจ เลยฝังมาตลอด วันพระนี้ไม่กล้าฆ่าสัตว์..” คำกล่าวข้างต้นทำให้ทราบได้ว่า คนในสมัยนั้น ท่านเน้นเตือนกันเสมอในเรื่องบุญเรื่องบาป ไม่มองข้ามหรือเพิกเฉยไป จะเห็นได้ชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับพ่อและแม่ของท่านเองคือ ทุกครั้งที่พ่อเข้าป่าเข้าดงได้เนื้อมา แม่จะต้องเอาเนื้อนั้นมาทำแห้งบ้าง ทำแหนมหรือทำส้มบ้าง เพื่อไม่ให้บูดให้เสียทิ้ง จะได้เอาไปทำบุญกับพระที่วัด แม่ทำเช่นนี้เสมอมา ทุกครั้งจะต้องอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับสัตว์ที่เอาเนื้อมาทำอาหารด้วยทุก ๆ ตัวไปไม่ให้ขาด ความใกล้ชิดติดพันของพ่อและแม่ต่อพระศาสนาเช่นนี้เอง มีส่วนปลูกฝังความคิดที่ถูกต้อง กอปรด้วยเมตตาธรรมแก่ท่านอยู่ไม่น้อย ให้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เป็นพื้นฐานประทับไว้ภายในจิตใจตลอดมากระทั่งก้าวสู่เพศบรรพชิต แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-05-2012 เมื่อ 12:25 |
สมาชิก 66 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#33
|
|||
|
|||
นิสัยสัตย์จริง เลือกคบเพื่อน
นิสัยที่จริงจังของท่านเป็นข้อเด่นอีกข้อหนึ่ง ใช่แต่เพียงเรื่องการงานเท่านั้น แม้แต่การคบเพื่อน ท่านก็ยังชอบคนที่รักความสัตย์ ความจริง ไม่เหลาะแหละ ท่านกล่าวถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งในสมัยหนุ่มว่า “...ผู้ใหญ่เถิง เป็นเพื่อนกัน แกขยันมากนะ เขาเรียกว่า หลานหลวงกำแหง เขาก็เรียกเราว่า หลานพ่อเฒ่าแพง แพง.. นี่ชื่อแม่เรา พ่อของแม่ขยันไม่มีใครสู้ ในบ้าน..ถ้าหลานหลวงกำแหง กับหลานพ่อเฒ่าแพงได้ทำงานแล้ว ไม่มีใครสู้แหละ เราก็สนิทกัน ไปเที่ยวบ้านคุยกัน บางทีมันก็ไปบ้านเรา เราก็มาบ้านมัน...ผู้ใหญ่เถิงนี่ เวลาไป มีอะไรก็กินโน้นเลย เราก็เหมือนกัน มาบ้านเขาก็กินเลย ถือเป็นอันเดียวกัน สนิทกันขนาดนั้นละ พ่อแม่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยจะเล่าให้ฟัง ไอ้นั่นไปกินข้าวบ้านกู ๆ เฉย เหมือนไม่ได้กิน เขามากินข้าวบ้านเราก็เหมือนกัน เราไปกินข้าวบ้านเขาก็เหมือนกัน... ... เรานี่จะว่าความฉลาด แต่ก่อนก็ไม่ปรากฏนะ แต่เรื่องความสัตย์ความจริงนี้เด่น เป็นมาแต่ครั้งเป็นฆราวาสคือเจ้าของรู้ตัวเอง ว่ามีความสัตย์ความจริง แต่ไม่ได้สนใจด้วย มันหากเป็นอยู่ในจิต ถ้าใครเหลาะแหละไม่อยากคบ ถ้าพูดเชื่อถือไม่ได้ก็ไม่คบ เวลาว่าอยู่..อยู่ เวลาว่าไป..ไป นิสัยเราว่าทำ..ทำ ไอ้ที่ว่าอย่างนี้แล้ว ไปทำอย่างนั้น เราไม่คบ อันที่สอง พวกฉก พวกลักขโมยนี้ไม่คบ พวกหนุ่มด้วยกันที่ชอบฉกลักขโมยนี้ก็หลีก ไม่คบ อันนี้เป็นนิสัยอันหนึ่ง ไม่ชอบคบคนเหลาะแหละ เรายังไม่ลืมนะ พ่อของผู้ใหญ่เถิงเขาก็ขยัน เก่ง... เขามาชวนเราไปหาล่าสัตว์ในป่า หาตะกวด หาอะไร เพราะหมาเราเป็นพรานดี เข้าล่าสัตว์ในป่าเก่ง มาชวนเราไปวันพรุ่งนี้ ‘โอ๊ย! ยังไปไม่ได้หรอก เพราะได้รับคำแล้วว่าจะทำสวนตรงนั้น ๆ ให้พ่อ วันพรุ่งนี้จะทำทั้งวันเลยจนเสร็จ ถ้าอันนี้ยังไม่เสร็จ ไปไม่ได้หรอก’ ก็เลยขอผ่าน เขาก็เลยเป็นอันว่าไม่ได้ไป แล้ววันหลังเขาก็ไปถามพ่อ ถามลับ ๆ เรามารู้ทีหลังนะว่า ‘ไหน บัว ชวนมันไปหาล่าตะกวด มันบอกว่า มันได้ลั่นคำแล้วว่าจะทำอันนั้น ๆ ให้พ่อ มันยังไปไม่ได้ แล้วเป็นยังไง มันทำงานอะไร ทำจริงไหม ?’ ‘มันทำแล้ว ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว โอ้ย ไอ้นี่ถ้ามันได้ลั่นคำแล้ว เป็นแน่ทีเดียว ไม่สงสัยละ นอกจากมันเฉยละ อย่าไปใช้มันเลย ไม่เป็นท่า เฉยเหมือนหูหนวกตาบอด ถ้ามันลั่นคำแล้วตายใจเลย ไอ้นี่’ นี่คือคำสัตย์คำจริง ถ้าลงได้ลั่นคำแล้ว เหมือนว่ามันเป็นไฟอยู่ในนี้ ไม่ได้ทำอยู่ไม่ได้ ต้องทำเสียก่อน ถ้าลงได้ลั่นคำแล้วขาดอยู่ในนี้เลย เป็นนิสัยแต่ฆราวาสมาก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ได้ลั่นคำแล้วก็เตร็ดเตร่เร่ร่อนอะไรไปได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าลงลั่นคำแล้วลงช่องเดียวเลย ต้องไป ต้องทำ เป็นอย่างนั้น... นี่ผู้ใหญ่เถิงคนนี้แหละ เป็นเพื่อนของเรา เพื่อนการ เพื่อนงาน เพื่อนคบ เพราะไอ้นี่มันขยันมากนะ ทำถึงใจ ๆ ทุกอย่าง ไม่เหลาะแหละ เอาจริงเอาจัง ขยัน คนเหลาะแหละนี่เราไม่เล่นนะ มันเป็นนิสัยเอง มันเป็นอยู่ในจิตนะ เราก็ไม่รู้ว่ามันมีธรรมนะ จนไปเรียนหนังสือถึงรู้ คำสัตย์นี้เรามีมาตั้งแต่ดั้งเดิม มันหากเป็นอยู่ในหัวใจเราเอง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-05-2012 เมื่อ 02:59 |
สมาชิก 56 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#34
|
|||
|
|||
ผู้ใหญ่ให้การยอมรับ
อีกเรื่องหนึ่งเป็นที่ประหลาดใจอยู่ไม่น้อย แม้กระทั่งแม่ของท่านเองก็ยังรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมักชอบมาหา และมาปรึกษาหารือกับท่าน จนครั้งหนึ่งแม่ถึงกับได้ออกปากว่า “พ่ออาวพ่อลุง (คุณอา คุณลุง) มาหาบัวทำไม ? ประสาเด็กน้อย” บรรดาผู้ใหญ่จึงตอบว่า “โอ๋ แม่อาแม่ป้า มันไม่ใช่เด็กน้อยนะ ถ้าทำอะไรไม่เอาตามคำมัน จะพลาดหมดเลย ต้องได้ทิ้ง มันทำอะไร ไม่พลาดสักอย่างเลย มันไม่ใช่เด็กน้อยนะนั่นนะ” ในเรื่องนี้ น้อง ๆ ของท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า “...เพราะท่านเป็นคนความรู้ดี... เช่น อย่างทำแบบแปลนแผนผังนี้ ไม่มีทางผิดพลาด ไม่มีทางตกทางเสียใด ๆ ชาวบ้านกะว่าจะเลื่อยไม้.. คิดกันว่าจะทำยังงั้น ๆ ๆ แต่พอทำจริง ๆ แล้ว มันกะคำนวณผิดพลาดหมด คนอื่น ๆ คำนวณผิดหมด แต่ท่านไม่เคยกะผิด จึงไม่เสียไม้ไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องไปตีผึ้ง ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะเมื่อก่อนเขาเอาเป็นอาชีพเลย ขายได้ราคาดีมาก จะมีผู้มารับเอากับบ้านเลยทีเดียว...” ด้วยความสามารถเช่นนี้เอง ทำให้ผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนในหมู่บ้านให้ความคุ้นเคยสนิทสนมกับท่าน อย่างไรก็ตาม สำหรับการคบค้าสมาคมกับเพื่อนวัยเดียวกันนั้น ท่านก็ยังมีการละเล่นสนุกสนานแบบเด็กหนุ่มทั่ว ๆ ไป ไม่ได้มีอะไรผิดแผกแตกต่าง ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ท่านยังเคยได้ฝึกหัดชกมวยเล่นกันระหว่างเพื่อน ๆ แต่ไม่นานก็เลิกราไป เพราะคำขอร้องของแม่ว่า “ลูกเอ๊ย! อย่าไปหาชกมันเลย แม่เป็นห่วง มันเสียตับเสียปอด” การที่ผู้น้อยเคารพเชื่อฟังในเหตุผลของผู้ใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงามแล้ว และหากเป็นผู้ใหญ่แต่ยังสามารถยอมรับในเหตุผลความถูกต้องของผู้น้อยได้ด้วย อันนี้ถือเป็นคุณธรรมยิ่ง โดยเฉพาะพ่อแม่ของท่านเอง ที่ไม่มีทิฏฐิมานะกับลูกเลย ดังเช่นเหตุการณ์ในตอนหนึ่ง ซึ่งองค์หลวงตาเคยเล่าไว้ว่า “พ่อกับแม่ของเรา แม่มักจะขี้บ่นมากกว่าพ่อ พ่อนาน ๆ จะบ่นซักที พอพ่อบ่น แม่ก็จะมีเสียงว้ากขึ้นมาบ้าง... รู้สึกว่าแม่จะไว้ใจทางหน้าที่การงานอะไร ๆ อยู่ในบ้านเหมือนว่าเราเป็นพ่อบ้าน ยังเด็กอยู่นะ... บางทีพ่อกับแม่ทะเลาะกัน เราเป็นกรรมการผู้ตัดสินให้ เราบอกว่า ‘ใครเป็นคนผิดคนถูกก็รู้กันนี่ ทำไมทะเลาะกันให้ลูกฟัง บ่อายบ้าง เด็กเขาก็รู้ เป็นถึงพ่อคนแม่คน ต้องรู้สิว่าใครผิดใครถูก’ พอพ่อกับแม่ได้ฟังดังนั้นก็แตกหนีกันไปคนละทิศละทาง ... ไม่พูดอะไรกัน... เงียบเลย” การกล่าวเช่นนี้ มิใช่ว่าท่านจะไม่เข้าใจพ่อแม่ การกระทบกระทั่งย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในแต่ละครอบครัว สำหรับครอบครัวของท่านด้วยแล้ว พ่อและแม่มีภาระหน้าที่การงานมากมายหลายต่อหลายเรื่อง เนื่องจากมีลูกหลายคนด้วยกัน สิ่งนี้ทำให้ท่านแสดงความเห็นอกเห็นใจพ่อและแม่ไว้เช่นกันว่า “พ่อแม่เรามีลูกตั้ง ๑๖ คน ตายไปตั้งแต่เล็ก ๆ ๖ คน ยังเหลืออยู่ ๑๐ คน พูดถึงพ่อแม่เรา... ลูกหลายคนเท่าไรพ่อแม่ยิ่งจะตาย ไอ้ลูกน้อยคนค่อยยังชั่วหน่อย ไอ้ลูกหลายคนนี่ แหม! ไม่ทราบจะวิ่งหาใครต่อใคร จะช่วยใครต่อใคร...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-05-2012 เมื่อ 03:01 |
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#35
|
|||
|
|||
การงานจริงจัง
อุปนิสัยของท่านอีกอันหนึ่ง คือเวลาทำการงานจะไม่อยากให้คนรู้คนเห็น เช่น ในตอนเช้าเวลาจะต้อนควายไปทำนา ท่านจะเที่ยวเก็บพวกไม้ไผ่หรือไม้กะลาที่หล่นอยู่ตามทางโยนขว้างออกข้างทาง มิฉะนั้น เวลาฝูงควายเดินผ่าน มันอาจเดินเตะมีเสียงดังได้ ท่านเกรงว่าชาวบ้านจะได้ยิน จึงโยนออกข้างทางหมด วันใดที่ออกไปนา ท่านชอบไปตั้งแต่เช้ามืด ส่วนแม่ก็จะทำอาหารจนเสร็จแล้วห่อไว้ทันเวลาที่ลูกไปพอดี การไถนาของท่านก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บ่งถึงนิสัยที่ทรหดอดทน คือท่านจะทำไปเรื่อย ๆ จนเสร็จ เช่น ควาย ๔ ตัว อย่างนี้ จะสลับให้มันทำงาน เมื่อตัวหนึ่งทำจนเหนื่อยแล้ว ก็ปลดไถออกให้มันไปอาบน้ำกินหญ้า เป็นการพัก แล้วก็เอาตัวที่ ๒ ที่ ๓ มาสลับแทนเช่นนั้นตลอดจนเสร็จ ถ้าไม่มืดก็ไม่เลิกหรือไม่ใช่เวลากินข้าวกลางวันก็ไม่ยอมเลิก มีอยู่คราวหนึ่ง พ่อแม่และน้องเขย ซึ่งปกติเป็นกำลังสำคัญในการทำนา บังเอิญมาป่วยขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำให้ท่านต้องเป็นหัวหน้าพาน้อง ๆ ไปแทน น้องสาวคนรอง ๆ ของท่านคนหนึ่ง รู้ดีถึงนิสัยจริงจังโดยเฉพาะในเวลาทำงาน จึงนึกหวาด ๆ ในใจว่า “ต๊ายกู คราวนี้หมด ทั้งวันมีแต่ทำงานก็ตายกันเท่านั้นแล้วทีนี้” และก็เป็นความจริงอย่างที่น้องสาวคิดไว้ คือท่านเองไม่พาพักพาเลิกสักที ทำงานอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ชนิดหากไม่ค่ำไม่ยอมเลิกรา น้องสาวของท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า “... แม้น้องพยายามบอกว่า ‘อยากกินข้าวแล้ว.. บัว’ ท่านก็ทำงานไปเฉย ไม่พากินข้าว ไม่พาหยุดพักสักที พาขุดพาทำอยู่หมดมื้อหมดวัน... ตอนนั้นเป็นช่วงบุกร้างถางพงทำนาใหม่... ท่านขุดเองเลย ไม่ใช้ควายคราดเพราะมันเพิ่งตัดไม้ลงใหม่ ๆ รากที่อยู่ในดินยังไม่เน่า (ไถยังไม่ทันได้)... ท่านทำงานไม่สนใจน้องเลย เดี๋ยวอ้อมทางนั้นแล้วอ้อมทางนี้ แล้วอ้อมไปทางนั้นอยู่อย่างงั้น ไม่จบไม่สิ้นสักที จนน้องว่า ‘โอ๊ย ไม่ไหวแล้ว คิดถึงแม่’ เลยมีแต่จะร้องไห้นั่นแหละ... ปรากฏว่าในปีนั้นได้ข้าว ๑๗ เล่มเกวียน จัดว่าได้เยอะทีเดียว...” อีกตอนหนึ่งคือในระยะที่ท่านพาน้อง ๆ มานอนเฝ้านา น้องสาวเล่าเหตุการณ์ดังนี้ “...สมัยแต่ก่อนมีแต่เป็นดงเป็นป่า เสือ ช้างก็เยอะ เสียงช้างหักกิ่งไม้โป๊ก ๆ เป๊ก ๆ อยู่ในป่า บ่างชะนีก็ร้องฟังดูโหยหวนน่ากลัว เดี๋ยว.. ร้องขึ้นทางนั้นทางนี้ รู้สึกวังเวงใจทำให้คิดถึงแต่พ่อแต่แม่ นาที่เฝ้านั้นอยู่ติดกับป่ากับดง ห่างจากตัวบ้านประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ในช่วงที่ต้นข้าวเริ่มโตขึ้น ชาวบ้านก็มานอนเฝ้านากัน ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ช้างจะพากันมาถอนต้นข้าวกินหมด ช้างเวลากินต้นข้าวจะต่างจากวัวควาย ตรงที่มันจะถอนทั้งต้นขึ้นมาแล้วเอาฟาดกับขาของมัน เพื่อสลัดดินออก แล้วจึงม้วนเข้าปาก ถ้าชาวบ้านไม่มาเฝ้า มันจะถอนกินจนหมดเกลี้ยงนาเลยทีเดียว แต่วัวควายเวลากินข้าว มันจะกัดกินเฉพาะส่วนยอด ไม่ถอนหมดทั้งต้น ฉะนั้น เวลาเฝ้านา เขาจึงต้องเอาปืนไปด้วย เพื่อใช้ยิงไล่ช้าง บางคนก็ยิงขึ้นฟ้าให้มีเสียงดัง มันตกใจก็ไป...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-05-2012 เมื่อ 03:02 |
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#36
|
|||
|
|||
น้องสาวองค์หลวงตา (คุณยายตัน นามวิชัย, คุณยายศรีเพ็ญ บัวสอน, คุณยายสวน สุริทร์รัตน์ และ คุณแม่จันดี โลหิตดี) พี่ ๆ น้อง ๆ ด้วยนิสัยจริงจังเช่นนี้ ทำให้พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ร่วมงานกับท่าน ถึงกับต้องนำเรื่องนี้มาฟ้องแม่ตามภาษาท้องถิ่นสมัยนั้นว่า “...โอ๊ย อีแม่เอ้ย คันหมู่เจ้าบ่ไปเฮ็ดงานนำ บักนี่มันเฮ็ดอีหยังบ่ฮู้จักขึ้นจักหยุด หมู่ข้อยเลยสิตาย... มันบ่ได้พาขึ้นเด๊ะ พาเกี่ยวข้าวกะดี พาดำนากะดี มันบ่พาขึ้น คันหมู่เจ้าบ่ไปนำ มันสิเอาให้ตายอีหลี...” หมายถึงว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ไปทำงานด้วยแล้ว ท่านจะทำงานไม่ยอมเลิกราสักที เหมือนว่าจะเอาให้น้อง ๆ ตายไปข้างหนึ่งเลย อย่างไรอย่างนั้นทีเดียว แม่แทนที่จะเห็นคล้อยไปกับน้อง ๆ ด้วย กลับพูดตัดบทลูกทันที “จังซั่นหละ สูบ่เป็นตาซะแตก” หมายถึง “ก็อย่าง ‘งั้น’ ละซิ พวกเรามันไม่เอาไหนเสียเอง” คือน้อง ๆ ของท่านทำงานเหนื่อยแล้ว ก็อยากจะเลิก อยากจะกลับบ้าน ส่วนท่านเองก็ไม่พาเลิกงานสักที ท่านเคยกล่าวถึงอุปนิสัยดังกล่าวของท่านเองไว้เช่นกัน ดังนี้ “นิสัยมันก็ไม่เคยเหลาะแหละมาตั้งแต่เป็นฆราวาสอยู่แล้ว หากเป็นไปตามฆราวาสนั่นแหละ ตามธรรมชาติฆราวาสก็ไม่มีกฎข้อบังคับอะไร ๆ แต่นิสัยมันก็มีของมันอยู่ ว่างั้นเถอะนะ ถึงจะเป็นแบบฆราวาสทั่ว ๆ ไปก็ตาม แต่ความจริงจังของมันมี มันฝังลึกอยู่ อย่างเช่นว่าจะทำอะไรอย่างนี้ ถ้าลงว่าจะทำ ยิ่งกับพ่อกับแม่ หากได้ลั่นคำ... ไม่เป็นอื่นแหละ... อันนี้เป็นนิสัยเรา ถ้าเราเป็นหัวหน้า เราก็เป็นอย่างนั้นนะ... ทุกอย่างเรื่องของเราต้องให้พ่อแม่ไว้วางใจได้เลย ถ้าเราได้ทำอะไรแล้ว ถ้าเวลาไปทำงานกับพ่อกับแม่ก็เป็นอีกแบบหนึ่งนะ พาทำอะไรก็ทำ พาลุกพาขึ้นเราก็ขึ้น ธรรม‘ด๊า’ธรรมดา ถ้าพ่อแม่ไม่ไปร่วมทำงานด้วย น้อง ๆ มันจะตาย...” พี่ชายคนใหญ่... เน้นหนักไปทางการค้า จะเน้นไปทางคุณตา พี่ชายเริ่มค้ามาตั้งแต่เป็นหนุ่ม แม่เลยมอบเงินให้ไปหาซื้อวัวซื้อควาย คือนิสัยชอบทางสังเกตสัตว์ สัตว์ตัวไหนมีลักษณะอย่างไร ดูไม่ค่อยผิดนะ พวกใครในบ้านจะซื้อวัวซื้อควายต้องให้ไปช่วยหาดูให้ ‘ไปช่วยดูให้หน่อย’ แกดูเฉย ๆ นะ ไม่ต้องทดลองใช้งานใช้การอะไรละ ถ้าแกว่า ‘ควายตัวนี้ชนคนนะ’ ก็ถูก... จับได้ตรงไหนก็ไม่รู้นะ ‘ควายตัวนี้ดื้อ ใช้ไม่ได้นะ’ มันก็เป็นจริง ๆ ถ้าว่า ‘ดี’ ยังไงก็ถูกอย่างนั้นนะ มันแปลกอยู่นะ ดูยังไงไม่ทราบ เป็นแยบคายอันหนึ่ง พวกคนหนุ่มด้วยกันในหมู่บ้านก็ไม่มีใครดูเป็น มีแต่ให้พี่คนนี้ไปหาซื้อ พ่อแม่ให้เงินไปซื้อ จากนั้นมาก็ติดต่อมาเรื่อย เป็นนักซื้อนักขายทางวัวทางควาย เวลามีครอบครัวเหย้าเรือนอยู่โน้นแล้ว แม่ยังใช้ให้ไปซื้อควาย ให้มาเป็นหลักแหล่งของคอกเป็นหัวหน้าฝูง ก็เป็นจริง ๆ นิสัยชอบเหมือนตา ตาก็ไปหาซื้อวัวซื้อควายมาขายไม่ได้ขาด แม่เลยปล่อยให้ซื้อขายมาเรื่อยจนกระทั่งตาย กับน้อง ๆ นี้รักมาก เพราะเขาใจดีกับน้อง แต่เรานี้ไม่ค่อยมีใครมาใกล้ นอกจากไม่ติดแล้ว ยังกลัวด้วย... ... พวกน้อง ๆ ไม่ค่อยชอบ‘หละ’ เพราะเราเป็นคนดุ แต่ดุเพราะความจริงจัง นิสัยนี้มันมีนะ ไม่เหมือนพี่ชายเป็นอีกแบบหนึ่ง อยากทำก็ทำ อยากไปเมื่อไหร่ก็ไป เฉย.. ไม่ได้สนใจกับใคร ไอ้เรานี่ โห...ไม่เสร็จเป็นไม่ยอม พี่ชายก็เป็นแบบหนึ่ง ที่นี้น้องก็รักละซิ เพราะไม่ดุ เวลาไปไหนนี้ พวกน้อง ๆ นี้รุมเลยทั้งหญิงทั้งชาย กับเรานี้ โอ้โห... คนเดียวไม่มีไปเกี่ยว เขาเบื่อจะตาย เขาชังเราจะตาย แต่ก็ไม่กล้าพูด...เฉย เราก็ไม่ชอบด้วย เวลาใครไปยุ่งด้วย เวลาไปไหน...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-05-2012 เมื่อ 03:06 |
สมาชิก 53 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#37
|
|||
|
|||
ดัดน้องด้วย “สิงควาย”
ร้องเพลงไพเราะเหมือนแม่ ครั้งหนึ่งไปเลี้ยงควายกันตามประสาพี่ ๆ น้อง ๆ ท่านเป็นหัวหน้าพาไป เมื่อถึงเวลาเที่ยง จึงเอานกแซงแซวมาปิ้ง ระหว่างนั้นท่านก็นึกครึ้มอกครึ้มใจ จึงสิงควายขึ้นว่า “...อีตู่เขาเล่น่ะ ตั๊กเขาเลงก็ดั๊ก เขาเป็งเส่งดั๊ก เขาเด่งก็ดั๊ก ล้ำเด๊งดั๊ก เขาเล๊งกะดักเขาดำดั๊ก...” น้อง ๆ ได้ยินดังนั้นต่างพากันหัวเราะ ชอบใจจนจะล้มจะตายกันเลยทีเดียว เมื่อปิ้งจนสุกได้ที่แล้ว จึงเอากระติบข้าวเหนียวและกับข้าวอื่น ๆ มาวางเตรียมพร้อมจะกินกันอยู่แล้ว น้อง ๆ ก็ขอร้องท่านขึ้นว่า “สิงควายตัวนั้นให้ฟังอีกหน่อยซิ ฟังแล้วมันม่วนดีหลาย (สนุกดี)” “อะไรกัน ? จะกินข้าวอยู่แล้ว ยังจะให้สิงอีกหรือ ?” “เอ้อ สิงเลย มันอยากฟังหลาย” ท่านเลยทั้งสิงไปกินไป กินไปสิงไปอยู่อย่างนั้น น้อง ๆ ก็มันแต่ฟังเสียจนเพลิน พากันหัวเราะ พออกพอใจจนน้ำหูน้ำตาไหล และเมื่อหันมาดูนกปิ้งอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าหมดเกลี้ยงแล้ว ท่านเลยพูดขึ้นว่า “ถ้าไม่อยากฟังกันหลาย ก็ไม่กินหมดหรอก เห็นอยากฟังกันเหลือเกิน ก็เลยแกล้งดัดเส้นเอาซะเต็มที่เลย นกปิ้งก็เลยหมดเลย” การสิงควายเป็นที่พอใจของน้อง ๆ เป็นอย่างมาก แทนที่น้องจะต่อว่าต่อขานอะไรพี่บ้าง กลับพูดว่า “ก็ไม่เคียดหรอก ถึงจะกินหมดก็ช่าง พวกเราก็หาเรื่องเองแหละ เที่ยวอยากจะมาฟังเอาตอนคนกำลังจะกินอยู่แล้ว แม้จะกินหมด ก็ว่าพอดีอยู่หรอก พอดีกันกับที่ขอให้ร้องอยู่หรอก” แต่นั้นมา ท่านก็แกล้งพูดหยอกน้องว่า “อยากฟังอีกไหมละ สิงควายนั่น‘หนะ’..” เกี่ยวกับการร้องลำทำเพลงของหนุ่มบัวนั้น ในหมู่บ้านทราบกันดีว่าไม่ใช่ธรรมดา ร้องเพลงเก่ง น้ำเสียงหยดย้อย ขนาดพ่อพอได้ยินลีลาการร้องของลูกชายคนนี้เข้าเท่านั้น ถึงกับจำเสียงลูกไม่ได้ มาทราบภายหลังก็ยิ่งงงงวย ในความเป็นศิลปินของลูกตัวเองใหญ่ ดังนี้ “...เราไปร้องเพลงที่ไหน เพื่อนฝูงชอบมาก มักชมว่า ‘มึงทำไมจึงลำม่วนแท้น้อ’ (แกทำไมถึงร้องหมอลำไพเราะจัง) ไม่เฉพาะแต่หนุ่มสาวเท่านั้น แม้แต่คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านเขาก็ยังชมว่า ‘เสียงมึงดี คือเสียงแม่มึงเนาะ’ แม่เป็นคนเสียงดี ไปลำที่ไหนคนติดมันหากเป็นของมันนั่นแหละ จากนั้นไปไหน เขามักขอร้องให้ลำ ไปเที่ยวสาวที่ไหนกับเพื่อนกับฝูง ผู้สาวจับคอเรามัดให้ลำ ไม่ลำออกจากนั้นไม่ได้ เขาต้องให้ลำเสียก่อน เราไม่ลืมนะ ขนาดพ่อได้ยินเสียงร้องลำในหมู่บ้าน ยังหลงชมกับแม่ว่า ‘เสียงใครนะ ช่างไพเราะมากเหลือหลาย’ คือพ่อจำเสียงเราไม่ได้ หลงเสียงลูกของตัวเอง แม่ก็ยังย้อนพ่อไปว่า ‘นั่น …เสียงบักบัว ลูกชายเจ้านั่นแหละ.. ร้องลำ จำเสียงมันไม่ได้หรือ ?’ พ่อบอก ‘คิดไม่ถึงว่า ลูกเราจะเสียงดีอย่างนี้’ ตั้งแต่เป็นเด็กมาจนโต เราก็ได้ยินแม่ร้องลำมาตลอด แม่ชอบร้องหมอลำมาก เวลาไปทุ่งนา เสียงแม่ร้องลำลั่นทุ่ง เสียงแม่ไพเราะมาก...” หมายเหตุจากผู้ตรวจการณ์ : แก้ไข เครียด เป็น เคียด (โกรธ) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-01-2015 เมื่อ 03:25 |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#38
|
|||
|
|||
เมาหนเดียวก็เข็ดหลาบ
ครั้งหนึ่งในช่วงที่กำลังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ เส้นทางชีวิตของหนุ่มบัวเกือบจะต้องกลายมาเป็นนักสุราอย่างสุดขีด วันนั้น เพื่อน ๆ มาชวนไปกินเลี้ยงที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นและต่างก็ชักชวนให้ดื่มสุรา ท่านเองแม้จะปฏิเสธอย่างไร เพื่อนก็ไม่ฟัง จึงจำยอมโดยคิดให้เหตุผลตนเองว่า เพื่อไมตรีจิตกระชับมิตรภาพ แต่ผลของการดื่มสุรากับเพื่อน ๆ ในครั้งนั้น ถึงกับทำให้ท่านต้องเข็ดหลาบตลอดไปเลยทีเดียวดังนี้ “...เราไม่เคยคิดไว้ก่อนว่าในงานนั้นจะมีอะไรบ้าง เพราะไม่ใช่บ้านเกิดเรา แต่เป็นบ้านเพื่อน ๆ ซึ่งอยู่ห่างกันคนละจังหวัด จึงไม่ทราบว่าประเพณีเขาเป็นอย่างไร มาวางไว้บริเวณรอบ ๆ เราเกิดความสงสัยจึงถามเขาว่า ‘ขวดอะไรมากมายนัก’ เขาต่างก็บอกเราเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘น้ำอ้อยป่า คนไม่มีวาสนา ไม่ได้กินแหละ’ แต่ความจริงเป็นเหล้าเถื่อน ... เรานึกรู้ทันทีว่าคือน้ำบ้านั่นเอง เพราะเท่าที่เห็น ๆ มา ใครดื่มน้ำประเภทนี้เข้าไป โดยมากต้องเป็นบ้ากันแทบทุกราย ก็เรากำลังตกอยู่ในที่จนตรอกเสียแล้ว ไม่ทราบจะหาทางออกได้อย่างไร ? อีกไม่นานนักต่างคนต่างรินน้ำอ้อยป่านั้น ยื่นมาให้เราดื่มแบบหาทางหลบหลีกไม่ได้ เราเป็นเพียงพูดออกอุบายว่า ‘เพื่อน... เราปวดหัว ไม่ค่อยสบาย อย่าให้ดื่มเลย’ เขาไม่ยอมฟังเสียง แต่กลับจะให้ดื่มท่าเดียว โดยให้เหตุผลว่า ‘นี่คือน้ำยาสำหรับแก้ปวดหัวโดยตรง ดื่มแล้วไม่ต้องไปหายาอะไรมาแก้’ เขาเป็นคนหมู่มากและเป็นคอสุราแบบเดียวกันด้วย เราคนเดียวไม่สามารถจะต้านทานได้ จำต้องยอมรับโดยปริยาย พอผ่านไปไม่นานนัก เราชักจะเปลี่ยนท่าทาง และอาการทุกส่วนเปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว เพราะไม่เคยมาก่อน... ร้องเพลงกลางวงเลย เราไม่ลืม ร้องเพลงกลางวง ทั้ง ๆ ที่เมาเหล้าอยู่ ร้องเพลงเพราะอยู่นะ... ความคิดเดิมว่า เพื่อรักษามารยาทและไมตรีจิตกับเขานั้น ได้กลายเป็นว่าทำลายมารยาท และไมตรีจิตปกติของตนเสียสิ้นไม่เหลืออยู่เลย ที่ปรากฏอยู่ชัดแจ้งในเวลานั้นก็คือ มารยาทของคนขี้เมาล้วน ๆ เท่านั้น ร้องลำทำเพลงทั้งคืน... จากขับลำแล้วก็หลับ ...ไม่มีทางทราบเรื่องดีชั่วของตัว และสุดท้ายนอนแผ่อยู่ที่นั่น อย่างไม่มีอาลัยกับอะไร ๆ ... พวกเพื่อนฝูงเต็มอยู่นั้น เขาหนีกันไปหมดตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้ว พอตื่นขึ้นยังเหลือแต่เรานอนอยู่บ้านเพื่อนนั่นแหละ เขาปล่อยให้เราหลับจนกระทั่งตะวันขึ้น... พอรุ่งเช้า จึงรู้สึกตัวขึ้นมา ‘อ้าว..นี่ไม่ใช่บ้านเรา มันบ้านเพื่อนของเรา’ จากนั้นมา ลงจากบ้านเขาแล้วอาย ไม่ไปบ้านเขาอีกเลย... เกิดความละอายเพื่อน ๆ และคนในบ้านอย่างมาก รีบกลับบ้านเพื่อนอีกคนหนึ่งทันที ... แน่ะ..เวลาเมาเหล้ามันไม่ได้อายนะ ร้องเพลงสนุกไปเลย (คนเมานี่) ชอบโม้ชอบคุย คนเมาเหล้า น้ำลายไม่ทราบมาจากไหน พอหายเมาแล้ว ไม่ไปบ้านเขาอีกเลย อายเขา... นับแต่วันนั้นมา ถ้าใครจะมาเชิญชวนไปบ้านคนอื่นอีกเป็นไม่ไปเด็ดขาด เพราะความเข็ดหลาบเป็นกำลัง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-05-2012 เมื่อ 17:26 |
สมาชิก 48 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#39
|
|||
|
|||
ศาสนาก็เลื่อมใส แต่หัวใจ...
ในระยะนี้เป็นช่วงที่หนุ่มบัวเติบโตเป็นหนุ่มเต็มที่แล้ว ทำให้เริ่มคิดคำนึงถึงเรื่องหญิงสาวที่จะมาเป็นคู่ครอง ท่านกล่าวถึงภาวะจิตใจในตอนนั้นว่า “เรื่องความเคารพในศาสนา เลื่อมใสในพระในเณรนั้น เราเลื่อมใสมาโดยตลอด ไปใส่บาตรแต่เด็กก็ไปกับผู้ใหญ่ เวลาโตขึ้นมาความเลื่อมใสในศาสนาก็มาก แต่กิเลสมันก็มีมากอยู่เหมือนกัน เห็นเขามีลูกมีเมียก็คิดอยากมีลูกมีเมีย มีครอบมีครัวกับเขา” และแล้วความคิดที่ตั้งไว้อยู่ภายในใจนี้ ก็ได้ถูกเปิดออกมาเพราะผู้เฒ่าคนหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังสนทนากันกับหนุ่มเถิง เพื่อนสนิทของท่านอยู่นั้น ผู้เฒ่าคนนี้อายุราว ๕๐ ปี มาจากอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ลักษณะของผู้เฒ่าเป็นคนสุขุมไม่ค่อยพูด แกนั่งอยู่ในบริเวณนั้นจึงได้ยินสองหนุ่มพูดคุยกันมาตลอด หนุ่มเถิงพูดแต่ว่าจะบวช ๆ คงจะพูดเรื่องบวชอยู่นาน จนผู้เฒ่าชักจะรำคาญละมัง จึงว่า “ไหนพ่อขอดูลายมือหน่อยนะ มานั่งฟังอยู่นี้มีแต่จะบวช ๆ มันจะได้บวชหรือ ? ไหนให้พ่อดูลายมือหน่อย” ผู้เฒ่าดูลายมืออยู่เงียบ ๆ สักพักหนึ่งแกก็พูดขึ้นว่า “...จ้างก็ไม่ได้บวช นี่ไม่กี่วันมันจะมีเมีย มันติดกันอยู่แล้ว นี่คู่ของมันติดอยู่นี่ มันแยกไม่ออก มันจะแยกออกได้‘ยังไง’...” ผู้เฒ่าไม่ใช่พูดแบบธรรมดา ๆ แต่พูดแบบยืนยันเลย แกเป็นคนนิสัยไม่ค่อยพูด เป็นคนเคร่งขรึม พอเห็นผู้เฒ่าทำนายเพื่อนแบบนี้ เลยทำให้หนุ่มบัวรู้สึกยิ่งคึกคักมั่นใจไปด้วย เพราะไม่ต้องการจะบวช แต่ต้องการจะเอาเมีย เมื่อเพื่อนดูเสร็จเรียบร้อย หนุ่มบัวจึงขอให้ดูบ้าง “ดูให้ผมหน่อย...” หนุ่มบัวพูดด้วยความกระหยิ่มใจว่า อย่างไรต้องได้เมียแน่คราวนี้ แต่การณ์กลับตรงข้าม ผู้เฒ่าดูอยู่ครู่หนึ่ง แกพูดขึ้นว่า “เอ้อ! ผู้นี้ใช่ละนี่ ผู้นี้ถึงถูก ได้บวชแน่ ๆ จะได้บวช นี่สายบวชเต็มแน่วแล้วเวลานี้ จะบวชเร็ว ๆ นี้...” ผู้เฒ่ากล่าวด้วยความมั่นใจเช่นนี้ ถึงกับทำให้หนุ่มบัวหน้าซีดเผือดลงทันที ดังนั้นเพื่อความแน่ใจว่าผู้เฒ่าอาจจะดูผิดไปหรือไม่อย่างไรกัน จึงรีบบอกไปว่า “เอ๊ะ! ว่าจะเอาเมียอยู่นะ ผมอยากจะแต่งเมียอยู่นะ” แทนที่ผู้เฒ่าจะลังเลใจ กลับยิ่งพูดอย่างยืนยันเลยว่า “จ้างก็ไม่ได้แต่ง..!!” และในที่สุด ท่านก็ไม่มีครอบครัวเหย้าเรือนตามที่เคยตั้งใจไว้เดิม แม้จะมีหญิงสาวที่หมายมั่นตกลงปลงใจระหว่างกันแล้วก็ตามที แต่ครั้นพอจะให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาครั้งใด กลับหาจุดที่เหมาะสม ลงตัวลงใจกันมิได้สักที อีกทั้งด้วยนิสัยที่เป็นคนเคารพในเหตุผลเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้นเมื่อเหตุผลยังเป็นที่ลงกันไม่ได้ แม้ความรักจะมากเพียงใด ท่านก็ยอมอดยอมทนได้ และด้วยเหตุนี้เองความคิดของท่านที่จะมีครอบมีครัว จึงเหมือนมีสิ่งมากีดมาขวางให้คลาดแคล้วจนได้ทุกทีไป ชะรอยจะเป็นเพราะ ปุพเพ จ กตปุญญตา อำนาจบุญกรรมที่ท่านเคยสร้างสมอบรมมา แต่ดั้งแต่เดิมให้ผลมากกว่าจะเป็นเรื่องการทำนายทายทักจากหมอดู บุญนี้จึงให้ผลอุดหนุนผลักดันชีวิตของท่านให้ไปในทางอันประเสริฐ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-05-2012 เมื่อ 15:07 |
สมาชิก 48 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#40
|
|||
|
|||
ทอดสมอความรัก
ท่านกล่าวย้อนอดีตถึงสมัยหนุ่ม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในช่วงที่กำลังคิดจะมีครอบครัวว่า “ถ้าจะเอาเมียทีไรก็ผิดก็พลาดไปทุกที ทั้ง ๆ ที่พ่อผู้หญิงชอบหมดทั้งนั้นแหละ พอเราขึ้นไปบ้านไหน แต่ก่อนเขามีทำงานปั่นฝ้ายปั่นไหมกันทางภาคอีสาน ทุกวันนี้ก็มี เขาไปเที่ยวกัน แต่เขาว่า "ไปเล่นสาว" เป็นภาษาทางนี้ ถ้าเราไปขึ้นบ้านไหน โอ๋ย.. เสียงสั่นไปแหละ คือพ่อแม่ทางผู้สาวน่ะชอบมาก แต่ลูกสาวไม่เห็นชอบอะไร คือเขาอยากได้เรา เขาเห็นเราขยันก็รู้กันอยู่แล้วนี่..” ท่านเคยเล่าเกี่ยวกับเรื่องความรักและการต่อสู้กับความรักไว้เป็นข้อคิดคติธรรมให้ลูกหลานฟังว่า “หลวงตามหาบัวก็เคยรักสาวเหมือนกัน เคยพูดมาแล้ว หลวงตาบัวเป็นบ้า โถ.. เราก็เห็นโทษของมันเหมือนกันนี่นา หลังมานี้จึงเห็นโทษ เวลานั้นมันไม่เห็นเลย นอนไม่หลับก็ยังไม่เห็น มันคิดเห็นหน้าแต่ผู้สาวคนเดียว โห... ไม่มีอะไรในโลกธาตุ ไม่มีใครมีคุณค่ายิ่งกว่าสาวคนเดียวนี้นะ มันนั่งอยู่ในหัวใจตลอดเวลา ทำหน้าที่การงานใด มันก็เป็นพุทโธอยู่ในใจนี้ล่ะ สาวคนนั้น นั่น.. มันเป็นพุทโธแทน มันอย่าง‘งี้’ล่ะ หือ..ทำงานทำการใดมีแต่อีนั่นล่ะ อยู่ในนี้นะ โอ้โห..มันเป็นก็บอกว่าเป็นซิ... โห.. อกจะแตกนะ รักผู้หญิงนี่ ไม่ใช่เล่น ๆ เราเคยรักมาแล้วนี่ โถ..ถึงขนาดนี้ ถึงขนาดจะกินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ... อยู่ที่ไหน หาทำอะไรก็ตาม งานการอะไรก็ตาม ทำไปบืน*ไป เดินก็เดินไป แต่พุทโธหญิงสาวนั้น มันไม่ได้พรากจากใจหนา มันติดอยู่นั่นตลอด ถึงว่ามันฝังลึก ทุกข์มากที่สุดนะ โห..พิลึก ความหนักหน่วงถ่วงจิตใจ ความทุกข์ความลำบากทรมานที่สุดในเวลานั้น ทีนี้ความรักมันก็ดึงไป ๆ มันไม่ให้เห็นโทษ ทุกข์ขนาดไหน มันก็ไม่เห็นนะ...” แม้ว่าท่านจะไม่ได้คาดคิดเรื่องบวชมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องความรักของท่านที่มีต่อหญิงสาวนั้น ถึงจะมีมากจนถึงกับทำให้ทุกข์ร้อนภายในใจเพียงใด ท่านก็จะไม่ยอมทำสิ่งผิดพลาดเสียหายใด ๆ โดยเด็ดขาด อันอาจจะก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนถึงจิตใจของพ่อแม่ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ ดังนั้น ถึงแม้สมัยเมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสอยู่ ท่านก็จะพยายามใช้หลักต่อไปนี้ตลอดมา “เอ้า! มึงจะรักไปไหนรักไป มึงไม่ได้เกิดกับอีหญิงคนนี้ละน่ะ ถึงขนาดนี้ละน่ะ มึงทำไม มึงรัก.. ลืมพ่อลืมแม่ได้ บังคับมัน เอ้า.. เคยเป็นนี่ เอาความจริงมาพูด ก็เรื่องของเราเป็นมาแล้วนี่ แต่ทีนี้ เวลามันจะแยกของมันได้ก็เพราะศีลธรรมนะนี่ สำคัญอันนี้นะ ธรรมแยกออกได้ขาดสะบั้นไปเลยเชียว.. ให้ถอยไม่ถอย จะแก้ แม้รักจนน้ำตาไหล รักเต็มหัวใจเจ้าของ ใคร ๆ ก็ไม่รู้ จนเจ้าของจะเป็นบ้า ไม่ใช่รักธรรมดา... ไม่ลืมนะจนบัดนี้ เพราะรักครั้งแรกด้วย เอ้าจริง ๆ ... รักครั้งแรกถอนไม่ขึ้นง่าย ๆ โธ่ ๆ แต่ดีอย่างหนึ่ง มันมีหลัก หัวใจมีหลักของมัน เป็นฆราวาสก็มีอยู่ ความสัตย์ความจริง ความเด็ดมันเด็ดอยู่ตลอด เมื่อเห็นว่ารักนี้จะทำลายเจ้าของแล้ว ก็ทอดสมอลงกึ๊กเลย ให้เรือมันไปไม่ได้ ให้มันหมุนอยู่นี่ มันถอนสมอไม่ได้.. มันก็ดิ้นอยู่นี่ เรือหมุนอยู่นี่ มันไม่ออก ถ้าลงสมอหลุด เรือมันก็พาไปทะเลหลวงโน้นล่ะ นี่ไม่ให้มันไป...” ============================================================ * บืน หรือ บึน แปลว่า รั้น ดื้อ ไม่ฟังใคร (เป็นความเห็นจากท่านสุธรรมค่ะ) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 25-05-2012 เมื่อ 15:37 |
สมาชิก 48 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 2 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 2 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|