กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ในวาระสำคัญต่าง ๆ

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 13-10-2021, 22:28
ตัวเล็ก's Avatar
ตัวเล็ก ตัวเล็ก is offline
กรรมการเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Mar 2009
ข้อความ: 10,530
ได้ให้อนุโมทนา: 215,928
ได้รับอนุโมทนา 737,065 ครั้ง ใน 35,905 โพสต์
ตัวเล็ก is on a distinguished road
Default ธรรมบรรยาย เรื่อง "อาหารใจ"



ธรรมบรรยาย เรื่อง "อาหารใจ"
โครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานออนไลน์
นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา และประชาชนทั่วไป
วันอังคารที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๙.๐๐ น.

โดย พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรี ศรีไพบูลย์
รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน จังหวัดกาญจนบุรี
ประธานชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน
ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลท่าขนุน
เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรีแห่งที่ ๒๓ (วัดท่าขนุน)


บรรยายธรรมหัวข้อ "อาหารใจ" ในโครงการปฏิบัติธรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่
สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ของสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ณ สำนักงานเจ้าอาวาส วัดราษฎร์ประชุมชนาราม หมู่ที่ ๒ ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด
(-/\-) (-/\-) (-/\-)
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 14-10-2021, 23:30
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ขอถวายความเคารพพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรมุนี วิ. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ขอแสดงความนับถือท่านอาจารย์พระมหาวริทธิ์ธร วรเวที ตลอดจนผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมฝ่ายบรรพชิตทุกรูป และเจริญพรผู้เข้าปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ทุกท่าน

วันนี้ก็เป็นอีกวาระหนึ่งที่ได้มาบรรยายธรรม ซึ่งถือว่าเป็นวาระที่สำคัญมาก เนื่องจากว่าเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเวลาได้ล่วงเลยมามากแล้ว จากการที่บรรยายธรรมคราวที่แล้ว มีผู้สนใจไต่ถามเป็นจำนวนมาก กระผม/อาตมภาพจึงตั้งใจว่า ในช่วงท้ายจะเหลือเวลาให้พวกเราได้สอบถามแนวทางในการปฏิบัติต่าง ๆ

สำหรับวันนี้ที่ได้รับหัวข้อในการบรรยายธรรมมาคือ อาหารใจ ท่านทั้งหลาย..ในเรื่องของอาหารนั้น ต้องบอกว่าในพระบาลียกให้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายศึกษาในประวัติของโสปากสามเณรก็ดี ชัมพุปริพาชิกาซึ่งตอนหลังก็คือกุณฑลเกสีเถรีก็ตาม

สำหรับโสปากสามเณรนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เห็นว่าเป็นสามเณรเล็ก ๆ แต่เห็นว่าเป็นบุคคลที่ควรจักเป็นพระเถระ จึงเสด็จไปตรัสถามปัญหา เมื่อโสปากสามเณรตอบ
ได้ถูกต้องทุกข้อ พระองค์ท่านก็ตรัสว่า โสปากสามเณรเป็นพระเถระแล้ว ซึ่งการบวชในลักษณะนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า ปัญหาพยากรณูปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยการตอบปัญหาพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปัญหาข้อแรกก็คือ เอกํ นาม กิํ อะไรชื่อว่าหนึ่ง คำเฉลยก็คือ อาหารชื่อว่าหนึ่ง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งอาหาร จึงสามารถที่จะดำรงขันธ์นี้อยู่ได้ ในส่วนของผู้ที่มีกายหยาบก็พึ่งอาหารหยาบ ผู้ที่มีกายละเอียดก็พึ่งอาหารทิพย์ เป็นต้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-10-2021 เมื่อ 01:46
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 14-10-2021, 23:36
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ในกุณฑลเกสีเถรีประวัติ ได้กล่าวถึงพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตรเจ้า ได้โต้วาทีกับชัมพุปริพาชิกา ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ปัญหาแรกก็ถามว่า เอกํ นาม กิํ อะไรชื่อว่าหนึ่ง เช่นกัน แม้ว่าชัมพุปริพาชิกาจะได้รับการฝึกสอนมาจากสำนักปริพาชกอย่างดี สามารถที่จะถามปัญหาต่อเนื่องได้เป็นพันข้อ ซึ่งพระสารีบุตรมหาเถระก็แก้ไขได้ทุกข้อ แต่พอถามกลับไปข้อเดียวว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง ชัมพุปริพาชิกาก็ไม่สามารถที่จะตอบได้

พระสารีบุตรต้องเฉลยว่า อาหารชื่อว่าหนึ่ง โดยมีบาลีรับรองว่า สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา คือสัตว์ทั้งหลายจักตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร เมื่อชัมพุปริพาชิกาขอเรียน พระสารีบุตรบอกว่าสอนได้เฉพาะพวกเดียวกัน ดังนั้น...จึงต้องบวชเข้ามาเป็นพระภิกษุณีในพระพุทธศาสนา แล้วท่านก็ศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่งตอนหลังก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

ในส่วนของอาหารนั้น บาลีกล่าวไว้ชัดว่าประกอบไปด้วย กวฬิงการาหาร อาหารที่เป็นข้าว กับ น้ำ ขนม อย่างที่เราท่านทั้งหลาย ได้กิน ได้รับประทานกันอยู่ทุกวัน

ผัสสาหาร อาหารก็คือสิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับเข้าไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถือเป็นอาหารที่สำคัญมาก เพราะถ้าตาไม่ได้เห็นรูป หูไม่ได้ยินเสียง จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส กายไม่ได้สัมผัส บางทีบางท่านถึงขนาดเฉาตายไปเลย..!

นักโทษหลายคนที่เป็นนักโทษเด็ดขาด โดนขังเดี่ยว ไม่ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ใด ๆ กับผู้อื่น ขาดในส่วนของผัสสาหารนี้เป็นอย่างมาก ก็เลยทำให้หลายคนเฉา เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว บางทีกลายเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถที่จะกอบกู้จิตใจของตัวเองคืนมาได้

อีกตัวหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความมุ่งมั่นของใจ ถ้าจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือในขณะที่ทหารกรีกกับเปอร์เซียนรบกัน แล้วทางด้านกรีกชนะแล้ว ให้ทหารชื่อฟิลิปปิเดสเป็นผู้ไปส่งข่าว ซึ่งวิ่งเป็นระยะทาง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตรจากเมืองมาราธอนที่รบกัน ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะต้องไปส่งข่าวให้กับพรรคพวกตนเองได้รู้ว่ากองทัพของตนชนะแล้ว เมื่อไปถึงกรุงเอเธนส์ ส่งข่าวเสร็จเรียบร้อยก็ขาดใจตาย ท่านจะเห็นว่ามโนสัญเจตนาหาร คือความมุ่งมั่นของใจว่าต้องทำหน้าที่นั้นให้สำเร็จเสียก่อน ทำให้สามารถที่จะประคับประคองร่างกายไป จนกระทั่งส่งข่าวได้อย่างที่ตนเองมุ่งมั่นต้องการ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-10-2021 เมื่อ 16:44
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 14-10-2021, 23:40
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่ามาดูในบ้านเราเมืองเรา ผู้ใหญ่หลายท่าน เมื่อเกษียณอายุราชการ อยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต เนื่องจากว่ากำลังใจที่จะมุ่งมั่นว่ายังมีหน้าที่ซึ่งจะต้องประพฤติ จะต้องปฏิบัตินั้นไม่มีแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะมาค้ำร่างกายให้อยู่ต่อไปได้

หรือพระคุณเจ้าทุกรูป ตลอดจนกระทั่งญาติโยมโยคีที่เข้ามาปฏิบัติทุกท่าน เมื่อถึงเวลาเราทุ่มเทกำลังใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อสิ่งนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว บางทีท่านทั้งหลายรู้สึกเหมือนกับหมดสภาพ บางท่านก็หลับเป็นตาย อย่างที่เรียกง่าย ๆ ว่า "สลบไสลไปเลย" ก็มี ก็เพราะว่ามโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความมุ่งมั่นของใจเรานั้นหมดลง กำลังใจของเราไม่ได้คิดที่จะมุ่งต่อไป เพราะรู้สึกว่างานนั้นได้สำเร็จลงแล้ว

ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ในส่วนของอาหารใจจึงเป็นส่วนที่สำคัญมาก ๆ หลายท่านโดยเฉพาะญาติโยมซึ่งทำหน้าที่การงานอยู่ทุกวัน เมื่อถึงเวลาได้พักผ่อน นอนทั้งคืน ตื่นขึ้นมาก็ยังเหนื่อยยังเพลียเหมือนกับไม่ได้พักเลย ก็เพราะว่าเราให้แต่อาหารทางร่างกาย ก็คือ ข้าว กับ น้ำ ขนม จะเป็นอาหาร ๕ หมู่ตามที่นักโภชนาการกำหนด หรือว่าเป็นอาหารที่เรารับประทาน เพื่อที่จะรักษาสภาพร่างกายนี้เอาไว้ให้ประกอบกิจหน้าที่ตามการงานที่ได้รับผิดชอบอยู่ก็ตาม เป็นแค่อาหารทางกายเท่านั้น เราขาดอาหารใจ อาหารใจในที่นี้ก็ไม่ใช่อะไรไกลอื่นเลย ก็คือ ศีล สมาธิ และ ปัญญา โดยเฉพาะตัวสมาธิที่จะหล่อเลี้ยงให้เรานั้นตั้งมั่นอยู่ได้

ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายศึกษาประวัติหลวงปู่หลวงพ่อหลายรูป ยกตัวอย่างชัด ๆ ก็คือ หลวงปู่ครูบาเจ้าเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จังหวัดลำปาง ถ้าตามประวัติจะเห็นว่าท่านฉันภัตตาหารน้อยมาก อย่างดีก็แค่คำสองคำเท่านั้น ลักษณะนั้นคือการที่อยู่ด้วยอาหารใจ ที่ภาษาบาลีเรียกว่า ธรรมปีติ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-10-2021 เมื่อ 01:55
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #5  
เก่า 14-10-2021, 23:47
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

หลายท่านถ้าหากว่าภาวนาไปถึงระดับปีติแล้ว เราจะรู้สึกว่าอิ่มอกอิ่มใจ แม้กระทั่งความร้อนความหนาวของอากาศ ก็ไม่สามารถที่จะกระทบกระเทือนเราได้ จะร้อนจะหนาวอะไรก็ตาม เรารู้สึกสดชื่นอิ่มเอิบอยู่เสมอ ตัวนี้แหละที่เรียกง่าย ๆ ว่าอาหารใจ ถ้าเราสามารถรักษาระดับกำลังใจเอาไว้ได้ เราก็จะไม่ต้องไปแสวงหาอาหารอื่นเสียด้วยซ้ำไป เพราะว่าอยู่ด้วยธรรมปีติ

ตรงจุดนี้ กระผม/อาตมภาพเคยศึกษาจากครูบาอาจารย์และสอบถามรายละเอียดแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านตอบว่า ความจริงแล้วร่างกายยังกินอาหารตามปกติ แต่เป็นการกินในส่วนละเอียด ก็คือดึงเอาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม รอบข้างเข้าไปเอง ด้วยระดับกำลังใจที่ถึงแล้ว สามารถทำในส่วนนั้นได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้น..จึงอยู่ได้โดยอาหารใจ คือ ธรรมปีติ

เราเองไม่สามารถที่จะทำถึงขนาดนั้นได้ ก็ดูว่าในช่วงที่เราปฏิบัติธรรม เมื่อสามารถที่จะกำหนดพองยุบได้โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจับเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือว่าต้องมุ่งมั่น จ้องมอง กำหนด แต่ว่าทุกอย่างเป็นไปเอง ถ้าหากว่าถึงตอนนั้นแล้ว เราจะรู้สึกว่ามีความสดชื่นอิ่มเอิบเป็นพิเศษ ถ้ารักษาอารมณ์นั้นเอาไว้ได้ บางทีก็ไม่รู้สึกหิวไปเป็นวัน ๆ

ในเมื่อเป็นในลักษณะเช่นนั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีการซักซ้อม จนมีความคล่องตัว สามารถรักษาระดับของกำลังใจเอาไว้ได้ เรียกว่า มีความชำนาญที่เป็นวสี ไม่ว่าจะเป็นสมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าสมาธิ วุฏฐานวสี ชำนาญในการออกสมาธิ เป็นต้น เรียกว่าคล่องตัวในวสี ๕ นึกจะเข้าเมื่อไรก็ได้ นึกจะออกเมื่อไรก็ได้ ต้องการเข้าเป็นระยะเวลามากน้อยเท่าไรก็ได้

ถ้าลักษณะอย่างนั้น เราแค่รักษากำลังใจอยู่ในระดับของปีติ ก็จะสามารถที่จะอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยอาหารหยาบจากภายนอก แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ บางทีก็เกินความสามารถของเรา แต่ขอให้เข้าใจว่า ถึงเวลาท่านไม่ได้พักแต่ร่างกาย แต่ว่าใจได้พักด้วย เนื่องจากว่าใจของเรานั้นฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างกับบุคคลที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา เมื่อสามารถเข้าสู่ความสงบอย่างแท้จริง ใจของเราได้พักด้วย ก็ทำให้เราหายเหนื่อย หายเพลียจากกิจการงานทุกอย่าง ซึ่งก่อนหน้านั้น รู้สึกว่าพักเท่าไร ก็ไม่หายเหนื่อย พักเท่าไรก็ไม่หายเพลีย เป็นเพราะว่าขาดการพักทางใจนั่นเอง
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-10-2021 เมื่อ 01:57
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #6  
เก่า 14-10-2021, 23:52
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาปฏิบัติธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่พวกเรารักยิ่งนั้น ถือว่าเป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยกตัญญูกตเวทิตาคุณ ประกอบไปด้วยบุญญาบารมี แล้วขณะดียวกันก็เป็นผู้ที่ตั้งใจขัดเกลาฝึกฝน กาย วาจา และใจ ของตนเอง เพื่อที่จะให้เข้าไปสู่ความก้าวหน้าระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยการสลัด ตัด ละ สิ่งต่าง ๆ ออกไปทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งท้ายที่สุด ก็สามารถหลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะเข้าสู่พระนิพพานได้

ตรงจุดนี้ที่ท่านทั้งหลายกระทำอยู่ หลายท่านได้ฟังธรรมบรรยายจากครูบาอาจาย์อยู่ทุกวัน ในส่วนของการฟังธรรมบรรยาย ถือว่าเป็นอาหารใจอย่างหนึ่ง แล้วขณะเดียวกันได้เห็นรูปครูบาอาจารย์ เป็นสมณานญฺจ ทสฺสนํ การได้เห็นสมณะคือนักบวชเป็นอุดมมงคลอย่างหนึ่ง การได้ยินเสียงธรรม ถือว่าเป็นการรับอาหารทางหูอีกอย่างหนึ่ง

ตาได้เห็นรูป หูได้ยินเสียง ใจรับเอาหลักธรรมที่เหมาะสมกับตนเองเข้าไป ก็จะสามารถทำให้เราท่านทั้งหลายนั้นเกิดความอิ่มเอิบขึ้นมาในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเราเผลอเมื่อไร ก็จะหลุด จะเลือน จะหายไป ดังนั้น...ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ถึงได้ตอกย้ำหนักหนาว่า ต้องจดจ่อ ต่อเนื่อง ตามกันทุกลมหายใจเข้าออก

แต่อีกส่วนหนึ่งนั้น การที่เราได้ฟังธรรมอยู่บ่อย ๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าถ้าเราคัดไม่เป็น เลือกไม่เป็น หาส่วนที่เหมาะสมกับตนเองไม่ได้ บางทีก็จะก่อให้เกิดโทษ ก็คือความฟุ้งซ่าน เพราะได้ยินครูบาอาจารย์กล่าวถึงเรื่องไหน เราก็อยากมีอย่างนั้น อยากได้อย่างนั้น อยากเป็นอย่างนั้น

ถ้าหากว่าความอยากเกิดขึ้นเมื่อไร ขอให้ทราบว่า อุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่านได้เกิดขึ้นกับใจของเราแล้ว กำลังใจของเราไม่มั่นคงแล้ว ถ้าหากว่ารู้ตัว เราก็ต้องกำหนดว่า "รู้หนอ รู้หนอ" หรือว่า "ฟุ้งซ่านหนอ ฟุ้งซ่านหนอ" หรือว่า "คิดหนอ คิดหนอ" แล้วแต่ความถนัด ความชำนาญของแต่ละคน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-10-2021 เมื่อ 02:00
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #7  
เก่า 14-10-2021, 23:57
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถ้าฝึกปฏิบัติมาตามสายวิสุทธิมรรค ก็รีบวิ่งกลับเข้าหาลมหายใจเข้าออกเสียก่อน เมื่อเรากลับเข้าไปหาลมหายใจเข้าออก หรือว่ากลับไปดูพองยุบของเรา ก็จะทำให้ความฟุ้งซ่านที่ปรากฏขึ้นนั้น ค่อย ๆ จางหายไป ตามลำดับของความมั่นคงของกำลังใจของเรา ตามกำลังใจของพองยุบ หรือการอยู่กับลมหายใจเข้าออก

การฟังธรรมที่ได้ประโยชน์นั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีกระดาษ มีปากกาอยู่ใกล้มือ เมื่อถึงเวลาตรงไหนสะดุดใจของเรา ให้รีบจดเอาไว้ เพราะแสดงว่ากำลังใจของเรารองรับในตรงส่วนนั้นได้ พร้อมที่จะนำมาก่อประโยชน์ให้เกิดกับตนเอง แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายไม่ได้จดไว้ แต่ว่าใช้วิธีจำ จิตของเราถึงมีสภาพจำ แต่ถ้าหากว่าขาดความมั่นคงจริง ๆ ก็จะเลือนหายไปในระยะเวลาไม่นาน

ดังนั้น...ถึงได้มีคำกล่าวว่า สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตฺโต กถํ โส ปณฺฑิโต ภเว การที่ท่านทั้งหลายจะได้ชื่อว่าบัณฑิตนั้น ต้องประกอบไปด้วย สุ จิ ปุ ลิ ซึ่งเป็นคำย่อ

สุ มาจาก สุตตะ คือต้องมีการฟัง ได้ยินมามาก ได้ฟังมามาก ศึกษามามาก รู้เห็นมามาก อย่างนี้จัดว่าเป็นสุตตะทั้งหมด

จิ คือจิตตะ ต้องคิดตามไป ซึ่งถ้านึกถึงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่พระมหากัสสปะ ในตอนที่อธิษฐานเพศนักบวชออกไป แล้วพบกับที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พหุปุตตนิโครธ พระองค์ท่านทรงให้โอวาท ๓ ข้อ

ข้อหนึ่งก็คือ กัสสปะเมื่อเธอฟังธรรม จงเงี่ยหูฟังและตั้งใจพิจารณาในเนื้อความ ก็คือการคิดเพื่อหาประโยชน์ที่เป็นแก่นสารจริง ๆ ของหลักธรรม ที่เหมาะสมแก่ตนเองให้ได้ จะได้นำมาประพฤติปฏิบัติ

แต่ขณะเดียวกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสอีกข้อหนึ่งว่า ดูก่อนกัสสปะ...เธอจงอย่าละสติที่ไปในกาย นั่นคือกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน การที่กำหนดรู้อยู่เสมอทุกอิริยาบถ ว่าขณะนี้เรา ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน คิด พูด ทำ อย่างไร ให้กำหนดสติรู้อยู่ตลอดเวลา

ถ้าหากว่าเราทำในลักษณะนี้ได้ก็คือ เมื่อฟังธรรมแล้ว ตั้งใจพิจารณาเนื้อความ ส่วนไหนเหมาะแก่เราก็จดเอาไว้ ถึงเวลาจะได้นำไปทบทวน สร้างความจำที่แม่นยำ และขณะเดียวกันก็ทำให้สามารถขบคิด จนกระทั่งเข้าใจถึงหลักธรรมอย่างแท้จริงได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-10-2021 เมื่อ 02:03
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #8  
เก่า 15-10-2021, 00:01
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ข้อต่อไปก็คือ ปุจฉา สงสัยตรงไหน เราต้องไต่ถาม เพื่อที่จะแก้ข้อสงสัยที่พึงมีพึงเกิดขึ้น จนกระทั่งสามารถก้าวพ้นจากปัญหาตรงนั้นไปได้

ข้อสุดท้าย คำว่า ลิ ก็คือ ลิขิต เขียนเอาไว้ ดังนั้น...เราต้องฟัง ต้องคิด ต้องถาม ต้องเขียน กำหนดจดจำเอาไว้ ทำให้เราทั้งหลายสามารถที่จะปฏิบัติธรรมแล้วมีความก้าวหน้า

โดยเฉพาะในแต่ละวัน ท่านที่เป็นนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระดับมหาบัณฑิตก็ดี ดุษฎีบัณฑิตก็ดี
ถ้าหากว่าปฏบัติอยู่ในสาขาวิปัสสนาภาวนา ท่านจะต้องจดอารมณ์ในการปฏิบัติของตนไว้ ตรงจุดนั้นจะเป็นการทบทวนตนเองที่ดีที่สุด เมื่อพ้นจากช่วงการปฏิบัติในแต่ละวัน ซึ่งเราจดเอาไว้แล้ว เมื่อกลับมาทบทวนดู เราก็จะรู้ว่ามีข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดตรงไหน แล้วเราก็สามารถที่จะแก้ไขตรงจุดนั้น จนกระทั่งดีขึ้นมา และก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

ดังนั้น...วันนี้ที่ท่านทั้งหลายมาปฏิบัติธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของเรา และตลอดโครงการนี้ เราก็ได้ฟังครูบาอาจารย์แสดงธรรมหลายวันต่อเนื่องกัน ตรงจุดนี้ทุกท่านควรที่จะประพฤติปฏิบัติในลักษณะของผู้ที่มีหัวใจนักปราชญ์ ก็คือ ฟัง คิด ถามและเขียน จดจำเอาไว้ เพื่อที่จะได้ทบทวน และขณะเดียวกันก็นำไปใช้ในโอกาสต่อ ๆ ไป หรือถ้าหากว่าจะถ่ายทอดต่อผู้อื่น เราก็จะได้ถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือว่าตรงตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้

ตอนนี้ก็เหลือระยะเวลาช่วงท้ายอยู่ประมาณ ๑๕ นาที ไม่ว่าพระเดชพระคุณทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรม หรือญาติโยมโยคีบุคคลฝ่ายฆราวาสที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในโครงการ หรือว่าท่านที่ฟังอยู่ทางบ้านก็ตาม หากมีสิ่งหนึ่งประการใดที่สงสัยในการปฏิบัติธรรม สามารถที่จะสอบถามได้ ขออนุญาตเรียนเชิญและเจริญพรเชิญทุกท่าน สอบถามได้ตั้งแต่บัดนี้ มีเวลาให้ประมาณ ๑๕ นาที
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-10-2021 เมื่อ 02:06
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #9  
เก่า 16-10-2021, 22:18
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : คำว่า การกำหนดกายในกาย ที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการกำหนดอย่างไรครับ ?

ตอบ : เอาสั้น ๆ แค่ว่าอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรืออยู่กับพองยุบนั่นแหละครับ คือกายในกายของเรา
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-10-2021 เมื่อ 03:32
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #10  
เก่า 16-10-2021, 22:21
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : ถ้าเป็นอาหารกาย หนูเลือกกินได้ กินให้อิ่มอย่างที่ต้องการได้ แต่ถ้าเป็นอาหารใจ ที่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว หนูยังปฏิบัติไม่ถึง ไม่อิ่มอย่างที่ต้องการ ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรคะ ?

ตอบ : อันดับแรกเลย ต้องศึกษาจากตำราก่อน ถ้าหากว่าชอบใจคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านใด ก็ประพฤติปฏิบัติตามนั้น ก็คือเหมือนกับเราเข้าร้านอาหาร แล้วก็เลือกอาหารที่ถูกปากของเรา ถูกใจของเรา แล้วเราก็จะได้กินอาหารที่ถูกปากถูกใจนั้น

ขณะเดียวกันก็ลองดูว่ามีครูบาอาจารย์หรือว่าร้านอาหารอื่นที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ ? ถ้าหากว่าเราประพฤติปฏิบัติไป หรือว่าเข้าร้านอาหารไประยะหนึ่ง เราก็จะสามารถบอกได้เองว่าอาหารนั้นเหมาะสมกับเราหรือยัง ? ถ้ายังไม่เหมาะสม เราก็ศึกษาต่อไปว่า มีแนวทางใดที่เหมาะสมไปยิ่งกว่านี้ ? หรือถ้าหากว่าเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ก็รักษาการปฏิบัติของเราให้จริงจังและสม่ำเสมอเพื่อที่จะได้เกิดผลแก่ตนเองอย่างแท้จริง

ความจริงจังและสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทุกคนจะละเว้นเสียไม่ได้ จริงจังตัวนี้ก็คือสัจจะ จะต้องมีความจริงจังจริงใจต่อการปฏิบัติ ที่เรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ คือ ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ไม่ใช่ทำเล่น ๆ เหมือนกับแก้บน แล้วขณะเดียวกัน คำว่าสม่ำเสมอตัวนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สม่ำเสมอไว้ กระแสโลกที่แรงมากก็จะดึงเราไหลตามไป แล้วจะแก้ไขกลับคืนมาได้ยากมาก

ดังนั้น...อันดับแรกเลยก็คือศึกษาตำราก่อน แล้วชอบใจปฏิปทาหรือคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านใด ก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาทุ่มเทปฏิบัติไปตามนั้น..ขอเจริญพร
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-10-2021 เมื่อ 03:33
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #11  
เก่า 16-10-2021, 22:25
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : เราจะรักษาอารมณ์สมาธิให้ต่อเนื่องด้วยวิธีไหนได้บ้าง ? และวิธีไหนเป็นการปฏิบัติที่ง่ายต่อการเริ่มต้นในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครับ ?

ตอบ : คำถามนี้ต้องตอบจากข้างหลังมาข้างหน้า วิธีที่ง่ายที่สุดในการปฏิบัติเบื้องต้นก็คือ ให้ดูพองยุบหรือว่าดูลมหายใจเข้าออกของเราเป็นหลัก เพราะว่านั่นจะเป็นตัวสร้างสมาธิของเราให้มั่นคง ถ้าหากว่าไม่มีตรงจุดนั้นแล้ว ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น บางทีเรายังพิจารณาไม่เป็น ยังกำหนดรู้ไม่เป็น ก็จะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ แล้วก็ทิ้งการปฏิบัติไปเฉย ๆ

เมื่อปฏิบัติไปแล้ว กำลังใจของเราเริ่มทรงตัวมั่นคงแล้ว ก่อนที่จะเลิก ให้ตั้งใจก็คือตั้งสติ ประคับประคองอารมณ์นั้นเอาไว้ โดยกำหนดใจของเราให้นิ่งอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็ได้ คำว่ากำหนดใจในที่นี้คือ กำหนดความรู้สึกของเรา ให้นิ่งอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเราก่อน แล้วค่อยขยับ ไม่ว่าจะเป็นการกราบพระ หรือว่าไปประกอบกิจการงานหน้าที่ต่าง ๆ ของเรา

ถ้าหากว่าเราตั้งสติประคองไว้ในลักษณะอย่างนี้ ก็จะรักษาอารมณ์ต่อจากการที่เรานั่งได้อีกระยะหนึ่ง บางท่านไม่มีความชำนาญ ไม่มีนาทีก็หายไปแล้ว แต่ว่าให้ซักซ้อมบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ท่านก็จะรักษาระยะเวลาเหล่านั้นได้นานขึ้น ๆ จนกระทั่งได้เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ถ้าหากว่าถึงตอนนั้น ความสงบที่เกิดขึ้นมาก ท่านทั้งหลายก็จะมีปัญญารู้เองว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติต่ออย่างไร ถึงจะรักษาอารมณ์ใจของเราให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่านั้น

ดังนั้น...อันดับแรกเลยก็คือว่า การปฏิบัติเริ่มต้นให้ดูพองยุบ หรือว่าดูลมหายใจเข้าออก แล้วแต่ว่าเรามาในสายพองยุบหรือว่ามาในสายวิสุทธิมรรค

อันดับที่สอง เมื่อทำได้แล้ว อย่าทิ้งไปเฉย ๆ ต้องตั้งสติ..ประคับประคองอารมณ์นั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุด โดยการสำรวมอินทรีย์ คือระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเอาไว้ อย่าให้หลุดไปจากอารมณ์การปฏิบัติตรงหน้า ท่านก็จะสามารถรักษาอารมณ์นั้นเอาไว้ได้ ถ้ามีการซักซ้อมบ่อย ๆ ก็จะทรงตัวได้นานตามที่ต้องการ ก็ขอเรียนถวายเอาไว้แต่เพียงแค่นี้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-10-2021 เมื่อ 03:35
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #12  
เก่า 16-10-2021, 22:30
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : ที่พระอาจารย์บอกว่าให้รักษาสติเรื่อย ๆ ?

ตอบ : ถ้าหากว่าเราสามารถรู้ลมหายใจเข้าออก หรือว่าสามารถที่จะกำหนดพองยุบได้โดยอัตโนมัติ ก็แค่เอาสติจดจ่ออยู่ตรงอาการนั้นเท่านั้น แต่ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจะลำบากหน่อย เพราะว่าแค่ขยับ..ความมั่นคงยังไม่มี ก็จะทำให้สมาธิหลุดหายไปแล้ว

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือตัวสติกำหนดรู้ รู้อยู่ว่าตอนนี้สภาพจิตของเราเสวยอารมณ์ที่ดีอย่างไร ก็ประคับประคองรักษาอารมณ์ที่ดีนั้นเอาไว้ ถ้าหากว่ามีอารมณ์ที่ไม่ดีเข้ามา ก็ขับไล่ออกไป แล้วก็พยายามอย่าให้อารมณ์นั้นเข้ามาอีก ก็แปลว่าเราละสิ่งที่ไม่ดี ระมัดระวังอย่าให้เข้ามา รักษาสิ่งที่ดีเอาไว้ และทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป..ขอเจริญพร
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-10-2021 เมื่อ 03:35
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #13  
เก่า 16-10-2021, 22:31
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : ถ้ากำหนดนิมิต อย่างทางสายสัมมาอะระหังของหลวงพ่อสด อย่างกำหนดพระธรรมกาย เราจะรักษาอย่างไรคะ ? รักษาโดยที่เรากำหนดนิมิตอยู่ศูนย์กลางกายแบบนั้นใช่ไหมคะ ?

ตอบ : เอาใจจดจ่ออยู่ที่นิมิตนั้น ไม่ว่าจะขยับเขยื้อนเคลื่อนกายไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ให้แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งระลึกถึงนิมิตนั้นอยู่เสมอ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-10-2021 เมื่อ 03:36
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #14  
เก่า 16-10-2021, 22:37
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : เนื่องจากว่างานที่ทำอยู่เกี่ยวข้องกับเยาวชน สมัยนี้เยาวชนก็ห่างไกลพระพุทธศาสนา ขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ว่า เราจะใช้ความรู้หรือว่าสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเจนฯ Y เจนฯ Z ให้หันสนใจในพระพุทธศาสนาหรือว่าดำรงตนอยู่ในศีล ๕ ได้อย่างไรเจ้าคะ ?

ตอบ : เป็นคำถามที่ดีมาก แต่ว่าตรงจุดนี้คำแนะนำของอาตมภาพอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่น

สิ่งที่เราจะทำให้ผู้คนสนใจในการปฏิบัติธรรมก็คือ เราต้องทำตนเองให้ได้ผลก่อน ถ้าหากว่าเราทำจนได้ผลแล้ว สิ่งที่เราแสดงออกทางกาย ทางวาจา ทางใจ จะมีแรงดึงดูดให้คนอื่นเข้ามาเอง ลักษณะคล้าย ๆ กับแม่เหล็กที่ดูดเศษเหล็ก ถ้าเราสร้างความดีมาก ๆ ก็จะดึงดูดคนที่ดีมากเข้ามาก่อน แล้วหลังจากนั้นเมื่อมากขึ้น ๆ คนที่ดีน้อยก็จะโดนดึงดูดเข้ามา ถ้ากำลังเรามากเพียงพอ แม้แต่คนที่หาความดีไม่ได้ ก็จะโดนดึงดูดเข้ามาด้วย

ดังนั้น...ในส่วนนี้เราต้องสร้างตัวเราเองให้คนเห็นแล้วเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เราบอกกล่าวเขานั้น เราทำได้แล้วจริง ๆ ก็อยู่ในลักษณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ท่านประพฤติปฏิบัติไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว สามารถที่จะประกาศบอกได้อย่างชัดเจน พระองค์ท่านจึงนำไปบอกกล่าวผู้อื่น อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า เอหิปัสสิโก ก็คือขอให้เธอทั้งหลายเข้ามาพิสูจน์ได้เลย สิ่งที่ตถาคตบอกกล่าวนี้เป็นความจริงแท้แน่นอน

ดังนั้น...การที่เราจะไปใช้วิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะทันสมัยขนาดไหน จะทำโครงการน่าสนใจขนาดไหนก็ตาม ถ้าหากว่าตัวเราเองขาดความน่าเชื่อถือ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปได้ตามที่ต้องการ

จึงขอเจริญพรแจ้งโยมว่า ทำตัวเราเองให้ได้รับประโยชน์สูงสุด หรือได้รับประโยชน์มากที่สุด จากหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ให้ตัวเราเองมั่นคงเสียก่อน แล้วหลังจากนั้นเราถึงจะมีกำลังที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นให้ดีได้ตามที่เราต้องการ..ขอเจริญพร
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-10-2021 เมื่อ 03:38
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #15  
เก่า 16-10-2021, 22:46
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : การปฏิบัติในหลักสติปัฏฐาน ๔ คำว่ากำหนดรู้ธรรมในธรรม อยากให้ช่วยอธิบายหลักการในการปฏิบัติในธัมมานุธัมมปฏิปัตติครับ ?

ตอบ : อารมณ์อะไรที่เกิดขึ้นกับเรา ให้รู้เท่าทันอารมณ์นั้น ๆ ก็คือ หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด กลุ้มก็รู้ว่ากลุ้ม ดีใจก็รู้ว่าดีใจ เสียใจก็รู้ว่าเสียใจ ในลักษณะอย่างนี้ เป็นต้น

แต่ว่าขณะเดียวกันไม่ใช่กำหนดรู้เฉย ๆ เลือกในส่วนที่ดีและเป็นประโยชน์แก่เราขึ้นมา แล้วก็ละทิ้งในส่วนที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์แก่เราออกไป ถ้าหากว่าเราทำในลักษณะอย่างนี้ได้ ถึงจะเรียกว่าปฏิบัติถึงธรรมในธรรมอย่างแท้จริง

คราวนี้การที่เราปฏิบัติตรงจุดนี้ อยากจะเรียนถวายหลวงพ่อ ตลอดจนกระทั่งบอกกล่าวแก่ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติในสายสติปัฏฐานสูตรว่า หลักธรรมในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พระพุทธเจ้าเทศน์เป็นการเฉพาะ ก็คือเฉพาะชาวแคว้นกุรุที่มีกำลังใจสูงมากในการปฏิบัติธรรม แปลว่ามีพื้นฐานที่ดีและมั่นคงมาก ถ้าหากว่าเปรียบไปแล้ว ก็เหมือนกับบุคคลที่เรียนจบปริญญาโทแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเอาหลักธรรมในมหาสติปัฏฐานสูตรที่เป็นปริญญาเอกมา เขาสามารถที่จะรับ และนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย

แต่สำหรับคนทั่ว ๆ ไปแล้ว ขอให้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสเทศน์หลักธรรมเหล่านี้เพื่อบุคคลทั่วไป เราจะสามารถคลำได้เฉพาะในส่วนของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น พอเริ่มไปถึง
เวทนานุปัสสนาฯ จิตตานุปัสสนาฯ ธัมมานุปัสสนาฯ เราจะเริ่มไปไม่เป็นและออกทะเล..!
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-10-2021 เมื่อ 03:39
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #16  
เก่า 16-10-2021, 22:46
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ดังนั้น...ในส่วนนี้ถ้าหากว่าเราเข้าใจว่ามหาสติปัฏฐานสูตรเป็นหลักธรรมเฉพาะ เราก็จะไม่ไปเคร่งเครียดมาก พอเราไม่เคร่งเครียดมาก กำลังใจก็จะลงในจุดของมัชฌิมาปฏิปทาพอดี แล้วเราค่อย ๆ ก้าวเดินไป ก็จะสามารถไปได้ เหมือนอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการครับ

ตรงส่วนนี้ถ้าหากว่าบอกกล่าวไปแล้ว บางทีก็เป็นการทำลายกำลังใจของบางคน แต่ว่าเรื่องที่เป็นความเป็นจริงเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวกัน ไม่อย่างนั้นก็จะเข้าใจผิด ว่าทำไมเราทำไม่ได้เสียที โดยที่ลืมนึกไปว่าพระพุทธเจ้าท่านเทศน์ตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อให้เหมาะแก่จริตของแต่ละบุคคล แต่ละสถานที่ แต่ละเวลาที่ไม่เหมือนกัน เราเลือกเอาในส่วนที่เหมาะสมกับเราแล้วปฏิบัติ ก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน

หลักธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติจริง ๆ หมวดใดหมวดหนึ่งก็สามารถเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ หลวงพ่อลองดูตอนท้ายของแต่ละบรรพสิครับ นะ จะ กิญจิ โลเก อุปาทิยะติ เราจะไม่ยึดอะไร ๆ เลยแม้แต่น้อยหนึ่งในโลกนี้ ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็แปลว่าเราเรียนจบแล้วครับ

ดังนั้น...ไม่ว่าจะเป็นอานาปานปัพพะ อิริยาปถปัพพะ จนกระทั่งถึงตอนท้าย ๆ เราสามารถทำปัพพะ หรือว่าบรรพไหน ตอนไหนได้ ก็สามารถที่จะเข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เช่นกันครับ จึงขอเรียนถวายหลวงพ่อไว้เท่านี้ครับ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-10-2021 เมื่อ 03:41
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #17  
เก่า 18-10-2021, 08:13
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : การกำหนดรู้ธรรมในธรรม หมายถึงว่าจิตที่เป็นกุศล ก็รู้ว่าเป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล ก็รู้ว่าเป็นอกุศลใช่ไหมครับ ?

ตอบ : นั่นเป็นส่วนของจิตในจิตครับ ธรรมในธรรมที่ถูกต้องคือ น้อมนำในส่วนที่เป็นกุศลมาใช้งาน ละทิ้งในส่วนที่เป็นอกุศล ก็คือในส่วนของความชั่วพยายามที่จะกั้นไว้ อย่าให้เข้ามา ในส่วนของความดีพยายามทำให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปครับ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-10-2021 เมื่อ 02:11
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #18  
เก่า 18-10-2021, 08:18
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถาม : ในระหว่างอาหารใจกับอาหารกาย เราควรจะให้อาหารกายมากกว่าอาหารใจ หรือควรให้อาหารใจมากกว่าอาหารกาย หรือว่ากายกับใจควรจะไปพร้อมกันครับ ? หรือเราจะให้อาหารอย่างไรให้กายกับใจไปพร้อมกัน แล้วทำให้เราตั้งอยู่ในความดีได้นาน โดยที่ไม่ได้ไหลไปตามกระแสโลกครับ ?

ตอบ : ปฐมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวถึงมัชฌิมาปฏิปทา อะไรที่มากเกินไป ต่อให้เป็นของดี เราก็เดือดร้อนได้ อย่างเช่นว่าทุกคนต้องกินข้าว ถ้าเขาเอาข้าวสาร ๕ กิโลกรัมมา เราก็สามารถรับไว้ด้วยความยินดี แต่ถ้าโยนกระสอบละ ๑๐๐ กิโลกรัมมา เราอาจจะโดนทับตาย ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่เราต้องการ ดังนั้น...ไม่ว่าจะอาหารกายหรืออาหารใจก็ตาม ต้องมีความพอเหมาะ พอดี พอควร เป็นมัชฌิมาปฏิปทาครับ

ในเรื่องอาหารกายนั้นง่าย เราก็แค่เลือกเอาว่าเราจะกิน ๒ มื้อ หรือว่ากินมื้อเดียว หรือถ้าหากว่าเป็นชีวิตฆราวาส เราเองจำเป็นต้องทำงาน ต้องกิน ๓ มื้อ ก็เลือกกินให้ถูกตามหลักโภชนาการอย่างหนึ่ง แล้วขณะเดียวกันก็กินให้ถูกปริมาณอย่างหนึ่ง อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญเขาบอกว่า "ตอนเช้าเต็มที่ ตอนกลางวันลดลงครึ่งหนึ่ง ตอนเย็นไม่กินเลยก็ได้" เหล่านี้เป็นต้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-10-2021 เมื่อ 02:12
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #19  
เก่า 18-10-2021, 08:20
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,120 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ส่วนอาหารใจนั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายทำไป ตอนต้นยังไม่เป็นไร ก็คือ เราอาจจะกำหนดเวลาของเรา ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงได้ตามใจ แต่ถ้าหากว่าปีติเริ่มเกิด จะรู้สึกไม่อิ่ม ไม่เบื่อ ไม่หน่ายในการปฏิบัติธรรม บางท่านก็โหมกันข้ามวันข้ามคืน แล้วหลังจากนั้น บางที "พัง" ไปเป็นเดือน ๆ เลย เพราะว่าการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการทำงาน เราทุ่มเทกับงานอย่างชนิดหามรุ่งหามค่ำ เมื่อถึงเวลา "หมดสภาพ" ขึ้นมา เราก็ไม่สามารถที่จะทำงานต่อได้อีก

ดังนั้น...ตรงจุดนี้ต้องพิจารณาในมัชฌิปมาปฏิปทาให้จงหนัก เพราะว่าบางท่านนั่งกรรมฐาน ๓ วัน ๓ คืน รู้สึกว่ากำลังดี แต่ของเราเอง ๓๐ นาทีก็แย่แล้ว ถ้าลักษณะอย่างนั้น พอครบ ๓๐ นาที เราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ไปเดิน หรือว่าไปยืน เหล่านี้เป็นต้น ก็จะทำให้เราสามารถประคับประคองรักษากำลังใจของเราให้ต่อเนื่องไปได้

ไม่อย่างนั้นถ้าไปถึงที่สุดของกำลังใจแล้ว เหมือนอย่างกับแบตเตอรี่เต็ม เราไม่สามารถที่จะชาร์จต่อได้ ขืนชาร์จไป ดีไม่ดีหม้อแบตฯ ก็ระเบิด แต่ว่านักปฏิบัติของเราหม้อแบตฯ ไม่ได้ระเบิด แต่ไประเบิดอารมณ์ใส่คนอื่นเขา ตรงจุดนี้ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น คำถามนี้..คำตอบเดียวคืออยู่ที่ตรงมัชฌิมาปฏิปทาและทำให้ต่อเนื่องเท่านั้น ขอเจริญพร



พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
ธรรมบรรยาย เรื่อง อาหารใจ
วันอังคารที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-10-2021 เมื่อ 02:15
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:17



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว