#1
|
||||
|
||||
ปัญจกะ คือ หมวด ๕
อนันตริยกรรม ๕
๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้เแตกจากกัน กรรม ๕ อย่างนี้ เป็นบาปหนักที่สุด ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิก ผู้นับถือพระพุทธศาสนาห้ามไม่ให้ทำเป็นอันขาด อนันตริยกรรม แปลว่า กรรมที่ให้ผลในภพที่ติดต่อกันทันที อธิบายว่า ผู้ทำอนันตริยกรรม ทั้ง ๕ นี้ ข้อใดข้อหนึ่ง หลังจากตายแล้วต้องไปตกนรกชั้นอเวจีทันที ไม่มีกุศลกรรมอะไรจะมาช่วยได้ เช่น พระเทวทัต เป็นต้น กรรมทั้ง ๕ นี้ ท่านกล่าวว่า ตั้งอยู่ในฐานปาราชิก หมายความว่า ผู้ทำกรรมนี้เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อความดี เป็นผู้อาภัพคือหมดโอกาสที่จะได้ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ เพราะต้องตกนรกอเวจีสถานเดียว
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-11-2017 เมื่อ 16:08 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
อภิณหปัจจเวกขณะ ๕
๑. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๒. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ ๓. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๔. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๕. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว อภิณหะ แปลว่า เนือง ๆ เสมอ หรือเป็นประจำ ปัจจเวกขณะ แปลว่า การพิจารณา คือเก็บเอามาคิดเพื่อให้เข้าใจความจริง อภิณหปัจจเวกขณะ จึงมีความหมายว่า การพิจารณา หรือการคิดเนือง ๆ เพื่อให้เข้าใจความจริง พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ควรพิจารณาเนือง ๆ ถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากบุคคล และของรัก และผู้ที่ทำความดีความชั่วแล้วได้รับผลดีและผลร้าย ๑. เห็นคนแก่ชราภาพ ให้นึกว่า เราก็จะต้องแก่อย่างนั้น จะช่วยบรรเทาความมัวเมาในวัย ๒. เห็นคนเจ็บทุกข์ทรมาน ให้นึกว่า เราก็จะต้องเจ็บอย่างนั้น จะช่วยบรรเทาความมัวเมาว่าตนไม่มีโรค ๓. เห็นคนตาย ให้นึกว่า เราก็จะต้องตายอย่างมากไม่เกิน ๑๐๐ ปี จะช่วยบรรเทาความมัวเมาในชีวิต คิดว่าตัวเองจะอยู่ค้ำฟ้า ๔. เห็นคนประสบความวิบัติจากคนรักและทรัพย์สินเงินทอง ให้นึกว่า ความจากกันนั้นมีแน่ ไม่เขาจากเรา ก็เราจากเขา จะช่วยบรรเทาความยึดติดผูกพันในคนรักและของรัก ๕. เห็นคนผู้ทำความดีและความชั่วแล้ว ได้รับผลดีและผลร้าย ให้นึกว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน จะช่วยบรรเทาความทุจริตต่าง ๆ ได้
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-11-2017 เมื่อ 16:07 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ธัมมัสสวนานิสงส์ คือ อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ อย่าง
๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด ๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้ ๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ ๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส การฟังธรรม เป็นอุบายวิธีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้บุคคลบางประเภท ละชั่วประพฤติชอบได้ และเป็นเหตุให้บุคคลบางประเภทแม้เป็นคนดี มีความฉลาดอยู่แล้ว บรรลุผลอันสูงสุดของชีวิตได้ เช่น อุปติสสปริพพาชก เป็นต้น พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า บุคคลในโลกนี้มี ๓ ประเภท คือ ๑. บางคนจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกหรือไม่ก็ตาม ก็ละชั่วประพฤติชอบไม่ได้ เปรียบเหมือนคนไข้บางคน จะได้อาหาร ที่อยู่และหมอที่ดีหรือไม่ โรคก็ไม่หาย ตายสถานเดียว ๒. บางคนจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกหรือไม่ ก็ละชั่วประพฤติชอบได้เอง เปรียบเหมือนคนไข้บางคน จะได้อาหาร ที่อยู่และหมอที่ดีหรือไม่ โรคก็หายเอง ๓. บางคนต้องได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกเท่านั้น จึงละชั่วประพฤติชอบ เปรียบเหมือนคนไข้บางคน ต้องได้อาหาร ยาและหมอที่ดี โรคจึงหาย เมื่อไม่ได้ก็ไม่หาย การฟังธรรม จึงเป็นประโยชน์โดยตรงแก่บุคคลประเภทที่ ๓ แต่บุคคลประเภทที่ ๑ ก็ควรฟังเพื่อเป็นอุปนิสัยในภายหน้า และบุคคลประเภทที่ ๒ ก็ควรฟังเพื่อความรู้ความเข้าใจภูมิธรรมที่สูงขึ้น เพื่อจำง่าย ย่ออานิสงส์ ๕ ลงได้ดังนี้ ได้ฟังเรื่องใหม่ เข้าใจเรื่องเก่า บรรเทาความสงสัย ทำลายความเห็นผิด ดวงจิตผ่องใส
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-11-2017 เมื่อ 19:13 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
พละ คือ ธรรมเป็นกำลัง มี ๕ อย่าง
๑. สัทธา ความเชื่อ ๒. วิริยะ ความเพียร ๓. สติ ความระลึกได้ ๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๕. ปัญญา ความรอบรู้ อินทรีย์ ๕ ก็เรียกเพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน พละ แปลว่า ธรรมมีกำลัง มีความหมาย ๒ อย่าง คือ ๑. ครอบงำ ย่ำยีธรรมที่เป็นข้าศึกที่เกิดขึ้นแล้วได้ เปรียบเหมือนช้างสามารถเหยียบมนุษย์ หรือเอางวงจับฟาดตามสบาย เพราะมีกำลังมากกว่า ๒. อันธรรมที่เป็นข้าศึกให้หวั่นไหวไม่ได้ เปรียบเหมือนภูเขา อันมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายมีช้าง เป็นต้น ทำให้หวั่นไหวไม่ได้ เพราะมีความแข็งแกร่งกว่า สภาพที่ข้าศึก คือ ความไม่มีศรัทธา (อสัทธิยะ) ให้หวั่นไหวไม่ได้ ชื่อว่า สัทธาพละ สภาพที่ข้าศึก คือ ความเกียจคร้าน (โกสัชชะ) ให้หวั่นไหวไม่ได้ ชื่อว่า วิริยพละ สภาพที่ข้าศึก คือ ความขาดสติ (สติวิปวาสะ) ให้หวั่นไหวไม่ได้ ชื่อว่า สติพละ สภาพที่ข้าศึก คือ ความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจะ) ให้หวั่นไหวไม่ได้ ชื่อว่า สมาธิพละ สภาพที่ข้าศึก คือ ความไม่รู้ (อวิชชา) ให้หวั่นไหวไม่ได้ ชื่อว่า ปัญญาพละ อีกนัยหนึ่ง กุศลธรรมที่ครอบงำ อสัทธิยะ โกสัชชะ สติวิปวาสะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้ชื่อว่า สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ และ ปัญญาพละ ตามลำดับ
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ขันธ์ ๕
กายกับใจนี้ แบ่งออกเป็น ๕ กอง เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ ๑. รูป ๒. เวทนา ๓. สัญญา ๔. สังขาร ๕. วิญญาณ ๑. ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันเป็นกายนี้ เรียกว่า รูป ๒. ความรู้สึกอารมณ์ว่า เป็นสุข คือ สบายกาย สบายใจ หรือเป็นทุกข์ คือ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือ เฉย ๆ คือ ไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า เวทนา ๓. ความจำได้หมายรู้ คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ และอารมณ์ที่เกิดกับใจได้ เรียกว่า สัญญา ๔. เจตสิกธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ เป็นส่วนดีเรียกกุศล เป็นส่วนชั่วเรียกอกุศล เป็นส่วนกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกอัพยากฤต ทั้งหมดรวมเรียกว่า สังขาร ๕. ความรู้อารมณ์ในเวลามีรูปมากระทบตา เป็นต้น เรียกว่า วิญญาณ ขันธ์ ๕ นี้ ย่นลงเรียกว่า นามรูป คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมเข้าเป็นนาม รูปคงเป็นรูป คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง หมายถึงกองธรรม ๕ กอง ที่รวมกันเข้าแล้วเป็นชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจว่า ชีวิตมนุษย์ก็คือ การประชุมรวมกันของกองธรรมทั้ง ๕ นี้ ได้เหตุได้ปัจจัยก็รวมกัน เรียกว่ามีชีวิต สิ้นเหตุสิ้นปัจจัยก็แตกสลาย เรียกว่าตาย ไม่มีใครที่ไหนมาสร้างมาดลบันดาลให้เกิดขึ้นหรือให้ตายไป
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-11-2017 เมื่อ 16:11 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
อนุปุพพีกถา ๕ (เรื่องที่กล่าวไปตามลำดับ)
๑. ทานกถา กล่าวถึงทาน ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะสอนธรรมแก่ผู้ที่มีอุปนิสัยที่พอจะบรรลุธรรมได้ พระพุทธเจ้าจะสอนเรื่องการเสียสละเสียก่อน เพื่อให้เขาละความเห็นแก่ตัวความตระหนี่เสียก่อน จึงจะสอนอย่างอื่น ๒. สีลกถา กล่าวถึงศีล ในลำดับต่อจากทานกถา ก็ทรงแสดงคุณค่าของศีล เพื่อให้บุคคลตระหนักที่จะควบคุมกาย วาจา ของตนให้ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนและคนอื่น ๓. สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์ จากนั้นก็ทรงแสดงผลดีงามที่เกิดขึ้นจากการให้ทานและรักษาศีล ๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม จากนั้นก็ทรงแสดงถึงส่วนเสีย ข้อเสียของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่จะมีมาแต่กาม อันมนุษย์ไม่ควรหลงไหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักพยายามถอนตนออกจากกามเสีย ๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของการออกจากกาม คือ การกล่าวสรรเสริญผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินอยู่ในกาม และให้มีฉันทะในการที่จะแสวงหาความดีงามความสงบสุขที่ดีกว่านั้น
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-03-2018 เมื่อ 13:00 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
กามคุณ ๕ (ส่วนที่น่าปรารถนา, น่าใคร่)
๑. รูป (ของที่ปรากฏแก่สายตา) อันเป็นรูปร่างลักษณะที่สวยงาม อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา ๒. เสียง (สิ่งที่ได้ยินด้วยหู) อันเป็นที่น่าใคร่ เช่น เสียงเพราะของสตรี, เสียงเพลง เสียงดนตรี เป็นต้น ๓. กลิ่น (สิ่งที่รู้ได้ด้วยจมูก) เช่น กลิ่นหอมของแป้ง, กลิ่นน้ำหอม เป็นต้น ๔. รส (สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น) เช่น เปรี้ยว, หวาน, มัน, เค็ม เป็นต้น ๕. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) คือ สิ่งที่นุ่ม, ร้อน, เย็น, อ่อน, แข็ง เป็นต้น ทั้ง ๕ อย่างนี้ ส่วนที่ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเท่านั้น จึงจัดเป็นกามคุณ
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
มัจฉริยะ ๕ (ความตระหนี่)
๑. อาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่ที่อยู่) ได้แก่ ความหวงไม่ให้บุคคลมาอยู่ในบ้านของตน หรือในประเทศของตน ๒. กุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล) ได้แก่ การหวงตระกูล ถือว่าตระกูลของตนดีกว่าคนอื่น ๓. ลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) ได้แก่ คนที่หวงไม่ยินดีที่จะอนุเคราะห์บุคคลอื่นด้วยวัตถุของตน ๔. วัณณมัจฉริยะ (ตระหนี่วรรณะ) ได้แก่ คนที่หวงไม่ต้องการให้คนอื่นมีชื่อเสียงเท่าเทียมตนเป็นต้น ๕. ธัมมมัจฉริยะ (ตระหนี่ธรรม) ได้แก่ หวงวิชาความรู้ที่ตนมี ไม่สอนให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย ความตระหนี่ ๕ อย่างนี้ ท่านจัดเป็นมลทิน เมื่อมีอยู่ในผู้ใดย่อมทำให้ผู้นั้นมัวหมอง
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
วิญญาณ ๕ (ความรู้ที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายในและภายนอกกระทบกัน)
๑. เมื่อเห็นรูปด้วยตา เกิดความรู้ขึ้น เรียกว่า จักขุวิญญาณ ๒. เมื่อได้ยินเสียงด้วยหู เกิดความรู้ขึ้น เรียกว่า โสตวิญญาณ ๓. เมื่อสูดดมกลิ่นด้วยจมูก จะเป็นกลิ่นหอม กลิ่นเหม็นก็ตาม ความรู้นั้น เรียกว่า ฆานวิญญาณ ๔. เมื่อลิ้นได้สัมผัสกับรสชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดความรู้ขึ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ ๕. เมื่อกายไปกระทบกับเย็น ร้อน อ่อน แข็งต่าง ๆ เกิดความรู้นั้นขึ้นมา เรียกว่า กายวิญญาณ
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
วิมุตติ ๕ (ความหลุดพ้น)
๑. วิกขัมภนวิมุตติ (พ้นด้วยการข่มไว้) คือ ความพ้นจากกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ย่อมสามารถข่มนิวรณ์ไว้ได้ ไม่ให้ฟุ้งซ่านในจิต แต่เมื่อออกจากฌานแล้ว นิวรณ์ก็สามารถครอบงำจิตได้ดังเดิม ท่านเปรียบเหมือนกับหินทับหญ้า เมื่อเอาหินออกแล้วหญ้าก็กลับงอกขึ้นได้ดังเดิม ๒. ตทังควิมุตติ (พ้นได้ด้วยองค์แห่งวิปัสสนานั้น ๆ) คือ การทำจิตของตนให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ชั่วคราว เช่น มีเรื่องชวนให้โกรธ แต่พิจารณาเห็นโทษของความโกรธ โทษของการทะเลาะวิวาทกัน แล้วห้ามใจไม่ให้ทำตามความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นได้ ๓. สมุจเฉทวิมุตติ (พ้นได้เด็ดขาด) คือ ความพ้นจากกิเลสได้เด็ดขาดสิ้นเชิง ด้วยโลกุตตรมรรค ๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ (พ้นด้วยสงบระงับ) คือ การหลุดพ้นด้วยโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับหมดแล้ว ๕. นิสสรณวิมุตติ (พ้นด้วยสลัดออกได้) คือ การหลุดพ้นด้วยการดับกิเลสเสร็จสิ้นเชิง ได้แก่ การดำรงอยู่ในพระนิพพานนั่นเอง ปหานะ ๕, วิมุตติ ๕, วิเวก ๕, วิราคะ ๕ และโวสสัคคะ ๕ ทั้งหมดนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 14-03-2018 เมื่อ 01:52 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
เวทนา ๕ (การเสวยอารมณ์)
๑. ความสุข หมายเอา ความสบายทางกาย ๒. ความทุกข์ หมายเอา ความไม่สบายกาย ความเจ็บปวดทางกาย ๓. โสมนัส (ความแช่มชื่น) หมายเอา ความสบายใจ ความสุขใจ ๔. โทมนัส (ความเสียใจ) หมายเอา ความทุกข์ทางใจ ๕. อุเบกขา ได้แก่ ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่แสดงออกมาในรูปของความดีใจ เสียใจ
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
สุทธาวาส ๕ (ภพที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) หมายถึง ภพของท่านผู้เป็นพระอนาคามี มี ๕ คือ
๑. อวิหา (ภพของท่านผู้ไม่ละฐานะของตน) ได้แก่ ภพที่ผู้มีศรัทธาแก่กล้าจะไปเกิดในภพนี้ ๒. อตัปปา (ภพของท่านผู้ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร) ได้แก่ ภพที่เป็นที่อยู่ของผู้มีวิริยะแก่กล้า ๓. สุทัสสา (ภพของท่านผู้งดงามน่าทัศนา) ได้แก่ ภพที่เป็นอยู่ของผู้มีสติแก่กล้า ๔. สุทัสสี (ภพของท่านผู้ปรากฏเห็นชัดเจน) ได้แก่ ภพที่เป็นที่อยู่ของผู้มีสมาธิแก่กล้า ๕. อกนิฏฐา (ภพของท่านผู้ไม่น้อยกว่าภพอื่น) ได้แก่ ภพของผู้ที่มีปัญญาแก่กล้า
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-03-2018 เมื่อ 03:34 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
สังวร ๕ (ความสำรวม)
๑. สีลสังวร (สำรวมระวังในศีล) ได้แก่ การสำรวมทางการกระทำ การพูด การคิด อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ โดยการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (ศีล) เช่น ศีล ๕ ,ศีล ๘, ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ และกฎหมายบ้านเมืองนั้น ๆ ๒. สติสังวร (สำรวมระวังด้วยสติ) ได้แก่ การสำรวมด้วยอินทรีย์ มีจักษุ เป็นต้น ระวังมิให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำได้ หรือคอยระวังก่อนจะทำ, พูด, คิด และขณะทำ เป็นต้น ๓. ญาณสังวร (สำรวมระวังด้วยญาณ) ได้แก่ การสำรวมด้วยปัญญาในเวลา ทำ พูด คิด ให้รู้จักว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็นความผิดหรือถูก แล้วยึดเอาแต่ทางดี ทางถูกต้องต่อไป ๔. ขันติสังวร (สำรวมระวังด้วยขันติ) ได้แก่ การอดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิวกระหาย หรืออดทนต่อถ้อยคำหยาบ คำด่า และอดทนต่อทุกขเวทนาต่าง ๆ ในเมื่อประสบเข้า ๕. วิริยสังวร (สำรวมระวังด้วยความเพียร) ได้แก่ การเพียรพยายามขับไล่ กำจัดอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นให้หมดไป เป็นต้น หรือเพียรละมิจฉาชีพ การเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-03-2018 เมื่อ 10:54 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
ธรรมขันธ์ ๕ (หมวดธรรม รวบรวมหัวข้อธรรมที่มีลักษณะเหมือนกันเข้ามาไว้ในหมวดเดียวกัน)
๑. สีลขันธ์ (หมวดศีล) ได้แก่ การประมวลเอาหมวดธรรมที่มีลักษณะเป็นศีล เข้ามารวมไว้ในหมวดเดียว เช่น อปจายนมัย, ปาติโมกขสังวร, กายสุจริต, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ เป็นต้น ๒. สมาธิขันธ์ (หมวดสมาธิ) ได้แก่ การรวบรวมเอาธรรมอันเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับสมาธิ อันจะพึงสงเคราะห์เข้าหมวดกันได้ เช่น ชาคริยานุโยค, กายคตาสติ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ เป็นต้น ๓. ปัญญาขันธ์ (หมวดปัญญา) ได้แก่ การรวบรวมธรรมอันเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับปัญญา อันจะพึงสงเคราะห์เข้าหมวดกันได้ เช่น ธัมมวิจยะ, วิมังสา, ปฏิสัมภิทา, สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น ๔. วิมุตติขันธ์ (หมวดวิมุตติ) ได้แก่ การประมวลเอาธรรมที่มีลักษณะเป็นความหลุดพ้น เช่น ปหานะ, วิราคะ, วิโมกข์, วิสุทธิ, นิโรธ, นิพพาน เป็นต้น ๕. วิมุตติญาณวิทัสสนาขันธ์ (หมวดวิมุตติญาณทัสสนะ) ได้แก่ การประมวลเอาธรรมเกี่ยวกับการเห็นในวิมุตติเข้าด้วยกัน เช่น ผลญาณ, ปัจจเวกขณญาณ เป็นต้น
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-03-2018 เมื่อ 16:10 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|