|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#581
|
|||
|
|||
นิทาน “สูหนี่” “... หลวงตาจะเล่านิทานให้ฟัง พ่อเฒ่า เรียกว่าพ่อตา ลูกเขย ลูกสาว เข้าใจไหมล่ะ พ่อตา ตื่นแต่เช้าก็ไปเผาสวนเผาไร่ที่มันเศษมันเหลือ เผาส่วนใหญ่ยังไม่เสร็จ ตอนเช้าตื่นแต่เช้าก็ไปเผาไร่เผาสวน ที่มันยังเศษยังเหลือ ยังเผาไม่หมด ไปแต่เช้าเลย ก็คิดว่าลูกสาวเขาจะไปตามหลัง เผาสวนตั้งแต่เช้าจนสาย มันก็หิวละซิ.. ไม่ได้กินข้าว จนกระทั่งสาย ๆ หิวข้าว หิวจัด หิวมากทีเดียว จนตะวันเที่ยง ลูกเขยกับลูกสาวจึงหาบกล่องข้าว ต้อนแต้น ๆ ไป..เข้าใจบ่ มันก็โมโหซิ คนกำลังหิวข้าวหลาย ๆ สิว่าจังได๋มันก็เกินไป.. จะว่าอะไรมันก็จะเกินไป พอเห็นลูกสาวกับลูกเขยหาบกล่องข้าวต้อนแต้น ๆ ไปนั่นละ ไปเห็นหน้าเขาก็ ‘สูหนี่’ (พวกเธอนี่หนา) มีแต่ ‘สูหนี่’ ถ้าจะว่าอะไรมันก็จะเลยเถิด ก็มีแต่ ‘สูหนี่ ๆ’ เข้าใจไหม เลยพูดอะไรไม่ได้ มันจะเลยเถิดเพราะความโกรธ ความเคียดแค้นมันเต็มหัวใจ .. จะว่าอะไรมันจะเลยเถิด เลยบังคับเครื่องเอาไว้ออกได้แต่เพียงว่า ‘สูหนี่ ๆ’ ความหมาย.. ทำไมมาสายนัก กูหิวข้าวกำลังจะตาย..สูรู้ไหม ความหมายว่างั้นแหละ แต่นี่พูดอะไรไม่ออก ก็พูดได้แต่เพียงว่า ‘สูหนี่ ๆ’ เข้าใจไหมล่ะ นี่เทศน์กัณฑ์หนึ่งแล้ว เทศน์ ‘สูหนี่ ๆ’ อันนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ เรานั่งอยู่ในร่ม พวกนี้ตากแดด.. มันร้อนจะตาย แทนที่ทางนั้นจะว่าเรา ‘สูหนี่’ ไม่ว่า ‘สูหนี่ไม่ร้อนเหรอ สูหนี่ ม่ร้อนเหรอ’ เขาน่าจะโมโหว่าให้เรา เขานั่งตากแดดว่าสูหนี่.. เขาไม่กล้า ตกลงเราเลยต้องว่าเสียเอง ว่าพวกนี้นั่งตากแดดมันจะเป็นจะตาย เลย ‘สูหนี่ไม่ร้อนเหรอ’ เข้าใจเหรอ พูดนิทานย่อ ๆ ให้ฟังเสียก่อน พูดกันอย่างนี้ละ นิทานเอาย่อมา ๆ เรื่อยมา...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-08-2020 เมื่อ 05:41 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#582
|
|||
|
|||
น้ำธรรมไหลพุ่ง ด้วยการสอนที่จริงจัง บางครั้งทำให้ผู้มาใหม่เข้าใจว่าองค์ท่านดุด่า ในเรื่องนี้องค์ท่านเมตตากล่าวถึงสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่นไว้ ดังนี้ “... พอไปถึงหลวงปู่มั่น มันหาที่ค้านไม่ได้.. อยู่นานเข้า ๆ มันรู้ เวลาท่านดุด่าพระเณร ดุใครก็ตามนะ ดุมากดุน้อย ธรรมะจะออกล้วน ๆ ๆ มากน้อย เด็ดเท่าไร.. ธรรมะยิ่งพุ่ง ๆ ก็หาที่ต้องติว่าเป็นตัณหาประเภทใดไม่ได้ เด็ดเท่าใดธรรมะยิ่งออกพุ่ง ๆ แล้วเราก็ปรับตัวของเราตลอดเวลา ปรับตัวของเราอยู่เรื่อย ๆ จึงค่อยเข้ากันได้ เข้าใจเรื่องของท่าน สุดท้ายถ้าท่านไม่อยู่มันเหมือนกับขาดอะไร ถ้าเป็นอาหารก็ขาดอะไรยังงั้นนะ มันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าได้ยินเสียงเปรี้ยง.. ดังเปรี้ยงปร้าง เอาละซิ ถ้าเป็นฝนก็ฟ้าร้องแล้วเตรียมหาอะไรมารองรับ อันนี้เด็ดเท่าไร ธรรมยิ่งไหลออกมาเลย มันก็ยิ่งอบอุ่นนะ ท่านดุยังงี้มันไม่ใช่ดุ เลยย้อนหลังกลับมา มันมีแต่กำลังของธรรมล้วน ๆ ไม่ใช่ท่านดุนะ มันก็จับได้เลย คือกิริยาท่านแสดงเอาขันธ์นี้ใช้ ขันธ์นี้เป็นเครื่องมือของกิเลสมาดั้งเดิม พอกิเลสมุดมอดไปหมดแล้ว ธรรมก็เอาขันธ์นี้เป็นเครื่องมือ กิริยาท่าทางขึงขังตึงตังจึงเป็นเหมือนกับกิเลส เพราะมันมีเครื่องมืออันเดียวกัน แต่อันนี้มันเป็นพลังของธรรม เด็ดเท่าไร.. ยิ่งมีแต่เรื่องของธรรมล้วน ๆ ออกมา กิริยาคล้ายคลึงกัน เมื่อมันรู้แล้ว มันก็ยอมรับน่ะซิว่า.. อ๋อ เราก็เลยเทียบได้เลยว่า เหมือนกับถังน้ำ ๒ ถึงนี้ ถังนี้เต็มไปด้วยน้ำที่สกปรก.. น้ำเต็มแต่สกปรกทั้งถัง ถังนี้น้ำสะอาดเต็มที่ มาเปิดน้ำทั้ง ๒ ถังนี้ออกดูสิ ทีนี้เวลาเปิดแรงเท่าไร สมมุติเราเปิดถึงสกปรกก่อนนะ เราเปิดน้อยออกน้อย เปิดมากออกมาก เปิดเท่าไรมันก็พุ่ง ๆ ออกไปเท่าไร.. มันก็มีแต่น้ำสกปรก กว้างขวางขนาดไหนมีแต่สกปรก เลอะเทอะไปหมดเลย ทีนี้เปิดถังน้ำที่สะอาด เปิดขนาดไหนเปิดเต็มที่มันก็ออกเต็มที่เหมือนกัน แต่เป็นน้ำที่สะอาดทั้งหมดนะ แน่ะ มันต่างกันต่างกันอย่างงั้นนะ...” และด้วยความจริงจังดังกล่าว จึงเป็นที่ร่ำลือและกลัวเกรงแก่บรรดาพระเณร โดยเฉพาะลูกศิษย์ลูกหาและประชาชน ดังนี้ “... อันนี้ก็นึกถึงท่านอาจารย์ฝั้น พวกหมู พวกชายปั๋ม (ม.ร.ว.ทองศิริ ทองแถมและคณะ) ไปโน้นละ (ไปกราบหลวงปู่ฝั้น) ไม่ค่อยมานี้ เราก็ไม่เคยสนใจกับใคร เข้าใจไหมล่ะ เรื่องนี้ไม่เคยสนใจกับใคร เข้มงวดกวดขันแต่พระเณรที่อยู่นี้ เคลื่อนไม่ได้นะ คนข้างนอกไม่ค่อยเข้ามาแหละ มีแต่พระปฏิบัติต่อกันล้วน ๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกกระเบียดเลยไม่ได้คลาดเคลื่อน ข้อวัตรปฏิบัติ หลักธรรมวินัยแน่นปึ๋งตลอดเลยอยู่อย่างนั้น องค์ไหนเคลื่อนคลาดยังไงไล่เบี้ยกันเลย ทีนี้ก็ร่ำลือไปข้างนอกว่าหลวงตาบัวนี้ดุมาก ใครเขาก็ไม่ค่อยมา เราก็ไม่เคยสนใจว่าจะให้ใครมาหาเรา เพราะปฏิบัตินิสัยเราก็เป็นอย่างนั้นมาดั้งเดิม ตั้งแต่ออกปฏิบัติไม่มีใครมายุ่งกับเราได้เลย... แต่ทุกวันนี้ (ระยะโครงการช่วยชาติปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา) เหมือนหูหนวกตาบอดนะ ถ้าเทียบกับแต่ก่อน โอ๊ย.. เข้ากันไม่ได้เลยภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เขาถึงได้ร่ำลือกันนักหนาว่า ‘อาจารย์มหาบัว โอ๋ย.. ท่านดุมาก’ แต่ก่อนยังหนุ่มเขาก็เรียกว่าอาจารย์มหาบัว ใครไม่อยากมาล่ะ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-08-2020 เมื่อ 01:52 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#583
|
|||
|
|||
เตือน... ฟังธรรมอย่าคาดอย่าหมาย องค์หลวงตากล่าวเตือนผู้ฟังธรรมให้ระวังการคาดการหมาย นึกน้อมเอาจิตของตนไปเป็นอย่างนั้นทั้งที่ไม่จริง ดังนี้ “... นี่พูดอย่างนี้ ก็ไม่อยากจะพูด คือเกี่ยวกับผู้มาอบรมศึกษา เวลาเข้าไปแล้ว.. พอถึงธรรมขั้นละเอียดแล้วมักจะหมายนะ คือมักจะหมายมักจะคาด ครูบาอาจารย์พูดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วนึกน้อมเอาจิตของตัวเองไปเป็นอย่างนั้นทั้ง ๆ ที่มันไม่จริง แล้วก็เป็นความผิดของผู้นั้นจึงต้องระวังเหมือนกัน ถ้าหากว่าไม่อธิบายไว้บ้างพวกนี้ก็ไม่เข้าใจ เวลาไปถึงจุดใดจุดหนึ่งเข้าไปก็จะได้ยึดเอาอันนี้มาเป็นหลัก ‘อ๋อ ท่านว่าอย่างนั้นนะ มันก็มีทางที่จะพิจารณาไปอีกได้ ถ้าบอกอย่างนี้แล้ว ผู้ที่เป็นเถรตรงนั้น สติปัญญาไม่ค่อยรอบนัก ถึงว่าจะเป็นขั้นนั้นก็ตาม.. ก็ยังขึ้นอยู่กับนิสัยอีกเหมือนกัน มันจะคล่องแคล่วแกล้วกล้าต่างกัน อืดอาดต่างกัน ถึงมหาสติปัญญาเหมือนกันก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะเป็นแบบเดียวกันหมด อาจจะไปน้อมนึกเอาอันนั้นมาเป็นของตัวเสียบ้าง เข้าใจว่าตัวเป็นอย่างนั้นเสียบ้างแล้วก็นอนใจ แน่ะ.. ลำบาก ท่านอาจารย์มั่นรู้สึกว่าท่านฉลาดมาก พออธิบายถึงจุดนี้ท่านเว้นเสีย ปั๊บ.. ไปเอาข้างหน้าอธิบาย พอไปถึงจุดนั้นท่านเว้น ปั๊บ ๆ ท่านไม่เข้าจุดนั้นเลยคือกลัว ทำไมท่านถึงไม่เข้า ‘เราจึงมาทราบทีหลังว่า ที่ท่านไม่เข้าเพราะกลัวจะไปเกิดสัญญา.. ความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาในวงปฏิบัติ’ อย่าไปคาดอดีต อนาคต ยิ่งกว่าปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัจธรรม.. ให้พิจารณาลงตรงนั้น ท่านพูดอะไรก็ตามในวงปฏิบัติโดยเฉพาะแล้ว อย่าไปคาดเป็นอันขาด.. ผิด เอ้า.. รู้ขึ้นมาจากไหนก็ให้เป็นเรื่องของเราเป็นอย่างนี้ เรื่องของท่านเป็นอย่างนั้น เรื่องของเราเป็นอย่างนี้ ให้เป็นเครื่องยืนยันกันอย่างนี้ เราจะไปน้อมของเรา.. อยากให้เป็นเหมือนท่านอะไรอย่างนี้ไม่ได้.. ผิด เช่นว่าสมาธิ รวมอย่างสนิทเป็นอย่างนี้นะ แล้วก็น้อมจิตให้มันสนิททั้ง ๆ ที่มันไม่สนิทก็ผิด มันเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นตามหลักนิสัยของตัวเอง.. ให้รู้ด้วยตัวเอง เป็นสมบัติของตัวเอง สมบัติของเราเป็นอย่างนี้ สมบัติของเขาเป็นอย่างนั้น สมบัติของตัวเองเป็นอย่างนี้.. ให้รู้ชัด ๆ ว่านี้เป็นของตัว ๆ นั้นละถูกต้อง ให้ระวังกันที่เตือนนั้น มันหากไปยึดได้ ยึดจนได้นั้นแหละ จึงต้องได้เตือนไว้เสมอ ระวัง.. จิตจะเข้าถึงขั้นละเอียดมันยึดแบบละเอียดนั่นแหละ เราไม่ทันมันเสีย นี่ละที่สอนหมู่เพื่อนถึงเรื่องสติปัญญา ก็สอนเพื่อธรรมขั้นนี้เป็นสำคัญ สติปัญญาจึงต้องประมวลมาตั้งแต่บัดนี้เรื่อยมา เริ่มฝึกสติปัญญาเมื่อเข้าตาจนแล้ว.. จะได้มีทางออกได้ด้วยสติปัญญา เพียงหยาบ ๆ สติปัญญาก็ไม่มีใช้แล้ว จะทำยังไงเมื่อเข้าถึงธรรมอันละเอียดก็ตายอยู่อย่างนั้นซิ.. ไปไม่ได้ ที่ดุด่าว่ากล่าวหมู่เพื่อนก็เพราะอย่างนี้เอง พอมองไปดู เปิดนี้ไว้แล้ว พูดออกมาคำหนึ่งสองคำก็เปิดนี้ไว้แล้ว แสดงให้เห็นความโง่ความฉลาดอยู่ในตัว...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-08-2020 เมื่อ 01:53 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#584
|
|||
|
|||
การปกครองพระเณรวัดป่าบ้านตาด องค์หลวงตาวางข้อวัตรปฏิบัติของวัดป่าบ้านตาดไว้ ดังนี้ “... วัดป่าบ้านตาดนี้ตั้งแต่สร้างวัดมา แต่ก่อนไม่รับพระมาก.. เราสงวนสถานที่และการภาวนาสำหรับพระ จึงไม่รับพระมาก ซึ่งแต่ก่อนก็มีครูบาอาจารย์หลายองค์ ครูบาอาจารย์ท่านยังไม่ร่วงโรยไป พระก็แตกกระจัดกระจายไปอยู่ที่ครูบาอาจารย์องค์นั้นบ้าง องค์นี้บ้างหลายองค์ ในวัดเราก็ผ่อนผันสั้นยาวได้ หรือจะเคร่งกว่านั้นก็ได้ เช่น ในวัดเราอย่างมากไม่ให้เลย ๑๘ องค์ แค่นั้น ๆ นะ ... เราก็ไม่เคยสนใจกับการก่อการสร้างอะไรทั้งนั้น สร้างเฉพาะที่จำเป็น ที่อยู่กุฏิก็เป็นร้านเล็ก ๆ มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทำโก้ ๆ ไว้ ๒ – ๓ หลังนี้.. อวดแขก นอกนั้นมีแต่กระต๊อบเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ สำหรับวัดนี้ เราให้เป็นวัดภาวนาล้วน ๆ คงเส้นคงวาหนาแน่นด้วยข้อวัตรปฏิบัติ หลักธรรมวินัยมิให้เคลื่อนคลาด พระจะมากน้อยปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันหมด คลาดเคลื่อนไม่ได้ ‘อย่างน้อยเตือน มากกว่านั้นดุ เลยจากดุก็ขับออก’ พระเณรมีมาก ต่างชาติก็เยอะ เราก็แบ่งรับเอา แบ่งประเทศละหนึ่งองค์สององค์ไม่ให้มากกว่านั้น เพื่อพระไทยเราซึ่งเต็มทั่วเมืองไทยทุกภาคมาอยู่นี้หมด.. ให้ได้ประโยชน์ทั่วถึงกัน ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัด เปิดประตูวัดไว้แต่กลางวัน พอค่ำเข้ามาก็ปิดประตู รถจอดข้างนอก ถ้าจำเป็นที่ควรจะเข้ามาข้างในก็ให้เข้ามา ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์เหตุผลบังคับเอาไว้.. เลอะเทอะไปหมด มนุษย์เลอะเทอะไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายเลอะเทอะนะ.. ทำความเสียหายได้มาก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-08-2020 เมื่อ 05:35 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#585
|
|||
|
|||
ทหารสู่สมรภูมิรบ องค์หลวงตากล่าวถึงความเป็นมาของพระ ที่มาขออยู่ศึกษากับท่านเทียบกับชีวิตทหาร ดังนี้ “... พระมาอยู่สถานที่นี้ทั่วประเทศไทย มีทุกภาค ปริญญาตรีก็มี โทก็มี เอกก็มี และนายพัน นายพลมาบวชอยู่นี้ก็มี ... พระมาอยู่ที่นี่ ท่านมาเพื่ออะไร ท่านมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษาปรารภจากครูบาอาจารย์จริง ๆ ... ดูภาคกลางจะมากกว่าเพื่อน ที่นี่ ภาคอื่น ๆ ก็มี หมดทุกภาคเลยนะ.. วัดนี้ไม่มีภาคไหนต่อภาคไหน เป็นชาติไทยด้วยกัน ด้วยเป็นลูกศิษย์ตถาคตศากบุตรด้วยกัน จึงไม่มีคำว่าชาติ ชั้นวรรณะ ภาคนั้นภาคนี้ เป็นลูกชาวไทยอันเดียวกัน เป็นลูกชาวพุทธอันเดียวกัน... ท่านมาเพื่อศึกษาปรารภตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติจริง ๆ เราก็ได้อุตส่าห์พยายามสั่งสอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถ ที่ว่าโรคของเรากำเริบ กำเริบทางหัวใจนี้ เราก็ยังมีความแน่ใจอยู่ว่า คงเกี่ยวกับเรื่องการแนะนำสั่งสอนนี้เองเป็นสำคัญอันหนึ่ง เพราะการสั่งสอนพระย่อมใช้กำลังวังชา สุ้มเสียงดังเป็นหลัก เผ็ดร้อนมากกว่าการสอนใคร ๆ ในบรรดาประชาชนและพระเณรทั้งหลาย เพราะเหตุไร ... เพราะพระที่มาสู่วัดป่าบ้านตาดนี้ ส่วนมากมีแต่พระกรรมฐานตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราจะเทียบแล้วก็เหมือนกับทหารที่เข้าสู่แนวรบแล้ว การยื่นศาสตราวุธหรืออุบายวิธีการต่าง ๆ ให้ทหารที่เข้าสู่แนวรบ ย่อมจะยื่นแต่สิ่งสำคัญ ๆ อาวุธก็เป็นอาวุธที่ทันสมัย อุบายก็เป็นอุบายที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์ที่จะได้ชัยชนะมาสู่บ้านเมือง อันนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะอุบายต่าง ๆ ที่จะแสดงให้บรรดาพระทั้งหลาย ที่มาจากที่ต่าง ๆ เข้ามาสู่สถานที่นี้ ได้ยินได้ฟังก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การพูดการเทศนาว่าการต่าง ๆ ตลอดถึงสุ้มเสียงโวหารสำนวนต่าง ๆ จึงมีแต่ความเผ็ดร้อนไปตาม ๆ กันหมด เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-08-2020 เมื่อ 05:36 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#586
|
|||
|
|||
หลวงปู่เจี๊ยะน้ำตาร่วง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๖ หลวงปู่เจี๊ยะมาพักจำพรรษาอยู่ด้วยที่วัดป่าบ้านตาด ในระยะนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้างกุฏิองค์หลวงตาที่ท่านใช้จนถึงปัจจุบัน เป็นกุฏิที่ยังไม่ยกขึ้น ใต้ถุนกุฏิเป็นดินโล่ง ๆ ในตอนนั้นหลวงปู่เจี๊ยะตั้งใจจะใช้คราดเกลี่ยดินบริเวณกุฏิ แต่มาทำในเวลาที่ล่วงเลยไปมากจนกลายเป็นเหตุ ดังนี้ “.. ท่านเจี๊ยะเคยมาจำพรรษาที่นี่ปีหนึ่ง จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาดปี ๒๕๐๔ เราจำได้..นิสัยท่านตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหลายสันพันคม ตรงไปตรงมา .. เราพูดใส่ท่านเจี๊ยะที่วัดป่าบ้านตาด ปี ๒๕๐๔ ลืมเมื่อไร ก็ออกมาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยกันหยก ๆ มาตอนค่ำเราจะปลูกกุฏิหลังเราอยู่ทุกวันนี้นะ เกลี่ยดินออกจากนี้ไป ค่ำ ๆ เราก็เดินจงกรม เป็นเวลาเดินจงกรม กำลังจะมืด ฟังเสียงค้อน เสียงเปรี้ยง ๆ กลางวัด ‘เอ้า.. มันยังไงกันนักหนานี่’ เราออกจากทางจงกรมก็ไปเลย ไปเห็นอาจารย์เจี๊ยะกำลังทำคราดที่จะมาเกลี่ยดินกุฏิเรา ไปก็ยืนซัดกันเลย ‘นี่ท่านก็มาจากพ่อแม่ครูจารย์มั่น ผมก็มาจากพ่อแม่ครูจารย์มั่น พ่อแม่ครูจารย์มั่นเคยทำอย่างนี้ไหม ผมอยากถามเท่านั้นเอง ผมเรียนน้อย’ พอว่างั้นท่านเข้าใจแล้วนี่ เราก็เดินกลับมา พอเช้ามาท่านมานั่งรออยู่ที่นั่งข้างบนที่ฉัน ท่านนั่งรออยู่แล้ว มาก็ปุ๊บปั๊บขึ้นมาเลย มาจับขาแล้วดึงออกไป เอาหัวมาถูเท้าเรา ‘ตีนนี้มันสำหรับเหยียบขี้ ไม่ใช่เหยียบหัวคนนะ’ เราว่า ‘ขอเหยียบหน่อยเถอะ มันผิดเอาเสียมากมาย มันโง่เอาเสียเหลือเกิน’ น้ำตาร่วงเลย ‘แหม.. ท่านอาจารย์ทำไมถึงพูดเอาถูกต้องเอานักหนา เมื่อคืน ผมนอนแล้วน้ำตาร่วงตลอด’ นั่นเห็นไหม ธรรมต่อธรรมเข้ากันเป็นอย่างนั้นละ ใส่เปรี้ยง ๆ เป็นธรรมทั้งนั้นนี่นะ.. ทางนั้นยอมรับก็เป็นธรรม นี่ละธรรมต่อธรรมเข้ากันได้สนิท อาจารย์เจี๊ยะท่านก็บอกตรง ๆ เลยว่า ‘พระที่มาอยู่หัวใจของผมมีสององค์ ท่านอาจารย์มั่นหนึ่ง กับท่านอาจารย์หนึ่ง นอกนั้นผมไม่ค่อยลงใครง่าย ๆ’ ท่านเป็นลูกเจ๊ก ท่านก็พูดแบบเจ๊กละซิ เราก็ฟังแบบเรา นี่ละ..ที่ว่าขวานผ่าซาก ดึงเท้าของเราเอาหัวมาถูเลย.. น้ำตาพังด้วยนะ เพราะฉะนั้นท่านถึงลง.. ยอมละซิ พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นไม่เคยพาทำอย่างนั้น ท่านมาทำได้อย่างไร ว่างั้นเลย ทิ้งปั๊วะเลยนะ.. ไอ้กำลังเป๊ก ๆ ทิ้งปั๊วะเลย เราก็เดินกลับเลย ท่านเป็นธรรม ท่านตรงไปตรงมาด้วย ความเป็นธรรม.. ผิดบอกว่าผิดเลย ถูกบอกว่าถูก เรียกว่าธรรม แต่โลกของกิเลสตัณหาเขาว่าขวานผ่าซาก กิริยาท่าทางท่านไม่สวยงาม ไม่งามก็ตามแต่ออกจากใจที่สวยงามแล้วนั่นแหละ แสดงออกมากิริยาท่าทางนิสัยต่างกัน ความเป็นธรรมเป็นหลักใหญ่...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-08-2020 เมื่อ 05:38 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#587
|
|||
|
|||
เทศน์โปรด.. เทวดา อินทร์ พรหม นอกเหนือจากการแสดงธรรมแก่พระเณร นักปฏิบัติภาวนา ฆราวาสญาติโยม ตลอดประชาชน ซึ่งเป็นสังคมมนุษย์ทั่ว ๆ ไปแล้ว สำหรับองค์หลวงตาท่านยังมีภาระหน้าที่ต้องสั่งสอนเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม หรือแผ่เมตตาจิตโปรดโปรยจิตวิญญาณในภพภูมิต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งองค์หลวงตาได้เคยกล่าวในเรื่องนี้ว่า “... เอ้า ! เทศน์อย่าว่าแต่มนุษย์มนา เทวดา อินทร์ พรหม เทศน์ได้ทั้งนั้น ภาษาเกี่ยวกับเรื่องเทวดาเป็นภาษาเช่นใด ใจเป็นภาษาเดียว อันนี้พูดไม่ได้แต่เข้าใจ พวกเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ... นี่การสอนโลก เราบอกตรง ๆ เลยว่า เราสอนด้วยความแน่ใจ.. ไม่มีสงสัย ไม่ว่าธรรมะขั้นใดภูมิใด ๆ สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย.. ถอดออกมาจากจิตใจ ที่ได้ปฏิบัติผ่านมาแล้วทั้งเหตุทั้งผลสมบูรณ์แบบทุกอย่าง การสอนโลกเราจึงไม่สงสัย สอนได้ทุกแห่งทุกหน.. นี้เรายกมนุษย์นะ.. เราพูดเพียงมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม.. เป็นอย่างไร การสอนเทวดาสอนอย่างไร พวกเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ท่านสอนกันอย่างไร ๆ นี่เป็นเรื่องของเทวดา อินทร์ พรหม กับท่านผู้สอน คนอื่นเข้าไปยุ่งไม่ได้ เวลาเห็นสอนประชาชนท่านก็ไม่มายุ่ง พวกเทวดา อินทร์ พรหม ท่านก็ไม่มายุ่งนะ เวลาสอนเทวบุตรเทวดาเต็มเม็ดเต็มหน่วยไปเหมือนกัน... เราพูดนี่ เราพูดได้อย่างเต็มปาก เราหาได้อย่างเต็มใจแล้ว ไม่มีอะไรบกพร่องแล้วภายในใจของเรา เราจึงกล้าสามารถเทศนาว่าการได้ทุกแห่งทุกหน อย่าว่าแต่มนุษย์มนา ... เทวดา อินทร์ พรหม ก็เทศน์สอนได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ฐานะที่มนุษย์จะมาฟังเสียงเทศน์เทวดา คือไม่จำเป็นต้องพูดถึง เวลาพูดถึงมนุษย์ เทวดาก็ไม่มาเกี่ยวข้อง เทวดาก็เป็นเทวดา มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ เวลาสอนเทวดา.. มนุษย์ก็ไม่ไปเกี่ยวข้อง เทศน์สอนเทวดา.. ธรรมนี้ควรหมดในสามโลกธาตุ ธรรมเหนือหมดทุกอย่างเลย สอนได้หมดนั่นละ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-08-2020 เมื่อ 11:52 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#588
|
|||
|
|||
ธรรมฝ่ายเหตุมี ผลแห่งธรรมก็ต้องมี ด้วยความเมตตาอบรมธรรมปฏิบัติด้านจิตภาวนาแก่พระเณรและฆราวาสเสมอมา บรรดาลูกศิษย์ลูกหาผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับแสงธรรมของพระพุทธองค์เป็นลำดับ ไม่จำกัดว่าเป็นพระหรือฆราวาส ไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชาย พยานในธรรมก็ย่อมประจักษ์ขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติเป็นลำดับไปเช่นกัน ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า “ภาคปฏิบัติก็คืองานอันหนึ่งของเรา ทำไมงานเรามีด้วยการประพฤติปฏิบัติ ผลทำไมจะไม่มีได้เล่า..? เหตุกับผลเป็นของคู่เคียงกันมาแต่ไหนแต่ไร ทำไมเราทำมันจะไม่มีผล เมื่อเหตุเป็นไปสมควรแก่ผลจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว” ฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านี้ต่างเพียรสร้างเหตุให้สมบูรณ์ขึ้นทุกขณะ.. ผลอันควรย่อมเกิดขึ้นได้ และนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นในจิตใจของท่าน กระทั่งไม่เห็นวัตถุสิ่งของ เงินทอง ลาภยศ บริษัทบริวาร หรือยศถาบรรดาศักดิ์ใด ๆ เป็นของประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่า “ธรรม” สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องอาศัย เครื่องอำนวยความสะดวกแก่ร่างกายให้พอเป็นพอไปเท่านั้น แต่เรื่องของ “จิตใจ” นั้น ท่านถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าอย่างหาประมาณมิได้เลย ธรรมเทศนาที่องค์หลวงตาแสดงแก่พระเณรผู้เข้ามาศึกษาอบรมรุ่นแล้วรุ่นเล่า ท่านจะย้ำอยู่เสมอว่า “... การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ จะยากลำบากเพียงไร ก็ให้ถือว่าเป็นงานอันตนจะพึงทำ หลีกเลี่ยงไปไม่ได้ถ้าต้องการพ้นจากทุกข์.. ซึ่งกีดขวางกดถ่วงจิตใจอยู่ตลอดเวลานี้.. ให้จิตใจเป็นอิสระ อย่าพึงท้อถอยทางความเพียร อย่าไปคำนึงว่าวาสนามาก วาสนาน้อยในขณะที่จะทำความดี มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิ เพื่อมรรคผลนิพพาน เป็นต้น ถ้าจะคิดว่าอำนาจวาสนาน้อย ในขณะที่จิตเลื่อนลอยเผลอตัวออกไป พอระลึกได้ก็ให้ทราบว่า นี่เป็นการสั่งสมในการตัดทอนนิสัยวาสนาของตนให้ด้อยลงไปโดยลำดับ ถ้ามากกว่านี้นิสัยวาสนาก็จะขาดสูญไป เพราะความชั่วเป็นสิ่งทำลายหรือเผาผลาญให้วอดวายไป การทำความดีอยู่ตลอดเวลา ก็คือการสร้างอำนาจวาสนาขึ้นภายในจิต เพื่อจะปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึกมีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปนั่นแล ใครจะไปสร้างวาสนาที่ไหนถ้าไม่สร้างที่ใจ.. วาสนาจะมาน้อยเพียงไรก็เกิดขึ้นที่ใจเป็นผู้สร้างได้ เราอย่าเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานจะเหินห่าง จะอยู่ห่างกันจากปฏิปทาคือข้อปฏิบัติ เช่นเดียวกับบันไดมีความเกี่ยวเนื่องกันกับบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่องจะสูงเพียงไร บันไดต้องติดแนบไปทุก ๆ ขั้นของบ้านของเรือน คำว่า “ธรรม” จะสูงขั้นไหนซึ่งเป็นฝ่ายผล ... ธรรมฝ่ายเหตุคือข้อปฏิบัตินี้จะพึงติดแนบกันไปทุกขั้นทุกภูมิ เพราะผู้ที่จะก้าวเข้าถึงธรรมขั้นนั้น ๆ ก็ต้องเป็นไปตามธรรมขั้นเหตุ คือทางดำเนิน...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-08-2020 เมื่อ 14:33 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#589
|
|||
|
|||
ถือธรรมเป็นใหญ่ .. ไม่ถืออาจารย์เป็นใหญ่ องค์หลวงตาใช้หลักธรรมเป็นใหญ่ในการปกครอง จึงไม่มีการถือตัวว่าเป็นอาจารย์แล้วไม่ต้องฟังผู้ใด อย่างไรก็ถูกเสมอ ดังนี้ “... ย่นเข้ามาหาวัดป่าบ้านตาดที่เคยปกครองพระเณรทั้งหลายอยู่ ไม่ว่ามาจากเมืองนอกเมืองใน เมืองนอกคือประเทศต่าง ๆ มาอยู่ในวัดนี้ไม่น้อย และเมืองในก็คือเมืองไทยเราทั่วประเทศมาอยู่ที่นี่ ท่านอยู่ด้วยกันด้วยความผาสุก ท่านไม่ยกเรื่องฐานะสูงต่ำอวดดีอวดเบ่งอย่างนั้นเข้ามาคละเคล้า ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟจะเผาไหม้กัน เข้ากันไม่สนิท ทานเอาแต่ธรรมล้วน ๆ มาหากัน อยู่ด้วยกันด้วยความเป็นธรรม แนะนำตักเตือนกันได้ ใครผิดใครถูกประการใดก็แนะนำ ตักเตือนสั่งสอนกันได้ เราที่เป็นอาจารย์สอนคน เราจะยกตัวอย่างให้พี่น้องทั้งหลายฟังนะ สมควรว่าเป็นอาจารย์สอนพระสอนเณร สอนประชาชนไหม ? เราพูดให้ฟังชัดเจน ตัวเราเองเป็นผู้นำ ที่อยู่เราแต่ก่อนเป็นกระต๊อบเล็ก ๆ เราทำงานอะไรอยู่ก็ไม่รู้แหละ แล้วมองดูนาฬิกา.. ความเข้าใจของเราว่า นาฬิกาเลยเวลาปัดกวาดไปแล้ว ตามธรรมดานัดปัดกวาด ๔ โมงเย็น.. ปัดกวาดกันทั่ววัด ต่างคนต่างมีนาฬิกา ไม่ต้องเคาะระฆังอะไรให้ทราบ ถึงเวลาแล้วต่างคนต่างออก ทีนี้เราก็ดูนาฬิกาของเรา มองดูนาฬิกาเข้าใจว่ามัน ๔ โมง ๒๐ นาทีไปแล้ว ปุ๊บปั๊บออกจากที่เลย เพราะการทำข้อวัตรปฏิบัติ เรากับพระกับเณรเหมือนกัน ดีไม่ดีเรารวดเร็วยิ่งกว่าพระ สมัยที่ยังหนุ่มน้อยนะ การทำข้อวัตรปฏิบัติเหมือนกันกับพระกับเณร ดีไม่ดีคล่องตัวกว่าพระกว่าเณรอีก พอมองดูนาฬิกาเข้าใจว่ามันเลยเวลาแล้ว ปุ๊บปั๊บโดดลงคว้าไม้ตาดปัดกวาดออกไปศาลา ไม่เห็นพระสักองค์เดียวเลย มีแต่เรากวาดออกไป มีเณรหนึ่ง ชื่อเณรจรวด มันทิดจรวดทุกวันนี้ มันลูกพระไอ้นี่ เป็นหลานของท่านสุพัฒน์ วัดบ้านต้าย ที่ตกเครื่องบินตาย จรวดคือมันรวดเร็วดี ใช้คล่องดี มันมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว ก็มาเป็นเณรอยู่วัดป่าบ้านตาด มันรักษาศาลาอยู่นั้น มันเห็นเราปัดกวาดออกไปก็คงจะขวางตามันละ พอไปก็ขู่ละซิ ขึ้นอย่างเด็ดนะ ‘เณร ๆ เป็นยังไงพระวัดนี้ มันตายกันหมดแล้วเหรอ ถึงเวล่ำเวลาปัดกวาดแล้ว ทำไมจึงไม่เห็นใครมาปัดกวาด เป็นยังไงมันตายกันหมด แล้วใครจะกุสลาใครล่ะ มันตายกันหมดทั้งวัดแล้ว เป็นยังไงเณร’ คือเณรมันขัดตามัน มันก็เลยเอาไม้กวาดมากวาด แคร็ก ๆ จี้เณร ‘หือ.. เณร เป็นยังไง’ เณรก็บอกว่า ‘เวลานี้นาฬิกาเพิ่งได้ ๓ โมง ๒๐ นาที’ คือกำหนดกัน ๔ โมงปัดกวาด เราดูนาฬิกาเข้าใจว่า ๔ โมง ๒๐ นาทีเลยปัดกวาดออกมา พอเณรว่าเท่านั้น เราก็ ‘เหอ ?’ ขึ้นเลย เณรก็ซ้ำอีกว่า ‘นาฬิกาเพิ่งได้ ๓ โมง ๒๐ นาที’ เราก็ขึ้นทันที ‘เออ ถ้าอย่างนั้นหยุด ๆ อย่ามาปัดกวาด มันจะเป็นบ้ากันทั้งวัด’ นั่นเห็นไหมล่ะ ทีแรกแผดจะกัดจะฉีก พอเณรว่าอย่างนั้นเราก็ว่า หยุด ๆ อย่ามาปัดกวาด จะเป็นบ้ากันทั้งวัด ‘เราจะไปแก้บ้าของเรา’ เดินปึ๋ง ๆ กลับคืนเลย นักธรรมะต้องเป็นอย่างนั้น ผิดบอกว่าผิด ถูกบอกว่าถูก ทีแรกเข้มข้นเหมือนว่าจะต้มยำพระทั้งวัดเลยทีเดียว พระไม่เห็นมาปัดกวาดถึงเวลาแล้ว มันเป็นยังไง ใครจะกุสลาใคร มันตายกันหมดทั้งวัดแล้ว พอเณรตอบมาเท่านั้น มันเป็นบ้าเราคนเดียว ... เอ้า.. ถ้างั้นหยุด ๆ ทันทีเลยนะ เอ้าหยุด ๆ เดี๋ยวมันจะเป็นบ้ากันทั้งวัด ใครอย่ามาปัดกวาดถ้าไม่อยากเป็นบ้า เราจะไปชำระบ้าของเราเอง เดินกลับปุ๊บ ๆ เลย ... นี่เหตุผล..เข้าใจไหม ? จะไปถือว่าเราว่าเขาว่าใหญ่ว่าน้อยไม่ได้ ความผิดความถูกเป็นธรรม ผิดบอกว่าผิด ถูกบอกว่าถูก เป็นธรรม นี้เราก็ยอมรับด้วยความเป็นธรรม จะกัดจะฉีกพระ สุดท้ายก็เลยให้พระมากัดฉีกเราคนเดียว ... การปกครองหมู่เพื่อนเราไม่ได้เอาอำนาจบาตรหลวงป่า ๆ เถื่อน ๆ เข้ามาปกครอง เราเอาธรรมเป็นเครื่องปกครอง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-08-2020 เมื่อ 14:36 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#590
|
|||
|
|||
ให้กำลังใจศิษย์ องค์หลวงตาให้กำลังใจนักปฏิบัติ ให้รีบเร่งปฏิบัติขณะยังมีพระพุทธศาสนาอยู่ ดังนี้ “... ยากลำบาก ไม่ใช่อะไรพาให้ยากนะ ถ้าว่าจะสร้างความดีนี้ มันหากมีเครื่องขัดข้องขึ้นภายในใจ นั้นแหละคือกิเลสมันกีดมันขวางเรา.. ไม่ใช่ธรรม กีดขวางไม่ให้ทำ ขึ้นชื่อว่าความดีแล้วมันไม่อยากให้ทำ นั่นคือกิเลสมันขวางไว้ ๆ ..ถ้าเราได้ทำตามใจของเราแล้ว ฝืนมันทำแล้วต่อไปก็ไม่ได้ฝืน กำลังมันอ่อนลง ๆ ทีนี้ไม่ได้ทำอยู่ไม่ได้นะ แน่ะ..อำนาจของความดีมีอย่างนั้น... นี่เกิดมาชาตินี้ไม่ดีแล้ว เกิดแก้มืออีกไม่ได้นะ กรรมของเรามี..ยังไงก็ต้องไป นี่พอเหมาะเป็นจังหวะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว และพร้อมกับได้พบพุทธศาสนา พุทธศาสนาคือศาสนาเอก ผู้สิ้นกิเลสเป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าของเราเป็นผู้สิ้นกิเลส ไม่มีศาสดาใดที่เป็นผู้สิ้นกิเลสครองศาสนาสั่งสอนสัตวโลก มีศาสนาพุทธ พุทธ ๆ นี่เท่านั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดขึ้นชื่อว่าพุทธศาสนาแล้ว.. ต้องเป็นศาสนาของท่านผู้สิ้นกิเลส... ไม่ใช่ศาสนาจะมีตลอดไปนะ มีเป็นวรรคเป็นตอน เช่นเวลานี้พุทธศาสนาของเรายังมี พอหมดจากนี้แล้ว กว่าจะไปถึงศาสนาพระอริยเมตไตรยนี้นั่นแหละ ท่านเรียกว่าสุญกัป...บาปบุญ คุณโทษ นรก สวรรค์ มีอยู่ดั่งเดิมก็ตาม แต่ใจสัตวโลกยังไม่ยอมรับ สิ่งที่ยอมรับคือ ความอยากความทะเยอทะยาน ความเกรี้ยวกราด อะไรทุกอย่างขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้วมันไปรวมนั่นหมด ให้ดูดให้ดื่ม ให้พออกพอใจ มองเห็นหน้ากันมีแต่กัดแต่ฉีกกันทั้งนั้น... ถ้าเกิดเช่นนั้นแล้วเรียกว่ากรรม ผู้ที่มีกรรมหนาที่สุดจึงต้องไปเกิดในย่านนั้น..ก็ไม่มีที่จะได้สร้างบุญสร้างกุศล เพราะไม่มีใครแนะนำสั่งสอนรู้ได้ สิ่งที่สัตว์ทั้งหลายทำอยู่ทุกวัน ทำอยู่ด้วยความดูดดื่มก็มีแต่ความชั่วช้าลามก มีแต่ฟืนแต่ไฟอันเป็นผลเผาไหม้ ไม่มีส่วนดีเลย นี่เราไม่ได้เกิดในช่วงสุญกัป เราเกิดในช่วงพุทธกัป คือกัปพระพุทธเจ้าอยู่ เวลานี้จึงให้พากันขวนขวาย เวลานี้เราได้เกิดมาพบพุทธศาสนาเรียกว่าบุญลาภของเรา กิจโฉ มนุสสปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นบุญลาภอันประเสริฐ แน่ะ..ออกจากนั้นก็ กิจฉัง สัทธัมมัสสวนัง ยังได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอีก ก็เป็นบุญลาภอีกอันหนึ่ง เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเรา ท่านว่า กิจโฉ พุทธามนุปปาโท เพราะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้านั้น..เป็นบุญลาภอันประเสริฐสุดของสัตวโลก นี่คำสอนของท่านที่เป็นองค์แทนศาสดามีอยู่ ให้ได้ยินคำสอนของท่าน นี้แลคือองค์แทนศาสดา จะไม่ผิดพลาด ให้พากันอุตส่าห์พยายาม...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-08-2020 เมื่อ 01:10 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#591
|
|||
|
|||
ข้อวัตรปฏิบัติวัดป่าบ้านตาด ยุคแรก ๆ เมื่อองค์หลวงตามีที่พักจำพรรษาอยู่เป็นที่เป็นฐานมั่นคงแล้ว พระเณรต่างหลั่งไหลมาอยู่กับท่านมากขึ้น หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม มีโอกาสจำพรรษาวัดป่าบ้านตาดในยุคแรก ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๑๐ หนังสือประวัติของท่านกล่าวถึงข้อวัตรปฏิบัติในครั้งนั้น ดังนี้ “ชีวิตประจำวันในวัดป่าบ้านตาดสมัยนั้น พระอุปัฏฐากจะมีหน้าที่จัดเตรียมอัฐบริขารขององค์หลวงตาให้พร้อม.. รอไว้เพื่อออกบิณฑบาตพร้อมกัน ส่วนมากโยมที่ใส่บาตรมักจะเป็นคนในหมู่บ้านตาด ใส่ข้าวสุกข้าวเหนียว ส่วนกับข้าวจะหิ้วตามมาที่วัด เมื่อกลับมาถึงวัด พระทุกรูปจะช่วยกันจัดและแบ่งอาหาร หลวงตาเป็นผู้ให้พร จากนั้นพวกโยมก็จะนำอาหารไปแบ่งกัน หากแต่จะยังไม่รับประทานในทันที เพราะว่าจะไปช่วยกันกวาดบริเวณรอบ ๆ ก่อนเพื่อรอพระฉันเสร็จ จึงจะรับประทานอาหารร่วมกัน” เมื่อพระเณรฉันเสร็จแล้วจึงล้างบาตร ตลอดเวลาในการทำกิจจะไม่ปรากฏเสียงพูดคุยกันเด็ดขาด จากนั้นส่วนใหญ่จะแยกย้ายไปตามที่พักของตัว เพื่อภาวนาเดินจงกรม ยังคงมีบางรูปผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปเช็ดกุฏิองค์หลวงตา ตกเย็นพระจะลงมากวาดตาด พอเสร็จแล้วทุกรูปจะไปช่วยกันหาบน้ำจากบ่อน้ำ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นคันโยกอยู่ โยกน้ำขึ้นมาหิ้วไปเติมตามห้องน้ำกุฏิต่าง ๆ จนเต็ม แล้วถึงกลับมาสรงน้ำกันที่บ่อน้ำ จากนั้นจะมารวมกันฉันน้ำร้อน น้ำปานะที่ระเบียงศาลา ซึ่งเวลานี้เป็นจังหวะที่สามารถพูดคุยกันได้บ้าง แต่ต้องพูดคุยอย่างมีสติ ห้ามส่งเสียงดัง มิฉะนั้นจะได้ยินองค์หลวงตาถามว่า “ชาวบ้านมาหรือ ? ชาวบ้านมาหรือ ?” บางวันองค์หลวงตาจะลงมาฉันน้ำร้อนด้วย วันนั้นปรากฏว่าศาลาจะเงียบเป็นพิเศษ ต่อมาพระมากขึ้นและองค์หลวงตาไม่ค่อยลงมาฉันด้วย จึงย้ายที่ฉันจากระเบียงศาลาไปเป็นโรงต้มน้ำร้อนแทน พอถึงช่วงค่ำประมาณ ๑ – ๒ ทุ่มก็จะมารวมกันฟังหลวงตาเทศน์อบรมพระ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-08-2020 เมื่อ 01:12 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#592
|
|||
|
|||
แม้องค์หลวงตาท่านจะไม่ส่งเสริมเรื่องการก่อสร้าง แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องอาศัยพระเณร ลูกศิษย์ลูกหาที่มีฝีมือช่างให้ช่วยกันดูแลรับผิดชอบ ไม่ว่างานสร้างกุฏิ ศาลา โรงครัว โรงน้ำชา กำแพงวัด งานซ่อมหลังคากุฏิโยมแม่องค์หลวงตา ซึ่งมุงด้วยหญ้าคาต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปีหรือ ๒ ปี หรือแม้กระทั่งงานยกศาลา ยกกุฏิต่อเติมกุฏิองค์หลวงตา ในสมัยหลังก็จะให้พระมาดูแลรับผิดชอบด้วย
ในช่วงเวลาต่าง ๆ หากองค์หลวงตามีธุระจะไปที่โรงครัว.. ท่านมักจะเรียกให้พระอาจารย์สิงห์ทอง ต่อมาก็พระอาจารย์ฟัก หรือพระอาจารย์ลี ระยะต่อมาก็พระอาจารย์ปัญญาติดตามหลวงตาไปด้วยเสมอ ซึ่งพระติดตามมักต้องหยิบเอาเครื่องบันทึกเสียง ในสมัยนั้นก็คือเครื่องเล่นเทปแบบมีสายเอาไว้คอยอัดเทปคำสอน แม่ขาวในสมัยแรก ๆ นั้นก็มีโยมแม่องค์หลวงตา คุณแม่ชีแก้ว คุณแม่ชีน้อม คุณแม่ชีบุญ เป็นต้น ระยะต่อ ๆ มามีอุบาสิกามาขอพักปฏิบัติธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงช่วยชาติ จนถึงระยะสุดท้ายขององค์หลวงตา มีอุบาสิกาจำนวนมากกว่า ๒๐๐ คน องค์หลวงตาสั่งให้พระเณรจัดเตรียมอาหารไว้ให้สำหรับทานมื้อเดียวเท่านั้น แม้หน้าที่การงานในวัดจะมากขึ้น เพราะประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น แต่เพราะองค์หลวงตาท่านรักศิษย์พระเณรของท่านมาก ท่านจึงเข้มงวดในการรักษาสภาพวัดให้เหมาะสม สะดวกต่อการบำเพ็ญเพียรเสมอ ท่านไม่ให้พระเณรมีการงานอย่างอื่น ๆ ทำ อันเป็นการขัดต่องานจิตภาวนาซึ่งเป็นงานหลัก ท่านทะนุถนอมศิษย์พระเณรไม่ให้มีมลทิน ไม่ให้ข้องแวะกับคนภายนอกโดยไม่จำเป็น ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก มีโอกาสได้จำพรรษาในรุ่นถัดมา ได้กล่าวถึงบรรยากาศการปกครองพระขององค์หลวงตาในสมัยก่อน ดังนี้ “... สมัยก่อนเวลาหลวงตาดุพระ ดุจริง ๆ นะ พอดุเสร็จแล้ว.. พระองค์นั้นเสียใจจริง ๆ นะ สรุปแล้วหลวงตากับพระ จะเข้มงวดกวดขันกันในสมัยก่อน เพราะมันน้อย ติวเข้มเลย บางทีหลวงตาท่านเห็นพระ.. บางทีท่านก็ดุ แต่องค์นั้นก็ไม่ทันคิดว่าตัวเองทำผิด..ใช่ไหมล่ะ แต่หลวงตาดุ มันก็เสียใจใช่ไหมละ..เมื่อโดนดุ ซึ่งจริง ๆ เป็นกุศโลบายเพื่อสอนลูกศิษย์องค์อื่นด้วย แต่ทีนี้องค์ที่โดนดุมันเจ็บละซิ องค์ที่โดนดุนี้มันเจ็บ พอโดนด่าเท่านั้นละ.. องค์เป็นพี่ ๆ พวกเราก็ไปหา ‘เฮ้ย.. ไม่ต้องเสียใจนะ ให้ท่านเป็นเขียงรองดีแล้วละ’ ‘ผมไม่รู้เหมือนกันนะ ว่าตรงไหนนี้มันผิด แต่หลวงตาดุว่าไปแล้วหละ’ ‘ไม่ต้องเสียใจ ท่านสอนพวกเราด้วยกัน พวกเราผิดด้วยกันในจุดนี้ พวกเราก็ไม่รู้จุดนี้ ท่านด่าที่นี่ พวกเราจะได้ระวังต่อไป’ คล้าย ๆ มาบอกว่าไม่ใช่ว่าผิดแค่เราคนเดียวนะ มันผิดกันทั้งหมู่นะ พวกหมู่ก็ไม่รู้นี่ พอพวกหมู่รู้ เออ.. ท่านเจ็บคนเดียว พวกเราก็จะได้ระวัง เออ..องค์นั้นเจ็บคนเดียว แต่ไม่ต้องเสียใจนะ มันก็ผิดด้วยกันนั้นแหละ อันนี้คือการดุการปลอบ” หากกล่าวถึงความตั้งใจและความเคารพในข้อวัตรปฏิบัติที่เกี่ยวกับองค์หลวงตานั้น ผู้รับหน้าที่ทุกรุ่นจะตั้งใจทำด้วยความประณีตละเอียดลออยิ่ง จะพยายามไม่ให้ผิดพลาดตกหล่นไปแม้แต่น้อยนิดเลย พระอาจารย์ภูษิต ขันติธโร ซึ่งได้จำพรรษาวัดป่าบ้านตาดในช่วงที่ ๒ เป็นผู้หนึ่งที่เป็นพยานยืนยันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยข้อปฏิบัติของท่านเองในระยะนั้นว่า “เราใช้มือเรานี่แหละ ล้างส้วมพ่อแม่ครูอาจารย์ ... เข้านอกออกในกุฏิหลวงตา ทำงานทั้งหมดตั้งแต่ใส่ปลอกหมอนจนถึงเทกระโถน ล้างส้วม ซึ่งการล้างส้วมของหลวงตานี้ เราไม่ใช้ไม้ล้างโถส้วมหรอกนะ เราใช้มือของเรานี่แหละล้าง” สำหรับการทำข้อวัตรภายในกุฏิองค์หลวงตานั้น พระผู้รับผิดชอบต้องมีความละเอียดรอบคอบ และทำด้วยความพินิจพิจารณาใช้สติปัญญาประกอบในงานเสมอ เนื่องจากองค์หลวงตาท่านเข้มงวดกวดขันมาก ดังนี้ “... ได้พูดเสมอ อย่างกุฏิเรานี้ไม่ให้เข้าไปยุ่งนะ คือมันขวางตาทันทีเลย เราเข้าไป องค์ไหนที่เข้าไปจัดทำข้อวัตรนี้ อย่างมากไม่เลย ๒ องค์สำหรับกุฏิเรา ที่ไปเกี่ยวข้องกับเรามีเท่านั้น ก็มีผู้ไปจัดยาให้ตอนเช้า ตอนเย็น นี่อันหนึ่ง มีผู้ไปคอยเช็ดอะไร ๆ ตอนเราไม่อยู่ สององค์เท่านั้น.. ไม่ให้มาก พอดูได้ดูกันไป นอกนั้นไม่ให้เข้าไปยุ่ง ไปก็ขวางทันทีเลย ขวางทันที ๆ จนกระทั่งถึงได้ออกอุทานในใจ ‘โอ๋ย.. นี่มาภาวนายังไง สติสตังไม่มีเลย ปัญญาความแยบคายอะไรเหล่านี้ไม่มีประจำเลย ไม่มีแฝงเลย มีแต่ความเซ่อ ๆ ซ่า ๆ และไม่เอาไหน’ บอกตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราถึงไม่ให้เข้าไปกุฏิเรา มันบอกตลอด แพล็บปั๊บรู้แล้ว นอกจากไม่พูดเฉย ๆ ถ้าหากธรรมดาก็ขังไว้แล้วในนี้ เผาในนี้ แต่เรามันไม่เผา.. ถึงทราบเรื่องพระเรื่องเณรผู้เกี่ยวข้องเรา เพราะอยู่ในวงของการแนะนำสั่งสอนรับผิดชอบของเรา เราต้องดูทุกอย่าง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-08-2020 เมื่อ 03:03 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#593
|
|||
|
|||
เณร : กาลนาค “... ครั้งพุทธกาล ท่านมีเณรรับใช้พระ พระเป็น ๔๐๐ – ๕๐๐ เณรไม่ได้หลับได้นอน แต่ก็ดี เขาเรียกในบาลีเราดูมานาน.. ลืมนะ เณรรับใช้พระกลางคืน กลางวันไม่ได้นอนเพราะพระมาก รับใช้องค์นั้นรับใช้องค์นี้จะมาหลับมานอนก็ไม่ได้ เดี๋ยวองค์นั้นใช้องค์นี้ใช้ แต่เณรก็ใจดี พระก็เคยถามว่า ‘เณรนี้ได้อุปถัมภ์อุปัฏฐากพระจำนวนมากมาย ยังไงเณรก็มีอานิสงส์มากนะ จะปรารถนาเอาอะไรควรจะสมหวังแล้ว เพราะเณรไม่เคยมีข้อขัดแย้งทิฏฐิมานะต่อพระเจ้าพระสงฆ์ ที่ท่านใช้ไปในกิจการต่าง ๆ แล้วเณรจะเอาอะไร อยากไปนิพพานมั้ย’ ‘เวลานี้ยังไม่อยากไปนิพพาน’ ‘เพราะอะไร’ ‘คือมันยังไม่ได้นอน ต้องนอนให้อิ่มซะก่อน’ หนังสือยังมีเรียกว่า กาลนาค คือตายแล้วเป็นพญานาค นอนตามความปรารถนา นอนจนกระทั่งพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาตรัสรู้นี้เสียงถาดทองคำ อานุภาพแห่งธรรมแห่งทองคำไปซ้อนกัน องค์นี้ตรัสรู้แล้วถาดนี้ก็มาซ้อนกันสะท้านหวั่นไหว พญานาคที่หลับนั้น.. ตื่นนอนซะทีหนึ่ง ตื่นนอนในขณะถาดมาซ้อนกัน คือถาดอันนี้เป็นพระพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ ขึ้นมา แล้วพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ถาดก็มาซ้อนกัน เสียงสะท้านหวั่นไหว ทีนี้พญานาคที่นอนหลับ จะตื่นในเวลาที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์ มาตรัสรู้แล้วเสียงถาดสะเทือนสะท้าน จะตื่นเวลานั้น.. เมื่อวานก็ตรัสรู้องค์หนึ่ง วันนี้ก็มาตรัสรู้อีกองค์หนึ่ง คือเพลินในการหลับนอน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ห่างกันขนาดไหน พุทธันดรระหว่างพระพุทธเจ้าองค์นี้กับองค์นี้ที่มาตรัสรู้นี้เป็นสุญญกัป.. ว่างเปล่าเป็นเวลานานแสนนาน นานขนาดไหน กาลนาคองค์นั้นยังว่า เมื่อวานมาตรัสรู้องค์หนึ่ง แล้ววันนี้มาตรัสรู้องค์หนึ่ง เหมือนว่ากระชั้นชิดกันเหลือเกิน คือมากวนการหลับนอน นอนสบายมาก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-08-2020 เมื่อ 03:04 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#594
|
|||
|
|||
เณรเล่นบั้งไฟเล็ก “... ที่วัดป่าบ้านตาดไม่ค่อยมีเณร ส่วนมากมีชั่วระยะ พอพูดอย่างนี้แล้วก็ระลึกได้ อยู่วัดป่าบ้านตาด มีเณรหนึ่งอยู่นั้น อายุประมาณ ๑๔ ปี รูปร่างมันเล็ก ๆ ไม่ได้โต นอกนั้นมีแต่พระ ทั้งวัดมีเณรองค์เดียว จะไปเล่นกับพระอะไร ๆ ก็ไม่ได้ เดี๋ยวพระจะเขกกบาลเอาสิ พระท่านไม่เล่น ไม่เหมือนเด็ก มันคงจะหิวกระหายอยากเล่น ไปทำอะไรไม่รู้นะ ไปทำบั้งไฟเล็ก ๆ ขโมยทำในวัดในป่า พระไม่รู้สักองค์เดียว เขาไปขโมยทำของเขา เขาคึกคะนองภาษาเด็ก บั้งไฟเล็ก ๆ เหมือนบั้งไฟใหญ่ แต่นี่เขาทำเล็ก ๆ ซี้ด ๆ ๆ ไปจุดชิด ๆ อยู่ในป่า เวลาหลังมานี่เราถึงถามว่าบั้งไฟนี่ทำได้ยังไง ทำไมถึงรู้วิธีทำ เขาบอกว่าตอนที่เขาเป็นเด็ก เขาไปกับพ่อเขาไปทำบั้งไฟอยู่ในวัด พระท่านทำบั้งไฟ ตะไลบ้างอะไรบ้าง ก็ไปดูพ่อทำ เลยได้วิชานี้มาทำ ทางจงกรมอยู่ลึก ๆ ในป่า เพราะในวัดป่าบ้านตาด แต่ก่อนพระไม่ให้มีมากนะ อยากมากไม่ให้เกิน ๑๘ องค์ อยู่ทางจงกรมในป่าลึก ๆ นู่นล่ะเป็นสถานที่ซุ่มตัวจุดบั้งไฟอยู่ที่นั่นของเณร เรียกว่าไม่มีใครเห็นล่ะ เพราะมันอยู่ลึกจริง ๆ ไม่มีใครเข้าไป พระก็ ๑๗ – ๑๘ องค์ก็พออยู่แล้ว สงัดมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ที่นั่นจึงเป็นที่สงัดมากกว่าที่อื่น ๆ แกก็ไปขโมยจุดบั้งไฟอยู่ในป่า ตอนนั้นประมาณ ๒ ทุ่ม เราออกจากทางจงกรมแล้ว มันดลบันดาลยังไงไม่ทราบ แปลกอยู่นะแล้วก็บึ่งเข้าไปนั่นเลย ซึ่งแต่ก่อนเราก็ไม่เคยไป วันนั้นมาดลบันดาลยังไงไม่รู้นะ ออกจากทางจงกรมบึ่งเข้าไปเลย พอเดินเข้าไปมืด ๆ พอจวนจะถึงแล้ว มองเห็นบั้งไฟเล็ก ๆ ซี้ด ๆ ๆ จุดเพลินอยู่คนเดียว เณรน้อยจุดบั้งไฟเพลินอยู่คนเดียว ขึ้นจริง ๆ ด้วยนะ เสียงอะไร มันก็ยิ่งให้ขยับสนใจเข้าไป ค่อยต้อนเข้าไป ยังไม่นึกว่าเป็นบั้งไฟนะ เดินเข้าไปที่ไหนได้ เณรน้อยองค์นั้นจุดบั้งไฟขึ้น คนเดียวเลยนะ พอเราเดินเข้าไปตรงนั้น พอมันจุดนั่นขึ้นแล้ว เตรียมอีกจะจุดอีกมันมีหลายบั้งเหมือนกัน พออยู่ ๆ เราก็โผล่เข้าไปเลย มันมองเห็น โอ๊ย.. ตัวสั่นเลย ก็มองเห็นเสือโคร่งใหญ่ซะด้วยนะ ไม่ใช่ธรรมดา เสือดงเสือดาวก็ไม่เห็น ไปเจอเสือโคร่งใหญ่กำลังเข้ามาเหมือนหนึ่งว่าจะตะครุบเข้าไป มองดูเห็นบั้งไฟอยู่ ๓ – ๔ บั้ง มันกำลังจะจุดขึ้นอีก เราก็เดินดูนั้นดูนี้ มันมีเสาเล็ก ๆ เสาบั้งไฟน้อยนั่นแหละ แล้วกำลังจะจุดขึ้นอีก พอดีเราโผล่เข้าไป เราก็ไม่ว่าอะไร เหมือนไม่มีอะไร คือมันอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ลิงมันดิ้น ความหมายว่างั้นแหละ ถ้าจะบอกว่าลิงดิ้น พาลิงมาเล่นมันก็ไม่กล้าบอก เหมือนกับเพื่อนแกล่ะ ‘เณรทำอะไร’ แกนั่งตัวสั่น ‘โอ๊ย.. ทำไปอย่างงั้นล่ะ’ พูดเสียงสั่นไปหมดเลย เราเดินดูนั้นดูนี้ แกก็นั่งตัวสั่น ‘ไหนล่ะ..มีอะไรอีกล่ะ’ พอออกไปแล้วเราก็หนีไปเลย บั้งไฟที่ยังอยู่เหลือนั่น ไม่ทราบมันจุดอีกหรือมันปาเข้าป่าก็ไม่รู้ มันหมดขลัง บั้งไฟมีกี่บั้งมันก็ไม่มีขลัง หมดขลังแล้ว ลองตัวสำคัญก็เสือโคร่งใหญ่ซะด้วย ไปเวลาเงียบ ๆ ด้วย มันโศกเศร้าเหงาหงอย ๓ วัน เราก็ไม่พูดถึงเลย เรายังไม่พูด เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น บั้งไฟที่มันเอาวางไว้เราก็ไม่เคยถามถึง เพราะโทษเต็มตัวมันอยู่ใน ๓ วันนี้ จนกระทั่งล่วงไปสัก ๔ – ๕ วัน ดูลักษณะท่าทาง สีหน้าสีตามันดีขึ้นค่อยปกติเข้ามา จนกลายเป็นปกติ อารมณ์ที่กลัวเราจากความผิดของตัวเองคงหายไปหมด จากนั้นเราจึงได้เรียกมาสอน ก็อบรมสั่งสอนธรรมดา ไม่มีแสดงอาการอะไร แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัย เราลงทัณฑกรรม คือตามหลักวินัย ศีลของเณร เณรผิดศีลผิดธรรมยังไง ควรจะปฏิบัติยังไงให้ถูกต้องตามหลักแห่งธรรมวินัย พอแนะนำสั่งสอนเรียบร้อยแล้ว เราบอกว่าให้พระมากำกับ คือที่ตะวันตกศาลานั้น แต่ก่อนเป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นหญ้า ไม่มีอะไรล่ะ เป็นดินธรรมชาติ เลยบอกให้เณรเอาดินในจอมปลวกนั้นมาถมหลุมอันนี้วันละ ๑ ชั่วโมง ไม่เอามาก แล้วให้พระมาคอยกำกับให้เณรไปขุดเอาดินบนจอมปลวกมาเท ใส่บุ้งกี๋มาเท ถม ทำอยู่ ๓ วันก็พอดี แถวนั้นก็เรียบพอดี จากนั้นก็มาสอนอีก อย่าทำอย่างนี้นะ.. ไม่ได้นะ การที่เราไม่รับเณรเข้ามาในวัดก็มันมีเหตุการณ์อย่างนี้ เพิ่งเกิดขึ้น เราคิดไว้แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ พูดถึงเรื่องว่าไม่ค่อยได้รับเณร คือเณรมันเป็นเด็ก ถึงจะเอาผ้าเหลือง ผ้าสีขนุนอะไรมาใส่มันก็เป็นผ้าเป็นสีขนุน แต่เณรมันก็เป็นเณร เด็กมันก็เป็นเด็ก นิสัยเป็นลิงมันก็ลิงตามประสาของเด็ก ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่ค่อยรับ ขบขันดีนะ คนหนึ่งกลัวจะตาย คนหนึ่งขบขัน เด็กมันเป็นอย่างงี้เอง เราไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดความพลาดอะไรของเณรนะ เณรมันเป็นอย่างนี้เอง มันอยู่คนเดียวไม่ได้ คือมันต้องชอบสนุกเล่นนั้นเล่นนี้ ทีนี้อยู่กับพระ.. เล่นกับพระไม่ได้นะ พระท่านเอาจริงเอาจัง ท่านภาวนา ไปเล่นกับท่านได้ยังไง มันก็กลัวน่ะสิ เพราะพระองค์ไหนก็ขึงขังตึงตัง ไม่มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสกับเณรพอจะไปทะลึ่งท่านได้ แล้วมันไปทะลึ่งอะไร มันก็ไปทะลึ่งกับบั้งไฟ เข้าท่าดีนะ.. ขึ้นนะ มันจุดปั๊บขึ้น ซี้ด ๆ ๆ ขึ้น เข้าท่าดี เป็นบั้งไฟเล็ก ขึ้นสูงนะ วัดกรรมฐานไม่ค่อยมีเณร สำหรับพระปฏิบัติจริง ๆ ท่านไม่ค่อยจะยุ่งกับเณร คือเณรมันลอดตาข่ายอยู่นะ ตาข่ายแห่งธรรมแห่งวินัย มันก็ไม่พ้นที่มันจะออกนอกลู่นอกทางไปตามประสาของเณรจนได้ เราจึงไม่ค่อยรับ..ก็มีแต่พระอย่างงี้ ดีดผึง ๆ มองดูองค์ไหนเหมือนเป็นแบบพิมพ์เดียวกันเลย เอาจริงเอาจังทุกอย่าง ข้อวัตรปฏิบัติเคร่งครัด ปฏิบัติตัวเอง ต่อข้อวัตรปฏิบัติ และต่อศีลต่อธรรมตลอดเวลา เณรเข้ามาก็ขวางกันน่ะสิ มีไว้ก็สำหรับรับประเคนของเท่านั้นแหละ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-08-2020 เมื่อ 03:09 |
สมาชิก 11 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#595
|
|||
|
|||
ตายก่อนขมาโทษพระวินัย “... พระองค์หนึ่งที่ว่า เวลานี้ยังเป็นพญานาคอยู่ อันนี้ครั้งศาสนาของพระกัสสปะ พระองค์นั้นบวชในศาสนาของพระกัสสปะ นั่งเรือไปตามลำคลอง ท่านไม่ได้มีเจตนาแต่มือมันคะนอง พอเรือมันวิ่งผ่านไป กอตะไคร้น้ำมันอยู่ฝั่งคลอง เรือก็ไป ท่านเลยไปจับ พอจับท่านไม่เจตนาว่าจะจับจะเด็ดใบตะไคร้น้ำให้ขาด พอจับยังไม่ปล่อยเรือบึ่งไป.. ใบตะไคร้น้ำเลยติดมือมาเลย ตอนนั้นเป็นตอนสำคัญ เมื่อรู้ว่าเจ้าของเป็นโทษ ยังหาพระมาประกาศโทษของตนให้ทราบ เรียกว่าขมาโทษพระวินัย ก็ไม่มีพระวันนั้น เพราะท่านลงเรือไปในลำคลอง พอดีท่านป่วยน่ะสิ พอป่วยก็เลยตาย จิตเป็นกังวลยังไม่ได้แสดงโทษของตน ไม่ได้ปฏิญาณโทษของตนเองต่อพระองค์ใดองค์หนึ่งตามหลักวินัยที่มี.. เลยตาย ตายแล้วก็เลยไปเป็นพญานาค ไม่ตกนรกอะไร แต่ไปเป็นพญานาคเพราะโทษอันนี้ ฟังสิ..ศาสนาพระกัสสปะกับพระศาสนาของเรานี้ก็ห่างกันเป็นพุทธันดรหนึ่ง.. ห่างนาน ระหว่างนี้เป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า ระหว่างนี้เป็นศาสนาพระสมณโคดมเรา จากศาสนาของพระกัสสปะที่พระองค์นั้นทำผิดวินัย ก็มาถึงพุทธศาสนาของเรา เวลาตายแล้วไปเป็นพญานาค จะไปสวรรค์ก็ไปไม่ได้ จะตกนรกก็ไปไม่ถึง ไปเป็นหัวหน้าพวกพญานาคทั้งหลาย ทีนี้ความเชื่อ ความเลื่อมใส.. ในพระพุทธศาสนายังฝังใจอย่างลึกทีเดียว ทีนี้พอพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ทราบเท่านั้นว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น.. ปีติยินดี ทั้ง ๆ ที่เป็นพญานาค.. อยากฟังเทศน์ ฟังธรรม เราเสียท่าเสียทางเพราะความเผลอสติเท่านั้นนะ ความเผลอสตินี่ล่ะที่ไปจับเอากอตะไคร้ กอตะไคร้เลยขาดติดมือเลย ไม่มีเจตนาเพราะเรือมันก็วิ่งไป ทางนี้มือไปจับเอาตะไคร้ เรือพาไป ทีนี้มือยังไม่ได้ปล่อย.. ทำเท่านั้นก็ยังผิด มาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเกิดความปีติยินดีในธรรมว่า ถ้าธรรมดาพญานาคนี้ควรจะได้สำเร็จพระโสดาฯ ในขณะนั้นเลย แต่นี่เพราะเป็นวิสัยของประเภทของสัตว์เดรัจฉาน จึงสำเร็จพระโสดาฯ ไม่ได้ แต่อำนาจอานิสงส์ที่มาฟังเทศน์ฟังธรรมนี้สูงเด่นขึ้นไปอีก มีอำนาจวาสนากว้างขวางออกไปในวงพญานาคทั้งหลาย ท่านแสดงไว้อย่างนั้น คือนั่นควรจะได้บรรลุพระโสดาฯ แต่เพราะโทษอันนี้กีดขวางเอาไว้เลยไม่สำเร็จ กีดขวางไว้ให้เป็นพญานาคก็ประเภทสัตว์ มนุษย์เท่านั้นที่จะสำเร็จพระโสดาฯ อันนั้นสำเร็จไม่ได้ นี่ท่านแสดงเพียงเล็กน้อย นี่หมายถึงกรรมนะ ทำอยู่อย่างนั้น ไม่ได้มีอะไรมากมายนะ มันก็แสดงให้เห็นอยู่ ท่านถึงบอกว่า กรรมไม่มีลี้ลับนะ กรรมดีกรรมชั่ว.. ใครทำที่ไหนไม่มีลี้ลับ เพราะเจ้าของเป็นผู้ทำ เปิดเผยอยู่กับการกระทำของตัวเองทั้งดีและชั่ว ท่านจึงต้องให้สำรวมระวังด้วยดี มีสติระมัดระวังรักษาตัวเสมอ ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ นั่นเรียกว่าวิบากกรรม ดีชั่วเป็นผลให้เป็นสุขเป็นทุกข์ มันอยู่ที่เรา...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-08-2020 เมื่อ 03:11 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#596
|
|||
|
|||
ธรรมเทศนาโดยย่อ : ข้อวัตรปฏิบัติพระเณรวัดป่าบ้านตาด @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@ อุปัชฌายะตามหลักพระวินัย “...กฎเกณฑ์คณะสงฆ์ลักษณะปกครองอะไรมีขึ้นมาทุกวันนี้ เพราะเรื่องการประพฤติของพระของเณรเรามันพิสดารไปเรื่อย เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเรื่องกฎกระทรวงบ้าง ข้อบังคับ กฎกติกาอะไรบ้าง กฎหมายลักษณะปกครองสงฆ์บ้าง ขึ้นมาเพื่อปกครอง หลักเหล่านี้ถึงจะมีมากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่ต้องไม่ทำลายหรือทำความกระทบกระเทือนต่อหลักพระวินัยเป็นสำคัญท่านว่า อย่างบัญญัติหรือกฎข้อบังคับให้ตั้งอุปัชฌายะนี่เหมือนกันนะ ก็ตั้งตามเขตตามภาค ใครอยู่ในเขตไหน อำเภอใด ตำบลใด ควรจะมีอุปัชฌาย์ เพื่อไม่ให้ลำบากในการอุปสมบทของกุลบุตร สุดท้ายภายหลังก็ตั้งอุปัชฌาย์ ตั้งทางโน้นก็ให้บวชให้ทางโน้น ตั้งที่ไหนก็ให้บวชทางนั้น ๆ ผู้ไม่ได้ตั้งก็ไม่ให้เป็นอุปัชฌาย์ ไม่เรียกว่าอุปัชฌาย์ นี่ความหมายของการตั้งชื่อเมื่อภายหลังนี้ว่าอย่างนั้น แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ควรจะบวช จะบวชนี่จะผิดไหม นี่เป็นปัญหาอันหนึ่งขึ้นมา เอ้า.. พระวินัยผิดไหม พระวินัยว่ายังไง เอาพระวินัยเป็นเกณฑ์เลย คือพระวินัยพระ ที่บวชตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไปแล้วสามารถที่จะเป็นอุปัชฌายะได้ นี่ละ..ตรงนี้อันหนึ่ง ถ้าสมมุติว่าเกิดมีผู้บวชขึ้นมา หรืออย่างผมนี้มีความจำเป็นที่จะบวชกุลบุตรสุดท้ายผู้ใดก็ตาม ผมบวชขึ้นมานี้สงฆ์จะรับรองไหม นี่เป็นข้อหนึ่งขึ้นมา ที่ผมพิจารณาหรือผมพูดออกมา เพื่อให้หมู่เพื่อนได้ใช้ความพินิจพิจารณา หรือได้พิจารณาตามเหตุผลนี้ เทียบเคียงกับหลักธรรมหลักวินัยต่างหากนะ ไม่ใช่ผมจะเป็นผู้ล่วงเกินธรรมวินัย คือมันมีหลายแง่หลายทางนี่ ที่จะถือว่าถ้าได้ตั้งให้เป็นอุปัชฌาย์แล้วถึงจะบวชได้ ถ้าไม่ได้ตั้งเป็นอุปัชฌาย์แล้วบวชก็เป็นโมฆะอย่างนี้ จะเป็นโมฆะจริง ๆ เหรอ ในเมื่อหลักพระวินัยมีอยู่นี่ พระวินัยท่านว่าผู้มีอายุ ๑๐ พรรษาขึ้นไปแล้ว และเป็นผู้ทรงธรรมวินัยด้วยดี มีสัมมาคาราวะ มีอาจาระดี เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระเณรและประชาชนแล้ว ผู้นั้นเป็นอุปัชฌายะได้ โดยไม่ต้องตั้งจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย แน่ะ..นี่คือพระวินัยตั้งเอง หรือศาสดาตั้งเองก็ได้ เพราะศาสดาเป็นผู้บัญญัติไว้ นี่..ยังมีข้อแม้อยู่อันหนึ่ง... แต่ท่านไม่ทำอันนั้นเพราะเคารพในกฎอันนี้ ไม่ทำนั้นเฉย ๆ ไม่ได้หมายถึงว่าจะบวชไม่ได้เลย พระวินัยมีอยู่ทำไมบวชไม่ได้ ศาสดาแท้ ๆ เป็นผู้ตั้ง เป็นผู้บัญญัติขึ้น อันนี้เป็นพวกคณะสงฆ์เราสุดท้ายภายหลังมาตั้งขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นความวุ่นวายเกินไป เพราะสมัยทุกวันนี้.. พระองค์ที่โลภมากเป็นอุปัชฌาย์แล้วคอยแต่จะกิน มี (อย่างนั้น) นั่นจะว่าไง ไม่ใช่อุปัชฌาย์ด้วยความเมตตาสงสารกุลบุตร สุดท้ายภายหลังไม่ได้ทำด้วยความเมตตาสงสาร แต่ผู้ที่ทำด้วยความเมตตาสงสารไม่ได้หวังโลภโลเลอะไรเลย บวชตามหลักพระวินัยทำไมจะเป็นไปไม่ได้ นี่อันหนึ่งที่เป็นข้อคิด สำหรับเราเอง เราแน่ใจว่าได้ทั้งนั้น ไม่มีใครตั้งก็ตามพระวินัยตั้งแล้ว นั่น.. พระวินัยตั้งแล้วคือศาสดาตั้งแล้ว.. บวชได้ แต่ท่านไม่ทำ..เพราะเคารพในกฎนี้ กฎนี้ก็ไม่เห็นมีอะไรเสียหายนี่ ท่านบวชมาสักเท่าไรแล้วไม่ทำความเสียหาย มันเป็นกฎ เป็นระเบียบอันดีงามซึ่งควรเคารพ เราจึงเคารพเรื่อยมา บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงเคารพในกฎนี้เรื่อยมา แต่ไม่ถึงกับว่าจะต้องลบล้างพระวินัยข้อนั้นทิ้งไปเลย..ไม่ให้มี ให้มีแต่ผู้ที่ตั้งเป็นอุปัชฌายะแล้วถึงจะบวชได้เท่านั้น นี้พูดเป็นข้อคิดให้คณะสงฆ์เราได้คิด แต่ไม่ใช่ให้อุตริไปทำนะ คณะสงฆ์ท่านตั้งไว้แล้วก็เป็นความสวยงามแล้ว เรียบร้อยแล้ว เราทำเป็นแง่คิดแห่งพระวินัยข้อหนึ่งขึ้นมาเท่านั้นเอง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-08-2020 เมื่อ 03:15 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#597
|
|||
|
|||
เครื่องรบกิเลส
“... เวลานี้เราทั้งหลายต่างก็คาดเครื่องรบเต็มตัวอยู่แล้ว เครื่องรบของเราทุกชิ้นซึ่งเป็นหลักธงชัย.. อันสืบเนื่องมาแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงได้ชัยชนะมาแล้ว เครื่องรบนั้นก็คือ บริขารแปดที่ประทานให้ผู้บวชเป็นพระ เป็นเณรในพระพุทธศาสนา ได้แก่ บาตร สบง จีวร สังฆาฏิ ประคดเอว มีดโกน เครื่องกรองน้ำ และกล่องเข็ม นี่คือเครื่องธรรมของนักบวช ที่ประทานให้เป็นมรดกนับแต่วันอุปสมบท ปฏิญาณตนเป็นศิษย์พระตถาคต และทรงชี้วิธีปฏิบัติและทรงดำเนินเพื่อชัยชนะข้าศึก คือ กิเลส โลโภ โทโส โมโห อันเป็นส่วนภายในทุกกรณี แต่ประโยคสำคัญคือตัวของเราเอง บัดนี้เราได้คาดการรบไว้มากน้อยเท่าไร เพื่อนำชัยชนะมาสู่ตัวเรา เครื่องมือในการรบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แยกออกไปตามมัชฌิมาปฏิปทามี ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นี่เป็นองค์แห่งปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี่เป็นองค์แห่งศีล สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่เป็นองค์แห่งสมาธิ รวมแล้วเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าแลสาวกท่านเดินทางสายนี้แล ซึ่งโลกทั้งหลายเดินได้โดยยาก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-08-2020 เมื่อ 03:18 |
#598
|
|||
|
|||
พระธรรมวินัย
“... เราที่ได้บวชมาในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่มีหน้าที่การงานซึ่งจะทำได้โดยสมบูรณ์ ไม่มีอะไรขัดข้องยุ่งเหยิงเหมือนฆราวาสเขา เป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการที่จะบำเพ็ญตนให้ถูกต้องดีงามโดยลำดับ จนถึงจุดหมายปลายทางตามทางของพระศาสดา ที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วทุกแง่ทุกมุม ... ถ้าไม่ปล่อยให้ความขี้เกียจขี้คร้านอันเป็นเรื่องของกิเลส ความท้อถอยอ่อนแออันเป็นเรื่องของกิเลสเข้ามาทำงานเสีย พระวินัยก็ดี พระธรรมก็ดี เป็นทั้งทางเดิน ทั้งรั้ว..กั้นไม่ให้ปลีกแวะ เช่นพระวินัยเป็นรั้วกั้นสองฟากทางไว้ ธรรมเป็นทางสายกลาง เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา พระวินัยเป็นรั้วกั้นไว้ทั้งสองฟากไม่ให้ข้าม หรือปลีกแวะออกไป ปีนรั้วปีนราวคือหลักธรรมวินัย อันเป็นสวากขาตธรรมด้วยกันทั้งนั้น การทำรั้วไว้ด้วยศีลก็คือ การปิดกั้นทางที่จะผิดเป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้เดินทางนั้น ไม่ให้ปืนออกไปสู่ภัยสู่อันตรายทั้งหลายอันจะนำมาซึ่งโทษ และดำเนินตามสายกลางคือมัชฌิมาเป็นลำดับลำดา ไม่ปลีกแวะจากหลักมัชฌิมานี้ด้วยความอุตส่าห์พยายาม ไม่ลดละท้อถอย.. อย่างไรต้องถึงจุดที่หมายปลายทางโดยไม่ต้องสงสัย คำว่าพระวินัยก็พอทราบกัน คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ เหล่านี้เป็นหลักพระวินัยทั้งนั้น ส่วนพระธรรมมีมากและละเอียดไปเป็นขั้น ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น จัดเป็นหมวดธรรม พระวินัยเป็นของจำเป็นตามขั้นและเพศของผู้รักษา ... ไม่อาจเอื้อมล่วงเกิน ใจก็มีความเยือกเย็น ไม่เป็นอารมณ์เพราะเหตุแห่งความผิดศีลที่ตนรักษา จะอบรมใจให้สงบ เย็นใจ ผิวพรรณก็ผ่องใส และมีกิริยาองอาจ ไม่สะทกสะท้าน นี่เป็นศีลสมบัติที่เราได้รับในปัจจุบัน ต่อไปก็เริ่มให้เป็นสมบัติขึ้นภายในใจ โดยวิธีอบรมจิต เช่น นั่งกำหนดอานาปานุสติ ถือลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ของใจ หรือพุทโธ ธัมโม สังโฆ บทใดบทหนึ่งที่จริตชอบ มีสติกำกับอยู่ที่ใจซึ่งบริกรรมธรรมบทนั้น ๆ เป็นอารมณ์อยู่.. ใจจะค่อยมีความรู้เด่นขึ้นที่จุดนั้น และมีความเย็นสบาย ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบ จะไม่เหมือนความสุขอื่นใดที่เคยผ่านมา ผู้ได้รับความสุขประเภทนี้แล้ว จะเป็นที่สะดุดใจทันที พร้อมทั้งความพอใจที่จะพยายามให้ความสงบสุขนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ... ความสงบของใจมีหลายขั้น คือขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียด ตามแต่ผู้บำเพ็ญจะสามารถทำได้เป็นขั้น ๆ และพยายามทำจิตของตนให้ขยับขึ้นไปเป็นระยะ จนถึงขั้นละเอียดสุดของสมาธิ ส่วนความสุขอันเป็นผลย่อมมีความละเอียดขึ้นไปตามขั้นของสมาธิ ปัญญาก็มีขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียดเช่นเดียวกับสมาธิ และควรนำมาใช้กำกับสมาธิขั้นนั้น ๆ ได้ตามโอกาสอันควร จนเป็นความรอบคอบของนักปฏิบัติธรรมทุก ๆ ขั้นไป ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-08-2020 เมื่อ 03:21 |
#599
|
|||
|
|||
อนุศาสน์ ๘ นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔
“... นิสสัย ๔ อนุศาสน์ข้อที่ ๑ ว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ ... ไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ในป่าในเขาตามถ้ำเงื้อมผา ป่าช้าป่ารกชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง อัพโภกาส อันเป็นที่สะดวกแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ปราศจากสิ่งรบกวนแล้ว จงอุตส่าห์อยู่และบำเพ็ญในสถานที่เช่นนั้นตลอดชีวิตเถิด... ท่านไม่สอนว่านั้นตลาด นั้นถนนสามแพร่งสี่แพร่ง นั้นชุมนุมชนคนหนาแน่น พวกท่านจงไปกางกลดกางมุ้งอยู่ในที่ชุมนุมชนเช่นนั้น พวกท่านทั้งหลายจะปลอดภัย และถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์ได้โดยพลัน อย่างนี้พระองค์ไม่ได้สอน ... ข้อที่ ๒ ว่า ปํสุกูลจีวรํ ท่านทั้งหลายบวชมาแล้ว พึงแสวงหาผ้าบังสุกุลที่เขาทอดทิ้งตามป่าช้า ตามถนนหนทาง นำมาปะติดปะต่อ ปะชุนกันเข้าเป็นผืนสบง จีวร สังฆาฏิ พอได้ครองร่าง และชีวิตสืบต่อเพศพรหมจรรย์ให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ สมกับเพศสมณะซึ่งไม่ใช่นักฟุ่มเฟือยโก้เก๋... ข้อที่ ๓ ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ เราบวชในพระศาสนาแล้ว อย่าเป็นผู้เกียจคร้าน จงบิณฑบาตมาฉันด้วยกำลังปลีแข้งของตัวโดยความบริสุทธิ์ใจ บรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลายให้ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ใส่บาตรให้เรามาฉันตามสมณประเพณี ซึ่งปราศจากการซื้อขาย ปราศจากการทำไร่ทำนาเหมือนอย่างประชาชน การบิณฑบาตมาฉันเป็นกิจวัตร ชื่อว่าเป็นการแห่งอาชีพที่บริสุทธิ์ของนักบวช พึงอุตส่าห์ทำอย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด ข้อที่ ๔ คิลานเภสชฺช คือยารักษาโรค คำว่า โรคหรือไข้ เป็นได้ทั้งพระและฆราวาสไม่เลือกหน้า เมื่อความจำเป็นเกิดขึ้น เรื่องจำเป็นจะต้องแก้ไขก็ต้องมีขึ้นเป็นเงาเทียมตัว แต่พึงรู้จักประมาณในการขอจากญาติในพระศาสนา หรือคนให้โอกาสแก่การขอให้เป็นความดีที่สุด ความรู้จักประมาณเป็นธรรมจำเป็น นักบวชควรมีประจำตนตลอดเวลา... อกรณียกิจ ๔ คือห้ามไม่ให้ทำ เด็ดขาดไปเลย เป็นสิ่งที่ร้ายแรงมากในกิจ ๔ ประการ เช่น ฆ่าสัตว์อย่างนี้เป็นต้น หรืออวดอุตตริมนุสธรรม... นี่เป็นพระโอวาทที่พระองค์ทรงสอนพระทุกองค์ที่บวชมาต้องรับโอวาทข้อนี้.. จนได้นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ หรืออนุศาสน์ ๘ นั่น แจงออกมาอย่างนี้ให้รู้กัน... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-08-2020 เมื่อ 14:12 |
#600
|
|||
|
|||
การบำเพ็ญเพียรประจำวันของหลวงปู่มั่น
“... ปกติหลังจากฉันเสร็จแล้ว ท่าน (หลวงปู่มั่น) เริ่มเข้าทางจงกรมทำความเพียรราวหนึ่งถึงสองชั่วโมง แล้วออกจากทางจงกรมเข้าห้องพัก และทำภาวนาต่อไปจนถึงบ่ายสองโมง ถ้าไม่มีธุระอื่น ๆ ก็เข้าทางจงกรม ทำความเพียรต่อไปจนถึงเวลาปัดกวาดลานวัด ท่านถึงจะออกมาจากที่ทำความเพียร หลังจากสรงน้ำเสร็จก็เข้าทางจงกรม และเดินทำความเพียรต่อไปถึงสี่หรือห้าทุ่มจึงหยุด แล้วเข้าที่สวดมนต์ภาวนาต่อไป จนถึงเวลาจำวัดแล้วพักผ่อนร่างกาย ราวสามนาฬิกาคือ เก้าทุ่มเป็นเวลาตื่นจากจำวัด และทำความเพียรต่อไปจนถึงเวลาโคจรบิณฑบาต จึงออกบิณฑบาตมาฉันเพื่อบำบัดกายตามวิบากที่ยังครองอยู่ นี่เป็นกิจวัตรประจำวันที่ท่านจำต้องทำมิให้ขาดได้...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-08-2020 เมื่อ 14:13 |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 6 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 6 คน ) | |
|
|