#1
|
||||
|
||||
สัมผัสย้อนเวลา... กับสงคราม ๙ ทัพ
..... ช่วงวันหยุดหลายวันที่ผ่านมาได้ไปร่วมกิจกรรมเดินป่าฯ ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี คืนก่อนเดินทางกลับกรุงเทพ ในช่วงขณะจิตหนึ่งของการพักผ่อนได้คิดถึงสงคราม ๙ ทัพขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก่อนนอนได้เปิดโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เจอกับสารคดีสงคราม ๙ ทัพอีก ทำให้อยากทราบเรื่องราวเกร็ดเล็ก ๆ ของสงครามใหญ่ในครั้งนี้ จึงได้ค้นคว้าเรื่องราวเอามาให้เพื่อน ๆ ทีชื่นชอบอ่านเรื่องราวทำนองนี้ได้อ่านดู เพื่อหลังจากดูเสร็จแล้วจะได้ย้อนกลับมาเตือนสติ เตือนใจตัวเองว่า ที่พวกเราอาศัยกันอยู่ในผืนแผ่นดินไทยได้อย่างสุขสบายทุกวันนี้ เพราะอะไร...
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 13-05-2009 เมื่อ 09:48 |
สมาชิก 132 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
.....นับแต่การเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นต้นมา กรุงรัตนอังวะก็อยู่ในความวุ่นวาย เริ่มจากการสงครามกว่า ๓ ปีกับกองทัพแมนจูที่ยกทัพเข้ามาทางยูนนาน และการก่อกบฏของพวกมอญในพม่าตอนล่างยืดเยื้อมาถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๖ ซึ่งนั่นก็ช่วยให้สยามมีเวลามากพอในการเยียวยาตนเองจากความพ่ายแพ้ในสงครามครั้งก่อน ถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๘ อังวะก็ได้ยกกองทัพใหญ่นำโดยขุนพลเฒ่า"อะแซหวุ่นกี้" และขุนพลผู้น้อง"แมงแยงยางู" กลับมาอีกครั้ง เพื่อหวังจะทำลายกรุงธนบุรี มิให้ชาวสยามตั้งตัวเป็นเสี้ยนหนามมารบกวนหัวเมืองเชียงแสนและหวังจะยึดเชียงใหม่ที่เสียไปคืนจากธนบุรีให้ได้ สงครามในครั้งนี้กรุงธนบุรีจวนเจียนจะพ่ายแพ้อีกครั้ง ด้วยกองทัพของอะแซหวุ่นกี้สามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จำต้องนำไพร่พล ครัวเมือง ตีฝ่าหนีไปตั้งหลักทางเมืองเพชรบูรณ์ด้วยเหตุเสบียงกรังร่อยหรอ กองทัพพม่ารุกคืบต่อลงมาเกือบถึงค่ายของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกขึ้นไปตั้งรับที่นครสวรรค์ ซึ่งผลของสงครามก็ยังไม่ชัดว่าธนบุรีจะต้านทัพพม่าไหวไหม เพราะกำลังพลก็พอ ๆ กัน แต่ก็เป็นโชคดีของแผ่นดินสยาม ที่พระเจ้าเซงพยูเชงหรือมังระผู้พิชิตกรุงศรีอยุธยาเกิดสวรรคตกะทันหัน กองทัพต่าง ๆ ถูกเรียกกลับไปอังวะ เพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน อะแซหวุ่นกี้ เมื่อถอนทัพกลับไปอังวะ ก็ประสบชะตากรรมถูกประหารชีวิต จากผลพวงของการเมืองในราชบัลลังก์ พระเจ้าจิงกูจา (Singu Min) " เซงกูเมง" พระโอรสของพระเจ้ามังระ เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษาเพียง ๑๙ ปี ทรงปราบบรรดาผู้ต่อต้าน ทั้งพระญาติพระวงศ์และเหล่าขุนนางด้วยความรุนแรง หลายคนถูกลดอำนาจหรือส่งไปอยู่หัวเมืองที่ห่างไกล แต่พระเจ้าอาอย่างพระเจ้าปดุง ก็ยังโชคดีหน่อยถูกส่งให้ไปควบคุมตัวที่เมืองสะกาย ที่ตั้งอยู่อีกด้านฟากหนึ่งของแม่น้ำอิระวดีเท่านั้น พระเจ้าจิงกูจา ครองอังวะได้ประมาณ ๔ ปี ก็ถูกรัฐประหารโดยพระเจ้ามองหม่องผู้น้อง โอรสของพระเจ้ามังระ โดยมีขุนนางและเชื้อพระวงศ์หลายคนเข้าร่วม รวมทั้งอะแซหวุ่นกี้ (ซึ่งก็เป็นผลทำให้ต้องถูกประหารโดยพระเจ้าปดุงภายหลังเกิดเหตุการณ์ รัฐประหารซ้อน ) แต่การรัฐประหารในครั้งนี้ก็เพียงช่วยพระเจ้ามองหม่องมีสิทธิในราชบัลลังก์ได้เพียงหนึ่งอาทิตย์เท่านั้น เพราะพระเจ้าลุงที่ถูกเนรเทศไปเมืองสะกายอาศัยจังหวะความชุลมุนความวุ่นวายยกทัพกลับมาทวงราชบัลลังก์คืนในทันที ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ อันเป็นปีสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ของชาวสยาม ก็เป็นเวลาเดียวกัน ที่ "พระเจ้าโบดอพญา หรือพระเจ้าปดุง (Bodawpaya)" ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองแผ่นดินกรุงรัตนอังวะ พระเจ้าปดุงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์แห่งสุดท้ายของพม่า ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ ๕ ใน ๖ พระองค์ของพระเจ้าอลองพญา พระองค์มีพระนามเมื่อครองราชย์ว่า "ปโดงเมง" หมายถึง "พระราชาจากเมืองปโดง" แต่มีพระนามที่เป็นที่เรียกขานในพม่าภายหลังว่า "โบดอพญา" (Bodopaya) อันมีความหมายว่า "เสด็จปู่ " แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 13-05-2009 เมื่อ 09:55 |
สมาชิก 108 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
เมื่อเริ่มรัชกาล พระองค์ก็โปรดให้ย้ายพระราชวังและสร้างเมืองหลวงใหม่ที่อมรปุระ (Amarapura) ทางเหนือประมาณกว่า ๑๐ กิโลเมตรเหนือกรุงอังวะเดิม ตามคำแนะนำของโหรหลวงที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองมณีปุระ และทรงสั่งให้ทุบทำลายบ้านเรือน เปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำให้ไหลเข้ามาท่วมเมืองอังวะเดิม และให้นำไม้สักของพระราชวังกรุงอังวะจำนวน ๑,๒๐๘ ต้น มาสร้างเป็นสะพานอูเป็ง (U Bein Bridge) จนปัจจุบันกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมานมุ่งตรงไปสู่เจดีย์เจ๊าดอจี ที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ ที่มีชื่อสะพานว่า อูเป็ง นั้น มาจากชื่อของขุนนางผู้เป็นแม่กองคุมการก่อสร้างสะพาน
พระเจ้าปดุง ได้เริ่มทำสงครามประกาศพระราชอำนาจใหม่ โดยการเอาชนะอาณาจักรยะไข่หรืออารากัน (Arakan) ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของพม่า ที่พม่าไม่เคยครอบครองได้มาก่อนได้สำเร็จ ได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีหรือพระเมี้ยตมุนี อันเป็นพระพุทธรูปประจำชาติของพม่าในปัจจุบันจากยะไข่มาประดิษฐานไว้ที่นครมัณฑะเลย์ รวมทั้งนำรูปสำริดศิลปะเขมรที่อยุธยาปล้นมาจากเมืองพระนครหลวงของเขมร แล้วพระเจ้าบุเรงนองนำไปจากกรุงศรีอยุธยา ยะไข่ปล้นชิงไปจากหงสาวดีหลังสมัยพระเจ้านันทบุเรงอีกที และหลังจากได้ไปท่องเที่ยวมาหลายอาณาจักร ในที่สุดรูปสำริดเขมรก็กลับมาอยู่ที่ลุ่มน้ำอิระวดีอีกครั้ง ((สงสัยว่ารูปสำริดมี"อิทธิฤทธิ์" อะไรดีนักหนาจึงไม่ถูกหลอมทิ้ง ขนไปขนมากันอยู่ได้) เมื่อเอาชนะอาณาจักรที่ไม่เคยพ่ายอย่างอารากัน เป็นพลังครั้งสำคัญที่พาให้พระองค์เกิดความฮึกเหิมได้ใจ ไร้สามัญสำนึกที่จะประมาณศักยภาพของไพร่พลกำลังรบที่แท้จริง พระองค์ถึงกับทรงประกาศว่า "เราจะทำสงครามเพื่อพิชิตโมกุล (อินเดีย) จีน และโยดะยาให้ได้ " แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 14-05-2009 เมื่อ 08:24 |
สมาชิก 101 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ลุถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระเจ้าปดุง สั่งเกณฑ์กองทัพจำนวนกว่า ๑๒๐,๐๐๐ คน ซึ่งนับเป็นไพร่พลที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การยุทธของพม่าและสยาม จัดเป็น ๙ ทัพ แยกเป็น ๕ เส้นทาง หมายตีกรุงรัตนโกสินทร์ให้ย่อยยับเช่นเดียวกับอารากันและมณีปุระ
พระองค์ทรงเป็นจอมทัพ โดยตั้งฐานบัญชาการที่เมืองเมาะตะมะ เมืองท่าด้านอ่าวเบงกอล อันเป็นชุมทางทัพเข้าตีบ้านเมืองสยามในครั้งก่อน แต่เมื่อพระองค์เสด็จจากอมรปุระมายังเมืองเมาะตะมะแล้ว ก็ทรงทราบว่า ทางหัวเมืองเบงกอลไม่สามารถเตรียมเสบียงและยุทธปัจจัยในการสงครามได้ทันภารกิจ พระองค์ทรงพิโรธมากถึงขนาดขว้างหอกซัดเข้าใส่แม่ทัพใหญ่ที่รับผิดชอบในภารกิจท่ามกลางที่ประชุมพลทันที และพระองค์ก็ยังทรงละเลย นิ่งเฉย หรือจะเรียกว่าไม่ทรงสนพระทัยกับข้อด้อยทางทหาร ที่ก่อให้เกิดความไม่พร้อมของกองทัพใหญ่โดยรวม ซึ่งนั้นก็คือสัญญาณแห่งหายนะครั้งใหญ่ของมหากองทัพที่จะตามมาในอีกไม่ช้านี้ ทัพทั้งเก้า แยกเป็น ทัพที่ ๑ มี แมงยีแมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพ มีทั้งทัพบก ทัพเรือ จำนวนพล ๑๐,๐๐๐ เรือกำปั่นรบ ๑๕ ลำ ลงมาตั้งที่เมืองมะริด ให้ยกทัพบกมาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนถึงเมืองตะกั่วป่าและเมืองถลาง แต่แมงยีแมงข่องกยอตายเพราะถูกหอกซัดในที่ประชุมพล เกงหวุ่นแมงยีมหาสีหะสุระ อัครมหาเสนาบดีจึงขึ้นเป็นแม่ทัพที่ ๑ แทน ทัพที่ ๒ มี อนอกแฝกคิดหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๐,๐๐๐ ลงมาตั้งที่เมืองทวาย ให้เดินเข้าทางด่านบ้องตี้ มาตีกวาดหัวเมืองสยามฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี แล้วให้ลงไปใต้เพื่อไปบรรจบกับกองทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร ทัพที่ ๓ มี หวุ่นคยีสะโดะศิริมหาอุจจะนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ ถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกมาทางเมืองเชียงแสน ให้กวาดลงมาทางเมืองนครลำปางและหัวเมืองแม่น้ำยม ตั้งแต่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย ให้ลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ ทัพที่ ๔ มี เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ ยกลงมาตั้งที่เมืองเมาตะมะ เป็นทัพหน้าเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๕ มี เมียนเมหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๕๐,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหนุนเข้าตีกรุงเทพ ฯ เมื่อทัพที่ ๔ ทัพหน้าเปิดทางให้แล้ว ทัพที่ ๖ มี ตะแคงกามะ ราชบุตรที่ ๒ (พม่าเรียกว่าศิริธรรมราชา) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๒,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้าที่ ๑ ของทัพหลวงที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๗ มี ตะแคงจักกุ (พม่าเรียกว่า สะโดะมันชอ) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ มาตั้งที่ เมืองเมาะตะมะเป็นแม่ทัพหน้าที่ ๒ ของทัพหลวง ทัพที่ ๘ มี พระเจ้าปดุงเป็นจอมทัพ เป็นกองทัพหลวง จำนวนพล ๕๐,๐๐๐ ทัพที่ ๙ มี จอข่องนรทาเป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาะแขวงเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร ให้ลงมาบรรจบทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 14-05-2009 เมื่อ 08:41 |
สมาชิก 102 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ทางฝ่ายกรุงเทพ ฯ เมื่อได้ทราบข่าวการระดมไพร่พลเข้าสู่สงครามที่เมืองเมาะตะมะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ประชุมเสนาบดี ขุนนางและขุนทหารเป็นการเร่งด่วน ทรงประเมินว่า กองทัพของฝ่ายพม่าในครั้งนี้มีจำนวนมาก แต่ก็มีเป้าหมายสุดท้ายที่กรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกัน พระองค์จึงให้เกณฑ์ไพร่พลซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า ๗๐,๐๐๐ คน แบ่งกำลังตั้งรับตามแนวเข้าสู่กรุงเทพทั้ง ๔ เส้นทางหลักโดยแบ่งเป็น
ทัพที่ ๑ ให้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์(ภายหลังได้รับสถาปนาพระยศขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือ กรมพระราชวังหลัง) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๕,๐๐๐ ขึ้นไปตั้งรับอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ อย่าให้เพลี่ยงพล้ำมิให้ถอย ประวิงเวลายันทัพเหนือของพม่าให้ได้นานที่สุด ( ๑๕,๐๐๐ ตั้งรับ ๓๕,๐๐๐ ) ทัพที่ ๒ มีกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ ถือพล ๓๐,๐๐๐ ให้ไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี (เก่า) สกัดทั้ง ๕ กองทัพ ที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๓ ให้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับ เจ้าพระยายมราช ถือพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งรับอยู่ที่เมืองราชบุรี เพื่อรักษาทางลำเลียงยุทธปัจจัยของกองทัพที่ ๒ และคอยสกัดกองทัพพม่าที่อาจจะยกขึ้นมาจากทางเมืองทวาย ทัพที่ ๔ เป็นทัพหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นจอมทัพ เกณฑ์ไพร่พลเตรียมพร้อมที่ชานพระนคร จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ เศษ เป็นทัพหนุน พิจารณาจากสภาพการณ์จริง หากการศึกทางด้านใดเพลี่ยงพล้ำก็จะยกไปช่วยในทันที กองทัพใหญ่ของฝ่ายพม่ามีปัญหามากมาย ทั้งการตั้งแนวลำเลียงเพื่อส่งเสบียงกรังและยุทธปัจจัย จากแนวหลังสู่ทัพหน้าก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งความไม่ชำนาญในภูมิประเทศและการติดต่อประสานงานระหว่างกองทัพที่ห่างไกลกัน ก็เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้หลายทัพที่เกณฑ์มาจากหัวเมืองประเทศราชของอมรปุระ ขาดศักยภาพในการทำสงครามกับสยาม คือมีแต่ปริมาณแต่ขาดคุณภาพ แต่กระนั้น ปริมาณที่มีศักยภาพในการรบจริง ๆ ของกองทัพพม่า ก็ยังมีจำนวนมากกว่าของฝ่ายกรุงสยามอยู่ดี และทัพเหล่านั้นก็ได้เร่งรุดยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์แล้ว หลายครั้งที่มีการเล่ากันเพื่อเชิดชูพระเกียรติยศจนเกินจริงที่ว่าศึกนี้เป็นศึกใหญ่ที่ฝ่ายกองทัพพม่าน่ากลัว และได้เปรียบเพราะมีกำลังพลมากกว่าฝ่ายกรุงเทพฯ แต่ในความคิดเห็น ศึกนี้หากวัดกันระหว่างกองทัพและจำนวนไพร่พลที่ปะทะกันจริง ๆ แล้วก็พอ ๆ กัน เพราะทัพใหญ่เกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่เป็นกองหนุนและทัพหลวงของพม่านั้น แทบจะไม่ได้เข้าร่วมรบด้วยเลย มหายุทธสงคราม ๙ ทัพนี้ “กรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ วังหน้าพระยาเสือ” ทรงเป็นผู้พิชิตศึกอย่างแท้จริง เพราะผลจากการรบในยกแรก ทำให้กองทัพใหญ่จำนวนมหาศาลของฝ่ายพม่าติดอยู่ในช่องเขา และต้องเผชิญกับกลศึกมากมายในสงครามกองโจรแบบ"จรยุทธ์" เคลื่อนที่ไปข้างหน้าก็ไม่ได้ เพราะทัพหน้าถูกตรึงอยู่กับที่ มีทางเดียวคือต้องถอยทัพ และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้กองทัพพม่าเรือนแสนไม่มีโอกาสได้เข้าต่อรบ "สมรภูมิทุ่งลาดหญ้า" จังหวัดกาญจนบุรี ที่ราบกว้างใหญ่ระหว่างแม่น้ำแควใหญ่กับลำน้ำตะเพิน จึงถือเป็นสมรภูมิสำคัญ ที่จะชี้ขาดความเป็นความตายให้กับชาวสยามในสงครามครั้งนี้ ยุทธศาสตร์การสงครามของพระองค์ คือ “การสกัดกั้น” ตรึงกำลังผ่ายศัตรูให้ตั้งมั่นอยู่ในที่เสียเปรียบ และกักกันมิให้กองทัพใหญ่ตามออกมาจากช่องเขาได้ พระองค์จึงเร่งเคลื่อนทัพจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปตั้งค่ายชักปีกกาอุดทางออกของช่องเขาบรรทัดของทุ่งลาดหญ้า ก่อนที่ทัพของพม่าจะมาถึง เพราะถ้ามาถึงได้ก่อน พม่าก็จะสามารถขยายพลรบในที่ราบกว้าง จัดทัพใหม่เก็บเสบียง ทัพหนุนจะตามออกมา กองทัพพม่าจะกลายเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาในทันที !!! กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงได้พระยาเจ่งและกองทัพมอญสวามิภักดิ์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศเป็นอย่างดีมาช่วยรบ กองทัพสยามตั้งค่ายชักปีกกา ขุดสนามเพลาะ ปักขวากหนาม ตั้งปืนกะระยะยิง และส่งทหารไปร่วมกับทัพมอญขึ้นไปสกัดถ่วงเวลาที่ด่านกรามช้าง เมื่อกองทัพที่ ๔ ของพม่ายกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเมืองไทรโยคเข้ามาทางเมืองท่ากระดาน ตีด่านกรามช้างแตกอย่างยากลำบาก จึงยกเข้ามาเผชิญกับกองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่ตั้งค่ายรอรับอยู่แล้ว ฝ่ายพม่าจึงเร่งตั้งค่าย ปลูกหอรบประจันหน้ากับฝ่ายไทยบนเชิงเขา ซึ่งดูจะได้เปรียบด้านความสูงกว่า แล้วนำปืนใหญ่ขึ้นหอสูงยิงถล่มค่ายของฝ่ายสยาม จนยากจะหาที่ปลอดภัยจากกระสุนปืนใหญ่ฝ่ายพม่า ไพร่พลสยามเริ่มเสียขวัญและเริ่มระส่ำระสาย แต่ด้วยความเด็ดขาดของ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่ทรงประกาศว่า หากใครถอยหนีหรือไม่ยอมสู้รบ ให้ลงโทษอย่างหนักโดยจับตัวใส่ครกขนาดใหญ่และโขลกให้ร่างแหลกละเอียด ซึ่งนั่นก็ทำให้ไพร่พลหันหน้ากลับมาฮึดสู้กับฝ่ายพม่าอีกครั้ง ปืนใหญ่ของฝ่ายพม่าก็ยังระดมยิงใส่ค่ายสยามอย่างรุนแรง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ โดยประยุกต์ปืนใหญ่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทรงให้ตัดไม้ยาวสองศอก เสียบเข้าปลายกระบอกปืนใหญ่แทนลูกกระสุน แล้วยิงใส่ค่ายพม่าจนหอรบปืนใหญ่ของพม่าพังลงมาทั้งหมด แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 14-05-2009 เมื่อ 16:37 |
สมาชิก 102 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
ในระหว่างสงครามทรงนำทหารส่วนหนึ่งออกจากค่าย ไปปฏิบัติการสงครามกองโจร "จรยุทธ์" ตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของข้าศึก ซึ่งพระองค์ก็ได้มอบหมายให้ “พระองค์เจ้าขุนเณร” เป็น ผู้คุมกองโจรไปปฏิบัติการ มีหน้าที่ปล้นสดมภ์ขบวนลำเลียงของพม่าที่พุไคร้ ช่องแคบแควน้อย ซึ่งก็สามารถยับยั้งและปล้นสดมภ์ขบวนลำเลียงของพม่าได้สำเร็จ ทำให้ค่ายทัพหน้าพม่าขาดเสบียงอาหารและกระสุนดินดำที่จะยิงต่อสู้กับฝ่ายไทย
เมื่อกองทัพหน้าถูกตรึงอยู่ที่หน้าช่องเขาบรรทัด ทัพที่ ๖ ทัพที่ ๗ ของพม่าที่ยกตามมาก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จึงต้องตั้งทัพอยู่รออยู่ในหุบเขา แม้ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงเองซึ่งเป็นทัพที่ ๘ จะยกเลยด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาแล้ว ก็ต้องหยุดทัพไม่สามารถเดินหน้าต่อเข้ามาได้ อีกทั้งยังขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างหนัก แต่ก็ต้องแบ่งเสบียงใช้ช้างบรรทุกข้ามเขาไปให้กองทัพหน้า ก็ยังถูกฝ่ายไทยซุ่มโจมตีตัดการลำเลียงเสบียงอีก จนทหารพม่าโดยเริ่มอดอยาก เจ็บป่วย เป็นไข้ป่าและเริ่มล้มตายไปทีละคน ขณะที่กองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สู้รบติดพันอยู่กับพม่าที่ทุ่งลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปริวิตกว่าจะยันทัพพม่าไม่อยู่ จึงได้เสด็จยกทัพหลวงมาถึงทุ่งลาดหญ้า แต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้กราบทูลว่า พม่าอดอยากมากพออยู่แล้ว อย่าทรงวิตกเลย อีกไม่นานก็จะแตกแล้ว ขอให้เร่งเสด็จกลับไปตั้งมั่นที่พระนคร ด้วยเกรงว่าทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางอื่นจะฝ่าด่านเข้ามาได้ จะได้ยกไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที เมื่อการส่งเสบียงถูกตัดขาดโดยกลศึกสงครามกองโจร จนเกิดความอดอยากและเสียขวัญไปทั่วค่ายพม่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงใช้กลยุทธ์หลอกฝ่ายพม่า โดยให้ทหารลอบออกนอกค่ายในเวลาค่ำคืน แล้วให้ตั้งทัพถือธงทิวเดินเป็นกระบวนกลับมาในตอนเช้า ส่งเสียงสดชื่นอึกทึก ฝ่ายพม่าอยู่บนที่สูงกว่าเห็นกองทัพไทยมีกำลังหนุนเพิ่มเติมมาเสมอ ก็ให้ครั่นคร้ามจนเสียขวัญหนัก เมื่อเหมาะสมแก่เวลา กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ก็ทรงประกาศปลุกขวัญแก่ไพร่ทหารว่า “ พวกเจ้าเป็นไพร่หลวง ข้าเป็นพระราชวงศ์ แต่เจ้ากับข้าเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเราเป็นคนไทย เป็นเจ้าของแผ่นดินเหมือนกัน รบวันนี้เราจะแสดงให้ผู้รุกรานเห็นว่าเราหวงแหนแผ่นดินแค่ไหน รบวันนี้เราจะไม่กลับมาค่ายนี้อีกจนกว่าจะขับไล่ศัตรูไปพ้นชายแดน ข้าจะไม่ขอให้พวกเจ้ารบเพื่อใคร นอกจากรบเพื่อแผ่นดินของเจ้าเอง แผ่นดินที่เจ้ามอบให้ลูกหลานของเจ้าได้อยู่อาศัยอย่างเป็นสุขสืบไป” วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๒๘ กองทัพสยามก็เข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่าย พร้อมทั้งใช้ปืนใหญ่ระดมยิงสนับสนุนอย่างหนักตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ทัพหน้าที่ ๔ และทัพที่ ๕ แตกกระเจิงจนหมดทุกค่าย ไพร่พลสยามไล่ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือต่างก็วิ่งหนีกระจัดกระจาย แต่ก็ถูกกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรเข้าตีซ้ำเติม จับเชลยริบศัสตราวุธกลับมาเป็นจำนวนมาก ในพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "ไทยตีค่ายพม่า แตกที่แนวรบทุ่งลาดหญ้านั้นทหารพม่ากำลังอดอยากอิดโรย ถูกไทยฆ่าตายและจับเป็นเชลยทั้งนายและไพร่พล ประมาณ ๖,๐๐๐ คน" แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 13-05-2009 เมื่อ 10:48 |
สมาชิก 92 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
เมื่อพระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพหน้าแตกพ่ายกลับมาอย่างสะบักสะบอม อีกทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสนมาก
ไพร่พลของทัพหนุนก็เป็นไข้ป่าเจ็บป่วยล้มตายกันมาก เห็นควรว่าหากจะนำทัพเข้าต่อรบอีก ขวัญและกำลงใจของกองทัพก็ไม่มีเหลือแล้วจะพาให้ยับย่อยมากกว่านี้ จึงสั่งให้เลิกทัพ ทั้ง ๕ ทัพ ไพร่พลรวมกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ถอยกลับไปเมืองเมาะตะมะเสียในทันที ส่วนทัพที่ ๒ ของพม่า เมื่อผ่านด่านบ่องตี้ ก็เข้ามาตั้งทัพอยู่ที่เขางูราชบุรี ด้วยขาดการติดต่อจึงไม่รู้ว่าทัพหน้าได้แตกพ่ายไปแล้ว จึงยังคงคุมเชิงอยู่ โดยที่ทัพที่ ๓ ของสยามก็ไม่รู้ข่าวว่าพม่าเข้ามาถึงเขางูแล้ว จนเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ เสร็จจากศึกทุ่งลาดหญ้าแล้วยกทัพหมายช่วยหัวเมืองทางใต้ก็ผ่านมาบังเอิญเข้าปะทะกับทัพพม่าที่เขางูโดยไม่ทันรู้ตัว จึงเกิดการรบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน ทัพที่ ๒ พม่าจึงแตกพ่ายกลับไป เมื่อนำทัพกลับพระนครได้ ๖ วัน ทรงปรึกษากับพระเชษฐาธิราช แล้วทรงแยกทัพเป็นสองทัพใหญ่ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกทัพลงมาช่วยเหลือหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ถูกพม่ายึดครอง ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกทัพขึ้นหนุนทัพสยามทางภาคเหนือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงยกไปตั้งทัพปะทะพม่าที่ไชยา และตีเมืองนครศรีธรรมราช และในที่สุดกองทัพของชาวสยามก็สามารถขับไล่และทำลายกองทัพพม่าที่เหลืออีก ๓ ทัพออกไปจากผืนแผ่นดินไปได้จนสิ้น....“เก้าทัพต้องยับย่อย” ลงแล้ว ส่วนพระเจ้าปดุง เมื่อพ่ายแพ้ศึกในมหายุทธสงคราม ๙ ทัพกลับไปก็มีแต่ความอัปยศอดสู เพราะไม่เคยทำสงครามพ่ายแพ้ผู้ใดมาก่อน เพิ่งมาแพ้ต่อสยามเป็นครั้งแรก ปีต่อมาก็ยังส่งกองทัพใหญ่หวังจะมาแก้มืออีก แต่ก็ต่อรบได้เพียงสามวัน ในสมรภูมิสามสบและท่าดินแดง ค่ายพม่าก็แตกพ่าย ไพร่ทหารล้มตายเป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ พระองค์ก็ยังคงดื้อดึงที่จะส่งกองทัพกลับมาหมายจะยึดหัวเมืองเหนือคืนจากสยามอีกครั้ง ก็ถูกกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทขับไล่ออกไปอีก ตลอดระยะเวลา ๑๗ ปีนับแต่ปี ๒๓๒๘ – ๒๓๔๕ พระเจ้าปดุงผู้ยิ่งใหญ่ได้ทุ่มเทกำลังทางทหารและทรัพย์สินมากมายในความพยายามอย่างไร ้ผลถึง ๕ ครั้งที่จะเอาชนะต่อชาวสยาม ดังเช่นที่พระเจ้าเซงพยูเชงหรือมังระเคยพิชิตมาแล้ว ความอวดดีและหลงทะนงตนในครั้งนี้ จักรพรรดิราชาพม่าจึงต้องสูญเสียดินแดนเชียงใหม่และหัวเมืองเหนือที่เคยเป็น เมืองขึ้นให้แก่อาณาจักรสยามอย่างถาวร ใน เวลาเดียวกันรัฐมอญ กะเหรี่ยงและยะไข่ ล้วนต่างได้ก่อกบฏแข็งข้อขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อต่อต้านกับการขูดรีด ภาษีและเสบียงเพื่อไปใช้ในการสงครามตลอดเวลา เมื่อไม่สามารถสร้างตนเป็นจักรพรรดิราชาแห่งโลกจากการ "พระราชสงคราม" ยึดครองแว่นแคว้นรอบด้านได้เฉกเช่นกษัตริย์พม่าในอดีต พระเจ้าโบดอพญาผู้หยิ่งในศักดิ์ศรีจึงหันมาเสริมสร้างพระเกียรติยศโดยทรง ประกาศตัวเป็น “พระโพธิสัตว์สูงสุดแห่งโลก” แทนจักรพรรดิราชาผู้ครองชมพูทวีป ทรงประกาศตนเป็นองค์ศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนาด้วยความพยายามสร้างมหาสถูปขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองมินกุน (Mingun) ที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำอิระวดีจากเมืองอมรปุระขึ้น จากองค์ศาสนูปถัมภก กลายมาเป็นความหมกมุ่น หลงใหล คลั่งไคล้ ในความเชื่อทางศาสนา จนละเลยความรับผิดชอบในการปกครองบ้านเมือง นำพม่าเข้าไปสู่ยุคเสื่อมถอย เกิดความเหลื่อมล้ำ การทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และโจรปล้นสดมภ์กระจายไปทั่ว กษัตริย์แห่งรัฐฉานก็ถูกทำลายพระเกียรติยศ จนนำไปสู่ความไม่ศรัทธาต่อราชวงศ์คองบองและการปราบกบฏชายแดนอินเดียจนเกิดเป็นกรณีพิพาทกับอาณานิคมของอังกฤษที่จิตตะกอง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 14-05-2009 เมื่อ 08:31 |
สมาชิก 86 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
ความหมาย “เก้าทัพต้องยับย่อย” จึงไม่ได้หมายถึงเพียง สงครามเก้าทัพที่ฝ่ายพม่าต้องถอยทัพกลับไปทั้ง ๆ กำลังพลยังเหนือกว่ามาก แต่ความยับย่อยในความหมายเริ่มต้นจาก"สมรภูมิทุ่งลาดหญ้า" ที่สร้างความเสื่อมถอยให้กับมหาจักรวรรดิผู้เคยพิชิตกรุงศรีอยุธยาในครั้งต่อ ๆ มา
“ทุ่งลาดหญ้า” ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงใช้กลศึกและสงครามกองโจร"จรยุทธ์" ตรึง ทัพหน้ากักทัพใหญ่กว่าแสนให้ละลายหายไปในพริบตา ทั้งไพร่พลและขวัญกำลังใจ แม้แต่พระเจ้าปดุงผู้เกรียงไกรยังต้องถอนทัพกลับไปอย่างอดสู ราชวงศ์คองบองสิ้นความอหังการ เสื่อมพระเกียรติยศแห่งราชาเหนือราชา จนต้องหันไปพึ่งพระพุทธศาสนา ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้พระเจ้าปดุงเข้าใจในโลกแห่งความเป็นจริง นอกจากการสร้างตนเป็นราชาเหนือพระพุทธเจ้าและราชาเหนือโลกในฐานะพระโพธิสัตว์เท่านั้น ซึ่งนั่นก็ได้นำไปสู่ "ความยับย่อย"ของพม่า เมื่อไม่สามารถเอาชนะใจประเทศราชและแว่นแคว้นที่เคยยึดครอง ปวงประชาราษฎร์ของพม่าก็เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า "เก้าทัพต้องยับย่อย" คือจุดเริ่มต้นที่ไปสู่การย่อยยับในเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของพระเจ้าปดุง พ่วงไปถึงความเสื่อมถอยของพม่าในทุก ๆ ด้าน ถือเป็นสัญญาณครั้งสำคัญของจุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดราชวงศ์คองบองในเวลาต่อมา พระเจ้าปดุง เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. ๒๓๖๒ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒ ของราชอาณาจักรสยาม รวมระยะเวลาการครองราชย์นานถึง ๓๗ ปี !!! สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าพระยาเสือ) ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นพุทธบูชาในการพระราชสงครามที่พระองค์ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง ๓ ครั้ง ทั้งในสงครามเก้าทัพ ปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ศึกท่าดินแดงและสามสบ ปี พ.ศ. ๒๓๒๙ และสงครามที่นครลำปางป่าซาง ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ และได้โปรดให้บรรจุพระเนื้อดินดิบ"วัดชนะสงคราม" ไว้ในกรุพระเจดีย์เพื่อถวายเป็นเครื่องพุทธบูชาหลังจากที่ต้องสังเวยชีวิตผู้คนมากมายเพื่อปกปักษ์รักษาแผ่นดินเอาไว้ ขอบคุณที่มา : http://www.oknation.net/blog/vorana แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 13-05-2009 เมื่อ 09:45 |
สมาชิก 96 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
|||
|
|||
อ้างอิง:
แต่ข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดารของพม่าสมัยราชวงศ์คองบอง(มหายาสะวิน) ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดฯ ให้แปลมาเป็นภาษาไทยนั้น กลับพบว่ามีการบันทึกผลของศึกเมืองพิษณุโลกไว้น้อยมาก(จนน่าแปลกใจ) ในมหายาสะวิน บอกว่าทัพพม่าที่ตามตีกองทัพของเจ้าพระยาจักรีไปทางเมืองหล่มเก่านั้น ถูกกองทัพของทางสยาม(เจ้าพระยาจักรี)ล้อมไว้ในป่า ทัพพม่าต้องตีฝ่าออกมา และต้องถอยข้ามแม่น้ำโขงไปทางเวียงจันทน์ ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปทางเชียงของอีกที ในขณะที่กองทัพของ อะแซหวุ่นกี้ ยังคงตั้งยันทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้อยู่ จนได้รับพระบรมราชโองการของพระเจ้าจิงกูจาจึงได้ถอนทัพกลับไป จากบันทึกในมหายาสะวินนี้ เป็นที่น่าสงสัยว่า ทัพพม่าในเวลานั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะเอาชนะทัพของทางกรุงธนบุรีได้หรือไม่ ? เพราะทหารพม่าที่ถูกแบ่งไปช่วยตามตีทัพสยามด้านเมืองหล่มเก่านั้น ไม่สามารถกลับมาช่วยทัพของอะแซหวุ่นกี้ได้อีกแล้ว และยังถึงกับต้องล่าถอยไปทางเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งผิดวิสัยกองทัพที่หากเป็นฝ่ายได้เปรียบก็ไม่น่าจะถอยไปไกลเช่นนั้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 14-05-2009 เมื่อ 16:39 |
สมาชิก 80 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
|||
|
|||
เหตุผลประการต่อมาคือ
ถ้าสังเกตจากประวัติศาสตร์ของไทย จะพบว่า เมื่อเริ่มต้นศึกเมืองพิษณุโลกนี้ ทางพม่าได้แบ่งทัพมาล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ทั้งสองด้าน(ทั้งตะวันตก และ ตะวันออก โดยถือเอาแม่น้ำที่ผ่านกลางเมืองเป็นตัวแบ่ง) จากบันทึกในพงศาวดารของทางสยาม พบว่า กองกำลังของพม่าด้านทิศตะวันออกของเมืองพิษณุโลก ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกครั้งนี้เท่าไร เป็นแต่เพียงล้อมไว้เฉย ๆ เท่านั้น และสุดท้ายแล้วทัพพม่าด้านตะวันออกนี้ ก็ได้ตามตีกองทัพเจ้าพระยาจักรีไปทางเมืองหล่มเก่า และก็แตกทัพล่าถอยไปทางเวียงจันทน์ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วครับ ส่วนกองทัพพม่าด้านตะวันตกของเมืองพิษณุโลกซึ่งบัญชาการโดน อะแซหวุ่นกี้ นั้น ก็ต้องเคลื่อนทัพย้ายตำแหน่งลงมาทางด้านใต้ของเมืองพิษณุโลกอยู่ตลอดเวลา และ ยังต้องขยายวงของการวางกำลังให้กว้างออกไปอีกเรื่อย ๆ เนื่องจาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงใช้วิธีค่อย ๆ ย้ายที่ตั้งทัพลงมาทางใต้เรื่อย ๆ จนถึง จุดตั้งรับ ณ แถว ๆ เมืองพิจิตร ก็ทรงยั้งทัพไว้และไม่ได้เคลื่อนไปไหนต่อ ในขณะที่แนวหลัง ทั้งทาง กำแพงเพชร,ตาก,สุโขทัย,อุตรดิตถ์ ก็ไม่เหลือผู้คนและเสบียงให้พม่าได้ใช้งานอีกแล้ว ขณะที่ทางเหนือไปกว่านั้นตั้งแต่ ลำปาง,ลำพูน ขึ้นไปก็เป็นเขตปกครองของเจ้ากาวิละและเครือญาติ ซึ่งสวามิภักดิ์กับทางกรุงธนบุรีแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทัพของอะแซหวุ่นกี้เอง ก็ตกอยู่ในสถานะ โดนกระหนาบ ทั้งทางด้านบนและด้านล่าง แถมเสบียงกรังและผู้คนที่จะเกณฑ์มาช่วยทำศึกก็ไม่มีเนื่องจากมีแต่ที่รกร้างอยู่เบื้องหลัง ในขณะที่ ทางสยาม สามารถสถาปนาแนวตั้งรับไว้ได้หมด และ คุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว ดังนั้น จึงน่าสงสัยต่อไปว่า หากไม่เกิดการผลัดแผ่นดินในพม่าเสียก่อน อะแซหวุ่นกี้ จะเป็นเช่นไร เมื่อเจอกับปัจจัยต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ถ้าจะมองในมุมที่เข้าข้างทางสยาม ด้วยเหตุผลที่ยกมาประกอบนี้ เราคงจะไม่แปลกใจ ที่ทำไม อะแซหวุ่นกี้ จึงได้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี และได้กล่าวสรรเสริญเอาไว้ ตามที่ในพงศาวดารของเราได้ระบุมาครับ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 13-05-2009 เมื่อ 12:01 |
สมาชิก 84 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
|||
|
|||
อีกประการที่ควรให้สงสัยคือ อัจฉริยภาพ ของทั้งเจ้าพระยาจักรี และ เจ้าพระยาสุรสีห์ โดยที่ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ถ้าคราวใดที่เจ้าพระยาจักรีนำทัพออกต่อตีกับทัพของอะแซหวุ่นกี้ก็มักจะชนะ แต่ถ้าเป็นคราวของเจ้าพระยาสุรสีห์มักจะแพ้
แต่ถ้าพิจารณาดูตามสถานการณ์แล้ว อาจเป็นไปได้ว่าจุดมุ่งหมายในการออกต่อตีของทั้งสองท่านต่างกันออกไป เนื่องจากจุดมุ่งหมายของการต่อตีของเจ้าพระยาสุรสีห์มักจะออกไปรบกวนไม่ให้พม่าได้เข้าไปหาเสบียงอาหารได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรบให้แตกหัก แต่ในขณะที่คราวเจ้าพระยาจักรีออกรบนั้น จุดมุ่งหมายเพื่อให้พม่าไม่สามารถเข้าตีเมืองได้ จึงต้องทำการรบให้แตกหักให้พม่าล่าถอยออกไป ผมก็ขอฝากเหตุผลตรงนี้ไว้ให้ทุก ๆ ท่านลองพิจารณาไว้อีกข้อหนึ่งครับ |
สมาชิก 88 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
ผมมองว่าเป็นเหตุเป็นผลตรงกันดีอยู่แล้ว ที่ทัพเจ้าพระยาจักรีตีฝ่าไปทางเพชรบูรณ์ ด้วยเป็นกลศึก ทำให้ทัพพม่าต้องแบ่งกำลังติดตามไปในเขตที่ไม่ชำนาญ ซ้ำเป็นดงดิบมีอันตรายจากไข้ป่ารุนแรงเป็นที่เลืองลือมากระทั่งยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒
ในที่สุดทัพพม่าที่แยกออกมาก็หมดสภาพ ต้องตะกายหนีดงไข้ป่า ทั้งระแวงการตีกลับของทัพเจ้าพระยาจักรี จนต้องตุปัดตุเป๋หนีออกไปทางเวียงจันทน์ เป็นการตัดกำลังทัพพม่าลงได้ในระยะยาว ทัพหลักของอแซหวุ่นกี้เองก็ถูกแบ่งกำลังไปจนไม่สามารถเอาชนะ ทำลายทัพพระเจ้าตากอย่างเด็ดขาดลงได้ ในที่สุดก็ต้องถอยทัพกลับพม่า ที่หลวงพ่อเคยบอกว่าไม่เคยแพ้ ก็จริงอยู่ด้วยเหตุนี้ แต่จะถือว่าแพ้ตามที่ถูกทักท้วงก็ได้ เพราะจำต้องสละเมืองออกมา (เนื้อความโดยละเอียดอยู่ในเนื้อหาว่าด้วยเหรียญพระชัยหลังช้าง) |
สมาชิก 86 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
|||
|
|||
อ้างอิง:
ขอบพระคุณครับ
__________________
๑۩۞۩๑ ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่าน ๑۩۞۩๑ ช่วยกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และโปรดหลีกเลี่ยงการนำภาษาพูดมาใช้เป็นภาษาเขียนด้วย ขอเชิญร่วมบุญธรรมทานเว็บไซต์"วัดท่าขนุน"
|
สมาชิก 81 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
เป็นข้อความจากธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๗๑ เดือนมกราคม ๒๕๓๐ ครับ ท่านทิด
ปี ๓๐ เป็นปีครบรอบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปวงชนชาวไทยต่างพร้อมใจกันถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์ โดยประกอบกิจกรรมต่าง ๆ แม้ทางคณะสงฆ์ก็เตรียมถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์เช่นกัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา ได้จัดสร้างเหรียญพระชัยหลังช้างขึ้น เพื่อให้ประชาชนนำไปบูชา โดยให้บูชาเหรียญละ ๒๐ บาท รายได้จะนำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป หลวงพ่อรับมาจำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ เพื่อให้ลูกหลานนำไปบูชา บางคนก็ไม่ทราบว่า พระชัยหลังช้างมีอานุภาพอย่างไร หลวงพ่อจึงเล่าให้ฟัง ประวัติพระชัยหลังช้าง พระชัยหลังช้างเป็นพระที่รัชกาลที่ ๑ ท่านบูชาประจำพระองค์ มาตั้งแต่สมัยชื่อด้วง แล้วต่อมาก็เป็นแม่ทัพ เวลาจะรบกับข้าศึกก็เอาไปด้วย บูชาประจำพระองค์เลย ก็รวมความว่า ร.๑ ไม่เคยแพ้ใครใช่ไหม คำว่าแพ้จริง ไม่มี มีแต่ว่าพยายามจะต้องแพ้ เมื่อกี้นี้ตอนจะลงมาก็มีพระมาค้านองค์หนึ่ง บอก นี่จะไม่แพ้ไม่มี ที่พิษณุโลกแพ้เขานะ ที่พิษณุโลกต้องตีฝ่าอะแซหวุ่นกี้ออกไปเพราะอาหารมันหมด ไม่แพ้ คนค้านใครรู้ไหม "หลวงพ่อขนมจีน" ตอนห่มผ้าจะลงมาท่านมาบอก พระไม่แพ้ แต่เจ้าของพระแพ้นะ เมื่อกี้ท่านบอกว่า ให้อธิษฐานว่า "ร.๑ ไม่เคยแพ้ใครฉันใด ขอเราจงเป็นผู้ชนะแบบ ร.๑ ฉันนั้น" อธิษฐานอย่างนี้ยิ่งดีใหญ่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อย่าให้แพ้ความยากจน" เราจะได้ รวย รวย รวย |
สมาชิก 128 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
|||
|
|||
กว่าผืนแผ่นดินไทยจะเป็นปึกแผ่นมาจนถึงวันนี้ได้ พระมหากษัตริย์ไทยทรงสละความสุขส่วนพระองค์อย่างยากที่จะหาใครทัดเทียมได้ แม้ในยุคปัจจุบันพระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงเป็นนักต่อสู้ก็คือต่อสู้กับความลำบากยากจน หมายถึงพระองค์ทรงเป็นนักพัฒนานั่นเอง สาธุ...ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
|
สมาชิก 84 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หมูหัน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
....อีกเหตุการณ์สำคัญที่ควรกล่าวไว้เป็นตัวอย่าง ซ้ำควรเผยแพร่ให้คนไทยทุกคนได้รับรู้และจำให้แม่น คือเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งเพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ พม่าสบช่องเห็นว่าเมืองไทยยังชอกช้ำจากภาวะศึกสงครามมาโดยตลอดตั้งแต่เสียกรุง ครั้นมีข่าวผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชวงศ์อีก ก็คาดว่าจะเกิดความระส่ำระสาย จึงระดมทุ่มเทสรรพกำลัง รวบรวมทหารได้กว่าแสนจัดเป็นเก้าทัพ เคลื่อนกำลังเข้ารุกรานโจมตีอย่างมุ่งหวังจะบดขยี้ ลบชาติไทยออกจากแผ่นดิน
พระเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาล ๑ และกรมพระราชวังบวรฯโปรดเกล้าฯให้ระดมพลเตรียมรับศึกครั้งใหญ่ที่สุดอันจะเป็นเครื่องชี้ขาดตัดสินชะตากรรมของอารยธรรมไทย เหล่าทหารหาญร้อยพ่อพันแม่จากทั่วราชอาณาจักรขณะประชุมทัพรอเวลาเคลื่อนกำลัง ต่างก็มีความฮึกเหิมสมเป็นลูกหลานไทย พากันประลองกำลัง ลองของกันอย่างศิษย์มีครู พัฒนากลับกลายเป็นการลองดี คุยทับกันว่าอาจารย์ของตน วิชาของตนเหนือกว่าของผู้อื่น ตีกันนัว รวนเรไปทั้งกองทัพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรฯ จึงโปรดเกล้าฯให้ริบเครื่องรางของขลังทั้งปวงนั้นมาจำเริญเสียโดยไฟ แล้วโปรดเกล้าฯเสด็จไปทรงประกอบพระราชพิธีพุทธาภิเษกฯ ผ้ายันต์อุณาโลมด้วยพระองค์เอง แจกจ่ายให้เหล่าทหารบูชาคาดศีรษะไว้เหมือน ๆ กันทุกนาย นอกจากจะเป็นของดีที่เหล่าทหาร(ต้องเอาไปลองแน่ ๆ มิฉะนั้นไม่ตีกันแต่แรกหรอก)ศรัทธามั่นใจในพุทธานุภาพ สามารถให้ความคุ้มครองเป็นที่ประจักษ์ ยังขวัญและกำลังใจให้ฮึกเหิมเข้มแข็งในการศึก มีความสำนึกเป็นหนึ่งเดียวในความเป็นลูกและเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ใหญ่สำนักเดียวกัน คือองค์พ่อหลวงจอมทัพไทย และยังกลายเป็นทั้งสัญลักษณ์เครื่องแบบบอกความเป็นทหารไทยในราชการสงครามเก้าทัพ เป็นสัญลักษณ์แห่งสามัคคีธรรมในกองทัพที่เหล่าลูกหลานไทยทุกผู้ทุกนามต้องร่วมกันสู้ ร่วมกันสละทั้งเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อและน้ำตา โดยเหล่าทหารต้องสละตนเอง ผู้อยู่แนวหลังต้องสละผู้เป็นที่รัก บิดา สามี พี่น้อง และลูกหลานสุดที่รัก เพื่อรักษาไว้ซึ่งชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์อันผนึกรวมเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป ยันต์อุณาโลมก็คืออักขระตัวอุกลับหัว โดยที่ความหมายของคำว่าอุณาโลมคือหนึ่งใน ๓๒ มหาปุริสลักษณะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้นยันต์อุณาโลมก็คือสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง ในขณะเสด็จนำทัพด้วยพระองค์เองเข้าสู่สมรภูมิ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดงปรารภพระราชปณิธานในพระราชหฤทัย ตอนหนึ่งว่า ...ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขันธสีมา รักษาประชาชนและมนตรี... ความพากเพียร เสียสละ เหนื่อยยากตรากตรำทั้งหลายทั้งปวงตลอดพระชนม์ชีพด้วยพระราชกิจการศึกสงครามเพื่อความอยู่รอดของแผ่นดินอย่างแทบไม่เคยได้ทรงเกษมสำราญประทับอยู่กับที่อย่างสุขสงบ ได้สรุปลงให้ปวงชนชาวไทยได้รับรู้ด้วยพระราชนิพนธ์บทนี้เอง และด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมภายใต้พระพุทธานุภาพอันเป็นอัปปมาโณ หาประมาณมิได้ ทั้งด้วยสามัคคีธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเหล่าทหาร วีรชนบรรพบุรุษไทยผู้กล้า กองทัพกำลังพลนับแสนของพม่าก็ปลาตแตกพ่ายไปสิ้น มิสามารถรุกล้ำกล้ำกรายลึกเข้ามาในเขตขอบขัณฑสีมา สมดังพระราชปณิธานอันมุ่งมั่น เป็นอีกครั้งที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าของปวงชนชาวไทยได้ทรงแสดงพระบรมเดชานุภาพเป็นล้นพ้นกอปรด้วยกฤษฎาภินิหาร พิทักษ์ปกป้องแผ่นดินไทยนี้ไว้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างชัดแจ้งเป็นที่ประจักษ์เยี่ยงพระบรมโพธิสัตว์ธรรมิกราช สมดังที่ได้รับการถวายเฉลิมพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นอีกครั้งสำคัญที่ชาติไทยอยู่รอดปลอดภัยด้วยสามประสานอย่างชัดเจนที่สุด คือ ชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่าให้คนทุจริตคิดคดเนรคุณต่อชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ คนใดปิดบังบิดเบือนความจริงนี้ไปจากประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เป็นอันขาด ครั้นทรงมีชัยชนะในราชการศึกสงครามเป็นเด็ดขาดแล้ว ได้โปรดเกล้าฯให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอีกครั้ง ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว และโปรดเกล้าฯให้ใช้ดวงตราอุณาโลมเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ตลอดรัชกาล ดวงตราอุณาโลมยังถูกสืบทอดรักษาไว้เป็นตราหน้าหมวกของเครื่องแบบทหารบกอย่างภาคภูมิจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งยังถูกอัญเชิญเป็นส่วนสำคัญของตราประจำหน่วยราชการต่าง ๆ ของทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนจำนวนมาก และที่น่าภาคภูมิที่สุดคือตราประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อันพระจอมมิ่งจอมขวัญทูลกระหม่อมแก้วของปวงชนชาวไทย โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานดวงตราอุณาโลมไว้ภายใต้มหาพิชัยมงกุฎ ประดุจแสดงให้ประจักษ์ซึ่งความเป็นพระบรมโพธิสัตว์ธรรมิกราชผู้ยิ่งด้วยพระมหาบารมี ๓๐ ทัศ ปกเกล้าปกกระหม่อมคุ้มแผ่นดิน พิทักษ์ปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่ชาติไทย สืบทอดขัตติยราชประเพณีและพระราชปณิธานแห่งเหล่าบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้งปวง... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 29-10-2010 เมื่อ 11:32 |
สมาชิก 109 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|