#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
|
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชวัฒน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ อีกไม่กี่วันพวกเราก็จะเปิดโครงการอบรมบาลีก่อนสอบ ซึ่งบรรดานักเรียนบาลีก็ต้องไปเข้าค่ายกันที่วัดพุทธบริษัทเหมือนกับปีที่แล้ว
ตามปกติแล้วพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านอยากจะให้พวกเราไปอบรมร่วมกันที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) แต่ด้วยความที่ว่าทางวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) นั้น ครูบาอาจารย์เขาติวทุกวิชา ส่วนพวกเรามักจะมีข้อบกพร่องบางวิชา ฉะนั้น..จากการที่พวกเราติวกันเองเมื่อปีที่แล้ว จึงถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะว่าสามารถที่จะสอบผ่านกันหลายรูป ปีนี้ก็ได้แต่หวังว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าตัวกระผม/อาตมภาพก็คงต้องไปทำหน้าที่ ณ วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ทั้งการไปร่วมพิธีเปิด การหาของขวัญรางวัลให้แก่วิทยากร การเลี้ยงภัตตาหารเช้า-เพล ตลอดจนกระทั่งการตรวจเยี่ยมสนามอบรม เรื่องพวกนี้ถือว่าเป็นภาระของเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ตั้งแต่ระดับรองเจ้าคณะอำเภอขึ้นไป ส่วนท่านที่เป็นเจ้าคณะตำบล หรือว่าเจ้าอาวาส ถ้าจะทำแบบนั้นได้ ก็จะเป็นที่ยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ทางคณะสงฆ์ก็ถือว่ายังเป็นพระสังฆาธิการในระดับที่ต่ำ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปก็ได้ แต่ว่าตัวกระผม/อาตมภาพเองนั้น ตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสก็ไปเป็นปกติอยู่แล้ว ก็คืออย่างน้อยก็ไปช่วยสนับสนุนการอบรม หาวัตถุมงคลไปเป็นของขวัญแก่พระวิทยากร ไปร่วมเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเช้า-เพล บางทีก็ต้องเป็นผู้กล่าวสัมโมทนียกถาด้วย แต่ว่าระหว่างนั้น ก็ยังมีงานอื่นแทรกเข้ามาเป็นระยะ ทั้งภายในวัดของเราเอง และที่อื่น ๆ ก็ต้องว่ากันไปตามลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) นั้น มีการแยกสนามอบรมออกไป ในส่วนของวัดบางช้างเหนือ ซึ่งหลวงพ่อเจ้าคุณแก้ว (พระพิพัฒน์ศึกษากร) เจ้าอาวาสวัดบางช้างเหนือ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบไปส่วนหนึ่ง อย่างของปีที่แล้วก็รับในชั้นเปรียญธรรมประโยค ๔ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐมแห่งที่ ๒ หลังหมู่บ้านออมไทย ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แต่ถ้าหากว่าประโยคนั้นมีผู้เข้าอบรมน้อย ก็อาจจะยุบลงมาเหลือเฉพาะที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) กับวัดบางช้างเหนือเท่านั้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-02-2024 เมื่อ 02:12 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ในเรื่องของการเรียนบาลีนั้น เป้าหมายสำคัญในอดีตก็คือ ให้เราสามารถแปลพุทธพจน์บทพระบาลีได้ถูกต้อง ความหมายจะได้ไม่ผิดเพี้ยน อย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค ไปเรียนบาลีที่วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร จนสามารถแปลวิสุทธิมรรคได้คล่องตัว จึงได้ลากลับไปวัดบางนมโค
ถ้าถามว่าแปลคล่องตัวระดับไหน ? ท่านบอกว่าสามารถตั้งวิเคราะห์ได้ทุกศัพท์ แล้วโดยเฉพาะวิสุทธิมรรค เป็นส่วนของหลักสูตรเปรียญธรรมประโยค ๘ ก็แปลว่า ถ้าหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค ท่านจะสอบเอาประโยค อย่างน้อยท่านต้องได้ประโยค ๘ ถึงแม้ท่านไม่ได้เข้าสอบเอาประโยค แต่กลับเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วัดบางนมโค หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงบอกว่า สมัยที่ท่านบวชใหม่ ๆ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วัดบางนมโค มีพระภิกษุสามเณรไปเรียนกันถึงขนาดประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ รูป เหมือนอย่างกับมีงานวัดเลย ดังนั้น..ในจุดนี้เราจะเห็นว่า แม้แต่หลวงปู่ปาน ซึ่งท่านไม่ได้สอบเอาประโยคบาลี แต่ก็ให้ความสำคัญ เปิดโรงเรียนสอน หาครูบาอาจารย์มาช่วยสอนบรรดาพระภิกษุสามเณรที่สนใจอยากจะศึกษาบาลี แต่ว่าในระยะหลัง ด้วยความที่บุคคล ถ้าหากว่ามีประโยคบาลีเป็นวิทยฐานะอยู่ มักจะได้รับความสำคัญ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ โดยเฉพาะถ้าเป็นประโยค ๗ ประโยค ๘ ประโยค ๙ ทางด้านระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดเอาไว้เป็นพิเศษ อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่าตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ต้องจบอย่างน้อยนักธรรมชั้นเอก ต้องเป็นเจ้าคณะตำบลมาอย่างน้อย ๒ ปี หรือว่าเป็นรองเจ้าคณะตำบลมาอย่างน้อย ๔ ปี หรือว่าเป็นเปรียญเอก ก็คือถ้าเป็นประโยค ๗ ขึ้นไป ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรองเจ้าคณะตำบล หรือเป็นเจ้าคณะตำบลมาก่อน สามารถแต่งตั้งให้รับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอได้เลย ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาจะเห็นสมควร ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ระยะหลัง ๆ การเรียนประโยคบาลี จึงมีความมุ่งหมายผิดเพี้ยนไป ทั้ง ๆ ที่คำว่า บาลี มาจาก ปาลธาตุ ในความรักษา ก็คือรักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะ กลายเป็นว่าเรียนเพื่อยศ เพื่อตำแหน่งไป..! ช่วงนี้ยังดีที่ว่า ไม่ได้มีการแย่งตัวนักศึกษาบาลีกันหนัก เหมือนช่วงก่อนที่ผ่านมา ช่วงก่อนเกือบ ๒๐ ปีที่แล้วมา มีการแย่งตัวนักเรียนบาลีถึงขนาดประกาศให้รางวัลแก่บุคคลที่สอบได้ ว่าประโยคไหนจะได้รับรางวัลกี่หมื่น ประโยคไหนจะได้รับรางวัลกี่แสน..! เนื่องเพราะว่าเจ้าสำนัก ถ้ามีนักเรียนบาลีสอบได้จำนวนมาก ก็จะได้รับพิจารณาความดีความชอบ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ หรือว่าได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ได้ง่ายขึ้น เนื่องเพราะว่าช่วงนั้นการพิจารณาสมณศักดิ์ ถ้าหากว่าผ่านจากมหาเถรสมาคมไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มักจะลงพระปรมาภิไธยให้เลย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-02-2024 เมื่อ 02:15 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ดังนั้น..ในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ พวกเราต้องระมัดระวังว่า การศึกษานั้น อันดับแรกเลยก็คือให้แปลบาลีได้ถูกต้อง จะได้นำมาประกอบการปฏิบัติธรรมของเรา สงสัยข้องใจตรงไหน จะได้เปิดพระไตรปิฎกบาลีดูได้เอง
ประการต่อไปก็คือ ถ้ามีผลพลอยได้จากการศึกษา อย่างเช่นว่าผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ ให้ยศให้ตำแหน่งมา พวกเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด โดยยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปบ้ายศ บ้าตำแหน่ง สำหรับที่อื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่พวกเราเองนั้น ตั้งใจบวชมาเพื่อละกิเลส สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องประกอบที่เข้ามาในชีวิตนักบวชของเรา ซ้ำยังมีท่าทีว่าจะเป็นเครื่องถ่วงเสียด้วยซ้ำไป..! สมัยที่กระผม/อาตมภาพบวชใหม่ ๆ พรรษาแรก พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า "แกไปเรียนนักธรรมเอาไว้สักหน่อย" กระผม/อาตมภาพกราบเรียนถามว่า "เรียนไปทำไมครับ ? เพราะว่าแค่นักธรรมชั้นตรี เขาก็ปฏิเสธเรื่องของพรหม เรื่องของเทวดากันแล้ว" อย่างเช่นคำถามที่ว่า ฆฎิการพรหมคือใคร ? เราตอบตามพระไตรปิฎก หรือตามความเข้าใจ ก็คือท้าวมหาพรหมที่เลื่อมใสการออกมหาภิเนษกรมณ์ของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงได้นำเอาบริขาร ๘ มาถวาย ถ้าตอบตามนี้ ดีไม่ดีก็ได้ศูนย์เลย..! เขาให้ตอบว่า คำว่าพรหม เป็นคุณสมบัติของผู้ทรงฌานทรงสมาบัติ อาจจะมีนักบวชจากลัทธิใดลัทธิหนึ่งที่ทรงฌานสมาบัติ เลื่อมใสการออกมหาภิเนษกรมณ์ของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงได้นำเอาบริขาร ๘ มาถวาย พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านบอกว่า "ให้ไปเรียนไว้เป็นไม้กันหมา..! กระผม/อาตมภาพตีหน้างง ท่านจึงอธิบายต่อไปว่า "พระนักเรียนหรือฝ่ายปริยัติ มักจะดูถูกพระฝ่ายปฏิบัติว่าโง่..! แกไปเรียนให้พวกเขารู้ว่าแกฉลาดกว่า" แต่กระผม/อาตมภาพก็ปฏิเสธไป กราบเรียนว่า "กระผมรู้ตัวดีว่าถ้าห่างหลวงพ่อ คงจะเลวแน่ ๆ เพราะฉะนั้น..ตอนนี้ขออนุญาตไม่เรียนครับ..!" พอมาทีหลังก็ต้องเปลี่ยนความคิด เนื่องเพราะว่าในเรื่องของการเรียนนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญมาก ที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง อดีตคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ท่านได้กล่าวไว้ว่า "นกไม่มีขน คนไม่มีความรู้ ขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้..!" ก็แปลว่า พวกเราต้องเรียนด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เหมือนอย่างกับระมัดระวังในการปฏิบัติตน ว่าการบวชของเราในวันแรกนั้น เราตั้งใจบวชเพื่ออะไร การเรียนของเราก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน เนื่องเพราะว่ายิ่งนานไป ความต้องการในวิทยฐานะของพระภิกษุสามเณรก็ยิ่งมากขึ้นไปเรื่อย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-02-2024 เมื่อ 02:19 |
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
สมัยที่กระผม/อาตมภาพบวชใหม่ ๆ จบนักธรรมชั้นเอก ก็ยืดได้ทั่วประเทศแล้ว ต่อมาก็ต้องมีเปรียญธรรมค้ำเข้าไปด้วย ปัจจุบันนี้ยังต้องมีพุทธศาสตรบัณฑิต ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เพิ่มเข้าไปอีก
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็รีบเรียนเสียก่อน ถ้ามาเรียนเอาตอนแก่อย่างกระผม/อาตมภาพนี่จะลำบาก เพราะว่าสมัยวัยรุ่น กระผม/อาตมภาพอ่านหนังสือครั้งเดียวก็จำได้หมดแล้ว พอตอนมาเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก บางทีอ่าน ๗ - ๘ รอบกว่าที่จะเข้าหัว เพราะว่าสมองไปไม่ไหวแล้ว แบบเดียวกับที่พระเดชพระคุณพระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทโธ ป.ธ.๔) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่านเคยเตือนกระผม/อาตมภาพว่า "อาจารย์เล็ก เราต้องสร้างตัวเองให้มั่นคงก่อน เราถึงจะช่วยงานพระพุทธศาสนาได้มากขึ้น" การสร้างตัวเองให้มั่นคง ก็คือต้องรีบเรียนเข้าไว้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ก็เตือนกระผม/อาตมภาพตั้งแต่ยังเป็นพระใหม่ว่า ให้เร่งสร้างกำลังใจของตนเองให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่อไปถ้ามีงานเข้ามา เราจะได้มีกำลังในการสู้กับงานได้ ก็แปลว่าแม้แต่ครูบาอาจารย์หรือว่าพระเถระ เจ้าคณะปกครองระดับสูง ก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แบ่งธุระในพระพุทธศาสนาเอาไว้ว่า คันถธุระ คือ การศึกษาพระไตรปิฎก และวิปัสสนาธุระ การปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น เพียงแต่ว่าพวกเราต้องระมัดระวัง อย่าให้หลงไปอยู่ในวังวนที่เขาเป็น ๆ กันอยู่ ถึงจะได้ชื่อว่าเราปฏิบัติตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเอาไว้อย่างแท้จริง สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-02-2024 เมื่อ 02:21 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|