#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 43 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพมีหลายเรื่องที่อยากจะพูดถึง เอากันแค่ตามเวลาก็แล้วกัน
เรื่องแรกเลยก็คือ ถ้าท่านทั้งหลายสังเกต จะเห็นว่านาคของเราหายไปหนึ่งคน ซึ่งความจริงแล้วยังไม่ถึงเวลาที่นาคจะเข้าวัด เพียงแต่ว่าทั้งสองคนมีความตั้งใจในการจะบวช แล้วมาเข้าวัดก่อนเวลา ก็ถือว่าเป็นความดีเฉพาะตัว แต่ด้วยความที่ทางวัดของเราต้องมีการสอบทวนกันก่อน ว่าเคยมีการบวชมาจากที่อื่นก่อนหรือไม่ ? แล้วมีติดอาบัติหนักมาจากที่อื่น อย่างเช่นปาราชิกหรือว่าสังฆาทิเสสหรือไม่ ? จึงทำให้ทราบว่า นาครูปหนึ่งของเรา โดนอาบัติปาราชิกจากการบวชครั้งที่แล้ว..! จึงทำให้ไม่สามารถที่จะบวชใหม่ได้ ความจริงสาเหตุก็มีนิดเดียว ก็คือครูบาอาจารย์มอบพระพุทธรูปให้หนึ่งองค์ ให้ไปเลือกเอาเอง ปรากฏว่าองค์ที่ไม่ได้มอบให้ ดูดีกว่า สวยกว่า ท่านก็เลยยกเอาไปโดยที่ไม่ได้บอกครูบาอาจารย์ด้วย ความมักง่ายแค่นี้ทำให้เรากลายเป็นผู้สูญเสียหนทางในการที่จะบรรลุมรรคผลไปทั้งชาติ เพราะว่าเมื่อต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ก็เหมือนกับตาลยอดด้วน เพราะว่ากำลังใจไม่ได้มีความมั่นคงต่อพระรัตนตรัย ทำให้เข้าถึงธรรมไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่พระภิกษุสามเณรของเราต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง เราจะเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรับอาบัติ แม้แต่เราที่ไปจับต้องข้าวเปลือกหรือผลไม้ที่ยังเกิดอยู่กับที่ ก็คือยังติดกับต้น ติดกับรวงอยู่ ก็เพราะเกรงว่าเราจะมีเถยยจิต คิดจะขโมย แค่จับแล้วเลื่อนออกจากที่แค่ ๑/๑๖ ของเส้นผม ถือว่าการกระทำนั้นสำเร็จลง ทำให้ขาดความเป็นพระไปเลย..! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้บัญญัติเอาไว้ว่า แค่ลูบคลำก็โดนปรับอาบัติแล้ว เพราะว่ากำลังใจของคนเรานั้นเร็วมาก แล้วยิ่งถ้าหากว่ามีอกุศลกรรมหนุนเสริมด้วย ทำให้ขาดสติ แค่เกิดความอยากได้ แล้วหยิบของนั้นเคลื่อนออกจากที่แม้แต่นิดเดียว ก็ขาดความเป็นพระไปเลย ถือว่าเป็นบทเรียนที่เราท่านทั้งหลายสามารถที่จะรู้เห็นได้ด้วยตนเอง และต่อไปก็จะได้ระมัดระวังกัยให้มากยิ่งขึ้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-05-2023 เมื่อ 01:11 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีญาติโยมอยู่ครอบครัวหนึ่ง ก็คือมีพ่อกับลูกสาวสามคนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ คนเป็นพ่อขับรถไปส่งลูก แล้วโดนแท็กซี่ฝ่าไฟแดงพุ่งมาชน ต้องเข้าผ่าตัดสมอง จนป่านนี้ก็ยังเป็นเจ้าชายนิทราอยู่ แล้วบรรดาลูก ๆ ก็เกิดวิตกจริต หมอบอกว่าถ้าพ่อยังไม่สามารถที่จะฟื้นขึ้นมาได้ ก็ต้องมีการเจาะคอ เพื่อช่วยการหายใจ ถ้าเจาะคอแล้ว พ่อจะพูดไม่ได้..!
เรื่องพวกนี้ ถ้าโบราณเขาใช้คำว่า "ตีตนไปก่อนไข้" ก็คือยังไม่ทันจะเป็นไข้เลย เหมาเอาว่าตัวเองเป็นไปแล้ว ในเรื่องของการรักษานั้น ทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหมอ อะไรที่ทำแล้วดีขึ้น หรือว่ามีโอกาสที่จะดีขึ้นก็ต้องทำ แล้วขณะเดียวกันก็ไม่ควรที่จะมานั่งคิดเหมือนกับแช่งผู้ป่วย ว่าจะต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทรา ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกแล้ว เรื่องพวกนั้นก็เหมือนกับบางท่าน ที่ไปฟุ้งซ่านกับการที่บรรดาพรรคต่าง ๆ กำลังจะจัดตั้งรัฐบาล สารพัดที่จะคิดไปล่วงหน้าว่าจะออกมาสูตรไหน ? นั่นเป็นเรื่องของนักการเมืองให้เขาคิดกันไป ไม่ใช่พวกเรามาคิดกันเอง..! พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ชัดเจนแล้ว อตีตํ นานุโสจนฺติ นปฺปชปฺปนฺติ นาคตํ ปจฺจุปฺปนฺเนน ยาเปนฺติ ก็คืออย่าไปกังวลถึงอดีต แล้วก็อย่าไปฟุ้งซ่านถึงอนาคต กำลังใจต้องอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคผลจึงจะมีได้ ในเรื่องของครอบครัว ถ้าหากว่าฟุ้งซ่านไป ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าตำหนิ โดยเฉพาะยังเป็นเด็ก กำลังใจยังไม่มั่นคง ก็ต้องมีกังวลเป็นธรรมดา แต่เรื่องของการเมืองนี่ไม่น่าจะเกี่ยวกับพระเณรของเรา เพราะฉะนั้น..ก็ปล่อยให้เขาฟุ้งซ่านกันไปเอง อย่าไปคิดแทน เพราะถ้าเราฟุ้งซ่านแล้วเสียกำลังใจเมื่อไร ก็แปลว่าเราหาเรื่องเดือดร้อนเอง รัก โลภ โกรธ หลง ประเดประดังเข้ามา รับมือไม่ทัน เดี๋ยวก็เสียผู้เสียคนไปอีก..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-05-2023 เมื่อ 01:14 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
อีกเรื่องหนึ่งก็คือกระผม/อาตมภาพเพิ่งจะได้ออกบิณฑบาตมาแค่สองวัน บวชมาสามสี่สิบพรรษา ปกติแล้วเคยขาดบิณฑบาตไม่ถึงสิบครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการขาดบิณฑบาตที่นานที่สุด เพราะว่าผ่าตัดที่เท้ามาทำให้เดินไม่ถนัด แม้แต่ตอนนี้ พอเดินก็ยังรู้สึกตึง ๆ อยู่ แต่ว่าจำเป็นต้องเดิน เพราะว่าถ้าไม่เดิน พังผืดยึดก็จะทำให้เดินยากขึ้นไปอีก
แต่คราวนี้สิ่งที่ได้คืนมาก็คือระบบการปฏิบัติธรรมของตนเอง เพราะว่าโดยปกติแล้วกระผม/อาตมภาพก็จะภาวนาตั้งแต่เริ่มออกจากกุฏิ จนกว่าที่จะบิณฑบาตจบ ก็จะมีการกำหนดไว้ว่า ในแต่ละช่วง แต่ละตอน จะภาวนาคาถาอะไร ? ภาวนากี่จบ ? เรื่องพวกนี้ กระผม/อาตมภาพทำมาตั้งแต่สมัยเพิ่งจะบวชที่วัดท่าซุง เพียรพยายามเป็นอย่างยิ่งว่า ตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากกุฏิ จนกระทั่งเดินกลับถึงวัด เราจะไม่ให้กำลังใจหลุดไปจากการภาวนา ปรากฏว่าหลุดทุกครั้ง..! จนกระทั่งผ่านไปเป็นพรรษา กำลังของสติสมาธิถึงได้ทรงตัว วันแรกที่สามารถเดินตั้งแต่ก้าวแรกจนกระทั่งกลับถึงวัดโดยไม่ฟุ้งซ่านไปไหน อยู่กับการภาวนาได้โดยตลอด เป็นวันที่มีความสุขมาก เพราะรู้ว่ากำลังของเราพอที่จะสู้กิเลสได้แล้ว ไม่อย่างนั้นแล้วเวลาเดิน พุทไม่ทันจะโธ ก็ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นแล้ว ดังนั้น..ทุกวันนี้จึงเคยชินกับการเดินบิณฑบาตและภาวนาไปด้วย เมื่อไม่ได้บิณฑบาตหลาย ๆ วัน ก็ทำให้ต้องมาเปลี่ยนเป็นภาวนาโดยการนั่งบ้าง นอนบ้าง ซึ่งไม่เหมือนกับการเดิน การภาวนาเวลาเดิน ถ้ากำลังใจทรงตัวแล้วจะหลุดยากมาก เนื่องเพราะว่าเราทำได้ในตอนที่เคลื่อนไหวอยู่ หลายท่านที่เวลานั่งหรือนอนภาวนาแล้วได้ดี ให้ลองสังเกตดูว่า ทันทีที่เราเปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่น ก็มักจะหลุดจากการภาวนาไปเลย ดังนั้น..ถ้าจะว่าไปแล้ว การเดินบิณฑบาตสำหรับกระผม/อาตมภาพ ก็คือการเดินจงกรมภาวนานั่นเอง เพียงแต่ว่ามีการทำกิจกรรมอื่น ก็คือบิณฑบาตไปด้วย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-05-2023 เมื่อ 01:16 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
กรรมฐานที่ได้จากการเคลื่อนไหวนั้นเป็นกรรมฐานที่เสื่อมยาก เพราะว่าปกติแล้วเราต้องนั่งนิ่ง ๆ ในเมื่อเคลื่อนไหวก็ทำได้ ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด เราก็ภาวนาได้ จึงมีครูบาอาจารย์หลายท่านที่บอกกล่าวอย่างชัดเจนว่า "ถ้าผู้ใดก็ตาม ต้องรอให้นั่งอย่างเป็นงานเป็นการก่อน ใจถึงจะสงบ ยังห่างไกลจากมรรคผลอีกมาก" เพราะว่ากิเลสกินเราทุกเวลา ทุกนาที แต่เราต้องรอให้ไปนั่งอย่างเป็นทางการ ถึงจะเอาชนะกิเลสได้ ซึ่งมีเวลาก็ไม่ได้มาก ก็แปลว่าเราแพ้กิเลสอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเวลาที่เราทำอย่างอื่นในแต่ละวันนั้นมีมากกว่า
จึงฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับท่านทั้งหลายว่า ลองเอาสติเข้าไปควบคุมในเวลาที่เราทำงานทำการประจำวันของตัวเอง ให้ความรู้สึกอยู่กับลมหายใจเข้าออกและคำภาวนา ส่วนงานอื่นเราก็ทำของเราไปตามปกติ แล้วลองดูว่าต้องใช้เวลานานเท่าไร ? จึงสามารถที่จะรักษาอารมณ์ใจได้ยาวนานตามที่ตนเองต้องการ หรือว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไร ? จึงสามารถทรงการภาวนาโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับก็เป็นไปเอง ถ้าสามารถทำถึงตรงนี้เมื่อไร เราจะเริ่มมีโอกาสชนะกิเลสได้บ้าง สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-05-2023 เมื่อ 01:18 |
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|