#21
|
|||
|
|||
งานผูกหุ่นรูปภาพ
การงานของช่างผูกหุ่นและหุ่นรูปภาพนี้ คือ หุ่นที่ได้ทำขึ้นเป็นรูปมนุษย์ อมนุษย์ เทวดา และสัตว์หิมพานต์ เป็นงานประณีตศิลปที่สร้างขึ้นเนื่องด้วยคติความเชื่อตามประเพณีนิยม ในการพระราชพิธีสำคัญบางคราวบาง โอกาส เช่น คติความเชื่อเนื่องในพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินในอดีตสมัย ในการพระราชพิธีมี ธรรมเนียมว่าจะต้องผูกหุ่นทำเป็นรูปภาพ อมนุษย์ ครุฑ นาค และสัตว์หิมพานต์นานาชนิด ทำเป็นรูปภาพขนาดสูง ใหญ่เท่าคนเป็นๆ อาการยืนประจำแท่นติดลูกล้อให้คนชักลากไปได้ และบนหลังหุ่นรูปยังจัดตั้งมณฑปโถงขนาด เล็กสำหรับทอดผ้าไตรของหลวงไว้ในนั้น โดยเจ้าพนักงานจะนำไปเข้ากระบวนแห่ในการอัญเชิญพระบรมศพไปยัง พระเมรุมาศ ครั้นเมื่อเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแล้ว เจ้าพนักงานจะนำเอาหุ่น รูปภาพต่างๆ ตั้งแต่งเรียงรายรอบเชิงพระเมรุมาศ สมมุติเป็นอมนุษย์ สัตว์จัตุบาท สัตว์ทวิบาทที่มีในจังหวัด ณ เชิงเขาพระสุเมรุนั้น หุ่นหรือหุ่นรูปภาพนี้ ทำขึ้นโดยอาศัย ไม้ไผ่บ้าง หวายบ้าง ทางมะพร้าว ทางหมากบ้าง นำมาผูกขึ้นเป็นโครง ร่างของรูปภาพที่จะทำขึ้นนั้นชั้นหนึ่งก่อน จึงบุผ้าหรือบุกระดาษหุ้มห่อโครงร่างนั้นขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง มีส่วนละเอียด พอสมควรแล้วจึงขึ้นด้วยรักสมุกทำรายละเอียด หรือช่างจะตกแต่งให้เป็นไปตามแต่จะเห็นงาม หุ่นรูปภาพจำพวกนี้ นอกจากผูกทำขึ้นสำหรับนำเข้ากระบวนแห่อัญเชิญพระบรมศพและตั้งแต่งประดับราย รอบเชิงพระเมรุมาศ ยังได้ทำเป็นหุ่นรูปภาพต่างๆ สำหรับตั้งแต่งประดับซุ้มในงานที่เป็นพิธีการต่างๆ แต่งรถเข้า กระบวนแห่ในโอกาสต่างๆ เป็นต้น งานช่างผูกหุ่นรูปภาพจัดว่าเป็นงานประณีตศิลปที่สำคัญประเภทหนึ่งต้องอาศัยฝีมือ และความสามารถของ ช่างหุ่น ที่อาจทำการได้ทั้งงานปั้น งานสลักกระดาษและการเขียนระบายสี พร้อมอยู่ในหุ่นรูปภาพที่ช่างหุ่นทำขึ้น อย่างวิจิตรและประณีตให้ดูประหนึ่งว่าเป็นของจริงแท้ อนึ่ง โดยที่งานผูกหุ่นรูปภาพเป็นงานที่จะต้องสร้างรูปภาพเป็นไปตามขนบนิยมและช่างผูกหุ่นรูปภาพจะยึด ถือแบบอย่างที่เป็นขนบนิยมอย่างเคร่งครัดในการผูกทำหุ่นสืบๆ กันมา ตังนี้เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไปจากแบบแผนของรูปภาพในการผูกหุ่นขึ้นในภายหลัง จึงได้มีการกำหนดรูปแบบของรูปภาพต่างๆ ที่จะผูกหุ่นขึ้น เป็นแบบแผน ใช้เป็นตำราสำหรับช่างผูกหุ่นรูปภาพได้ใช้ศึกษาและเป็นแบบแผนสำหรับผูกหุ่นขึ้นไว้เป็นแบบแผน โดยลำดับไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และแบบแผนรูปภาพสำหรับผูกหุ่นชุดนี้ได้รับความนับถือในหมู่ช่าง ศิลปกรรมแบบไทยประเพณีว่าเป็นตำราที่เป็นแบบฉบับอย่างสำคัญสำหรับงานผูกหุ่น ต่อมาจนกระทั่งถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งานผูกหุ่นรูปภาพโดยเฉพาะที่ใช้ในงานพระราชพิธีออกเมรุ ก็ได้หมดบท บาทตัวของมันเอง ยังคงมีการผูกหุ่นใช้ในงานอื่นๆ อยู่บ้างแต่ก็ห่างคราวกัน งานผูกหุ่นเขาจำลอง งานผูกหุ่นประเภทหลังนี้เป็นการผูกหุ่นทำเป็นภูเขาจำลองขนาดย่อมบ้าง ขนาดใหญ่และสูงบ้าง สำหรับใช้ ในการพระราชพิธีสำคัญๆ บางงาน อาทิ หุ่นเขาไกรลาสสำหรับพระราชพิธีโสกันต์ หุ่นเขาพระสุเมรุสำหรับพระราช พิธีออกเมรุ หุ่นเขาวงกตในพิธีเทศน์มหาชาติ งานผูกหุ่นเขาจำลองนี้ ช่างหุ่นจะใช้ไม้จริงต่อกันขึ้นเป็นร่างร้านให้มีขนาดกว้าง ยาว และสูงตามประสงค์ จะทำหุ่นภูเขาขึ้น ณ ที่นั้นโดยเฉพาะหุ่นภูเขาที่สร้างขึ้นให้คนขึ้นไปได้บนภูเขาหุ่นนี้ เช่น ภูเขาไกรลาสในพระราช พิธีโสกันต์ จะต้องทำร่างร้านให้แข็งแรงมั่นคงพอจะรับน้ำหนักคนที่จะขึ้นไป และสิ่งปลูกสร้าง คือมณฑปและเครื่อง ตั้งแต่งขึ้นบนเขานั้นได้พอ เมื่อทำร่างร้านขึ้นมั่นคงตามขนาดที่กำหนดได้แล้ว จึงใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกๆ ยาวตามขนาด นำมาตั้งเป็นโครง รูปภูเขาหุ้มร่างร้านโดยขัดไม้และผูกด้วยเชือกปอ จัดและดัดให้เป็นรูปทรงก้อนหินใหญ่น้อยเรียงสลับทับเทินกันขึ้น ไปเป็นภูเขาตามขนาดและรูปทรงที่กำหนด ครั้นผูกทำโครงร่างขึ้นได้ดังกำหนดแล้ว จึงใช้เสื่อลำแพนบุทับลงบนโครงร่างทำเป็นผิวของก้อนหินภูเขาให้ ทั่ว จัดแต่งเสื่อลำแพนให้เข้ารูป ได้ลักษณะจำลองหินผามาจากภูเขาจริง งานขั้นต่อไป คือการปิดกระดาษทับลงบน เสื่อลำแพนได้บุทับโครงร่างทำเป็นโครงกินหินภูเขานั้น โดยใช้กระดาษฟางทาแป้งเปียกปิดทับเสื่อลำแพนนั้น ประมาณ ๔-๖ ชั้น เพื่อทำเป็นผิวของก้อนหินและภูเขา ปิดกระดาษหุ่นภูเขาจำลองนี้ให้ทั่วหมด และพักไว้สักระยะ หนึ่งให้กระดาษที่ปิดแห้ง พอกระดาษที่ปิดหุ่นภูเขาจำลองนี้แห้งแล้ว จึงระบายสีหุ่นภูเขาด้วยสีฝุ่น เขียนระบายสีให้ดูคล้ายภูเขาหินจริงๆ ทั้งหุ่นภูเขาจำลอง อนึ่ง หุ่นภูเขาจำลองนี้ อาจตกแต่งด้วยต้นไม้ ชนิดไม้ใบ และไม้ดอก หรือตกแต่ง ด้วยรูปปั้นสัตว์ชนิดต่างๆ ให้ดูเป็นธรรมชาติและสมจริงย่อมทำได้ตามแต่จะเห็นงาม งานช่างหุ่นเชิด งานช่างหุ่นอีกประเภทหนึ่งคือ "งานช่างหุ่นเชิด" หุ่นเชิดเป็นเครื่องเล่นชนิดหนึ่งในงานมหรสพตามประ เพณีมาแต่โบราณ หุ่นเชิดนี้อาจทำขึ้นต่างกันเป็น ๓ แบบ คือ หุ่นแบบที่มีแต่ศีรษะ ประกอบกับไม้กระบอกทำเป็นแกนตัวหุ่นและถุงผ้าคลุมต่างเสื้อ ติดมือเข้าที่มุมก้นถุงทั้ง สองข้างหุ่นแบบนี้เรียกว่า "หุ่นกระบอก" หุ่นแบบที่มีส่วนศีรษะ ลำตัว แขน และขาครบเต็มตัว ห่อหุ้มด้วยเครื่องละครและมีเครื่องสวมที่ศีรษะแบบ ต่างๆ หุ่นแบบนี้ขนาดเล็ก สูงประมาณย่อมกว่า ๑ ศอกเล็กน้อยใช้เส้นด้ายร้อยไว้สำหรับชักให้หุ่นเคลื่อนไหวเลียนกิริยา คน หุ่นแบบนี้ เรียกว่า "หุ่นชัก" หุ่นแบบหลัง ลักษณะคล้ายกันกับ "หุ่นชัก" แต่ทำขนาดตัวหุ่นใหญ่โตกว่า คือสูงประมาณศอกคืบหรือกว่านั้น เล็กน้อย หุ่นแบบนี้ใช้ไม้เรียวเสียบติดที่มือและเท้า เชิดทำกิริยาต่างๆ ตามบท โดยเหตุที่หุ่นแบบหลังนี้ตัวโตใหญ่ จึงต้องใช้คนเชิดมากกว่า ๑ คน และอาจทำกิริยาเลียนแบบละครรำได้แนบเนียนมาก หุ่นแบบนี้จึงเรียกกันว่า "หุ่นละครเล็ก" หุ่นแต่ละแบบเกิดจากการใช้ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ทองหลาง ไม้สมพง ไม้อุโลก เป็นต้น ซึ่งเมื่อไม้จำพวกนี้แห้ง สนิทแล้วน้ำหนักเบา นำมาถากเหลาขึ้นเป็นหุ่นศีรษะ หุ่นลำตัว หุ่นแขนและมือ ขาและเท้าให้เป็นรูปโกลนขึ้นก่อน จึงใช้รักตีลายหรือรักสมุกปั้นทำส่วนละเอียดบนใบหน้า มือ เท้า และทำลวดลายเครื่องสวมศีรษะ เครื่องประดับร่าง กายเป็นลำดับต่อไป กล่าวโดยเฉพาะส่วนใบหน้า มือและเท้า เมื่อปั้นส่วนละเอียดแล้วมักปิดทับด้วยกระดาษสาเนื้อละเอียดเสียชั้น หนึ่งก่อนจึงลงฝุ่นขาวแล้วเขียนสีลงตามที่เป็นคิ้ว ตา ปาก ไพรปาก ตามแบบที่เป็นขนบนิยมกันสืบมา ส่วนเครื่องสามศีรษะและเครื่องประดับร่างกายนั้นก็จัดการเช็ดรักปิดทองคำเปลว แล้วติดกระจกทำเป็นแวว เทียบว่าประดับด้วยเพชรพลอยให้งามต่อไป อนึ่ง ในส่วนเครื่องแต่งตัวหุ่นนั้น เป็นหน้าที่ของช่างเย็บ ช่างปักสะดึงกรึงไหม เป็นช่างต่างแผนกไปจากช่าง สิบหมู่ |
สมาชิก 10 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
สุธรรม (29-04-2010)
|
#22
|
|||
|
|||
ช่างรัก
Lacquering คำว่า "ช่างรัก" เป็นคำเรียกช่างประเภทหนึ่งซึ่งอาศัย "รัก" เป็นวัตถุปัจจัยสำคัญสำหรับประกอบงาน ศิลปกรรมเนื่องด้วยการตกแต่งที่ลักษณะของงานเป็นไปในลักษณะประณีตศิลป หรือมัณฑนศิลป เป็นต้น รักหรือยางรัก มีคุณลักษณะเป็นยางเหนียว สามารถเกาะจับพื้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ประสงค์จะทาหรือถมทับ หรือเคลือบผิวได้ดี มีคุณสมบัติที่ทำให้ผิวพื้นซึ่งทาหรือเคลือบรักเป็นผิวมันภายหลังรักแห้งสนิท มีคุณภาพคงทนต่อ ความร้อน ความชื้น กรดหรือด่างอ่อนๆ และยังเป็นวัสดุที่ใช้เชื่อมสมก หรือสีเข้าด้วยกัน เชื่อมระหว่างผิวพื้นกับวัสดุ สำหรับตกแต่ง เช่น กระจกสี เปลือกหอย และยังใช้ผสมสีเข้าด้วยกันมาแต่โบราณกาล งานศิลปกรรมที่ประกอบด้วย รักลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่กล่าวมานี้ เรียกว่า "เครื่องรัก" หรือ "งานเครื่องรัก" "รัก" เป็นชื่อยางไม้ชนิดหนึ่งเป็นวัสดุที่ได้จาก "ต้นรัก" [lac tree (ภาษาพฤกษศาสตร์ ; melanorrhoea usitata)] คือต้นไม้ยืนต้นขนาดย่อม การนำยางรักจากต้นรักมาใช้ ทำด้วยการกรีดหรือสับด้วยมีดที่ลำต้นรักให้เป็น รอยยาวๆ ยางรักจะไหลออกมาตามรอยที่กรีดหรือสับนั้น นำภาชนะเข้ารองรับน้ำยางรักเป็นคราวๆ เก็บรวบรวมไว้ ใช้งานตามขนาดที่ต้องการ ยางรักนี้บางแห่งเรียกว่า "น้ำเกลี้ยง" หรือ "รักน้ำเกลี้ยง" ก็มี "รักหรือยางรัก" แต่ละชนิดที่ช่างรักใช้ประกอบงานเครื่องรัก มีคุณลักษณะดังนี้ รักดิบ คือยางรักสดที่ได้จากการกรีดหรือสับจากต้นรัก ลักษณะเป็นของเหลวสีขาว เมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่งจะ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและจะกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ รักดิบนี้จะต้องผ่านการกรองให้ปราศจากสิ่งสกปรกปะปน และจะต้องได้รับการขับน้ำที่เจืออยู่ตามธรรมชาติใยยางให้ระเหยออกตามสมควรก่อน จึงนำไปใช้ประกอบงาน เครื่องรัก รักน้ำเกลี้ยง คือรักดิบที่ผ่านการกรองและได้รับการขับน้ำเรียบร้อยแล้ว เป็นน้ำยางรักบริสุทธิ์จึงเรียกว่า "รักน้ำเกลี้ยง" เป็นวัสดุพื้นฐานในการประกอบงานเครื่องรักชนิดต่างๆ เช่น ผสมสมุก ถมพื้นทาผิว รักสมุก คือรักน้ำเกลี้ยงผสมกับ "สมุก" มีลักษณะเป็นของเหลวค่อนข้างข้น ใช้สำหรับอุดแนวทางลงพื้นและ ถมพื้น รักเกลี่ย คือรักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุกถ่านใบตองแห้งป่น บางทีเรียกว่า "สมุกดิบ" ใช้เฉพาะงาน อุดรูยาร่อง ยาแนวบนพื้นก่อนทารักสำหรับปิดทองคำเปลว รักเช็ด คือรักน้ำเกลี้ยง นำมาเคี่ยวบนไฟอ่อนๆ เพื่อไล่น้ำให้ระเหยออกมากที่สุด จนได้เนื้อรักข้นและเหนียว จัด สำหรับใช้แตะ ทา หรือเช็ดลงบนพื้นแต่บางๆ เพื่อปิดทองคำเปลว หรือทำชักเงาผิวหน้างานเครื่องรัก รักใส คือรักน้ำเกลี้ยงที่ผ่านกรรมวิธีสกัดให้สีอ่อนจากและเนื้อโปร่งใสกว่ารักน้ำเกลี้ยง สำหรับใช้ผสม สีต่างๆ ให้เป็นรักสี รักแต่ละชนิดดังที่ได้แนะทำให้ทราบนี้ล้วนมีที่มาจาก "รักดิบ" อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น รักแต่ละชนิดจะมีคุณภาพ มากหรือน้อยก็ดี นำมาประกอบงานเครื่องรักแล้วจะได้งานที่ดี มีความคงทนถาวรเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ พื้นฐานของรักดิบ ที่ช่างรักรู้จักเลือกรักดิบที่มีคุณภาพดีมาใช้ ในงานช่างรัก ยังมีวัสดุบางชนิดที่ควรอธิบายควบคู่กัน เนื่องด้วยเป็นวัสดุที่มีบทบาทสำคัญยิ่งสิ่งหนึ่งสำหรับ ประกอบงานเครื่องรัก คือ "สมุก" "สมุก" เป็นวัสดุที่ลักษณะเป็นผง หรือป่นเป็นฝุ่น สมุกที่ใช้ในงานเครื่องรักแบบไทยประเพณีอย่างโบราณวิธี มีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิด ดังนี้ สมุกอ่อน สมุกชนิดนี้ ได้แก่ ผงดินสอพอง ผงดินเหนียว เลือดหมูก้อน อย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมกับรักน้ำเกลี้ยงตีให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ทารองพื้นที่ต้องการรองพื้นบางๆ และเรียบ สมุกแข็ง ได้แก่ ผงถ่านใบตองแห้ง ผงถ่านหญ้าคา ผงปูนขาวอย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมกับรักน้ำเกลี้ยงตีให้ เป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ทารองพื้นที่ต้องการรองพื้นหนาและแข็งมาก งานของช่างรักที่เกี่ยวข้องกับงานประเภทประณีตศิลป ประเภทมัณฑนศิลป และประเภทวิจิตรศิลปที่ได้รับ การสร้างสรรค์ด้วยระเบียบวิธีของช่างรักอย่างโบราณวิธีมีอยู่มากหลายลักษณะด้วยกัน ได้เลือกเอางานช่างรักที่มี ลักษณะสำคัญในด้านรูปแบบที่แสดงออกลักษณะการตกแต่งแบบไทยประเพณีโดยแท้มาแสดงให้ทราบต่อไปนี้ งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว งานช่างประดับกระจก งานช่างประดับมุก งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว หรืออย่างที่คนส่วนมากเรียกสั้นๆ ว่า "ลงรักปิดทอง" คือกระบวนการตกแต่ง ผิวภายนอกของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีด้วยการลงรักหรือทายางรัก แล้วปิดด้วยทองคำเปลวทับทำให้ผิวของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมบางสิ่ง เป็นสีทองดำ เหลืองอร่ามและเป็นมันวาวเหมือนหนึ่งว่าทำด้วยทองคำอันเป็นความเชื่อโดยขนบนิยมในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล งานช่างลงรักปิดทองคำเปลวได้ทำการที่เป็นงานปิดทองเป็น ๔ ลักษณะงานด้วยกัน คือ งานลงรักปิดทองทึบ งานลงรักปิดทองร่องชาด งานลงรักปิดทองร่องกระจก งานลงรักปิดทองลายฉลุ งาน งานปั้นดินดิบและงานปั้นดินเผา ดำเนินงานด้วยวิธีการและมีขั้นตอนโดยลำดับดังนี้ งานขึ้นรูป คือการก่อตัวด้วยดินขึ้นเป็นรูปทรงเลาๆ อย่างที่เรียกว่า "รูปโกลน" ลักษณะเป็นรูปหยาบๆ ทำพอ เป็นเค้ารูปทรงโดยรวมของสิ่งที่จะเพิ่มเติมส่วนละเอียดให้ชัดเจนต่อไป งานปั้นรูป คือการนำดินเพิ่มเติมหรือต่อเติมขึ้นบนรูปโกลน หรือรูปทรงโดยรวมที่ได้ขึ้นรูปไว้แต่ต้นปรากฏ รูปลักษณะที่ชัดเจน ตามประสงค์ที่ต้องการจะปั้นให้เป็นรูปนั้นๆ จนเป็นรูปปั้นที่มีความชัดเจนสมบูรณ์ ดังความมุ่งหมายของช่างปั้นผู้ทำรูปปั้นนั้น งานปั้นเก็บส่วนละเอียด เป็นกระบวนการปั้นขั้นหลังสุด โดยทำการปั้นแต่งส่วนที่ละเอียดให้ชัดเจนเน้น หรือเพิ่มเติมส่วนที่ต้องการให้เห็นสำคัญ หรือแสดงออกความรู้สึกเนื่องด้วยอารมณ์ต่างๆ ของช่างปั้น งานปั้นดินดิบนั้น เมื่อชิ้นงานสำเร็จก็มักผึ่งให้แห้งสนิท แล้วจึงนำไปใช้งานตามความประสงค์ต่างๆ บางอย่างที่ต้องการตกแต่งด้วยการระบายหรือเขียนสีเพิ่มเติมให้สวยงามตามความนิยมและความต้องการใช้งาน จะเขียนระบายด้วยสีฝุ่นผสมน้ำกาวทับลงบนรูปปั้นดินดิบทั้งในส่วนพื้นของรูปและส่วนที่แสดงรายละเอียด มีตัวอย่าง เช่น รูปปั้นหัววัว รูปปั้นหัวกวาง สำหรับแขวนประดับฝาผนัง รูปปั้นฤาษีต่างๆ รูปปั้นนางกวัก รูปปั้นละครยก ตุ๊กตาชาววัง เป็นต้น อนึ่ง งานปั้นดินเผา ก็ดำเนินขั้นตอนการปั้นเช่นเดียวกับการปั้นดินดิบก่อนแล้วจึงจัดการเผาให้รูปปั้นดินนั้น ให้สุก ด้วยความร้อนที่ใช้ถ่านไม้หรือแกลบเป็นเชื้อเพลิงตามความเหมาะสมแก่ชิ้นงาน งานปั้นดินเผาบางประเภทเมื่อเผาสุกได้ที่แล้วนำไปใช้งานในสภาพที่ชิ้นงานนั้นมีสีตามธรรมชาติของเนื้อดิน มีตัวอย่างเช่น พระพุทธพิมพ์ พระพุทธปฎิมากรรม ลวดลายต่างๆ สำหรับประดับงานสถาปัตยกรรม หางกระเบื้อง กาบกล้วย เป็นต้น งานปั้นดินเผาบางประเภทต้องการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการระบายสี และเขียนส่วนละเอียดให้สวยงามตาม ความนิยมและความต้องการใช้เช่น ตุ๊กตาเจ้าพราหมณ์ ตุ๊กตาชายหญิงทำเป็นข้ารับใช้ตามศาลพระภูมิ ตุ๊กตารูปช้างม้าสำหรับถวายแก้บนเจ้าและพระภูมิ ตุ๊กตารูปเด็กทำเป็นของเล่นสำหรับเด็ก ตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ ทำเป็นของเล่น เป็นต้นบ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วาโยรัตนะ : 24-03-2009 เมื่อ 09:07 |
สมาชิก 11 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#23
|
|||
|
|||
งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว
งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว หรืออย่างที่คนส่วนมากเรียกสั้นๆ ว่า "ลงรักปิดทอง" คือกระบวนการตกแต่ง ผิวภายนอกของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีด้วยการลงรักหรือทายางรัก แล้วปิดด้วยทองคำเปลวทับทำให้ผิวของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมบางสิ่ง เป็นสีทองดำ เหลืองอร่ามและเป็นมันวาวเหมือนหนึ่งว่าทำด้วยทองคำอันเป็นความเชื่อโดยขนบนิยมในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล งานช่างลงรักปิดทองคำเปลวได้ทำการที่เป็นงานปิดทองเป็น ๔ ลักษณะงานด้วยกัน คือ งานลงรักปิดทองทึบ งานลงรักปิดทองร่องชาด งานลงรักปิดทองร่องกระจก งานลงรักปิดทองลายฉลุ งานลงรักปิดทองทึบ งานลงรักปิดทองทึบ หมายถึงการปิดทองคำเปลวลงบนงานศิลปวัตถุต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นด้วย ดินเผา ปูนปั้น ไม้แกะสลัก หรือโหละหล่อ เพื่อให้ผิวภายนอกของศิลปวัตถุนั้นๆ เป็นผิวทองคำ และเรียบเกลี้ยงทั่วไป ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปปิดทองเป็นพระปฏิมาประธาน เป็นต้น งานลงรักปิดทองร่องชาด งานลงรักปิดทองร่องชาด หมายถึงการปิดทองคำเปลวลงบนงานศิลปวัตถุประเภทต่างๆ เช่น ปูนปั้น ไม้แกะสลัก ซึ่งมักแสดงออกในลักษณะลวดลายตกแต่งครุภัณฑ์ ยานพาหนะ หรือองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบ ไทยประเพณี ซึ่งในส่วนที่เป็นลวดลายก็ดี รูปภาพแทรกระหว่างลวดลายก็ดีจะได้รับการปิดทองคำเปลว ซึ่งดำเนิน การด้วยวิธีการปิดทองทึบ แต่จะมีลักษณะต่างกันตรงที่มีการ "ร่องชาด" ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของงานนี้ คำว่า "ร่องชาด" นี้มาแต่คำว่า "ร่อง" คำหนึ่งกับ "ชาด" อีกคำหนึ่ง "ร่อง" หมายถึงรอยลึกต่ำลงไประหว่างผิว พื้นปรกติ ในกรณีนี้หมายถึง ร่องที่ได้รับการขุดควักลงไปให้ต่ำอยู่ระหว่างช่องไฟของลวดลาย หรือพื้นหลังที่ดู เหมือนต่ำลงไปในงานปั้นปูนเน้นลวดลายให้นูนสูงขึ้นจากพื้นหลังนั้น ส่วนคำว่า "ชาด" หมายถึงวัตถุสีแดงชนิดหนึ่ง ใช้ทำเป็นสีสำหรับเขียนหรือระบายคำว่า "ร่องชาด" ในลักษณะของงานปิดทองร่องชาด อาจมีความหมายเป็นทั้งคำ นามและคำกิริยา ดังนี้ งานลงรักปิดทองร่องชาดนี้ทำขึ้นด้วยความประสงค์ให้สีแดงที่ใช้ทาลง หรือถมลงในส่วนที่เป็นร่องระหว่าง ลวดลายหรือช่องไฟระหว่างสิ่งที่ทำขึ้นในลักษณะ งานปูนปั้นงานไม้หรือหินแกะสลัก ดูเด่นเห็นกระจะขึ้นจากพื้นที่ เป็นร่องลึกต่ำหรือพื้นที่รองรับอยู่เบื้องหลังนั้นนั่นเอง อนึ่ง การใช้สีชาดหรือสีแดงชาดทาลงหรือถมลงในร่องนี้เป็นไปตามขนบนิยมและประเพณีนิยมว่า "สีแดง" เป็นสีที่มีความหมายถึง ความสว่าง ความสุกใส ควรใช้ควบคู่กับสีทอง ซึ่งหมายถึงความรุ่งเรืองจึงเรียกกันว่า "ลงรักปิดทองร่องชาด" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ร่องชาด" งานรักปิดทองร่องกระจก งานลงรักปิดทองร่องกระจกหมายถึงการลงรักลงบนงานศิลปวัตถุต่างๆ ประเภทที่ทำขึ้นด้วย ปูนปั้น ไม้แกะสลัก ดินเผา แล้วปิดทองคำเปลวพับ ลักษณะคล้ายกันกับงานลงรักปิดทองทึบ แต่จะมีลักษณะเฉพาะของงานนี้ อยู่ที่มีการ "ร่องกระจก" เพิ่มขึ้นมา "ร่องกระจก" คือการใช้กระจกสีต่างๆ แผ่นบาง รูปสี่เหลี่ยม นำมาตัดย่อยเป็นชิ้นเล็กรูปร่างต่างๆ ตามประสงค์ ให้เหมาะแก่งานและพื้นที่นำมาติดลงในพื้นร่องระหว่างลวดลายหรือในช่องไฟของสิ่งที่ได้ปิดทองขึ้นในที่นั่น ความประสงค์ "ร่องกระจก" ก็เป็นไปเช่นเดียวกับการปิดทองร่องชาด คืออาศัยกระจกที่เป็นวัตถุมีสีและความ มันวาวถมปิดลงในร่องเพื่อหนุนหรือขับลวดลายหรือสิ่งที่ปิดทองซึ่งนูนขึ้นจากพื้นหลังให้เป็นที่ดูเด่นชัด เห็นกระจะ ตานั่นเอง งานลงรักปิดทองลายฉลุ งานลงรักปิดทองลายฉลุ หมายถึงงานตกแต่งลักษณะหนึ่งทำขึ้นด้วยการลงรักแล้วปิดทองคำเปลวให้เป็นลวด ลายแบบต่างๆ โดยอาศัยแบบลายฉลุเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดเป็นลวดลายเช่นนั้น งานลงรักปิดทองลายฉลุนี้ พึงหาตัวอย่างดูได้ตามเพดาน ท้องขื่อ ฝ้าเฉลียง ไขรา ฝาผนังในพระอุโบสถ พระวิหาร หอพระธรรม พระมณฑป เป็นต้น ลักษณะทั่วไปมักเป็นลวดลายหย่อม เช่น ลายดาว ลายดอกจอก ลายดาวรังแตน ลายดอกไม้ร่วง หรือทำเป็นลวดลายติดต่อ เช่น ลายก้านแย่งดอกใน ลายกรวยเชิง ลายเกลียวก็มี ลักษณะของลวดลายเป็นสีทองบนพื้นสีแดงบ้าง สีคราม และสีเขียวบ้าง ลวดลายแบบนี้มีลักษณะเป็นตัวขาดจากกัน ไม่ต่อเนื่องกันดังเช่นลายเขียน ทั้งนี้เนื่องจากมี "ขื่อ" ทำขึ้นในแบบลายฉลุเป็นเครื่องกั้นลายแต่ละตัวให้ขาดกัน งานลงรักปิดทองลายฉลุและวิธีการลงรักปิดทองลายฉลุนี้ เป็นมาด้วยการแก้ปัญหาทางการช่าง ในการทำ ลวดลายตกแต่งตามที่สูงๆ เป็นต้น ฝ้าเพดาน ท้องขื่อ หรือฝ้าปีกนก ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ดาดอยู่เหนือศีรษะ เป็นตำแหน่ง ที่ยากและลำบากแก่การแหงนหน้าขึ้นเขียนลวดลายที่ประณีตและละเอียด จึงได้ใช้วิธีทำแบบลวดลายขึ้นบนกระดาษ บ้าง หนังแพะบ้าง แล้วฉลุตัวลายให้ขาดเป็นช่องๆ ตามรูปแบบลายนั้น ขึ้นไว้บนพื้นกระดาษนั้น เมื่อจะทำลวดลายก็ เอาน้ำยาขึ้นไปทาพื้นตรงที่จะทำให้เป็นลวดลายแล้วเอาแบบลวดลายปะติดเข้าตรงที่ต้องการให้ติดแน่น จึงเอา ทองคำเปลวปิดลงตรงช่องที่เจาะทำเป็นตัวลายบนแบบนั้นให้ทั่ว พอทองจับติดพื้นดีแล้วจึงแกะแบบถอนออกจากพื้น ตามแบบลายฉลุที่ได้ทำขึ้นเป็นแบบนั้น แบบลายฉลุนี้อาจใช้ทำลวดลายต่อเนื่องกันไปได้ไม่จำกัด ลวดลายและวิธีทำ ให้เกิดเป็นลวดลาย ลักษระเช่นนี้จึงเรียกว่า งานลงรักปิดทองฉลุลาย แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วาโยรัตนะ : 24-03-2009 เมื่อ 09:02 |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
สุธรรม (29-04-2010)
|
#24
|
|||
|
|||
งานช่างประดับกระจก
งานช่างประดับกระจกหรือบางทีเรียกว่า ช่างติดกระจก เป็นงานช่างรักประเภทหนึ่งมาแต่โบราณ ภายหลังได้รับการจัดให้เป็นประณีตศิลปหรือมัณฑนศิลปอีกด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยงานช่างประดับกระจกเป็น งานตกแต่งสิ่งอุปโภคหรือครุภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความงามเพิ่มเติมสมบูรณ์ขึ้นด้วยศิลปลักษณะบนผิวภายนอกของ สิ่งนั้นๆ โดยการประดับด้วยกระจกสีต่างๆ ผิวมันวาว ซึ่งได้รับการตัดแบ่งและแต่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ติดต่อกันเป็น ลวดลายเป็นลายหลากหลายแบบด้วยกันขึ้นบนศิลปภัณฑ์นั้นๆ งานช่างประดับกระจกก็ดี ความนิยมต่องานประดับกระจกก็ดี เนื่องมาแต่สาระซึ่งผู้คนแต่ก่อนเห็นความ สำคัญในคุณลักษณะของกระจกที่เป็นทั้งสีและมีความมันแวววาว กับยังเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเปล่งประกายออกได้ คล้ายกับอัญมณีเมื่อได้รับแสงสว่างส่องมากระทบผิวกระจกนั้น กระจกสีจึงได้รับการนำมาประดับลงในบางสิ่งที่พึ่ง ประดับด้วยอัญมณีจริง หรือประดับเป็นอย่างของเทียมแทนจะใช้อัญมณี นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุ ที่มีคุณภาพแข็ง คงทนถาวรต่อแดด ฝน เป้นเครื่องช่วยป้องกันมิให้วัตถุที่กระจกปิดทับเสื่อมสลายง่าย จึงเป็นเหตุให้เกิดมีงานเครื่อง ประดับกระจกและกระบวนการช่างประดับกระจกเป็นขนบนิยมขึ้นในแวดวงช่างสิบหมู่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน วัตถุที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับงานประดับกระจกคือ กระจกหรือแก้วที่ทำเป็นแผ่นบางๆ ใช้กันมาแต่โบราณ มีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน ดังนี้ กระจกแก้ว ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ รูปร่างสี่เหลี่ยม มีสีต่างๆ กระจกแต่ละแผ่นฉาบด้านหลังด้วยแผ่น บางๆ ของโลหะเงิน หรือโลหะเจือปรอท ผิวหน้าเป็นมันวาว เนื้อกระจกแข็ง กระจกเกรียบ ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ สีต่างๆ ด้านหลังเป็นดีบุก ด้านหน้าผิวมัน กระจกชนิดนี้เนื้ออ่อน อาจตัดแบ่งเป็นชิ้นได้ด้วยกรรไกร กระจกเกรียบนี้ในบางแห่งเรียกว่า แก้วชื่น แก้วจีน หรือแก้วพุก่ำ วัสดุใช้สำหรับงานช่างประดับกระจก รักน้ำเกลี้ยง สมุก ผงถ่านใบตองแห้ง ชันผง น้ำมันยาง ปูนขาว เครื่องมืองานช่างประดับกระจก เพชรตัดกระจก ด้ามทำด้วยทองเหลืองลักษณะคล้ายรูปดาบ ยาวประมาณ ๖ นิ้ว ตอนปลายค่อนข้างแบน ติดเศษเพชรยื่นออกมาเล็กน้อย เรียกว่า เพชรเขี้ยวงู ไม้ตับคีบกระจก ทำด้วยไม้ไผ่ สำหรับคีบจับแผ่นกระจกได้มั่น และตัดกระจกสะดวกดี ไม้กะขนาด สำหรับกะขนาดกระจกที่จะแบ่งตัด ไม้ติดขึ้ผึ้งติดกระจก ใช้ติดชิ้นกระจกนำไปปิดลงบนพื้นที่จะประดับกระจก เกรียงทาเทือก ใบเกรียงทำด้วยเหล็ก รูปร่างคล้ายช้อน ใบเรียวรี ปลายแหลม ต่อด้ามทำด้วยไม้ กรรไกรจีน ใช้สำหรับตัดแต่ง เล็บมุม หรือขอบที่ต้องการตัดกระจกเป็นรูปกลมๆ กระดานผสมสมุก ทำด้วยไม้แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้ามสำหรับมือจับอยู่ในตัว ไม้ซาง ใช้สำหรับกวดผิวหน้ากระจก งานประดับกระจกซึ่งดำเนินการตามขนบนิยมที่เป็นโบราณวิธี มีขั้นตอนโดยลำดับ คือ การกำหนดแบบลวดลายประดับกระจก ขั้นต้น ต้องคิดแบบลวดลายสำหรับประดับกระจกขึ้นเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนเสียก่อน ลวดลายสำหรับงาน ประดับกระจกเป็นลายประเภทคุณลักษณะของวัสดุเป็นเงื่อนไขบังคับ จะทำเป็นรูปคดโค้งไม่ได้ ทำได้แต่เป็นรูป เหลี่ยมง่ายๆ ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานและประเภทรูปแบบเรขาคณิต (Geometric Shape) ลวดลายแบบเรขาคณิตที่ผูกขึ้นสำหรับประดับกระจกอาจผูกเป็นลวดลายแบบต่างๆ เช่น แบบลายชนิดที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียงชิดติดต่อกัน คล้ายตาสี่เหลี่ยมบนกระดานหมากรุก แบบลายชนิดที่ใช้รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ต่อด้านเข้าด้วยกันโดยให้มุมชนกันเป็นคู่ๆ ไปโดยรอบ เรียกว่า ดอกพิกุลร่วง ลวดบายติดต่อแบบด้านและมุมต่อผสมกัน ซึ่งอาจใช้รูปเหลี่ยมต่างๆ เช่นสี่เหลี่ยม ลูกฟักตัดมุมต่อกันเป็นลาย เรียกว่า ลายแก้วชิงดวง ขั้นหลัง คือการเตรียมงานตัดกระจกสีต่างๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้เป็นรูปเหลี่ยมต่างๆ ได้ขนาดต่างๆ และสี ตามจำนวนที่ต้องการและเพียงพอแก่การจะใช้ประดับทำเป็นลวดลายตามแบบลวดลายที่ได้กำหนดขึ้นไว้ การเตรียมเทือกรัก เทือกรัก เป็นสิ่งประกอบสำคัญในงานประดับกระจก เป็นตัวเชื่อมอยู่ระหว่างด้านหลังแผ่นกระจกแต่ละชิ้นๆ กับผิวพื้นของสิ่งที่ประดับด้วยกระจกนั้น เทือกรัก ลักษณะเป็นของเหลวข้นมากและเหนียวจัด ทำขึ้นด้วยรักน้ำเกลี้ยง สมุก น้ำมันยาง หรือรักน้ำเกลี้ยง กับชัน หรือรักน้ำเกลี้ยง ปูนขาว และน้ำมันยางคลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวและกวน ให้เหนียวจัดจึงเอาลงพักไว้สำหรับใช้งานต่อไป การประดับกระจก การประดับกระจกอาจทำประดับเครื่องอุปโภคประเภทภาชนะต่างๆ ที่ผิวพื้นไม่เป็นพื้นราบ เช่น ตะลุ่ม เตียบ เชิงบาตร มักเรียกว่า "หุ่น" กับได้ประดับลงบนผิวพื้นราบกว้าง เช่น ฝาผนัง ฝาตู้หนังสือ หน้าเสา เป็นต้น วิธีการประดับกระจกขั้นต้นคือ การใช้เกรียงทาเทือกรักลงบนพื้นเกลี่ยให้ราบเสมอกัน แล้วจึงเอาไม้ติดขี้ผึ้ง ติดกระจกจิ้มบนหน้าชิ้นกระจกที่ตัดเตรียมไว้ปิดลงบนเทือกรัก โดยให้จมลงในเทือกรักจนเทือกรักปลิ้นออกมาจาก ใต้กระจก เพื่อจะได้เป็นเครื่องยึดริมชิ้นกระจกแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน และยังช่วยป้องกันน้ำฝนมิให้ซึมเข้าแนวเทือกริม ชิ้นกระจกนี้เรียกว่า "สาแหรก" ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนเต็มพื้นที่ครบถ้วนกระบวนรายที่กำหนด จากนั้นจึงกวดผิวหน้ากระจกแต่ละชิ้นด้วยไม้ซางที่ตัดให้ได้พอเหมาะกับพื้นที่โดยการกลิ้งคลึงแต่เบาๆ จน กระจกอัดตัวติดกับเทือก และมีผิวราบเสมอทั่วกันก็ถึงงานขั้นสุดท้าย คือ การทำความสะอาดเช็ดถูหน้าชิ้นกระจกที่ เปรอะเปื้อนคราบเทือกรักออกด้วยผ้าเนื้อนุ่มสะอาดชุบน้ำมันการะบูนผสมเหล้าขาว หรือแอลกอฮอล์แล้วล้างด้วย น้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง ผิวกระจกจะขึ้นมันสดใสสวยงาม อนึ่ง การประดับกระจกของช่างประดับกระจกแต่โบราณ ยังมีวิธีการประดับกระจกที่พิสดารเป็นความรู้ทาง ช่าง ให้เกิดเป็นรูปทรงต่างๆ บนพื้นที่อีกหลายวิธี เช่น วิธีประดับแบบ "หนามขนุน" มีรูปทรงแลดูคล้ายหนามขนุน วิธีประดับแบบ "ดอกจอก" เป็นรูปทรงเรียงรายเปรียบดังดอกจอก หรือวิธี "ตัดตูดใส่ใจ" ซึ่งเป็นวิธีประดับกระจก ขัดลายขัดสีด้วยรูปแบบกระจกและสีต่างกัน มีการใส่กระจกสีลงตรงใจกลางชิ้นกระจกที่ล้อมอยู่โดยรอบเรียกว่า "ใส่ใจ" เป็นต้น งานช่างประดับกระจกประเภทต่างๆ การประดับกระจกโดยประสงค์ตกแต่งสิ่งต่างๆ ให้มีความงามเพิ่มเติมขึ้นแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น อาจจำแนก ประเภทของลักษณะการประดับกระจกออกไปได้เป็น ๕ ประเภท ดังนี้ การประดับกระจกประเภทพื้นลาย เป็นการประดับกระกกทำเป็นพื้นผิวดาดๆ หรือทำเป็นลวดลายขึ้นบนพื้น ราบ กึ่งราบหรือโค้ง ลักษณะผิวหน้าของชิ้นกระจกอยู่ในระดับเสมอกัน การประดับกระจกประเภทร่องกระจก เป็นการประดับกระจกลงในพื้นร่องว่างที่เป็นช่องไฟระหว่างลวด ลายสลัก ไม้หรือปั้นปูนลงรักปิดทอง พื้นร่องว่างนั้น อยู่ต่ำกว่าลวดลาย โดยประสงค์ใช้กระจกสี เช่น สีคราม สีเขียว ช่วยขับลวดลายปิดทองคำเปลวให้ดูเด่นขึ้น เรียกว่า "ร่องกระจก" การประดับกระจกประเภทลายยา เป็นการประดับกระจกสีต่างๆ สีที่ได้รับการตัดแบ่งเป็นชิ้นตามแบบลวด ลายและขนาดที่กำหนดลงในร่องตื้นๆ ซึ่งได้ขุดควักลงบนหน้ากระดานที่จะประดับกระจก งาน "ประดับกระจก ลายยา" นี้ย่อมาจากคำว่า "กระยารง" แปลว่า "เครื่องสี" และการเรียกงานประดับกระจกประเภทนี้ว่า "ลายยา" ก็เป็น ไปในเชิงเปรียบเทียบว่าลวดลายประดับด้วยกระจกสีต่างสีที่ปรากฏบนพื้นสีทองนั้นแลดูคล้ายกันกับลวดลายเขียน ด้วยกระยารง หรือกระยาสี คือเครื่องสีนั่นเอง การประดับกระจกประเภทแกมเบื้อ เป็นการประดับกระจกสีร่วมด้วยกันกับงานประดับมุก เพื่อเพิ่มเติมสีสันให้ สวยงามแก่งานประดับมุก คำว่า "เบื้อ" หมายถึง "มีแสงเลื่อมพราย" โดยปริยาย หมายถึงกระจก คำว่า "แกมเบื้อ" จึงหมายถึง "ปนด้วยกระจก" การประดับกระจกประเภทสุดท้ายเป็นการปิดหรือติดกระจกทำเป็น "แวว" สอดประดับตกแต่งในตัวลายแบบ ต่างๆ ด้วยการตัดกระจกเป็นรูป หยดน้ำ กลม ปิดเป็นไส้ลายกระจัง ลายใบเทศ หรือ ลายดอกมะเขือ เป็นต้น งานช่างประดับกระจก ประเภทได้ทำกันมาแต่กาลก่อน อาจประมวลมาให้ทราบเป็นลำดับ ดังนี้ งานประดับอาคารสถาน เช่น ประดับฝาผนังพระอุโบสถ หอไตร พระที่นั่ง บุษบก หน้าบัน เป็นต้น งานประดับองค์ประกอบสถาปัตยกรรม เช่น ประดับช่อฟ้า เครื่องลำยอง บัวหัวเสา คันทวย หน้าเสา บานประตู เป็นต้น งานประดับครุภัณฑ์ เช่น ฐาน แท่น พระแท่นแว่นฟ้า ม้าหมู่ ตู้หนังสือ ตู้พระธรรม หีบใส่คัมภีร์ เป็นต้น งานประดับยานพาหนะ เช่น เรือพระที่นั่ง ราชรถ พระราชยาน สีวิกา เป็นต้น งานประดับเครื่องอุปโภคต่าง เช่น ตะลุ่ม กระบะ พานแว่นฟ้า เตียบ ใบประกับหน้าคัมภีร์ เป็นต้น งานประดับเครื่องประกอบการแสดงมหรสพ เช่น มงกุฎ ชฎาหน้า หรือหัวโขน เครื่องอาวุธบางชนิด เป็นต้น |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
สุธรรม (29-04-2010)
|
#25
|
|||
|
|||
งานประดับมุก
งานช่างประดับมุก จัดเป็นงานประณีตศิลปหรืองานมัณฑนาศิลปประเภทหนึ่งที่ทำสำเร็จขึ้นด้วยกระบวนการ ช่างประดับมุก ซึ่งเรียกตามๆ กันมาว่า "เครื่องประดับมุก" หรือ "เครื่องมุก" ที่ทำขึ้นด้วยเปลือกหอยทะเลชนิดหนึ่ง เรียกกันตามภาษาช่างว่า "หอยมุก" นำมาตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อยแล้วโกรกทำให้เป็นลวดลายแบบต่างๆ นำมาประดับ ติดลงบนพื้นผิวภายนอกของ "ศิลปภัณฑ์" อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตกแต่ง "ศิลปภัณฑ์" นั้นให้เกิดมีศิลปลักษณะ งามพร้อมไปด้วยกระบวนลวดลายแบบต่างๆ และสีสันของผิวชิ้นหอยมุกที่ได้รับการประดับตกแต่งขึ้นไว้นั้น งานช่างประดับมุกก็ดี ความนิยมที่มีต่องานประดับมุกก็ดี ย่อมเนื่องมาจากผู้คนแต่ก่อนเห็นสำคัญแล้วจัดการ สร้างทำขึ้น จึงเกิดมีงานเครื่องประดับมุก และกระบวนการช่างประดับมุกเป็นขนบนิยมขึ้นในวงการช่างสิบหมู่สมัย หนึ่ง เป็นที่ยอมรับและนิยมกันในภายหลัง และได้รับการผดุงรักษาสร้างสรรค์ต่อเนื่องกันมาโดยมิได้ขาดหาย การช่างประดับมุก จึงเป็นงานช่างที่จะต้องดำเนินงานร่วมกันด้วยช่างเขียนลาย ช่างตัดและโกรกชิ้นมุก ช่างรัก และช่างประดับมุกที่มีฝีไม้ลายมือทัดเทียมกัน จึงจะสร้างงานเครื่องประดับมุกสำเร็จเป็นงานดี มีคุณภาพ และคุณค่าพร้อม ดังนี้ งานเครื่องประดับมุก จึงเป็นงานประณีตศิลปหรืองานมัณฑนศิลป ที่ประมวลทั้งฝีมือและ ความสามารถของช่างสิบหมู่หลายช่างอยู่ด้วยกัน มุก หอยมุก "มุก" หรือ "หอยมุก" เป็นชื่อหอยทะเล เปลือกของหอยมุกเป็นวัสดุดิบตามธรรมชาติ จัดเป็นวัสดุปัจจัยสำคัญ สำหรับงานประดับมุก หอยมุก หรือเปลือกหอยมุกชนิดที่ช่างประดับมุกนำมาใช้สำหรับงานประดับมุก เป็นหอยมุกชนิดที่มีชื่อเรียก เฉพาะว่า Marbled Turban หรืออย่างที่ชาวทะเลเรียกว่า "หอยอูด" แต่ในบรรดาช่างประดับมุกมักเรียกหอยมุกชนิด นี้ว่า "มุกไฟ" ทั้งนี้เนื่องด้วยผิวของเปลือกหอยชั้นในสุด เป็นสีขาวนวลมันวาว เมื่อรับแสงสว่างหรือแสงไฟจะเป็น ประกายออกเป็นสีต่างๆ ล้อแสงไฟ วัสดุที่เป็นปัจจัยสำหรับงานประดับมุก นอกจากมุกหรือหอยมุกแล้ว ยังมีวัสดุที่เป็นส่วนประกอบร่วมในงาน ประดับมุกดังต่อไปนี้ รักน้ำเกลี้ยง รักเช็ด สมุก ฝุ่นถ่านเขากวาง ผงกระเบื้องดินเผา งานประดับมุก เป็นงานช่างฝีมือชั้นสูง ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ ช่วยในการทำงาน ประกอบด้วย ตะไบ มี ตะไบแบน ตะไบท้องปลิง ตะไบสามเหลี่ยม ตะไบหางหนู ตะไบรูปคมมีด คันเลื่อยโกรก และใบเลื่อย ปากกามือ ปากคีบ แปรงทองเหลือง กระดานสำหรับผสมและทาสมุก ม้าไม้สำหรับงานโกรกชิ้นมุก งานประดับมุกมีขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างโบราณวิธี คือ การเตรียมเปลือกหอยมุก ขั้นตอนการปอกเปลือกหอยชั้นนอกออกจนถึงชั้นในที่ต้องการ เปลือกหอยมุกที่จะใช้สำหรับงานประดับมุก มักใช้เปลือกตอนที่อยู่ถัดจากปากเปลือกหอยมุกขึ้นไปประมาณ ๔-๖ นิ้ว เปลือกส่วนนี้ไม่สู้หนาและมีเนื้อที่กว้างกว่าตอนที่เลยขึ้นไป ช่างประดับมุกจะใช้เลื่อยตัดแบ่งเปลือกหอยส่วน นี้ออกจากหอยมุกแต่ละตัว เปลือกหอยที่ตัดออกมานี้มีลักษณะโค้งคล้ายกาลกล้วย และโอนเป็นกระพุ้งตามลักษณะ ตัวหอย จึงต้องตัดเปลือกหอยนั้นๆ ออกเป็นชิ้นย่อยๆ เพื่อลดลักษณะที่เป็นกระพุ้งนูนบนหลังเปลือกหอยให้มากที่สุด ชิ้นเปลือกหอยมุกที่ได้รับการตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อยๆ แล้ว ต้องนำมา "ถา" ด้วยตะไบหน้าแบนแต่งหน้าชิ้น เปลือกหอยให้แบนราบ และให้ได้ขนาดความหนาหรือบางเสมอกันทุกๆ ชิ้น แล้วจัดการชะล้างทำความสะอาดชิ้นมุก ที่ได้ทำการขั้นนี้ทั้งหมด ผึ่งให้แห้งเตรียมไว้สำหรับการตัดทำเป็นลวดลายต่อไป การเขียนลวดลายประดับมุก งานประดับมุก เริ่มต้นขึ้นจากการ "ผูกเขียนลวดลาย" หรือ การออกแบบเป็นลวดลาย ที่จะได้ใช้เป็นแบบ สำหรับตัดชิ้นมุกให้เป็นตัวลายต่างๆ และเป็นแบบสำหรับประดับชิ้นลวดลายมุกแต่ละชิ้นๆ เป็นลวดลายประดับมุกให้ เป็นไปตามความประสงค์ดังที่ผูกเขียน หรือออกแบบลวดลายนั้นๆ ขึ้นไว้แต่แรก การผูกเขียนลวดลายสำหรับงานประดับมุกนี้ มักเขียนลวดลายให้มีช่องไฟ หรือทิ้งพื้นที่ระหว่าง ตัวลาย ช่อลาย และเถาให้ห่างพอสมควร เพื่อประสงค์ให้เห็นลวดลายกระจะเด่นงามด้วยประกายความเลื่อมมันบนพื้นสีดำ หากผูกเขียนลวดลายทิ้งพื้น หรือช่องไฟถี่หรือติดกันมากตัวลายชิดกันเกินไปประกายเลื่อมมันของชิ้นมุกทอแข่งกัน ทำให้ไม่เห็นลวดลายชัดเจน หรือพร่างพราวพร่าความงามให้เสียไป ลวดลายประดับมุกนี้ต้องจัดทำเป็น ๒ แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นร่างลวดลายหรือรูปภาพที่จะทำการประดับมุกให้ เป็นตามต้นร่าง แผ่นที่สองเป็นต้นร่างลวดลายที่ลอกแบบจากต้นร่างแผ่นแรกแต่ทำนทางกลับกัน หรือตรงกันข้าม กับลวดบายต้นร่างแผ่นแรก การตัดลวดลาย การตัดลวดลาย เป็นงานขั้นที่สองของงานประดับมุก ช่างประดับมุกจะนำเอาชิ้นมุกที่ได้เตรียมทำเป็นชิ้น แบนๆ ขึ้นไว้แต่ต้นนำมาปิดกระดาษแบบลาย แล้วจึงตัดทำให้เป็นลวดและลายตามแบบที่ได้ผูกเขียนขึ้นไว้ให้ครบ ทุกตัว จึงปิดชิ้นมุกลงบนกระดาษแผ่นที่ ๒ การเตรียมพื้นสำหรับงานประดับมุก งานประดับมุก อาจทำขึ้นบนพื้นกระด้างชนิดต่างๆ เช่น พื้นไม้ พื้นโลหะ พื้นดินเผา แต่จะต้องจัดการเตรียม พื้นซึ่งจะประดับตกแต่งด้วยการลงสมุกให้เหมาะสมเสียก่อน การประดับมุก งานประดับมุกในขั้นตอนนี้ คือนำเอากระดาษต้นร่างแผ่นที่ ๒ ที่ได้ปิดชิ้นลายลายมุกเตรียมไว้เรียบร้อยมาปิด ทับลงบนพื้นที่ได้ทำรักสมุกเตรียมไว้ การปิดกระดาษต้นร่างเพื่อประดับมุกลง ทำด้วยการจับแผ่นกระดาษต้นร่างคว่ำหน้าลงแล้วค่อยวางทาบปิด ลงบนพื้นที่ลงรักสมุก ต้องจับกระดาษให้ตึงวางลงให้พอดีกับขนาดของพื้นที่ ระวังอย่าให้กระดาษย่น ร่น หรือ ขาดเสียก่อน พอทาบกระดาษปิดลงสนิทแล้วจึงใช้ไม้ซางทาบลงบนหลังแผ่นกระดาษกลิ้งไม้ซางกวดกระดาษให้ แนบสนิท และกดชิ้นลวดลายมุกให้จมติดกับรักสมุก โดยกลิ้งคลึงไม้ซางกวดไปให้ทั่วพื้นหลังทั้งหมดแผ่นกระดาษ ต้นร่างนั้น จึงปล่อยพื้นที่ปิดกระดาษทิ้งไว้สัก ๒-๓ วันเพื่อให้รักสมุกแห้งและจับชิ้นลวดลายมุกติดแน่นอยู่กับพื้น จึงลอกกระดาษออก แล้วถมรักในพื้นให้เต็มเสมอหน้าลวดลายมุก การขัดและเก็บเงา เป็นขั้นตอนภายหลังถมรักเรียบร้อยแล้ว จึงทำการขัดให้ลายมุกผุดขึ้นชัดเจนทั้งหมดและเก็บเงางานประดับ มุก การเก็บเงา เป็นงานขั้นท้ายสุดของการประดับมุก ทำโดยนำเอารักเช็ดมาเช็ดทับสัก ๒-๓ ทับ ผิวงานประดับ มุกก็จะขึ้นมันเป็นเงางาม อนึ่ง การเช็ดรักเก็บเงานี้ หากได้ทำหลายๆ ทับก็จะยิ่งเป็นมันและเงาลึกยิ่งขึ้น แต่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นตาม คุณภาพของานที่ต้องการ การช่างประดับมุกที่เป็นงานประณีตศิลป ตกแต่งสิ่งที่เป็นศิลปกรรมต่างๆ มีตัวอย่างเช่น งานประดับมุก บานประตู บานหน้าต่างพระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑป งานประดับมุก ฝาหีบ ฝาตู้หนังสือ ใบประกับหน้าคัมภีร์ งานประดับมุก ม้าหมู่ พระแท่น ราชบัลลังก์ พระแท่นที่บรรทม ฉาก ลับแล งานประดับมุก หีบหมาก ถ้ำ ยาดม ฝักดาบ กระดุมเสื้อ งานประดับมุก หีบศพ เป็นต้น |
สมาชิก 10 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
สุธรรม (29-04-2010)
|
#26
|
|||
|
|||
ช่างบุ
Metal Beating ช่างบุ เป็นช่างฝีมือประเภทหนึ่งในจำพวกช่างสิบหมู่ ได้ใช้ฝีมือทำการช่างในลักษณะตกแต่งผิวภายนอก ของงานประเภทศิลปภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และสถาปัตยกรรมบางลักษณ์ด้วยงานบุ ให้มีคุณค่าสวยงามและมั่งคงถาวร คำว่า "บุ" เป็นคำกริยาอย่างหนึ่ง หมายถึง การเอาของบางๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การตีให้เข้ารูป เช่น บุขันทองลงหิน เป็นต้น ช่างบุ ที่เป็นช่างหลวงอยู่ในจำพวกช่างสิบหมู่มาแต่โบราณกาล คือ ช่างประเภทที่ทำการบุโลหะให้แผ่ออก เป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปหุ้มคลุมปิดเข้ากับ "หุ่น" ชนิดต่างๆ เพื่อปิดประดับทำเป็นผิวภายนอกของ "หุ่น" ที่ทำขึ้นด้วย วัตถุต่างๆ เช่น ไม้ ปูน โลหะ หิน เป็นต้น ให้เกิดความงาม มีคุณค่า และความคงทนถาวรอยู่ได้นานปี งานบุโลหะทำขึ้นสำหรับหุ้มห่อปิดคลุมหุ่นชนิดต่างๆ อาจทำแก่สิ่งที่เรียกว่าหุ่นขนาดย่อมๆ ไปจนกระทั่งทำ แก่หุ่นขนาดใหญ่มาก ดังตัวอย่างงานบุในแต่ละสมัยต่อไปนี้ เมื่อสมัยสุโขทัย มีความในจารึกบนหลักศิลาบางหลักระบุเรื่อง การตีโลหะแผ่เป็นแผ่นแล้วบุหุ้มพระพุทธปฏิมา กรอยู่หลายความ หลายแห่งด้วยกัน เป็นต้นว่า จารึกศิลาวัดช้างล้อม ระบุความว่า "...จึงมาเอาสร้อยทองแถวหนึ่งตีโสมพอกพระเจ้า..." สมัยล้านนา มีความว่าต้องการช่างบุนี้บันทึกเข้าไว้ในตำนานการสถาปนาศาสนสถานสำคัญมีความตอน หนึ่งใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าด้วยการบุโลหะหุ้มพระมหาเจดีย์ ณ วัดเจดีย์หลวง กลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อรัชกาล พระเจ้าติโลกราช ต่อมาถึงสมัยอยุธยา พระพุทธปฏิมากรจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในช่วงสมัยอันยาวนานถึง ๔๐๐ ปี ก็ได้รับความนิยมใช้โลหะมีค่าหุ้มห่อหุ้มองค์พระให้สวยงามและมีคุณค่าเพิ่มขึ้น พระพุทธปฏิมากรสำคัญองค์หนึ่ง ได้รับการบุด้วยทองคำ คือ พระพุทธปฏิมาพระศรีสรรเพชญ์ ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การช่างบุยังได้รับการผดุงรักษาให้มีอยู่ต่อมาในหมู่ช่างหลวงจำพวกช่างสิบหมู่ ได้ทำการบุโลหะเป็นเครื่องประดับตกแต่งต่างๆ เช่น บุโลหะประดับฐานเบญจา บุทำพระลองประกอบพระโกศ บุธาร พระกร บุฝักพระแสง ฝักดอาบ และมีงานบุโลหะชิ้นสำคัญยิ่งชิ้นหนึ่ง คือ บุษบกที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตน ศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง เป็นบุษบกที่ทำโครงสร้างด้วยไม้แล้วบุหุ้มด้วยทองคำทั้งองค์ ในจดหมายเหตุการ ปฏิสังขรณ์ วัดรพะศรีรัตนศาสดาราม เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความบอกลักษณะบุษบก ไว้ว่า "...และพระมหาบุษบกนั้น ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สูงแปดศอกคืบแผ่สุวรรณธรรมชาติ หุ้มคงแต่เชิงฐานปัทมขึ้น ไปถึงสุดยอด" งานบุ งานบุ ซึ่งเป็นงานช่างที่ทำให้เป็นผลสำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติงานตามขนบนิยมอย่างโบราณวิธีบุโลหะ อาจลำดับหลักการและวิธีการให้ทราบดังต่อไปนี้ วัสดุ วัสดุที่เหมาะสมจะนำมาใช้สำหรับงานบุ ที่เป็นมาแต่กาลก่อน คือ ทองคำ ทองแดง ดีบุก เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานบุ การปฏิบัติงานบุโลหะ ได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ตามความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน มีดังรายการต่อไปนี้ ค้อนเหล็ก สำหรับตีแผ่โลหะ ค้อนไม้ ค้อนเขาควาย ทั่งเหล็ก กะหล่อน อุปกรณ์ชนิดหนึ่งลักษณะ คล้ายทั่ง แต่หน้าเล็กและมน เติ่งไม้ อุปกรณ์ชนิดหนึ่งทำด้วยไม้ท่อน หน้าเว้าตื้นๆ กรรไกร สว่านโยน ไม้เนียน ทำด้วยเขาควาย แม่พิมพ์ ชนิดทำด้วยหิน หรือทำด้วยไม้ ถุงทราย ชันเคี่ยว สิ่วสลักหน้าต่างๆ หมุด ทำด้วยโลหะผสม การปฏิบัติงานบุโลหะ การปฏิบัติงานบุโลหะตามหลักการและวิธีการอย่างโบราณวิธีบุโลหะนี้ แบ่งออกเป็นงานบุโลหะ ๒ ลักษณะ ด้วยกันคือ การบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเรียบ การบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเป็นลวดลาย การบุหุ้มอย่างผิวเรียบ การบุโลหะในลักษณะนี้ หมายถึงการนำเอาโลหะชนิดใดชนิดหนึ่งมาทำการตีแผ่ออกให้เป็นแผ่นแบนบางๆ ตามขนาดที่ต้องการ จึงนำเข้าปิดบุทับบนหุ่นที่ต้องการบุทำผิวให้เป็นโลหะชนิดนั้น มักบุลงบนสิ่งก่อสร้างประเภท ก่ออิฐถือปูนเป็นปูชนียสถานต่างๆ เช่น พระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์ หรือพระมหาธาตุเจดีย์ พระเจดีย์ทรงปราสาท เป็นต้น งานบุโลหะด้วยโลหะแผ่นเช่นนี้ส่วนมากยังนิยมลงรักและปิดทองคำเปลวทับลงบนแผ่นโลหะที่บุทับลงในที่ นั้น ดังความในโคลงที่ว่า "เจดียลอออินทร ปราสาทในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสรม" อนึ่ง งานบุโลหะแผ่นผิวเรียบแล้วลงรักปิดทองคำเปลวนี้สมัยโบราณเรียกว่า บุทองสุวรรณจังโก หรอบุทอง ปะทาสี งานบุโลหะอย่างผิวเรียบนี้ ยังได้ทำขึ้นเป็นรูปปฏิมากรต่างๆ ด้วยหลักการบุ ตี ทุบ เคาะ แผ่นโลหะเรียบขึ้น เป็นรูปทรงในลักษณะประติมากรรม สำหรับบุหุ้ม "หุ่น" ที่ได้ทำขึ้นจัดทำเป็นรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หรือไม้สลัก การบุโลหะลักษณะตามกล่าวมานี้ ภาษาช่างบุ เรียกว่า "หุ้มแผลง" การบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเป็นลวดลาย มักใช้โลหะที่มีเนื้ออ่อนเช่นทองคำ โลหะที่มีเนื้อแข็งไม่เหมาะจะนำมาใช้งานบุลักษณะนี้ งานบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเป็นลวดลาย เป็นการทำแผ่นโลหะผิวเรียบๆ ให้เกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นบนผิวหน้าแผ่น โลหะนั้น อ้วยการใช้แผ่นโลหะทำให้เป็นลวดลายด้วยแม่พิมพ์หินและตบด้วยถุงทรายก่อนจะนำไปบุทับลงบนหุ่น ชนิดต่างๆ ที่สร้างขึ้น เพื่อรับการตกแต่งด้วยงานบุ งานบุลักษณะผิวเป็นลวดลายนี้ มักเป็นชิ้นงานในลักษณะราบ และการนำเข้าติดกับหุ่น ซึ่งมักทำด้วยไม้จึงมักใช้หมุดตะบู่เข็มทำด้วยทองเหลืองตรึงให้แผ่นหรือชิ้นงานติดกับหุ่น นั้น งานของช่างบุที่เป็นมาแต่อดีตมีผลงานของช่างที่เป็นตัวอย่างต่อไปนี้ งานบุประดับสถาปัตยกรรม ได้แก่ บุพระสถูปเจดีย์ บุพระพุทธปรางค์ บุเครื่องลำยองประกอบหน้าบัน บุหัวเสา งานบุประดับราชภัณฑ์ ได้แก่ ฐานพระเบญจา พระแท่นราชบัลลังก์ บุษบก พระลองประกอบพระโกศ ฝักพระแสง งานบุประดับประติมากรรม ได้แก่ บุพระพุทธรูป บุพระพิมพ์ บุปลาตะเพียนทองเงิน เป็นต้น |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
สุธรรม (29-04-2010)
|
#27
|
|||
|
|||
ช่างปูน
Plastering ช่างปูน เป็นช่างประเภทหนึ่งในจำพวกช่างสิบหมู่ งานของช่างปูน เป็นงานสร้างทำอาคารสถานชนิดเครื่อง ก่อประเภท เจติยสถานและศาสนสถานต่างๆ เช่น พระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์เจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหาร ฐานชุกชี ซุ้มคูหา กับได้ทำพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียร แท่นฐาน เกยราชยาน ประตู เครื่องยอดต่างๆ ใบเสมา กำแพงและป้อมปราการ เป็นต้น และงานของช่างปูนยังเนื่องด้วยการปั้นปูนอีกด้วย งานปูน จัดเป็นงานช่างเก่าแก่ จำพวกหนึ่งที่ในสยามประเทศนี้ ทั้งนี้พึงเห็นได้จากซากโบราณสถานประเภท เจติยสถาน ชนิดเครื่องก่ออิฐถือปูนทำลวดบังประกอบส่วนต่างๆ อย่างประณีตแสดงฝีมือและความสามารถช่างปูน ชั้นสูง แต่ทว่าหลักฐานความเป็นมาของช่างปูนรุ่นเก่าๆ นั้นไม่สู้มีหลักฐานสิ่งอื่นๆ แสดงให้ทราบได้ว่าเป็นช่างพวก ใดเป็นผู้สร้างทำ นอกเสียจากรูปแบบที่แสดงฝีไม้ลายมือฝากไว้เท่านั้น งานปูน หรืองานช่างปูนแต่สมัยก่อน มีชื่อเรียกเป็นคำเก่าอีกอย่างหนึ่งว่า "สทายปูน" งานของช่างปูน อาจจำแนกลักษณะงานของช่างปูนออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ด้วยกันคือ ช่างปูนงานก่อ ช่างปูนจำพวกนี้ ทำงานในลักษณะการก่อวัสดุชนิดต่างๆ เช่น อิฐ หิน ศิลาแลง เป็นต้น ขึ้นเป็นรูปทรงสิ่ง ต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น ก่อเขามอขึ้นอ่าง ไปจนกระทั่งก่อพระสถูปเจดีย์ ก่อพระพุทธปรางค์เจดีย์ หรือได้ทำการ ในด้านบูรณะปฏิสังขรณ์ เครื่องหิน เครื่องอิฐก่อที่ชำรุดให้คืนดีขึ้นดั่งเดิม ช่างปูนงานลวดบัว ช่างปูนจำพวกนี้ ทำงานในลักษณะการถือปูนทำผิวเป็นลวดบัวแบบต่างๆ เช่น บัวคว่ำ บัวหงาย บัวหลังเจียด บัวปากปลิง บัวลูกแก้ว บัวอกไก่ สำหรับประกอบทำฐานลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่า ฐานเชิง บาตร ฐานเท้าสิงห์ ฐานปัทม์ ฐานเฉียง ฐานบัวจงกล ฯลฯ หรือทำการถือปูนจับเหลี่ยมเสาแบบต่างๆ คือ เสาแปดเหลี่ยม เสาย่อมุมไม้สิบสอง เสากลม เป็นต้น งานปูนที่เป็นงานในหน้าที่ของช่างปูนดังกล่าวมีวัตถุปัจจัยสำคัญสำหรับงาน คือ ปูน ซึ่งช่างปูนได้ใช้ในงาน ก่อ ฉาบ และถือปูนเป็นสิ่งต่างๆ มาแต่โบราณ การผสมปูนนี้ ช่างปูน บางคนได้ผสมเนื้อปูนให้มีคุณภาพเหนียวและ คงทนถาวรอยู่ได้นานปี บางคนใช้กระดาษฟางบ้าง หัวบุบุก หัวกลอยบ้าง แม้หัวต้นกระดาษก็ใช้ตำผสมเข้ากับเนื้อ ปูน เพื่อช่วยเสริมความเหนียวและยึดตัวดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อและประสบการณ์ของช่างปูนแต่ละคน งานช่างปูนนี้ เมื่อจะทำการคราวหนึ่งๆ จึงทำปูนขึ้นเฉพาะงานคราวนั้น จะทำเตรียมไว้ล่วงหน้านานเป็นแรม เดือนไม่ได้ การทำปูนเตรียมไว้สำหรับงานก่อ ฉาบ จับ ถือปูนเป็นงานค่อนข้างหนักแรง เพราะต้องใช้แรงตำปูนกับ สิ่งที่ผสมร่วมกันนานกว่าจะเข้าเป้นเนื้อเดียวและเหนียวได้ที่ ในการงานช่วงนี้ มักเป็นภาระหน้าที่ของลูกมือ ช่างปูนตำปูนให้แก่ช่างปูน แต่ในบางกรณีที่ช่างปูนได้ทำงานก่อ งานปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ที่เป็นงานของหลวง อุปถัมภ์การพระศาสนา มักมีชาวบ้านสมัครมาช่วยตำปูน เป็นการร่วมทำบุญสร้างกุศลด้วยการโขลกตำปูนถวายวัด บุญกิริยาเช่นนี้ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมขึ้นในสมัยก่อน เมื่อมีการสร้างหรือซ่อมปูชนียสถาน หรือศาสนสถานอย่างหนึ่ง อย่างใดที่เป็นชนิดเครื่องก่อขึ้นในวัด ชาวบ้านวัยหนุ่มวัยสาวจะสมัครมาช่วยกันตำปูนเตรียมไว้สำหรับช่างปูน จะได้ใช้งานตำปูนนี้จะทำกันในตอนหัวค่ำภายหลังเสร็จธุระประจำวันแล้ว ตั้งครกตำปูนเรียงรายกันหลายๆ ลูกครก ตำปูนนี้โดยมากใช้ครกกระเดื่องซึ่งจะช่วยผ่อนแรงตำได้มาก เมื่อตำปูนเหนียวได้ที่ครกหนึ่งๆ ก็ตักเอาไปพักไว้ใน อ่างดิน เอาผ้าหรือฟางชุบน้ำคลุมปิดไว้ให้ปูนชื้นพอแก่เวลาที่ช่างปูนจะมาเอาไปใช้ในวันรุ่งขึ้น อนึ่ง ปูนที่จัดการ โขลกตำเตรียมไว้นี้ยังไม่ต้องใส่เชื้อน้ำตาล จะใส่เชื้อน้ำตาลก็ต่อเมื่อช่างปูนจะใช้ปูน จึงใส่เชื้อดังกล่าวเอาเองตาม ส่วนหรือขนาดที่เข้าใจ ธรรมเนียมชาวบ้านช่วยตำปูนถวายวัดนี้ นอกเสียจากเป็นบุญกิริยาแล้วยังอาจกล่าวได้ว่า เป็นโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาวได้มาสมาคมกันได้โดยผู้ใหญ่ไม่สู้เดียดฉันท์ ช่างปูนที่เป็นช่างปูนงานก่อก็ดีช่างปูนงานลวดบัวก็ดี ช่างประเภทนี้ ใช้เครื่องมือที่จำเป็นอยู่ ๒-๓ อย่าง คือ เกรียงเหล็ก ขนาดต่างๆ เกรียงไม้ ประทับหรือบรรทัด ถือลวดบัว หรือจับเหลี่ยม ครก และสากไม้ ตะแกรง สำหรับร่อนปูน และทราย อ่างดิน สำหรับพักหรือหมักปูน ช่างปูน เป็นช่างฝีมือที่ได้ใช้ความสามารถของฝีมือสร้างทำปูนให้เป็นรูปลักษณ์ที่ประกอบไปด้วยศิลป ลักษณะ มีความงามและคุณค่าเชิงประณีตศิลป์ ฉะนี้ช่างปูนจึงได้รับการยอมรับและจัดรวมเข้าในหมู่ช่างสิบหมู่ด้วย สาระสำคัญของช่างปูนตามที่ได้อธิบายมานี้ |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
สุธรรม (29-04-2010)
|
#28
|
|||
|
|||
บทสรุป
Conclusion ช่างสิบหมู่ เป็นสถาบันทางการช่างศิลปกรรมแบบไทยประเพณีสถาบันหนึ่ง บุคคลที่มีความสามารถ และฝีมือเป็นช่างในถาบันนี้ จัดเป็นช่างหลวงจำพวกหนึ่งและเป็นข้าราชการที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนราชการ ที่ฐานะเป็น "กรม" ในราชการของราชสำนักเมื่อสยามประเทศยังปกครองด้วยระบบราชาธิปไตย ช่างสิบหมู่ ซึ่งเป็นนามของช่างหลวงหมู่นี้ กล่าวโดยเฉพาะคำว่า "สิบ" คำนี้มีนัยว่าแต่คำว่า "สิปป" ซึ่งเป็นคำ บาลี มีความหมายตรงกันกับคำ "ศิลป" เป็นภาษาสันสกฤตว่าฝีมือ ฝีมือทางการช่าง การแสดงออกซึ่งอารมณ์ สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็นแต่คำว่า "สิปป" นี้เมื่อผ่านกาลเวลาอันยาวนาน การพูดเอ่ยนามนี้โดยขาดความระมัด ระวังประการหนึ่ง ความบกพร่องและไม่พิถีพิถันในการเขียนคำ "สิปป" ให้ครบถ้วนอีกประการหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้คำ "สิปป" กล่อนและกลายเป็น "สิบ" ดังที่ปรากฏในภายหลัง ดังนี้ช่างสิปปหมู่คือช่างศิลปก็เลือนมาเป็นช่างสิบหมู่ คือช่างศิลปก็เลือนมาเป็นช่างสิบหมู่ ซึ่งเสียความหมายนามอันสำคัญของหมู่ช่างจำพวกนี้ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ช่างสิบหมู่ ซึ่งมีฐานะเป็นกรมชื่อ "กรมช่างสิบหมู่" จัดเป็นส่วนราชการ ที่ได้รวบรวมช่างฝีมือประเภทต่างๆ มาประจำราชการมากกว่าส่วนราชการที่เกี่ยวกับการช่างส่วนอื่น มีภาระหน้าที่สนองราชการในการสร้างสรรค์ งานศิลปกรรมแบบไทยประเพณีเนื่องด้วยสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม หัตถศิลปต่างๆ ที่เป็นงานใน ราชการส่วนพระมหากษัตริย์ งานสถาปนาและบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน งานสาธารณสถาน ที่เป็นศิลปกรรม อันงดงามมีคุณค่าทั้งด้านรูปลักษณ์และศิลปลักษณ์ ช่างสิบหมู่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันผลิตต้นแบบว่าด้วย รูปลักษณ์หลักการและวิธีการช่างศิลปแบบไทย ประเพณี งานของช่างสิบหมู่แต่ละประเภท ที่ได้รับการสร้างสรรค์และแสดงออกให้เห็น ย่อมเป็นแบบฉบับที่ได้รับ การนำไปเป็นแบบแผนของช่างระดับพื้นบ้าน สร้างทำงานศิลปแพร่ออกไปเป็นลำดับมาทุกสมัย สถาบันช่างสิบหมู่ จึงมีความสำคัญในฐานะองค์การที่มีบทบาทกำหนดสาระและกระสวนวัฒนธรรมทางศิลปแก่สังคมมาเป็นลำดับ ช่างสิบหมู่ ยังควรกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของงานช่างศิลปกรรมแบบไทยประเพณี มาตลอดกาลอันยาวนาน โดยมิได้ขาดตอนในสยามประเทศถ้าจะมีคำกล่าวแย้งขึ้นในตอนนี้ว่าก็ในกระบวนกระสวน ของรูปลักษณ์ในงานศิลปกรรมแบบไทยประเพณีที่ได้รับการสร้างขึ้นในเวลาต่างสมัยห่างช่วงเวลากันนั้น หาได้มี รูปแบบเป็นรูปรอยเกียวกันไม่ จะว่าช่างสิบหมู่คงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ได้เช่นไร ความสงกาประการนี้พึงเฉลยได้ ว่างานศิลปกรรมเป็นภาวะที่ไม่หยุดนิ่งย่อมเปลี่ยนภาวะบางประการไปในความเลื่อนไหลของกาลเวลานี้เป็นสัจธรรม กาลเวลาและสังคมอาจเป็นเหตุให้รูปลักษณ์ภายนอกของงานศิลปกรรมต้องเปลี่ยนแปรไปบ้าง แต่ชื่อว่าศิลปกรรม แบบไทยประเพณีนั้น แม้ว่ารูปลักษณ์จะถูกกำหนดให้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและภาวะทางสังคมก็ดี ทว่าในทางคติ ความเชื่อขนบนิยมที่เป็นแบบฉบับหลักการ และวิธีการสร้างสรรค์ที่เป็นแบบแผนสำหรับงานศิลปกรรมแบบไทย ประเพณีนั้น ยังคงเป็นแก่นเป็นประเพณีนิยมในสถาบันช่างสิบหมู่มาอย่างมั่นคงมาโดยลำดับดังนี้ ช่างสิบหมู่ กรมช่างสิบหมู่จึงเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการผดุงรักษา และถ่ายทอดภูมิปัญญาทางการสร้างสรรค์ ศิลปกรรมและงานศิลปซึ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของประเทศชาติสถาบันหนึ่งแห่งสยามประเทศโดยแท้ ช่างสิบหมู่ และกรมช่างสิบหมู่เป็นส่วนราชการที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขแห่งพระราชอาณาจักร ทรงเห็นและเข้าพระราชหฤทัยเป็นอย่างแน่แท้ว่า ช่างสิบหมู่นี้เป็นคณะบุคคลที่มีความสามารถและฝีมือในการช่าง ประเภทต่างๆ อาจนิรมิตสิ่งที่วิจิตรงดงามพิสดารนานาประการ ให้เป็นที่พึงชมพึงนิยมในหมู่ชนที่ได้ชื่อว่าเข้าถึง วัฒนธรรมและอารยธรรม อนึ่งสิ่งวิจิตรงดงามพิสดารซึ่งชื่อว่าศิลปกรรมทั้งปวงก็ล้วนแต่เป็นประจักษ์พยานแสดง ออกซึ่งวัฒนธรรมและอารยธรรม พึงมีในผู้สร้างและผู้เสพย์โดยแท้ ดังนี้พระมหากษัตริย์แต่อดีตจึงโปรดให้จัดตั้ง กรมช่างสิบหมู่นี้ขึ้น เพื่อสนองราชการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมอันเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาแก่บ้านเมืองขึ้น และพระมหา กษัตริย์ลำดับพระองค์แต่อดีตสมัยก็ทรงพระราชูปถัมภ์ช่าง และกรมช่างสิบหมู่มาด้วยดีโดยลำดับ ดังจะเห็นได้จาก ประจักษ์พยานที่เป็นงานเนื่องด้วย สถาปัตยกรรมประติมากรรม จิตรกรรม หัตถศิลปนานาประการซึ่งยังคงอยู่บ้าง ในลักษณะโบราณสถาน และโบราณวัตถุจากอดีต กับที่ยังพบเห็นได้ในลักษณะศิลปสถานและศิลปวัตถุใน ปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา สภาพสังคมและสยามประเทศได้รับการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา เป็นระบอบประชาธิปไตย ระบบและแบบแผนที่เป็นราชการในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ได้รับการปรับเปลี่ยน ให้เป็นไปตามความต้องการและเหมาะสมกับระบบและแบบแผนในระบอบการปกครองอย่างใหม่ กรมช่างสิบหมู่ เป็นส่วนราชการในระบอบเดิมย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงคราวใหญ่ครั้งนั้น เป็นเหตุให้กรมช่าง สิบหมู่หมดบทบาทสำคัญที่จะจรรโลงศิลปกรรมแบบไทยประเพณีซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปแห่งสยามประเทศไว้ได้ ต่อไป และเป็นการสิ้นสภาพกรมช่างสิบหมู่ที่เป็นสถาบันการช่างศิลปกรรมแบบไทยประเพณีที่ธำรงอยู่อย่าง ต่อเนื่องมาเป็นเวลานับด้วยศตวรรษๆ ไปจากสยามประเทศโดยไม่อาจฟื้นกลับคืนตราบกระทั่งปัจจุบัน |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
สุธรรม (29-04-2010)
|
#29
|
|||
|
|||
กรมช่างสิบหมู่
กรมช่างสิบหมู่ เป็นกรมช่างหลวงกรมใหญ่กรมหนึ่งมาแต่สมัยโบราณ ลักษณะและความสำคัญของช่าง สิบหมู่และกรมช่างสิบหมู่นี้พึงทราบได้จากพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลง พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๐ ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง "กรมช่างสิบหมู่" ขึ้นไว้ให้ทราบดังนี้ "ส่วนซึ่งแบ่งปันฝ่ายทหารแต่ทำการฝ่ายพลเรือนนั้น คือ กรมช่างสิบหมู่ ซึ่งแบ่งไว้ในฝ่ายทหารนั้น ก็คงจะ เป็นด้วยช่างเกิดขึ้นในหมู่ทหารเหมือนทหารอินเยอเนีย แต่ภายหลังมาเมื่อทำการต่างมากขึ้นจนถึงเป็นการละเอียด เช่น เขียน ปั้น แกะสลัก ก็เลยติดอยู่ในฝ่ายทหารแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดในราชการทหาร ไม่ได้ขึ้นกรมพระกลาโหม มีแต่กองต่างหาก แม่กองนั้นมักจะเป็นเจ้านายโดยมาก เมื่อเกิดช่างอื่นๆ ขึ้นอีกก็คงอยู่ในกรมเดิม ฝ่ายพลเรือนบ้าง ทหารบ้าง ไม่เฉพาะว่ากรมช่างจะต้องเป็นทหาร" อนึ่ง การช่างต่างๆ ในกรมช่างสิบหมู่นี้มีช่างทำการร่วมอยู่ด้วยกันหลายประเภทนับเป็นกรมช่างใหญ่ และเป็นส่วนราชการแต่โบราณที่ได้จัดการรวบรวมคนที่เป็นช่างประเภทต่างๆ มาประจำทำราชการทางการช่าง สนองราชกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นช่างที่ชำนาญการเฉพาะประเภทมีอยู่จำนวนมากกว่าในกรมอื่นๆ "ช่างหลวง" คือผู้ที่มีฝีมือและความสามารถทำการช่างต่างเป็นราชการของในหลวงแต่สมัยโบราณ ยังมีอยู่ อีกหลายหมู่ หลายพวกซึ่งจะได้นำมาอธิบายเป็นพวกๆ ต่อไปนี้ เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีแห่งสยามราชอาณาจักรนั้น มีรายการแสดง "ช่างหลวง" ประเภทต่างๆ ปรากฏอยู่ในทำเนียบตำแหน่งนาพลเรือนแต่สมัยนั้น โดยสรุปคือ กองช่างเลื่อย เป็นช่างทำการเลื่อยไม้ต่างๆ ทำเสา ทำกระดาน เป็นต้น กองช่างก่อ เป็นช่างทำการก่ออิฐ ก่อศิลาแลง ถือปูนหรือฉาบปูน ก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ กรมช่างดอกไม้เพลิง เป็นช่างทำดอกไม้เพลิงต่างๆ สำหรับใช้ในราชการของหลวง กรมช่างเงิน เป็นช่างทำเงินตรา คือเงินที่รัฐกำหนดขึ้นไว้เป็นวัตถุที่มีตราของทางราชการใช้ชำระหนี้ได้ ตามกฎหมายหรือใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน กรมช่างปืน เป็นช่างทำอาวุธสำหรับราชการในกองทัพ กรมช่างสนะ คำว่า "สนะ" แปลว่า "เย็บ ปัก หรือชุน" ช่างสนะเป็นช่างตัดเสื้อผ้า หรือช่างตัดเย็บฉลอง พระองค์สำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ช่างเชลย" เป็นคนเชลยที่ทางราชการกวาดต้อนมาได้จากการทำสงครามชนะ เชลยคนใดที่มีฝีมือ และ ความสามารถเป็นช่างอย่างใดอย่างหนึ่ง จะได้รับการคัดเลือกแยกออกมาจากหมู่เชลย นำมาเข้าประจำทำราชการ ทางการช่างตามความรู้ความสามารถและฝีมือที่คนผู้นั้นถนัด ช่างเชลยนี้ ทางราชการมักจัดให้อยู่เป็นหมู่เป็นพวก ตามย่านที่กำหนดให้อยู่อาศัย ไม่ควบคุมเข้มงวดดังเชลยทั่วไป เหตุด้วยมีคุณสมบัติเป็นช่าง ซึ่งทางราชการต้องการ ใช้งาน ช่างเชลยต้องทำงานให้แก่หลวง แต่ทางราชการก็ให้โอกาสประกอบอาชีพด้วยการรับจ้างทำการช่างเลี้ยง ตัวได้ด้วย เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกและไม่เป็นที่ผู้คนจะอาศัยอยู่เป็นปกติได้ ภายหลัง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงลงมา สถาปนาเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี สร้างพระราชวังขึ้นเป็นที่ประทับบริหารราชการปกครองบ้านเมืองสืบมาสมัย หนึ่งนานเกิน ๑๐ ปี ในช่วงเวลานี้ ทางราชการจัดให้มีกรมช่างต่างๆ ตามขนบนิยม กล่าวเฉพาะช่างหลวงที่นอกไป จากกรมช่างต่างๆ เช่น กรมช่างมหาดเล็ก กรมช่างทหารใน และกรมช่างสิบหมู่ แล้วยังมีช่างอื่นๆ ที่ควรอ้างขึ้นไว้ให้ทราบในที่นี้ ดังนี้ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างจำพวกนี้ปรากฏเป็นเนื้อความอยู่ในหมายรับสั่งเรื่อง พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระ บรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนี ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๘ ความว่า "แลดอกไม้เพลิง ระทาใหญ่ ๑๖ ระทา นอกระทา ๕ สิ่งนั้น ดินมาศ ของหลวง ช่างทำดอกไม้ทำดอกไม้น้อย คิดเอาเงินของหลวง ช่างไทย ๖ ชั่ง ช่างจีน ๒ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท รวม ๘ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท" อนึ่ง ช่างดอกไม้เพลิงนี้ ยังมีความในหมายรับสั่งเรื่องงานพระศพกรมขุนอนิทรพิทักษ์ ระบุให้ทราบเรื่องช่าง จำพวกนี้เพิ่มเติมขึ้นอีกพอสมควร ดังความต่อไปนี้ "เครื่องเล่น ๗ วัน ๗ คืนเป็นเงิน กลางวัน ๙ ชั่ง ๒ ตำลึง ๒ บาท กลางคืน ๒ ชั่ง ๒ ตำลึง รวม ๑๑ ชั่ง ๔ ตำลึง ๒ บาท ให้ช่างดอกไม้เพลิง นาย ๔ คน คนละ ๓ ตำลึง เงิน ๑๒ บาท ช่างดี ๑๓ คน คนละ ๑ ตำลึง เงิน ๑๓ ตำลึง ช่างกลาง ๑๑ คน คนละ ๓ บาท เงิน ๘ ตำลึง ๑ บาท ช่างเลว ๒๗ คน คนละ ๒ บาท เงิน ๑๓ ตำลึง ๒ บาท ๕๕ คน เงิน ๓ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท" ช่างทองพระคลังมหาสมบัติ ช่งจำพวกนี้คือช่างทองรูปพรรณ ได้ทำการประเภทเครื่องราชูปโภค ราชภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นสิ่งของมีค่าทางวัตถุและคุณค่าทางรูปแบบซึ่งประกอบขึ้นด้วยฝีมืออันวิจิตร ประณีต ช่างกลึง เป็นช่างอีกจำพวกหนึ่ง จัดเป็นช่างรวมอยู่ในกรมช่างสิบหมู่ ช่างสลักกระดาษ ช่างจำพวกนี้จัดเป็นช่างประเภทหนึ่งในกรมช่างสิบหมู่ ทำการช่างด้านสลัก ปรุกระดาษ ชนิดต่างๆ ทำเป็นลวดลายหรือรูปภาพสำหรับประดับ ปิด บุ เพื่อการตกแต่งสิ่งต่างๆ ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับมาจนกระทั่งถึง รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "ช่างหลวง" เกิดมีเพิ่มขึ้นตามความต้องการของทางราชการ บรรดา ช่างหลวงซึ่งทางราชการระบุขึ้นไว้ในพระราชบัญญัติเรื่องการไถ่ตัวไพร่หลวงเป็นทาส เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งให้ ทราบว่า ช่างหลวง เมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น มีช่างต่างๆ ลำดับดังต่อไปนี้ "หมู่ไพร่หลวงซึ่งเป็นช่างคฤหัสช่างทหารใน ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างรัก ช่างปูน ช่างแกะ ช่างกลึง ช่างหุ่น ช่างหุงกระจก ช่างบุ ช่างหล่อ ช่างแผ่ดีบุก ช่างเหล็ก ช่างเรือ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างสลักหนัง ช่างชาดสีสุก ช่างฉลองพระบาท ช่างเลื่อยงา ช่างฟอก ช่างทำยอนพระกรรณ์ ช่างบาตร ช่างประดับกระจก ช่างปิดกระจก ช่างดัดต้นไม้ ช่างเหลารางปืน ช่างเงิน ช่างทอง ช่างมุก ช่างย้อมผ้าสีขี้ผึ้ง ช่งต่อฝาบาตร ช่างเขียนน้ำกาว ช่างสาน ช่างคร่ำ ช่างทอสายคัมภีร์ ช่างทำฝักพระแสง ช่างสานพระมาลา ช่างทำกรรไกร ช่างชำระพระแสง ช่างฟันช่อฟ้าหางหงส์" ช่างหลวง หลายหมู่หลายพวกเป็นข้าราชการประจำอยู่ตามหมู่กองต่างๆ สำหรับการช่างสนองความต้องการ ที่เป็นราชกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในราชการของหลวงที่เป็นมาโดยลำดับแต่โบราณโดยระเบียบอันเป็น โบราณประเพณีของราชสำนัก มาจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ไขการปก ครองแผ่นดินใหม่ ครั้งนั้นโปรดให้จัดระเบียบ "ช่างหลวง" ที่แยกกันอยู่คนละหมวดละกองหรือต่างกรมกันเป็นต้นว่า "ช่างประดับกระจกขึ้นกรมวัง" หรือ "ช่างสนะขึ้นกับกรมภูษามาลา" มาแต่โบราณนั้นเสียใหม่ ให้เป็นไปตามพระ ราชดำริที่ทรงพระราชดำรัสแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินในสมัยนั้นให้ทราบดังนี้ "อนึ่ง กรมต่างๆ แยกกันอยู่ไม่มีใครบังคับบัญชาใครเป็นลำดับ แลไม่มีการสโมสรพร้อมเพียงกัน เมื่อมีราชการอันใดขึ้นก็ซัดทอดกันโยเยไป กว่าจะเดินได้ตลอดทุกกรม บรรดาที่เกี่ยวข้องเป็นการเนิ่นนานช้าเสีย เวลา เมื่อจะพรรณนาถึงโทษที่เป็นอยู่เช่นนี้ก็ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ จึงต้องขอรวมความลงว่าในการซึ่งจะให้ราชการทั้ง ปวงเรียบร้อยเป็นแบบอย่างคล่อง สะดวกได้ตามสมควรที่จะปกครองบ้านเมืองในเวลานี้ จำจะต้องแบ่งราชการให้มี ผู้เป็นหน้าที่รับผิดชอบเป็นส่วนไปพอแก่กำลังที่จะรักษาการได้นั้นอย่างหนึ่งจะต้องเลิกการที่กรมทั้งปวงแสวงหาผล ประโยชน์ได้โดยลำพังตัว ไปมีกำหนดเงินกำหนดการให้ กลับเป็นเงินจ่ายให้ตามสมควรแก่การที่ได้ทำนั้นอย่าง หนึ่ง การจึงจะเป็นไปสะดวกได้ตลอด" ภายหลังการแก้ไขการปกครองแผ่นดินใหม่นี้แล้ว บรรดาช่างหลวงนานาประเภทได้ถูกจัดเข้าสังกัดและขึ้น กับ "กรมวัง" เป็นต้นมา |
สมาชิก 11 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|