#1
|
||||
|
||||
ทสกะ คือ หมวด ๑๐
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่ ๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ ๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ ๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ ๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง ความหมายของคำว่า บุญกิริยาวัตถุ ได้อธิบายแล้วในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ในหมวดนี้ เพียงแต่ให้ตั้งข้อสังเกตว่า คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงการทำบุญ ก็จะคิดว่าตนไม่มีทรัพย์ เลยไม่มีโอกาสได้ทำบุญกับเขา แต่ความจริงแล้ว ทรัพย์ไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับทำบุญที่สำคัญเลย จะเห็นว่าทั้ง ๑๐ ข้อนี้ที่ต้องใช้ทรัพย์มีข้อเดียว คือ ทานมัยเท่านั้นเอง นอกจากนั้นเป็นเรื่องของ กาย วาจา ใจ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงทำให้เข้าใจได้ว่า อุปกรณ์สำหรับทำบุญที่สำคัญที่สุด ก็คือ กาย วาจา และ ใจ ของตนนี่เอง กาย และ วาจาของตนงดเว้นจากการทำ การพูด ที่สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ศีรษะของตน ใช้ก้มให้กับผู้ใหญ่ มือของตนใช้ไหว้ท่านผู้เจริญด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ ร่างกายของตน ร่วมด้วยช่วยกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ปาก ใช้พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าแก่ชีวิตจิตใจของผู้ฟัง หู ใช้ฟังคำสอนของบิดามารดา ครูอาจารย์ และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ใจ ใช้คิดและรับรู้แต่สิ่งที่เป็นความรู้ เป็นกุศล ไม่โลภอยากได้ของใคร ไม่คิดประทุษร้ายใคร มีความคิดเห็นที่ส่งเสริมระบบศีลธรรม เพียง การทำ การพูด และการคิด อย่างนี้ ในกาย วาจา และใจของเรา ก็เป็นบุญยิ่งนักแล้ว
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-12-2017 เมื่อ 15:34 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
บารมี ๑๐ (คุณความดีที่ได้บำเพ็ญมาอย่างยิ่งยวด เพื่อจุดหมายสูงสุด)
๑. ทานบารมี หมายถึง การให้เสียสละวัตถุ สิ่งของ เฉลี่ยแบ่งปันคนอื่น เพื่อกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียวให้หมดไปจากใจ (พระพุทธเจ้าทำในชาติที่เป็นพระเวสสันดร) ๒. สีลบารมี หมายถึง การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย มีความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน (ทำในชาติที่เป็นภูริทัตต์ ) ๓. เนกขัมมบารมี หมายถึง การออกบวช การพรากตนออกจากกาม คือ ความหมกมุ่นในกามารมณ์ต่าง ๆ (ทำในชาติที่เป็นเตมีย์) ๔. ปัญญาบารมี หมายถึง ความรอบรู้เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง พร้อมทั้งคุณและโทษ (ทำในชาติที่เป็นมโหสถ) ๕. วิริยบารมี หมายถึง ความเพียรพยายามบากบั่น ไม่ท้อถอย ไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคใดๆ เมื่อตั้งใจแล้วไม่สำเร็จไม่เลิก (ทำในชาติที่เป็นมหาชนก) ๖. ขันติบารมี หมายถึง อดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อคำกล่าวเสียดสี คำติเตียนต่าง ๆ (ทำในชาติที่เป็นจันทรกุมาร) ๗. สัจจบารมี หมายถึง มีความสัตย์จริง เมื่อพูดแล้วต้องทำจริง ๆ จริงใจต่อสิ่งที่ได้ลั่นวาจาไว้แล้ว รักษาคำพูด แม้ตัวจะตายก็ยอม (ทำในชาติที่เป็นวิธูรบัณฑิต) ๘. อธิษฐานบารมี หมายถึง ความตั้งใจมั่นในสัจจาอธิษฐาน ทำตามจุดหมาย ของตนที่ได้วางเอาไว้ (ทำในชาติที่เป็นเนมิราช) ๙. เมตตาบารมี หมายถึง ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลกทั้งหมด ขอให้เขามีความสุขกายสบายใจทุกตัวตน (ทำในชาติที่เป็นสุวรรณสาม) ๑๐. อุเปกขาบารมี หมายถึง ความวางใจเป็นกลาง สม่ำเสมอ ไม่เอนเอียงไปด้วย ความรัก ความหลง ความชัง ความโกรธ ความกลัว (ทำในชาติที่เป็นนารทพรหม) บารมี ๑๐ มี ๓ ระดับ (บารมี, อุปบารมี, และปรมัตถบารมี)
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-04-2018 เมื่อ 14:30 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
สัมมัตตะ ๑๐ (ความเป็นของถูกต้องดีงาม)
๑. สัมมาทิฎฐิ (ความเห็นชอบ) ได้แก่ การเห็นอริยสัจ ๔ ประการ ๒. สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) ได้แก่ คิดไปในทางดี ๓. สัมมาวาจา (วาจาชอบ) ได้แก่ เว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง มีการพูดเท็จ เป็นต้น ๔. สัมมากัมมันตะ (ทำการชอบ) ได้แก่ การละเว้นจากกายทุจริต ๓ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตชอบ) ได้แก่ ละการเลี้ยงชีวิตในทางผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม ๖. สัมมาวายามะ (ความพยายามชอบ) ได้แก่ พยายามไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นในจิตใจของตน ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ได้แก่ ระลึกถึงแต่ความดี ที่ทำให้จิตใจตัวเองผ่องใสอยู่เสมอ ๘. สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจชอบ) ได้แก่ การตั้งใจบำเพ็ญเพียร ตามหลักสมถกรรมฐาน ๙. สัมมาญาณ (ความรู้ที่ชอบ) ได้แก่ สัจจญาณ, กิจจญาณ, กตญาณ หรือรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ๑๐. สัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นชอบ) ได้แก่ การเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสาสวะ
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-04-2018 เมื่อ 14:50 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
สังโยชน์ ๑๐ (กิเลสอันผูกมัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์)
๑. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นที่เป็นเหตุให้ถือตัว) ได้แก่ เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้เป็นตัวตน เป็นตัวกู ๒. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ) ได้แก่ ไม่แน่ใจว่าจะเชื่อศาสนาใดดี จะเชื่อคำสอนของใครดี ลังเลอยู่ ไม่รู้ว่าจะนับถือศาสนาใด มัวแต่สงสัยอยู่ จึงหาที่พึ่งทางใจไม่ได้ ๓. สีลัพพตปรามาส (การรักษาศีลไม่จริงจัง) ได้แก่ คือการรักษาศีลไม่จริงไม่จัง รักษาแบบลูบ ๆ คลำ ๆ บางคนก็รักษาศีลแบบทำเป็นเล่น อย่างเช่นว่า รักษาศีล ๘ เฉพาะเวลาที่ไม่ได้กินข้าวเย็น เป็นต้น ๔. กามราคะ (ติดในรสของกาม) ได้แก่ การยึดติดสิ่งของที่เห็นว่าสวยงาม เสียงไพเราะ เป็นต้น ๕. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งทางจิต) ได้แก่ ความหงุดหงิด ความขัดเคืองภายในใจ สังโยชน์ ๕ ข้อนี้เป็นกิเลสเบื้องต่ำ มีชื่อเรียกว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์ ใน ๕ ข้อนี้ ข้อ ๑, ๒ และ ๓ พระโสดาบันตัดได้ ข้อที่ ๔ และ ๕ พระสกทาคามี ทำให้เบาบางลงได้ แต่พระอนาคามีสามารถตัดได้ ๖. รูปราคะ (ความติดใจในรูปธรรม) ได้แก่ ความติดในรูปธรรมอันประณีตที่มีได้ด้วยอารมณ์แห่งรูปฌาน ๗. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์อรูปธรรม) ได้แก่ ความติดใจในอรูปฌาน หรือติดใจในอรูปภพ ๘. มานะ (ความถือตัว) ได้แก่ มานะทั้ง ๙ อย่าง ๙. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ได้แก่ ความคิดไปเรื่อย ๆ หาสาระมิได้ เป็นการสร้างวิมานในอากาศ ๑๐. อวิชชา (ความไม่รู้) ได้แก่ ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ ถือเป็นอันสำคัญที่สุดในสังโยชน์ ๑๐ สังโยชน์ข้อที่ ๖, ๗, ๘, ๙ และ ๑๐ จัดเป็นกิเลสเบื้องสูง มีชื่อเรียกว่า อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ส่วนหลังนี้พระอรหันต์สามารถตัดได้โดยสิ้นเชิง
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|