#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๖
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ตั้งแต่เช้า กระผม/อาตมภาพได้เดินทางไปยังศูนย์สุขภาพพระสงฆ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลวังด้ง หมู่ที่ ๑ ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อนำชาวคณะชมรมรักษ์ธรรมรักษ์ไทยไปมอบปัจจัยจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้กับพระมหาวิสูตร วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙ รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเอาไว้สร้างเรือนไม้ไผ่ลานธรรมลานปัญญา เพื่อใช้ในการอบรมเด็ก ๆ และจัดนิทรรศการต่าง ๆ
หลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปยังโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ถนนลาดหญ้า - ศรีสวัสดิ์ หมู่ที่ ๒ ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี นำชาวคณะรักษ์ธรรมรักษ์ไทย พร้อมด้วยสิ่งของจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องเขียน เครื่องกีฬา อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเด็ก ตลอดจนกระทั่งน้ำดื่ม ไปมอบให้กับเด็ก ๆ จำนวน ๑๓๐ คน ซึ่งทางด้านโรงเรียนหมู่บ้านเด็กได้ทำการช่วยเหลืออนุเคราะห์สงเคราะห์ให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นมีที่พักพิง มีที่เรียน ตลอดจนกระทั่งมีที่ฟื้นฟูจิตใจของตนเอง หลังจากที่ได้ให้โอวาทและรับคำกล่าวขอบพระคุณจากเด็ก ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพก็เดินทางกลับยังที่พัก คือ วัดราษฎร์ประชุมชนาราม (วัดท่ามะขาม) หมู่ที่ ๒ ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และไม่ได้กลับมาเฉย ๆ หากแต่ว่าเข้าร่วมงานสานเสวนาทางศาสนา หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ของ คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ว่า รูปแบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในมุมมองศาสนาพุทธเถรวาทและศาสนาคริสต์โปรเตสแตนต์ เมื่อกระผม/อาตมภาพเข้าไปแล้วรู้สึกว่าเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะว่าท่านอาจารย์พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ, ดร. วิทยากรท่านหนึ่งนั้น ท่านอยู่บนดอยเพื่อทำการช่วยเหลือบุคคลผู้ด้อยโอกาส คือบรรดาพี่น้องที่เป็นชาวไทยภูเขา ในบริเวณนั้นมีคลื่นโทรศัพท์น้อยมาก จึงทำให้สัญญาณขาด ๆ หาย ๆ การแสดงความคิดเห็นจึงไม่ค่อยที่จะชัดเจน ทำให้กระผม/อาตมภาพต้องเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย จากคำถามที่ว่า พระพุทธศาสนานั้นเห็นประโยชน์อย่างไรในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ? ตรงจุดนี้ต้องบอกกล่าวให้ชัดเจนว่า หลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่มาก แต่บุคคลที่อ่านพระไตรปิฎกครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วพอที่จะจดจำได้ว่าหลักธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เหมาะสมกับกิจการงานด้านใด หรือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ ตลอดจนกระทั่งกาลเทศะลักษณะไหนมีน้อยยิ่งกว่าน้อย..! ดังนั้น..ในเมื่อมีคำถามเช่นนี้ขึ้นมา แล้วมีการชี้แจงที่อยู่ในลักษณะของการ "ขี่ม้าเลียบค่าย" ก็คือไม่ค่อยที่จะตรงเป้าหมาย กระผม/อาตมภาพจึงต้องให้ความชัดเจนว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น มีประโยชน์หลายต่อหลายประการด้วยกัน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2023 เมื่อ 02:32 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ประการแรกเรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ที่เห็นทันตาในปัจจุบัน ได้แก่ ความชื่นอกชื่นใจของผู้ให้ ความสบายอกสบายใจของผู้รับ ซึ่งมีบาลีช่วยตอกย้ำว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ความหมายคือ ผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบ ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ เป็นต้น
คราวนี้ในส่วนของสัมปรายิกัตถประโยชน์นั้น ถ้าหากว่าการช่วยเหลือของเรา เป็นไปตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจริง ๆ ก็คือมีจิตใจเสียสละ พร้อมที่จะช่วยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา แสดงว่ากำลังใจของท่านจดจ่ออยู่ในจาคานุสติ ถ้าอยู่ในลักษณะมั่นคง สุคติ คือชาติภพต่อไปของท่านก็จะเป็นไปในด้านดีโดยส่วนเดียว ส่วนด้านของปรมัตถประโยชน์นั้น การที่เราเสียสละไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นการสร้างบารมี แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเห็นผู้ประสบภัยแล้ว เราเกิดความสลดสังเวชว่า การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้น จะต้องมีทุกข์โทษเวรภัยเช่นนี้อยู่เสมอ แล้วเราเกิดความเบื่อหน่าย ถอนจิตจากการยึดมั่นถือมั่น ก็จะก่อให้เกิดปรมัตถประโยชน์ ก็คือประโยชน์สูงสุด ได้แก่การหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน หรือถ้าจะเอาหลักประโยชน์ ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกส่วนหนึ่งมาจับ ก็คืออัตตัตถะ ประโยชน์ส่วนตน สิ่งที่เราทำนั้น เราย่อมได้ความรักจากบุคคลที่รับความช่วยเหลือจากเรา เราก็จะเป็นผู้ที่มีแต่คนรัก มีชื่อเสียงเกียรติคุณ กลายเป็นสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตน ปรัตถะ คือ ประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้แก่ ผู้ประสบภัย ซึ่งมีความเดือดร้อนด้วยปัจจัย ๔ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หรือว่ายารักษาโรค เมื่อได้รับไปแล้ว ย่อมได้ก่อประโยชน์แก่เขาเอง ตลอดจนกระทั่งคนรอบข้าง ซึ่งกำลังเดือดร้อนอยู่ ได้บรรเทาเบาบางทุกข์ภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เกิดอุภยัตถะ คือ ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็คือ ความสุขของผู้ให้ ความปลื้มใจของผู้รับ เกิดความรักใคร่สามัคคี กลมเกลียวเหนียวแน่น มีความรักความเมตตาต่อกัน ทำให้ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาของเราเจริญมั่นคง เป็นต้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2023 เมื่อ 02:37 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
สำหรับปัญหาต่อไปก็คือว่า การที่เราไปช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เป็นกิจของสงฆ์ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหรือไม่ ? ปรากฏว่าทางด้านวิทยากรไม่สามารถที่จะอธิบายได้ เพราะว่าคลื่นโทรศัพท์หายไป
ทางด้านพิธีกรจึงได้พยายามยกเอาการออกประกาศพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่ส่งพระอรหันต์ทั้ง ๖๐ รูปออกไปครั้งแรกนั้น ซึ่งพระองค์ท่านได้กล่าวว่า ให้เป็นไปเพื่อ พหุชนหิตาย คือ ประโยชน์ของชนทั้งหลายเป็นจำนวนมาก พหุชนสุขาย เพื่อความสุขของชนทั้งหลายเป็นจำนวนมาก โลกานุกมฺปาย เป็นการอนุเคราะห์แก่โลก สรุปว่าเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ หรือต่อให้ไม่สามารถที่จะทำได้ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สิ่งที่ทำไปถ้าก่อประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สมควรทำ กระผม/อาตมภาพจึงต้องเข้าไปให้ความชัดเจนว่า หลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้นมีเป็นชั้น ๆ ไป ก็คือศีล สมาธิ ตลอดจนกระทั่งปัญญา ศีลนั้นเป็นข้อห้าม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามไว้โดยส่วนเดียว หากแต่มอบหลักธรรมคือข้อปฏิบัติเอาไว้ด้วย ดังนั้น..การที่เราไปช่วยเหลือผู้อื่นนั้น จัดเข้าในหลักพรหมวิหาร ๔ ข้อเมตตา รักเขาเสมอด้วยตนเอง กรุณา เมื่อเห็นเขาตกทุกข์ได้ยาก ก็อยากให้เขาพ้นทุกข์ ดังนั้น..จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้ ให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้อย่างชัดเจน ด้วยการเข้าไปอนุเคราะห์สงเคราะห์บุคคลที่ประสบภัยต่าง ๆ เหล่านั้น จะได้สมกับการที่เป็นพุทธศาสนิกชน ซึ่งนำเอาหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาก่อให้เกิดทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ต่อผู้อื่น อีกส่วนหนึ่งก็คือหลักของสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ทาน มีการแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น ปิยวาจา มีการพูดดีพูดไพเราะ อัตถจริยา ทำตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และสมานัตตตา เอาใจเขามาใส่ใจเรา ชอบใจสิ่งใดเราก็ทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น ไม่ชอบใดสิ่งใด ก็อย่าทำสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นกับผู้อื่น หรือว่ามีการสร้างความดีใน ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แค่สังคหวัตถุข้อแรกในการสงเคราะห์ยึดโยงสังคม ตลอดจนกระทั่งหมู่ชนเข้าด้วยกัน คือ ทาน ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า เราสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลือบุคคลผู้ประสบภัยทั้งหลาย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2023 เมื่อ 02:40 |
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ดังนั้น..หลักธรรมในพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีชัดเจนอยู่แล้ว ตั้งแต่คิหิปฏิบัติ คือหลักการปฏิบัติของคฤหัสถ์หรือว่าฆราวาส บรรดาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งหลักธรรมของพระภิกษุสามเณร แม่ชี ตลอดจนกระทั่งภิกษุณีซึ่งในทางเถรวาทไม่มีแล้ว ในเมื่อหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเหมาะแก่ทุกสถานการณ์ จึงสำคัญอยู่ที่ว่าเราสามารถที่จะยกหลักธรรมทั้งหลายเหล่านั้น มาใช้ได้ทันเหตุการณ์และเหมาะสมกับกาลเทศะหรือไม่ ?
อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งกระผม/อาตมภาพได้ย้ำให้กับในที่เสวนานั้นก็คือ การที่เราจะสงเคราะห์ต่อผู้ประสบภัยนั้น สิ่งสำคัญคือควรที่จะมีเครือข่าย อย่างเช่นว่าถ้าหากว่าผู้ประสบภัยอยู่สุดเหนือสุดใต้ ถ้าเราต้องเดินทางไปเองก็จะลำบากมาก แต่ถ้าเรามีเครือข่าย อย่างเช่นว่า สมัชชาหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ภาคเหนือ หรือว่า สมัชชาหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ภาคใต้ เราก็แค่ติดต่อไปให้เขาจัดการช่วยเหลือแทน โดยที่เราทำการโอนปัจจัยไปให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นดำเนินการ หน้าที่การงานในการสงเคราะห์ผู้อื่นก็จะเป็นไปโดยง่าย ถึงมือผู้ประสบภัยโดยสะดวก เราเองก็ไม่ต้องลงไปคลุกกับงานด้วยตนเองให้ยากลำบากไปทุกเรื่อง ในเรื่องของเครือข่ายหรือว่าทีมงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะลืมไม่ได้ ในการทำงานสาธารณสงเคราะห์ โดยเฉพาะการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยต่าง ๆ นั่นเอง เมื่อถึงตอนช่วงท้าย จึงได้รับคำชมเชยจากผู้เข้าร่วมเสวนา และมอบหมายให้กระผม/อาตมภาพเป็นผู้นำในการปิดการเสวนา เมื่อไหว้พระ สวดมนต์เสร็จเรียบร้อย จึงได้ออกจากระบบซูมมีตติ้งออนไลน์ โดยที่ในส่วนที่ได้สงเคราะห์ไป ก็หวังว่าท่านผู้ทำงานวิจัยในเรื่องรูปแบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในมุมมองของศาสนาพุทธเถรวาทและศาสนาคริสต์โปรเตสแตนต์ ซึ่งก็คือพระบุญสม ธมมฺวโรนั้น คงจะได้ประโยชน์ไปพอสมควร สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2023 เมื่อ 02:42 |
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|