กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 03-04-2014, 21:00
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,669
ได้ให้อนุโมทนา: 152,022
ได้รับอนุโมทนา 4,416,758 ครั้ง ใน 34,258 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๗

ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่ถนัดของตน ที่สำคัญก็คือพยายามตั้งกายให้ตรง เพื่อให้ลมของเราเดินได้คล่องและสะดวก หายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออกให้หมด หลังจากนั้นปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติ แล้วกำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามที่เรามีความถนัด จะจับการสัมผัสของลมฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐาน หรือรู้ตลอดกองลมก็ทำตามความเคยชินของเราที่เคยฝึกมา

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ก็อยากจะกล่าวถึงในเรื่องของการปฏิบัติว่า อานาปานสติคือลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติของเรา กำลังใจของเราจะทรงตัวหรือไม่ทรงตัว ผลของการปฏิบัติจะเห็นผลช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ว่า เราปฏิบัติในอานาปานสติได้ถูกต้องและต่อเนื่องหรือไม่ ? ถ้าเราสามารถประคับประคองรักษาอารมณ์ของเรา อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกได้เป็นปกติ สมาธิของเราก็จะค่อย ๆ ทรงตัวแนบแน่นขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นฌาน ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นไปตามวาสนาบารมีของเราที่สั่งสมเอาไว้

การจะได้ช้า ได้เร็ว นอกจากเป็นไปตามบารมีที่สั่งสมไว้แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความพากเพียร ความขยัน และปฏิบัติได้ถูกต้องด้วย เมื่อสมาธิทรงตัวถึงระดับสูงสุดของเรา ซึ่งอาจจะเป็นแค่อุปจารสมาธิก็ได้ หรือฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ก็ได้ เมื่อสภาพจิตเข้าไปอยู่นิ่งในระดับนั้นได้ระยะหนึ่งก็จะถอยออกมาเองโดยอัตโนมัติ

ช่วงนี้ถ้าเราปฏิบัติผิด สภาพจิตของเราก็จะฟุ้งซ่าน ดังนั้น..เราต้องรีบหาวิปัสสนาญาณให้สภาพจิตได้ศึกษาพิจารณา ไม่ว่าจะดูตามหลักของอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็คือเราหาสมุทัย ว่าความทุกข์อย่างนี้เกิดมาจากอะไร เมื่อทราบชัดแล้วเราไม่สร้างสาเหตุของทุกข์นั้น ทุกข์ก็ไม่เกิดกับเรา

หรือจะพิจารณาตามแนวของไตรลักษณ์ คือดูให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ ทุกขัง..มีสภาพที่ต้องทนอยู่เป็นปกติ อนัตตา..ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรหลงเหลือเป็นเราเป็นของเราได้

หรือว่าจะพิจารณาตามนัยของวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง เริ่มตั้งแต่ดูการเกิดการดับ ไปจนกระทั่งท้ายสุดเมื่ออารมณ์ใจทรงตัว ปล่อยวางในการปรุงแต่งจิตสังขารแล้ว ก็ทวนต้นทวนปลายเป็นอนุโลมปฏิโลมอยู่ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำอยู่เสมอ ๆ ถ้าหวังความก้าวหน้า

เนื่องจากว่าถ้าเราไม่พินิจพิจารณาในส่วนของวิปัสสนาญาณแล้ว เมื่อสภาพจิตถอนออกมาเอง ก็จะไปฟุ้งซ่านในเรื่องของรัก โลภ โกรธ หลง แล้วจะเป็นการฟุ้งซ่านที่รุนแรง เพราะว่านำเอากำลังสมาธิของเราไปใช้ในการฟุ้งแทน จนกระทั่งหลายคนกล่าวว่า ยิ่งปฏิบัติ รัก โลภ โกรธ หลง ยิ่งมากขึ้น ความจริง รัก โลภ โกรธ หลง ไม่ได้มากขึ้น มีเท่าเดิม แต่กำลังของเขาดีขึ้น เพราะว่าเอากำลังจากสมาธิของเราไปใช้งานนั่นเอง
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-04-2014 เมื่อ 02:27
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 05-04-2014, 18:04
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,669
ได้ให้อนุโมทนา: 152,022
ได้รับอนุโมทนา 4,416,758 ครั้ง ใน 34,258 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถ้าเราพยายามพิจารณาในส่วนของวิปัสสนาญาณจนสภาพจิตยอมรับแล้ว สภาพจิตของเราก็จะทรงตัวเป็นสมาธิอีกรอบหนึ่ง ก็ให้น้อมกลับเข้าไปในเรื่องของสมาธิใหม่ ถ้าเป็นส่วนนี้เขาจะเรียกว่าวิปัสสนายานิก หรือ วิปัสสนายานิกะ เป็นการใช้วิปัสสนาญาณจนกระทั่งสภาพจิตทรงเป็นสมาธิเอง ถ้าเราภาวนาแล้วมาพิจารณาวิปัสสนาญาณ เขาเรียกว่า สมถยานิก หรือ สมถะยานิกะ คือผู้ที่เริ่มต้นจากสมถะ แล้วค่อยน้อมเข้าสู่การวิปัสสนา

การปฏิบัติของเรานั้นในส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือต้องต่อเนื่องตามกันอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเราทำแล้วทิ้ง เปิดโอกาสให้กิเลสงอกงาม โอกาสที่เราจะเข้าหาความดีก็เป็นไปได้ยาก เพราะในบาลีเปรียบกิเลสไว้ว่า เหมือนกับป่าชัฏที่เต็มไปด้วยความรก เต็มไปด้วยพงหนาม เราจะแหวกเข้าไปหาความดี ก็ย่อมเป็นไปได้โดยยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย เราจึงต้องรักษาความดีให้ต่อเนื่องตามกัน ถ้าความดีของเราสามารถตัวต่อเนื่องตามกันได้ ความก้าวหน้าในการประพฤติปฏิบัติก็จะปรากฏชัดแก่เรา

โดยเฉพาะในส่วนสุดท้าย ก็คือ เมื่อพิจารณาวิปัสสนาญาณไปแล้ว สภาพจิตรู้แจ้งเห็นจริง ก็จะยอมรับว่าสภาพของร่างกายเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี หรือสภาพของโลกนี้และโลกอื่น ๆ ก็ดี มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ถ้าสภาพจิตของเราไม่ยอมรับ มรรคผลก็จะไม่เกิดขึ้น

แต่สภาพจิตของเราถึงยอมรับ ถ้ากำลังของสมาธิที่หนุนเสริมในการตัดละกิเลสมีไม่เพียงพอ ก็อาจจะเข้าถึงเพียงมรรคผลขั้นต้น ๆ อย่างเช่นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นต้น จนกว่าสมาธิของเราจะทรงตัวแนบแน่นถึงระดับฌาน ๔ ถึงจะมีโอกาสที่จะเข้าถึงมรรคผลในระดับสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เนื่องจากว่ากำลังการเข้าถึงมรรคผลในตอนท้าย ๆ นั้นต้องอาศัยกำลังของสมาธิในการตัดละความรัก ความโกรธอย่างแรงกล้า ถ้ากำลังไม่พอ แม้แต่การกดให้ความรักความโกรธนิ่งลงก็เป็นไปได้ยากแล้ว ไม่ต้องไปกล่าวถึงการตัดการละเลย

ดังนั้น..การปฏิบัติของพวกเราทั้งหมดในทุกวัน ทุกเวลา ควรให้ความสนใจกับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกของเราให้มากไว้ เพื่อสร้างสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้น เมื่ออารมณ์ใจเริ่มทรงตัว จนกระทั่งไปต่อไม่ได้แล้ว ก็จะคลายตัวออกมาโดยอัตโนมัติ เราต้องรีบหาวิปัสสนาญาณมาให้พิจารณา เมื่อพิจารณาวิปัสสนาญาณ ก็จะต้องทำให้ต่อเนื่องจนกระทั่งกลับไปเป็นสมาธิ เมื่อภาวนาจนกระทั่งสมาธิทรงตัว คลายออกมา ก็พิจารณาวิปัสสนาญาณ สลับไปสลับมาอย่างนี้ถึงจะก้าวหน้า

และท้ายที่สุดก็คือการตัดสินใจให้เด็ดขาด ในเรื่องของการตัดการละกิเลสต่าง ๆ ตลอดจนกระทั่งกระทำให้ต่อเนื่องตามกันอยู่ตลอดเวลา ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ และการเข้าถึงมรรคผล จึงจะเกิดแก่เราได้ ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๗

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-04-2014 เมื่อ 02:27
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:08



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว