#1
|
||||
|
||||
![]() เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๘
|
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชวัฒน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ เห็นญาติโยมทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งเพื่อนสหธรรมิก มาแสดงความยินดีในการที่กระผม/อาตมภาพได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ก็รู้สึกแปลก ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะว่าโดยปกติแล้วกระผม/อาตมภาพเป็นคนที่ "ตายด้าน" กับเรื่องพวกนี้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดจากการปฏิบัติธรรมมากเกินไปหรือเปล่า ?
เพราะว่าในเรื่องของลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ที่เขาเรียกว่าโลกธรรม ๘ ก็คือเป็นหลักธรรมที่เป็นธรรมดาของโลกว่าจะต้องมีแบบนี้ ซึ่งมีแต่จะสร้างความ "หวั่นไหว" ให้กับบุคคล ก็คือในส่วนที่ดีก็ "หวั่น" ว่าจะเสียไป ในส่วนที่ไม่ดีก็ทำให้ "ไหว" สะเทือนเมื่อกระทบเข้า ซึ่งทั้งสองอย่าง ถ้าเรายินดียินร้าย ก็ล้วนแล้วแต่ก่อทุกข์ให้ทั้งสิ้น ในเมื่อเป็นเช่นนั้น อาจจะเกิดจากการฝึกปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อมาถึงตรงนี้จึงรู้สึกเฉย ๆ กับสารพัดเรื่อง แต่ก็ดีตรงที่ว่า พอเราไม่ยินดียินร้าย กำลังใจอยู่ในลักษณะกลาง ๆ ก็ไม่สุขไม่ทุกข์กับอะไรง่าย ๆ จะว่าไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนจะต้องพยายามทำให้ถึงตรงนี้เป็นอย่างน้อย เพราะว่าถ้าทำถึงแล้ว ทุกข์ของเราก็จะน้อยลง เหลือเพียงทุกข์ตามสภาพของร่างกายนี้เท่านั้น แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ต้องใช้ความพยายามและระยะเวลา ในการที่จะค่อย ๆ พิจารณาตัดละไปเรื่อย ไม่ใช่เรื่องที่เราท่านจะทำได้ทำถึงภายในครั้งเดียว เนื่องเพราะว่าบุคคลในปัจจุบันที่จะเป็นอุคฆฏิตัญญู ประเภทฟังเพียงข้อหัวธรรมก็บรรลุมรรคบรรลุผลกันเลยนั้น มีน้อยยิ่งกว่าน้อย บุคคลประเภทนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากวาดไปเกือบหมดแล้ว ส่วนที่เหลือก็นาน ๆ จะโผล่มาสักครั้งหนึ่ง..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : เมื่อวานนี้ เมื่อ 13:52 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
ในเรื่องของวิปจิตัญญู เป็นบุคคลที่ถ้าอธิบายขยายความ ก็จะเข้าใจและเข้าถึงธรรมนั้นได้ ก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเรา
ส่วนใหญ่แล้วพวกเราอยู่ในระดับเนยยะ ก็คือผู้สามารถบรรลุธรรมได้ แต่ไปเหนื่อยที่ครูบาอาจารย์ต้องจ้ำจี้จ้ำไช ปากเปียกปากแฉะอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นหันหลังไปสามก้าวก็ลืมแล้ว..! ในเมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะฝึกฝนตนเองให้เข้าถึงหลักธรรมต่าง ๆ จึงต้องใช้ความเพียรพยายามมาก แต่โอกาสสำเร็จมีน้อย เรียกง่าย ๆ ว่าจัดอยู่ในประเภท "ทุกขาปฏิปทา" ก็คือปฏิบัติก็ลำบาก "ทันธาภิญญา" บรรลุก็ยาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะท้อถอย พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงท่านสอนว่า คนเราเกิดมาก็มี ๑๐ นิ้วเท่ากัน (ยกเว้นคนพิเศษบางท่าน) "ในเมื่อมี ๑๐ นิ้วเท่ากัน คนอื่นทำได้ เราต้องทำได้ หรือถ้าคนอื่นทำได้ เราต้องทำได้ดียิ่งกว่านั้น" เนื่องเพราะว่ากำลังใจของบุคคลที่ต้องการมรรคต้องการผล อย่างน้อย ๆ ต้องสูงกว่าบุคคลทั่วไป ๔ เท่า ก็คือถ้าคนทั่วไปใช้ความพยายามเพียง ๑ เราต้องใช้ความพยายามถึง ๔ โดยที่ท่านพูดในลักษณะล้อเล่นว่า "แกต้องบ้ากว่าคนทั่วไป ๔ เท่า ถึงจะเข้ามรรคเข้าผลได้..!" คราวนี้เราท่านทั้งหลายพอฟังครูบาอาจารย์ ก็มักจะเกิดอาการ "ไฟไหม้ฟาง" ก็คือกระตือรือร้น คึกคักอยากจะปฏิบัติธรรมให้ได้แบบนั้น แต่ก็อยู่ได้พักเดียว ประมาณว่าไหม้วูบเดียวก็หมดไปแล้ว พวกเราทั้งหลายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่า ทำไมเราถึงทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จเสียที ? จะว่าไปแล้ว สาเหตุง่าย ๆ ก็มีแค่ ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ ก็คือทำเกิน อย่างที่ ๒ ก็คือทำขาด การทำเกินในสมัยปัจจุบันนี้ไม่ต้องไปหา มีแต่ทำขาดเท่านั้น..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : เมื่อวานนี้ เมื่อ 02:09 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
![]()
แม้กระทั่งในสมัยพุทธกาล ตัวอย่างบุคคลที่ทำเกินก็มีเพียงรายเดียว คือพระโสณโกฬิวิสะเถระ ด้วยความที่ท่านเป็นลูกมหาเศรษฐี ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ที่เขาใช้คำว่าสุขุมาลชาติ ประมาณว่าละเอียดอ่อนชนิดลมพัดกระทบก็อาจจะผิวแตกได้..!
แต่ว่าเมื่อท่านบวชเข้าไปแล้ว ทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิบัติธรรม เดินจงกรมจนเท้าแตก เดินต่อไปไม่ไหว ท่านก็ใช้วิธีคลานไป คลานจนกระทั่งมือและหัวเข่าแตกหมด ท่านก็เอาตัวนาบพื้น แล้วใช้คางเกาะพื้นไป..! องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นดังนั้น จึงตรัสว่าพระโสณโกฬิวิสะเถระ ใช้ความเพียรในการปฏิบัติธรรมมากเกินไป ต้องลดลงมาให้อยู่ในจุดที่พอดี ถึงจะได้มรรคได้ผล ในปัจจุบันบุคคลประเภทนี้ไม่ต้องไปหา กระผม/อาตมภาพเกิดมา ๖๐ กว่า จะ ๗๐ ปีแล้ว ยังไม่เจอเลย ก็แปลว่าที่เหลืออย่างพวกเราก็คือทำขาด ถ้าถามว่าขาดอย่างไร ? ก็คือเราท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรมแล้วรักษาอารมณ์ไม่เป็น ส่วนใหญ่ตอนนั่งอยู่อารมณ์ทรงตัว แต่พอลุกขึ้นก็ทิ้งหมด เหมือนอย่างกับว่าเราสั่งสมกำลัง หรือว่าสั่งสมเงินทองเพื่อซื้อสิ่งของ แต่เราเอาไปละลายในเรื่องอื่นจนหมดทุกครั้ง ถ้าถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเอากำลังในการปฏิบัติธรรมไปละลายทิ้งทุกครั้ง ? ก็แค่วันนี้ช่วงบ่าย เราเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง ภาวนา ๑ ชั่วโมง จากช่วงบ่ายมาถึงตอนนี้ เราฟุ้งซ่านไปแล้วกี่ชั่วโมง ? แล้ววันเวลาที่ผ่านมา เราฟุ้งซ่านไปแล้วกี่ชั่วโมง ?
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : เมื่อวานนี้ เมื่อ 02:11 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
![]()
การปฏิบัติธรรมเหมือนกับการว่ายทวนน้ำ เราว่ายทวนน้ำมา ๒ ชั่วโมง แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้ลอยน้ำไป จนกระทั่งถึงเวลาปฏิบัติธรรม เราก็มาว่ายทวนน้ำกันใหม่ พอเลิกปฏิบัติธรรมก็ปล่อยลอยน้ำไปอีก แล้วเราว่ายทวนน้ำ ๒ ชั่วโมง ที่เหลือ ๒๒ กว่าชั่วโมงปล่อยลอยน้ำไป ไม่ต้องคิดก็รู้ว่าเอาดีไม่ได้
ดังนั้น..การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เลิกแล้วเลิกเลย หากแต่ว่าเลิกแล้วต้องประคับประคอง รักษาอารมณ์ไว้ให้เป็น ให้ความสงบระงับจาก รัก โลภ โกรธ หลง อยู่กับเราให้นานที่สุด แรก ๆ ได้สักนาที ๒ นาทีก็พังแล้ว แต่ถ้าเพียรพยายามมากเข้าก็จะได้สัก ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามความเพียรของเรา ท้ายที่สุดก็ได้เป็นครึ่งวัน ได้เป็น ๑ วัน และถ้าหากว่าระมัดระวัง ไม่ทอดทิ้ง ทำได้ต่อเนื่อง ก็จะเป็น ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ได้เป็นอาทิตย์ ได้เป็นเดือน ได้เป็นปี ลักษณะอย่างนี้ การปฏิบัติของเราถึงจะมีความก้าวหน้า ไม่เช่นนั้นแล้วทำเท่าไรก็ไม่พอกินไม่พอใช้ ไม่สามารถที่จะสู้กับ รัก โลภ โกรธ หลง ได้เสียที ไม่สามารถที่จะต้านทานโลกธรรมได้เสียที ก็เพราะว่าเราทำขาด ก็คือรักษาอารมณ์ใจไม่เป็น..! จึงขอฝากเป็นการบ้านสำหรับนักปฏิบัติทุกคนว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าสามารถรักษาอารมณ์ใจไว้ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงยิ่งดี ไม่ใช่นั่งไป ๓๐ นาทีแล้วก็ปล่อยทิ้งไปทั้งวัน ถึงเวลาค่อยมานั่งอีกสัก ๓๐ นาที ถ้าแบบนี้ชาตินี้ก็คงจะเอาดีได้ยาก..! สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : เมื่อวานนี้ เมื่อ 02:12 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|